พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
26 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
เปิดใจ"นักบินนาซ่า" เผยเส้นทางสู่"มนุษย์อวกาศ"

เปิดใจ"นักบินนาซ่า" เผยเส้นทางสู่"มนุษย์อวกาศ"

กานต์บดี งามจิตร



หากจะกล่าวถึง "อาชีพในฝัน" ที่ใครหลายคนในโลกใฝ่ฝันอยากจะเป็น แต่เป็นเรื่องยากในการว่ายไปถึงฝั่งฝัน



แน่นอนว่าน่าจะมี "นัก บินอวกาศ" ติดโผอยู่ด้วย



อาจเพราะสิ่งที่เราเห็นจากภาพยนตร์แนวไซ-ไฟหลายเรื่องนั้นชวนให้รู้สึกตื่นเต้นท้าทาย



รวมถึงกระตุ้นให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับอวกาศ



อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามสำคัญ คือ ชีวิตของนักบินอวกาศในภาพยนตร์กับความเป็นจริง เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?



การจะตอบคำถามนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานของผู้ที่มีประสบการณ์จริงด้านอวกาศ



รวมถึงหลายคนยังคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไกลเกินเอื้อมอีกด้วย



ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความสนใจในด้านดาราศาสตร์และอวกาศ ให้มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยซักถามกับนักบินอวกาศ รวมถึงผู้ที่ทำงานกับองค์การด้านอวกาศระดับโลก



ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ "Science@NASA" โดยเชิญ ดร.จอห์น กรันเฟลด์ รองผู้อำนวยการฝ่ายภารกิจวิทยาศาสตร์ของนาซ่า และอดีตนักบินผู้เคยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกรวมระยะเวลาถึง 58 วัน และดร.แมตต์ เมาน์เท่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ซึ่งดูแลกล้อง "ฮับเบิล" ให้แก่นาซ่า มาร่วมพูดคุยกับนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจ



ดร.กรันเฟลด์ เปิดฉากอธิบายถึงความสำคัญของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ว่า



หากมองใกล้ตัว วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือพายุเกิดขึ้นได้อย่างไร และหาทางรับมือกับมันให้ได้ เป็นต้น



นอกจากนั้น หากมองในมุมกว้างออกไป วิทยาศาสตร์ยังช่วยไขความลับที่ว่า จักรวาลเกิดขึ้นเมื่อใด กาแล็กซีและดวงดาวประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งจะนำมาสู่การตอบคำถามสำคัญที่ว่า "มนุษย์เราเกิดขึ้นได้อย่างไร"



ภายหลังจากการบรรยายถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์แล้ว



ดร.กรันเฟลด์ได้ชวนคุยถึงเรื่องราวภายนอกโลกและการเตรียมตัวก่อนขึ้นสู่อวกาศ



โดยเริ่มต้นจากการเล่าถึง "ดาวอังคาร" ว่า..



จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วพบว่า มีลักษณะใกล้เคียงกับโลก



กล่าวคือมีบรรยากาศและน้ำ แต่บรรยากาศดังกล่าวบางเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถอาศัยอยู่ได้ ขณะที่น้ำนั้นอยู่ในรูปของน้ำแข็ง ก่อนจะอธิบายว่า มนุษย์สามารถรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจักรวาลและดาวเคราะห์ต่างๆ ผ่านทางกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "ฮับเบิล"



สําหรับการขึ้นสู่อวกาศนั้น ดร.กรันเฟลด์ซึ่งขึ้นไปปฏิบัติการซ่อมกล้องฮับเบิลถึง 3 ครั้ง เป็นระยะเวลารวม 58 วัน เผยความรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แต่รู้สึกผ่อนคลายมากเนื่องจากต้องนั่งนิ่งเป็นเวลาหลายชั่วโมง และในจังหวะที่ยากที่สุดคือตอนที่กระสวยอวกาศขึ้นจากพื้นดิน



ขั้นตอนการทำงานบนอวกาศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องสวมชุดนักบินอวกาศ ซึ่งมีน้ำหนักมากระหว่างปฏิบัติหน้าที่



และต้องปฏิบัติตามสมุดคู่มืออย่างเคร่งครัด เนื่องจากในอวกาศหากเกิดความผิดพลาดเพียงนิดเดียว อาจหมายถึงการเสียชีวิตได้



นอกจากนั้น การทำงานบนอวกาศนั้นยังต้องอาศัยการประสานความร่วมมือทั้งจากนักบินอวกาศด้วยกันและผู้ที่อยู่บนพื้นดินในโลก



ในส่วนของการใช้ชีวิตบนอวกาศนั้น ดร.กรันเฟลด์เผยว่า



แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานีอวกาศแคบๆ



แต่สำหรับตนแล้วถือเป็นเรื่องสนุก ที่ได้เล่นสิ่งต่างๆ กับภาวะที่ไร้แรงโน้มถ่วง



โดยยกตัวอย่างการเล่นกับหยดน้ำซึ่งไม่ร่วงหล่น หรือการทานอาหารที่ลอยอยู่บนอากาศ เป็นต้น



อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จัดว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้ชีวิตบนอวกาศ คือ การโคจรรอบโลกและเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกดินทุก 96 นาที หรือ 16 ครั้งต่อ 1 วัน ซึ่งทำให้เวลานอนจำเป็นต้องใส่ผ้าปิดตาและเครื่องอุดหู ไม่งั้นอาจนอนไม่หลับได้



รวมถึงอุปสรรคเรื่องเสียง ซึ่งหลายคนคิดว่าบนอวกาศจะเงียบ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะแม้ว่าเสียงจะเดินทางในอวกาศไม่ได้ก็จริง แต่ในสถานีอวกาศจะได้ยินเสียงเครื่องมือต่างๆ แทบจะตลอดเวลา เช่น เสียงการเติมออกซิเจนและอากาศเพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ในสถานีอวกาศได้ ก่อนจะเผยว่าเสียงที่รบกวนการใช้ชีวิตที่สุด คือ เสียงเวลาเข้าห้องน้ำ เนื่องจากลักษณะของห้องน้ำในสถานีอวกาศคล้ายกับส้วมบนเครื่องบิน ซึ่งจะใช้ระบบสุญญากาศในการดันของเสียออกไป





ดังนั้น หากมีใครสักคนเข้าห้องน้ำจะเกิดเสียงดังรบกวนมาก



เมื่อเราได้มีโอกาสฟังมุมมองของอดีตนักบินอวกาศ มาแล้ว จึงเป็นประเด็นต่อไปว่า กล้องฮับเบิลนั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง



ดร.แมตต์ เมาน์เท่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ซึ่งดูแลกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "ฮับเบิล" ให้แก่นาซ่าเผยว่า



หน้าที่ของกล้องฮับเบิล คือ การสำรวจและสังเกตการณ์วัตถุและวงโคจรของโลก



นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้กล้องฮับเบิลมีความพิเศษและสามารถถ่ายภาพจักรวาลหรือกาแล็กซีได้ชัดเจน คือ อยู่เหนือชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้การถ่ายภาพไม่ถูกรบกวนโดยสภาพอากาศ



ตามมาด้วยเหตุผลที่สอง คือ เมื่ออยู่นอกชั้นบรรยากาศแล้ว จะไม่มีกลางวัน-กลางคืน หรือไม่มีการสั่นสะเทือน ทำให้สังเกตการณ์คลื่นอัลตราไวโอเลตได้โดยไม่ถูกรบกวนจากชั้นโอโซนบนโลก



เช่น ภาพอวกาศห้วงลึกมากของฮับเบิลที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล คือภาพถ่ายวัตถุในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา



นอกจากนั้น กล้องฮับเบิลยังมีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์อย่างมาก โดยมีบทความทางวิชาการกว่า 4,000 ชิ้น ที่อ้างอิงข้อมูลจากกล้องฮับเบิล โดยดร.เมาน์เท่น กล่าวว่า ยิ่งเรามองไกลออกไปเท่าไหร่ เรา ยิ่งเห็นอดีตของเราชัดเจนขึ้นเท่านั้น



ภายหลังการบรรยายแล้ว วิทยากรทั้ง 2 ท่านได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตอบคำถาม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ร่วมฟัง โดยนักเรียนคนหนึ่งได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับภารกิจของนักบินอวกาศในภาพยนตร์ เรื่องกราวิตี (Gravity) ที่ออกไปเดินอวกาศเพื่อซ่อมกล้องฮับเบิล และได้รับการแจ้งเตือนว่าจะมีวัตถุพุ่งเข้าชนเพียง 5 นาที



ต่อกรณีนี้ดร.กรันเฟลด์เผยว่า โดยปกติ จะมีหน่วยงานในการตรวจตราและคำนวณการโคจรของวัตถุและขยะอวกาศ



หากพบว่าอยู่ในเส้นทางเดียวกันกับสถานีอวกาศจะมีการปรับวงโคจรเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ



นอกจากนั้นยังมีคำถามอีกมากมาย เช่น ระหว่างปฏิบัติภารกิจบนอวกาศนั้นจะติดต่อกับครอบครัวผ่านทางใด?



ดร.กรันเฟลด์เผยว่า ปกติแล้วบนสถานีอวกาศจะมีโทรศัพท์อินเตอร์เน็ตซึ่งสามารถใช้ได้



แต่หากเดินทางไปในดาวที่ห่างไกลอย่างดาวอังคาร ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 2 อาทิตย์นั้นการโทรศัพท์อาจเป็นเรื่องลำบาก



อย่างไรก็ตาม การ ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าในปัจจุบัน



หรือคำถามจากเยาวชนที่ถามว่า จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่ามนุษย์จะสามารถยึดดาวดวงอื่นเป็นอาณานิคมได้



ดร.กรันเฟลด์ตอบด้วยรอยยิ้มว่า คำถามนี้ไม่ใช่คำถามสำหรับสหรัฐเพียงชาติเดียวเท่านั้น เพราะในอีกราว 500 ล้านปี โลกของเราจะถึงจุดจบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียงดาวอังคารเท่านั้น แต่ต้องอยู่ที่วิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์ที่จะพาเราไปยังดาวดวงอื่นด้วย เชื่อว่า ในอนาคตอีก 100 ปี จะมีมนุษย์โลกไปอาศัยอยู่ที่ดาวอังคาร



สุดท้าย ดร.กรันเฟลด์ และ ดร.เมาน์เท่น คาดหวังว่า การพูดคุยจะกระตุ้นทั้งความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกและอวกาศ รวมถึงความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น



นอกจากนั้น กล่าวถึงอนาคตของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อวกาศว่า จะมีความร่วมมือกันในระดับสากลมากขึ้น



ซึ่งทั้งคู่ต้องการให้คำแนะนำแก่ทุกคนที่มีความฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศว่า



วิธีเดียวที่จะประสบความสำเร็จดังฝันได้ คือ ตั้งใจเรียนและสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่




Create Date : 26 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2556 9:16:14 น. 0 comments
Counter : 977 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.