Enjoy your life....

ฟันคุด

ฟันคุดคืออะไร...
ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 - 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย



จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด
จากการตรวจในช่องปาก ถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง การเอกซเรย์ฟันจะช่วยให้เห็นทิศทางการฝังคุดของฟันและเห็นอวัยวะข้างเคียง
ฟันคุดอาจเป็นฟันคุดตั้งตรง ฟันคุดเอียงๆ หรืออาจฝังคุดในแนวนอน ซึ่งการผ่าออก มีความยากง่ายแตกต่างกัน




ทำไมถึงต้องผ่าฟันคุด
การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่
1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบอาจลุกลามไปที่แก้ม ใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้





2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ ทำให้ฟันคุดและฟันซี่ข้างๆผุได้ทั้งสองซี่

ภาพนี้ คือภาพเอกซเรย์ ซึ่งเห็นว่ามีฟันคุดขึ้นเอียงงัดอยู่ใต้ฟันซี่ข้างๆ และฟันข้างเคียงผุ



3. เพื่อลดอาการปวดจากแรงดันของฟัน ฟันคุดที่ขึ้นไม่ได้แต่พยายามดันตัวขึ้นมาจะทำให้เกิดอาการปวดได้

4.เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก ในบริเวณซอกฟันที่มีเศษอาหารติดนอกจากทำให้เกิดฟันผุได้แล้ว คราบอาหารคราบจุลินทรีย์ที่สะสมรอบๆฟันคุดจะทำให้เหงือกอักเสบ ถ้าคราบสะสมนานๆจนกลายเป็นหินปูนจะทำให้กระดูกบริเวณนี้ถูกทำลาย ฟันซี่ข้างๆโยก ปวดได้

5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น

นี่คือภาพเอกซเรย์แสดงให้เห็นถุงน้ำเป็นเงาสีดำเกิดข้างๆฟันคุด



6. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

นี่คือภาพเอกซเรย์ แสดงกระดูกขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุ จุดที่หักคือจุดที่มีฟันคุดฝังอยู่ บริเวณนี้กระดูกขากรรไกรจะบางกว่าปกติ



7. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน

ขั้นตอนการผ่าฟันคุดมีอะไรบ้าง น่ากลัวอย่างที่เขาบอกกันหรือเปล่า
การผ่าตัดฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน ถ้าฟันตั้งตรงก็จะใช้เครื่องมืองัดหรือใช้คีมถอนออกมา แต่ถ้าฟันฝังคุดในแนวเอียงหรือแนวนอน หมอจะใช้เครื่องกรอตัดฟันเป็นชิ้นๆแล้วคีบออกมา เพื่อป้องกันแรงงัดทำอันตรายฟันซี่ข้างๆ หลังจากเอาฟันออกหมดก็ล้างทำความสะอาดและเย็บแผลปิด เท่านี้ก็เสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล



หลังผ่าตัดฟันคุดแล้วจะมีอาการอะไรบ้าง จะพูดหรือรับประทานอาหารได้ไหม
อาการที่พบได้หลังการผ่าตัดฟันคุดคือ จะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำผ่าตัดสัก 2 - 3 วัน อ้าปากได้น้อยลง ทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะที่ได้รับไปอาการก็จะบรรเทาลงได้ เรื่องอาหารคงต้องทานอาหารอ่อนไปก่อนสักระยะหนึ่งเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล ส่วนการพูดก็พูดได้ตามปกติ
เรื่องอาการปวดขึ้นอยู่กับสภาพฟันว่าถอนยากหรือง่าย และขึ้นกับความรู้สึกของแต่ละคนด้วย บางคนที่ไวต่อความเจ็บปวด อาจจะบอกว่าเจ็บมาก ในขณะที่บางคนอาจจะบอกว่าไม่เจ็บเลย

หลังผ่าตัดฟันคุดจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
คำแนะนำหลังการผ่าตัดฟันคุดมีดังนี้
1. กัดผ้าก๊อซนาน 1-2 ชั่วโมง กลืนน้ำลายตามปกติ
2. วันแรกหลังการผ่าฟันคุด ห้ามบ้วนเลือดและน้ำลาย เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ ถ้าจะบ้วนปากให้บ้วนได้ในวันที่สอง และไม่ควรบ้วนน้ำบ่อยๆหรือบ้วนแรง เพราะจะทำให้เลือดที่แข็งตัวปิดแผลหลุดออก แล้วเลือดใหม่จะไหลซึมออกมาได้
3. หลังคายผ้าก๊อซแล้ว ถ้ามีเลือดซึมจากแผลผ่าตัด ให้ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่อีกประมาณ ½ ชั่วโมง
4. ประคบน้ำแข็งบริเวณแก้ม ในวันที่ทำผ่าตัด ในวันต่อมาประคบน้ำอุ่นจะช่วยลดอาการบวมได้
5. รับประทานอาหารอ่อน
6. รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง
7. งดออกกำลังกาย หรือ เล่นกีฬาหนักๆ
8. แปรงฟันทำความสะอาดในช่องปากตามปกติ
9. ตัดไหมหลังผ่าตัด 7 วัน
10.หากมีปัญหาหรือผลแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่นเลือดไหลไม่หยุด ปวดแผลมาก กลับมาพบทันตแพทย์ได้ก่อนวันนัด


หลังผ่าฟันคุด บริเวณนั้นจะเป็นหลุม ซึ่งจะค่อยๆตื้นขึ้นมาเอง แผลฟันคุดจะเริ่มปิดสนิทใน2-3สัปดาห์ กระดูกด้านล่างจะสร้างเต็มที่ใน2เดือน



ปัญหาแทรกซ้อนหลังการผ่าฟันคุด
ที่พบบ่อยคืออาการปวดและบวม อาการบวมเกิดจากการอักเสบและมีเลือดคั่งในแผลและเนื้อเยื่อ ซึ่งโดยทั่วไปจะยุบลงใน 3-4 วัน ในกรณีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทันตแพทย์จะให้ทานยาปฏิชีวนะประมาณ 5 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ้าปากได้น้อย ปัญหาการติดเชื้อหลังการผ่าตัดพบได้เนื่องจากการดูแลแผลในปากอาจทำได้ลำบาก บางครั้งมีเศษอาหารตกลงไปในแผลทำให้เกิดการหมักหมมและติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยบางรายที่ฟันคุดอยู่ในตำแหน่งที่ลึกและใกล้เส้นประสาทในกระดูกขากรรไกรล่างอาจมีอาการชาบริเวณริมฝีปาก เนื่องจากเส้นประสาทดังกล่าวได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถถามได้จากทันตแพทย์ครับ





 

Create Date : 01 กันยายน 2549   
Last Update : 1 กันยายน 2549 20:32:50 น.   
Counter : 47088 Pageviews.  

หญิงตั้งครรภ์ ควรดูแลปากและฟันอย่างไร ??

หญิงตั้งครรภ์ ควรดูแลปากและฟันอย่างไร???

การเปลี่ยนแปลงภายในช่องปากระหว่างตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

เมื่อเริ่มเป็นคุณแม่ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ รวมทั้งในช่องปากด้วย

-ความรู้สึกในช่องปากจะเปลี่ยนไป บางคนว่าเฝื่อนๆ หรือเลี่ยนๆ

-คุณแม่มักรับประทานอาหารจุกจิกมากขึ้น และหิวบ่อยไม่เป็นเวลา ประกอบกับมีอาการแพ้ท้องคลื่นไส้อาเจียนอยู่เสมอ ซึ่งทำให้มีเศษอาหารและกรดจากกระเพาะผ่านจากคอมาติดค้างอยู่ตามซอกฟันมากขึ้น ความสะอาดในช่องปากลดลง มีโอกาสเกิดฟันผุมากขึ้น

-ตั้งครรภ์ลูก1 คน คุณแม่เสียฟันไป 1ซี่ ???
คุณแม่บางท่านเข้าใจว่าลูกน้อยได้แย่งเอาแคลเซียมจากฟันคุณแม่ไปใช้ในการสร้างกระดูกและฟันของลูก จึงทำให้ฟันคุณแม่อ่อนลง ผุได้ง่าย ความเชื่อนี้ไม่เป็นจริงเพราะแคลซียมในฟันจะคงอยู่แบบถาวรไม่สามารถดึงออกไปได้เหมือนในกระดูก ดังนั้นฟันจึงยังมีความแข็งแรงอยู่เหมือนเดิมทุกประการ สาเหตุฟันผุที่แท้จริงคือ ขาดการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี

-ระหว่างการตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เหงือกอักเสบ บวม แดง มีเลือดออกง่าย และยิ่งถ้ามีคราบอาหารคราบจุลินทรีย์เกาะที่ฟัน จะยิ่งทำให้เหงือกอักเสบมากขึ้น คุณแม่ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธี ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และใช้เส้นใยขัดฟัน( dental floss) เพื่อทำความสะอาดซอกฟันก่อนนอน

-นอกจากนี้ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อให้คุณหมอช่วยขจัดหินปูน คราบจุลินทรีย์ตามซอกมุมต่างๆที่อาจเป็นที่กักเก็บเศษอาหารได้


ระหว่างตั้งครรภ์ ทำฟันได้หรือเปล่า?

การทำฟันโดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์แต่อย่างใด คุณแม่จึงควรไปพบทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ หรือถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว และจำเป็นต้องทำการรักษาที่ซับซ้อนขึ้น เช่นจำเป็นต้องใช้ยาชา หรือต้องx-rayในช่องปาก คุณหมอจะนัดทำช่วงอายุครรภ์ไตรมาสที่สอง คือช่วง4-6เดือน หรือนัดทำหลังจากคลอดลูกแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ปลอดภัยต่อการทำฟัน
และสุดท้ายคุณแม่ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า สุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ของคุณแม่มีส่วนสำคัญต่อลูกในครรภ์อย่างมาก ขณะที่ลูกน้อยเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ ฟันน้ำนมและฟันแท้ของหนูน้อยก็จะค่อยๆถูกสร้างไปพร้อมอวัยวะส่วนอื่นๆในร่างกายแล้ว คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เช่น นมสด ปลา น้ำมันตับปลา ผักผลไม้ เพื่อการสร้างฟันของลูกน้อย และผักผลไม้เป็นอาหารที่มีเส้นใยช่วยทำความสะอาดฟันไปในตัว ขณะเรารับประทานจะช่วยลดฟันผุได้ดีกว่าการรับประทานขนมหวานๆ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเกิดฟันผุ อีกทั้งไม่มีประโยชน์สำหรับลูกน้อยและตัวคุณแม่เองด้วย

ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี เพื่อเป็นคุณแม่ยิ้มสวยและลูกน้อยฟันแข็งแรงครับ




***********

ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากหรือการทำฟันในหญิงตั้งครรภ์ สอบถามเพิ่มเติมได้ครับ




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2549   
Last Update : 10 มิถุนายน 2549 17:37:07 น.   
Counter : 12987 Pageviews.  

การรักษารากฟัน ( Root canal treatment ) คืออะไร

การรักษารากฟัน คืออะไร???

ที่แผนกทันตกรรม โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

“หมอๆ ผมปวดฟัน จะมาอุดฟัน”
หมอตรวจดูในปาก พบว่าฟันกรามที่คนไข้ชี้ให้ดูมีรอยผุใหญ่และลึก ทะลุโพรงประสาทฟันแล้ว ลุงให้ประวัติว่ามีอาการปวดมาหลายสัปดาห์แล้ว ปวดๆหายๆ เคี้ยวอะไรไม่ค่อยได้ พอหมอลองเคาะฟัน ลุงก็บอกว่าเจ็บ
“ลุงครับ ฟันของลุงผุลึกขนาดนี้ อุดเฉยๆไม่ได้แล้วครับ ถ้าจะให้หายปวดมี 2 วิธีคือรักษารากฟัน หรือไม่ก็ถอนฟันออก”
ลุงทำหน้างง
“โธ่ อุดไม่ได้เหรอหมอ ลุงไม่อยากถอน ไม่อยากฟันหลอ ว่าแต่รักษารากฟัน มันคืออะไรเหรอหมอ”



รักษารากฟัน ( Root canal treatment )

ปกติฟันของคนเรา ประกอบด้วยส่วนต่างๆ3ชั้น
ชั้นแรกคือชั้นเคลือบฟัน (Enamel) มีลักษณะแข็ง เงา เป็นชั้นที่อยู่นอกสุด ถ้าฟันชั้นนี้ผุมักไม่มีอาการใดๆ ถ้าแปรงฟันได้สะอาด ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างสม่ำเสมอ รอยผุอาจหยุดอยู่เพียงชั้นนี้ได้
ชั้นที่สอง ชั้นเนื้อฟัน (Dentin) มีลักษณะนิ่มกว่าชั้นเคลือบฟัน เป็นชั้นที่ไวต่ออุณหภูมิและการสัมผัส ถ้าฟันผุถึงชั้นนี้มักมีอาการเสียว เช่นเสียวตอนดื่มน้ำเย็น เสียวตอนแปรงฟัน หรือเสียวตอนกินอาหารหวาน ถ้าฟันผุถึงชั้นนี้สามารถอุดเติมส่วนที่ผุได้
ชั้นที่สาม ชั้นโพรงประสาทฟัน (Dental pulp) เป็นชั้นที่อยู่ในสุด ลักษณะเป็นช่องว่าง มีเส้นเลือดเส้นประสาทมาเลี้ยงฟัน ถ้าฟันผุถึงชั้นนี้ จะมีอาการปวด และหากมีการติดเชื้อภายในฟัน สารพิษจากเชื้อโรคจะถูกกักภายในฟันจนเกิดหนอง และอาจทำให้ปวดมาก หรือมีอาการเหงือกบวม แก้มบวมได้
และอีกกรณีคือฟันที่ถูกกระแทกจากอุบัติเหตุ แรงกระแทกอาจทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟันขาด ฟันที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงจะเรียกว่าฟันตาย อาจเกิดอาการปวดได้เช่นกัน
วิธีรักษาฟันที่ผุถึงชั้นนี้จึงมี2วิธี คือ 1.ถอนฟันออก เพื่อกำจัดแหล่งเชื้อโรค หรือ 2. รักษารากฟัน เพื่อเก็บฟันไว้


รูปที่ 1 แสดงถึงฟันชั้นต่างๆในสภาพปกติ ชั้นสีขาวคือชั้นเคลือบฟัน ชั้นสีเหลืองคือเนื้อฟัน และชั้นสีแดงคือชั้นโพรงประสาทฟัน



รูปที่ 2 แสดงถึงฟันที่ผุลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน มีการติดเชื้อ และมีหนองที่ปลายรากฟัน จำเป้นต้องรักษาด้วยการรักษารากฟัน หรือไม่ก็ต้องถอนฟัน




การรักษารากฟันมีขั้นตอนอย่างไร
1. การรักษารากฟัน หมอต้องเปิดโพรงประสาทฟัน โดยใช้เครื่องมือเจาะรูเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ถ้าฟันซี่นี้ปวดเพราะมีหนอง อาการปวดจะลดลงเพราะมีช่องระบายหนองออก
2. ทันตแพทย์ใช้เข็มอันเล็กๆ สอดเข้าไปในโพรงประสาทฟันเพื่อเกี่ยวเอาเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันที่อักเสบติดเชื้อออก และทำความสะอาดโดยการล้างด้วยน้ำยา ในฟันหน้าที่มีเพียงรากเดียวจะใช้เวลาไม่นาน แต่ในฟันหลังซึ่งมีหลายราก ต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดแต่ละรากเพิ่มขึ้น ในขั้นตอนนี้ทันตแพทย์อาจต้องนัดมาทำหลายครั้ง
3. หลังจากทันตแพทย์ทำความสะอาดภายในรากฟันจนสะอาดปราศจากเชื้อแล้ว และคนไข้ไม่มีอาการปวด ในรากฟันไม่มีหนอง ทันตแพทย์จะอุดภายในรากฟันให้เต็ม ไม่ให้มีเนื้อที่ว่างสำหรับเป็นที่อยู่ของเชื้อโรค
4. หลังจากอุดภายในรากฟันเรียบร้อยแล้ว หมอจะบูรณะส่วนตัวฟันด้านบน ซึ่งถ้ารอยผุเดิมไม่ใหญ่มากอาจใช้วิธีการอุด แต่ถ้ารอยผุเดิมมีขนาดใหญ่ เหลือเนื้อฟันน้อย เป็นฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามหรือเป็นฟันกรามที่ต้องใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร หมอจะแนะนำให้ใส่เดือยฟันและทำครอบฟัน ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าการอุดธรรมดา ป้องกันฟันแตกหักเสมือนการใส่หมวกกันน็อคให้กับฟัน


อัตราความสำเร็จในการรักษารากฟัน ในแต่ละงานวิจัยไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ80-90% ขึ้นกับสภาพเดิมของฟัน และความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคในรากฟันของทันตแพทย์ หากหลังจากรักษารากฟันแล้ว ยังมีอาการปวด เหงือกบวม หรือมีหนอง เป็นข้อบ่งชี้ว่าการรักษารากฟันนั้นล้มเหลว จำเป็นต้องทำการรื้อวัสดุอุดเก่าออก และรักษารากฟันใหม่ หรือถ้าเกิดข้อแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น มีเครื่องมือหักคาที่ปลายรากฟัน อุดเกินปลายรากฟัน แล้วไม่สามารถเอาออกได้อาจต้องทำศัลยกรรมปลายรากฟันร่วมด้วยเพื่อเก็บฟันซี่นี้ไว้


“รักษารากฟันมันก็คือแบบนี้ละครับลุง อย่างของลุงเป็นฟันกราม มีหลายราก ถ้าจะรักษาก็ต้องมาหลายครั้ง และฟันลุงก็ผุไปเยอะ หลังจากรักษารากฟันเสร็จแล้วฟันเปราะกว่าปกติ อาจแตกหักได้ ควรทำครอบฟันต่อเพื่อให้ฟันแข็งแรง สามารถเคี้ยวอาหารได้ดี”

"อ๋อ อย่างนี้นี่เอง เข้าใจแล้วละหมอ"


********************

ถ้ามีข้อสงสัยใดๆเกี่ยวกับการรักษารากฟัน สอบถามเพิ่มเติมได้ครับ :)




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2549   
Last Update : 9 มิถุนายน 2549 21:18:45 น.   
Counter : 49533 Pageviews.  

ทำอย่างไรให้ลูกน้อยไม่ดื้อ เมื่อไปหาหมอฟัน


ผมเชื่อว่าในที่นี้อาจจะมีหลายๆคนที่ประสบปัญหา มีลูกหลานเล็กๆ แต่เด็กไม่ยอมไปหาหมอฟัน กลัวหมอฟัน หรืออีกกรณีคือเด็กไม่งอแง แต่ผู้ใหญ่ไม่มีเวลาพาลูกหลานไปให้หมอฟันตรวจดูสุขภาพช่องปากเลย

แล้วพอวันหนึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ฟันน้ำนมเจ้ากรรมเกิดผุจนปวดขึ้นมา เด็กน้อยเคี้ยวไม่ได้ กินข้าวไมได้ บวมแก้มตุ่ย ปัญหาการรบกันระหว่างเด็กน้อยกับหมอฟัน ก็เริ่มขึ้น

ในบรรดาเด็กที่มาหาหมอฟัน สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆได้หลายประเภท มีทั้งแบบชอบมาทำฟันเหมือนกับมาเที่ยว
เด็กกลุ่มนี้มักได้รับการปลูกฝังที่ดีตั้งแต่เด็ก พ่อแม่เอาใจใส่เรื่องสุขภาพช่องปาก พามาพบทันตแพทย์บ่อยๆจนเด็กเกิดความคุ้นเคย เด็กกลุ่มนี้มักได้รับการตรวจ และป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ มักไม่มีฟันผุ ไม่มีอาการปวด พอถึงวัยที่สมควรฟันน้ำนมก็โยกหลุดไปและมีฟันแท้ขึ้น เด็กกลุ่มนี้จะแปรงฟันได้ดี และดูแลความสะอาดในปากได้ดีจนเป็นผู้ใหญ่

เด็กกลุ่มที่สอง งอแง ร้องไห้นิดหน่อย แต่ก็ยอมให้ทำ
เด็กกลุ่มนี้กลัวหมอฟัน กลัวการทำฟัน มักมาพบทันตแพทย์ตอนมีปัญหาแล้ว เช่นมีฟันผุ หรือปวดฟันมา หากใช้เวลาค่อยๆสร้างความคุ้นเคย จะช่วยให้เด็กคลายความกลัวได้บ้าง และสามารถมีทัศนคติที่ดีต่อการทำฟันได้

เด็กกลุ่มที่สาม งอแงมากๆๆ ดื้อ ดิ้น ไม่รับฟังคำพูดใดๆของหมอ อาจมีการทำร้ายร่างกายหมอด้วยการกัด ถีบ เด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาในการรักษา เพราะเด็กไม่รับฟังคำหว่านล้อมใดๆ และถ้าไม่บังคับให้เด็กอยู่นิ่งๆอาจเกิดอันตรายได้ เช่นใช้มือปัดเข็มฉีดยา หรือปัดเครื่องมือจนบาดปาก

กรณีเหล่านี้ เป็นเรื่องที่น่าหนักใจทั้งกับตัวหมอและตัวผู้ปกครองเอง มีบ้างเช่นกันที่เด็กไม่ยินยอม แล้วพ่อแม่ก็ตามใจลูก ตระเวนพาลูกไปหลายๆคลินิกหลายโรงพยาบาล จนต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากในการรักษามากมาย

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการสร้างทัศนคติที่ดีให้เด็กตั้งแต่ต้น มิใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการตามใจหรือบังคับขู่เข็ญกัน

ลองอ่านดูละกันครับ เผื่อใครมีลูกแล้วจะได้เอาไปใช้ :)


*******************

วิธีปลูกฝังทัศนคติให้ลูกน้อยของคุณไม่ดื้อเมื่อไปหาหมอฟัน

1.ฝึกนิสัยการดูแลความสะอาดให้กับเด็ก ตั้งแต่เด็กเกิดโดยหลังกินนมเสร็จให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นเช็ดเหงือกและลิ้นให้เด็ก

2.เมื่อฟันซี่แรกขึ้นในปาก พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูฟัน หมอจะแนะนำให้เช็ดทำความสะอาดฟันและเหงือก และเมื่อฟันขึ้นครบ4ซี่ก็ให้ซื้อแปรงสีฟันขนนุ่มมาแปรงให้เด็ก โดยไม่ต้องใช้ยาสีฟัน การทำแบบนี้จะช่วยให้เด็กเคยชินกับการทำความสะอาดปาก และไม่อยากอาเจียนตอนแปรงฟัน
ข้อสำคัญคือเมื่อเด็กฟันขึ้นแล้ว ไม่ควรให้เด็กนอนหลับโดยมีขวดนมคาในปาก เพราะจะทำให้นมหมักหมมในปาก เสี่ยงต่อฟันผุ และท้องเสีย

3.เมื่อเด็กอายุได้1ขวบ ควรฝึกให้เด็กหัดดื่มนมจากแก้ว และนมสำหรับเลี้ยงเด็กไม่ควรเป็นนมหวานผสมน้ำตาล หรือผสมน้ำผึ้ง เพราะจะทำให้เด็กติดนิสัยชอบของหวาน และเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะมีแนวโน้มติดอาหารหวานเพิ่มขึ้น

4.เมื่อเด็กอายุ2ขวบ ฟันน้ำนมขึ้นครบทุกซี่แล้ว ให้เริ่มใช้ยาสีฟันได้ โดยใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กมีฟลูออไรด์500 ppm ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว แปรงฟันให้ลูก หลังจากนั้นให้เช็ดฟองยาสีฟันออก เพราะเด็กวัยขนาดนี้ยังบ้วนน้ำได้ไม่ดี อาจกลืนยาสีฟัน
ควรแปรงฟันให้เด็กทุกเช้าและก่อนนอน และถ้าเป็นไปได้ควรแปรงฟันหลังอาหารให้ลูกด้วย

5. อาหารว่างและขนมสำหรับเด็ก ควรหลีกเลี่ยงขนมถุง น้ำอัดลม นมเปรี้ยว (ดูฉลากส่วนประกอบได้ นมเปรี้ยวเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำนมน้อย แต่มีน้ำตาลสูงเทียบเท่าน้ำอัดลม) เมื่อเด็กมีฟันแล้วควรให้เด็กหัดใช้ฟันกัดแทะผลไม้เล่น โดยใช้ผลไม้ชิ้นใหญ่ๆที่เด็กกลืนลงคอไม่ได้ เช่น ฝรั่ง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินและใยอาหารสูง
การให้เด็กกินของว่างจำพวกขนมถุง มันฝรั่งทอด ซึ่งมีแต่แป้ง น้ำตาล ไขมัน และเกลือ จะทำให้เด็กอิ่มเร็ว และทานอาหารมื้อปกติได้น้อย เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน แต่สมองเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ฟันผุ เป็นโรคเบาหวาน

6.เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ เริ่มให้เด็กหัดแปรงฟันเอง โดยพ่อแม่คอยดูและสอนให้เด็กเอาแปรงเข้าปาก เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยรักสะอาด
แต่เด็กวัยนี้มักแปรงฟันเองได้ไม่ทั่วถึง พ่อแม่ควรแปรงซ้ำให้อีกครั้ง หลังลูกแปรงฟันเองเสร็จแล้ว

7.ตั้งแต่ฟันน้ำนมของลูกขึ้นในช่องปากแล้ว ควรพาไปพบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก หมออาจจะเพียงตรวจ ขัดฟัน ให้เด็กอมฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดี ช่วยให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการมาหาหมอฟัน อีกทั้งการดูแลที่ดีมาตลอดจะทำให้เด็กไม่ต้องเจ็บตัวกับการอุด ถอน ฟันที่ผุ



ปัจจุบันนี้เห็นเด็กมาหาหมอด้วยอาการปวดฟัน งอแง กลัวหมอ เพราะเด็กไม่เคยเจอหมอฟันมาก่อน พอมาเจอก็ต้องเจ็บตัว

ถ้าลูกมาแบบมีปัญหา แต่พ่อแม่มีเวลาให้ หมออาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรม โดยการสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก อาจจะพูดคุย ให้เด็กอมฟลูออไรด์ อุดฟันง่ายๆ หลังจากหมอฟันนัดเด็กมาหาหลายๆครั้งจนคุ้นเคยแล้ว จึงรักษาขั้นที่ยากขึ้น เช่นการอุดฟันยากๆ การรักษารากฟัน การถอนฟัน ซึ่งวิธีนี้มีผลดีคือหมอทำงานง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับตัวเด็กเอง


แต่อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัด เช่นกรณีที่เด็กฟันผุมากๆ แล้วถูกปล่อยปละละเลยจนฟันติดเชื้อ มีไข้ แก้มบวม หลังจากให้ยาจนลดบวมแล้วหมอจำเป็นต้องรีบเอาฟันที่ติดเชื้อออก เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นใหม่

และอีกกรณีคือ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาพาเด็กมารับการรักษาหลายๆครั้ง เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจ ติดงานติดธุระ จะพามาหาหมอก็ต่อเมื่อเด็กมีปัญหา ฟันผุติดเชื้อมีหนอง เด็กปวดบวมแล้ว แบบนี้หมอก็ไม่รู้จะค่อยๆสร้างความคุ้นเคยกับเด็กอย่างไรเหมือนกัน


ถ้ารักลูกของตนเอง ไม่อยากให้ลูกต้องเจ็บตัว ก็ควรดูแลสุขภาพของเขาให้ดี คนที่มีผลต่อสุขภาพของลูกมากที่สุดไม่ใช่หมอ แต่เป็นพ่อแม่ที่ดูแลเด็ก ให้เวลากับเขาอีกนิด ปลูกฝังนิสัยรักสะอาดและสร้างนิสัยมาหาทันตแพทย์เพื่อตรวจและป้องกัน มิใช่เพื่อรักษา


ไม่มีหมอฟันคนไหนอยากดุ หรืออยากบังคับเด็กหรอกครับ :)







 

Create Date : 09 มิถุนายน 2549   
Last Update : 9 มิถุนายน 2549 21:24:38 น.   
Counter : 1626 Pageviews.  


Dr.ภพ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Dr.ภพ's blog to your web]