Group Blog
 
 
เมษายน 2555
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
ย้อนรอยอดีตกรุงเทพมหานคร







กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์
มหินทราอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์
ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์
มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต
สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์











กรุงเทพมหานคร เดิมเรียกกันว่า "เมืองบางกอก"
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดา
ภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่แทนกรุงธนบุรี โดยสืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากกรุงศรีอยุธยา
ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่ง 54นาที ปีขาล จ.ศ. 1144 จัตวาศก หรือตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325
แล้วทรงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325
พระราชทานนามพระนครนี้ว่า

"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ์"

ซึ่งมีความหมายว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของ
พระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคงและเจริญ
เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา
ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้"

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อพระนครจาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น
อมรรัตนโกสินทร์ มีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น "จังหวัดพระนคร"
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้รวมจังหวัดพระนครจังหวัดธนบุรีเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่
วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร












วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันว่า วัดพระแก้ว

เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง

วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์

วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี



















พระอุโบสถ ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) ที่พระองค์ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2322 (พบพระแก้วมรกต ครั้งแรกที่เจดีย์ ณ วัดพระแก้ว อ.เมือง จังหวัดเชียงราย)



















วัดอรุณราชวราราม
เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี มีชื่อเรียกเดิมว่า วัดมะกอก สมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุร ีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดแจ้ง สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดมะกอกมาเป็นวัดแจ้งก็เพราะว่า
เมื่อสมัยที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ปราบศัตรูที่อยุธยาและคนไทยมีอิสระภาพขึ้นดังเดิมแล้ว แต่ไม่สามารถจะตั้งอาศัยอยู่ ณ ราชธานีเดิม คือกรุงเก่าต่อมาได้ จึงพากันล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหาที่ตั้งราชธานีใหม่ พอลงมาถึงหน้าวัดมะกอกนี้ ก็พอดีรุ่งแจ้ง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้ยับยั้งกระบวนผู้คน ให้เทียบเรือพระที่นั่งเข้ากับท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะบูชา พระมหาธาตุ คือพระพุทธปรางค์องค์เดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำข้างหน้าวัด









ต่อมาได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็นวัดแจ้งเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมข้างใต้วัดแจ้ง แต่เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๘ ทรงมอบหน้าที่ให้บำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่หมดทั้งวัด แต่การปฏิสังขรณ์ ทำได้สำเร็จเพียงกุฏีสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ ๑























วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551[1] และวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลก ในทะเบียนนานาชาติ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์[2] พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว













วัดสุทัศนเทพวราราม
เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างวัด มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” ปรากฏในจดหมายเหตุว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี" "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"













วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีมหาเสมาหรือเสมาใหญ่













วัดกัลยาณนิมิตร
เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี ชื่อวัดแปลว่า มิตรที่ดี มีความหมายถึง เจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร (โต กัลยาณมิตร) ขุนนางคนสำคัญในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นผู้สร้างวัดนี้

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ นามเดิมว่า โต เป็นบุตรพระพิชัยวารี (มัน แซ่อึ๋ง) ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจาฎาบดินทร์ ตลอดเวลาที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณนั้น เจ้าพระยานิกรบดินทร์ได้เป็นกำลังสำคัญในการค้าสำเภาไปเมืองจีน โดยทำหน้าที่ดูแลรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ในพระองค์ จนการค้ารุ่งเรือง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ดำรัสว่า เจ้าสัวโตเป็นมิตรที่ดีคนหนึ่งของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากความหมายของนามบรรดาศักดิ์ที่โปรดพระราชทานให้เจ้าสัวโต คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร

เจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียงซึ่งเดิมเรียกว่าหมู่บ้านกุฎีจีน สร้างขึ้นเป็นวัดตามพระราชนิยม เมื่อสำเร็จแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชทานนามให้มีความหมายเกี่ยวข้องระหว่างพระองค์ที่ทรงมีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ผู้สร้างวัด และเพื่อเป็นอนุสรณ์ยืนยันถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ซึ่งทรงถือว่าเป็นมิตรที่ดีคนหนึ่งของพระองค์ว่า “วัดกัลยาณมิตร”













โรงเรียนสตรีวัดระฆัง
สถานที่นี้แต่เดิมกระทรวงทหารเรือ ได้รับอนุญาตจากวัดให้สร้างอาคารไม้จำนวน 3 หลัง เป็นโรงพยาบาลทหารเรือชั่วคราว เมื่อกระทรวงทหารเรือสร้างโรงพยาบาลทหารเรือถาวรที่ปากคลองมอญเรียบร้อยแล้ว จึงยกอาคารเดิมให้แก่วัด และ ได้รายงานไปยังกระทรวงธรรมการ

ในครั้งนั้นขุนวรเวทย์พิสิฐเป็นพนักงานจัดการแขวงตะวันตกเฉียงเหนือ เห็นชอบด้วยในการจัดตั้งโรงเรียนสตรีของรัฐบาลขึ้นในสถานที่แห่งนี้ จึงได้นำความกราบเรียนท่านเจ้า กรมศึกษาธิการและได้กราบเรียนท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ เจ้าคุณพระพิมลธรรม ( สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) ท่านเจ้าอาวาสเห็นชอบด้วย อนุญาตให้ใช้อาคารและสถานที่ เป็นโรงเรียนสตรี กระทรวงธรรมการ จึงได้แล้วจึงประกอบพิธีทางศาสนา เปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 จึงถือว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันสถาปนาโรงเรียน

ประธานในพิธีคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ผู้แทนเจ้ากรมศึกษาธิการ มีนางธนากรภักดี ( สว่าง อมรสิงห์ ) เป็นครูใหญ่คนแรก มีนักเรียน ชั้น ป. 1 - ป.3 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 75 คน ครู 4 คน พ.ศ. 2463 เปิดสอนจนถึงชั้นม. 6 และเปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา ปีที่ 1 แผนกอักษรศาสตร์และแผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2489













สนามหลวง
มีมาแต่แรกสถาปนากรุึงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นบริเวณที่โล่ง จัดให้มีขึ้นอย่างสนามหน้าจักรวรรดิ ของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง คนทั่วไปจึงเรียกว่า "ทุ่งพระเมรุ" ถ้าไม่มีงานพระเมรุ ก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ราวหนองบึง ที่ชุมนุมของสัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหารของไพร่บ้านพลเมือง ที่ถูกเกณฑ์














ถนนราชดำเนิน
เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นที่เสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน
จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด และให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า โดยในชั้นแรกนั้นมีพระราชดำริว่า เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถมจะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร














ถนนสุรวงศ์
เป็นถนนคู่ขนานกับถนนสีลมและถนนสี่พระยา ในกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) เป็นผู้จัดซื้อที่ดินและตัดถนนขึ้นสองสาย และท่านผู้หญิงตลับสีหราชเดโช ภรรยาได้ขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถขณะที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ทรงพระราชทานชื่อว่า ถนนสุรวงศ์ และ ถนนเดโช














สะพานพระพุทธยอดฟ้า
เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย

จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6









โครงการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และสะพาน
เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (ต่อมาเป็นกรมพระยา) อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรมคิดแบบอย่างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์และหล่อด้วยทองสำริด ขนาดสูงตั้งแต่ฐานถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยได้เลือกแบบของบริษัทดอรแมนลอง ประเทศอังกฤษ และสร้างเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และอาจยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า














สะพานผ่านพิภพลีลา
สะพานแห่งนี้สร้างเสร็จและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พศ.๒๔๔๙ แล้วพระราชทานนามให้ว่า "สะพานผ่านพิภพลีลา"

สะพานผ่านพิภพลีลา เป็นสะพานที่มีความชันน้อยมากจนเกือบเสมอกับระดับถนน และราวสะพานเป็นเหล็กดัดลวดลายงดงาม แต่ภายหลังได้มีการปรับปรุงสะพานผ่านพิภพลีลาหลายครั้ง และที่สำคัญเมื่อมีการก่อสร้าง
"สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า" ตรงจุดที่ถนนเจ้าฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาลงถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานผ่านพิภพลีลาก็ถูกเบี่ยงให้พ้นจากทางลาดของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จนมาตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของโรงแรมรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ส่วนราวสะพานเหล็กดัดก็ถูกถอดออกไปด้วย กลายเป็นกำแพงปูนแกะสลักลายมาแทน














สะพานเฉลิมหล้า56(สะพานหัวช้าง)
เป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 56 มีลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก คานเป็นคอนกรีตรูปโค้ง มีรายละเอียดงดงามมาก หัวสะพานทั้งสี่มุม มีรูปประดับเป็นช้าง 4 ด้าน ลูกกรงหล่อแบบลูกมะหวดฝรั่ง กลางสะพานมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ซึ่งในปีนี้พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัยกาธิราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีพระชนมายุมงคลเสมอรัชกาลที่ 2 และฉลองวัดอรุณราชวรารามด้วย และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกในแผ่นดินถึง 4 เชือก จึงพระราชทานนามว่า สะพานเฉลิมหล้า ซึ่งมาจากพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และหัวเสาของสะพานออกแบบเป็นหัวช้างเผือก 4 หัว

ปัจจุบันสะพานเฉลิมหล้า 56 ซึ่งนิยมเรียกกันว่าสะพานหัวช้างยังคงปรากฏอยู่ โดยกรุงเทพมหานครได้พยายามรักษาลักษณะเดิมของสะพานไว้เป็นอย่างดี แม้จะได้มีการขยายถนน และสะพานเพื่อให้รับกับความเจริญของบ้านเมืองและการคมนาคมที่คับคั่งขึ้น















พระราชวังสราญรมย์
เป็นวังที่ตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง กับวัดราชประดิษฐ์ ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นบ้านพักรับรองพระราชอาคันตุกะ

พระราชวังสราญรมย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ออกแบบโดย เฮนรี อาลาบาศเตอร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยมีเจ้าพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อใช้เป็นที่ประทับ พระราชทานนามว่า สราญรมย์ แต่เสด็จสวรรคตก่อนที่จะสร้างเสร็จ

ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับชั่วคราว ของเจ้านายเมื่อแรกออกจากวังหลวง ก่อนที่วังประทับถาวรจะก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิเช่น เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงประทับเมื่อ พ.ศ. 2419 - 2424 ระหว่างก่อสร้างวังบูรพาภิรมย์ ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ เช่น อาทิ เจ้าชายแห่งญี่ปุ่น ซาเรวิชหรือมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ พระราชอาคันตุกะพระองค์แรกที่เข้ามาประทับคือ เจ้าชายออสการ์ เมื่อ พ.ศ. 2427









ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตึกราชวัลลภในพระบรมมหาราชวังชำรุดทรุดโทรมลงมาก เมื่ออาคารดังกล่าวกลายเป็นที่ทำการสำนักงานกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ก็กลับเรียกชื่อว่า "วังสราญรมย์" อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากมิได้มีเจ้านายประทับเป็นการประจำ และได้ใช้วังสราญรมย์เป็นที่ทำการถาวรของกระทรวงการต่างประเทศสืบมาจนถึงประมาณช่วงปี 2535 จึงมีการย้ายสำนักงานส่วนใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศออกไปที่อาคารถนนศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันนี้ หลังปี พ.ศ. 2535 มีการปิดวังสราญรมย์เพื่อปรับปรุงและบูรณะซ่อมแซม โดยในช่วงแรกมีแผนที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทูตไทย และสถาบันฝึกอบรมข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ในชั้นนี้การบูรณะยังไม่แล้วเสร็จ อนึ่ง ในบริเวณกระทรวงการต่างประเทศวังสราญรมย์เดิม พื้นที่ฝั่งที่ติดกับพระราชอุทยานสราญรมย์ (ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะภ่ายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร)ได้มีการก่อสร้างทำเนียบองคมนตรีและอาคารสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งยังใช้เป็นที่ทำการของคณะองคมนตรีมาจนปัจจุบันนี้














วังพญาไท
เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ วังนี้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงส่วนพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนา รวมทั้ง โรงนา ขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญหลายครั้ง ณ วังพญาไท

วังพญาไทใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในระยะเวลาอันสั้น เพราะเมื่อหลังจากมีการขึ้นเรือนใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็สวรรคต

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2463 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ด้วยกัน รวมทั้งได้รับการสถาปนาวังเป็น พระราชวังพญาไท[1]














วังบางขุนพรหม
เป็นวังที่ประทับของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ ๓๓ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี

เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะหาซื้อที่ดิน และปลูกวังพระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอด้วยเงินพระคลังข้างที่ เป็นการแทนการพระราชทานวังสำเร็จรูป ดังที่เคยพระราชทานมาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ดินบริเวณวังบางขุนพรหมนั้น อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันด้านใต้ติดสะพานพระราม ๘ และอีกด้านติดถนนสามเสนใน) ที่ดินบริเวณวังมีหลายเจ้าของ เป็นป่าริมแม่น้ำ เป็นของเอกชนและของวัดคือ วัดอินทาราม และวัดสารพัดช่าง ต้องใช้เวลาสำหรับหาซื้อที่ดินกว่าจะปลูกวังได้ร่วม ๕ ปี และหลังจากสร้างวังแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะรวบรวมซื้อที่ดินได้ เท่าที่มีอยู่ในทุกวันนี้ รัชกาลที่ ๕ พระราชทานที่ดินผืนดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๔๒ โดยเน้นว่าใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อ ไม่เกี่ยวกับเงินของทางราชการ ดังปรากฎในหนังสือพระราชทานว่า "บัดนี้ข้าพเจ้าขอทำหนังสือฉบับนี้เป็นสำคัญ ยกที่ดินซึ่งกล่าวมาแล้วนี้ และตึกเรือนโรงอันใดซึ่งเป็นของเก่าที่อยู่ในที่นี้ และที่จะได้ปลูกสร้างในที่นี้ต่อไป มากน้อยเท่าใด ให้เป็นสิทธิ์เป็นทรัพย์แก่ลูกชาย เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนมไหยสุริยสงขลา ตามประสงค์ของข้าพเจ้า เพราะเงินรายได้นี้ข้าพเจ้ามิได้ใช้เงินสำหรับแผ่นดินจับจ่ายราชการ ได้ใช้เงินพระคลังข้างที่ ซึ่งรู้อยู่ด้วยกันโดยมากว่าเป็นเงินสำหรับพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยเงินราชการแผ่นดิน...."














กระทรวงศึกษาธิการ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการก่อตั้ง"กระทรวงธรรมการ"ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ซึ่งกระทรวงธรรมการมีการเปลี่ยนชื่อไปมาหลายครั้งระหว่างชื่อ "กระทรวงธรรมการ" และ "กระทรวงศึกษาธิการ" อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ก็ได้ใช้ชื่อว่า "กระทรวงศึกษาธิการ" ตั้งแต่นั้นมา โดยมีที่ทำการอยู่ที่ "วังจันทรเกษม" จนถึงปัจจุบัน













ศาลาเฉลิมกรุง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาพยนตร์เป็นมหรสพและ การสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง สามารถเทียบได้กับการโทรทัศน์ในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์ในสยามสมัยรัชกาลที่ 7 นั้นมีประมาณ 20 โรง กระจายอยู่ทั่วเขตพระนครและธนบุรี จัดฉายภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นภาพยนตร์จากสหรัฐ หรือจาก ฮอลลีวู้ดนั่นเอง

โรงภาพยนตร์ในสยามขณะนั้น มักมีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายอาคารโรงไม้ หลังคามุงสังกะสี ไม่มีโรงขนาดใหญ่และหรูหรา จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 ปีแห่งมหามงคลสมัยเฉลิมฉลองพระนครมีอายุครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงมหรสพขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องด้วย พระองค์ทรงโปรดภาพยนตร์เป็นพิเศษ ให้เป็นโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ที่ทันสมัยและโอ่โถงหรูหรา ขนาดจุผู้ชมได้มากว่า 2,000 คน และนับเป็น โรงมหรสพ โรงแรกในเอเชียที่มีเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำ (Chilled Water System) สร้างขึ้นที่บริเวณหัวถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง นายนารถ โพธิปราสาท เป็นวิศวกร สถาปัตยกรรมแนวเรียบง่าย ผสมผสานระหว่างตะวันตกกับไทย ได้รับพระราชทานนามว่า "ศาลาเฉลิมกรุง" เปิดฉายปฐมฤกษ์ครั้งแรกเมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง "เรื่องมหาภัยใต้ทะเล














คลองมหานาค
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี มีพระราชดำริว่าจะทำให้เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้วางผังเมืองและสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ โดยลอกมาจากผังของกรุงศรีอยุธยา

ในปี พศ.๒๓๒๖จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายหนึ่งแยกออกจากคูเมืองทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันเรียกว่า "คลองรอบกรุง") โดยขุดแยกออกที่เหนือวัดสะแก (ปัจจุบันคือวัดสระเกศ) เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออก แล้วพระราชทานนามตามคลองเก่าในกรุงศรีอยุธยาว่า "คลองมหานาค" กับมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่เล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำหลากเหมือนเช่นเคยทำกันในอดีต ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งริมคลองมหานาค ให้เหมือนกับเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเรียกว่า "เจดีย์ภูเขาทอง"

บริเวณปากคลองมหานาคเหนือวัดสะแก นอกจากจะมี "ป้อมมหากาฬ" ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นสัญลักษณ์แล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "สะพานมหาดไทยอุทิศ" (สะพานร้องไห้) ต่อจากรัชกาลก่อนจนแล้วเสร็จอีกสิ่งหนึ่งด้วย

คลองมหานาคนี้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำอันสำคัญของคนกรุงเทพมหานครในสมัยก่อน เพราะสามารถเชื่อมต่อคลองรอบกรุงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเชื่อมคลองแสนแสบที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไปได้ไกลถึงแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเลยทีเดียว บริเวณคลองมหานาคจึงกลายเป็นจุดค้าขายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแหล่งใหญ่ เรียกว่า "ตลาดมหานาค" ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นตลาดค้าผลไม้ที่สำคัญ มีรถบรรทุกสินค้ามาลงเป็นจำนวนมากในยามค่ำคืน



















คลองผดุงกรุงเกษม
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชากรไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ ๆ หลายเท่า จากเอกสารที่เขียนโดย เซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ในหนังสือราชอาณาจักรและพลเมืองสยามว่า มีประชากรประมาณ ๖ ล้านคน (รอง ศยามานนท์ ๒๕๒๕ : ๓๐๕) เป็นผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางน้ำหรือทางบก และภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีแบบเบาริง พ.ศ. ๒๓๙๘เป็นต้นมา สถานกงสุลต่าง ๆ ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการติดต่อหรือเดินทางสัญจร ไปมาระหว่างคนต่างชาติกับคนไทย ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของ การคมนาคม จึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้น ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ๒๕๐๔ : ๗๐ อ้างถึงใน รอง ศยามานนท์ ๒๕๒๕ : ๓๐๘) ความว่า

“... ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนก็มากกว่าเมื่อแรก จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นกงสี จ้างจีนขุดคลองคูพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง ปากคลองข้างทิศใต้ออกไปริมวัดแก้วฟ้า ปากคลองข้างทิศเหนือออกไปริมวัดเทวราชกุญชร เป็นแนวขนานกับคลองรอบกรุง ซึ่งขุดไว้ครั้งรัชกาลที่ ๑ คลอง กว้าง ๑๐ วา ลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วา สิ้นค่าใช้จ่าย ๓๙๑ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๑ บาท ๑ เฟื้อง...”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามคลองที่ขุดขึ้นว่า คลองผดุงกรุงเกษม นับเป็นคลองที่สำคัญ เป็นคลองที่ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาหล่อเลี้ยงพื้นที่สองฟากคลอง ทำให้เหมาะแก่การทำสวนยิ่งขึ้น และอาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ขยายพื้นที่ออกไป มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหรือประมาณ ๕,๕๕๒ไร่ (กรมศิลปากร ๒๕๒๕ : ๕๗) บริเวณระหว่างคลองรอบกรุงกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่นอกเมืองของประชาชน และเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวจีน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพระนคร อย่างไรก็ดีหลังจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเสร็จแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการคมนาคมทางเรือ














คลองรังสิต
เกิดขึ้นจากความต้องการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมพื้นที่ปลูกข้าวในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยจ้างบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามเป็นฝ่ายดำเนินการขุดคลองสายใหญ่และสายย่อยทั้งสองฝั่งอีกฝั่งละ ๒๐ คลอง จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบ้านใหม่ ปทุมธานีถึงแม่น้ำนครนายกที่ตำบลบางปลากด เพื่อขายที่ดินให้กับกลุ่มเจ้านายและผู้มีฐานะที่เก็งกำไรและกลุ่มชาวนาที่ต้องการทำนา เพราะในช่วงนั้น การค้าข้าวในตลาดโลกได้ราคาดี

แต่การขุดคลองรังสิตไม่ได้ผลดีตามจุดมุ่งหมายนัก เพราะเกิดการขาดแคลนน้ำ การทำนาไม่ได้ผลสมบูรณ์ ชาวบ้านพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นก็มาก จึงต้องขุดคลองรพีพัฒนศักดิ์เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักเจ้าคลองรังสิตเพื่อช่วยในการชลประทานให้ได้ผลดีขึ้น













คลองแสนแสบ
เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงที่ตำบลบางขนาก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ ใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินทางไปยังเมืองปราจีนและเมืองฉะชิงเทรา มีพระราชประสงศ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังประเทศญวนในราชการสงครามไทย-ญวนซึ่งใช้เวลารบถึง ๑๔ ปี เรียกว่า “สงครามอันนัมสยามยุทธ”

ชื่อของคลองน่าจะพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศที่คลองนี้ขุดผ่าน ซึ่งล้วนเป็นที่ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ใหญ่ที่สุด อันได้แก่ ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี ทุ่งหนองจอก และจากหลักฐานสำคัญซึ่งอาจสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อแสนแสบเป็นอย่างดีก็คือ รายงานการเดินทางของนาย ดี.โด.คิง (D.O. King) นักสำรวจชาวอังกฤษแห่งกรุงลอนดอน มีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศและความเป็นอยู่ของผู้คนแถบคลองแสนแสบนี้ว่า

“..คลองนี้มีความยาว ๕๕ ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ ๔ ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ....”













สถานีรถไฟหัวลำโพง
ซึ่งคำว่า หัวลำโพง สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามคลองและทุ่งที่มีฝูงวัวที่วิ่งกันคึกคัก ที่เรียกว่า ทุ่งวัวลำพอง และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น หัวลำโพง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นลำโพง ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้

สถานีนี้เริ่มสร้างในสมัย รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเริ่มใช้งาน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 สถานีรถไฟหัวลำโพง เดิมเป็นสถานีที่ให้บริการทั้งด้านการขนส่งสินค้า และขนส่งมวลชน ต่อมาการขยายตัวในด้านการโดยสารและขนส่งสินค้ามีมากขึ้น แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัดเพียง 120 ไร่ จึงทำให้ต้องย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และทำการปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงให้เป็นสถานีรถไฟสำหรับบริการด้านขนส่ง มวลชนเพียงอย่างเดียว เพื่อสามารถรองรับผู้โดยสารจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ

ตัวสถานีแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ อาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค (Classicism) คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก - โรมัน จุดเด่นของสถานีหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้าน นอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาทั่วๆ ไป














สี่กั๊กพระยาศรี
หรืออาจเรียกว่า สี่กั๊ก เป็นสี่แยกที่เกิดจากถนนเจริญกรุงตัดกับถนนเฟื่องนคร ในสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณบ้านของพระยาศรีสหเทพ (นามเดิม ทองเพ็ง เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ) อยู่เชิงสะพานมอญ

สี่แยกนี้ได้ชื่อมาจากคำว่า กั๊ก ซึ่งแปลว่า แยก ในภาษาจีน เจ๊กลากรถในสมัยนั้นจะเรียกสามแยกว่า ซากั๊ก และ สี่แยกว่า สี่กั๊ก และเมื่อเรียกรถมาบริเวณนี้จึงเรียกว่าไป สี่กั๊กบ้านพระยาศรี มาจนถึงปัจจุบัน














แยกราชประสงค์ (อังกฤษ: Ratchaprasong Intersection)
เป็นสี่ แยกใจกลางกรุงเทพ มหานคร เป็นจุดตัดของถนน เพลินจิตและถนน ราชดำริ เป็นย่านศูนย์การค้าที่สำคัญซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานศาลเทพเจ้าต่างๆทั้ง สิ้น 6 ศาลจนบางคนถึงกับเรียกสี่แยกนี้ว่า “แยก 6 เทพ” ซึ่งเทพทั้งหกองค์นั้นเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้าวมหาพรหมเอราวัณ จากคำขวัญของเขตปทุมวันที่ว่า “บูชา ท้าวมหาพรหม ชื่นชมวังสมเด็จย่า ศูนย์การค้ามากมี ลุมพินีสวนสาธารณะ ศิลปะมวยไทย สถานีรถไฟหัวลำโพง เชื่อมโยงรถไฟ ฟ้า สถานศึกษาเลื่องชื่อ นามระบือจุฬาลงกรณ์” ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแยกราชประสงค์













สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน
เดิมตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน โดยมีชื่อเรียกว่า“โรงพักตำรวจพระนครสระปทุมวัน”เมื่อพุทธศักราช 2463 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถานีตำรวจแขวงปทุมวัน” ปีพุทธศักราช 2476 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม พุทธศักราช 2498 ได้ย้ายที่ทำการจากสี่แยกปทุมวัน มาตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1775 จุฬาลงกรณ์ซอย 5 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน” มาจนถึง ปัจจุบัน โดยขึ้นตรงต่อ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ตั้งของสถานี อยู่บนที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบ













สนามกีฬาศุภชลาสัย
ผู้ริเริ่มก่อสร้างสร้างสนามศุภชลาศัย สนามกีฬามาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย คือ "สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ" โดยผู้นำเสนอโครงการก่อสร้างเป็นนายทหารกองทัพเรือ ในขณะนั้นตำแหน่ง "อธิบดีกรมพลศึกษา" (บุง ศุภชลาศัย)

ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงศุภชลาศัย ยังริเริ่มให้การแข่งขันกีฬานักเรียนต้องมีนักกีฬาอาวุโสกล่าวนำคำปฏิญาณตนเป็นครั้งแรก ด้วยคุณความดีหลายประการนี้เอง วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ กรมพลศึกษา จึงเปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น "สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย














สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา)
สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต เป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้ทรงให้ทางเทศบาลกรุงเทพฯ จัดสร้างให้เป็นสวนสัตว์และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทุกระดับชั้น และมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ตลอดมา

เขาดินเป็นสวนสัตว์ใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 118 ไร่ มีสัตว์ป่าราว ๆ 2,000 ตัว ทั้งที่หายากและเกือบจะสูญพันธุ์แล้ว มีต้นไม้นานาชนิดที่ให้ความร่มรื่นและบึงน้ำขนาดใหญ่ที่สวยงาม เหมาะเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ชีวิตสัตว์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับครอบครัว นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป


































...................................................








Create Date : 06 เมษายน 2555
Last Update : 2 กรกฎาคม 2558 18:55:46 น. 5 comments
Counter : 27860 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับ หาดูยากครับ ชุดที่คนอื่นเอามาลงส่วนใหญ่มีแต่ขนาดเล็กแต่ของคุณชัดเจนมาก ขอบคุณอีกครั้งครับ


โดย: ศราวุธ IP: 49.49.123.235 วันที่: 5 พฤษภาคม 2555 เวลา:21:28:11 น.  

 
เยี่ยมมากเลยครับ มีประโยชน์และรูปแบบน่าสนใจมากครับ


โดย: Keng_cafe IP: 124.121.95.34 วันที่: 2 กรกฎาคม 2555 เวลา:9:30:17 น.  

 
ขอบคุนมากเลยค่ะ สำหรับข้อมูลทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น แต่ติดที่ตัวหนังสือมืดไปนิดนึงจึงอ่านไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ ...


โดย: inkku IP: 180.180.42.52 วันที่: 6 ธันวาคม 2555 เวลา:10:15:55 น.  

 
ผ่านมาได้เจอครับ ทรงคุณค่าจริงๆ ดนตรีก็เข้ากับบรรยากาศ เยี่ยมมากครับ
ดาบจิณณะ จ๊ะ


โดย: ประทับใจมากครับ IP: 171.98.249.13 วันที่: 7 ธันวาคม 2555 เวลา:17:33:15 น.  

 
เป็นเว็บที่ดีที่สุดเลย ทำเว็บได้น่าสนใจมากค่ะ โดยส่วนตัวแล้วชอบมากๆเลยค่ะ
ขอบคุณสำหรับเนื้อหาและรูปภาพนะค่ะ


โดย: VI IP: 180.183.46.196 วันที่: 17 เมษายน 2556 เวลา:16:15:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

won_98
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]





Friends' blogs
[Add won_98's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.