|
 |
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | |
|
|
 |
10 เมษายน 2549
|
|
|
|
เรื่องเล่าจากพงศาวดาร ตอนวาระสุดท้ายอาณาจักรอยุธยา (ตอนที่2)

ครั้นเมื่อทัพใหญ่ของพม่าทั้งสองทัพ เดินทางมาประชิดรอบชายขอบพระนครและเริ่มแปลขบวนเตรียมจะเข้ายึดวัดต่างๆ รอบกรุงเป็นค่ายรบ ทางอยุธยาเองก็ป้องกันด้วยการส่งนายทัพนายกองจากหัวเมืองต่างๆ ที่เรียกตัวกลับเข้ามาในเมืองตั้งแต่ตอนต้น หนึ่งในนั้นก็มีพระเจ้าตากสินอยู่ด้วย ออกตั้งค่ายใหญ่รอรับศึกที่นอกกำแพงเมือง ตามวัดต่างๆ รอบพระนคร ยกตัวอย่างที่สำคัญๆ ได้แก่ วัดพิชัย,วัดพุทไธศวรรย์,วัดไชยวัฒนาราม,วัดกษัตราธิราช,วัดหน้าพระเมรุ เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเข้ายึดวัดเหล่านี้แล้วใช้เป็นค่ายรบก่อหอปืนได้โดยง่าย (ค่ายของพระเจ้าตากสิน อยู่ที่วัดพิชัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ติดริมแม่น้ำป่าสัก)
ดังนั้นธุระทางทหารของพม่าในขั้นตอนนี้คือ ต้องเข้าปล้นค่ายของอยุธยา ที่ยกมาตั้งรอบกรุงให้ได้ก่อนฤดูน้ำหลาก เพราะอยุธยาในฤดูน้ำหลากนั้น ตามพงศาวดารระบุว่า 5-10 วันเป็นทะเลสาบ ยุทธวิธีพื้นฐานของอยุธยาในการตั้งรับศึกกับพม่า คือการใช้ตัวพระนครเป็นฐานรับศึก เมื่อพม่ายกทัพมา เราก็จะทำการรวบรวมเสบียงและกวาดต้อนผู้คนมาไว้ในพระนคร ให้เพียงพอจนถึงผ่านพ้นฤดูน้ำหลาก พอพม่าตีพระนครไม่สำเร็จก่อนน้ำหลาก พม่าก็จะถอยไปเอง แล้วทัพอยุธยาถึงจะตามตี แต่สำหรับศึกครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ตรงที่พม่ามีการเตรียมการมาอย่างดี และยังมีการนำยุทธวิธีใหม่ๆ เข้ามาใช้ บุคคลที่เป็นต้นคิดในเรื่องยุทธศาสตร์หลายๆ เรื่อง อย่างเช่นที่สำคัญๆ ได้แก่ เรื่องการขุดอุโมงค์เผารากกำแพงเมือง และเรื่องพอถึงฤดูน้ำหลากก็จะไม่ยอมถอย คือมังมหานรธาผู้เคยประกาศในการประชุมแม่ทัพว่า "ถึงจะล้อมอยุธยาเป็น 10 ปี ก็จะล้อมอยู่อย่างนี้" แนวคิดเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ แม้ว่าจะสิ้นมังมหานรธาแล้วก็ตาม
ข้อสังเกตประการหนึ่งในตอนนี้คือ เราต่างก็เรียนรู้มาว่า อยุธยาในช่วงนั้นอ่อนแอ ผู้ปกครองต่างเห็นแต่ประโยชน์สุขส่วนตัว จะยิงปินใหญ่แต่ละครั้งก็ต้องขออนุญาต และอื่นๆ อีกมาก แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พม่าล้อมกรุงนานที่สุด คือ14 เดือน (เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2309 - เมษายน 2310 และหมายความว่าทัพพม่าต้องผ่านช่วงน้ำหลากมาได้) ซ้ำร้ายทัพทั้งสองที่ยกมานั้น มีไพร่พลรวมกันแล้วมากว่า 70,000 และมีการวางแผนประสานงานกันเป็นอย่างดี มิได้ยกมาแบบกองโจรอย่างที่เข้าใจกัน จึงทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าอยุธยาไม่แกร่งจริง แล้วเราจะตั้งรับอยู่ได้เป็นแรมปีได้อย่างไร อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) มองว่าเหตุผลจริงๆของการแพ้สงครามในครั้งนี้คือแพ้ในเรื่องของ ยุทธศาสตร์เสียมากกว่าเหตุอื่น
จากที่เราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยกันมาสมัยเด็กๆ เพื่อนๆ คงจำกันได้ว่ายุทธศาสตร์ของอยุธยาในการรับศึกพม่าคือ กวาดต้อนผุ้คนและรวบรวมเสบียงให้พอใช้จนถึงน้ำหลากแล้วพม่าก็จะถอยทัพ ถึงจะปล่อยผุ้คนออกไปเก็บผัก หักหญ้ากินกัน (ตามหลักฐานจากฝรั่งชาวฮอลันดาระบุว่า "มีแต่ขอทานเท่านั้นที่อดตายในช่วงน้ำหลาก") ดังนั้นเมื่อพม่าไม่ยอมถอย สิ่งแรกที่เกิดกับเราก็คือ เสบียงที่เตรียมเอาไว้เลี้ยงผู้คนราว 100,000 คน ภายในเมืองนั้นหมดลง ความอดอยาก ความวุ่นวายต่างๆ และกำลังรบในค่ายของเราก็อ่อนลงหลังน้ำหลากนั้นเอง (ตามหลักฐานพงศาวดารทั้งของไทยและของพม่าก็ระบุตรงกัน) พระเจ้าตากสินเองก็ถอนตัวออกไปตั้งหลักที่ จันทบุรี หลังน้ำหลาก เพราะท่านอ่านยุทธศาสตร์ออกว่า "ถ้าพ้นน้ำหลากไปแล้วทัพพม่าไม่ถอย อยุธยาแพ้แน่นอน จะอยู่ไปก็มีแต่จะตายเสียเปล่า"
ผมจะขออธิบายภาพสมรภูมิในขณะน้ำหลากให้เพื่อนๆ พอเห็นภาพสักเล็กน้อย ในช่วงน้ำหลากนั้น ทัพพม่ายังไม่สามารถเข้าปล้นค่ายรอบกรุงได้สำเร็จ แต่ได้ผ่อนช้างผ่อนม้าขึ้นเนินต่างๆ และวัดชั้นนอกที่เป็นที่ดอนเพื่อหนีน้ำ ส่วนผู้คนก็จัดแจงต่อเรือต่อแพ และบางส่วนก็ลำเลียงมาจากหัวเมืองทางเหนือที่ยึดได้ลงมา ให้ไพร่พลขึ้นไปอยู่บนเรือแพเหล่านี้ (ระหว่างนี้มีการประทะกันทางน้ำด้วยประปราย) ในช่วงที่น้ำหลากเข้าท่วมกรุงนั้น ข้าวที่หว่านเอาไว้ในนาก็งอกพ้นน้ำขึ้นมาแถมยังออกรวงอีกด้วย ซ้ำร้ายยังเป็นช่วงที่ปลาลง กองทัพพม่าทั้งสอง จึงไม่ขาดเสบียงเลย แต่สถานการณ์ภายในกำแพงเมืองกลับเป็นตรงกันข้าม
จุดสุดท้ายของสงคราม
พอน้ำเริ่มลด เหล่าแม่ทัพนายกองต่างก็รู้ดีว่าอยุธยานั้นแพ้แน่ จึงได้ส่งทูตออกไปหาทัพของพม่า เพื่อเจรจาสงบศึก แต่พม่าไม่ยอม พอทูตไทยกลับมาได้ 5 วัน มังมหานรธาก็ตาย พระเจ้ามังระก็ส่งแม่ทัพคนใหม่ มาคุมทัพแทนคือ เมงเยเมงระอูสนา (เจ้าเมืองเมาะตะมะ) ซึ่งนำทหารมาอีก3000 พร้อมกับคำสั่งของพระเจ้ามังระว่า ให้เนเมียวสีหบดีรีบกระทำการให้เสร็จโดยเร็ว เพราะพม่าเริ่มติดศึกกับจีน ตอนนี้จึงเป็นช่วงวิกฤติของสงครามเพราะพม่าต้องเร่งเข้าปล้นค่ายที่ล้อมกรุงอยู่ให้ได้ ภาวะความอดอยากที่เกิดขึ้นภายในกำแพงเมืองก็สาหัสมากขึ้น เกิดการแย่งอาหารและเกิดไฟใหม้พระนครในตอนนี้ด้วย
ฝ่ายทัพพม่าทุ่มเทกองกำลังส่วนใหญ่มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก (ด้านตลาดหัวรอ-วังหน้า-วัดพิชัย) เพราะร่องน้ำช่วงนั้นจะแคบกว่าจุดอื่น ที่นี่เองที่พม่าข้ามมาขุดอุโมงค์เผารากกำแพงเมือง โดยหลังจากปล้นค่ายตรงบริเวณนั้นและค่ายอื่นรอบกรุงได้แล้ว (บางค่ายปล้นได้เพียง 7 วันก่อนกรุงแตก) ก็ปลูกค่ายใหญ่ขึ้นสามค่าย ยิงปืนคุ้มกันให้ไพร่พลทำสะพานเรียบเข้ามาตรงฝั่งหัวรอ แล้วขุดอุโมงค์ 2 แบบ หนึ่งคือขุดลงไปใต้รากกำแพงเมืองแล้วขยายแนวออกทางข้าง เอาไฟสุมทั้งวันทั้งคืน สองคือขุดลอดกำแพงไปแต่เก็บหน้าดินเอาไว้ก่อน รอเวลาเข้าโจมตีพร้อมกัน เมื่อกำแพงทรุด ทหารพม่าก็ปีนข้ามกำแพงเข้าไปขณะเดียวกับที่อุโมงค์แบบที่สองก็เปิดหน้าดินเจาะเข้าไปพร้อมกัน ฝ่ายพวกทีอยู่ในค่ายรบก็ระดมยิงปืนพร้อมกันทุกด้าน ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันที่ชำระในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ระบุว่า ตอนบ่ายสามโมง วังอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน พม่าก็เริ่มจุดไฟเผารากกำแพงตรงตลาดหัวรอ พร้อมทั้งยิงปืนใหญ่พร้อมกันทุกด้าน พอพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่ถูกไฟสุม ก็ทรุดลง พม่าจึงยิงปืนสัญญาณให้บุกเข้าปล้นเมืองพร้อมกันทุกด้าน และจากหลักฐานคำให้การชาวกรุงเก่าได้ระบุอีกว่าประตูเมืองด้านหนึ่งมีพระยาพลเทพ ที่หันไปเข้ากับฝ่ายข้าศึกเปิดให้ทหารพม่ากรูเข้ามาได้อีกด้วย
เมื่อพม่าเข้าเมืองได้ก็กระทำการอันโหดเหี้ยม เผาบ้านเรือนและวัดวาอาราม ทั้งจับพลเรือนทั้งชายหญิงเป็นเชลย ฝ่ายพระเจ้าเอกทัศน์พอทราบว่าพม่าเข้าเมืองได้ ท่านก็หนีออกทางทิศตะวันตกด้านท้ายวัง (ตามหลักฐานพม่าระบุว่าเกิดชุลมุนท่านถูกปืนสวรรคต แต่หลักฐานไทยบอกว่าหนีไปรอดอยู่ที่วัดคลองจิกได้ 7 วัน พอโดนจับตัวได้ก็สวรรคต) ลักษณะของสงครามครั้งนี้คือพม่าปล้นเมือง มีการจับพระมาเผาส้นเท้า จับพวกขุนนางและคหบดีมาทรมานเพื่อให้บอกที่ซ่อนทรัพย์สินต่างๆ พม่าเข้าปล้นกรุงอยู่ 7-14 วันก็รีบขนเชลยและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลกลับไป เพราะติดศึกกับจีนทางตอนเหนือซึ่งเป็นศึกใหญ่ จำเป็นที่จะต้องเรียกเนเมียวสีหบดีกลับไปช่วยรบ แต่ยังทิ้งกองกำลังขนาดเล็กประมาณ 3-4 พันคนมีนายกองชื่อสุกี้ ตั้งค่ายเอาไว้ที่โพธิ์สามต้น เพื่อคอยเก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติที่หลงเหลืออยู่กลับไปพม่า
พม่ายกทัพมา 14 เดือน เสียหาย 3,000-4,000 ทางฝ่ายไทยล้มตายไปเรือนแสน พม่าได้จัดทำบัญชีข้าวของ ถ้าเป็นปืนขนาดใหญ่ยากแก่การขน พม่าจะระเบิดทิ้งเพราะจุดหมายครั้งนี้คือ ทำลายเมืองที่เป็นศูนย์กลางลงอย่างสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้โอกาสเราในการตั้งตัวอีก
พออยุธยาถูกทำลาย ก็เกิดชุมนุมต่างๆ แยกตัวเป็นอิสระ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีความพยายามในการสร้างศูนย์กลางขึ้นมาทดแทนอยุธยา จะมีก็แต่พระเจ้าตากสินเท่านั้น ที่มีความตั้งใจจะสร้างราชอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (ใช้เวลาอีกแปดเดือนถัดไปในการย้อนกลับเข้ามากู้กรุง) และเมื่อพระเจ้าตากย้อนกลับมา ก็ไม่เหลือพวกพม่าให้กวาดล้างมากนัก แต่ภาระหนักของพระองค์จริงๆ คือการปราบชุมชนต่างๆและสถาปนาความเป็นปึกแผ่นขึ้นมาในประเทศนั่นเอง
หลังสงคราม
เมื่อพม่าเสร็จศึกกลับไป ทัพแรกที่ไปถึงพม่าก่อนคือทัพของเนเมียวสีหบดี ซึ่งเข้ารายงานกับพระเจ้ามังระในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2310 ในการถอยทัพครั้งนี้มีการกวาดต้อนเชลย ขนทรัพย์สมบัติกลับไปเป็นจำนวนมาก จึงใช้เวลาเดินทางไม่เท่ากัน หลักฐานพม่าระบุว่ามีการขนปืนใหญ่จากอยุธยา กลับไปมากถึง 500 กระบอก และยังมีการระบุถึงปืนใหญ่เป็นพิเศษ 2 กระบอกหล่อด้วยสำริด กระบอกหนึ่งยาว 11 ศอก และอีกกระบอกหนึ่งยาว 12 ศอก ถูกลำเลียงกลับไปถึงราวเดือนเมษายน พ.ศ.2311 (ใช้เวลาในการลำเลียงกลับอีก หนึ่งปี)
สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการทำสงครามในสมัยก่อนคือเชลยศึก การรบครั้งนี้พม่าตั้งใจมาเผาเมืองกวาดคน ทั้งขุนนาง เจ้านายระดับสูงทุกพระองค์ ช่างสิบหมู่และผุ้คนซึ่งมีจำนวนมาก ถ้าเป็นเจ้านายผู้หญิงจะให้ปลูกเคหะสถานในกำแพงวัง แต่เจ้านายผู้ชายจะจัดพื้นที่ให้อยู่นอกวัง (ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองมันดะเล หมู่บ้านระแหง และหมู่บ้านเมงตาสุ แปลว่าย่านเจ้าชาย) สิ่งที่พอจะเป็นร่องรอยหลงเหลืออยู่คือศิลาจารึกที่ตกทอดมา ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย และศาลที่เก็บรักษาหัวโขน (พม่าไม่มีการเล่นโขนมาก่อนแต่รับศิลปะนี่ต่อมาจากเชลยไทย)
ว่าด้วยเรื่องของคำให้การชาวกรุงเก่า
คำให้การของชาวกรุงเก่าคือคำให้การที่ออกจากปากคำของเชลยไทย ที่ถูกทวนคำโดยพวกมอญ (เพราะมอญพูดได้สองภาษา) บันทึกเป็นภาษามอญ ต่อมาแปลเป็นภาษาไทย (คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งมีเหลืออยู่ครึ่งฉบับ) และมีการบันทึกเป็นภาษาพม่า (โยดะยายาสะเวง แปลว่าพงศาวดารอยุธยา) เราเอากลับมาแปลจากภาษาพม่าเป็นภาษาไทยในชื่อคำให้การของชาวกรุงเก่า จะเห็นว่าทั้งคำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การของชาวกรุงเก่านั้นจริงๆ แล้วมาจากที่เดียวกันครับ
Create Date : 10 เมษายน 2549 |
|
14 comments |
Last Update : 10 เมษายน 2549 16:31:26 น. |
Counter : 5768 Pageviews. |
 |
|
|
| |
โดย: แม่น้องต้นข้าว IP: 58.11.49.18 10 เมษายน 2549 17:02:55 น. |
|
|
|
| |
โดย: arthas (arthas ) 10 เมษายน 2549 17:10:38 น. |
|
|
|
| |
โดย: แค่ผ่านมา IP: 202.5.87.141 1 พฤษภาคม 2549 14:27:07 น. |
|
|
|
| |
โดย: กระจ้อน 12 พฤษภาคม 2549 9:33:46 น. |
|
|
|
| |
โดย: 333333333333 IP: 203.114.103.232 3 พฤศจิกายน 2549 19:47:38 น. |
|
|
|
| |
โดย: หดๆไดไ IP: 124.121.80.149 31 มกราคม 2550 14:17:31 น. |
|
|
|
| |
โดย: 111 IP: 61.19.95.120 18 มีนาคม 2550 11:03:33 น. |
|
|
|
| |
โดย: เด็กมีปัญหา IP: 203.113.41.8 9 กรกฎาคม 2550 21:12:05 น. |
|
|
|
| |
โดย: ด.ช.พงศภัค ศรีสกุล IP: 203.209.127.233 17 พฤศจิกายน 2550 21:51:08 น. |
|
|
|
| |
โดย: *-* IP: 202.57.135.50 19 พฤศจิกายน 2550 17:23:23 น. |
|
|
|
| |
โดย: ไส้กรอก IP: 123.243.39.213, 202.7.166.167 29 พฤศจิกายน 2552 17:02:24 น. |
|
|
|
| |
โดย: ต้าโก่ว 12 กรกฎาคม 2554 9:51:14 น. |
|
|
|
| |
โดย: ชาตชาย IP: 110.49.241.219 11 มีนาคม 2555 10:52:13 น. |
|
|
|
| |
โดย: ตระกูลขุนนางเก่า IP: 110.169.142.22 5 มิถุนายน 2555 0:46:43 น. |
|
|
|
| |
|
 |
arthas |
|
 |
|
|