|
ภาวะเงินเฟ้อ
เมื่อวันที่ 1 กค.ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป ประจำเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นไปยื่นที่ระดับ 8.9 % ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี สูงกว่าเดือนพ.ค. 2551 (อัตราเงินเฟ้อที่ 7.6% )1.2% หลังจากที่เคยสูงถึง 9.7% ในเดือนมิ.ย. 2541เพราะช่วงนั้นรัฐบาลประกาศจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 10% ทำให้ราคาสินค้า และบริการต่างๆพุ่งขึ้นไปรอ กระทั่งรัฐบาลต้องยุติการขึ้นแวตไว้ ที่สำคัญเงินเฟ้อครั้งนั้นยังได้รับผลกระทบจากการลอยตัวค่าเงินบาทด้วย แม้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว ไม่ได้ถึง 2 หลักเช่นที่หลายฝ่ายกังวล แต่การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มแรงกดดันให้แบงก์ชาติในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ต้องเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยเร่งด่วน โดยสาเหตุสำคัญมาจากสาเหตุหลักมาจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ คิดเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้น 94.58% จากปีที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้อครั้งนี้ในแง่หลักวิชาการยังพอรับได้ แต่ในแง่ของความรู้สึกของประชาชนจากที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจนัก แต่เชื่อว่าการที่รัฐบาลมีการปรับเงินเดือนและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะพอช่วยบรรเทาความรู้สึกลงได้ กรมการค้าภายในจะติดตามในเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และเร่งจัดโครงการธงฟ้า เพื่อนำสินค้าคุณภาพดีไปจำหน่ายให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและไม่ให้สินค้าขาดแคลน และควรเร่งหาแนวทางเพิ่มรายได้ให้กลุ่มประชาชนเพิ่มขึ้นทัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก อาทิ สนับสนุนให้มีอาชีพที่ 2 ควบคู่กับอาชีพหลัก หรือหาอาชีพใหม่ที่รายได้สูงขึ้น ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ควรปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านต้องมีการช่วยเหลือบรรเทาไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป แต่โดยหลักการแล้ว ก็ไม่ควรชดเชยมากเกินไป เพราะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ขณะที่กระทรวงการคลังจะต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนให้ฟื้นตัวให้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ส่วนในด้านภาพรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อทุกบริษัท โดยบริษัทที่ไม่แข็งแรงจะอยู่รอดได้ลำบาก และบริษัทแข็งแรงก็อยู่ในอาการแย่เช่นกัน เนื่องจากกรมการค้าภายใน (คน.) ของกระทรวงพาณิชย์นั้น แก้ปัญหาราคาสินค้าผิดจุด เพราะเข้ามาควบคุมราคาสินค้า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากและปั่นป่วนไปหมดทั้งตลาด ทั้งที่หน้าที่ของกรมการค้าภายในควรดูแลให้การขายสินค้าเป็นไปด้วยความยุติธรรม ไม่ให้เกิดการโก่งราคาเกิดขึ้น และดูแลให้การขึ้นราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดมากที่สุด ดังนั้นเมื่อราคาสินค้า ปรับขึ้นลงได้ตามกลไกตลาดแล้ว ประชาชนจะสามารถพิจารณาเลือกซื้อสินค้าได้ด้วยตนเอง เช่น การที่กรมการค้าภายในเข้าไปควบคุมราคาสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมทุก ขนาด ทั้งแบบขวด แบบกระป๋อง ต้องอยู่ในระดับราคาเท่าใดและ ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ ทั้งที่ความจริงต้องไปดูแลร้านค้าที่จำหน่ายน้ำอัดลมเป็นหลัก เพราะปรับขึ้นราคาได้อย่างเสรี รวมทั้งในโรงแรมบางแห่งที่ขึ้นราคาขายน้ำอัดลมถึงขวดละ 80 บาท ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และทำให้ตลาดน้ำอัดลมพังได้ ดังนั้น ผู้ดูแลนโยบายการเงินและการคลัง กลุ่มนักวิชาการ และภาคเอกชน ควรหาแนวทางดูแลปัญหาเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังเป็นความเห็นที่ไม่ลงตัวระหว่าง การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแล 'เสถียรภาพ' ของเศรษฐกิจ กับแนวคิดคัดคงอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จีดีพี 6.00% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ สาเหตุของการขึ้นดอกเบี้ย มีคือ 1. อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจะบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐจะต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตลง และสอง แบงก์ชาติต้องดูแลสร้างสมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าที่จะมุ่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น อธิบายความได้ว่า หากระดับของอัตราดอกเบี้ยต่ำจนเกินไป จะส่งผลต่อการเร่งใช้จ่ายล่วงหน้ามากกว่าการออมโดยไม่จำเป็น ส่วนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนภาคเอกชนนั้น ขึ้นอยู่กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ และยังมีข้อสังเกตอีกว่า การขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูก หากการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น และในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าหากมอง แนวโน้มจีดีพียังเติบโตได้สูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยหลักการการพิจารณาเรื่องนี้ ควรปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ถ้าจำเป็นต้องขึ้นควรขึ้นเพียงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงขาเดียว ส่วนดอกเบี้ย เงินกู้ไม่ต้องขึ้น เพราะคนที่มีเงินฝากจะได้มีรายได้จากดอกเบี้ยนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่เรื่องหลายๆฝ่ายเป็นห่วงไม่ว่าจะเป็นนายแบงก์-นักวิชาการหวั่นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีปัจจัยจากภายนอกที่เป็นความเสี่ยงจากราคาน้ำมันยังสูงซึ่งเป็นผลกระทบทั่วโลก กรณีของประเทศไทยปัจจัยเสี่ยงใหญ่ในระยะสั้น คือ การเมืองไม่สงบซึ่งหากจบได้เศรษฐกิจจะดี แม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัจจัยลบแต่ช่วงนี้ราคาข้าวและยางพารามาช่วยเสริม แต่โดยรวมยังมีเรื่องน่าห่วง อาจลากกระทบถึงภาคส่งออกครึ่งปีหลังไปจนถึงปีหน้า ขณะเดียวกันการอุปโภคบริโภคและการลงทุนก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในแง่ของผู้ประกอบการคงต้องใช้ความระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยบวกในครึ่งหลังของปีนี้ หากการแก้ปัญหาราคาน้ำมันวางใจว่ามีระดับของการสิ้นสุด ไม่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายในระดับของกลุ่มประเทศที่ต้องร่วมมือกันเพราะปัจจุบันมีการคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันไปถึง 160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องดูแลให้ได้ โดยหากปัญหาสามารถแก้ได้ก็จะทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลงไปด้วย แต่หากไม่มีการยุติปัญหาเรื่องน้ำมัน ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยเฉพาะภาคส่งออกที่จะมีปัญหา และอาจไม่มีโอกาสเห็นอัตราการเติบโตเป็น 2 หลัก
Create Date : 13 กรกฎาคม 2551 | | |
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 22:24:58 น. |
Counter : 495 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ปมการเมืองสะเทือนลงทุน เร่งปลดล็อกก่อนต่างชาติถอนสมอ!
ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศทั่วทั้งโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติราคาพลังงาน ซ้ำเติมด้วยวิกฤติราคาสินค้าในเวลาเดียวกัน บั่นทอนความเข้มแข็งของภาวะเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกให้เปราะบาง
ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังกุมขมับ และอาจจะเป็นจุดหักเหให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ล่าสุดเริ่มเห็นเค้าลางแห่งความล่มสลายในเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนาม ซึ่งอาจต้านทานกระแสการไหลเชี่ยวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่ไหว
สำหรับเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากต้องตกอยู่ในชะตากรรมที่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นในโลกแล้ว เรายังมีสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองที่ร้อนระอุ เพราะการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ขั้วแนวความคิดที่แตกต่างกัน แทบมองไม่เห็นหนทางที่จะสมานฉันท์กันได้
และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น ก็คือ ความขัดแย้งที่ว่าไม่สามารถ จะคาดเดาได้ว่าจะจบลงเมื่อใดและอย่างไร ทั้งอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยการยุบสภาหรือการลาออก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์พัวร์ ออกมาเตือนว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีทุนสำรองที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ไทยอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ หากความแตกแยกทางการเมืองนำไปสู่ความความรุนแรง และความไม่สงบที่ลุกลามเป็นวงกว้าง... การไร้เสถียรภาพทางการเมืองยังอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอ่อนแอยาวนานยิ่งขึ้น และทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
เป็นการซ้ำเติมความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ จากที่ก่อนหน้านั้น โกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากความไม่มั่นคงของสถานการณ์ทางการเมือง
ภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่างออกมาแสดงความกังวลว่า หากสถานการณ์บ้านเมืองไทยเป็นอย่างนี้ต่อไป นักลงทุนไทย และต่างชาติอาจจะหยุดการลงทุนที่วางแผนไว้ ที่สำคัญที่สุดนักลงทุนต่างชาติอาจจะถอนทัพหนีจากประเทศไทยได้
สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย 156 ตัวอย่าง โดยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในไทย 46.6% และไม่สนใจลงทุนในไทย 53.4%
ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความอึมครึมทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ทีมเศรษฐกิจ ได้ติดตามสถานะการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทย รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นของเขาที่มีต่อบ้านเมืองเราในขณะนี้ ก่อนประมวลให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงวิกฤติทางเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามา
ต่างชาติจ่อถอนสมอลงทุนไทย
ผลกระทบแรกที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มถล่มเทขายหุ้นออกมาอย่างถล่มทลายและต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยโดนกระหน่ำด้วยมรสุมการเมือง โดยเฉพาะหลังการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. จนล่าสุดวันที่ 13 มิ.ย. เพียง 15 วันทำการ นักลงทุนต่างชาติมียอดเทขายหุ้นออกสุทธิไปแล้วถึง 33,160.85 ล้านบาท กดดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
โดยนับจากวันที่ 21 พ.ค.ที่ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ระดับสูงสุดจากแรงซื้อของต่างชาติที่มองว่าเศรษฐกิจ และการลงทุนไทยกำลังมีอนาคตและมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดัชนีหุ้นไทยทะยานขึ้นไปสูงสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ระดับ 884.19 จุด แต่หลังจากนั้น ดัชนีหุ้นได้ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดดัชนีหุ้นลงมาอยู่ที่ 782.64 จุด ลดลงมาถึง 101.55 จุด
ผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นออกไปอย่างต่อเนื่อง ภายในระยะเวลาไม่ถึงขวบเดือนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ที่สะท้อนความมั่งคั่งของนักลงทุนหดหายไปแล้วถึง 769,000 ล้านบาทแล้ว และยังคงมีแนวโน้มที่นักลงทุนทั้งไทย-เทศจะทยอยเทขายหุ้นออกมาอีก
สาเหตุดังกล่าวยังได้กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีก หลังจากก่อนหน้านี้แม้จะมีการขายหุ้นออกมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ครั้งนี้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเพื่อขนเงินกลับต่างประเทศจริงๆ โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจาก 31.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 33.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หรืออ่อนค่าลง 1.70 บาทต่อเหรียญหรือประมาณ 3.63% ซึ่งถือ เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
ที่สำคัญผลจากวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยังเริ่มเห็นทิศทางและเก็งกำไรค่าเงินบาท ในทิศทางอ่อนค่าของกลุ่มเก็งกำไรข้ามชาติกลับเข้ามาอีกครั้ง จากที่เคยเห็นกันเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งล่าสุดนี้สถาบันวิเคราะห์ต่างชาติหลายรายต่างเปลี่ยนมุมมองค่าเงินบาทไปในทิศทางเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2551 จะกลับไปสู่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯอีกครั้ง
และเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ลองฟังความคิดเห็น จากตัวแทนนักลงทุนต่างชาติ โดยหวังว่ามุมมองเหล่านี้จะช่วยเตือนสติคนไทย ให้ตระหนักถึงสถานการณ์ขณะนี้ได้ดีขึ้นและหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางแก้ไข
นายนันเดอร์ จี.วอน เดอร์ เลอเฮ ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย
นักลงทุนต่างชาติยินดีเป็นอย่างมากที่ไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา และหวังว่ารัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย จะสามารถทำให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความมั่นคงและรัฐบาลจะมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรงเกินความคาดหมาย การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยกลับมาสมานฉันท์กันได้ยาก
นักธุรกิจต้องการเห็นความมั่นคงทางการเมือง เพราะความไม่แน่ นอน และข่าวลือต่างๆ จะมีผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนหรือขยายการลงทุนต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่เพราะปัญหาการเมืองอย่างเดียว แต่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย แม้หลายอุตสาหกรรมอาจมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มแล้ว แต่ส่วนใหญ่กำลังรอดูสถานการณ์ เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นจึงค่อยขยายธุรกิจต่อ
ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับเศรษฐกิจโลก ในอดีต เมื่อการ บริโภคภายในถดถอย การส่งออกจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ แต่ในปัจจุบัน ทั้งการบริโภคภายในและการส่งออกกำลังชะลอตัวลง เศรษฐกิจไทยจึงจะชะลอลง นายเลอเฮ กล่าว
แม้การเมืองไทยจะขาดเสถียรภาพ แต่ไม่เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติในไทย จะถอนการลงทุนไปประเทศคู่แข่งอย่างจีน มาเลเซีย หรือเวียดนาม แต่ประเทศเหล่านี้จะแย่งหรือดึงดูดการลงทุนใหม่ไป จากไทย อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุน แต่รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าไทยยังสามารถแข่งขันได้ และสนับสนุนให้ไทยเปิดเสรีภาคบริการ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้อย่างมาก
นายฟูกูจิโร ยามาเบะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ
ความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน แต่ไม่รุนแรงมากนัก คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% แม้อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ก็ตาม แม้ปัญหาการเมืองไทยจะยืดเยื้อแต่ยังไม่มีบริษัทญี่ปุ่น ถอนการลงทุนจากไทยไปประเทศอื่นอย่างแน่นอน และเชื่อมั่นว่าการลงทุนของต่างประเทศในไทยจะเพิ่มขึ้น
ความวุ่นวายทางการเมืองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เศรษฐกิจถดถอย แต่สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีผลมากนักต่อการใช้จ่ายของประชาชน และการตัดสินใจลงทุน ดังนั้น จึงเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นจะยังคงขยายธุรกิจการลงทุนในไทยต่อไปอย่างแน่นอน และไม่ถอนการลงทุนแม้ความวุ่นวายทางการเมืองจะเป็นปัจจัยลบ แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น จีน เวียดนาม อินเดียการเมืองไทยยังมีความเสี่ยงน้อยกว่า นายยามาเบะกล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การประท้วงรัฐบาลที่ยังจะมีต่อไป ซึ่งจะทำให้ นายกรัฐมนตรีอยู่ในสถานะที่ลำบาก และอาจมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งใหม่ แต่สถานการณ์ไม่น่าจะวุ่นวายมากนักและไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติอะไรสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมีประมาณ 7,000 ราย และเริ่มมีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้ามาลงทุนในไทยบ้างแล้ว
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เจพีมอร์แกน ประเทศไทย
ต่างชาติที่ขายหุ้นออกมาในช่วงนี้เป็นผลจากปัญหาการเมืองภายในประเทศของไทยล้วนๆ โดยต่างชาติที่ขายออกมาส่วนใหญ่เป็นพวกลงทุนระยะสั้น หรือพวกกองทุนเก็งกำไรต่างชาติ (เฮดจ์ฟันด์) ขณะที่ต่างชาติที่ลงทุนระยะยาวยังคงอยู่ เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้ยังมองในแง่ดีว่า สถานการณ์การเมืองน่าจะคลี่คลายได้ จะไม่บานปลาย ถึงขั้นปฏิวัติ
แต่จุดแตกหักที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนระยะยาวกลุ่มนี้ขายหุ้นทิ้งประเทศไทย คือหากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า จะเกิดการปฏิวัติ หรือมีเหตุการณ์บานปลาย ปะทะกันรุนแรงถึงขั้นนองเลือด ถึงตอนนั้นก็คงไม่มีใครอยู่ ส่วนการยุบสภาไม่ได้มองว่าเป็นการแก้ ปัญหา เพราะหากเลือกตั้งใหม่แล้วได้พรรคพลังประชาชนกลับเข้ามาอีก ก็จะเกิดปัญหาการออกมาชุมนุมอีก
ส่วนปัญหาเศรษฐกิจนั้น ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่ก็เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ทุกประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเหมือนๆกัน แต่ไทยโชคร้ายที่มีปัญหาการเมืองภายในซ้ำเติม อาจทำให้แย่กว่าประเทศอื่น เพราะประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งสามารถพุ่งความสนใจ ในการดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลไทยต้องห่วงหน้าพะวงหลัง มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานเศรษฐกิจไทยถือว่าแข็งแกร่งทั้งด้านการเงินและการคลัง มีทุนสำรองในระดับสูงในระดับ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ยังดีอยู่ หากการเมืองนิ่งไม่เป็นปัญหา จะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนทุกด้านในไทยมากกว่านี้
หากถามว่าอะไร จะทำให้นักลงทุนหนีเตลิดนั่นคือ หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นรุนแรง ถึงขั้นเห็นชัดเจนว่ามีผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนมีต้นทุนสูงขึ้น กำไรลดลง หรือขาดทุน จนต้องปลดพนักงาน ถึงตอนนั้น นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็คงไปแน่
นายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)
จากการหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายราย ปรากฏข้อมูลออกมาตรงกันว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่จองทัวร์เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ได้ยกเลิกการเดินทางทั้งหมดแล้ว ภายหลังจากที่ทราบว่าไทยมีเหตุการณ์ชุมนุม จึงรู้สึกหวั่นไหวว่าจะมีปัญหาความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น
ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาลดลงเช่นกัน แต่อาจเป็นเพราะช่วงเดือนนี้เป็นช่วงโลซีซั่นของนักท่องเที่ยว
ญี่ปุ่น จึงรอดูสถานการณ์ก่อน ด้านนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ลดลงตั้งแต่ที่เกิดภาวะน้ำมันแพง และปกตินิยมจะเข้ามาเที่ยวในลักษณะครอบครัวช่วงปิดเทอม คือเดือน มิ.ย. แต่เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น จึงน่าเป็นห่วงว่าจะยกเลิกการเดินทางมาไทย
ส่วนตลาดยุโรปส่วนใหญ่จะเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ จึงยังไม่เห็นผลกระทบใดๆ นอกจากนั้นยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มที่จะเข้ามาประชุมและสัมมนาในไทยที่เป็นกลุ่มขนาด 10-20 คนได้แจ้งยกเลิกมาแล้ว ส่วนกลุ่มใหญ่ๆยังไม่ได้ยกเลิก แต่หากในประเทศไทยยังไม่สงบก็เป็นไปได้ที่จะถูกยกเลิก
หากการชุมนุมฯยังไม่จบสิ้นโดยเร็ว เป็นห่วงว่าจะกระทบต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศปัญหาน้ำมันแพงยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเรื่องการเมืองของไทย เพราะน้ำมันแพงก็ยังสามารถดูแลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา 10% ได้ และมองว่านายกรัฐมนตรีน่าจะพูดจาให้นิ่มนวลกว่านี้เพื่อไม่ให้ เกิดความขัดแย้ง มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวใน ระยะยาว.
Create Date : 20 มิถุนายน 2551 | | |
Last Update : 20 มิถุนายน 2551 18:33:02 น. |
Counter : 202 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|