Maphueng2019
Group Blog
 
All Blogs
 

ลายปักแม่บท (Basic Stitches) 1

เป็นวิธีการปักลายขั้นพื้นฐานที่จำเป็น นอกจากจะเป็นที่นิยมใช้กันในหมู่นักปักผ้าทั่วโลกแล้ว ยังเป็นลายปักที่ค่อนข้างง่าย หากมีความเข้าใจโครงสร้างของตัวลายและฝึกปักจนชำนาญ ก็สามารถแตกลายแม่บทเหล่านี้ด้วยวิธีการซึ่งซับซ้อนขึ้น เกิดเป็นลายปักประยุกต์ได้อีกมากมาย

เนา Runing stitch




เดินก้าน Stem stitch




ด้นถอยหลัง Back stitch




ลูกโซ่ Chain stitch




เดซี่ขี้เกียจ (Lazy-daisy stitch)


<




 

Create Date : 24 กันยายน 2551    
Last Update : 27 กันยายน 2551 22:00:22 น.
Counter : 4589 Pageviews.  

การปักผ้าด้วยมือเบื้องต้น 2

องค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการปักผ้า คือ ตัวผู้ปักผ้าเองและสถานที่ทำงาน


ตัวผู้ปักผ้า ควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. อารมณ์เบิกบาน แจ่มใส
2. ร่างกายสะอาดและแห้ง
3. สวมเสื้อผ้าสะอาดสบายตัว
4. ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มขณะปักผ้า หากมีอาหารหกรอด เป็นคราบเปื้อนชิ้นงานแล้ว ไม่สามารถขจัดรอยเปื้อนได้ งานปักแม้จะสวยงามเพียงใดย่อมด้อยคุณค่าลงทันที
5. มีอิริยาบถซึ่งเหมาะสม หลังไม่งอห่องุ้ม ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณ คอ ไหล่ ข้อมือและนิ้วมือ ท่านั่งที่ดีจะช่วยป้องกันอาการปวดเมื่อย เกร็งตึง ช่วยให้ทำงานได้อย่างสบาย
6. ควรเปลี่ยนอิริยาบถและพักสายตาบ้าง

สถานที่
1. เลือกสถานที่ที่สะอาด อากาศถ่ายเทปลอดโปร่ง
2. มีแสงสว่างเพียงพอ
3. เลือกโต๊ะ-เก้าอี้มีลักษณะเหมาะสมเอื้อต่อการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสูง ถ้าชอบนั่งปักผ้าบนพื้น ควรมีเบาะรองนั่งที่หนาสบาย

วิธีการลอกลาย มีหลายวิธีซึ่งเป็นที่นิยม เพราะง่ายและรวดเร็ว
1. ปรุ ด้วยกระดาษลอกลายและปลายดินสอดำ
2. ใช้กระดาษสีกดรอย
3. ใช้แสงสว่างส่องด้านหลัง ทำให้แบบปักและเนื้อผ้า มีความโปร่งแสงมากขึ้น แล้วลอกลาย




 

Create Date : 24 กันยายน 2551    
Last Update : 26 กันยายน 2551 0:26:16 น.
Counter : 4399 Pageviews.  

การปักผ้าด้วยมือเบื้องต้น1

กรพิณน์ แพ่งนคร ลิขิตกิจสมบูรณ์




การปักผ้าด้วยมือนั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด ทั้งในส่วนเทคนิควิธีการและวัสดุอุปกรณ์ จนพูดได้ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่มี เข็ม ด้าย ผืนผ้า และรู้จักวิธีสนเข็ม อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมือทำ เราควรมีการเตรียมตัวที่ดี วางแผนล่วงหน้า มีความเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งหมดอย่างชัดเจน ตลอดจนมีความรู้พื้นฐานที่สำคัญบางประการ เพื่อช่วยให้กระบวนการปักผ้าดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสำเร็จลุล่วงด้วยดี

อุปกรณ์สำคัญและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์

1. แบบปัก เราอาจออกแบบเองหรือใช้แบบปักสำเร็จรูปก็ได้ โดยเลือกให้เหมาะสมต่อการใช้งาน เช่น ลวดลายบนเครื่องนอน ควรมีสีเย็นนุ่มนวล ขนาดไม่ใหญ่โตจนเกินไป หากเป็นผ้าปูโต๊ะอาจเลือกแบบปักขนาดใหญ่ ใช้สีสดใสร้อนแรงได้ เป็นต้น

1.1 แบบปักต้นฉบับ มีความสำคัญมากเพราะเป็นเอกสารอ้างอิง แสดงภาพผลงานที่เสร็จสมบูรณ์และเป็นแม่แบบกำหนดกระบวนการทำงานด้วย แบบปักชนิดนี้นอกจากจะมีรูปแล้ว ยังระบุรายละเอียดสำคัญต่างๆ ไว้ด้วย เช่น
- ลายปัก ตามส่วนต่างๆ ของลวดลาย
- สีสัน ระบายสี และใส่รหัสสีให้เรียบร้อย
- ประเภทของเส้นใย
- ชนิดและลักษณะผ้า
- ควรแนบตัวอย่างเส้นใยและผืนผ้าไว้ด้วย
หากมีรายละเอียดอื่นที่อยากกำกับไว้กันลืม ก็จะยิ่งทำให้ต้นฉบับสมบูรณ์ชัดเจน ควรปรับแก้แบบจนเป็นที่พอใจขั้นสุดท้ายเสียก่อน จึงนำไปใช้งานจริง ลวดลายที่เหมือนกัน สามารถนำไปแตกลักษณะปลีกย่อย เช่น โทนสี ลายปักที่จะนำมาใช้ ให้ผิดแผกกันออกไปตามความพอใจ จึงทำให้ลวดลายเดียวกันสามารถมีแบบปักต้นฉบับได้หลายฉบับ
1.2 แบบปักเปล่า หรือ "แบบเปล่า" เป็นตัวลวดลายล้วน ๆ ไม่มีรายละเอียดแต่อยางใด ใช้เป็นแบบลอกลงบนผ้า

แบบปักทั้งสองประเภทนี้ เมื่อใช้งานเสร็จควรเก็บใส่แฟ้ม พร้อมทั้งจัดหมวดหมู่ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการสูญหาย สะดวกต่อการหยิบใช้ และเป็นประโยชน์ต่อการทำงานครั้งต่อไป

2. ผ้า มีหลากหลายชนิดให้เลือก ทั้งที่ผลิตจากเส้นใสสังเคราะห์ เส้นใยธรรมชาติและผ้าเนื้อผสมแบบต่างๆ สิ่งสำคัญคือหากไม่แน่ใจในคุณภาพของเนื้อผ้า โดยเฉพาะผ้าที่ผลิตแบบพื้นบ้าน หรือผลิตจากเส้นใยธรรมชาติล้วน เช่น ไหม ฝ้าย ลินิน ใยสับปะรด ขนแกะ ใยกัญชง ฯลฯ ควรนำไปแช่น้ำผสมผงซักฟอกอ่อนๆ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบคุณภาพของสีย้อมและความหดตัวของเนื้อผ้า นอกจากนี้ควรเลือกความหนาของเนื้อผ้าให้เหมาะต่อการใช้งาน เช่น ผ้าลินินกระสอบเหมาะสำหรับทำกระเป๋า ผ้าป่านมัสลินสำหรับทำผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ส่วนผืนวัสดุประเภทอื่นก็สามารถนำมาใช้ปักได้ เช่น หนังสัตว์เทียม กำมะหยี่ ต่วน ผืนไนล่อน เป็นต้น

3. ด้ายปักหรือเส้นใยชนิดต่างๆ ในปัจจุบันมีเส้นใยหลากหลายประเภท สีสัน ผิวสัมผัส ผลิตจากวัสดุนานาชนิด รวมทั้งมีหลายขนาด หัวใจสำคัญ คือ ควรเลือกใช้เส้นใยคุณภาพดี สีไม่ตกซีด ไม่หดตัวและมีความทนทาน สำหรับด้ายปักที่มีสีเข้ม หรือผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ควรตัดบางส่วนไปแช่น้ำเสียก่อนเพื่อตรวจสอบคุณภาพ

4. สะดึง เป็นกรอบสำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อสะดวกแก่การเย็บปัก มีหลายรูปทรง เช่น วงกลม สีเหลี่ยม วงรี และมีหลายขนาด สำหรับผู้เริ่มฝึกปักผ้า ควรใช้สะดึงลอยตัวแบบกลม เพราะใช้ง่าย คล่องตัว ราคาประหยัดและหาซื้อได้ทั่วไป สะดึงชนิดนี้เหมาะสำหรับงานปักขนาดเล็ก

5. เข็มปัก ขนาดของเส้นใยที่ใช้ปัก และความหนาบางของผ้า จะเป็นตัวกำหนดขนาดเข็มปัก ตาเข็มควรกว้างพอที่จะบรรจุเส้นใยปักได้พอดี ผ้าทอเนื้อแน่นควรใช้เข็มปลายแหลม ผ้าเนื้อหลวมหยาบอาจใช้เข็มปลายมนได้ เลือกใช้เข็มปักที่ทำด้วยโลหะชั้นดี ไม่คดงดง่ายและเป็นสนิม

6. กรรไกร เลือกที่คม ปลายแหลมและขนาดใหญ่พอที่จะขลิบตัดได้สะดวก

7. ดินสอดำ สำหรับวาดแบบ กดรอย ทำเครื่องหมาย และจดข้อความต่างๆ

8. ดินสอสี หรือสีน้ำ สำหรับระบายแบบปัก

9. กระดาษบางลอกลาย เลือกคุณภาพดี ไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกดรอยด้วยดินสอ

10. กระดาษสีกดรอย เลือกคุณภาพดี ติดง่ายและทำความสะอาดได้ง่ายเช่นกัน

11. หมอนปักเข็ม สำหรับพักเข็ม ช่วยป้องกันเข็มหาย หมอนปักเข็มที่ดีควรมีน้ำหนักพอสมควร ไม่เคลื่อนที่ได้ง่าย เมื่อปักเข็มลงไปหรือดึงขึ้นมา

12. เข็มหมุด หรือเทปกาว สำหรับตรึงกระดาษและผ้า ขณะลอกลาย

13. ไม้บรรทัด หรือสายวัด สำหรับวัดระยะ หาตำแหน่ง และกำหนดขนาด

14. ตะกร้าหรือกระเป๋า สำหรับเก็บอุปกรณ์และของจุกจิกให้เป็นระเบียบ หยิบใช้สะดวก

นอกจากนั้นยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างอื่นอีกคือ ตัวผู้ปักผ้าเองและสถานที่ทำงาน




 

Create Date : 24 กันยายน 2551    
Last Update : 26 กันยายน 2551 0:23:34 น.
Counter : 33993 Pageviews.  

ชั้นเรียน ปักผ้าเพื่อความสุข


หัวใจของการปักผ้าคือ ความรัก ความชื่นชอบ และความอยากทำเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด จากนั้นจึงตัดสินใจลงมือทำ สัมผัสความนุ่มนวลของผืนผ้า ออกแบบ กำหนดสี เลือกเส้นด้าย จรดปลายเข็ม และเริ่มต้นลีลาของปลายนิ้ว ปักลวดลายทีละเล็กละน้อยจากจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียวค่อยๆ ขยาย...กลายเป็นผลงานเสร็จสมบูรณ์ตามใจคิด

เมื่อลงมือปักผ้าด้วยความรักและความสุข...
เรากำลังเรียนรู้วิธีทำงานอย่างเบิกบานใจ เพิ่มพูนความละเมียดละไมภายใน
เรากำลังพัฒนาสติ...รวมใจจดจ่อกับฝีเข็มเบื้องหน้า
เรากำลังสอนตนเองให้รู้จักอดทนและรอคอยอย่างสงบ
และรู้จักชื่นชมยินดีเมื่องานเสร็จ

เพียงเศษผ้าชิ้นเล็กๆ เข็ม ด้ายและความสุขใจ เป็นเหตุให้เกิดงานผ้าแสนสวย ด้วยแรงใจอันสงบเบิกบาน เป็นพลังให้ลงมือกระทำอย่างต่อเนื่อง
จนสำเร็จ ได้ชื่นชมผลงานอันเกิดจากปลายนิ้ว

ด้วยความคิดที่อยากเห็นผู้คนมีความสุขกับการทำงานศิลปะที่ตนเองชอบและมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็กๆ อันมีชีวิตชีวา ชุมชนของกัลยาณมิตร ช่วยกันเผยแพร่งานผ้าให้ศิลปะการเย็บปักถักร้อยส่งความสุขไปยังผู้คนรอบๆ ตัว




เนื้อหาทั้งหมดใน group blog ชั้นเรียนปักผ้า นี้มาจากการมีโอกาสได้เข้าร่วมชั้นเรียน ปักผ้าเพื่อความสุข ของคุณครูกรพิณน์ แพ่งนคร ลิขิตกิจสมบูรณ์ ความดีงามและคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ความรู้นี้ ขอมอบแด่คุณครูด้วยดวงใจค่ะ




 

Create Date : 24 กันยายน 2551    
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2551 0:52:15 น.
Counter : 2669 Pageviews.  

1  2  

maphueng
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




ชักชวนกันมาปักผ้า...
สร้างสังคมเล็กๆ อันมีชีวิตชีวา
และมีความหมายต่อกัน
Friends' blogs
[Add maphueng's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.