|
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | |
|
|
|
|
|
|
|
พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
การพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่ผู้ต้องโทษประเภทต่าง ๆ ให้ได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษ โดยมีทั้งการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลแก่ผู้ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาขึ้นมาและในรูปของการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ
วิวัฒนาการพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษในระบอบประชาธิปไตย วิวัฒนาการพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
การพระราชทานอภัยโทษเป็นสิ่งที่ควบคู่มากับการปกครองของไทยนับตั้งแต่สมัยที่สุโขทัยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองที่เรียกกันว่า พ่อปกครองลูก สมัยนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าถึงองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองแผ่นดิน เพื่อร้องทุกข์และขอความเป็นธรรม โดยมีสิทธิที่จะไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าพระราชวังได้ และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงได้ยินก็จะเสด็จออกมาตรัสถามถึงความเดือดร้อนนั้นโดยตรง ดังความในศิลาจารึกว่า
...ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางเมืองมันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ไปสั่นกระดิงอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้ายซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม... สิทธิในการร้องทุกข์และขอความเป็นธรรมนี้เป็นที่มาของประเพณีถวายฎีการ้องทุกข์ และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษโนสมัยต่อมา
เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง เจ้ากับข้า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้นเสมือนหนึ่งทรงเป็นเทวราช ดังนั้น ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร จึงยากที่จะเกิดขึ้นได้ซึ่งต่างจากสมัยสุโขทัย อีกทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยามีการก่อกบฏเพื่อโค่นล้มราชบัลลังก์ แล้วจับพระมหากษัตริย์ปลงพระชนม์อยู่บ่อยๆ จึงทำให้พระมหากษัตริย์มิอาจไว้วางพระราชหฤทัยผู้ใดได้มากนัก การเข้าร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมดังเช่นสมัยสุโขทัยจึงกระทำได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการลงโทษข้าแผ่นดินทุกๆ คน ตั้งแต่โทษน้อยไปจนถึงโทษประหารชีวิต
องค์พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษอนึ่ง การใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนั้นก็เด็ดขาดเช่นเดียวกับพระราชอำนาจในการลงโทษ กล่าวคือ การพระราชทานอภัยโทษหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย ถึงแม้จะมีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษพระองค์ก็อาจจะไม่พระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้ซึ่งจะเห็นว่า การใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษเป็นการใช้พระราชอำนาจในฐานะ "เจ้าชีวิต" มีข้อสังเกตว่า การใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยานั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคลเท่านั้นแต่ยังมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปด้วยโดยถือเป็นโบราณราชประเพณีสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจะทรงพระกรุณาแก่ประชาชนทั้งปวง ให้ลดส่วยสาอากรขนอนตลาด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปล่อยนักโทษจากการจองจำ
ต่อมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีพระบรมราชโองการให้ชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการในแผ่นดิน อันมีอยู่ในหอหลวงตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไป โดยจัดเป็นหมวดหมู่และปรับปรุงตัวบทกฎหมายให้ถูกต้องตามครรลองของความยุติธรรม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กฎหมายตราสามดวง ซึ่งในกฎหมายตราสามดวงมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการพระราชทานอภัยโทษปรากฏอยู่ด้วย โดยสรุปมีใจความว่าการพิจารณาพระราชทานอภัยโทษ แก่นักโทษนั้น นอกจากจะพิจารณาความดีความชอบของนักโทษเป็นรายบุคคลไปแล้ว ยังต้องพิจารณาตามชั้นโทษของผู้กระทำผิด โดยแบ่งตามโทษที่ผู้กระทำผิดได้รับเป็นอุกฤฐ คะรุ และมชิมโทษ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ก็ได้มีการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษที่ถูกจองจำ และเมื่อมีการสร้างหอพระไตรปิฎก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษซึ่งต้องโทษประหารชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเกิดอหิวาตกโรคในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติก็ได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยนักโทษนอกจากนั้น ยังปรากฏว่า มีการพระราชทานอภัยโทษโดยมีเงื่อนไขขึ้น โดยพระราชทานอภัยโทษเก่ผู้ร้ายที่มาลุแก่โทษในความผิดของตนทั้งนี้ ได้มีการร่างพระบรมราโชวาท สั่งสอนนักโทษเหล่านั้นตามแนวคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้นักโทษกลับตนยึดมั่นในความดี อันเป็นการสะท้อนให้เห็นกึงอิทธิพลของแนวคิดธรรมราชา ที่มีต่อการใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรากฏแนวความคิดพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ กล่าวคือ ได้มีการร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการปกครองประเทศขึ้นชุดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยในมาตราหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินมีราชศักดานุภาพเป็นอาทิ คือ เป็นที่เกิดของความยุติธรรม ที่ระงับทุกข์ร้อน และทรงพระกรุณายกโทษให้คนที่กระทำผิดกฎหมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย อย่างไรก็ดีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการพระราชทานอภัยโทษ ในรูปของพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีต่างๆในฐานะที่ทรงเป็นที่มาของความยุติธรรม ในอันที่จะพระราชทานความยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยถ้วนหน้า และยังมีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ตลอดจนมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งมักจะมีการพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง เช่น การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตลอดจนพระราชพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา
พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ในระยะแรก เมื่อคณะราษฎร์ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มีบทบัญญัติที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ โดยมีการกำหนดให้การอภัยโทษเป็นอำนาจของคณะกรรมการราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ แล้วรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองอำนาจ ในการอภัยโทษให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ดุจเดิม โดยถือว่าเป็นการใช้พระราชอำนาจในทางบริหาร ดังที่ปรากฏในมาตรา ๕๐ ว่า
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทาน อภัยโทษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ มาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณา ญาสิทธิราชย์นั้น เมื่อเปลี่ยนมาเป็น ระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ยังคงเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาด และเป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์โดยแท้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยฉบับต่อๆ มาก็ได้รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการอภัยโทษไว้ด้วยถ้อยคำทำนองเดียวกัน จนกระทั่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ในมาตรา ๒๒๕ ก็ได้บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ้งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
ปัจจุบันนอกจากจะมีการกำหนดพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๗ ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณี ดังนี้
กรณีแรก การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวาย เรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้ส่วนกรณีผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำจะ ยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้เมื่อได้ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้
อนึ่ง เรื่องราวหรือคำแนะนำการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ให้ถวายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกามาถึง สำนักราชเลขาธิการกองนิติการจะเป็นผู้ประมวลเรื่องราวทั้งหมดและเสนอให้ที่ประชุมคณะองคมนตรีประชุมปรึกษา คณะองค มนตรีทั้งคณะก็จะได้พิจารณาทูลเกล้าฯ ถวายความเห็น เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง เมื่อนำความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะองคมนตรีที่นำขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพิจารณาฎีกานั้นประกอบข้อพิจารณาทั้งหมด แล้วพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยโดยพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ในการนี้ก็มิใช่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามความเห็นที่เสนอมาเสมอไป แต่เป็นดุลยพินิจของพระองค์เองโดยเด็ดขาดในการที่จะพระราชทานอภัยโทษ
กรณีที่สอง การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มีหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษที่มิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษกรณีดังกล่าวเมื่อได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษนั้นแล้ว จะต้องมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้นใช้เป็นการทั่วไป
อนึ่ง พึงสังเกตว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัย โทษ โดยไม่ระบุว่าเป็นโทษประเภทใด ดังนั้น พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษจึงมีความหมายกว้างรวมทั้งโทษทางอาญา และโทษทางวินัย หรือทัณฑ์ตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงอาจใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ แก่ผู้ถูกลงโทษทางวินัยหรือทัณฑ์อื่นใด
ผลของการพระราชทานอภัยโทษตามกฎหมาย อาจแยกพิจารณาได้เป็นสองกรณี คือ กรณีที่มีการพระราชทานอภัย โทษเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไข กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้บังคับโทษนั้น กล่าวคือ ถึงแม้จะมีการบังคับโทษไปบ้างแล้ว ก็ต้องหยุดการบังคับโทษนั้นทันทีส่วนกรณีการอภัยโทษเป็นแต่เพียงเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษเท่านั้น ถ้ายังมีโทษหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เปลี่ยนเป็นเบา หรือลดโทษแล้วยังเหลืออยู่ ตามกฎหมายก็ให้บังคับเฉพาะโทษที่ยังเหลือนั้นต่อไป จนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล
กล่าวโดยสรุป แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์นี้ ก็ยังคงเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ทั้งตามโบราณราชนิติประเพณี และตามรัฐธรรมนูญ บรรณานุกรม ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ อุวรรณโณ
//guru.sanook.com/encyclopedia สนุก!ความรู้ > ห้องสมุดความรู้ > สารานุกรม > สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก > พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
Create Date : 03 พฤศจิกายน 2551 |
|
0 comments |
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2551 7:13:56 น. |
Counter : 3732 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
|
|