|
๑๓ จักรราศี
การทำนายดวงในปัจจุบันในญี่ปุ่นมักจะมีวิธีทำนายชีวิต นิสัยใจคอใหม่ๆ อยู่เสมอ ก่อนหน้านี้มีการทำนายดวง ผ่านสัญลักษณ์สัตว์ที่เรียกว่า โดบุตสึอุระไน่(動物占い) ซึ่งมีสัตว์แปลกๆ พวกเปกาซัส หมาไนอะไรด้วย ส่วนผมนั้น ได้ลิงธรรมดาๆ แล้วก็มีทำนายรถไฟยามาโนะเทะ(山 手線占い) การตลาดของการทำนายมักมุ่งประเด็นไปที่ การจับคู่ ดูดวงว่าใครเข้ากับใครได้ดี
ล่าสุด (ที่จริงแล้วเขามีมานานพอสมควรแล้วแต่พึ่งเข้า ถึงหูผมเมื่อวาน) มีการทำนายจักรราศีใหม่ เป็น ๑๓ ราศี แทนที่จะเป็น ๑๒ ราศีเหมือนเคย
ผมลองไปดูข้อมูลของทางฝรั่งบ้าง มีบางเว็บให้ข้อมูลว่า การหมุนเวียนของดวงดาวมีการเปลี่ยนแปลง ตำแหน่ง ดวงอาทิตย์ไม่ได้อยู่ที่เดิม ดังนั้น จึงมีการหมุนผ่านราศีที่ ๑๓ แล้วก็เป็นเวลานานพอสมควร
ราศีที่ ๑๓ ที่ว่านี่คือ ราศีคนแบกงู(蛇遣い座:Ophiuchus)
ไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็นภาษาสันสกฤตให้ดูโก้เก๋ยังไงดี ราศีนาคี อะไรอย่างนี้ดีไหม ราศีที่เพิ่มขึ้นมานี้อยู่ระหว่าง ราศีพิจิกกับราศีธนู ทำให้ตำแหน่งดาวเปลี่ยนไป จักรราศี เปลี่ยน การดูดวงก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างของผมเดิมเป็น ราศีมกร ถ้าใช้ระบบนี้ก็จะกลายเป็นราศีธนูทันที
ทุกคนเทียบราศีใหม่ได้ที่นี่เลย
ราศีเมษ 19 Apr - 13 May (๒๓ วัน) ราศีพฤษภ 14 May - 20 Jun (๓๘ วัน) ราศีเมถุน 21 Jun - 19 Jul (๒๙ วัน) ราศีกรกฎ 20 Jul - 10 Aug (๒๑ วัน) ราศีสิงห์ 11 Aug - 15 Sep (๓๖ วัน) ราศีกันย์ 16 Sep - 29 Oct (๔๔ วัน) ราศีตุล 30 Oct - 22 Nov (๒๔ วัน) ราศีพิจิก 23 Nov - 29 Nov (๗ วัน) ราศีคนแบกงู 30 Nov - 17 Dec (๑๘ วัน) ราศีธนู 18 Dec - 18 Jan (๓๒ วัน) ราศีมกร 19 Jan - 15 Feb (๒๘ วัน) ราศีกุมภ์ 16 Feb - 10 Mar (๒๒ วัน) ราศีมีน 11 Mar - 18 Apr (๓๙ วัน)
รู้สึกว่าจำนวนวันแต่ละราศีจะไม่เท่ากัน แต่ก็น่าจะตรงกับ กลุ่มดาวมากที่สุด ถ้าจะท่อง ๑๓ ราศีในภาษาอังกฤษ ก็จะเป็น
Aries→Taurus→Gemini→Cancer→Leo→ Virgo→Libra→Scorpio→Ophiuchus→ Sagittarius→Capricorn→Aquarius→Pisces
จักรราศีในปัจจุบันจึงมีทั้งตำราเก่า ตำราใหม่ (น่าสงสารชาว แมงป่อง เพราะลดจำนวนวันลงไปมาก)เปลี่ยนมาใช้ระบบ ราศีใหม่ก็ไม่รู้ว่าโหราศาสตร์จะแม่นขึ้นหรือเปล่า ดีที่เมือง ไทยเราไม่เปลี่ยนชื่อเดือนตามจักรราศีที่เปลี่ยนไป
นึกถึงการ์ตูนเซนต์เซย่าที่ช่วยให้เด็กๆ สมัยนั้นจำศัพท์เกี่ยว กับจักรราศีได้ไม่ผิดเพี้ยน จักรราศีที่เปลี่ยนไปจะทำให้ ซิลเวอร์เซนต์ ไชน่าแห่งดาวคนแบกงู (โอฟิวคัส) (ชื่อนี้ วิบูลย์กิจชอบแปลผิดประจำ เพราะแปลยาก เนื่องจากภาษา ญี่ปุ่นจะอ้างอิงการอ่านภาษากรีกโดยตรง แต่ภาษาไทยจะ อ้างอิงเสียงอ่านภาษาอังกฤษ) คนที่รักเซย่า ในเรื่องเซนต์ เซย่าจะได้เลื่อนตำแหน่งจากซิลเวอร์เซนต์ไปเป็นโกลด์เซนต์ และจะได้เป็นโกลด์เซนต์หญิงคนแรก วันนี้เลยเอาภาพ ไชน่าในกรณีสมมติว่าเป็นโกลด์เซนต์มาแปะให้เชยชม
Create Date : 13 พฤษภาคม 2548 | | |
Last Update : 13 พฤษภาคม 2548 9:41:21 น. |
Counter : 5118 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เว็บล็อก "Mixi"
"มิกซี่"(Mixi) เป็นเว็บล็อกแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมที่ญี่ปุ่น เนื่องจากมีความเป็นส่วนตัวสูง การสมัครเข้าไปเป็น "มิกซี่" ก็ทำได้ยาก เหมือนการขอเมล์จากจี-เมล์ เพราะไม่สามารถสมัครได้โดยตรง ต้องขอให้คนที่เป็นสมาชิกมิกซี่อยู่แล้วแนะนำเข้าไปให้ บริการของมิกซี่จะให้เนื้อที่ในการเก็บไม่มาก แต่ก็สามารถจะเขียนเว็บล็อกได้เรื่อยๆ ไม่มีการตั้งค่าเกี่ยวกับหน้าจอเป็นพิเศษ จุดเด่นของ "มิกซี่" คงเป็นการสะกดรอย ซึ่งจะแสดงรายชื่อผู้ที่เข้ามาชมเว็บล็อกว่ามีใครบ้าง ซึ่งโดยปกติ ผู้ที่เข้ามาชมได้ มักจะเป็นเพื่อนของเพื่อน (ของเพื่อน) เรียกว่าตามลิงค์กันไปเรื่อยๆ เจอคนไหนที่น่าสนใจก็จะลองเข้าไปดูเนื้อหาในเว็บล็อก ดังนั้นปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงหมดไป เพราะสามารถย้อนกลับไปดูได้ว่าคนที่มาดูเว็บของตนเป็นใคร
นอกจากนี้ยังมีบริการเมล์หลังฉากติดต่อกันได้ด้วย เมื่อมีเมล์ใหม่เข้ามา "มิกซี่" จะรายงานให้ทราบทางเมล์ที่ระบุไว้ตอนสมัครอีกทีหนึ่ง
การเขียนเว็บล็อก สามารถใส่ภาพซึ่งจะถูกบีบไฟล์ให้เล็กโดยอัตโนมัติ ถึง ๓ รูป เมื่อมีการอัพเดทเว็บล็อก ก็จะมีสัญญาณแจ้งให้เพื่อนที่ลิงค์กับเรารู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง
บริการอีกอย่างคือ การเขียนแนะนำเพื่อน ซึ่งบังคับกันไม่ได้ (แต่สามารถระงับไม่ให้ปรากฏที่หน้าจอได้) ซึ่งคนไหนมีเพื่อนที่สนิทกัน เพื่อนก็จะเขียนแนะนำเราให้ แล้วก็จะปรากฏที่หน้าจอ
นอกจากนี้มิกซี่ยังมีกรุ๊ปคอมมิวนิตี้ รวมเว็บล็อกเป็นกลุ่มด้วย เช่น กลุ่มเรียนภาษาไทย กลุ่มหนัง เป็นต้น
เว็บมิกซี่ : //mixi.jp
Create Date : 13 มีนาคม 2548 | | |
Last Update : 13 มีนาคม 2548 11:40:56 น. |
Counter : 950 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เปรียบเทียบ "พันทิป" กับ "2ちゃんねる"
+ อันที่จริงผมไม่ใช่คนในโลกไซเบอร์เต็มตัว เพราะว่าชอบที่จะคุยกับใครๆ แบบเห็นหน้าค่าตามากกว่า แล้วผมก็เป็นคนช่างคุย คุยไปเรื่อย หยุดคุยเมื่อไหร่ก็จะว้าเหว่ (TへT)
+ แต่ต้องยอมรับว่าการได้เป็นสมาชิกพันทิปนั้นก็ทำให้มีเพื่อนไม่น้อย เป็นเพื่อนที่รู้จักกันแบบเห็นชื่อกันเท่านั้นก็มี หรือบางคนก็เคยรู้จักตัวเป็นๆ เพราะที่ห้อง@Japanนั้นมีการจัดงานพบปะกัน (ภาษาญี่ปุ่นเรียกงานแบบนี้ว่างานออฟ-ไค (オフ会) คือ ปิดเน็ตแล้วมาเจอกัน) ทั้งที่เมืองไทยและญี่ปุ่นเสมอๆ จึงมีโอกาสเห็นหน้าค่าตากัน
+ วังวนชีวิตในพันทิปมักจะวนเวียนห้องตัวเองเป็นหลัก บางทีก็ไปห้องภาษาไทย บางทีก็ไปประวัติศาสตร์ตามความชอบ เวลาเบื่อๆ อยากอ่านอะไรแปลกๆ หรือถ้าวันไหนเครียดๆ ก็จะไปอ่านห้องเฉลิมไทยที่เป็นโลกบันเทิง
+ ที่จริงแล้วเว็บตั้งกระทู้ของไทยก็มีมากแต่ต้องยอมรับว่าพันทิปเป็นเว็บอันดับหนึ่งจริงๆ วันนี้จึงถือโอกาสมาเปรียบเทียบเว็บอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นคือ "นิชันเนหรุ" (2ちゃんねる แปลว่า ช่องสอง) กันให้รู้ว่าเป็นอย่างไร _____________________________________
+ ต้องแจ้งให้ทราบกันก่อนว่าผมไม่ได้ลงทะเบียนเล่นในกระทู้ "นิชันเนหรุ" เลยอาจจะทราบพอผิวเผิน
+ ดูตามรูปลักษณ์แล้ว "พันทิป" นั้นดีกว่าเป็นกองเพราะว่ามีสีมีสัน ส่วน "นิชันเนหรุ" นั้น เป็นแค่เว็บขาวๆ มีตัวหนังสือเท่านั้น ที่สำคัญคือแปะรูปไม่ได้ แต่จะมีเอกลักษณ์คือ จะมีคนเอาตัวหนังสือมาสร้างเป็นรูปแบบASCII แทน เข้าใจว่าทั้งสองเว็บคงพยายามลดปัญหาเรื่องการกินเนื้อที่จัดเก็บเพราะกระทู้ยิ่งเยอะก็เปลืองเนื้อที่มาก ยิ่งมีรูปก็ยิ่งยากไปใหญ่
+ เว็บไซต์พันทิปค่อนข้างจะมีโฟลเดอร์มากเท่าที่ผมสังเกต คือมีการแตกแขนงสายไปเรื่อยๆ จากโต๊ะเป็นห้อง (ทำไมใช้คำสลับกันไม่ทราบ ที่จริงผมหน้าจะเรียกห้องผมว่า ห้องไกลบ้าน โต๊ะ@Japanน่าจะถูก) ในขณะที่ "นิชันเนหรุ" นั้นมีการแตกสายแบบเห็นกันหมด คือ เราจะเห็นว่ามีห้องอะไรคุยเรื่องอะไรทีไหนบ้านแบบทั้งหมด แสดงไว้ที่บาร์ซ้ายมือของเว็บ เนื้อหาบางห้องก็คล้ายกันแต่อยู่คนละCategory แต่ "นิชันเนหรุ" จะทำการติดตั้งคุกกี้ให้เครื่องที่เล่นอยู่รับรู้ว่าเราเข้าห้องไหนของ "นิชันเนหรุ" เป็นหลัก สำหรับคนที่เข้าแค่ห้องเดียวก็คงไม่ต้องสนใจบาร์ซ้ายมือ
+ จะว่าไปแล้วก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน คือ เวลาที่อยากเปลี่ยนไปดูเนื้อหาห้องอื่น ของ"นิชันเนหรุ" จะทำได้ทันที ในขณะที่ของ "พันทิป" ต้องออกไปแล้วเข้าเป็นทอดๆ เช่น จะไปห้องภาษาไทยก็ต้องกดไปโต๊ะห้องสมุดก่อน แล้วไปเลือกเมนูเข้าห้องอีกที (ถึงแม้ว่าพันทิปจะมีบริการบุ๊คมาร์คให้ก็ตาม ผมก็ยังไม่ได้ใช้สักเท่าไหร่) แต่ของ "นิชันเนหรุ" นั้นรกตามาก
+ ความแตกต่างต่อมาคือ กระทู้ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าスレッドเข้าใจว่ามาจากภาษาอังกฤษว่า thread) ของญี่ปุ่นจะเป็นการตั้งกระทู้แบบไม่ให้เปลืองเนื้อที่ การเขียนตอบในกระทู้จึงเป็นการเขียนไปจนกระทู้ครบ ๑๐๐๐ ความคิดเห็น ก็จะต้องไปตั้งกระทู้กันใหม่แล้วก็เขียนไป กระทู้เก่าก็ถูกจัดเก็บเข้าตู้ ถ้าใครอยากอ่านกระทู้เก่าต้องเสียสตางค์เป็นสมาชิกที่สามารถเข้าไปเปิดดูกระทู้เก่าได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะการเก็บข้อมูลเก่าๆ นั้นถ้าไม่ได้ใช้งาน ผู้เก็บก็ต้องเสียค่าเก็บสต็อก การไปดูกระทู้เก่าจึงเป็นเหมือนบริการพิเศษที่ต้องเสียเงินไปขอดู เข้าใจว่าการตั้งกระทู้มีขอบเขตจำกัด คือตั้งกันไม่ได้มาก มีอะไรก็ไปคุยในกระทู้เดิม หรือกระทู้อื่นที่มีเนื้อหาใกล้กับความต้องการของตน จนกระทู้ครบพัน
+ ส่วนพันทิปเป็นแบบถามมา ตอบไป รู้เรื่องแล้วก็จบกัน กระทู้ก็จะเป็นหมันไม่มีการเสริมต่อยอดเท่าไหร่ การเข้าไปอ่านกระทู้ใน "นิชันเนหรุ" จึงค่อนข้างอ่านยากเพราะบางทีประเด็นก็เบี่ยงเบนไปตามความต้องการของคนที่เข้ากระทู้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นส่วนน้อยแล้วเขียนเรื่องนอกเรื่องก็จะโดนด่าเอาได้
+ นิสัยคนในกระทู้ที่เหมือนๆ กัน คือ ขาดัน เพราะหากมีการอัพเดทกระทู้เรื่อยๆ กระทู้ที่มีการอัพเดทจะอยู่บริเวณต้นๆ ของหน้าของห้อง ถ้ากระทู้ตกไปก็ต้องกดเข้าไปดูห้องรวมว่าจริงๆ แล้วมีกระทู้อะไรในห้องนี้บ้าง ซึ่งก็ดูยากเพราะมีการพิมพ์เรียงต่อกัน ไม่มีขึ้นย่อหน้าใหม่ คนไทยขาดันมักจะพิมพ์คำง่ายๆ แค่ "ดัน" ให้รู้ว่ามาดันไม่ให้กระทู้ตก พบได้ตามเว็บทั่วไป (ของพันทิปไม่ค่อยมี) ส่วนที่ญี่ปุ่นจะใช้คำว่า "age" (อาเงะ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ หมายถึงดัน)
+ อีกนิสัยคือจะมีตัวป่วนอยู่ด้วย เว็บไซต์ในญี่ปุ่นอย่าง "นิชันเนหรุ" ไม่ต้องลงทะเบียนเลยมีตัวป่วนแบบที่มีในพันทิปสมัยก่อน เจ้าของไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ จะมีแต่โค้ดซึ่งเป็นเบอร์คุกกี้ที่อยู่ในเครื่อง ที่พอจะหาต้นตอกันได้ ภาพที่เห็นในเว็บญี่ปุ่นจึงไม่ต่างจากเว็บไทย สภาพที่เราเห็นกับตาของญี่ปุ่นกับสภาพที่เรารู้จักในเว็บจึงต่างกันอย่างมาก คือ ไม่ค่อยไว้หน้ากัน ซึ่งก็คงเป็นผลพวงมาจากที่ว่าใครจะเข้ามาเขียนอะไรก็ได้ แล้วก็ตามตัวกันยาก บางคนจึงไม่ค่อยรักษามารยาท
+ ดูเหมือน "นิชันเนหรุ" จะไม่ค่อยดี เพราะอาศัยว่าพิมพ์สะดวกเข้าว่า ใครใคร่พิมพ์ก็พิมพ์ เหมือนเป็นกระดาษระบายอารมณ์ บางกระทู้ดีก็มีสาระ บางกระทู้ก็เหลวแหลก หน้าตาไม่สวยเท่าพันทิปเพราะต้องการให้โหลดเร็ว จึงมีแต่ตัวหนังสือกับกราฟฟิคอย่างง่ายๆ เท่านั้น แต่ว่าก็ยังมีข้อดีเหนือพันทิปอยู่หน่อย คือ สามารถพิมพ์แบบUnicodeได้ คือ จะพิมพ์ภาษาไทยปนญี่ปุ่นก็ทำได้ ในขณะที่เว็บพันทิปยังทำไม่ได้ ทำให้สมาชิกในห้อง@Japanที่ต้องใช้ทั้งสองภาษานี้บ่อยๆ ลำบากอยู่พอสมควร ถ้าพันทิปปรับปรุงเป็นแบบUnicodeได้ คงดีไม่น้อย
+ สุดท้ายนี้ ขอแจ้งข้อเสียของทั้งพันทิปและทั้งของที่บล็อกแก็งนี่อีกทีคือ พิมพ์ย่อหน้าไม่ได้ซักที่ น่าจะมีวิธีพิมพ์ย่อหน้าด้วยนะครับเนี่ย
เว็บไซต์ "นิชันเนหรุ" : //www.2ch.net/
Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2548 | | |
Last Update : 2 มีนาคม 2548 8:30:33 น. |
Counter : 937 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|