...ความรู้สามารถเรียนทันกันได้...
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
8 มีนาคม 2560
 
All Blogs
 

บทที่ 5 กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา



 บทที่ 5 กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา


บทที่ 5 กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา(Earning Before Interest, Tax, Depreciation and Amortization - EBITDA) - - - - ตัวเลขที่สำคัญของ value investor


บทนี้อาจจะเป็นบทหนึ่งที่สำคัญที่สุดในเล่มนี้ เพราะเป็นส่วนที่ผู้อ่านจะได้นำไปวิเคราะห์หุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจนำไปสู่ความสำเร็จในการลงทุน 

ซึ่งผมจะพยายามอธิบายให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ..


ตอนนี้มาถึงส่วนของ EBITDA ซึงเราจะได้ยินกันบ่อยๆว่า นักวิเคราะห์ทางการเงินชอบดู EBITDA 

ชื่อเต็มๆ ของมันก็คือ Earning Before Interest, Tax, Depreciation and Amortization หรือ “กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา”


ในบทก่อนๆ เราได้ทราบถึงต้นทุนขายและต้นทุนด้านการขายและบริหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ต้นทุนข้างต้นนี้ประกอบรวมกันเป็น “ต้นทุนการดำเนินงาน” ซึ่งเมื่อหักจากรายรับที่ได้ ก็จะได้เป็น “กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา” 

ซึ่งบางคนสงสัยว่าในทางบัญชีแล้วนั้น ทำไมต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) และค่าเสื่อมราคา ถึงไม่ถูกเอามารวมใน “ต้นทุนการดำเนินงาน” 

ระบบบัญชีมีเหตุผลอะไรหรือ... ซึ่งเหตุผลก็คือ ต้นทุนค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถในการดำเนินงานน่ะสิ!!


เพราะค่าเสื่อมราคา เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายออกไปจริงใน “งบกำไรขาดทุน” เนื่องจากว่าได้ทำการลงทุนไปตั้งแต่ต้นแล้ว 

เพียงแต่รอเวลาในการตัดค่าเสื่อมให้หมดในทางบัญชี (เราจะได้เรียนรู้กันในบทต่อไปที่เกี่ยวกับค่าเสื่อมราคา) 

ในขณะที่ต้นทุนทางการเงิน หรือภาระดอกเบี้ยต่างๆ ถ้าหากมีการเพิ่มทุนหรือหาแหล่งทุนในราคาถูกเข้ามาก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้หรือมีน้อยลง 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองรายการนี้ เป็นรายการที่ตัวแปรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมากนัก และเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ยกตัวอย่างสักหน่อยดีกว่า


สมมติบริษัท A มีรายได้อยู่ที่ 100ล้านบาท ต้นทุนการดำเนินงานมีจำนวน 70ล้านบาท เท่าว่า %EBITDA อยู่ที่ 30% ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว 

แต่ปรากฏว่าบริษัท มีหนี้สินอยู่ที่ประมาณ 200ล้านบาท ทำให้เกิดดอกเบี้ยจากเงินกู้สูงถึง 30ล้านบาทและมีค่าเสื่อมราคาตัดจ่ายในปีนั้นอีก 20ล้านบาท 

กลับกลายเป็นว่ารายรับของผมที่ 100 บาท ไม่เพียงพอต่อต้นทุนทั้งหมด ทำให้ขาดทุนไป 20ล้านบาท (รายรับ 100 ล้านบาท รายจ่าย = 70+30+20 = 120ล้านบาท)
ทีนี้บริษัท A ก็เลยบอกว่า ไม่เอาละ!! ทำมาก็เอาไปใช้หนี้หมด เอาเงินตัวเองมาเพิ่มทุนซะเลย 

จึงลงเงินเพิ่มเข้าไป 200ล้านบาท ถ้าเหตุการณ์ทุกอย่างยังเหมือนเดิม รายรับและต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทยังคงเท่าเดิม 

มันก็เท่ากับว่ากิจการนี้จะประหยัดต้นทุนทางการเงินไปได้ 30ล้านบาท ทำให้กิจการที่ปีกลายขาดทุน 20ล้านบาทพลิกกลับมามีกำไรที่ 10ล้านบาททันที


ต่อมาบริษัท A ก็รู้อีกว่าค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการลงทุนรถบรรทุกที่มีการตัดค่าเสื่อมราคา 5 ปี 

และปีนี้เป็นปีสุดท้าย คือ ปีที่ 5 แล้วเช่นกัน (ในปีหน้ามูลค่าซากในทางบัญชีจะเหลือ 1 บาท) 

ดังนั้นต้นทุนค่าเสื่อมราคาอีก 20ล้านบาทก็จะหมดไป และปีต่อไปบริษัทก็จะมีกำไรสูงขึ้นอีก 20ล้านบาท 

กลายเป็นว่าผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินทุน ทำให้ต้นทุนทางการลดลงและการที่ค่าเสื่อมราคาหมดลงด้วยพร้อมกัน 

จะทำให้กิจการที่เมื่อปีกลายขาดทุน 20ล้านบาท กลายมาเป็นกำไร 30ล้านบาททันที..


จากตัวอย่างข้างต้น เราก็จะเห็นว่า ทั้งต้นทุนค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงิน เป็นต้นทุนที่ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนของบริษัท 

แต่เป็นเรื่องทางบัญชีและสามารถแก้ไขได้โดยที่อาจจะใช้กลไกทางการเงินและไม่ต้องพึ่งพาความสามารถในการดำเนินงาน 

และนี่แหละคือประเด็นสำคัญที่บรรดานักวิเคราะห์หรือเซียน VI ทั้งหลายใช้จุดนี้ในการเข้าเลือกลงทุนในหุ้น..

เพราะกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการวิเคราะห์ก็คือ การดูว่า EBITDA มีความสม่ำเสมอและมีการเติบโตหรือไม่ เพราะมันหมายถึง “ความสามารถที่แท้จริงของกิจการ” 

และถ้าเค้าพบว่ามีบางกิจการที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินทุน หรือว่า “หนี้ลดฮวบๆ” อารมณ์ประมาณว่าบริษัทไม่เอากำไรมาปันผล

 แต่เอาไปจ่ายหนี้ เค้าก็จะฟันธงว่าปีหน้ากำไรก็จะ “โตแบบก้าวกระโดด” ในขณะเดียวกันที่ผู้ที่มีความรู้ถึงขนาด “เซียนเหยียบเมฆ” อาจจะสามารถแกะรอย “ค่าเสื่อมราคาสะสม” 

ทำให้ทราบว่าปีหน้าค่าเสื่อมราคาจะลดลง (อันที่จริงเรื่องนี้ ผู้บริหารจะรู้ดีที่สุด เพราะเป็นผู้จัดทำบัญชี) 

และทำให้กำไรดีดตัวมหาศาลก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้ผมขอเก็บไว้เล่าในบทของค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทาการเงินแล้วกันครับ

เราก็จะเห็นได้ว่าการที่ EBITDA มีกำไรสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว ในบางโมเดลของบางธุรกิจ 

ระบบการดำเนินงานที่มีเสถียรภาพ ก็ทำให้ EBITDA เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างชัดเจน ผ่านความสามารถในการจัดการ “ต้นทุนขาย” และ “ต้นทุนด้านการขายและการบริหาร” 

ซึ่งผมจะขอลองยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม ดังนี้


ข้อแรก การเติบโตของกิจการทำให้ “ต้นทุนขาย” ลดลง นั่นเพราะว่าเวลาที่ผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น 

ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบต่อหน่วยลดลง นอกจากนี้ อาจทำให้เกิด “การประหยัดต่อขนาด” หรือที่เรารู้จักกันว่า “Economy of scale” 

เช่นว่าผลิตทีละ 2,000,000 ชิ้น ก็ต้องวอร์มเครื่องด้วยค่าไฟ 500,000 บาท การผลิตที่ 4,000,000 ชิ้น 

ก็อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าวอร์มเครื่องแล้ว เพราะผลิตไปพร้อมกันเลย ซึ่งก็อาจจะทำให้ต้นทุนรวมลดลงได้มากถึง 5-20% ทีเดียว


ข้อที่สอง การเติบโตของกิจการ ก็อาจจะทำให้การบริหารส่วนกลางสามารถ “ใช้ทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น” 

ซึ่งก็เป็นหลัก “Economy of scale” เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบงานที่ใช้ซอฟท์แวร์บริหารจัดการ และต้องจ้าง”คนดูแลระบบ” จำนวน 5 คน 

เปิดแฟรนด์ไชส์สะดวกซื้อ 200 สาขา ก็ต้องมีคนดูแลระบบ 5 คน พอขยายมาเป็น 2,000 สาขา ก็อาจจะจ้างเพิ่มเพียงแค่ 2 คน รวมเป็น 7 คน 

ในขณะที่สาขาเพิ่มขึ้นมาตั้ง 10 เท่า (1,000%) แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นเพียง 40% เท่านั้น หรืออย่างเรื่องปลีกย่อย 

เช่น พนักงานบัญชีเดิมมี 10 คน การขายสินค้าเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นแค่การกรอกตัวเลขเพิ่ม โดยที่ไม่ต้องใช้พนักงานเพิ่ม 

หรือคดีความที่เดิมมี 10 คดี อาจจะเพิ่มมาเป็น 15 คดี ในขณะที่ยังจ้างนิติกร 2 คนเช่นเดิม


ทั้งสองข้อตรงนี้ล่ะ ที่ทำให้ EBITDA ที่ไม่เพียงแต่กำไรจะโตขึ้น แต่ % ของ EBITDA ก็จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วย 

ในลักษณะที่เรียกว่า “ยอดขายโต แต่ต้นทุนไม่โตตาม” ส่งผลให้ “กำไรเต็มๆ เน้นๆ เนื้อๆ” ซึ่งหากที่สามารถวิเคราะห์ตรงจุดนี้ได้

 และเข้าลงทุนในจังหวะที่ “คาบลูกคาบดอก” หรือ “กำลังเปลี่ยนผ่าน” หรือที่เค้าพูดกันอย่างติดปากว่า “กำลัง Turnaround

(ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ Turn มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันแค่รอเวลากระโดด)” ก็จะสามารถทำกำไรจากการลงทุน 

หรือแม้แต่รอรับ “เงินปันผล” ที่จะมีอย่างมหาศาลในอนาคต อย่างมิพักต้องสงสัย..

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าบทนี้จะทำให้เกิดผู้อ่านเกิดไอเดีย ในการ “เร่งเปิดตัวเลขทางการเงิน เพื่อค้นหา EBITDA” ของบริษัทที่เราสนใจ มาวิเคราะห์กันอย่างละเอียดมากขึ้นแล้ว

บทต่อไป เราจะมาเรียนรู้กันถึงเรื่องของค่าเสื่อมราคากันครับ..


https://www.facebook.com/permalink.php?id=241713975906680&story_fbid=775160192562053




 

Create Date : 08 มีนาคม 2560
0 comments
Last Update : 8 มีนาคม 2560 22:00:24 น.
Counter : 1331 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Querist
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




Friends' blogs
[Add Querist's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.