Group Blog
 
All blogs
 

นกกระแตผีเล็ก

นกกระแตผีเล็ก Burhinus oedicnemus (Eurasian Thick-knee, Eurasian Stone-curlew , Stone Curlew ) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 40 เซ็นติเมตร เป็นนกกระแตผีที่ตัวเล็กที่สุดและพบได้บ่อยที่สุดในจำนวน 3 ชนิดที่พบในประเทศไทย อีกสองชนิดคือกระแตผีใหญ่ (Great Thick-knee) และ นกกระแตผีชายหาด (Beach Thick-knee)







นกกระแตผีเล็กมีปากใหญ่แข็งแรงสีเหลืองปลายปากดำ ตาสีเหลืองค่อนข้างโตทำให้มองเห็นตอนกลางคืนได้ถนัดแต่ก็ทำให้ดูตลกๆด้วย มีแถบขนสีขาวเหนือและใต้ตา ขนคลุมลำตัวโดยรวมเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีลายขีดสีน้ำตาลเข้มกระจายทั่วตัว ยกเว้นบริเวณท้อง และคอ มีแถบปีกสีขาวซึ่งเห็นเด่นชัดขณะบิน ขายาวสีเหลืองหรือเขียวอ่อน นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







นกชนิดนี้มักหากินและส่งเสียงร้องตอนกลางคืน นอนนิ่งหลบแดดตอนกลางวันใต้ร่มเงาของต้นไม้ หากตกใจมักวิ่งหนีมากกว่าบินหนี อย่างไรก็ตามนกชนิดนี้บินแข็งมากและตอนกลางคืนอาจบินออกไปหากินได้ไกลๆ ลักษณะการบินของนกกระแตผีเล็กจะเป็นแนวตรง เร็ว และเห็นแถบปีกสีดำขาวชัดเจน







แหล่งอาศัยหากินมักเป็นบริเวณทุ่งหญ้าสั้นๆ เขตเกษตรกรรมแห้งๆ พื้นที่กึ่งทะเลทราย พื้นที่แห้งๆที่มีพุ่มไม้ ตลิ่งทรายริมแม่น้ำ เป็นต้น อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆ นอกจากนี้ยังกินสัตว์เล็กๆที่พบในทุ่งหญ้าด้วย







นกกระแตผีเล็กมีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรป อาฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนกจะทำรังวางไข่ในยุโรปตะวันตกและเอเชียกลาง และอพยพในฤดูหนาวไปยังภูมิภาคอื่น สำหรับประเทศไทยมีทั้งที่เป็นนกอพยพและนกประจำถิ่น มีรายงานการทำรังวางไข่ในบางพื้นที่

นกชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟองตามพื้นดิน ซึ่งอาจเป็นร่องตื้นๆจากการขุดเขี่ยและน้ำหนักตัวของนกเอง







นกในบล็อกถ่ายภาพมาจากพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 โดยมีรายงานการพบนกชนิดนี้ที่นี่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่ากุมารทอง ในเว็บไซต์ //www.thaiextreme.net มีผู้ตามเข้าไปหาอีกหลายครั้ง แต่หาตัวค่อนข้างยาก

ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/wiki/Eurasian_Stone-curlew

หนังสือ :

Birds of Britain and Europe โดย Jim Flegg and David Hosking
Birds of the World โดย Colin Harrison and Alan Greensmith
Birds of South-East Asia โดย Craig Robson
คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล "นกเมืองไทย" โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ดูข้อมูลนกเพิ่มเติมได้ที่ :

//www.rspb.org.uk




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 16:58:33 น.
Counter : 9662 Pageviews.  

นกคอทับทิม

นกคอทับทิม Luscinia calliope (Siberian Rubythroat)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 16 เซ็นติเมตร รูปร่างคล้ายๆนกกางเขนบ้าน นกชนิดนี้มีขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียวอ่อน แต่ขนปลายปีกและขนกลางปีกมีขอบขนเป็นสีแดงอมน้ำตาล ทำให้ปีกดูมีสีแดงกว่าส่วนอื่นๆ ลำตัวด้านล่างมีสีอ่อนกว่าด้านบนโดยเป็นสีเทาเข้มบริเวณอกตอนบนแล้วจางลงเมื่อไล่ลงไปเรื่อยๆ มีแถบสีขาวเหนือตาและมีแถบสีขาวพาดจากโคนปากลงไปยังบริเวณใต้ขนคลุมหูทำให้เมื่อมองจากด้านหน้าตรงๆแล้วคล้ายมีเครื่องหมายกากบาทสีขาวคาดหน้าอยู่ นกตัวผู้กับตัวเมียคล้ายคลึงกัน แต่นกตัวผู้จะมีสีแดงสดบริเวณคอเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นที่มาของชื่อ “คอทับทิม”







ในขณะที่นกตัวเมียจะมีสีขาวแทนที่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนนกตัวผู้ที่ยังโตไม่เต็มที่จะคล้ายคลึงกับนกตัวเมีย







นกคอทับทิมชอบอยู่โดดเดี่ยว กระโดดหากินในดงหญ้ารกๆหรือตามลำต้นหญ้าแต่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 ฟุต นกชนิดนี้มีขายาวแข็งแรงทำให้กระโดดได้อย่างคล่องแคล่ว กระดกหางขึ้นบ้างลงบ้างสอดส่ายสายตาหาเหยื่อจำพวกหนอน แมลงแล้วจิกกิน ถ้าตกใจนกจะวิ่งหนีเข้าไปในพุ่มหญ้ารกๆทันที
เช้าๆเย็นๆที่ปลอดคนนกจะบินขึ้นมาเกาะร้องเพลงตามยอดหญ้า หรือส่วนบนสุดของพุ่มไม้เตี้ยๆ เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่มีเสียงร้องไพเราะ







นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชียเช่นไซบีเรีย ตะวันตก-ตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เกาะฮอกไกโดประเทศญี่ปุ่น และอพยพไปหากินทางตอนใต้ของทวีปเช่นตอนเหนือและตะวันออกของอินเดีย ตอนใต้ของจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นเพียงในบางพื้นที่ในช่วงฤดูหนาว

ในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป นกคอทับทิมจะทยอยบินจากบริเวณที่อาศัยหากินในฤดูหนาวขึ้นไปยังถิ่นเดิม เพื่อเริ่มจับคู่ทำรังวางไข่ในเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม นกจะทำรังวางไข่ทั้ง ในทุ่งหญ้าที่ไม้พุ่มและไม้เตี้ยๆขึ้นกระจัดกระจายบริเวณชายฝั่งทะเล ในป่าที่มีไม้พื้นล่างหนาแน่น ในป่าละเมาะ ในทุ่งหญ้า และในป่าสนแคระที่ระดับความสูงราว 1200-1800เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือสูงกว่า รังของนกจะซ่อนอยู่ในกอหญ้าอยู่บนพื้นดิน ทำจากต้นพืชเล็กๆ หญ้า และเส้นใยพืชมาขัดสานหยาบๆจนเป็นรูปถ้วย รองรังด้วยเส้นใยพืช ปุยพืช ขนสัตว์ นกตัวเมียจะเริ่มวางไข่ราวเดือนมิถุนายน ครอกละ3-6ฟอง ส่วนใหญ่จะเป็น 5 ฟอง มีขนาด20.6*15.4มม. ไข่เรียบเป็นมันมีสีฟ้าจางๆมีจุดกระเล็กๆสีน้ำตาลแดง นกตัวเมียกกไข่เพียงตัวเดียวเป็นเวลา 14 วัน เมื่อลูกนกออกจากไข่ แม่นกก็หาอาหารจำพวกหนอน แมลงมาเลี้ยงลูกนกเพียงลำพังเช่นกัน และพออายุเพียง 12 วันลูกนกก็โตพอจะทิ้งรังได้ ปลายฤดูใบไม้ร่วงลูกนกจะโตและแข็งแรงพอจะบินลงใต้ได้







สำหรับประเทศไทย นกคอทับทิมเป็นนกอพยพที่พบบ่อยมากในทุกภาคยกเว้นภาคใต้โดยจะอาศัยตามป่าละเมาะ ดงหญ้ารกจากที่ราบจนถึงความสูง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเลโดยเฉพาะบริเวณใกล้แหล่งน้ำจืดดงธูปฤษี แถบชานเมือง






นกในบล็อกถ่ายภาพมาจากบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์


ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 19 มกราคม 2551    
Last Update : 23 มกราคม 2551 16:02:40 น.
Counter : 4129 Pageviews.  

นกกระจิบหญ้าอกเทา

นกกระจิบหญ้าอกเทา Prinia hodgsonii ( Grey-breasted Prinia ) เป็นนกตัวเล็กหางยาวที่พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 12 เซนติเมตร

ในชุดขนปรกติ นกจะมีคิ้วขาวสี ขนคลุมลำตัวด้านบนมีสีออกน้ำตาล ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีอ่อน ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์(ดังภาพ) หัวของนกจะมีสีน้ำตาลอมเทา ไม่มีคิ้ว อกมีแถบกว้างสีเทา และมีวงรอบตาสีส้ม นกวัยอ่อนมีชุดขนคล้ายนกผู้ใหญ่นอกฤดูผสมพันธุ์แต่หัวมีสีออกส้มแดง นกตัวผู้และตัวเมียมีชุดขนเหมือนกัน







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในอนุทวีปอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาศัยตามป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง ทำรังในกอหญ้าเป็นรูปถ้วยหรือกระเป๋า วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงเช่นเดียวกับนกในเหล่านกกระจิบหญ้าอื่นๆ







สำหรับประเทศไทยมักพบตามทุ่งหญ้า ข้างทางที่เป็นป่าละเมาะ ป่าชั้นรอง จากที่ราบจนถึงความสูง 1500เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายมากของประเทศไทย โดยพบทุกภาคเว้นภาคใต้และภาคกลางในบางพื้นที่ นกในบล็อกนี้ถ่ายภาพมาจากอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี


ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org/wiki/Prinia_hodgsonii

หนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล และ ฟิลิป ดี. ราวนด์




 

Create Date : 01 สิงหาคม 2550    
Last Update : 1 สิงหาคม 2550 19:43:53 น.
Counter : 4276 Pageviews.  

นกแอ่นทุ่งใหญ่

นกแอ่นทุ่งใหญ่ Glareola maldivarum (Oriental Pratincole) มีจุดเด่นที่โคนปากสีแดงสดใส ปลายปากดำ และมีเส้นสีดำลากจากใต้ตาทั้งสองข้างลงมาบรรจบกันที่คอ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 23-24เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกันแต่ตัวผู้จะตัวโตกว่าเล็กน้อย สีสันโดยรวมของนกชนิดนี้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่าลำตัวด้านบน ขาสั้น ปีกยาวปลายแหลมและหางเป็นแฉกเหมือนหางปลา







นกเด็กลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่ปากไม่มีสีแดง ไม่มีสร้อยคอสีดำและขนบริเวณลำตัวด้านบนเป็นลายพร้อยไปทั้งตัว แม้ว่านกชนิดนี้เป็นนกท่องน้ำ(wader) ชนิดหนึ่ง แต่กลับบินหาอาหารเหมือนพวกนกนางแอ่น อย่างไรก็ตามนกแอ่นทุ่งใหญ่สามารถเดินหาอาหารบนพื้นดินอย่างคล่องแคล่วด้วยเช่นกัน







เรามักพบนกชนิดนี้ตามท้องนา หรือทุ่งโล่ง โดยมักพบเป็นฝูง ออกหากินในเวลาโพล้เพล้ เวลากลางวันนกจะยืนพักผ่อนอยู่ตามพื้นดิน แต่อาจหาตัวได้ยากเพราะนกมีสีกลมกลืนกับพื้นดินที่ยืนอยู่ อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงต่างๆที่บินอยู่กลางอากาศ นกสามารถโฉบจับอาหารได้รวดเร็วมากเพราะมีปีกที่กว้างและปลายปีกแหลม ทำให้บินได้เร็ว ปากที่อ้าได้กว้างก็ทำให้งับแมลงได้อย่างรวดเร็วด้วย แมลงที่มักเป็นอาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ตั๊กแตน ผีเสื้อกลางคืน แมลงเม่า แมลงปอ เป็นต้น

นกแอ่นทุ่งใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี ออสเตรเลียและหมู่เกาะทางมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ในช่วงฤดูหนาว นกจะบินอพยพมายังประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อทำรังวางไข่ เลี้ยงดูลูกอ่อนจนโตพอที่จะเดินทางได้ก็จะเดินทางลงใต้ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่นกที่อพยพมาจากประเทศทางเหนือเริ่มทยอยเดินทางมาถึงเมืองไทย







ราวเดือนมีนาคม นกแอ่นทุ่งใหญ่ที่เดินทางมาถึงแล้วก็จะจับคู่ผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ นกตัวผู้จะร้องเกี้ยวพาราสีนำตัวเมียกันเซ็งแซ่ เพราะจะจับคู่ทำรังในบริเวณเดียวกัน นกเลือกแอ่งดินแห้งๆเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10 เซนติเมตร ซึ่งแอ่งนั้นมักเกิดจากรอยเท้าควายนั่นเอง นกบางตัวจะคาบเอาหญ้าแห้งมารองรัง แต่ส่วนใหญ่จะวางไข่บนแอ่งดินไปเลย นกวางไข่ครอกละ 2-3 ฟอง ไข่ขนาด 30.8-23.9 มม. เปลือกไข่สีเหลืองแกมเทาหรือสีเนื้อมีจุดกระสีดำหรือเทาทั่วทั้งฟอง นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ใช้เวลากกไข่ราว 18 วัน ลูกนกเกิดมามีขนอุยปกคลุมตัว เมื่อขนแห้งก็เดินหรือวิ่งได้เลย พ่อแม่จะขยอกอาหารออกมาให้ลูกกินจนกว่าจะโตพอพร้อมหัดบิน เมื่อลูกนกโตเกือบเต็มวัยก็จะไปรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านแล้ว นกชนิดนี้ยังทำรังวางไข่ในเอเชียตะวันออกตั้งแต่ไซบีเรียตอนกลาง ตอนใต้ของมองโกเลีย จีนตอนกลาง ตะวันตก เกาะไหหลำ บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน หมู่เกาะมัลดีฟส์ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ มลายูและหมู่เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ด้วย







สำหรับประเทศไทย นกชนิดนี้เป็นนกที่อพยพเข้ามาทำรังวางไข่ในช่วงหน้าแล้ง และอพยพกลับไปในช่วงต้นฤดูหนาวเมื่อลูกโตพอที่จะบินได้แล้ว พบได้ทั่วทุกภาคที่มีสภาพที่เหมาะสมคือเป็นทุ่งนา ทุ่งโล่ง เขตเกษตรกรรมสำหรับนกที่ถ่ายภาพมานี้หากินอยู่บริเวณท้องนาอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com
//en.wikipedia.org/wiki/Oriental_Pratincole




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2550 13:46:01 น.
Counter : 5368 Pageviews.  

นกจาบฝนปีกแดง

นกจาบฝนปีกแดง Mirafra marionae ( Indochinese Bushlark ) เป็นนกจาบฝนหนึ่งในสามชนิดที่พบในประเทศไทย และเป็นชนิดที่หาพบได้ง่ายที่สุด







นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 14-15 เซนติเมตร รูปร่างค่อนข้างจะอวบกว่านกจาบฝนชนิดอื่นๆ ปากไม่หนามากอย่างนกจาบฝนเสียงใส(Australasian Bushlark) ขอบหางไม่ขาวอย่างอีกสองชนิด ขีดสีเข้มบริเวณหน้าอกหนาและเข้มกว่านกจาบฝนชนิดอื่นๆ คอและลำตัวด้านล่างสีอ่อน ลำตัวด้านบนสีออกน้ำตาล นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน






ช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมเป็นช่วงทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้ นกทำรังบนพื้นดินหรือโคนกอหญ้า ใช้วัสดุจำพวกหญ้าแห้งทำเป็นรูปโดมกว้างราว7-8 เซนติเมตร วางไข่ครอกละ2-3ฟอง ขนาดไข่14 x 19มม. นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง กกไข่ เลี้ยงลูกอ่อนโดยใช้เวลาฟักไข่ราว 12 วัน และลูกนกอยู่ในรังต่อไปอีกราว13-14 วัน







นกจาบฝนปีกแดงกินอาหารจำพวกหนอน แมลง เมล็ดพืช เมล็ดหญ้า จึงมักพบอาศัยตาม ทุ่งหญ้า ที่โล่งๆแห้งแล้ง พื้นที่เกษตรกรรม นกมักเกาะร้องตามสายไฟฟ้า ตอไม้ เสา และมักบินขึ้นสูง กางปีกออก แล้วทิ้งตัวลงมาเพื่อประกาศอาณาเขต และเกี้ยวพาราสีตัวเมีย เราจะพบนกชนิดนี้ได้ในประเทศแถบอินโดจีน ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคเว้นภาคใต้ เป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อย

นกจาบฝนปีกแดงในภาพนี้ถ่ายมาจากอ่างเก็บน้ำบางพระเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พ่อแม่นกกำลังหาอาหารมาป้อนลูกนก และภาพข้างล่างนี้คือนกที่ยังโตไม่เต็มวัย






ข้อมูลจาก :
//www.bird-home.com





 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 11 พฤษภาคม 2550 20:09:30 น.
Counter : 4442 Pageviews.  

1  2  3  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.