Group Blog
 
All blogs
 

Triple Tea Chiffon Cake


สำหรับคนที่รักการดื่มชา และนิยมในกลิ่นหอมของชา เค้กนี้เหมาะมากครับ เพราะให้กลิ่นรส และสีสันที่สะดุดตา ของชาทั้งสามชนิด ที่ต่างที่มา แต่มารวมกันได้อย่างลงตัว

สูตรนะครับ
แป้งเค้ก 90 กรัม
น้ำตาลป่น 70 กรัม
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
ผงฟู 2 ช้อนชา
วนิลาผง 1 1/2 ช้อนชา

ส่วนชาเขียว
น้ำมันพืช 40 กรัม
ไข่แดง 1 ฟอง (ไข่ใช้เบอร์ 2 ทุกฟองนะครับ)
นมสด 30 กรัม
ผงชาเขียวมัชฉะ 2 ช้อนชา

ส่วนชาไทย
น้ำมันพืช 30 กรัม
ไข่แดง 1 ฟอง
ชาไทยใส่นมพร้อมดื่ม 40 กรัม

ส่วนชาเอิร์ลเกรย์
น้ำมันพืช 30 กรัม
ไข่แดง 1 ฟอง
นมสด 40 กรัม
ชาเอิร์ล เกรย์ 1 ซองชา

ไข่ขาว 3 ฟอง
ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลป่น 60 กรัม


สูตรค่อนข้างซับซ้อนหน่อยนะครับ ผมแยกการผสมไว้ ลองรวมเอาเองนะครับ ว่าต้องใช้อะไรจริงๆ เท่าไร

ก่อนอื่นก็ร่อนแป้ง น้ำตาลป่น ผงฟู วนิลาผง เข้ากันก่อน เกลือป่นจะร่อนไม่ผ่าน ก็ให้ผสมลงไปคลุกเคล้าทีหลังก็ได้ครับ ส่วนวนิลา ถ้าใครใช้แบบน้ำ ให้แบ่งใส่กับ ส่วนผสมเหลว ส่วนละ 1/2 ช้อนชาครับ (มี 3 ส่วน)


นำส่วนผสมชา ต่างๆ รวมกันไว้ในชาม อันนี้ผมใส่ถ้วย ซึ่งเล็กไป ควรจะใช้ชามผสมจะดีกว่านะครับ เราต้องผสมแยกเป็นถ้วยๆไว้ให้พร้อม เพราะเวลาทำจริง ต้องทำเร็ว ช้าแล้วฟองไข่จะยุบนะครับ
สำหรับชาเอิร์ลเกรย์ ซึ่งอยู่ในซองชา ให้นำนมสดไปอุ่นให้ร้อน แล้วนำชาไปเขย่าๆ ในน้ำนม ให้สีชาออกมาเยอะๆ แล้วพักไว้ให้เย็น ก่อนนำมาผสมนะครับ ส่วนผงชา ไม่ต้องใส่ลงไปด้วยนะครับ เพราะเราจะเอาแต่สีออกเหลืองของเค้ามาใช้


นำส่วนผสมแป้งมาแยกใส่เป็นสามส่วนเท่าๆกันครับ


แล้วก็ใช้ตะกร้อมือ กวนเร็วๆ ไม่ต้องมาก กวนเข้ากันแล้วหยุดกวนเลยนะครับ อันนี้เป็นส่วนของชาเขียว


ส่วนของชาไทยครับ


และสุดท้าย ส่วนของ เอิร์ลเกรย์


นำไข่ขาวใส่ในเครื่องตีเลยครับ ตีให้เริ่มเป็นฟองเล็กน้อย


แล้วใส่ครีมออฟทาร์ทาร์ลงไปครับ


ตีต่อไปอีกสักพักให้เริ่มตั้งยอดอ่อนๆ แล้วใส่น้ำตาลลงไปครับ ค่อยๆใส่จะตีง่ายกว่า สำหรับการตั้งยอดอ่อนนั้น สามารถทดสอบได้โดยยกตะกร้อตีขึ้น เนื้อของส่วนผสมจะยกขึ้นมาตามตะกร้อ แต่ไม่สูง และยอดม้วนลงเพราะยังไม่เป็นฟองที่แข็งแรงพอ


ตีต่อไปอีกสักพักจนเริ่มตั้งยอดแข็ง วิธีทดสอบก็แบบเดียวกับการตั้งยอดอ่อน แต่กรณีนี้ เราจะเห็นว่าฟองไข่จะอยู่ตัว ปลายยอดจะแหลมสูง ตามการยกขึ้นของตะกร้อ และไม่ม้วนลง ถ้าเริ่มเป็นเช่นนี้ก็ให้หยุดตีได้ การตีไข่มากไปจะทำให้ได้เค้กเนื้อกระด้างครับ ช่วงเวลานี้ให้ทำการวอร์มเตารอไว้ได้เลยครับ ใช้ไฟ 180 องศาเซลเซียส ไฟล่างอย่างเดียว


แบ่งส่วนผสมไข่ขาว เป็นสามส่วนเท่าๆกัน แล้วนำไปโฟลด์รวมกับส่วนผสมไข่แดงที่เราเตรียมไว้ตอนแรก โฟลด์ คือการตะล่อมผสมส่วนผสมอย่างเบามือ ด้วยการโอบส่วนผสมด้วยทัพพีหรือพายยาง ให้หมุนเข้าหากันอย่างช้าๆ ต้องทำอย่างเบามือเพราะเค้กชิฟฟอน ขึ้นฟู นุ่มเบาได้ด้วยฟองไข่ขาว ผสมเสร็จแล้วจะได้ดังภาพครับ เตรียมพิมพ์เค้ก โดยกรุด้วยกระดาษไขด้านล่างอย่างเดียว ไม่ต้องทาไขมันครับ


ตักส่วนผสมชาแต่ละชนิดด้วยช้อนเล็กๆ ยิ่งตักได้เล็ก ลวดลายของเค้กก็จะยิ่งน่ารักและดูน่าสนใจยิ่งขึ้น พยายามให้แต่ละสีแยกกันไม่ชนกัน


ใส่ให้ได้ประมาณครึ่งพิมพ์ 2 ปอนด์ สูตรนี้จะมีเค้กเหลือพอจะใส่พิมพ์ 1 ปอนด์ได้อีกนิดหน่อย (ราวๆ 1/3) ระยะเวลาการอบประมาณ 30 นาที หรือเช็คสุกด้วยการแตะหน้าขนม ถ้านุ่มหยุ่นเหมือนฟองน้ำ กดแล้วเด้งกลับ ไม่บุ๋มเป็นรอย แสดงว่าสุกแล้ว สังเกตจากเสียงเค้กก็ได้ จะได้ยินเสียง แฟ่บๆ น้อยลง นำออกจากเตา เคาะพิมพ์แรงๆ เพื่อปรับความดันเค้ก แล้วทิ้งให้เย็นในพิมพ์ นำมาแต่งหน้าด้วย วิปครีมที่ตีจนฟู (ใส่น้ำตาลป่นลงไปนิดหน่อยตามชอบ) โรยด้วยช็อคโกแล็ตขูด แช่เย็นไว้สักพัก เวลากินช็อคโกแล็ตขูดจะให้ความกรอบหอม วิปครีมจะช่วยเพิ่มความหอมมัน (ซึ่งชิฟฟอนไม่มี) และเนื้อเค้กจะฟูเบานุ่มนวล หอมกลิ่นชา สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน โดยที่เค้กยังนุ่มอยู่ครับ

ก็ขอให้สนุก มีความสุขในการทำขนม และอิ่มอร่อยในการรับประทานนะครับ




 

Create Date : 25 มีนาคม 2549    
Last Update : 25 มีนาคม 2549 10:12:17 น.
Counter : 23318 Pageviews.  

Plain Frozen Butter Cake



ถ้าใครมาถามผมว่า อยากทำเบเกอรี่ จะเริ่มจากอะไรดี ผมก็ต้องตอบไปว่า "ต้องเริ่มด้วยบัตเตอร์เค้กสิ" ถ้าใครอบบัตเตอร์เค้กพอกินได้ แสดงว่าพลังแห่งขนมอบกำลังเป็นของเค้า may the cake be with you.

มาดูสูตรกันเลยครับ สูตรนี้จะได้เค้ก 2 ปอนด์นะครับ

เนยสด (เค็ม) 150 กรัม
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทรายป่น 170 กรัม
ไข่ไก่ 3 ฟอง (เบอร์ 2)
แป้งเค้ก 170 กรัม
ผงฟู 2 ช้อนชา
วนิลา 2 ช้อนชา
นมสด(จืด) 100 กรัม

ก่อนอื่น ก็ร่อนแป้ง ผงฟู และวนิลาผง (ถ้าใช้วนิลาน้ำ ให้นำไปผสมกับส่วนของไข่ไก่นะครับ) เข้ากัน ร่อนแล้ว ก็นำส่วนที่ร่อนแล้วมาร่อนอีกครั้ง (ส่วนใหญ่ผมจะทำ 3 รอบ) เพื่อให้ผงฟูกระจายตัวเข้ากับแป้ง เพื่อลดการเกิดฟองในเค้ก แล้วพักไว้ก่อนนะครับ


ทีนี้ก็นำเกลือป่น กับเนยเย็นๆ มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่โถไว้เลยครับ


แล้วก็ตีเนยด้วยความเร็วต่ำ ไล่ไปเรื่อยๆ ถึงความเร็วสูง (ถ้าตีเร็วเลย เครื่องอาจจะรับโหลดมากไป) ตีเนยจนเนียนดังภาพ ห้ามตีจนเหลวนะ ให้เนยเนียนแต่ยังเย็นอยู่ แตะข้างโถตีดูก็ได้ จะเย็นๆ สังเกตดูจากภาพจะเห็นว่า เนยยังเป็นก้อนเพราะความเย็นอยู่ แต่เนียนพอจะตีเข้ากับน้ำตาลได้แล้ว


เสร็จแล้ว ก็ค่อยๆใส่น้ำตาลป่นลงไป น้ำตาลป่นนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า granulated sugar นะครับ ไม่ใช่ powdered sugar ที่หมายถึงน้ำตาลไอซิ่ง (Icing) นะครับ คนละตัวกันนะ ช่วงนี้ก็ยังตีด้วยความเร็วสูงอยู่ ใส่น้ำตาลป่นไปเรื่อยๆ ตีไปเรื่อยๆ



เมื่อผสมน้ำตาลหมดแล้ว จะได้ครีมฟูเบาดังภาพ ถ้ายังไม่ได้ ก็ตีต่อไปอีกหน่อยครับ



แล้วก็เริ่มใส่ไข่ลงไป ผมใช้เทคนิคการตีไข่เหมือนตีไข่เจียวก่อนครับ แล้วค่อยๆเทลงไปเป็นสายเล็กๆ ทีละนิด ทีละนิด เพื่อให้ได้เนื้อเค้กเนียน เทลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่เปิดเครื่องตีด้วยความเร็วสูงเช่นเดิม


ค่อยๆผสมไข่ลงไปจนหมด จะได้ส่วนผสมเนียนอย่างนี้ครับ ถ้าได้แบบในภาพ เตรียมเฮได้เลยครับ เพราะมีลุ้นว่าเค้กจะสำเร็จ และกินได้ ช่วงนี้ให้วอร์มเตาอบไว้ได้เลย โดยใช้อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส


แล้วก็นำส่วนผสมแป้งที่พักไว้ ใส่ลงไป โดยแบ่งใส่ 3 รอบครับ อย่าใส่พรวดเดียวหมดนะ เค้กจะเหนียว


แล้วกวนด้วยตะกร้อมือหรือตะล่อมด้วยพายยาง ค่อยๆทำอย่างเบามือ จนไม่เห็นเม็ดแป้ง อย่างในภาพ


แล้วจึงใส่นมสดลงไป เช่นเดียวกับแป้ง คือแบ่งใส่นมสด ให้ได้ 3 รอบ ไม่เทพรวดเดียวหมด


กวนให้นมสดเข้ากันกับส่วนผสม แล้วจึงค่อยเติมแป้งลงไป ทำซ้ำสลับกันไปเรื่อยๆ แป้ง นม แป้ง นม แป้ง นม จนหมดแป้งและนมสด จะได้ส่วนผสมพร้อมอบเช่นนี้


เตรียมถาดฟอยล์ โดยไม่ต้องทาไขมันหรือกรุกระดาษไข แต่หากใช้พิมพ์เค้ก (ซึ่งจะหนาและแข็งกว่าถาดฟอยล์) ให้ทาเนยขาวไว้ด้านในพิมพ์ แล้วกรุกระดาษไขด้านใน ทั้งด้านล่างและด้านข้างของพิมพ์


เทส่วนผสมลงไปราวๆ 2 ใน 3 ของพิมพ์


แล้วอบไฟล่างเป็นเวลาราวๆ 50-55 นาที ขึ้นอยู่กับเตาอบ หากมีไฟบนก็สามารถเปิดใช้ ไฟบนไฟล่าง ในช่วง 10 นาทีสุดท้าย เพื่อทำให้หน้าขนมมีสีสวยได้ หากไม่ชำนาญในการใช้เตาอบ ให้ทำการเช็คสุกเมื่ออบไปแล้วราวๆ 40 นาที (หากยังไม่สุก ทำการเช็คสุกซ้ำอีกทุกๆ 5 นาที) โดยใช้ไม้จิ้มฟัน แทงลงตรงศูนย์กลางของเค้ก แล้วยกขึ้นมาดู ถ้าไม่มีเค้กเหลวๆติดออกมา ก็แสดงว่าสุกแล้ว นำออกจากเตาได้เลย


เค้กที่ได้จะมีเนื้อที่ละเอียดมาก หากการผสมส่วนของไข่ไก่ ได้ส่วนผสมที่มีความเนียนละเอียด ไม่มีการแยกตัวของไขมันกับน้ำ


เมื่อเค้กเย็นแล้วให้ปิดฝาแล้วหุ้มขอบฝาด้วยริมฟอยล์ที่เหลือให้แน่น หรือในกรณีที่ไม่มีฝาถาดฟอยล์ หรือใช้พิมพ์เค้ก ให้หุ้มเค้กทั้งถาดหรือทั้งก้อน ด้วยwrap ห่ออาหาร หรือจะใช้ฟอยล์ห่ออาหารก็ได้ หุ้มให้สนิท ไม่ให้มีช่องให้อากาศหรือน้ำเข้าได้ แล้วนำไปแช่ตู้เย็นช่องฟรีส หรือช่องธรรมดา อย่างต่ำ 6 ชั่วโมง หากต้องการเค้กที่รสชาติดี ให้แช่ช่องธรรมดาไว้ 2 อาทิตย์ แล้วนำมาตัดทั้งเย็นๆ (เพื่อให้ตัดได้เรียบสวย ตัดเป็นชิ้นหนาราว 1 ซม. กินทั้งเย็นๆ กับน้ำชา กาแฟ นมสดร้อนๆ อร่อยมากครับ




 

Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2549 16:39:03 น.
Counter : 498632 Pageviews.  

Fresh StrawBerry de Chocolate Butter Cake



ตอนนี้ยังไม่มีเวลาลงสูตรนะครับ ชมภาพขนมไปก่อนนะครับ เดี๋ยวว่างๆ ก่อนนะ จะทำให้งามเลยครับ




 

Create Date : 26 มกราคม 2549    
Last Update : 27 มกราคม 2549 14:31:31 น.
Counter : 15320 Pageviews.  

Choux Creme



ตอนนี้ยังไม่มีเวลาลงสูตรนะครับ ชมภาพขนมไปก่อนนะครับ เดี๋ยวว่างๆ ก่อนนะ จะทำให้งามเลยครับ




 

Create Date : 26 มกราคม 2549    
Last Update : 27 มกราคม 2549 14:32:13 น.
Counter : 16663 Pageviews.  

Macadamia Browny



ขนมชนิดแรกในชีวิตผม ที่มีคนพลาดท่าหลวมตัวมาซื้อกิน เมื่อกว่า 5 ปีที่แล้ว และยังคงได้รับความนิยม มาจนถึงปัจจุบันได้ ก็คือ “บราวนี่” สูตรนี้ ซึ่งกว่าจะมาเป็นสูตรง่ายๆแบบนี้ ได้ผ่านการทดลอง ปรับปรุงมามากมาย

บราวนี่สูตรนี้จริงแล้วเป็นสูตรบราวนี่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ครับ เป็นขนมที่ทำได้ง่ายๆ เหมาะสำหรับการทำกินเล่นในครอบครัว ทำกินกันในงานเลี้ยง ที่มีเวลาเตรียมการน้อย หรือผู้ที่เริ่มต้นทำขนมอบ ด้วยวัตถุดิบราคาไม่แพง แต่ให้รสชาติและความอร่อย ที่แม้แต่ผมเองก็ยังอดใจที่จะกินไม่ได้สักที

มาดูสูตรกันนะครับ
น้ำตาลทรายแดง 180 กรัม
แป้งเค้ก 90 กรัม
ผงโกโก้ 25 กรัม
ผงฟู 1 1/2 ช้อนชา
วนิลาผง 2 1/4 ช้อนชา
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
เนยสด(เค็ม) 90 กรัม
ไข่ไก่ 80 กรัม (เบอร์ 2 ราวๆ 1 1/2 ฟอง)
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 85 กรัม (สำหรับผสมในเนื้อขนม) และ 25 กรัม (สำหรับโรยหน้า)
สำหรับสูตรนี้ สามารถใช้ถั่วชนิดอื่นที่มีรสชาติจืดๆ มันๆ แทนเม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้หมดครับ อย่างภาพเปิดเป็น แม็คคาเดเมียนัท ถ้าเป็นถั่วที่คั่วเกลือให้ลดเกลือในสูตรลงเล็กน้อย ราวๆ 1/8 ช้อนชา หรือน้อยกว่า

เริ่มจากการใส่ส่วนผสมแห้งทั้งหมด รวมกัน ในชาม จริงๆสามารถใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์(ส่วนสำหรับผสมในเนื้อขนม) ในขั้นตอนนี้ได้เลย จะเร็วกว่า แต่คราวนี้ผมแยกใส่เพื่อให้เห็นเนื้อส่วนผสม และทำสองถาด ทั้งแบบแม็คคาเดเมียและเม็ดมะม่วง จึงใส่ทีหลัง


แล้วคลุกเคล้าให้ส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันให้หมด ไล่บี้เม็ดน้ำตาลทรายแดง เม็ดแป้ง หรือ เม็ดโกโก้ให้หมด จะใช้วิธีการร่อนก็ได้ โดยร่อนแล้วคว่ำ กระชอนลง เพราะส่วนผสมบางอย่างใหญ่กว่ากระชอน การร่อนจึงทำเพื่อให้ส่วนผสมที่เป็นเม็ดแตกตัวเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ไม่ได้ร่อน ใช้วิธีไล่บี้ส่วนผสมที่เป็นเม็ดด้วยทัพพีแทน


ใส่ส่วนผสมเหลวลงไป นั่นคือเนย และไข่ไก่ หากใช้วนิลาแบบน้ำก็ให้ใส่ไปในขั้นตอนนี้แทน เนยที่ใช้ควรนำออกจากตู้เย็นแล้วตัดเป็นชิ้นเล็กๆใส่ลงไปเลย เนยเย็นๆจะทำให้ขนมหนุบ และมีกลิ่นหอมกว่า ช่วงนี้ให้เปิดเตาอบไว้ ใช้ไฟ 180 องศาเซลเซียส


คลุกเคล้าและกวนส่วนผสมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวด้วยพายยางแข็งๆ หรือทัพพี เนื้อขนมจะหนืดมาก วิธีการกวน ให้ทำการไล่บี้เนยที่เป็นก้อนๆ ให้หมด แล้วกวนต่ออีกเล็กน้อย ให้เข้ากัน ไม่ควรกวนนาน เพราะเนยจะเสียความเย็น หากอากาศร้อนหรือจำเป็นต้องกวนนาน ให้นำส่วนผสมไปพักในตู้เย็น ไว้ราวๆ 10 นาทีก่อนอบ


ใส่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ หรือถั่วอื่นๆ ที่ต้องการ ลงไป (หากใส่ในตอนแรกแล้ว ขั้นตอนนี้ก็ให้ข้ามไป) แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ถั่วที่ใช้ควรจะสุกแล้วนะครับ โดยการคั่ว ทอด หรืออบก็ได้ (ผมใช้แบบอบ)


นำไปเกลี่ยลงในถาดฟอยล์ ให้ความหนาอยู่ราวๆ 1.5 ซม. แล้วโรยหน้าด้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ จะได้ขนมราวๆ 2 ถาดกลม ขนาด 7 นิ้ว


นำไปอบ ใช้ระยะเวลาราว 30 นาที ไฟล่างอย่างเดียว หากมีเตาอบไฟบน ให้เปิดไฟบนช่วง 5 นาทีสุดท้าย ก็ได้ครับ เทคนิคอยู่ที่การเช็คสุก คือต้องใช้มือสัมผัสหน้าขนม หากขนมสุก จะให้ความรู้สึกนุ่มมือนิดๆ และรู้สึกได้ถึงความแน่นของเนื้อขนม เนื่องจากโครงสร้างแป้งอยู่ตัวแล้ว แต่หากยังไม่สุก จะฟ่ามคือรู้สึกเหมือนยังมีส่วนที่เหลวๆ อยู่ด้านใน
การเช็คสุกสำคัญมาก เพราะหากขนมสุกเกินไปจะทำให้ได้ขนมที่แข็ง กรอบ หากยังดิบเกินไป จะได้ขนมที่หวาน นิ่ม เยิ้ม แต่หากอบได้พอดี จะได้ขนมที่หนุบหนับ หน้ากรอบเล็กน้อย เนื้อแน่น และรสชาติพอดี
หากแตะหน้าขนมเมื่ออบครบ 30 นาทีแล้ว ยังไม่สุก ให้อบต่ออีก 2 นาทีแล้วแตะหน้าขนมใหม่ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสุก แต่หากแตะหน้าขนมแล้วรู้สึกว่าแข็ง ให้รีบนำออกจากเตา เป่าด้วยพัดลม ให้คลายความร้อน เพราะขนมจะสุกต่ออีกเล็กน้อย
หากขนมสุกพอดีแล้ว ให้ทิ้งไว้ให้เย็นลงในอุณหภูมิห้องตามปรกติ ไม่ต้องแซะออกจากถาด จนกว่าจะเย็น
บราวนี่สูตรนี้เป็นขนมที่มีอายุสั้น แม้จะไม่เสีย แต่การคลายตัวของขนมจะทำให้เนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป จะมีความเป็นคุกกี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือจะกรอบแห้งลง ดังนั้น ควรรับประทานภายใน 3 วัน หากต้องการเก็บรักษาก็ทำได้โดยการห่อด้วย wrap ให้แนบไปกับตัวขนม ไม่ให้น้ำหรืออากาศเข้าออกได้ แล้วแช่เย็นช่องธรรมดา ชั้นล่างๆของตู้เย็น อย่างไรก็ตามคุณภาพของขนมก็ยังคงลดลงตามเวลา เพียงแต่จะช้าลงบ้างเท่านั้น

ขอให้สนุกกับการทำขนมนะครับ




 

Create Date : 26 มกราคม 2549    
Last Update : 11 มีนาคม 2549 17:34:48 น.
Counter : 15576 Pageviews.  

1  2  

jumjee
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 221 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 221 คน [?]




Friends' blogs
[Add jumjee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.