กุมภาพันธ์ 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
9
10
11
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
 
 
ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน



เดิมเรื่องขุนช้าง ขุนแผน เล่าเป็นนิทาน แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยาวมาก เมื่อแต่งเป็นกลอน และขับเป็นลำนำด้วยก็ยิ่งจะต้องใช้เวลามาก ไม่สามารถจะขับให้ตลอดเรื่องในคืนเดียวได้ บทเสภาที่แต่งขึ้นจึงแต่งแต่เป็นตอนพอที่จะขับได้ภายในหนึ่งคืน ดังนั้น บทเสภาเดิมตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า หรือที่แต่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงแต่งเป็นท่อนเป็นตอน ไม่เป็นเรื่องติดต่อเหมือนกับบทละคร การเอาบทเสภามารวมติดต่อกันให้เป็นเรื่องโดยสมบูรณ์ เพิ่งทำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ หนังสือเสภาสมัยกรุงเก่าน่าจะสูญหายหมด เนื่องจากผู้ที่แต่งหนังสือเสภาสำหรับขับหากิน น่าจะปิดบังหนังสือของตน เพื่อป้องกันผู้อื่นมาแข่งขัน จะให้อ่านเพื่อท่องจำก็เฉพาะในหมู่ศิษย์และคนใกล้ชิด ด้วยสภาพดังกล่าวหนังสือเสภาจึงสาบสูญได้ง่าย ไม่เหมือนหนังสือประเภทอื่น เช่น หนังสือบทละคร และหนังสือสวด ดังนั้น บทเสภาครั้งกรุงเก่า จึงตกมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์เพียงเล็กน้อย จากการจดจำกันมาและมีไม่มากตอน

ตำนานเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานแสดงที่มาได้ค่อนข้างดี ซึ่งจะพบได้จากกลอนของสุนทรภู่ กลอนไหว้ครู ที่ได้มีการเอ่ยชื่อครูเสภาไว้หลายท่าน พร้อมทั้งผลงานของท่านเหล่านั้น ที่ให้ไว้ในงานเสภา เช่น ครูทองอยู่ ครูแจ้ง ครูสน ครูเพ็ง พระยานนท์ เป็นต้น ส่วนครูปี่พาทย์ก็มีครูแก้ว ครูพัก ครูทองอิน ครูมีแขก ครูน้อย เป็นต้น หนังสือเสภาที่แต่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ จะแต่งเป็นตอน ๆ แต่ละตอนยาวประมาณ 2 เล่มสมุดไทย พอจะขับได้ภายในหนึ่งคืน หนังสือเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เท่าที่รวบรวมได้ในหอพระสมุด มีต่างกันถึง 8 ฉบับ และยังมีฉบับปลีกย่อยอีกต่างหาก รวมประมาณ 200 เล่ม สมุดไทย

ที่มาของเรื่อง ขุนช้างขุนแผน

(1)   เรื่องนี้เชื่อกันว่าเกิดขึ้นจริงในสมัยสมเด็จพระพันวษา แห่ง กรุงศรีอยุธยา
      - ตำนวนเดิมเล่าเพียงว่า มีนายทหารผู้มีฝีมือนายหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นขุนแผน ได้ถวาย ดาบฟ้าฟื้นแด่สมเด็จพระพันวษา
(2)   ต่อมามีการนำเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มาแต่งเป็นกลอนสุภาพและใช้ บทขับเสภา โดยใช้กรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะ
     - บทขับเสภาที่นิยมมากที่สุดคือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งได้รับการยกย่อจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของกลอนสุภาพที่มีความไพเราะ ดีเลิศทั้งเนื้อเรื่องและ กระบวนกลอน
(3)   บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีกวีเอกหลายท่านร่วมกันแต่ง สันนิษฐานว่าแต่งตั้งแต่สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
     - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า
          *ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง และตอน ขุนแผนพานางวันทองหนี เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
          *ตอนขุนช้างขอนางพิม และ ตอนขุนช้างตามนางวันทอง เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์)
          *ตอน กำเนิดพลายงาม เป็นสำนวนของสุนทรภู่
(4)   ตอน ขุนช้างถวายฎีกานี้ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่เป็นหนึ่งใน 8 ตอนที่ได้รับการยกย่องจากสมาคมวรรณคดี (สมัย ร.7) ว่าแต่งดีเป็นเยี่ยม โดยเฉพาะกระบวนกลอนที่สื่ออารมณ์สะเทือนใจ
• นางวันทอง มีชื่อเดิมว่า พิมพิลาไลย ซึ่งเป็นเพื่อนเล่นกับ พลายแก้ว และ ขุนช้าง ในตอนเด็ก
• เมื่อโตขึ้น นางพิมได้พบกับ พลายแก้ว อีกครั้ง ซึ่งในตอนนั้น พลายแก้ว บวชเณรอยู่ ซึ่งทั้งสองก็แอบรักใคร่ชอบพอกัน เณรแก้วจึงแอบสึกและขึ้นไปหานางพิมบนเรือน
• ทางด้าน ขุนช้าง ซึ่งมีฐานะร่ำรวย แต่หน้าตาอัปลักษณ์ก็หลงรักนางพิมเช่นกัน จึงวอนให้ นางเทพทอง (เป็นมารดา) ไปสู่ขอนางพิม
• นางพิมเกรงว่า มารดาตนจะรับขันหมากของขุนช้าง จึงให้นางสายทอง (พี่เลี้ยง) ไปส่งข่าวให้เณรแก้ว รีบชิงมาสู่ขอก่อน
• เณรแก้ว ลาสิกขา และให้นางทองประศรี มารดาของตน ไปสู่ขอนางพิม ทั้งคู่จึงได้แต่งงานกัน
• หลังเข้าหอได้เพียงสองวัน พลายแก้วได้รับคำสั่งให้นำทัพไปรบกับ พระเจ้าเชียงใหม่


• นางพิมตรอมใจด้วยความคิดถึงพลายแก้ว บวกกับขุนช้างซึ่งทำทุกอย่างเพื่อให้นางพิมใจอ่อนมาเป็นภรรยาตน จึงล้มป่วยลง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันทอง
• ขุนช้างหลอก วันทอง ว่า พลายแก้ว เสียชีวิตในสนามรบไปแล้ว นางศรีประจัน(แม่ของวันทอง) เกรงว่าวันทองจะถูกริบเป็นม่ายหลวง จึงบังคับให้แต่งงานกับขุนช้าง นางจึงต้องแต่ง แต่วันทอง ยังไม่เชื่อว่าพลายแก้วตายแล้ว จึงเฝ้ารอ พลายแก้ว และขัดขืนยังไม่ยอมเป็นภรรยาขุนช้าง
• พลายแก้วชนะศึกกลับมา ได้รับยศเป็น ขุนแผน และได้รับพระราชทานนางลาวทอง มาเป็นภรรยาด้วย เมื่อขุนแผนได้พบกับ วันทอง ก็เกิดทะเลาะวิวาทกัน ว่าวันทองไปแต่งงานใหม่ ส่วนวันทองก็ว่าขุนแผนนอกใจไปมีภรรยาใหม่ ขุนแผนโกรธจึงเข้าข้างลาวทอง และพานางไปอยู่กับแม่ที่กาญจนบุรี
• นางวันทองทั้งโกรธแค้นเสียใจ และคิดว่าขุนแผนหมดรักตนแล้ว จึงยอมตกเป็นภรรยาขุนช้าง ในคืนนั้นเอง
• ขุนแผนยังคงคิดถึงวันทอง จึงได้แอบขึ้นเรือนขุนช้างไป และพบวันทองนอนคู่กับขุนช้างอยู่ ก็โกรธ แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากด่ประจานให้อับอาและจากไป ทำให้ขุนช้างแค้นใจมาก
• ต่อมาขุนช้างได้โอกาส เมื่อนางลาวทองไม่สบาย ขุนแผนซึ่งเข้าเวรอยู่ เป็นห่วง อยากกลับไปดูแล จึงฝากเวรไว้กับขุนช้าง ซึ่งขุนช้างก็ได้นำความไปทูล สมเด็จพระพันวษา ว่าขุนแผนหนีเวร  สมเด็จพระพันวษาจึงลงโทษด้วยการให้ขุนแผนออกไปตระเวณด่านอยู่ชายแดน และ นำตัวลาวทองมากักไว้ไม่ให้ทั้งสองพบกัน
• ขุนแผนโกรธแค้นขุนช้าง จึงคิดชิงตัวนางวันทอง โดยรวบรวมของวิเศษ 3 อย่าง ได้แก่ กุมารทอง  ดาบฟ้าฟื้น  ม้าสีหมอก
• จากนั้นขุนแผนจึง ลอบขึ้นเรือนขุนช้างอีกครั้ง ซึ่งได้พบกับนางแก้วกิริยาธิดาสุโขทัย ที่บิดานำมาขัดดอกกับขุนช้างไว้ และได้นางเป็นภรรยา จากนั้นจึงเข้าไปหานางวันทอง ซึ่งวันทองไม่อาจจากขุนช้างได้ แต่เพราะด้วยความรักขุนแผน จึงยอมตามไปอยู่กับขุนแผน
• ขุนช้างโกรธที่ขุนแผนพาตัวนางวันทองไปจึงถวายฎีการ้องทุกข์ สมเด็จพระพันวษา
• ขุนแผนพาวันทองเร่รอนไปอยู่ตามป่า จนนางตั้งครรภ์ ขุนแผนสงสารวันทองที่ได้รับความลำบากจึงให้พระพิจิตรพาไปมอบตัวและกราบทูลเรื่องราวทั้งหมด สมเด็จพระพันวษาจึงตัดสินให้ขุนแผนได้นางวันทองคืนและขุนช้างถูกปรับไหม
• ต่อมาขุนแผนคิดถึงนางลาวทองจึงขอพระราชทานคืน สมเด็จพระพันวษากริ้วมาก และมีรับสั่งให้จับขุนแผนไปขังคุก ซึ่งขุนแผนยอมติดคุกโดยไม่คิดหนี (ทั้งๆที่มีวิชาอาคมสามารถหนีได้)
• วันหนึ่งขุนช้างสบโอกาส ให้บ่าวไพร่มาฉุดนางวันทองซึ่งกำลังไปเยี่ยมขุนแผน นางจึงต้องกลับไปอยู่กับขุนช้าง และคลอดลูกชื่อ พลายงาม


• ยิ่งพลายงามโตขึ้นก็ยิ่งหน้าตาละม้ายคล้ายขุนแผน ขุนช้างเมื่อรู้ว่าไม่ใช่ลูกตน จึงลวงพลายงามไปฆ่าในป่า แต่ได้ผีพรายของขุนแผนช่วยไว้ จึงรอดมาได้  นางวันทองจึงให้พลายงามไปอยู๋กับนางทองประศรี(แม่ของขุนแผน) ที่กาญจนบุรี ส่วนตัวนางจำต้องอยู่กับขุนช้าง จนเมื่อพลายงามโตขึ้นได้รับราชการ ทำความดีความชอบ ได้เป็นจมื่นไวยวรนาถ
• ในงานแต่งงานของพลายงาม ขุนช้างและนางวันทอง มาช่วยงาน  ขุนช้างเมาและมีเรื่องกับพลายงาม จึงถูกพลายงามทำร้าย ขุนช้างจึงไปถวายฎีกากล่าวโทษพลายงาม  และได้มีการดำน้ำพิสูจน์กัน ปรากฏว่าขุนช้างแพ้ และถูกตัดสินประหารชีวิต แต่นางวันทองขอให้พลายงาม ขอพระราชทานอภัยโทษไว้ เพราะขุนช้างก็เคยดีกับนาง
• พลายงามคิดถึงมารดา อยากให้กลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า จึงลอบขึ้นเรือนและพานางหนี รุ่งขึ้นก็เกรงว่าขุนช้างจะเอาผิด จึงให้บ่าวไปส่งความว่าตนป่วยหนัก อยากให้แม่มาดูใจสักพัก แล้วจะส่งคืน
• ขุนช้างโกรธ จึงร่างฎีกาถวายถวายต่อสมเด็จพระพันวษาอีก
• สมเด็จพระพันวษามีรับสั่งให้ไปเรียกทุกคนที่เกี่ยวข้องมา และเริ่มทำการตัดสินคดีความ ฝ่ายพลายงามผิดด้วยการไปลอบขึ้นบ้านผู้อื่น ทำเช่นบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย ฝ่ายขุนช้างก็ผิดที่ว่าไปแย่งวันทองมา
• สมเด็จพระพันวษาให้นางวันทองเข้าเฝ้าและตรัสถามให้กระจ่างว่านางจะเลือกอยู่กับใคร ขุนแผน ขุนช้าง หรือ พลายงาม ด้วยความประหม่า และ ณ ตอนนั้นชะตาถึงฆาต ทำให้นางตอบออกไปว่า นางก็รักขุนแผน แต่ขุนช้างก็แสนดี ส่วนพลายงามนี้ก็ลูกในอก
• พระพันวษาโกรธมาก จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตนาง


ขุนช้างถวายฎีกา 

     ฝ่ายพลายงาม เมื่อชนะความขุนช้างแล้ว ก็อยู่มาด้วยความสุข แต่มาคิดว่ายังขาดแต่มารดา เห็นว่าไม่ควรคู่กับขุนช้าง แล้วคิดว่าจะรับแม่กลับมาอยู่กับขุนแผน  พอตกค่ำจึงออกเดินทางไปบ้านขุนช้าง สะกดผู้คน ภูตพราย และแก้อาถรรพณ์ แล้วสะเดาะกลอน เข้าไปถึงชั้นสามห้องนอน ถอนสะกดนางวันทอง แล้วเจรจากัน พระไวยแจ้งว่าจะมารับนางวันทองกลับไปบ้าน นางวันทองแนะนำให้นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระพันวษา
...จงเร่งกลับไปคิดกับบิดา                 ฟ้องหากราบทูลพระทรงธรรม์                                                                  พระองค์คงจะโปรดประทานให้          จะปรากฎยศไกรเฉิดฉัน
 อันจะมาลักพาไม่ว่ากัน                     เช่นนั้นใจแม่มิเต็มใจ ฯ

พระไวยพานางวันทองมาบ้าน

พลายงามไม่เห็นด้วยและจะพาไปให้ได้ นางวันทองจนใจจึงยอมไปกับพระไวย  ขุนช้างตื่นขึ้นไม่พบนางวันทอง ให้บ่าวไพร่ค้นหาไม่พบ
ฝ่ายพลายงามได้คิดว่า ถ้าขุนช้างรู้ว่าลักนางวันทองมา ก็คงจะนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระพันวษา มารดาก็จะต้องโทษ คิดแล้วจึงให้หมื่นวิเศษผล ไปหาขุนช้างที่บ้าน
ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องราว อย่าให้ขุนช้างโกรธ ด้วยเป็นคนที่เคยชอบพอกัน โดยให้บอกขุนช้างว่า ตนจับไข้อยู่หลายวัน เกรงว่าแม่ไม่ทันจะเห็นหน้า จึงให้คนไปพาแม่มา พอให้ตนหายไข้แล้ว จะส่งมารดาคืนกลับไป   
หมื่นวิเศษรับคำแล้วก็รีบไปบ้านขุนช้าง แจ้งเรื่องตามที่พระไวยสั่งมาทุกประการ ขุนช้างได้ฟังก็ทั้งโกรธและแค้น เมื่อข่มความโกรธแล้วก็ตอบไปว่า ไม่เป็นไรเรื่องการเจ็บไข้ ถ้าขัดสนสิ่งไรก็ขอให้มาเอาที่ตนได้ ว่าแล้วก็ปิดหน้าต่างใส่ ด้วยความเดือดดาลและแค้นใจ
...ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ          ฉวยได้กระดานชะนวนมา
 ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย     ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา...

ขุนช้างถวายฎีกา
ฝ่ายขุนช้างร่างฟ้องเสร็จแล้ว ก็มาที่วังใน รออยู่ที่ใต้ตำหนักน้ำ พอสมเด็จพระพันวษาเสด็จกลับวังทางเรือตอนจวนค่ำ
ขุนช้างก็ลงลอยคอเข้าถวายฎีกา  สมเด็จพระพันวษาเห็นเข้า ก็ทรงพระพิโรธ ให้รับฎีกาไว้ แล้วเอาตัวไปเฆี่ยนสามสิบที
จากนั้นให้ตั้งกฤษฎีกาว่า ตั้งแต่นี้ไป ถ้าใครปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง ต้องระวางโทษเจ็ดสถาน ถึงประหารชีวิต
ฝ่ายขุนแผนได้อยู่กับนางแก้วกิริยา และนางลาวทองมาด้วยความผาสุข ตกกลางคืนคิดถึงนางวันทอง จึงออกเดินมาที่ห้องนางวันทอง ที่เรือนพระไวย ปลุกนางขึ้นมาสนทนาด้วย ได้พร่ำรำพันถึงความหลัง ที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมา
นางวันทองแนะนำขุนแผน ให้นำความขึ้นทูลพระพันวษา และไม่ยอมตกเป็นของขุนแผน พอตกดึกก็ฝันไปว่า ถูกพยัคฆ์ตะครุบ คาบตัวไปในป่า ตกใจตื่น  ได้ยินเสียงหนูร้องและแมงมุมทุ่มอกที่ริมฝาก็ใจไม่ดีจึงเล่าให้ขุนแผนฟัง ขุนแผนได้ฟังก็ใจหาย รู้ว่าฝันร้ายมีอันตราย
...ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย       ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล    ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา        กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น...
แต่ก็ปลอบใจนางวันทองว่า เป็นเพราะความวิตก  พรุ่งนี้จะแก้เสนียดฝันให้

สมเด็จพระพันวษาชำระความเรื่องนางวันทอง
วันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพันวษาเสด็จออกว่าราชการ เห็นขุนช้างเข้าเฝ้าอยู่ จึงตรัสว่า เรื่องนางวันทองไม่รู้จบ
เมื่อครั้งก่อน เรื่องตกหนักที่นางศรีประจัน ก็ตัดสินไปอยู่กับขุนแผน แต่ทำไมกลับมาอยู่กับขุนช้าง แล้วให้หมื่นศรีไปเอาตัวนางวันทอง ขุนแผนและพระไวยมาเฝ้า ทั้งสามคนได้ฟังความก็ตกใจ
ขุนแผนจึงจัดการช่วยเหลือนางวันทองด้วยเวทมนตร์ แล้วจึงพากันไปเข้าเฝ้า
...ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน     ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทย์มนตร์
 สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวทย์              ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน
 น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน    เคยคุ้มขลังบังตนแต่ไรมา
แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์          คนเห็นคนทักรักทุกหน้า
เสกกระแจะจวงจันทน์น้ำมันทา          เสร็จแล้วก็พาวันทองไป ฯ

สมเด็จพระพันวษาจึงตรัสถามนางวันทอง ถึงเรื่องราวแต่หนหลัง นางวันทองก็กราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้ว ก็กริ้วขุนช้างเป็นกำลัง แล้วตรัสถามนางวันทองต่อไปว่า
เวลาล่วงไปแล้วถึงสิบแปดปี แต่ทำไมวันนี้จึงมาได้ นางวันทองก็กราบทูลว่า พระไวยไปรับเมื่อตอนกลางคืน สมเด็จพระพันวษาได้ฟัง ก็ทรงขุ่นเคืองพระไวย ที่ทำตามอำเภอใจ และว่าขุนแผนก็คงเป็นใจ ทรงตรัสว่า
...ถ้าอ้ายไวยจะอยากใคร่ได้แม่มา      ชวนพ่อฟ้องหาเอาเป็นไร
 อัยการศาลโรงก็มีอยู่                      ฤๅว่ากูตัดสินให้ไม่ได้

แล้วตรัสต่อไปว่าเหตุทั้งหมดนี้ เพราะแย่งชิงนางวันทองกัน จึงให้นางวันทองตัดสินใจว่า จะอยู่กับใคร หรือถ้าไม่อยากอยู่กับทั้งสองคน จะเลือกอยู่กับลูกก็ได้
นางวันทองเมื่อถึงคราวจะสิ้นอายุ ไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงกราบทูลเป็นกลางไป หวังจะให้สมเด็จพนะพันวษาตัดสินให้
 ...ความรักขุนแผนก็แสนรัก       ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉัน
 สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน           สารพันอดออมถนอมใจ
 ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา            คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่
 เงินทองกองไว้มิให้ใคร            ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก         ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว...

สมเด็จพระพันวษาให้ประหารวันทอง
สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังแล้ว ก็พิโรธยิ่งนัก ตรัสประนามนางวันทองว่าเป็นหญิงหลายใจ อย่าอยู่ให้หนักแผ่นดิน ให้เอาตัวไปฆ่าเสีย
...เร่งเร็วเหวยพระยายมราช     ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี
 อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี         อย่าให้มีโลหิตติดดินกู
 เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน     ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่...

สารัตถะของเสภา ขุนช้างขุนแผน

     เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตชาวบ้านตลอดทั้งเรื่อง  มีบางตอนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์  
แต่เนื้อความและจุดมุ่งหมายสำคัญไม่ได้ต้องการแสดงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์  ดังนั้น  การแต่งเรื่องนี้เป็นกลอนเสภา
จึงเหมาะกับการบรรยายความรู้สึก  หรือบทสนทนาของตัวละครในเรื่องที่เป็นคนสามัญ  การบรรยายสภาพความเป็นอยู่ของชาวเมือง  สภาพบ้านเมือง สภาพธรรมชาติ  นอกจากนี้การแต่งเป็นกลอนเสภายังเหมาะกับเนื้อเรื่องที่เกียวกับปัญหาความรัก  ตัวละครมีลักษณะเป็นคนธรรมดา  มีกิเลส  มีตัณหา  มีการชิงรักหักสวาท  เนื้อเรื่องแปลกไปจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆ 
                เรื่องขุนช้างขุนแผนมีคุณสมบัติเป็น สัจนิยม  คือ เนื้อเรื่องมีความสมจริง  ลักษณะอุปนิสัยของตัวละครก็เหมือนมนุษย์จริงๆ  
การบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ  และการใช้คาถาอาคมก็เป็นจริงเป็นจัง  ทำให้เราได้มองเห็นภาพชีวิตในสมัยนั้นในด้านต่างๆ  คือ

1.  ด้านขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วัฒนธรรม

ได้มีการกล่าวถึง ขบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยแทรกไว้ในเนื้อเรื่อง นับตั้งแต่การเกิดจนกระทั่งตายเลยทีเดียว
ประเพณีบวชเณร

สมัยก่อนนั้นไม่มีโรงเรียน พ่อแม่จึงมักพาลูกชายไปบวชเรียน เพื่อฝากให้พระสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ และอบรมศีลธรรม เพราะถือกันว่าวัดเป็นแหล่งรวมวิชาความรู้ โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน วิชาที่เรียนก็มี วิชาล่องหนหายตัว อยู่ยงคงกระพัน คาถาอาคมต่าง ๆ ปลุกผีและตำรับพิชัยสงคราม เป็นต้น

ประเพณีการทำศพ

การแห่นั้น จะมีเครื่องดนตรีประโคม คือ ปี่ชวาและกลองชนะ มีพระสวดนำหน้าศพ มีการโปรยข้าวตอกไปตลอดทาง 
กล่าวกันว่าการโปรยข้าวตอก คือ ปริศนาธรรม ว่าข้างตอกนั้นไม่อาจงอกเป็นต้นข้าวได้อีก คนที่ตายไปแล้วก็ไม่อาจฟื้นขึ้นได้อีกเช่นเดียวกัน ส่วนพวกญาติพี่น้องก็สวมเสื้อผ้าสีขาวเดินตามไป
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
การเทศน์มหาชาติถือว่าเป็นงานทำบุญประจำปีที่สำคัญมาก เรื่องที่จะใช้เทศน์ก็คือเรื่อง พระเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมด 
๑๓ กัณฑ์ ผู้ที่รับเป็นเจ้าของกัณฑ์แต่ละกัณฑ์ จะต้องจัดเตรียมเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ให้เข้ากับกัณฑ์ของตนด้วย ซึ่งมักจะ
เป็นผลไม้จำพวกกล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน ตลอดจนของแห้งต่าง ๆ และอ้อย เป็นต้น            
2.  สภาพทางภูมิศาสตร์

เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้อาศัยสถานที่จริงเป็นฉากประกอบในการดำเนินเรื่อง  เช่น  จังหวัดสุพรรณบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี  วัดวาอารามต่างๆ  สถานที่ที่ระบุไว้ระหว่างทางจากอยุธยาไปเชียงใหม่  ทำให้ผู้อ่านนึกวาดภาพและกำหนดสถานการณ์ต่างๆ  ตามท้องเรื่องให้เกิดขึ้นในมโนภาพได้

3.  ค่านิยมเกี่ยวกับไสยศาสตร์และโหราศาสตร์

เรื่องขุนช้างขุนแผนแสดงค่านิยมทำนองนี้ไว้มากมายเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง  ตัวละครดำเนินชีวิตไปภายใต้อิทธิพลของไสยศาสตร์และโหราศาสตร์  เหมือนเรื่องเก่าๆของชาติต่างๆมากมาย  ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในบางครั้งขึ้นอยู่กับความเชื่อทางด้านนี้  และแสดงให้เห็นในเนื้อเรื่องว่าความรู้ทางด้านนี้ก็ทำให้เกิดความสำเร็จในการประกอบกิจกรรมหลายประการ

4.  ลักษณะของสังคมไทย

                ความเป็นอยู่  แบบแผนของการดำเนินชีวิต  ในเรื่องนี้มีปรัชญาและความจริงของชีวิตปรากฎอยู่มากสภาพการดำเนินชีวิตของคนในเมืองหลวงและในชนบทเป็นอย่างไร  ในเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวไว้อย่างละเอียด  แสดงแนวความคิดของคนโบราณทั้งชายและหญิง  ซึ่งเราอาจยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตปัจจุบันได้ดี  เช่น  ชายมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์  หญิงมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีและเชื่อฟังอยู่ในโอวาทของสามี  การเป็นคนมีความกตัญญูรู้คุณ  เห็นคุณค่าของการศึกษา  การรู้จักกาลเทศะ ฯลฯ







Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2557 16:24:55 น.
Counter : 67077 Pageviews.

6 comments
  
โดย: 23 IP: 27.145.2.48 วันที่: 6 กรกฎาคม 2557 เวลา:21:03:06 น.
  
เป็นเรื่องที่สนุกมากค่ะ และได้ความรู้มากมายเลยค่ะ ทั้งประเพณีและไสยศาสตร์ เพิ่งรู้นะค่ะว่าเป็นเรื่องที่มีเค้าโคงมาจากเรื่องจริง
โดย: Sagura IP: 1.46.227.167 วันที่: 13 สิงหาคม 2557 เวลา:20:00:05 น.
  
น่าสงสารนางวันทองนะครับที่ขุนแผนไปมีเมียใหม่และตนต้องไปอยู่กับขุนช้างและตอนที่พระพันวษาด่าว่า และโดนประหารชีวิต
โดย: โยชิ IP: 1.46.231.251 วันที่: 13 สิงหาคม 2557 เวลา:21:05:03 น.
  
วรรณกรรมเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ดีมาก ดูเป็นชาวบ้านการใช้ถอยคำเหมาะสำหรับคนบ้านๆ ดู และเป็นวรรณกรรมที่เป็นความเชื่อต่างๆ นา ๆ
โดย: Koaiing IP: 202.29.179.199 วันที่: 27 สิงหาคม 2557 เวลา:11:32:52 น.
  
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านและพูดคุยค่ะ
โดย: ทุ่งทอตะวัน IP: 49.49.234.231 วันที่: 21 กันยายน 2557 เวลา:10:19:34 น.
  
นางวันทอง ก้ เนอะ
โดย: นัด IP: 49.230.159.115 วันที่: 25 กันยายน 2557 เวลา:20:58:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุ่งทอตะวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



New Comments