ก่อร่างสร้างฝัน บ้านเล็กในฟาร์มเล็ก...เล็ก
Group Blog
 
All blogs
 

ข้าวพื้นบ้านคืนนา

ถ้าเพื่อนๆ มาเยือนฟาร์มของเราในเดือนสิงหาคม จะมีผืนนาข้าวสีเขียวขจีพริ้วตามสายลมรอรับอยู่ เลยไปถึงเดือนกันยาข้าวจะเริ่มเข้าสู่ช่วงหางเหลือง ปลายใบข้าวที่เคยเป็นสีเขียวอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ไม่ช้าไม่นานเราก็ต้องเตรียมตัวสำหรับการเก็บเกี่ยวกันแล้วในช่วงปลายเดือนตุลาคม

ปีนี้เราหว่านข้าวสามพันธุ์ - ขี้ตมใหญ่ และมันเป็ด เป็นสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เป็นข้าวเหนียวเก็บไว้กินในครอบครัว และข้าวหอมมะลิเพื่อขายใช้หนี้ใช้สิน

หลังจากที่ชาวนาภาคอีสานเปลี่ยนเป็นเป็นสาวกข้าวพันธุ์ปรับปรุงจากกระทรวงเกษตรฯ มาเกือบสองทศวรรษ เปลี่ยนจากการปลูกข้าวใส่เล้าเพื่อกิน เปลี่ยนมาเป็นชาวนาเชิงพาณิชย์ ปลูกข้าว กข. และหอมมะลิ หรือข้าวดอกมะลิ 105 ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าหญ้า จนปูปลา กบ เขียดหนีหายจากงานนาไปกันหมด

คนทำนาป่วย และไม่มีวันรวยได้เหมือนพ่อค้าข้าว โรงสี และพ่อค้าส่งออก
ปัจจุบัน นอกจากชาวนากำลังสูญสิ้นความสามารถในการปลูกข้าว เพราะแม้แต่พันธุ์ข้าวก็ไม่สามารถเก็บไว้เองได้ ต้องซื้อมาปลูก ชาวนาอาจจะต้องสูญสิ้นนา กลายเป็นคนรับจ้างปลูกข้าว เพราะการคว้านซื้อที่นาจากชาวต่างชาติ หรือบรรษัทข้ามชาติกับระบบ contract farming

แต่ยังมีความพยายามของชาวนาผู้่ไม่ยอมสิ้นนา กับความพยายามในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ซึ่งมีหลากหลายมากมายสายพันธุ์ ชาวนาสามารถเลือกปลูกให้ถูกกับนา ลักษณะพื้นที่ ดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว และตามวัฒนธรรมประเพณี

ปีนี้คุยกันกับน้าสาวว่า เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนจะพากันเดินทางไปขอปันพันธุ์ข้าวจากกัลยาณมิตรที่บ้านโนนยาง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นแหล่งที่ชาวบ้านสร้างเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านไว้ ทำการคัดเลือกพันธุ์ข้าว ปรับปรุงพันธุ์ด้วยตนเอง เพื่อที่เราจะสามารถพึ่งตนเองได้ในเรื่องข้าว ซึ่งไม่ได้เป็นแค่อาหารหลัก แต่มันคือวิถีชีวิต ความเชื่อความศรัทธาและวัฒนธรรม



"ปฏิญญาแก่นนนคร ข้าวพื้นบ้าน อาหารมั่นคง ดำรงวิถีชาวนา”
จากงาน "มหกรรมข้าวพื้นบ้านอีสาน 52"

พวกเรา ขบวนการเกษตรกรจากทั่วประเทศ ซึ่งมารวมตัวกัน ณ. ลานวัฒนธรรม บึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น บัดนี้พวกเราได้ผนึกกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา ด้วยเอกภาพแห่งการรับรู้ต่อปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจที่มีต่อเกษตรกรรายย่อย พวกเรามีความชัดเจนว่าการพัฒนาเกษตรกรรมในประเทศไทยที่ผ่านมาโดยเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งเครื่องจักรกลและสารเคมีทางการเกษตร เพื่อเข้าสู่ระบบตลาดทุนนิยม ได้สร้างความบอบช้ำให้กับเกษตรกรรายย่อยอย่างมาก กลไกการตลาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาที่อยู่คู่ชาวนามาทุกยุคสมัย การเปลี่ยนปัจจัยการผลิตจากพันธุ์พื้นบ้านมาเป็นพันธุ์สมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบริษัทการเกษตรข้ามชาติ เมล็ดพันธุ์อันเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงอาหาร และศักดิ์ศรีของเกษตรกร ได้สูญหายไปจากชุมชนท้องถิ่น

วันนี้พวกเรามีข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ทางเลือกของเกษตรกร ที่จะหลุดพ้นไปจากชะตากรรมอันเลวร้าย
คือการปรับเปลี่ยนสู่วิถีทางการพึ่งตนเอง ด้วยระบบการผลิตที่สมดุล ยั่งยืน ใช้พันธุกรรมท้องถิ่นและปัจจัยการผลิตภายในชุมชน เคารพต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อม มีส่วนร่วมในระบบตลาดที่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นหนทางรอดอย่างมีศักดิ์ศรีของเกษตรกร ดังนั้นพวกเราขอประกาศว่า

1. เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดมาสู่การพึ่งตนเอง สร้างระบบการผลิตที่หลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม และระบบนิเวศน์ โดยเกษตรกรต้องมีอำนาจในการครอบครองและจัดการปัจจัยการผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และประเทศ

2. ต้องพัฒนายกระดับองค์กรเกษตรกร ให้มีความสามารถจัดการปัจจัยการผลิตและการตลาด บนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรและผู้บริโภค

3. เกษตรกรต้องเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในระบบตลาดที่ไม่เป็นธรรมและเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนเอง โดยการเชื่อมโยงกับภาคีพันธมิตรต่างๆ ทั้ง ขบวนการแรงงาน คนจนเมืองและกลุ่มผู้บริโภค ตลอดจนเพื่อนมนุษยชาติ

4. รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชน ในการรักษาพันธุกรรมท้องถิ่น และความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน บนพื้นฐานแนวคิดที่น้อมรับว่า ทรัพยากรชีวภาพเป็นสมบัติสาธารณะ ตั้งอยู่บนฐานการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ไม่เปิดโอกาสให้บริษัทการเกษตรตลอดจนอำนาจทางการเมืองที่แอบแฝง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ผูกขาด ด้วยการใช้กฎหมายสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือ

วันนี้ เราจะหล่อหลอม รวมจิตใจ ผนึกกำลังความร่วมมือ ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อ
สร้างสรรค์วิถีชีวิตของเกษตรกรที่สมดุลยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สร้างสังคมแห่งความสุข และสมานฉันท์ต่อไป

ประกาศ ณ. บึงแก่นนคร นครขอนแก่น
15 มีนาคม 2552


สนใจศึกษาข้อมูลเรื่องข้าวพื้นบ้านและการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวได้ที่ เว็บไซต์ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน //www.sathai.org และ //202.44.55.51/nogmo_org/rice/caravan/sound_plook_khao.php




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2552    
Last Update : 15 กันยายน 2552 15:07:48 น.
Counter : 532 Pageviews.  

ก่อร่างสร้างฝัน

หนึ่งความฝัน หนึ่งความหมาย กับเพียงหัวใจที่มี
ผ่านจากวันนั้นจวบจนวันนี้ อาจจะมี...ที่ท้อในวันนั้น
แต่ความรักหนึ่งความหมาย ต่อเติมให้ใจมีพลัง
ช่วยให้ความฝันที่มันอ้างว้าง เกิดเป็นทางด้วยรักด้วยใจของเรา

เติมฝัน เติมวันละหน่อย จากวันที่เริ่มฝัน มาจนถึงวันนี้ ก็หลายปี
จนมี้จ้าตัวน้อยมาร่วมทางฝันด้วย
ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงฝัน แต่คิดว่าเราก้าวเข้าไปใกล้แล้วล่ะ



เราเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ปลายปี ๒๕๔๖
มีสมาชิกตัวเล็กถือกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๔๙
ตอนนี้เจ้าบ๊วยเค็ม อายุสามขวบเต็มแล้ว
กำลังจะเรียนรู้และปฏิบัติการสร้างฝันไปพร้อมกับพ่อแม่

อีกนิดนะ พยายามเข้า...
ลูกจ๋า เราใกล้จะได้อยู่แล้ว บ้านเล็ก ในฟาร์ม เล็ก...เล็ก




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2552    
Last Update : 14 กันยายน 2552 16:24:11 น.
Counter : 408 Pageviews.  


familyfarm
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ครอบครัว ที่ก้าวเดินร่วมกัน
เพื่อเข้าใกล้ "การพึ่งตนเอง" ให้ได้มากที่สุด
ใฝ่ฝันจะสร้างสรรค์งานฝีมือจากวัสดุในท้องถิ่น
และก้าวสู่เกษตรกรรมยั่งยืน
Friends' blogs
[Add familyfarm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.