Group Blog
 
All Blogs
 

หลักการสอน การถ่ายทอดความรู้

สำหรับ web log page นี้ จะขอพูดเทคนิคการสอนให้ดีนะครับ คิดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อหลายๆคน เพราะโดยทั่วไปคงมีโอกาสมากกว่าหนึ่งครั้งที่เราต้องถ่ายทอดความรู้ที่มี ให้กับคนอื่น แล้วบางทีอาจไม่ได้ดั่งใจ

การจะสอนให้ดีนั้นต้อง

0. มีจิตใจพร้อมที่จะสอน
- ต้องรู้ว่าการสอนเป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะช่วยย่นระยะเวลาการศึกษาของผู้เรียนได้อย่างมาก เช่นถ้าศึกษาด้วยการอ่านเองถ้าใช้เวลา 4 ชั่วโมง ผู้สอนเก่งๆสามารถให้ความรู้ที่เท่ากันหรือมากกว่า ในเวลาแค่ 2 ชั่วโมงได้ ดังนั้นนับเป็นการเกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการสอนเป็นกลุ่มละหลายๆคน เสียเวลาของผู้สอนคนเดียว แต่ย่นระยะเวลาของผู้เรียนได้หลายๆคน
เมื่อเห็นประโยชน์เช่นนี้จะทำให้จิตใจเกิดความอยากสอน
- มีจิตเมตตาผู้เรียน อยากให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ ได้ความรู้
- มีความใจเย็นในการสอน หากผู้เรียนไม่เข้าใจ ต้องคิดหาสาเหตุว่าเกิดจากวิธีการสอนไม่เหมาะสมตรงไหน แล้วปรับปรุงให้ถูกจุด ไม่ต้องโมโหที่ผู้เรียนไม่เข้าใจ

1. มีความรู้ในเรื่องที่สอน
การจะสอนคนอื่นได้ เราต้องรู้ลึกมากกว่าที่ตั้งใจจะสอนด้วยซ้ำ ต้องพยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ทำไม" อยู่ตลอดเวลา นั่นจะทำให้การสอนของเราเป็นเหตุเป็นผล และสามารถตอบผู้เรียนได้ เมื่อผู้เรียนสงสัยว่าทำไมต้องอย่างนั้นอย่างนี้

2. เรียงลำดับเรื่องที่จะพูดให้ดี
สำคัญถัดมา วิธีเรียงลำดับสิ่งที่จะพูดนั้น ใช้เกณฑ์ว่า เรื่องอะไรที่จำเป็นต้องรู้ก่อน ต้องพูดก่อน คำศัพท์คำไหนที่จำเป็นต้องใช้ในการอธิบาย ต้องพูดความหมายของคำนั้นๆให้ชัดเจนก่อน

3. มีเทคนิคการสอน
สิ่งสำคัญถัดมาคือเทคนิคการสอน ซึ่งแบ่งย่อยได้หลากหลายมากๆ แต่ทั้งหมดสามารถใช้สามัญสำนึกในการทำความเข้าใจได้ สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาได้เมื่อสอนไปนานๆ ในที่นี้จะขอพูดหลักๆ
- หลักการพูดแต่ละประโยคให้เข้าใจง่าย คำทุกคำที่ใช้ในประโยคต้องเป็นคำที่ผู้เรียนรู้ความหมายอยู่แล้ว (เว้นแต่เป็นคำที่กำลังจะอธิบายความหมาย) ต้องมีจังหวะการพูดทั้งประโยคที่ราบรื่น เว้นระยะในจุดที่ควรเว้นให้คิด ระยะเวลาในการเว้น ยาวไปก็ไม่ดีทำให้ขาดช่วง สั้นไปก็ไม่ดี ผู้เรียนยังคิดตามไม่ทันก็พูดประโยคใหม่ซะแล้ว การเว้นระยะสั้นยาว ขึ้นกับความยากง่ายของประโยคนั้น ให้คะเนเอาเองว่าควรเว้นเท่าไรจึงจะดี
- การตรวจดูว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่ ใช้การมองหน้า อ่านสีหน้าได้ไม่ยากเลย หากผู้เรียนไม่เข้าใจจุดใด จำเป็นต้องหยุด แล้วไปอธิบายขยายความจนเข้าใจ เพราะคนที่ไม่เข้าใจจุดหนึ่งมักไม่มีใจจะฟังเรื่องต่อๆไป
- ในการพูดเรื่องที่แบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆหลายๆอัน ควรพูดทุกๆหัวข้อออกมาให้เห็นก่อนว่า เรื่องนี้แบ่งเป็นอะไรบ้างและแต่ละหัวข้อจะกล่าวถึงอะไรคร่าวๆ ก่อนที่จะเจาะลึกพูดรายละเอียดแต่ละอัน วิธีนี้นักเรียนจะเห็นภาพรวมของสิ่งที่จะพูด แล้วไม่สับสนว่าเรากำลังพูดถึงส่วนไหนของวิชาอยู่
- กรณีที่จะพูด list แจกแจงรายการยาวๆ ควรเขียนกระดานประกอบ เพราะผู้เรียนไม่สามารถฟังได้ทัน การใช้กระดานนั้นมีข้อดีที่สำคัญกว่าการพูดอยู่อย่างหนึ่งคือ สามารถอ่านทวนได้เรื่อยๆ แต่การพูดนั้น พูดแล้วถ้าฟังไม่ทันก็ผ่านเลยหายไปทันที
- เมื่อเราพูดอะไรแล้วมีภาพอยู่ในหัว ให้วาดภาพนั้นออกมาบนกระดาน เพราะนักเรียนไม่เห็นภาพอย่างที่เราเห็น
- ใช้วิธีตั้งคำถามว่าทำไม แล้วรอให้คิด แล้วพูดเฉลย พร้อมอธิบายออกไป จะดีกว่าการบรรยายไปเรื่อยๆ วิธีนี้มีประสิทธิภาพมากในการทำให้นักเรียนคิดตาม แทนที่จะฟังไปเรื่อยๆ


ตัวอย่างสถานการณ์การสอน
เดินเข้าไปในห้องเรียน นักเรียนยังคุยๆกันอยู่บ้าง บางคนก็เริ่มหันมาสนใจอาจารย์ บางคนก็คุยอยู่
เรา เดินไปที่โต๊ะกลางหน้าห้อง พูดคุยทักทายนักเรียนนิดหน่อย "เป็นไง คาบที่แล้วเรียนอังกฤษยากไหม"
พอนักเรียนเริ่มสนใจแล้ว "เอาล่ะ จากคราวที่แล้วที่ให้โจทย์การเคลื่อนที่แนวเส้นตรงไป ทำกันได้ไหม มีใครสงสัยตรงไหน" มองหน้านักเรียนแต่ละคนไปด้วย จะรู้ว่าเข้าใจแค่ไหน ทวนของเก่าพอสมควร เพราะนักเรียนมักจำไม่ได้หรอกว่าคราวที่แล้วพูดไว้ถึงไหน มักต้องทวนให้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เรื่องที่จะสอนต่อเนื่องกับครั้งก่อน
ทีนี้สมมุติจะขึ้นเรื่องใหม่
"เอาล่ะ เรื่องการเคลื่อนที่แนวเส้นตรงจบแล้ว วันนี้จะขึ้นเรื่องกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน" พร้อมเขียนกระดานขึ้นหัวข้อ พออธิบายเนื้อหาของกฎไปสักพัก (ต้องแน่ใจว่านักเรียนเข้าใจความหมายของคำศัพท์ที่สอนไปจากครั้งที่แล้ว เช่นคำว่าความเร็ว ความเร่งคืออะไร อาจต้องทวนอีกที สังเกตจากสีหน้านักเรียนจะรู้ ว่าจำได้หรือไม่) เริ่มใช้เทคนิคการตั้งคำถาม "กฎข้อที่สองของนิวตันบอกว่า ซิกม่า F=ma แรงลัพธ์เท่ากับมวลคูณความเร่ง แล้วทำไมครูออกแรงดันโต๊ะไปแล้ว (ใช้นิ้วดันข้างๆของโต๊ะ) ทำไมโต๊ะยังคงหยุดนิ่งอยู่ไม่มีความเร่ง จะสรุปว่ายังไง" นักเรียนจะเริ่มคิด สักพักเราพูด "หรือจะสรุปว่ามวลโต๊ะ m เป็น 0 เหรอ ก็ไม่ใช่ โต๊ะมีมวลอยู่แล้ว โต๊ะนี้ก็สัก 10 กิโลกรัม" นักเรียนคิด สักพักเราพูดเฉลย "ที่แท้เป็นเพราะแรงที่เราออก ไม่ได้เป็นแรงลัพธ์ไง แรงที่เราออก เป็นแค่แรงแรงหนึ่งที่กระทำต่อโต๊ะ ในที่นี้พอเราออกแรงกระทำต่อโต๊ะ จะเกิดแรงเสียดทานต้านกับแรงที่เราออกพอดี ในขนาดที่เท่ากัน ทำให้พอรวมแรงแล้วแรงลัพธ์เป็น 0 ดังนั้นความเร่งของโต๊ะ (a) จึงเป็น 0 ตามไปด้วย"
....

การกล่าวปิดท้ายตอนจบ
"เอาล่ะ วันนี้พอแค่นี้ อย่าลืมทบทวนตรง... มาด้วยนะ มีอะไรสงสัยมาถามได้"

<ยังไม่สมบูรณ์ โอกาสหน้าจะมาต่อนะครับ>




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 5 มกราคม 2551 11:47:26 น.
Counter : 1434 Pageviews.  

เรียนหนังสือไปทำไม

เด็กๆหลายคนอาจคิดว่า เรียนหนังสือไปเพื่ออะไร ไม่มีแรงจูงใจเลย ทำให้ไม่นึกอยากเรียน
ขอให้คิดอย่างนี้ครับ เรียนไปเพื่อมาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญสืบต่อไป
แต่ละคนมักมีพรสวรรค์ของตัวอยู่แล้ว เมื่อมาเรียน เราจะได้นำพรสวรรค์ที่มีนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในบางวิชา อาจไม่มีใครเลยจะถนัดมากเท่าเราก็ได้ จึงไม่ควรปล่อยให้พรสวรรค์สูญเปล่าครับ




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2548    
Last Update : 5 มกราคม 2551 11:46:38 น.
Counter : 451 Pageviews.  


C. Diamond
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add C. Diamond's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.