มัลดีฟส์ - เตรียมตัวก่อนไป
เกาะสถานที่ท่องเที่ยว : มัลดีฟส์, Maldives
พิกัด GPS : 4° 10' 30.00" N 73° 30' 32.00" E

แบกเป้ไปชมหกเกาะท้องถิ่นที่ประเทศมัลดีฟส์ ด้วยความสงสัยเกี่ยวกับการตำรงชีวิตกลางมหาสมุทรอินเดีย ว่าเค้าอยู่กันอย่างไร แล้วหน้าตาจะคมขำเหมือนคนใต้บ้านเรามั้ย


คราวนี้ไปเที่ยวเกาะสวาท หาดสวรรค์ ที่เค้าลือกันไม่หยุดปากว่าสวยมากและธรรมชาติก็อุดมสมบูรณ์ ไปเที่ยวครั้งนี้ไปคนเดียวแบบสบายกระเป๋า ตั๋วไปกลับวันไหนราคาถูกสุดก็ไปวันนั้น เดินทางไปกัวลาลัมปัวพอดีเลยได้ตั๋วไปกลับ กัวลาลัมปัว - มัลดีฟส์ สำหรับกระเป๋าเจ็ดกิโล ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะสนามบิน KLIA2 ใหญ่และสะดวกสบายเหมือนห้างสรรพสินค้าในเมืองไทย แวะเติมพลังเรียบร้อยก่อนขึ้นเครื่อง เลยได้ตั๋วเครื่องบินราคาเบาๆ ไปกลับสนามบินเดิม 3453 บาท Air Asia X ราคาตั๋วถูกได้ใจมาก แถมได้รูปสวยๆ ไว้เช็คอินในโซเซียลให้เพื่อนๆ ได้ติดสอยห้อยตามเสมือนไปเที่ยวด้วยกันแบบฉบับนำร่องสำหรับคนชอบแบกเป้เที่ยว


แหลมสันทรายที่เกาะ Thulusdhoo

หลายปีก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวและพักได้เฉพาะที่เกาะรีสอร์ทเท่านั้นซึ่งโดยทั่วไปหนึ่งเกาะจะมีเพียงแค่หนึ่งรีสอร์ทแต่หลังจากทางการได้อนุมัติให้ชาวเกาะที่อาศัยบนเกาะต่างๆ เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ เพื่อกระจายรายได้ให้ท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านและนักลงทุนรายย่อยทะยอยเปิดเกสต์เฮาส์บนเกาะที่สามารถไปได้โดยเรือโดยสารสาธารณะ  


ข่าวนี้ค่อยๆ กระจายปากต่อปาก ไปในกลุ่มนักท่องเที่ยวแบกเป้ตามโฮสเทลต่างๆ ในเอเชีย และเริ่มมีนักแบกเป้นานาชาติที่กำลังแบกเป้กันในบริเวณเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนใจเปลี่ยนแผนมาเที่ยวหมู่เกาะมัลดีฟส์กันมากขึ้น คือประมาณว่าไปให้เห็นกับตาตัวเอง


วางแผนเที่ยวมัลดีฟส์

ตั๋วเครื่องบิน

สำรวจราคาตั๋วเครื่องบินก่อนลางานแบบง่ายๆไม่ต้องนั่งจ้องมือถือทั้งวันทั้งคืน โดยลงชื่อเข้าใช้เพื่อติดตามราคาตั๋ว https://www.google.com/flights?hl=th&gl=US ตรวจสอบราคาถูกที่สุดได้ที่ปฏิทินซึ่งแสดงวันไปและวันกลับให้ดูง่ายๆ พร้อมคำนวณราคาและแสดงสายการบินให้ดูเลย ต้องการเลือกช่วงบินไป บินกลับวันไหน ก็ดูได้ที่ช่องปฏิทินไม่ต้องคลิกไปคลิกมาให้เวียนหัวตุ๊บๆ


สนามบินนานาชาติหลักชื่อว่า VelanaInternational Airport อยู่ที่เกาะ Hulhule (ในกรอบสีส้ม) เกาะตรงกลางระหว่างเกาะเมืองหลวงชื่อว่า Male (ในกรอบสีเขียว) และเกาะ Hulhumale (ในกรอบสีน้ำเงิน) Hulhumale (ในกรอบสีน้ำเงิน) ซึ่งสร้างใหม่ด้วยการขุดทรายและสันแนวปะการังมาถมเกาะใหม่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอนุรักษ์ ลืมไปได้เลย และดำเนินการสร้างกำหนดเสร็จภายในสองปีชื่อเกาะ ขณะนี้กำลังดำเนินการสร้างสะพานเชื่อมสามเกาะนี้เข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองการขยายตัวของธุรกิจ


แนะนำให้ซื้อตั๋วไปช่วงเช้า และกลับช่วงหลังเที่ยง หรือเย็น หากตั๋วบินตรงไม่แพงมากให้เลือกไปเลย ดีกว่าไปบินต่อที่เมืองหรือประเทศอื่นๆ เพราะอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดตามมาทีหลัง รวมไปรวมมาอาจแพงกว่ากว่าตั๋วบินตรง 


แนะนำให้เลือกที่นั่งข้างหน้าต่าง ควรเป็นฝั่งเดียวกันทั้งขาไปขากลับเพราะจะได้เห็นวิวทั้งฝั่ง หากเลือกนั่งคนละฝั่งจะทำให้เห็นวิวฝั่งเดิม ที่นั่งที่เหมะกับการถ่ายรูปเป็นที่นั่งก่อนปีก หรือเกือบแถวหลังสุดไปเลย หากไม่ต้องการให้เห็นปีกเครื่องบินในรูปถ่ายหรือวิดีโอ ถ้าไปกันหลายคนก็นั่งกระจายกันจะได้มาแบ่งวิวกันดู ชาร์ตแบตให้เต็ม เตรียมเม็มให้ดี พร้อมอัด พร้อมถ่่ายเพราะสวยมาก เป็นช่วงวินาทีทอง ห้ามพลาด ห้ามหลับ


แนะนำให้โหลดแอ็ป MAPS.ME เป็นแผนที่ฟรี และใช้กันแพร่หลายในกลุ่มแบกเป้ทั่วโลก เพราะรวดเร็ว ละเอียดและออฟไลน์ ในขณะที่บินสามารถดูได้ว่าอยู่จุดไหน หากใครบินมาจากกรุงเทพจะมองเห็นเกาะๆ นึง น่าสนใจมาก ชื่อเกาะเซนติเนลเหนือ หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ อยู่ในทะเลอันดามันล่างจากประเทศพม่า ลองหาอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บอื่นๆ ค่ะ



วิวเกาะในหมู่เกาะ Kafuu Atoll ที่เห็นคาดว่าเป็นบริเวณแนะปะการังของเกาะ Dhiffushi และ แนวปะการังของ เกาะ Thulusdhoo มองเห็นคลื่นที่เรียกว่า เป็นแนวคลื่นที่นักโต้คลื่นระดับมืออาชีพมาเก็บตัวฝึกซ้อม ไม่แนะนำสำหรับมือสมัครเล่น เพราะคลื่นค่อนข้างใหญ่และมีสันแนวปะการังด้านหน้าคลื่น



ภูมิอากาศ
สำคัญมาก ก่อนซื้อตั๋วเครื่องบิน แนะนำให้อ่านสภาพอากาศโดยรวมแต่ละช่วงของประเทศมัลดีฟส์ และสำคัญที่สุดคือต้องการดูอะไร เพราะธรรมชาติสวยงามมาก แต่ละช่วงก็มีอะไรให้สัมผัสแตกต่างกัน หาข้อมูลโดยการดูวิดิโอของคนอื่นๆ ที่มีวันที่โหลดในแต่ละเดือน เพราะปกตินักท่องเที่ยว ไปแล้วก็โหลดเลย


มรสุมฤดูหนาวเริ่มต้นเดือน ตค. ถึง พย. แนะนำให้พักเกาะไม่ไกลจากสนามบินมาก 

มรสุมฤดูร้อนเริ่มต้นเดือน พค. ถึง สค. แนะนำให้พักเกาะไม่ไกลจากสนามบินมาก ช่วงเดือนนี้บางเกาะมีแพลงก์ตอนเรืองแสง

อากาศดีเริ่มต้นเดือน ธค. ถึง เมย. น้ำใส ไหลเย็นเห็นตัวปลา ตามที่เห็นในประชาสัมพันธ์ต่างๆ

ช่วงมรสุมแนะนำให้พักบนเกาะ เดี๋ยวนอนไม่หลับเพราะลมพายุฝนฟ้าคะนองค่อนข้างแรง จะได้ไม่ต้องเปลืองเงินหลายหมื่นไปดูฝนตก ถ้าโชคดีเจออากาศดีก็ค่อยติดต่อขออัพเกรดช่วงที่พัก ช่วงมรสุมรีสอร์ทไม่ค่อยเต็มหรอก ยกเว้นตรงกับวันหยุดของชาวจีน เพราะรีสอร์ทเน้นแขกแถบทวีปยุโรปกับทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนเราเป็นแขกเสริมช่วงมรสุม







การเดินทางภายในประเทศ
สภาพภูมิประเทศมัลดีฟส์เป็นหมู่เกาะปะการัง บนแนวขอบภูเขาไฟไต้น้ำที่มีการยุบตัวลง ในมหาสมุทรอินเดีย การเดินทางหลักเป็นการเดินทางโดยเรือโดยสารสาธารณะ  สปีดโบ๊ทสาธารณะ  สปีดโบ๊ทส่วนบุคคล  เครื่องบินที่จอดบนผิวน้ำหรือซีเพลน  เครื่องบินที่จอดบนลานจอดตามเกาะต่างๆ


ทำความรู้จักบริเวณที่สนามบินก่อนไปจะได้ไม่งง
ซ้ายคืออาคารสนามบิน ขวาคือท่าเรือข้ามฟากไปเมืองหลวง ตรงข้ามหน้าทางออกจากสนามบินเลย เดินตรงออกไปเรื่อยๆ ก็เจอ ถ้าหากต้องการซื้อซิมเน็ตก็ซื้อในอาคารก่อนน่ะ หาง่ายอาคารเล็กเหมือนสนามบินภายในประเทศที่เมืองไทย

ก่อนออกมาก็รีบซื้อตั๋วก่อนน่ะ ซ้ายมือ ช่องขายสุดท้ายในอาคาร แล้วก็ถ่ายรูปกันไปเลยช่วงที่รอ แต่ถ้าจะขึ้นรถเมล์ไปเกาะ Hulhumale ออกมาเลี้ยวซ้ายนิดเดียว ไม่ต้องไปไกล ขึ้นฝั่งซ้ายไม่ต้องข้ามถนน รถสังเกตุเห็นง่าย ก็ถ่ายรูปกันไป

การโดยสารเรือท้องถิ่น
บนเกาะ Male มีท่าเรือสาธารณะสำหรับเรือโดยสารไปเกาะต่างๆ ชื่อท่าเรือ Villigili Ferry Terminal ซึ่งต้องข้ามฝากจากสนามบินที่เกาะ Hulhule มาก่อนและต่อด้วยรถแท็กซี่ไปท่าเรือ ค่าแท็กซี่ทั่วเกาะราคา 25 MVR 



วิวเมืองหลวง ถ่ายจากเกาะสนามบิน


แต่หากพักที่เกาะ Hulhumale แล้ว ไม่ต้องมาท่าเรือที่หน้าสนามบินน่ะ มีท่าเรืออีกที่นึงบนเกาะ Hulhumale ข้ามฝากตรงมาที่เกาะ Male เลย จอดท่าเดียวกับเรือข้ามฝากระหว่างสนามบินก้บเกาะ Male


ถ้าหากกระเป๋าไม่หนักมากออกจากท่าเรือที่มาจากสนามบินเลี้ยวขวาเดินเลียบริมน้ำมาเรื่อยๆ เจอตลาดขายปลา ขายผลไม้ เดินต่อไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งแวะ ไปซื้อตั๋วก่อนเผื่อทันเรือลำอื่นที่ไม่ได้อยู่ในตารางไม่ต้องเข้าซอยไหน เพราะซอยเล็กมากเดี๋๋ยวงงและอาจหลงได้ง่าย แถมรถขับกันค่อนข้างเยอะ ถนนแคบมาก นึกว่าอยู่สำเพ็ง เดินประมาณ 20 ถึง 30 นาที ท่าเรือจะอยู่ขวามือตรงข้ามกับตึก Dhiraagu (แนะนำให้ดาวน์โหลด MAPS.ME แผนที่ซึ่งไม่ต้องใช้เน็ต) จะได้เดินง่ายๆ สบายใจ ดูบ้านเมืองซึ่งคล้ายกับสำเพ็งที่กรุงเทพเลย จะได้ไม่ต้องมาแวะดูอีกวันที่จะกลับ ซื้อตั๋วแล้วถ้ามีเวลาก็ลองเดินกลับไปดูตลาดขายปลา เพราะปลาเป็นอาหารหลักของขาวท้องถิ่น ส่วนตลาดผลไม้ไม่น่าสนใจมากเพราะส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ศรีลังกา ไทยแลนดดดดดด์ 


เดินเล่นๆ กับกระเป๋าไม่เกินเจ็ดกิโลตั้งแต่เครื่องลงที่สนามบินมาถึงท่าเรือนี้ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง วันแรกก็ไปพักเกาะท้องถิ่นสวยๆ ตามที่เห็นในเน็ตได้เลย ไม่ไกลมากนั่งเรือเพลินๆ ก็ถึงแล้ว ฝนตกก็ยังเห็นน้ำทะเลสีเขียวอ่อนซึ่งเป็นบริเวณขอบแนวปะการัง สลับไปกับน้ำทะเลสีน้ำเงินเข้มซี่งเป็นบริเวณสันภูเขาไฟ 

วิวจากเรือ การขุดทรายปะการังขึ้นมาทับถมแนวปะการังเพื่อสร้างพื้นที่เกาะใหม่ ระหว่างนั่งเรือไป กลับ เกาะ Male - Gulhi การขุดทรายจะเห็นได้ทั่วไป ตามเกาะท้องถิ่นและเกาะรีสอร์ทต่างๆ 



เตรียมเม็ม เตรีมแบตให้ดี ทั้งอัดทั้งถ่ายได้เลย อย่าหันหน้าไปมามากน่ะ เดี๋ยวเมาเรือ แนะนำให้มีอะไรเปรี้ยวๆ และยาดม ติดตัวไว้ เพราะคลื่นทะเลก็เหมือนผู้หญิงช่วงนั้นของเดือนเลยน่ะ บอกไว้ก่อนเลยว่าวันแรกพยายามไปเกาะที่ไกลที่สุดที่ต้องการไป เพราะอาการโคลงเคลงจะอยู่กับเราไปอีกหลายวัน วันหลังจะเริ่มไม่อยากนั่งเรือ วันสุดท้ายจะได้นั่งเรือโดยสารจากเกาะที่ใกล้ที่สุดที่อยากไป และป้องกันการตกเครื่องอันเกิดจากเหตูการณ์ที่ไม่คาตคิด

ภายในเรือในขณะที่นั่งท่องเที่ยวเมาเรือกันไป เดือน พค. คลึ่นสูงประมาณ สองถึงสามเมตร โคลงเคลง ชาวท้องถิ่นหลับไปพลาง นักท่องเที่ยวก็ดมยาไปค่ะ



เรือโดยสารท้องถิ่น ราคา 22 MVR ต่อคน ต่อเที่ยว ตลอดสาย ที่ท่าเรือมีแค่สองตารางที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ดูจากตารางการเดินเรือใน Google map มีเยอะกว่านี้ อย่างเช่น Male - Ukulhas - Rasdhoo - Mathiveri (หากต้องการไป แนะนำให้ติดต่อเกสต์เฮาส์ไหนก็ได้บนเกาะเพื่อขอตารางการเดินเรือฉบับล่าสุด หรือลองหาใน Google โดยพิมพ์ Mathiveri Local Ferry MTCC หากไม่พิมพ์ MTCC จะมีเว็บเช่าสปีดโบ๊ทส่วนตัวขึ้นมาบังข้อมูลเยอะมาก)


ช่วงมรสุมฤดูร้อนคลื่นสูงประมาณ 2 ถึง 4 เมตร แต่อาจจะสูงกว่านี้ในวันที่มีลมพัดแรงและพายุฝน มรสุมฤดูหนาวคลื่นสูงประมาณ 1 ถึง 2 เมตร อากาศดีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร เรือกระแทกมั้ยก็แล้วแต่อากาศวันนั้นๆ 

ตารางเดินทางจากเกาะ Male - Gulhi - Maafushi - Guraidhu 
(เรือโดยสารเดินทางสี่เกาะทางใต้ของเกาะ Male ในหมู่เกาะ Kafuu Atoll จากจำนวนทั้งหมด 107 เกาะ) 
ตารางต้องอ่านจากขวาไปซ้าย ออกเมื่อวันที่ 17 พค 2018


ตารางเดินทางจากเกาะ Male - Himmafushi - Huraa - Thulusdhoo - Dhiffushi 
(เรือโดยสารเดินทางห้าเกาะทางเหนือของเกาะ Male ในหมู่เกาะ Kafuu Atoll จากจำนวนทั้งหมด 107 เกาะ) 
ตารางต้องอ่านจากขวาไปซ้าย ออกเมื่อวันที่ 17 พค 2018


เรือกำลังล่องออกจากท่าเรือ ที่เกาะ Huraa เดือน พค. ในวันที่ฝนตกสลับแดดออก ร้อนสลับฝนมันก็จะเกือบจับไข้ได้ 


สำหรับนักแบกเป้ที่ไม่ชอบเดินทางโดยเรือตรวจสอบรายชื่อสนามบินภายในประเทศได้ตามลิ้งค์ 
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_airports_in_the_Maldives

รายชื่อสายการบินภายในประเทศ สายการบินเหล่านี้ยังไม่เห็นมีแสดงใน Google flight
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_airlines_of_the_Maldives



เที่ยวเกาะไหนดี
หมู่เกาะมัลดีฟส์มีมากกว่า 1,200 เกาะ (islands) แบ่งเขตการปกครองเกาะทั้งหมดออกเป็น 26 หมู่เกาะ (หมู่เกาะ = atoll) แต่ละหมู่เกาะประกอบด้วย เกาะเล็ก เกาะใหญ่จากต่ำสุดประมาณ 7 เกาะ จนถึงประมาณ 100 เกาะ แล้วจะเลือกหมู่เกาะไหน และไปพักเกาะไหนดี 

ดูการเกิด หมู่เกาะ (atoll) ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็ก เกาะใหญ่ หลายเกาะ ที่เกิดขึ้นริมแนวสันเขาได้เลย จะได้ไม่เข้าใจผิดว่า หนึ่งภูเขาไฟทำให้เกิดหนึ่งเกาะ เพราะจริงๆ แล้ว หนึ่งภูเขาไฟทำให้เกิดหนึ่งหมู่เกาะ นับรวมแล้วแสดงว่าประเทศมัลดีฟส์มีภูเขาไฟที่จมใต้น้ำ 26 ที่


แผนที่ประเทศมัลดีฟส์ด้านล่างจะทำให้เข้าใจง่ายนิดนึงสำหรับคนไปครั้งแรก และอาจทำให้อยากไปอีกหลายๆ ครั้งสำหรับคนที่เคยไปมาแล้ว เพราะเกาะเยอะเหลือเกิน แล้วสวยแทบขาดใจ แค่นั่งหน้าชายหาดก็ไม่อยากไปทำกิจกรรมอะไรแล้ว สำหรับนักเดินทางแบบแบกเป้มีให้เลือกสามเส้นทาง


เข้าใจได้คร่าวๆ คือเมืองหลวงอยู่ในหมู่เกาะ Kaafu Atoll เหนือ ในกรอบสีแดง สามารเดินทางโดยเรือประจำทาง ตารางออกเดินทางจากเกาะ Male - Himmafushi - Huraa - Thulusdhoo -Dhiffushi ในกรอบสีเขียวอยู่ในหมู่เกาะ Kaafu Atoll ใต้ สามารถเดินทางโดยเรือประจำทาง ตารางออกเดินทางจากเกาะMale- Gulhi - Maafushi - Guraidhu (Guraidhoo)


ส่วนในกรอบสีส้มอ่อนอยู่ในหมู่เกาะ Rasdhoo Atoll สามารถเดินทางโดยเรือประจำทาง ตารางออกเดินทางจากเกาะ Male - Ukulhas - Rasdhoo - Mathiveri


แผนที่จาก https://www.mondomaldive.com/Maps.html


แบกเป้เบี้ยน้อย นะนำให้เลือกเกาะใกล้ๆเดินทางโดยเรือโดยสารท้องถิ่นประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง อย่างเช่น Male – Dhiffushi หรือ Male– Guraidhoo แล้วค่อยๆ เดินทางกลับมาครั้งละเกาะ สองเกาะแล้วแต่เลือก หากมีงบและเวลาแถมอากาศดีก็เลือกเกาะที่สามารถเดินทางโดยเรือโดยสารท้องถิ่น 3 ถึง 4 ชั่วโมงได้ อย่างเช่น เส้นทาง Male – Mathiveri 


ตอนที่ไปเดือน พค. ไม่ได้เลือกเกาะ เส้นทาง Male – Mathiveri เพราะตรวจสภาพอากาศในแอ็ปล่วงหน้าหลายอาทิตย์ ลมพัดแรงมากประมาณ 20-25 mph แล้วจะรู้ได้ไงว่าตัวเลขนั้นแปลว่าอะไรก็ลองเปรียบเทียบสภาพอากาศกับเมืองที่เราอยู่ ว่าลมพัดประมาณเท่าไหร่ แล้วเราคิดว่าแรงมั้ย ปกติลมพัดแบบชื่นใจจะประมาณ 5-10 mph ที่ประเทศมัลดีฟหากลมพัดแรงจะมีผลให้คลื่นสูงเลยจองที่พักเกสต์เฮาส์ แบบ No show และติดต่อกับเกสต์เฮาส์ทาง whatsapp 


ทั้งสามเส้นทางเรือโดยสารตามที่เขียน เรือจะจอดแวะรับส่งผู้โดยสาร ตามเกาะต่างๆ ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากตารางเรือนักท่องเที่ยวก็สามารถหยุดพักตามเกาะนั้นๆ ได้ ตามแต่จะเลือกเกาะไหนเพิ่มเติมหรือนอนพักเกาะละคืน แต่เกาะแรกควรพักสองคืน เพราะกว่าจะถึงก็อาจเกือบเย็นแล้ว หากชอบเกาะไหนก็นอนต่อ ราคาห้องไม่ได้แตกต่างกันมากมายยกเว้นช่วงเดือน ธค. ถึง กพ. ซึ่งเป็นช่วงท่องเที่ยวของชาวยุโรป ซึ่งเดินทางมาพักเกาะท้องถิ่นเยอะเหมือนกัน เพราะมัลดีฟส์เป็นที่นิยมากสำหรับชาวอังกฤษ และสภาพฝนฟ้าอากาศแต่ละฤดู 


เบี้ยมากแนะนำให้เลือกรีสอร์ทบริเวณเกาะใต้ซึ่งมีสนามบินและอากาศโดยรวมทั้งปีฝนตกน้อยและน้ำใสกว่าภาคเหนือ หรือรีสอร์ทบนแนวปะการัง Ari atoll


กิจกรรม
ไม่ต้องจองล่วงหน้าไปดูอากาศและที่พักก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ไม่ต้องห่วงมีคนมาเสนอให้ตั้งแต่เช็คอินเลย

ของฝาก
ไม่มีอะไร ส่วนมากมาจากอินเดีย ศรีลังกา และประเทศไทย ไม่ต้องเตรียมเงินไปซื้อ

งบเท่าไหร่ดีสำหร้บแบกเป้
ตั๋วเครื่องบิน US$ 100 - 200
ค่าเดินทางภายในประเทศ US$ 10 (ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าอยากเดินทางด้วยอะไร ไปเกาะไหน กี่เกาะ)
ค่าที่พัก ค่าอาหาร ทานอาหารท้องถิ่นมือละประมาณ US$ 4 ทานบุฟเฟ่ต์ตามเกสต์เฮาส์มื้อละประมาณ US$ 10-15
กิจกรรม เบื้องต้นประมาณ US$ 25 - US$ 125
เน็ต (ไม่ติดโซเซี่ยล ไม่อยากนั่งแชท อยากเห็นมัลดีฟส์ และส่วนมากที่ไปพักเน็ตดี เลยไม่แนะนำเพราะส่วนมากทำกิจกรรมและอยู่บนเรือ)  

สรุปรายจ่ายเจ้าของบล็อก 11 วัน 10 คืน พักและเที่ยวชมหกเกาะท้องถิ่น อาหารท้องถิ่น บุฟเฟ่ต์สองมื้อ ดูปลาโลมาและดำน้ำดูปะการังหน้าเกาะที่พัก รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 18,000 บาท

ข้อมูลเพิ่มเติมจะแตกย่อยเป็นบล็อกอื่นๆ เพื่อให้อ่านง่ายกว่าและไม่ยาวเกินไป



Create Date : 25 มิถุนายน 2561
Last Update : 5 กรกฎาคม 2561 16:21:26 น.
Counter : 802 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 4627418
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



เริ่มต้นด้วยความสงสัยที่คนชอบพูดประโยคว่า ดูประเทศนั้นสิดีกว่าเมืองไทยตั้งเยอะ ทำไมประเทศไทยยังเป็นแบบนี้ เลยเก็บออมเงินไปดูหน่อยสิ ว่าที่เค้าพูดกันมันเป็นความจริงเหรอ
  •  Bloggang.com