Life isn't measured by the number of breaths we take, but by the places and moments that take our breath away.
Group Blog
 
All Blogs
 

จับตาดูวิชาชีพพยาบาล.. เพื่ออะไร?

ทุกวันนี้ มีสถาบันผลิตวิชาชีพพยาบาลอยู่ 59 แห่งทั่วประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล คิดแบบคร่าวๆหยาบๆก็ต้องว่า ปีหนึ่งๆพยาบาลวิชาชีพถูกผลิตออกมาอยู่ที่ตัวเลขแถวๆ 6 พันคน

ในต่างประเทศมีปัญหาขาดแคลนวิชาชีพพยาบาลชนิดสาหัส ต้องเร่งผลิตกันชนิดว่า อนุญาติให้คนที่กำลังเรียนปริญญาตรีสาขาอื่นๆมาแล้ว 2 ปี โอนย้ายเข้ามาเรียนในสาขาพยาบาลต่อได้ .. ทั้งนี้ จะต้องเป็นเด็กที่มีผลการเรียนที่เฉลี่ยได้เกรด 2.5 ขึ้นไป และภายใน 2 ปีที่โอนย้ายเข้ามานั้น จะต้องเรียนหนักหามรุ่งหามค่ำ ชนิดมีการฝึกปฏิบัติในระดับเทียบเท่ากับที่มีในหลักสูตร 4 ปีของนักศึกษาพยาบาลภาคปกติ คือ ไปจบปริญญาตรีในระยะเวลาเดียวกัน ได้ปริญญาตัวเดียวกัน แต่เรียนหนักกว่าเป็น 2 เท่า ซึ่งพบว่า หลักสูตรพิเศษนี้ คนแห่มาเรียนกันมาก ...เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา

ในอเมริกานั้น เป็นกระแสมานานพอสมควรแล้วว่า คนเก่งๆในสาขาอื่นๆระดับปริญญาตรี เมื่อต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป ก็มักเมียงมองที่จะพิจารณาตัวเลือกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลร่วมเข้าไปด้วยเสมอ ทั้งๆที่บางหลักสูตรนั้น จะต้องมีการเรียนหน่วยกิจพื้นฐานบังคับเพิ่มเติมสำหรับคนที่ไม่ได้จบพยาบาลโดยตรง แต่ก็พบว่า คนก็ยังแห่สมัครเรียนกันเยอะแยะ นัยว่า วิชาชีพนี้รายได้ดี ตลาดอาชีพสดใส

พยาบาลในอเมริกาหลายคน ทั้งๆที่ยังเป็นสาวโสด ทำงานไปไม่นานก็สามารถเก็บเงินซื้อบ้านหลังเล็กๆเป็นของตัวเองได้แล้ว เพราะงานพยาบาลในโลกตะวันตกวิ่งไล่หาคนให้ขวัก มีงานมีตำแหน่งแต่กำลังคนไม่เพียงพอ ค่าแรงจึงมีการถีบตัวสูงเพื่อจูงใจให้คนมาทำงานในหน่วยงานของตน

ยิ่งนับจากนี้ไป ที่ประชากรของโลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รุ่นแรกที่เรียกว่า ยุคเบบี้บูม ได้ก้าวย่างเข้าสู่ตัวเลขวัย 60 เป็นครั้งแรกในปีนี้ และมีแนวโน้มจำนวนทวีมากขึ้นในอนาคตไปเรื่อยๆกว่าประชากรในวัยอื่นๆ ซึ่งกราฟก็จะเอียงมาด้วยว่า ประชากรสูงอายุนั้นมักอยู่ในเขตประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่

ขนาดประเทศพัฒนาแล้วในวันนี้ ยังขาดกำลังพลพยาบาลที่เป็นตัวหลักในการดูแลผู้สูงอายุชนิดขั้นวิกฤติ แล้ววันข้างหน้าของสังคมไทยที่ตัวเลขผู้สูงอายุทวีขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน พยาบาลวิชาชีพที่เป็นหนึ่งในคำตอบหลักของการบำรุงดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไทย...ทุกวันนี้เป็นอย่างไร

พยาบาลวิชาชีพในปัจจุบันของสังคมไทยมีอยู่เรือนแสนก็จริงอยู่ แต่ก็ใช่ว่า จะสามารถตรึงจำนวนที่จะมีแต่เพิ่มให้มากขึ้นได้ที่ไหนกัน ตรงกันข้ามเสียอีกว่า ทยอยถอยหนีออกไปจากวงการได้ทุกเมื่อ เพราะอะไร... ก็ด้วยสภาพชีวิตที่ต้องเสี่ยงกับเชื้อโรค เงินเดือนที่น้อยนิด สวัสดิการที่ตกๆหล่นๆ สังขารที่ต้องตรากตรำกับเวลาไม่แน่นอน ยังไม่รวมถึงความคาดหวังของสังคม ความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่แสงริบหรี่ ..ถ้าจะว่าไปแล้ว เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ แต่เงินเดือนน้อยกว่าอาชีพที่สบายๆอีกหลายอาชีพในสังคม แต่เสี่ยงภัยต่อสุขภาพมากกว่าในระยะยาว ทำให้แม้แต่การผลิตพยาบาลออกมาใหม่ๆทุกปีที่ตัวเลขเกริ่นนำข้างต้น ก็ใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่ตรงกับโจทย์ของกลุ่มผู้สูงอายุ และรวมไปถึงการสนองความคาดหวังของสังคมไทยที่อยากได้คุณภาพการดูแลดีๆเข้าขั้นมาตรฐานสากลเมื่อยามเจ็บป่วย

มีสักกี่วิชาชีพที่ต้องใช้ทั้งความรู้และแรงกาย ต้องตรากตรำงานเพื่อตรึงสภาพพร้อมรับตลอด 24 ชั่วโมง ต้องหมุนเวียนการทำงานชนิดที่ขาดเมื่อใด สังคมก็พร้อมวุ่นวายได้เมื่อนั้น แล้วปริมาณของกำลังคนก็มีผลต่อคุณภาพของงาน ชนิดที่ว่าเครื่องจักรไม่สามารถทดแทนได้อย่างครอบคลุม

เท่าที่นึกออกตอนนี้ก็มีงานวิชาชีพสายแพทย์ ตำรวจ ซึ่งก็ส่วนใหญ่เป็นท่านสุภาพบุรุษ แต่ในสายงานวิชาชีพของผู้หญิงแล้ว ก็เท่าที่เห็นตอนนี้ก็คือ วิชาชีพพยาบาลนี้แหละ

วันนี้ขอเล่าคร่าวๆแบบกว้างๆก่อนนะคะ แล้วต่อๆไปจะค่อยๆเจาะลึกไปทีละประเด็นในภายหลัง




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2549    
Last Update : 15 ตุลาคม 2549 1:35:19 น.
Counter : 481 Pageviews.  

วิชาชีพแพทย์กับพยาบาล..ความแตกต่างที่มองเห็นได้

เมืองไทยมีพยาบาลวิชาชีพเป็นจำนวนเรือนแสน แต่สังคมไทยก็ยังมีความสับสนอยู่เรื่อยๆมาตลอดว่า พยาบาลทำงานอะไรบ้าง มีหน้าที่แตกต่างกับแพทย์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

************************************************


ถ้าว่าสั้นๆง่ายๆชนิดรวบรัดก็คือ แพทย์มีหน้าที่มุ่งเน้นไปที่โรคเสียมากกว่า ส่วนพยาบาลนั้นมีหน้าที่มุ่งเน้นไปที่ตัวผู้ป่วยมากกว่าคะ

แพทย์มีความสามารถในการแยกแยะวินิจฉัยและรักษาโรค แต่ ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยในโรคต่างๆนั้น เจ้าหน้าที่พยาบาลจะมีทัศนะและความสามารถที่ชัดเจนกว่า อย่างในโรงพยาบาลนั้น จะเห็นว่า ผู้ป่วยจะอยู่ในความดูแลของพยาบาลทั้ง 24 ชั่วโมง ในขณะที่แพทย์นั้นไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลาเหมือนกับเจ้าหน้าที่พยาบาล ถึงจะมีแพทย์ที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยก็ตามทีเถอะ เพราะแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักที่จะต้องดูแลผู้ป่วย..เหมือนอย่างที่พยาบาลมี

ยกตัวอย่างว่า หากคนไข้ออกมาจากห้องผ่าตัดแล้ว การดูแลหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ต่อให้ตอนผ่าตัดจะได้ทีมแพทย์ที่ฝีมือดีที่สุดในโลก แต่ถ้าหลังผ่าตัดนั้น ไม่ได้ทีมงานพยาบาลที่มีคุณภาพ เพื่อลงรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผนการดูแล รวมไปถึงการปฏิบัติตามแผนการดูแลนั้นๆเสียแล้ว ผลของการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดที่ยอดเยี่ยมนี้ ก็อาจสูญเปล่าหรือถึงขั้นแย่ลงกว่าก่อนผ่าตัดก็เป็นไปได้

ยกตัวอย่างให้เห็นอีกอันหนึ่ง คือ ในผู้ป่วยโรคเฉียบพลันนั้น บทบาทของพยาบาลอาจยังไม่เห็นเด่นชัดมากนัก แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเรื้อรังชนิดต่างๆนั้น บทบาทของพยาบาลจะมีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยนั้นมีผลต่อโรคให้กำเริบหรือสงบระงับได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องติดต่อปรึกษากับพยาบาลมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เพราะต้องให้พยาบาลช่วยวางแผนการดูแลที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ดี ด้วยความจำกัดของบุคคลากร ก็อาจทำให้พยาบาลจำเป็นต้องก้าวข้ามเส้นบทบาทหลักของตัวเอง เพื่อไปทำหน้าที่อื่นๆที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของตัวเอง คือ ไม่ได้ทำแค่การดูแลผู้ป่วยโดยตรงเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมข้างนอกยังมองที่บทบาทของพยาบาลว่า เป็นผู้ช่วยของแพทย์ เพราะอย่างในโรงพยาบาลอำเภอหลายแห่งที่แพทย์มีไม่เพียงพอต่อปริมาณคนไข้ หรือที่สถานีอนามัย พยาบาลจำนวนมากต้องกระโดดออกไปจากเรื่องของการมองที่ตัวผู้ป่วย กระโดดออกไปจากบทบาทหลักของตัวเองเพื่อไปมุ่งเน้นที่ตัวโรคแทน ...


ส่วนในเรื่องของการที่มองว่า พยาบาลรับและทำตามคำสั่งของแพทย์นั้น ... ต้องบอกว่า เป็นเพียงบทบาทบางส่วนเท่านั้นเองนะคะ ซึ่งหากการรับและทำตามคำสั่งของแพทย์นั้น มีผลต่อสุขภาพของตัวผู้ป่วยโดยรวม พยาบาลก็จะยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับแพทย์เสมอ


ในสังคมระหว่างวิชาชีพแพทย์กับพยาบาลนั้น ในทางนโยบายด้านวิชาชีพ รวมไปถึงกฏหมายควบคุม มีการระบุหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน เป็นวิชาชีพที่ไม่ได้มีใครเหนือกว่าใคร ใครข่มใครหรือใครด้อยกว่าใคร แต่เป็นวิชาชีพที่จำเป็นต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกัน เพราะถ้าทีมใดทีมหนึ่งบกพร่องไป อีกทีมหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเสมอ แต่ในทางปฏิบัติที่มีเรื่องของนโยบายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว มีเรื่องของความจำเป็นเกี่ยวกับความขาดแคลนบุคคลากรกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ที่ทำให้พยาบาลมักโดนดึงเข้าไปเติมเต็มบทบาทตรงนั้นตรงนี้ยุบยับไปหมด จนไม่เพียงแต่สังคมข้างนอกเกิดความสับสนเท่านั้น แต่รวมไปถึงภายในกลุ่มของเหล่าพยาบาลเองด้วยเหมือนกัน






 

Create Date : 14 ตุลาคม 2549    
Last Update : 14 ตุลาคม 2549 23:34:04 น.
Counter : 4351 Pageviews.  


greenery
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




If you can't live with someone who you love,please love someone who you live (with).
Friends' blogs
[Add greenery's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.