อาณาจักรทวารวดี ตอนที่ 1
ชาวทวารวดี
หลังจากที่ผมได้กล่าวถึงยุคอาณาจักรเจนละไปแล้ว ยังมีอีกอาณาจักรในสมัยโบราณที่สำคัญคือทวารวดี ชื่ออาจจะเรียกยากหน่อย คำว่า ทวารวดี อ่านว่า ทะ-วา-ระ-วะ-ดี นะครับ
คำว่าทวารวดี มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตครับ ...ทวาร แปลว่า ประตู ดังนั้นความหมายก็คือเมืองแห่งประตูหรือเมืองท่านั่นเอง นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานจากชื่ออาณาจักรที่ปรากฏในเอกสารจีนโบราณคือ โถ โล โป ตี้ อยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่าในปัจจุบัน) และ อาณาจักรอิศานปุระ (กำพูชาในปัจจุบัน) จากเหรียญเงินจารึกภาษาสันสกฤตข้อความว่า ศรีทวารวดี ศวรปุญยะ แปลว่า บุญกุศลของพระราชาศรีทวารวดี ทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ทวารวดีมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการเมือง รวมถึงวัฒนธรรมด้วยครับ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เราพบว่าศิลปะของยุคทวารวดีกระจายไปอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ไม่มีหลักฐานใดที่จะยืนยันถึงการแผ่อำนาจทางการเมืองเหมือนอาณาจักรอื่นๆทั่วไป อาณาจักรทวารวดีเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 และมาเสื่อมอำนาจลงเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 16 จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่ามีถึง 63 เมืองด้วยกัน เมืองทุกแห่งมีการต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากยุคก่อนประวัติศาสตร์พัฒนามาสู่ยุคอาณาจักรทวารวดี
ร่องรอยวัฒนธรรมอาณาจักรทวารวดีพบที่ภาคกลางของประเทศไทยเช่นจังหวัดลพบุรี ,สุพรรณบุรี ,ปราจีนบุรี ราชบุรี ,ชลบุรี ,สระแก้ว ,ถ้ำพระโพธิสัตว์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ,นครสรรค์ ,นครนายก, กาญจนบุรี ,เพชรบุรี ,ชัยนาท ,ฉะเชิงเทรา ส่วนภาคเหนือที่จังหวัดลำพูน .เพชรบูรณ์ ภาคอีสานเช่นที่จังหวัดชัยภูมิ ,กาฬสินธุ์ ,อุดรธานี ,ศรีสะเกษ ,มหาสารคาม ,นครราชสีมา ,ร้อยเอ็ด ,ยโสธร ,ขอนแก่น... (ส่วนมากก็ค้นพบเกือบทุกจังหวัดในภาคอีสานน่ะครับ...) ภาคใต้ก็ยังพบร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ,นครศรีธรรมราช และ ชุมชนโบราณเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานีเป็นต้น
เมืองแต่ละเมืองเป็นรัฐที่มีอิสระต่อกัน การเจาะจงว่าเมืองใดเป็นจุดศูนย์กลางของอาณาจักรจึงไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดแน่นอน เมื่อชาวทวารวดีได้รับการติดต่อ ค้าขาย รวมถึงรับศาสนาพุทธแบบเถรวาทจากอินเดีย ชาวทวารวดีจึงได้รับวัฒนธรรมแบบอินเดียมาด้วย ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยในยุคทวารวดีเมื่อประมาณพันปีที่แล้วยังไม่เป็นแบบที่เราเห็นในปัจจุบันนะครับ เพราะเนื่องจาก น้ำทะเลยังกินพื้นที่ขึ้นไปถึงจังหวัดลพบุรีบางส่วน ดังนั้นอยุธยา กรุงเทพ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ติดชายฝั่งทะเลปัจจุบันยังจมอยู่ใต้น้ำเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลอยู่เลยครับ ดังจะเห็นได้ว่าเมืองต่างๆในยุคทวารวดีจะตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเลเดิมคือ ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี ปราจีนบุรี เป็นต้น
เล่ากันว่าดินแดนสุวรรณภูมิของสมัยนั้นเราอุดมสมบูรณ์มาก ชาวอินเดียที่ถังแตกสมัยนั้นก็จะล่องเรือมาแสวงหาโชคที่นี่รวยกันเป็นกอบเป็นกำด้วย
เครื่องแต่งกาย
เนื่องจากชาวทวารวดีรับอิทธิพลจากอินเดียแบบสมัยคุปตะทำให้เครื่องแต่งกายออกมาเป็นแบบอิทธิพลของอินเดียด้วย โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางโบราณคดีจากภาพสลักหินต่างๆ จากภาพต่อไปนี้เป็นภาพที่ค้นคว้ามาจากรูปสลักต่างๆในสมัยทวารวดีรวมถึงศิลปะแบบราชวงศ์คุปตะ และต้นราชวงศ์ปาละมาช่วยเสริมรอยต่อภาพสลักที่ไม่ค่อยชัดให้สมบูรณ์ขึ้น
การแต่งกายในราชสำนัก

ผู้ชาย จากหลักฐานที่ชาวจีนสมัยโบราณบันทึกไว้ถึงชาวทวารวดีกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ออกว่าราชการจะทรงอาภรณ์สีเมฆ ยามเช้าจะทรงศิราภรณ์ทองคำ เครื่องใช้ก็เป็นทองคำล้วน ผ้าทรงลายลูกไม้คล้องคอ ต่างหูทองคำ
ศิราภรณ์ในภาพเป็นทองคำประดับมุกและอัญมณีต่างๆ นุ่งผ้าคล้ายชาวอินเดีย คือนุ่งโจงกระเบนยาวเลยเข่าไป มีเครื่องประดับที่คอและเครื่องแขนที่ประดับมุกและอัญมณี คาดเข็มขัด เกล้าผมเป็นมวยสูงๆ
ผู้หญิง จากภาพสลักนักดนตรีที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ได้มาจากเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี สังเกตเห็นว่าผู้หญิงชาวทวารวดีนิยมใช้ผ้าคล้องคอ ไหล่ แต่จะพาดไปทางไหนไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์อะไรตายตัว บางคนก็นำมาคาดไว้ที่อกแบบผ้าแถบ นุ่งผ้ายาวกรอมเท้า พับเป็นทบเล็กน้อย มีชายพกด้านหน้า เกล้าผมสูง ต่างหูแบนๆกลมๆทำจากโลหะหรือทองคำดุนเป็นลวดลายต่างๆ หรือบางครั้งทำเป็นรูปอื่นๆ เช่นหยดน้ำ ดอกไม้ ดอกบัวตูม เป็นต้น
ชาวทวารวดีทั่วไป
ชาวทวารวดีนิยมใช้เครื่องประดับที่เป็นลูกปัดแก้ว หินอาเกต มีสีสันต่างๆสวยงามเหมือนที่ขายในท้องตลาดในยุคปัจจุบันครับ เป็นสินค้าอีกอย่างในยุคนั้นด้วย หาชมได้ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วไป... ชีวิตชาวเมืองยุคนี้อยู่กับการกสิกรรมเป็นอาชีพหลักส่วนใหญ่
ผมจะพยายามนำรูปมาใส่เพิ่มเติมต่อไป ...และจะอัพบล็อกทุกอาทิตย์ครับ
ครั้งต่อไปผมมีตำนานของยุคทวารวดีมาเล่าให้ฟังครับ..ติดตามอ่านตอนต่อไปอาทิตย์หน้าครับ
Create Date : 03 พฤศจิกายน 2550 |
|
42 comments |
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2550 11:18:57 น. |
Counter : 16324 Pageviews. |
|
 |
|
www.opb.th.gs