ตอนที่ 2 :: ผ้าทอลายขัดเนื้อกลาง
ตอนที่ 2 จะเป็นผ้าทอที่มีเนื้อหนากลางๆ เป็นประเภทที่มีการใช้กันมากที่สุด 2. ผ้าทอลายขัดเนื้อขนาดกลาง -- เป็นผ้าที่ทอแน่นกว่าชนิดแรกแต่ดูห่างเพราะขนาดของเส้นด้าย ผ้าแต่ละชนิดในกลุ่มนี้มีคุณภาพแตกต่างกันตามจำนวนเส้นด้าย ขนาด และชนิดของด้ายที่ใช้ทอ คุณภาพของเส้นใยและการตกแต่งทำให้คุณสมบัติของผ้าเปลี่ยนแปลงได้ เส้นด้ายหวี (combed yarn) จะใช้สำหรับผลิตผ้าเนื้อดี ผ้าในกลุ่มนี้ได้แก่ ๐ ผ้าแก้ว (organdy) เป็นผ้าที่บางและแข็งที่สุดในผ้ากลุ่มนี้ ใช้ผ้าประเภทเดียวกับผ้าสาลูเนื้อบาง แต่มีการตกแต่งให้แข็งด้วยกรดกำมะถัน ถ้าเป็นผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายหวี (combed yarn) จะไม่มีขนแข็งอย่างถาวร มีความใส เหมาะสำหรับตัดเสื้อ หรือทำม่านหน้าต่างกระจกชนิดมีระบาย หรือตกแต่งเป็นปก/ปลายแขนเสื้อ ไม่เหมาะสำหรับทำผ้าเช็ดหน้าหรือรองในเสื้อ เพราะริมมักจะม้วนเมื่อเวลารีด และแข็งเกินกว่าจะทำเสื้อเด็กอ่อนได้ อีกทั้งผ้าแก้วทุกชนิดยังยับง่าย มีการใช้เส้นใยเรยอนและไนลอนชนิดใยยาว ทำผ้าแก้ว ซึ่งจะมีชื่อเรียกโดยเฉพาะหลายชื่อ เช่น ถ้าทอจากใยเรยอนจะเรียกว่า organza ส่วนถ้าใช้ใยไนลอนจะเรียกว่า nylon sheer ถ้าทอจากเส้นใยอะซิเตตเรียกว่า ninon เหมาะสำหรับทำหน้าต่าง

๐ ผ้าสาลูชนิดบาง (lawn) มีลักษณะโปร่งบางเหมือนผ้าแก้วแต่เนื้อจะนุ่ม มีสีขุ่น ทอด้วยด้ายฝ้าย หวีผิวเรียบ ใช้สำหรับทำผ้าอ้อม เสื้อเด็กอ่อน พิมพ์ลวดลายดอกไม้สำหรับตัดเสื้อนอนในฤดูร้อนหรือตัดเสื้อเด็ก

๐ ผ้าสาลู (batist) มีลักษณะเหมือนกับผ้าสาลูชนิดบาง แต่ดูมีเนื้อทึบและขุ่นมากกว่า เนื้อมีความนุ่ม เมื่อฟอกขาวและชุบมันแล้วจะไม่มีการตกแต่งด้วยสารใดๆอีก มีจำนวนเส้นด้ายมาก ใช้ด้ายหวี ยับง่าย มักผลิตและจำหน่ายเป็นสีขาวหรือสีอ่อนๆเป็นส่วนใหญ่ เหมาะสำหรับใช้ทำเสื้อเด็กอ่อน เสื้อครึ่งท่อนสำหรับผู้หญิง เสื้อนอน ผ้าเช็ดหน้า

๐ ผ้าป่าน (voile) มีน้ำหนักพอๆกับผ้าสาลูเนื้อบาง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทอด้วยเส้นด้ายเดี่ยว และชนิดที่ทอด้วยเส้นด้ายควบ 2 เส้น ซึ่งการควบด้ายจะเข้าเกลียวค่อนข้างแน่น โดยควบแต่ละเส้นให้เข้าเกลียวไปในทางเดียวกัน จะทำให้ได้เส้นด้ายที่แน่นและเส้นเล็ก ส่วนริมผ้าจะใช้ด้ายเดี่ยวเป็นเส้นยืนถี่และค่อนข้างกว้างกว่าริมผ้าชนิดอื่น เส้นด้ายควบเมื่อคลายเกลียวออกเป็นด้ายเดี่ยวแล้ว ปลายจะม้วนงอ ซึ่งการใช้ด้ายเกลียวแน่นเช่นนี้จะทำให้ผ้าไม่ค่อยยับ จับจีบได้ดี เหมาะสำหรับตัดเสื้อฤดูร้อน

๐ ผ้าลินินสำหรับทำผ้าเช็ดหน้า (handkerchief linen) มีจำนวนเส้นด้ายพอๆกับผ้าสาลูเนื้อบาง ทอด้วยใยจากต้นแฟลกซ์ (flax) เส้นด้ายจึงมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และมีขนาดไม่ค่อยสม่ำเสมอตามธรรมชาติของเส้นใยแฟลกซ์ ทำให้ดูเหมือนผ้ามีเนื้อหนากว่าผ้าสาลูชนิดบาง ใช้สำหรับทำผ้าเช็ดหน้า ตัดเสื้อผู้หญิง และผ้าที่ใช้ในบ้านทั่วๆไป ปัจจุบันมีการใช้เส้นด้ายฝ้ายและเรยอนทำเทียมเลียนแบบใยแฟลกซ์

๐ ผ้าพีระมิด (cambric) เป็นผ้าฝ้ายเนื้อบางเช่นดียวกันแต่ไม่โปร่งใสเหมือนผ้าที่กล่าวมาแล้ว ทอค่อนข้างแน่นกว่า มีน้ำหนักเบา ด้านถูกจะมีความมันกว่าด้านผิด บางครั้งจะลงแป้งเล็กน้อยเพื่อให้ผิวสัมผัสสดใส ใช้สำหรับทำผ้าเช็ดหน้า ผ้าตัดเสื้อผู้หญิง เสื้อนอน มีการผลิตจำหน่ายทั้งสีขาว ย้อมสีพื้น และพิมพ์ลาย

๐ ผ้าทางในตัว (dimity) คำว่า dimity เป็นภาษากรีก แปลว่า เส้นด้ายควบสอง (double thread) คือใช้เส้นด้ายยืนควบ 2 เส้น หรือมากกว่า ส่วนเส้นด้ายพุ่งก็เป็นเส้นด้ายเดี่ยว เวลาทอ ด้ายยืนที่ควบไว้จะแยกออก ขัดกับด้ายพุ่งเส้นต่อเส้น ทำให้ผ้าตอนนั้นมีเนื้อหนาเป็นทาง นิยมตกแต่งให้แข็ง เมื่อใช้ไปนานๆ มักจะขาดตรงบริเวณด้ายควบ

๐ ผ้ามัสลิน (muslin) เป็นชื่อผ้ากลุ่มใหญ่ ตั้งแต่เนื้อขนาดกลางจนถึงเนื้อหนา ใช้ทำผ้าเช็ดหน้า ผ้าตัดเสื้อ และผ้าปูที่นอน มีการตกแต่งด้วยวิธีต่างๆ ได้เป็นผ้าหลายชนิดเช่น

+ ผ้าเปอร์เคล (percale) เป็นผ้ามัสลินชนิดหนึ่ง ทอด้วยเส้นด้ายขนาดเดียวกันทั้งด้ายพุ่งและด้ายยืน เส้นด้ายสมดุล ผ้าเปอร์เคลจะใช้ด้ายสาง มีจำนวนเส้นด้ายตั้งแต่ 40-80 เส้น
+ ผ้าคาลิโก (calico) เป็นผ้ามัสลินชนิดหนึ่ง ทอด้วยเส้นด้ายขนาดเดียวกันทั้งด้ายพุ่งและด้ายยืน เส้นด้ายสมดุล ผ้าคาลิโกจะใช้ด้ายหวี มีจำนวนเส้นด้ายตั้งแต่ 40-80 เส้น
+ ผ้าชินซ์ (chintz) เป็นผ้ามัสลินเช่นเดียวกัน ทอด้วยเส้นด้ายสาง ชื่อเรียกคำว่า chintz เป็นภาษาฮินดู แปลว่าจุด ในสมัยแรก ผ้าชินซ์มักพิมพ์เป็นดอกเป็นจุดขนาดต่างๆกัน จึงดูเป็นลายจุด ปัจจุบันมีการพิมพ์ลวดลายหลากหลายขึ้น มีการขัดมัน ตกแต่งให้ค่อนข้างแข็ง ผ้าลายไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของผ้าชินซ์
๐ ผ้าย่น (plisse crepe) เป็นผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด พิมพ์ด้วยโซดาไฟให้หดย่นตามแนวเส้นด้ายยืน มีทั้งชนิดที่เป็นสีขาว ย้อมสี และพิมพ์ดอก รอยหดย่นนี้ไม่ค่อยมีความทนทาน เมื่อซักแล้วไม่ต้องรีด รอยย่นก็จะค่อยๆคลายตัวเลือนหายไป นิยมนำมาตัดเสื้อผ้าฤดูร้อน ผ้าคลุมเตียง และคลุมเครื่องเรือน
๐ ผ้าลายทาง (stripe) เป็นผ้าทอที่มีการย้อมสีเส้นด้ายก่อนนำมาทอ โดยเส้นพุ่งที่นำมาทอนั้นจะพุ่งสลับสีกันจึงเกิดเป็นแถบสีต่างๆดูเป็นลายทางตามหน้ากว้างของผ้า
๐ ผ้าลายสก๊อต (gingham) หรือผ้าตา เป็นผ้าที่ย้อมเส้นด้ายก่อนนำมาทอเช่นกัน เส้นด้ายยืนจีเรียงสลับสีเป็นแถบขนาดต่างๆ ส่วนเส้นพุ่งก็มีการพุ่งสลับสีเป็นแถบเพื่อให้เกิดเป็นตาตารางขึ้น
๐ ผ้าย้อมสีสลับขาว (chambray) ใช้เส้นด้ายยืนย้อมสีเดียวหรือหลายสีเรียงสลับเป็นทางแล้วพุ่งด้วยด้ายสีขาว ผลิตจำหน่ายหลายชนิดทั้งประเภทเนื้อบางและหนา ทอด้วยฝ้านล้วน เส้นด้ายสมดุล อาจมีบางชนิดที่ใช้ด้ายต่างขนาดมาทอเป็นลายลูกฟูก ผ่านการตกแต่งให้ทนยับ
ข้อควรสังเกตในการตัดเย็บผ้าตาและผ้าลายทาง ผ้าที่เป็นผ้าลายทางหรือผ้าตา เกิดจากการย้อมเส้นด้ายหรือพิมพ์ลายเส้นลงไปบนผ้าก็ได้ บางครั้ง ผ้าพิมพ์ลายอาจมีความสวยงามกว่าผ้าที่เกิดจากการทอ ดังนั้น เวลาเลือกซื้อควรสังเกตลายผ้าว่าพิมพ์ได้ตรงตามแนวเส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืน หรือเกรน (grain) ให้ตรง ถ้าหากพิมพ์แล้วเกรนไม่ตรงจะทำให้นำมาตัดเย็บยาก ได้เสื้อไม่สวย ส่วนผ้าทอไม่ดีก็ตัดยากเช่นเดียวกัน เพราะเสื้อจะสวยได้ลายและทาง ควรจะอยู่ตรงและพอดีเหมือนกันทั้งซ้ายขวาและหลัง ลายตามขวางต้องต่อให้เส้นบรรจบกันพอดี
Free TextEditor
Create Date : 30 กันยายน 2551 |
|
11 comments |
Last Update : 12 ตุลาคม 2551 1:02:19 น. |
Counter : 25018 Pageviews. |
|
 |
|