|
ปี่ที่ ๒ ฉบับที่ ๑ ฤดูใบไม้ผลิ เดือนเมษายน ๒๕๔๘
Kyoto Journal ปี่ที่ ๒ ฉบับที่ ๑ ฤดูใบไม้ผลิ เดือนเมษายน ๒๕๔๘ นาบฝันเฟื่อง เขียน
เกริ่นนำ
ย่างเข้าปีที่สองแล้ว สำหรับชีวิตในเกียวโต เมืองที่ผมไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นบ้านที่สองในชีวิต เด็กกรุงเทพอย่างผม แม้จะชอบเที่ยวต่างจังหวัด ขึ้นเขาลงห้วย หรือแม้แต่ทะเล แต่ก็ไปแค่ประเดี๋ยวประด๋าว เพียงเพื่อไปพักผ่อนและเติมพลังให้กับชีวิต แต่แล้วก็กลับมาผจญชีวิตในเมืองหลวงอย่างเดิม เมืองที่ทุกคนบ่นว่าวุ่นวาย เต็มไปด้วยมลพิษ แต่ผมก็มีความสุขอบอุ่นใจทุกครั้งเมื่อพาหนะสี่ล้อพาผมเข้าสู่ถนนลาดพร้าว ถนนที่ขึ้นชื่อว่ารถติดอันดับต้นๆในกรุงเทพ มันทำให้ผมรู้สึกว่าได้กลับมายังบ้านที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เล็กจนโต ความน่าเบื่อของรถติดได้แปรสภาพเป็นความอุ่นใจอย่างนี้ทุกครั้งไป ตอนนี้ ความรู้สึกเหล่านี้ของผมมาบังเกิดกับเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในญี่ปุ่นอย่างเกียวโต เมืองที่ผมคิดว่าถ้าใครได้ลองมาอยู่แล้ว ก็จะหลงรักในมนตร์เสน่ห์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้อย่างแน่นอน เมืองที่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและธรรมชาติอันงดงามที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลทั้งสี่ เมืองที่มีเทศกาลเก่าแก่มากมายตลอดทั้งปี เมืองที่ไม่รีบร้อน เมืองที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เมืองที่มีภาษาสำเนียงเกียวโต ทั้งหมดนี้ทำให้ผมรักเมืองนี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว หนึ่งปีผ่านไปกับชีวิตที่แสนสบายของการเรียนภาษาญี่ปุ่นและการเตรียมตัวสอบเพื่อเข้าเรียนปริญญาโทตามที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าจะเครียดอยู่บ้าง เพราะกว่าจะเข็ญความขยันมาได้แต่ละทีมันช่างยากเย็น แต่ก็ยังมีเวลาว่างอยู่มากถ้าจะเทียบกับชีวิตจากนี้เป็นต้นไป ที่จะมีทั้งเรียน การบ้าน รายงาน การทดลอง ซึ่งจะประดังประเดเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะหนัก แต่ก็ทำให้ชีวิตดูมีคุณค่ามากกว่าเดิมขึ้นมาหลายเท่านัก หลังจากผมสอบผ่านเป็นที่พอใจของอาจารย์เรียบร้อยแล้ว ผมก็บินตรงกลับเมืองไทยเพื่อเติมเชื้อไฟให้เต็ม ตลอดเดือนมีนาคม โปรแกรมเดินทางผมเต็มเหยียด จนมีเวลาอยู่บ้านลาดพร้าวของผมเต็มๆวันแค่ไม่กี่วันเท่าั้นั้น หนึ่งเดือนเต็มกับการท่องไปในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย แพร่ อยุธยา กาญจนบุรี รวมไปถึงเมืองโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย ทั้งหมดนั้นเพียงพอที่ทำให้ผมรู้สึกเริ่มคิดถึงบ้านเกียวโตของผมได้อย่างไม่น่าเื่ชื่อ
ประสบการณ์
เกียวโตปลายเดือนมีนาคมปีนี้ อากาศยังหนาวเย็นอยู่ ทำให้ใบไม้และดอกไม้ที่พร้อมจะผลิบาน ยังคงต้องรอจังหวะและเวลาของมันอีกสักหน่อย ซึ่งนั่นจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าฤดูใบไม้ผลิได้ย่างกรายเข้ามาแล้ว ฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูที่ผมชอบมากที่สุด เนื่องจากความหม่นหมองจากความหนาวเหน็บกำลังจะหมดไป ในขณะที่ความมีชีวิตชีวาต่างๆกำลังจะหมุนกลับมาเยือนอีกครั้ง โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นจากความสวยงามของดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่นอย่างดอกซากุระ ที่จะผลิบานสะพรั่งไปทั่วทั้งเมืองเกียวโต ซึ่งไม่ว่าใครก็อยากจะมาสัมผัสความงามของซากุระที่นี่ ในขณะที่ทุกคนกำลังรอคอยความสวยงามของดอกซากุระที่โลกใบนี้สรรสร้างมาให้คนเกียวโตรวมถึงคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ งานเทศกาลซากุระเล็กๆได้ถูกจัดขึ้นก่อน บริเวณริมแม่น้ำคาโมะ แ่ม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงหัวใจคนเกียวโตให้ชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา ระหว่างสะพานซังโจกับชิโจ ย่านช้อปปิ้งสำคัญของเกียวโต ขณะที่กิ่งก้านซากุระเริ่มเป็นตุ่มๆ เตรียมพร้อมที่จะบานในอีกไม่เกินสัปดาห์ ผมได้รับการชักชวนจากพี่ๆเพื่อนๆคนไทยที่สนิทกันและได้ไปมีส่วนร่วมในงานนี้กับเค้าด้วย ร้านผัดไทยมือสมัครเล่นของเราขายดีไม่ใช่เล่น คุ้มค่าเหนื่อยที่พี่คนหนึ่งอุตส่าห์ลงทุนนำวัตถุดิบอย่างมะขามเปียกมาจากเมืองไทยโดยไม่ต้องพึ่งผงสำเร็จรูปเลย จะเป็นรองก็แค่กะบับ อาหารตุรกีที่แล่เนื้อแกะใส่แป้งเท่านั้น ซึ่งมันกินง่าย และถูกปากจืดๆของคนญี่ปุ่นมากกว่า แม้พวกเราหมู่คนไทยจะลงความเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ค่อยได้รสชาติเท่าไหร่ก็ตาม ส่วนหน้าที่หลักของผม ก็คือเด็กเชียร์แขกตักผัดไทยให้ลูกค้านั่นเอง งานนี้ถึงแม้จะเหนื่อยกันมาก แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว แม้ว่าผมจะไม่คิดมาขายอีกเป็นครั้งที่สองแล้วก็ตาม
หลังจากผ่านเสาร์อาทิตย์แรกของเดือนด้วยการเป็นพ่อค้าขายผัดไทยจำเป็นมาสองสามวัน ชีวิตของผมก็กลับมาเป็นเด็กมหาวิทยาลัยเต็มตัวอีกครั้ง แต่คราวนี้เปลี่ยนสถานะมาเป็นนักศึกษาต่างชาติ ปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เก่าแก่ หนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวเกียวโตเค้าเลยทีเดียว วันแรกของการเข้าเรียน ลงทะเบียนเรียนต่างๆ มันทำให้ผมเองตื่นเต้นไม่ใช่น้อยและรู้สึกว่าตัวเองกลับมาเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ใช่น้องใหม่สดซิง อย่างเด็กปริญญาตรีเฟรชชี่ปีหนึ่งก็ตาม ภาพเด็กญี่ปุ่นกำลังดักหาน้องใหม่มาเข้าร่วมชมรมต่างๆหน้าหอนาฬิกาของเมนแคมปัส ทำให้ผมอดที่จะหวนกลับไปคิดถึงตอนเป็นเฟรชชี่ไม่ได้ เด็กญี่ปุ่นแต่ละชมรม ทุ่มเทกันอย่างหนักเพื่อให้ชมรมของตนเป็นที่น่าสนใจ ชมรมกีฬาต่างขนอุปกรณ์มากันมากมาย ใส่ชุดกันเต็มยศ กีฬาประจำชาติอย่างคาราเต้ เคนโด้ ไอคิโด้ ยูโด และอื่นๆอีกมากมาย ก็เ็ป็นที่สนใจไม่ใช่น้อย คิดแล้วก็น่าน้อยใจแทนกีฬาไทยแท้อย่างมวยไทย ตะกร้อ หรือแม้แต่กระบี่กระบองเอง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะมีเด็กไทยในมหาวิทยาลัยให้ความสนใจอย่างเด็กญี่ปุ่นนี้หรือไม่ ที่ผมยกตัวอย่างชมรมกีฬา ก็เพราะจริงๆผมก็เคยได้เป็นส่วนหนึ่งของชมรมเทนนิสชมรมหนึ่ง เมื่อตอนเป็นนักเีรียนแลกเปลี่ยนในโตเกียวเมื่อประมาณสามปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมได้สัมผัสก็คือ ความมีระเบียบวินัย และเข้าใจในหน้าที่ของตนของคนญี่ปุ่น ที่ยังสามารถปลูกฝังลึกมาถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ นั่นคงเป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่นและความจงรักภักดีในกลุ่มของตน อันเป็นนิสัยที่อาจจะเรียกว่าเป็นสันดานของคนญี่ปุ่นไปแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะมีแหกกฎอยู่บ้างก็ตาม คิดเล่นๆว่าถ้าคนไทยที่ขึ้นชื่อว่าขี้เกียจไม่แพ้ใครในโลก เดินมาพบกันครึ่งทางกับนิสัยของคนญี่ปุ่นในแง่นี้แล้วล่ะก็ คงจะได้มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ดีไม่น้อยทีเดียว หลังจากเปิดเทอมไปได้ไม่กี่วัน เด็กปริญญาโท วิศวะเคมีที่ใช้ชิวิตอยู่ในแล็บเป็นหลักอย่างผม ก็ได้มีโอกาสตื่นเต้นกับคนอื่ืนเหมือนกัน ที่จะได้ต้อนรับน้องใหม่ปีสามที่จะขึ้นปีสี่ปีนี้ มาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของแล็บ ที่ว่าตื่นเต้นนั้นก็คือ ต้องมาลุ้นกันว่าปีนี้จะมีผู้หญิงมาเป็นที่ชื่นใจของแล็บบ้างมั้ย เพราะคณะวิศวะนั้นไม่เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่น ซึ่งต่างจากเมืองไทย ที่มีผู้หญิงสนใจมาเรียนวิศวะกันมากขึ้นทุกปีๆ ปีนี้มีข่าวลือมาบางๆว่าจะมีน้องผู้หญิงมาอยู่แล็บผม ทำให้เพื่อนๆพี่ๆในแล็บรวมทั้งตัวผมเอง ตื่นเต้นเพื่อรอวันที่เด็กปีสี่จะมาเข้าแล็บวันแรก แต่ทุกคนก็ต้องคอตกกันเป็นแถวเพราะมันไม่ได้เป็นไปดังข่าวที่ลือไว้นั่นเอง เมื่อมีน้องใหม่เข้าแล็บ ก็ถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีงานเลี้ยงต้อนรับเด็กใหม่ เป็นโอกาสดีที่ผมจะได้เข้าไปในเมือง ที่เรียกว่าย่านชิโจซังโจ คาวะระมาจิ ไม่มีคนไหนในเกียวโตไม่รู้จักชิโจซังโจ ถ้าไม่นับรวมบริเวณสถานีรถไฟเกียวโตของเจอาร์แล้วล่ะก็ ที่นี่แทบจะเป็นแหล่งช้อปปิ้งแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งเดียวที่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ต่างก็มาจับจ่ายใช้สอย นัดพบเพื่อนฝูง ร้องเพลงคาราโอเกะ เข้าผับดื่มเบียร์ ดูหนังฟังเพลง เอาเป็นว่ามีทุกอย่างตามแบบฉบับที่แหล่งช้อปปิ้งทั่วไปควรจะมีก็แล้วกัน และนี่ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนเกียวโตอย่างผมรักที่จะอยู่ที่เกียวโต โดยไม่ต้องขวนขวายไปหาที่เที่ยวอื่นๆในเมืองใกล้เคียงอย่างมหานครโอซาก้าที่แม้จะใกล้แค่นั่งรถไฟไปแค่ครึ่งชั่วโมงเ่ท่านั้นเอง เว้นสียแต่อยากจะเปิดหูเปิดตา ชมตึกสูงระฟ้า หรืออยากที่จะอัพเดทเทคโนโลยี หรือพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นครั้งคราวเท่าั้นั้น งานเลี้ยงต้อนรับก็ไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าการกินข้าว นั่งพูดคุยกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นหลักน่าจะเป็นเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ต่างๆเสียมากกว่า โดยเฉพาะเบียร์ ที่สั่งมากี่ขวดก็ไม่มีคำว่าพอสักที หลังจากเวลาผ่านไปสองชั่วโมงกว่า ก็เป็นเวลาอันสมควรที่จะล่ำลาอาจารย์ ก่อนพวกเด็กนักเรียนอย่างผมจะไปต่อร้านที่สองที่สาม ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นอย่างที่หลายๆคนรู้กันดี เอาเป็นว่าคืนนั้น ก็มีมึนๆเมาๆกันไปหลายคนทีเดียว คนญี่ปุ่นนั้นมีสำนึกความรับผิดชอบในตัวเองสูงอย่างที่บอกไปแล้ว เรื่องเมาก็เช่นกัน เค้าก็จะเตรียมพร้อมมาก่อนว่าวันนี้จะต้องดื่มเหล้า แทนที่จะขี่มอเตอร์ไซด์หรือขับรถมา ก็จะเปลี่ยนมานั่งรถไฟหรือรถเมล์แทน ส่วนขากลับนั้น ไม่เรียกแท็กซี่กลับก็เที่ยวยันเช้าเพื่อรอรถไฟเที่ยวแรกกลับบ้านกัน โอกาสที่จะเมาแล้วขับแบบไม่ประมาณตนเหมือนคนไทยนั้นมีน้อยมาก วันที่มีงานเลี้ยงนั้น อากาศดีมาก แถมดอกซากุระที่เฝ้ารอคอยมันก็เริ่มบานสวยแล้วด้วย ผมเลยได้โอกาสพาจักรยานคู่ใจจากคัทสึระแคมปัส ซึ่งเป็นแคมปัสใหม่ที่ผมเรียนอยู่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเกียวโต ปั่นเข้าไปในเมืองซะเลย แวะไปเรื่อยๆตามทาง เก็บภาพสวยๆของดอกซากุระสีขาวอมชมพูในบรรยากาศต่างๆกัน ทั้งริมถนน หน้าโรงเรียน เลียบคูคลอง หรือแม้แต่ในเขตเมืองเอง ความสวยงามของเจ้าดอกซากุระนี้ ก็ไม่แปรผันตามธรรมชาติที่หดหายไปเลย โดยเฉพาะที่ถนนเล็กๆที่ชื่อว่า คิยะมาจิ ถนนที่เชื่อมระหว่างถนนชิโจกับซังโจ ต่อไปยังโก๊ะโจ เป็นความสวยงามที่ดูเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ โดยเฉพาะในช่วงยามค่ำคืน ที่มีแสงไฟนีออนสีเหลืองกระทบกับดอกสีขาวอมชมพูไร้ซึ่งสีเขียวของใบไม้ ต้นซากุระตั้งเรียงรายกันเป็นทิวแถวอยู่ข้างลำธารเล็กๆที่มีน้ำไหลตื้นไปอย่างแผ่วเบา บวกกับอากาศที่เย็นสบายๆ มันเป็นความสวยงามที่ต้องมาเห็นด้วยตาของตนเอง เช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเสาร์ และอาจจะเป็นวันสุดท้ายของปีนี้ที่ดอกซากุระจะบานเต็มที่สะพรั่งไปทั่วทั้งเมือง เพราะวันอาทิตย์น้ำฝนจากฟากฟ้าจะพัดพาความสวยงามเหล่านี้ร่วงโรยสู้พื้นดินไปบ้างไม่มากก็น้อย ตามคำพยากรณ์ในอินเตอร์เน็ทที่แม้จะเชื่อถือได้น้อยลงทุกวันแต่ก็ยังพอที่จะทำนายอะไรได้บ้าง ผมและเพื่อนๆพี่ๆคนไทย รวมถึงเพื่อนต่างชาติหลายคน ได้นัดกันไปปิกนิกที่เรียกกันว่า ฮะนะมิ หรือเทศกาลดูดอกไม้นั่นเอง พวกเรานัดเจอกันที่ใต้ต้นซากุระต้นใดก็ได้ที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำคาโมะ บริเวณถนนมารุตะมาจิ ครึ่งทางพอดีจากเมนแคมปัสถึงชิโจซังโจ วันนั้นอากาศช่างเป็นใจให้กับการชมซากุระเหลือเกิน แดดเปรี้ยง อากาศเย็นกำลังดีแบบที่สามารถใส่เสื้อยืดตัวเดียวได้สบายๆ ผมออกจากบ้านเพื่อนที่ผมมาค้างด้วย บริเวณไม่ไกลย่านชิโจซังโจ แวะซื้อข้าวกล่องที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า เบ็นโตะ ที่เพื่่อนผมบอกว่าถูกนักถูกหนาที่หน้าปากซอยบ้านมัน ซึ่งก็ถูกสมคำบอกเล่าจริงๆ ผมเลยซื้อโค้กเย็นๆให้ชื่นใจอีกกระป๋องติดไปด้วย เมื่อปั่นไปถึงจุดนัดหมาย ผมก็เห็นพี่คนนึงนั่งรออยู่ที่ม้านั่ง ใต้ต้นซากุระที่เรียงรายไปสุดลูกหูลูกตา นั่งคุยเล่นสักพักก็มากันครบ เราก็เริ่มรับประทานอาหารที่พี่ๆที่แสนใจดีของเราร่วมทำกันมา แต่ผมซื้อข้าวกล่องมาด้วยเพราะมีพี่เตือนมาว่าถ้าใครรู้ตัวว่าอาจจะไม่อิ่มก็ให้เตรียมมาเองด้วย หลังจากที่อิ่มหมีพีมันกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหล่าบรรดาสิงห์นักปั่นทุกคนก็เริ่มต้นถีบเจ้าสองล้อชมซากุระรอบเมืองเกียวโต เริ่มจากมุ่งหน้าขึ้นเหนือ เลียบแม่น้ำคาโมะขึ้นไปเรื่อยๆ มีหยุดชักภาพเป็นระยะๆ แม้ภาพที่ได้จะซ้ำไปซ้ำมาก็ตาม แต่เพราะทนความงดงามของดอกซากุระที่ถาโถมกันเข้ามาไม่ไหวนั่นเองจุดหมายแรกของเราก็คือ สวนพฤกษศาสตร์เกียวโต(Kyoto Botanical garden)เข้าไปแล้วพูดได้คำเดียวว่าสุดยอดจริงๆ ผู้คนมากมายนั่งใต้ต้นซากุระ ปิกนิกตามแบบฉบับครอบครัวกันอย่างสนุกสนาน นอกจากที่นี่จะมีต้นซากุระหลากหลายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นแบบสีขาวอมชมพูหรือไม่อมชมพู แบบสีชมพูเข้ม แบบกิ่งย้อย และอีกมากมายที่ผมไม่สามารถแยกแยะได้แล้ว ยังมีสวนทิวลิปสีแดงแปร๊ด และอีกหลากสีมากมาด้วย พวกเราเลยใช้เวลาในสวนนี้ไปหลายชั่งโมงทีเดียว หลังจากอิ่มอกอิ่มใจกับดอกไม้นานาพันธุ์ พวกเราก็ปั่นกลับลงมา แล้วมุ่งไปยังวัดต่างๆทางตะวันออกของเมือง ผ่านถนนเส้นต่างๆมากมาย ผ่านศาลเจ้าเฮอัน ไปยังวัดนันเซ็นจิ กว่าจะผ่านแต่ละที่ไปได้นั้น ต้องเสียเวลาถ่ายรูปรายทางจนแบตเตอรี่ของกล้องดิจิตอลค่อยๆหมดไปทีละคนสองคน เมื่อฟ้ามืดลง ท้องก็เริ่มหิว เหล่าสมาชิกเลยตกลงไปแวะพักผ่อนทานอาหารเย็นที่บ้านพี่อีกคนแถวๆย่านกิออน ย่านของหญิงสาวสวยเกอิชานั่นเอง ค่ำคืนนี้เราปิดท้ายด้วยการไปศาลเจ้ายาซากะ ที่มีผู้คนแออัดยัดเยียดไม่แพ้ตอนปีใหม่เลยทีเดียว เพื่อจะเข้าไปชมต้นซากุระพันปีในสวนสาธารณะมารุยาม่า ไลท์อัพได้สวยเกินบรรยายจริงๆ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็สวยไปหมด เสียดายที่กล้องของสมาชิกของเราในวันนี้แทบจะไม่มีแบตเตอรี่เหลืออยู่แล้ว เลยเก็บความประทับใจเอาไว้ในใจให้เต็มอิ่มแทน เวลาผ่านไปจนเกือบสามทุ่ม ผมเลยขอตัวแยกกลับ ผมเลือกที่จะกลับไปตามถนนคิยะมิจิเพื่อชมซากุระอีกครั้ง ก่อนจะใช้เวลาเกือบชั่วโมงถึงบ้านย่านคัทสึระ เดือนสี่หรือเดือนเมษายน เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นหลายๆอย่างในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเปิดภาคเรียน เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใหม่ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีนักเรียนไทยเดินทางมาร่วมเป็นสมาชิกใหม่กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในเกียวโตเช่นกัน งานรับน้องเกียวโตที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะกี่ปีแล้วก็ไม่อาจทราบได้ จนเป็นประเพณีที่นักเรียนไทยในเกียวโตทุกคนร่วมกันจัดขึ้นให้กับคนที่มาใหม่ เพื่อจะได้รู้จักพบปะกับคนไทยในเกียวโต ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประกาศแจกของมรดกตกทอด และยังทำให้คนที่ไม่ได้เจอกันนานๆเพราะต่างคนต่างก็ไปเรียนในที่ต่างๆที่ไกลกันออกไป ได้มาเจอกัน พูดคุยกันอีกด้วย ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะทางนักเรียนไทยในเขตคันไซ ที่ประกอบไปด้วยเมืองโอซาก้าซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ เกียวโต โกเบ นารา ได้ร่วมกันจัดงานรับน้องรวม พร้อมกับงานรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เนื่องในวันสงกรานต์ ซึ่งได้รับความกรุณาจากท่านกงสุลใหญ่เมืองโอซาก้า เปิดบ้านให้จัดงานกัน บ้านท่านกงสุลอยู่ในย่านคนมีกะตังค์ที่เรียกว่า ย่านอาชิยะ อยู่เป็นเขตรอยต่อระหว่างเมืองโกเบกับโอซาก้า งานนี้นอกจากจะได้ปฏิบัติตนเป็นคนไทยที่ดี สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทยแล้ว ยังได้อิ่มอร่อยกับฝีมือกุ๊กชั้นดีของบ้านท่านกงสุล และได้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนไทยในละแวกเมืองใกล้เคียงอีกด้วย แต่งานนี้มีพี่น้องเกียวโตไปร่วมงานไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ต่างรอคอยงานที่เกียวโตเองมากกว่า ถัดจากงานที่บ้านท่านกงสุลอาทิตย์นึง พวกเราก็ได้จัดงานรับน้องเกียวโต ปีนี้พวกพ้องนักเรียนไทยในเกียวโตมากันมากมายกว่าสี่ห้าสิบคน อบอุ่นเหมือนเช่นทุกปี ข้าวปลาอาหารเลยดูน้อยลงไป แต่ก็ยังเอร็ดอร่อยกันเหมือนเดิม ปีนี้มีเมนูเด็ดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวมันไก่ ขนมจีนแกงเหลือง ยำมาม่า หมูน้ำตก ปีกไก่เหล้าแดง น้ำพริกอ่อง ปอเปี๊ยะ เกี๊ยวทอด ยำปลาดุกฟู ช็อกโกแล็ตมูส เป็นต้น ยังคิดอยู่ว่านี่เป็นนักเรียนหรือว่าเจ้าของร้านอาหารกันแน่ แต่ละคนฝีมือไม่แพ้พ่อครัวหัวป่ากันเลยสักคน บทส่งท้าย หลังจากผ่านกิจกรรมต่างๆมากมายในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิอย่างเดือนเมษายน จากนี้ไปก็ถึงเวลาที่จะต้องตั้งใจเรียนหนังสืออย่างเต็มที่ ถึงแม้คลาสที่เรียนจะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ถ้าจะถามว่ายากไหม มันก็ยากมาก แต่มันก็ท้าทายความสามารถอยู่ไม่ใช่น้อย แม้จะหลับบ้าง มึนบ้าง หรือนึกว่าเรียนคันจิอยู่บ้าง แต่ก็เป็นประสบการณ์เรียนหนังสืออีกรูปแบบหนึ่งที่จะต้องขวนขวายด้วยตัวเองให้มากเพื่อที่จะให้ได้ความรู้มา อย่างกับที่ภาษาไทยเค้าบัญญัติคำว่า นักศึกษา ให้กับคนที่เข้าสู้รั้วมหาวิทยาลัย ว่าตัวเองนั้นไม่ใช่นักเรียนที่จะต้องมานั่งฟังคำสอนจากครูเพียงอย่างเดียวเหมือนตอนอยู่ในโรงเรียนอีกต่อไป แม้ว่าผมจะชอบคำว่านักเรียนมากกว่าคำว่านักศึกษาก็ตาม ผมเองถือว่าโชคดีมากที่ได้มาอยู่ในแล็บที่อาจารย์มีวิธีการดูแลลูกศิษย์ไม่เหมือนกับอาจารย์ญี่ปุ่นทั่วไป ไม่มีการกดดัน บรรยากาศในห้องแล็บไม่เคร่งเครียด ไม่ต่างอะไรมากมายกับที่เมืองไทยเท่าไหร่นัก เพื่อนๆในห้องไม่ได้นั่งโต๊ะใครโต๊ะมัน หรือเอาแต่จ้องอ่านหนังสือหรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์สี่เหลี่ยมเพื่อทำงานอยู่ตลอดเวลา ทุกคนพูดคุยกันสนุกสนาน อ่านการ์ตูนบ้าง หยอกล้อเล่นกันบ้าง หลับบ้าง แต่ก็มีอ่านหนังสืออยู่บ้างเหมือนกัน เมื่อไม่มีใครมากดดันแบบนี้ ก็เลยจำเป็นที่จะต้องกดดันตัวเองบ้างเพื่อให้เครื่องจักรได้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยพยายามมีความสุขกับทุกนาทีที่ได้ทำงานไปพร้อมกับความสนุกสนานและประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ชีวิตนักศึกษาภาคสองของผมในเกียวโตเพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น
Create Date : 25 พฤษภาคม 2548 | | |
Last Update : 25 พฤษภาคม 2548 0:44:30 น. |
Counter : 444 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
บก. Kyoto Journal
พบกับบทความรายเดือนของนักศึกษาไทยในเกียวโต บอกเล่าเก้าสิบชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองหลวงเก่าแห่งแดนปลาดิบเร็วๆนี้ เมืองที่คุณจะติดใจไปกับนายฝันเฟื่องแน่นอนครับ
Create Date : 20 พฤษภาคม 2548 | | |
Last Update : 20 พฤษภาคม 2548 23:14:01 น. |
Counter : 291 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|