2018-04-20 วันฝนพรำใน Pahalgam และหิมะที่ไม่คาดคิด
สถานที่ท่องเที่ยว : Pahalgam, India
พิกัด GPS : 34° 0' 53.10"N 75° 19' 3.49"E



*** กระทู้รีวิวหลักพันทิปตามลิงค์นี้https://pantip.com/topic/37616855 รีวิวแคชเมียร์ คู่มือวางแผน ฉบับพร้อมเดินทาง ***

ตื่นมาพร้อมกับฝน
.
.
.
ฝนตกตั้งแต่เช้าและเริ่มซาตามพยากรณ์ช่วงเจ็ดโมง อากาศจึงอนุญาตให้ออกไปวิ่งได้ราวๆหนึ่งชั่วโมง เหนื่อยน้อยกว่าที่ Gulmarg อาจเป็นเพราะทางราบมากกว่าและความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 



เส้นทางวิ่งผ่านหลายสะพาน สวนสาธารณะหลายสวน รวมถึงสวนที่ไม่เปิดให้เข้าและต้องปีนรั้วเข้าไป บรรยากาศช่วงเช้านี้หนาวเย็น มีหมอกหนา วิ่งเลียบแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว พอจะมองเห็นภูเขาต่างๆได้เล็กน้อย แม้จะสวยงาม แต่ก็ยังต่างจากภาพในใจ และยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาไกลถึง Pahalgam



กลับมาถึงโรงแรมแล้วก็กินข้าวเช้าที่ราวๆแปดโมงครึ่ง เช่นเคยว่าอาหารเช้าอินเดียนั้นค่อนข้างจะเบามากเมื่อเทียบกับอาหารเย็น ส่วนมากมักจะเน้นเมนูไข่

เช้านี้ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านอนพักผ่อนดูทีวีในห้อง... แน่นอนว่า wifi ยังไม่ทำงาน :'(



สายแล้วแต่ฝนยังคงตกต่อเนื่องแอมก็โทรทางไกลทำงานไปพลาง จนเกือบเที่ยงก็ออกไปหามื้อเที่ยงที่ร้านอาหารบนถนนใหญ่ ระหว่างทานก็คุยกันถึงโอกาสที่จะได้เที่ยวในช่วงบ่าย


.
.
.
แม้ว่าพยากรณ์จะบอกว่าวันพรุ่งนี้อากาศแจ่มใสแต่เราไม่อยากเสี่ยงวัดดวง ไม่อยากออกเช้าเกินไปเพราะนั่งรถเที่ยวต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง แปลว่าต้องออก โมงเช้าเพื่อให้กลับมาทัน 11 โมงเผื่อกินข้าวเที่ยง และต้องอดมื้อเช้าด้วย พวกเราจึงควักแผนสอง นั่นคือพิจารณาจากค่าเช่ารถมาตรฐานแล้วก็ไม่แพงที่จะไปเที่ยววันนี้แล้วไปซ้ำอีกวันพรุ่งนี้ ตัดสินใจไม่ยาก เดินไปที่เช่ารถที่อยู่ห่างจากโรงแรมไปสัก 10 นาที เลือกรถขนาด Eco ก็เหลือเฟือสำหรับ 4-6 คนแล้ว 





เราเลือกแพคเกจด้วยความใจง่าย คือไปหมดทุกที่ทั้ง Aru Valley, Betaab Wadi และ Chandanwari แม้ว่าจะไม่รู้จักว่าที่ไหนสวยอย่างไร (เพราะ wifi เสีย ซึ่งถือว่าโชคดีเพราะใน google ไม่สวยเท่าของจริงซักรูป มันคนละบรรยากาศและคนละฤดู) สนนราคา 1600 รูปี การต่อราคาไม่เป็นผลเพราะเป็นราคามาตรฐาน

ออกรถแล้วคนขับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยแวะบ้านตัวเองสลับคนขับให้นาย Gulzar (ID 9005) มาขับแทน หนุ่มแคชเมียร์เสียงแหบดังนายนี้พูดคล่องและมืออาชีพมาก มีพลัง มีอารมณ์ขัน แค่นั่งฟังเค้าพูดไปเรื่อยๆก็สนุกแล้ว

เส้นทางขึ้นเขาคดเคี้ยว ขวามือเป็นผาหิน ซ้ายมือเป็นไหล่เขา มองลงไปเป็นป่าสน เบื้องหน้าคือเทือกเขาใหญ่ จุดสวยมีมากมายตามแต่จะสรรหา



จุดแรก Aru Valley เป็นจุดชมวิวภูเขาหิมะและแม่น้ำ โชคดีขนาดไหนที่ฟ้าเปิดเล็กๆน้อยๆให้เราได้พอชมความงามอยู่บ้าง ก่อนที่ฝนจะตกหนักขึ้นมากจนเราไม่สามารถลงเดินในหมู่บ้าน Aru ได้





มี Mobile Heater ไว้คอยบริการและเป็นพร๊อพถ่ายรูปด้วย ช่วยให้อุ่นมือขึ้นเยอะ





Gulzar ก็ช่างสรรหามุมและโพส







ขากลับจาก Aru Valley ย้อนไปจุดที่สองยังมีต้นไม้ล้มทับทาง รถที่สวนมายังถอยหลังกลับ แต่ด้วยความมืออาชีพของ Gulzar ที่ลงไปดันขอนไม้ด้วยตัวเองเอง เราจึงเดินทางออกจากหุบเขาได้ (ที่น่าตลกคือเมียเค้าโทรมาบอกอีก 20 นาทีถัดมาว่าให้กลับบ้านอย่าไป Aru เพราะทางปิดจากฝนตกหนักแล้ว)



อย่างที่ว่า ระหว่างทางก็มีจุดให้หยุดรถถ่ายรูปได้ไปทั่ว










และคนขับรถมาดคมเข้มของเรา...




จุดที่สอง Betaab Valley เราข้ามจุดนี้ไปก่อนทั้งๆที่อากาศยังพอได้อยู่เพราะ Gulzar บอกว่าตอนนี้ฝนตก ดังนั้นบน Chandanwari จะมีหิมะ เราเลยรี่ไปหวังจะได้เจอหิมะตกกับเขาบ้าง (ทางผ่านเด๋วกลับมาผ่านใหม่)

กว่ายี่สิบนาทีจาก Betaab Valley ผ่านถนนคดเคี้ยวและฝนที่ค่อยๆตกมากขึ้น จากบรรยากาศของสายหมอกและทุ่งหญ้า ภาพที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าก็ทำให้ประหลาดใจไม่น้อย เมื่อค้นพบว่าพวกเรากำลังขับรถผ่านธารน้ำแข็งและเข้าสู่ระดับชั้นหิมะ 



จากธารน้ำแข็งเล็กๆหนึ่งเส้นซึ่งเป็นทางหิมะละลาย เริ่มกลายเป็นแก่งขนาดใหญ่ขึ้นและมีหิมะมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้หมอกหนาทึบ บรรยากาศรอบตัวจึงดูหนาวเย็นไม่น้อยไปกว่าความหนาวจริงๆที่อยู่นอกรถนั่นเลย


.
.
.

.
.
.






ใจนึงก็อยากจะลงรถไปถ่ายรูปเหลือเกิน อีกใจก็หนาว และรอลุ้นกับปลายทาง








แล้วก็มาถึงจุดที่สาม คือหมู่บ้าน Chandanwari 
นึกขึ้นมาได้ว่าระหว่างทางขึ้นมาที่หมู่บ้านนี้ Gulzar ได้พูดถึงพิธีอัมนาตยาตรา (Amarnath Yatra) ซึ่งเป็นพิธีที่ชาวมุสลิมจะเดินทางจากหมู่บ้านนี้อันเป็นจุดสิ้นสุดของถนนที่รถยนต์เข้าถึงได้ เดินเท้าเข้าไปที่ถ้ำขนาดใหญ่ ...หรือเส้นทางที่อยู่ตรงหน้านั่นคือเส้นทางเดินเท้าต่อเข้าไปนะ?

สิ่งที่ตกลงมาขณะนั้นมันไม่ใช่หิมะปุยๆหากแต่เป็นเกร็ดน้ำแข็งที่พร้อมจะละลายเป็นฝนเมื่อสัมผัสกับความร้อนบนร่างกายเรา ช่างหนาวเหลือเกิน เนื่องจากทางเข้ามีคนเดินผ่านไปมามากจนเป็นโคลนดิน และไม่รู้จะเข้าไปลึกแค่ไหน ชุนและแอมจึงเดินเข้าไปสำรวจก่อนโดยให้ป๊าม๊ารอบนรถ แต่โคลนเจ้าปัญหารวมถึงฝนที่ตกพอสมควรทำให้เดินได้ยาก แอมจึงกลับไปรอ ชุนเดินต่อได้สักพักยังไม่ทันได้เห็นปลายทางแต่อย่างใดก็ถูกชาวบ้านเรียกให้กลับเพราะสภาพอากาศไม่ดี สิ่งที่อยู่ภายใน Chandanwari จึงยังคงเป็นปริศนาสำหรับพวกเราต่อไป






ก่อนจะถูกเรียกให้ออกมา ขอสักภาพกับพื้นที่ปริศนานี้




โชคยังดีที่ได้แวะถ่ายรูปหน้าหมู่บ้านที่มีหิมะขาวโพลนถึงแม้จะแฉะจากฝนไปบ้าง บรรยากาศที่นี่แตกต่างจากภูเขาหิมะที่ไปมา เหมือนทั้งโลกเหลือเพียงแค่สีขาวและดำเท่านั้น 



ความลึกของช่องเขาที่มีหิมะปกคลุมทำให้นึกถึงหมู่บ้านคริสมาสต์น่ารักๆอย่างบอกไม่ถูก





พื้นจะแฉะนิดนึง ...รองเท้าเปียกน่ะหรือ? เรียกว่าชุ่มฉ่ำเลยดีกว่า...



ฝนยังตกอยู่ เปลี่ยนแอ๊คแล้วถ่ายกันไวๆ







โดดไหวแค่รอบเดียวเท่านั้นล่ะ...



อีกฟากหนึ่งของลานกว้างนี้ยังมีเวิ้งเล็กๆที่มองเห็นหมู่บ้าน Chandanwari เล็กๆน่ารักๆอยู่ด้วย แม้ฝนตกแอมและชุนก็ไม่ย่อท้อที่จะเดินลุยออกไปเก็บภาพโดยมี Gulzar ตามไปถ่ายให้ ส่วนป๊าม๊าหลบหนาวบนรถก่อน



หัวเปียกเป็นลูกหมีเชียว







ฮีตเตอร์มือถือนี่ก็ช่วยได้มากนะ...





มุมก็จะกว้างๆประมาณนี้...





ขากลับเราก็ไม่ได้แวะ Betaab Wadi อยู่ดีเพราะหมอกเยอะและหนาว ชมจากบนรถก่อนนะ แม้หมอกจะมากแต่ก็ยังมองเห็นธารน้ำแข็งหลายเส้นชัดเจน



.
.
.

นอกจากนี้ Gulzar ยังเชิญให้พวกเราไปดื่มชาที่บ้านในตัวเมือง Pahalgam ที่เต็มไปด้วยหม้อและภาชนะเงินสำหรับตกแต่ง พวกเราไปเจอพี่น้องและลูกๆของหนุ่มแคชเมียร์ผู้นี้ เขาชงชาแคชเมียรี่ให้ดื่มแกล้มกับถั่ววอลนัทสดๆที่ปลูกในบ้านเขาเอง แอมชอบมากที่ได้มาดูวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นจริงๆ บอกตรงๆว่าตอนแรกก็อดคิดไม่ได้ว่าเขาจะขายถั่วหรือเปล่า...แต่พวกเราคิดผิด นั่นคือมิตรภาพของเขาจริงๆ 




ตามประเภณีจีน ป๊าได้เตรียมอั่งเปาเล็กๆน้อยๆไว้ให้กับเด็กๆด้วย

บ้านของเขาอยู่ห่างจากโรงแรมเราไม่ถึงสิบนาที หลังแวะส่งกันที่โรงแรมโชเฟอร์อารมณ์ดียังฝากวอลนัทแบบยังไม่แกะเปลือกมาให้อีกกำมือนึงแทนมิตรภาพของพวกเราในวันนี้... ขอบคุณ Smiley

.
.
.

ต่างจากเมื่อคืน ค่ำนี้ห้องอาหารแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาร่วมฤดูฝนใน Pahalgam อาจเพราะวันนี้เป็นวันศุกร์ หลายครอบครัวคงจะมาเที่ยวพักผ่อนเสาร์อาทิตย์กันสินะ



ฮีตเตอร์สำหรับคนมากขนาดนี้ก็ต้องใหญ่เป็นพิเศษ รุ่นหัวเตาแก๊ส



แม้อาหารจะมีมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มจะชาชินกับอาหารอินเดียแล้วเหมือนกัน แต่เอ๊ะ ก็เติมสองรอบเหมือนเดิมนี่นา???



.
.
.

"Come as tourists, go as friends" 
"Are you happy? If you are happy, I'm happy"
"No problem"

สามคำนี้ช่างสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของคนแคชเมียร์อย่างแท้จริง



Create Date : 13 พฤษภาคม 2561
Last Update : 15 พฤษภาคม 2561 21:30:26 น.
Counter : 2354 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Littleitim
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



พฤษภาคม 2561

 
 
1
2
7
9
10
11
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31