<<
พฤษภาคม 2559
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
10 พฤษภาคม 2559

ตอนที่ 6 เทคนิคแห่งการใช้ธรรมในเวลาฝึกสมาธิ (ต่อ)



โดยธรรมดาความสังเวชย่อมเปลี่ยนรูปมาจากความเกลียดหรือความรังเกียจหรือความรู้สึกปฏิกูลจงสังเกตว่าคนที่มีลูกเวลาลูกถ่ายอุจจาระออกมาแม้จะเปื้อนตัวเขา เขาก็จะไม่เกลียดแต่ถ้าเป็นอุจจาระของคนอื่นจะรู้สึกเกลียด หรือพูดตามสำนวนบาลีว่ารู้สึกปฏิกูล

ความรักทำให้ไม่รู้สึกรังเกียจ จับได้ เช็ดได้ให้สังเกตว่าโดยใจจริงขึ้นชื่อว่าอุจจาระแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของใครทุกคนรู้สึกรังเกียจทั้งสิ้น ข้อที่พึงจะสังเกตก็คือ ความรักเป็นเสมือนหนึ่งโลงศพที่ประดับประดาไว้อย่างสวยงามเพราะฉะนั้น การที่คนส่วนมากทั้งที่รู้อยู่ว่าในร่างกายของตนนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลต่างๆแต่ก็ไม่รู้สึกรังเกียจเลย จะพิจารณาอย่างไรก็ไม่รู้สึกปฏิกูลทั้งนี้เป็นเพราะความรักและความยึดถือในร่างกายยังมีอยู่มาก

ส่วนคนแก่ซึ่งความงามและความแข็งแรงของร่างกายได้ร่วงโรยไปมากแล้วความหยิ่งผยองในร่างกายก็เหลือน้อย และมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าตนเองได้ใกล้กับความตายเข้าไปทุกทีความมัวเมาในร่างกายได้สร่างลงมาก เหมือนกับคนที่สร่างเมาจากสุราตอนนี้สติสัมปชัญญะค่อยแจ่มใสขึ้น เพราะฉะนั้นคนแก่ส่วนมากจึงเจริญปฏิกูลสัญญาได้ผล กล่าวคือเมื่อพิจารณาถึงร่างกายในแง่ปฏิกูลก็จะเกิดความรู้สึกปฏิกูลได้ง่าย

ส่วนคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวยังมีความมัวเมาในร่างกายเต็มที่การเจริญปฏิกูลสัญญาส่วนมากจะไม่ค่อยได้ผล

แต่การที่เด็กบางคนในสมัยครั้งพุทธกาล เจริญปฏิกูลสัญญาได้ผลดังเช่นสังกิจจะสามเณร เป็นต้น ก็ดี หรือคนที่อยู่ในวัยสาวดังเช่น พระนางรูปนันทา ก็ดีขอให้จำหลักไว้อย่างหนึ่งว่า การที่บุคคลบางคนซึ่งอยู่ในวัยเด็กหรือในวัยหนุ่มวัยสาว เจริญปฏิกูลสัญญาได้ผลนั้นเป็นเพราะมีทุนมาตั้งแต่ชาติก่อนซึ่งหมายความว่าเขาเคยมีความสังเวชเพราะมีการพิจารณาเช่นนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนความสังเวชที่ฝังอยู่ในสันดานซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่ในชาติก่อนๆอันนี้แหละที่จะเกิดขึ้นมาอีกถ้าหากได้พิจารณาเหมือนกับที่เคยได้พิจารณามาแล้วในชาติก่อนๆ

ส่วนคนที่ไม่มีทุนในทางนี้มาเลยหรือมีมาน้อยและซ้ำยังอยู่ในวัยหนุ่มและวัยสาวอยู่ด้วยคนประเภทนี้ให้พิจารณาอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะเกิดความสังเวช เพราะความรักความมัวเมา หรือความหยิ่งในตัวเอง จะปิดบังความสังเวชไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเทคนิคอันหนึ่งของการพิจารณาที่จะให้เกิดความสังเวชก็คือท่านจะต้องสำรวจตัวเองเสียก่อนว่า ความรักในตัวเอง ความหยิ่งผยองในตัวเองยังมีอยู่มากหรือน้อย ถ้ายังมีอยู่มากก็ป่วยการที่จะพิจารณาถึงร่างกายในแง่ของปฏิกูลท่านจะต้องรอไป จนกว่าจะถึงเวลาที่ความมัวเมาในร่ายกายจะลดน้อยลง

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ความสังเวช เปลี่ยนรูปมาจากความเกลียดหรือความรังเกียจ ท่านจะต้องจำหลักอันนี้ไว้ให้แม่นโดยธรรมดาคนเราเมื่อมีความเกลียด หรือความรังเกียจต่อบุคคลใดหรือสิ่งใดก็ตามมักจะมีความโกรธหรือความไม่พอใจแทรกอยู่เสมอความโกรธหรือความไม่พอใจเกิดขึ้นก็เนื่องมาจากการคิดเอาแต่ในแง่ของตัวไม่คิดในแง่ของผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดก็คือเขาไม่รู้แจ้งในความคิดของเขาว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ความเกลียดที่เป็นกิเลสนั้นย่อมต้องประกอบไปด้วยความโกรธและความหลงในความคิดของตนเอง และประกอบไปด้วยความเห็นแก่ตัวเพราะฉะนั้นถ้าหากเราสามารถแยกเอาความโกรธ ความหลงในความคิดของตัวเองและความเห็นแก่ตัวออกไปแล้วเราก็จะได้ความสังเวชที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการฝึกสมาธิ

จงนึกถึงเรื่องของพระนางรูปนันทาในขณะที่เห็นรูปที่พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตขึ้นครั้งแรกก็รู้สึกริษยาที่เห็นเขางามกว่าตัวและอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าซึ่งในขณะนั้นได้ทำให้พระนางรู้สึกว่า ที่ตนเองเคยคิดและเคยทรนงว่าฉันสวยกว่าใครๆบัดนี้รู้สึกตัวแล้วว่าไม่จริง ความหลงในตัวเองได้สลายตัวลงและต่อมาในเมื่อเห็นหญิงนั้นค่อยๆแก่และในที่สุดได้ตายไปตอนนี้ทำให้พระนางรู้สึกตัวว่า ที่เคยคิดและเคยพอใจว่าความงามเป็นสิ่งที่มีค่าและเป็นของจีรังยั่งยืนนั้นมาบัดนี้ได้เห็นแล้วว่าไม่จริง ซึ่งทำให้ความมัวเมาและความหลงผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้สลายตัวลงหมดสิ้น

ฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะให้พิจารณาว่า "ดูซิ กายนี้อาดูรไม่สะอาด เป็นของเน่าเปื่อย..." และพระองค์ยังทรงเสริมอีกว่า"กายนี้ฉันใด กายของเราก็เหมือนกันฉันนั้น" เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงสำทับเช่นนี้อีกพระนางรูปนันทาจึงได้เกิดความสังเวชอย่างลึกซึ้งถึงขนาดตัดสักกายทิฐิได้โดยเด็ดขาด ในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่าพระนางรูปนันทาได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเพราะได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้เอง

อนึ่ง จงสังเกตว่าตลอดเวลาที่พระนางเห็นความงามของร่างกายค่อยๆหมดไปนั้น ความโกรธ หรือความไม่พอใจมิได้บังเกิดขึ้นเลย หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ทิฐิมานะหรือความสำคัญผิดว่าเราดีกว่าเขา เราสูงกว่าเขา มิได้เกิดขึ้นในจิตใจเลย

จงจำไว้ว่า ธาตุแท้แห่งความสังเวชนั้นก็คือความรังเกียจที่ประกอบไปด้วยความรู้แจ้ง ซึ่งทำให้ทิฐิมานะหรือความมัวเมาในตัวเองหมดสิ้นไปฉะนั้น ใครก็ตามถ้าใช้หลักอันนี้เป็นเครื่องพิจารณาร่างกายของตัวเองอยู่เสมอแล้วความสังเวชก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ตามความต้องการและในที่สุดก็สามารถที่จะฝึกสมาธิได้ผล

ในขณะใดนึกถึงธรรม ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญสติสัมโพชฌงค์

ในขณะใดพิจารณาธรรม ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์

ในขณะใดใช้ความเพียรนึกถึงธรรม และพิจารณาธรรม ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญวิริยะสัมโพชฌงค์

ในขณะใดใช้ความเพียรนึกถึงธรรม และพิจารณาธรรมแล้วเกิดความแจ่มแจ้งในธรรม ปีติก็ย่อมเกิด ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญปีติสัมโพชฌงค์

และเมื่อปีติเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ปัสสัทธิเกิดขึ้น

และเมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เป็นสมาธิได้ง่าย

และเมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว จิตก็จะเกิดความวางเฉยคือไม่ต้องขวนขวายในอันที่จะทำอะไรอีก เพราะจิตได้ดำเนินไปในสมาธิดีแล้ว

โดยประการฉะนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์สมาธิสัมโพชฌงค์ และ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

ข้อความในพระสูตรนี้ ข้าพเจ้าได้เคยนำมาลงไว้ครั้งหนึ่งแล้วแต่เนื่องจากเห็นข้อความในพระสูตรนี้ เป็นหลักที่สำคัญมากเป็นหลักที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดฉะนั้นจึงได้นำมาลงไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

ถ้าหากผู้ปฏิบัติ จะพึงท่องข้อความในพระสูตรนี้ได้จนขึ้นใจและใช้เป็นบทภาวนาเพื่อการพิจารณาทบทวนในเวลาฝึกสมาธินอกจากจะได้ผลในทางความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวิธีปฏิบัติแจ่มแจ้งขึ้นแล้วยังมีผลอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าหากผู้ปฏิบัติจะพึงนึกถึงข้อความนี้ในใจอย่างช้าๆอย่างใคร่ครวญไปทีละตอนและทีละประโยคพร้อมกับให้มีสติกำกับทุกคำก็จะได้ผลในการฝึกสมาธิอีกด้วยกล่าวคือจะสามารถกำจัดความฟุ้งซ่านในเรื่องอื่นๆได้ จิตจะค่อยๆสงบพร้อมกันนั้นถ้าหากเกิดความเข้าใจซึ้งในข้อความของพระสูตรนี้ก็จะทำให้ปีติเกิดขึ้นอีกด้วยเมื่อปีติเกิดแล้ว จิตก็เป็นสมาธิได้ง่าย

อนึ่งข้าพเจ้าใคร่ที่จะขอทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติอีกสักอย่างหนึ่งว่าการใช้คำภาวนาสำหรับผู้แรกเริ่มปฏิบัตินั้นอาจใช้คำยาวๆเป็นข้อความหลายประโยคดังที่แนะมานี้ก็ได้ หรืออาจจะใช้คำภาวนาสั้นๆเช่น คำว่า ”พุทโธ” หรือ “อรหัง” ก็ได้ ข้อสำคัญมีอยู่อย่างเดียว กล่าวคือจะนึกถึงอะไรก็ตามจะต้องมีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ขณะนี้กำลังนึกถึงอะไรอยู่และถ้าหากข้อความที่นึกนั้น เป็นข้อความที่มีความหมายที่ติดต่อกันโดยลำดับและในขณะที่นึกก็มีสติกำกับความคิดไม่เปะปะ ถ้าหากทำได้อย่างนี้จิตก็ย่อมจะเป็นสมาธิได้

ให้สังเกตุว่าการฟังเทศน์ของสาวกบางองค์ที่ได้บรรลุมรรคผลในขณะที่กำลังฟังอยู่นั้นท่านเหล่านี้ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิภาวนาอยู่แต่บทใดบทหนึ่งตรงกันข้ามท่านสาวกที่ได้บรรลุเหล่านั้นฟังข้อความที่เป็นเทศนาของพระพุทธองค์ติดต่อกันโดยลำดับ เป็นข้อความที่ต้องใช้ความนึกความคิดมากมาย

และเนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงมีวิธีจูงใจให้คนฟังเกิดสมาธิได้เพราะฉะนั้น สาวกที่ได้ฟังธรรมโดยวิธีนี้จึงได้บรรลุมรรคผลขณะกำลังฟังเทศน์อย่าลืมว่าการบรรลุมรรคผลนั้นจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตเป็นสมาธิอย่างน้อยก็ในขั้นของอุปจารของปฐมฌาน

จากตัวอย่างเช่นนี้จะทำให้เกิดแนวคิดขึ้นมาว่าการฝึกสมาธิเพื่อที่จะให้ได้ฌานนั้นก็สามารถใช้คำภาวนายาวๆดังที่กล่าวมาแล้วก็ได้สิ่งที่ท่านจะต้องจำให้แม่นยำอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา

การพิจารณาธรรมแล้วเกิดปัญญา ย่อมจะทำให้เกิดสมาธิขั้นฌานได้แน่นอนด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติไว้อีกอย่างหนึ่งว่าถ้าหากเราใช้บทภาวนานั้นไม่ได้ผลก็จงใช้บทภาวนาที่เป็นข้อความยาวๆแต่ให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกันมาโดยลำดับและโดยวิธีนี้อาจจะใช้คำกวีที่เป็นภาษาไทยซึ่งจะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ หรือ กลอนก็ตาม ในเมื่อคำเหล่านั้นเป็นสุภาษิตเตือนใจและเป็นคำที่ท่านสามารถเข้าถึงความหมาย เป็นคำที่ท่านซึ้งโดยวิธีนี้ก็อาจจะใช้เป็นบทภาวนาได้

ข้อความในพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องโพชฌงค์ 7 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นสำหรับคนที่เข้าใจเรื่องโพชฌงค์เป็นอย่างดี ก็สามารถที่จะใช้คำในพระสูตรนั้นทั้งหมดเป็นบทภาวนาเพื่อเป็นการทบทวนและเพื่อฝึกให้มีสติอยู่กับตัวได้เป็นอย่างดีข้อสำคัญท่านต้องจำสำนวนในพระสูตรนี้ให้แม่นเพราะเวลาที่เรานึกอยู่ในใจขณะทำสมาธินั้นถ้าเกิดความสงสัยหรือเกิดความไม่แน่ใจอะไรขึ้นมาสมาธิก็จะถอยทันที


(จากหนังสือ "สมาธิและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน" โดย อาจารย์พร รัตนสุวรรณ)




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2559
1 comments
Last Update : 10 พฤษภาคม 2559 21:33:36 น.
Counter : 2460 Pageviews.

 

Hello,

New 2024 club music https://0daymusic.org MP3, FLAC, Music Videos.

0daymusic Team

 

โดย: RaymondOmive IP: 51.210.176.129 18 มีนาคม 2567 14:07:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


อรุณรุ่งแห่งธรรม
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อรุณรุ่งแห่งธรรม's blog to your web]