พฤษภาคม 2553

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
"มังคุด" ราชินีผลไม้ โลกนี้มีพันธุ์เดียว
เย็นนี้ไปเดินตลาดมา เห็นมังคุดวางขายกันเกลื่อน มองไปทางไหนก็เหมือนๆ กัน เลยหวนนึกถึงตอนสมัยเรียน

เอ้อ... ใช่ มังคุดมันมีพันธุ์เดียวนี่

เลยกลัีบมาหาข้อมูลมังคุดเล่นๆ ได้สาระบ้าง ไม่ได้สาระบ้าง เลยอยากเอามาแบ่งปันกัน ตามประสา "หว้ากอ" ครับ

มังคุด มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า "Mangosteen"

(ไม่รู้ที่มาว่าทำไมต้องชื่อนี้ แต่ถ้าให้ผมเดา น่าจะมาจากคำ 2 คำคือ Mango ที่แปลว่ามะม่วง กับ teen ที่แปลว่าวัียรุ่น รวมกันเป็น Mangosteen ที่แปลว่ามะม่วงวัยเยาว์ ซึ่งมะม่วงบางพันธุ์ตอนยังไม่แก่จะมีสีม่วงคล้ายสีของมังคุด - อันนี้เดาล้วนๆ)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangstana


มังคุดเป็นไม้ ไม่ผลัดใบ (evergreen tree) – ความจริงมันผลัดใบนะครับ แต่มันผลัดไม่พร้อมกัน จึงเรียกไม้ไม่ผลัดใบ เหมือนกับต้นไม้อื่นๆ ที่มีใบตลอดปี ซึ่งต่างจากไม้ผลัดใบที่พร้อมใจกันทิ้งใบในช่วงหน้าแล้ง เช่น หูกวาง ฯลฯ


มังคุดเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจาก หมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกกะ และหลังจากนั้นได้แพร่พันธุ์ไปยังหมู่เกาะอินดีสตะวันตกในทะเลแคริเบียน จากนั้นก็ถูกนำไปปลูกในประเทศแถบอเมริกากลาง-ใต้ รวมถึงหมู่เกาะฮาวายของอเมริกาด้วย




ส่วนในประเทศไทยเชื่อว่าถูกนำเข้ามาปลูกนานแล้ว และมีปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในสมัยรัชการที่ 1

ซึ่งอยู่ในโคลง ห้องที่ ๑๐..."กำเหนิดทรพีในฝูงทรพา เทวดาช่วยรักษาจนทรพีเติบโตเท่าบิดา
มาท้าแล้วขวิดทรพา "ผู้เป็นพ่อ" ตาย"
แผ่นโคลงที่ 43 บทโคลงที่ 292 ดังว่า...

ทรพีขวิดพฤกษล้ม..........แหลกยับ
มะม่วงมะปรางสัป....................รดม้วย
มังคุดทุเรียนพลับ.....................จีนหัก โค่นแฮ
ลางสดเงาะสละกล้วย...............เกลื่อนพื้นพสุธา ฯ


กล้ามังคุดเมื่อยังเล็กครับ




อันนี้ต้นมังคุดเมื่อผลิดอกออกผลครับ (โดยปกติจะเริ่มออกผลเมื่อต้นไม้ได้อายุราวๆ 7-8 ปีครับ)




สำหรับรูปร่างภายนอกของผลมังคุดคงไม่ต้องบรรยายนะครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านรู้จัก “มังคุด” กันดี

แต่มีที่น่าสนใจอย่างหนึ่งครับว่า จำนวนกลีบของเนื้อจะเท่ากับจำนวนกลีบดอกที่อยู่ด้านล่างของเปลือก
(นั่นแน่ ใครไม่เชื่อไปเปิดตู้เย็นเอามาลองดู ไม่งั้นพรุ่งนี้ก็ไปซื้อมาพิสูจน์)



มังคุดได้รับขนานนามว่าเป็น "ราชินีของผลไม้" อาจเป็นเพราะด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติด อยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินี ดังภาษาฝรั่งเค้าว่า "Mangosteen, Queen of Fruits"

และที่ //www.squidoo.com/ เค้าบอกไว้ว่ามังคุดเป็น 1 ใน Three exotic fruits you must try before you die นอกเหนือจากทุเรียนและขนุน

ส่วนของเนื้อมังคุดที่เรารับประทานกันคือส่วนของ Aril (หรือ arillus) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่เจริญมาจาก hilum ของเมล็ดและห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้ซึ่งก็คล้ายกับผลไม้ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน ลิ้นจี่ ลำใย ทับทิม ฯลฯ

และที่พิเศษกว่านั้นคือ ผลมังคุด เป็นผลแบบ Apomixis หมายความว่า เป็นผลไม้ที่ไม่ต้องมีการผสมก็สามารถสร้างเมล็ดได้ กล่าวง่ายๆ ก็คือ ไม่มีการแบ่งตัวแบบไมโอซิส และเมื่อเอาเมล็ดไปปลูกก็จะได้ต้นเหมือนกับต้นแม่ทุกประการ เหมือนกับการขยายพันธุ์แบบตอนกิ่ง หรือปักชำ

นั่นหมายความว่า มังคุดทั่วโลก ที่คนกินกันอยู่ คือพันธุ์เดียวกัน และเป็นเหตุผลว่าทำไมตั้งแต่เกิดเราจึงเห็นมังคุดอยู่แค่พันธุ์เดียว ไม่มีพันธุ์ใหม่ออกมา เหมือนผลไม้ชนิดอื่นอย่าง มะม่วง ลำใย ลิ้นจี่ หรือแม้แต่ทุเรียน ฯลฯ

จากการศึกษา phylogeny พบว่ามังคุดเกิดจากการผสมของ Garcinia malaccensis ซึ่งเป็นต้นพ่อกับ Garcinia hombrioniana เป็นต้นแม่

ซึ่งนักวิจัยอินโดนีเซีย พบว่าต้นมังคุดทั้งหมดที่ศึกษาไม่ได้มีพันธุกรรมเหมือนกัน 100% ซะทีเดียว ซึ่งอาจเป็นผลมากจากการกลายพันธุ์ทีละน้อยจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่รู้เมื่อไหร่ว่ามันจะกลายพันธุ์ไปจนหน้าตาต่างกันจนเป็นคนละพันธุ์จนเป็นมังคุดพันธุ์ใหม่

และจากการผสมข้ามชนิดที่พ่อแม่มีโครโมโซมไม่เท่ากัน ทำให้มังคุดซึ่งเป็นลูกผสมเป็นหมัน มีจำนวนโครโมโซมยังไม่เป็นที่แน่ชัด 2n=56-76, 88-90-96, 120-130



มาดูหน้าตา แม่และพ่อของมังคุดกัน



ส่วนการปรับปรุงพันธุ์มังคุดก็ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการผสมพันธุ์เหมือนกับผลไม้อื่นส่วนใหญ่

การปรับปรุงพันธุ์เพื่อปรับปรุงคุณภาพบางอย่างของมังคุด จึงต้องอาศัยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ เช่น การฉายรังสี หรือ การเพิ่มจำนวนโครโมโซมแทน ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

*การฉายด้วยรังสีแกมมาสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะยีนบางตัวได้ในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ*



อันนี้เป็นการใช้ colchicine เพื่อเพิ่มจำนวนชุดโครโมโซม แต่ก็ยังไม่สำเร็จเพราะยังไม่สามารถตรวจนับชุดโครโมโซมได้



ยังไงก็ตาม ถือว่าเป็นโอกาสในการเกิดพันธุ์ที่ดี เพราะการผสมต่างสายพันธุ์ดังกล่าว ทำให้ได้มังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหาร และเป็นผลไม้ชั้นดีที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

โดยทั่วมังคุดจะเริ่มติดผลโดยปรากฏเป็นผลขนาดเล็กๆ สีเขียวซีดอยู่ภายใต้เรือนยอดของต้น จากนั้น 2-3 เดือน สีของผลจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม และเปลี่ยนเป็นสีม่วงเมื่อสุก ซึ่งรวมเวลาจากติดดอกไปถึงเก็บเกี่ียวได้จะใช้เวลาประมาณ 12-14 สัปดาห์

*การพัฒนาของมังคุด*



ชาวสวนจะเก็บมังคุดจากต้นในขณะที่ผลยังเขียวอยู่และทันทีที่เก็บผลแล้วจะต้องเก็บไว้ในสภาพที่มีความชื้นเพียงพอ มิเช่นนั้นแล้วมังคุดจะเปลี่ยนสีเพียงชั่วข้ามคืน หมายถึงระยะเวลาการขายก็หมดลง แต่หากเก็บในสภาพที่เหมาะสม มังคุดนั้นจะอยู่นานได้นับ 10 วันก่อนจะสุกและถึงปากผู้บริโภค

ซึ่งสภาพที่แนะนำสำหรับผลมังคุดที่มีสีม่วงแดงคือ ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10-13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 %
เก็บรักษาได้นานประมาณ 2-4 สัปดาห์

*มังคุดระยะที่ใกล้จะพร้อมเก็บเกี่ยวครับ*



*อันนี้เป็นภาพที่เพิ่งเก็บเกี่ยวลงมาจากต้นครับ ซึ่งจะสังเกตว่าสีของเปลือกยังเป็นสีแดงอ่อนๆ อยู่*



ากนั้นมังคุดจะถูกลำเลียงไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเพื่อจำหน่ายให้พวกเราได้กินกันครับ

แต่มีบางส่วนที่ส่งไปขายต่างประเทศ จะต้องมีการบรรจุหีบห่ออย่างดีเพื่อรักษาคุณภาพไว้ครับ

*บรรจุภัณฑ์ของมังคุดที่จะส่งออกครับ*



ตามรายงานของ //www.nfi.or.th/mangosteen/th/WorldSituation.asp ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีวัตถุดิบมังคุดมากที่สุดในโลก

*พื้นที่ปลูกและผลผลิตมังคุดของบ้านเราเมื่อสัก 3-4 ปีที่แล้ว*



ส่วน นี่เป็นพื้นที่เพาะปลูกมังคุดหลักๆ ของเอเชียครับ



และเนื่องมาจากความแตกต่างของฤดูกาลในภูมิภาค ทำให้ช่วงการผลิตมังคุดของเอเชีย มีช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จึงไม่แปลกที่ประเทศนำเข้าผลไม้ จะมีมังคุดกินตลอดปี



มังคุดเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูง ถึงกับมีการขายมังคุดออนไลน์กันครับ

โปรดพิจารณาราคาดูนะครับว่า มังคุดเรามีค่าตัวสูงแค่ไหนในต่างแดน



แต่ เอ่อ... พี่น้องครับ










อันนี้ตลาดบ้านเราครับ



คุณค่าทางโภชนาการ

ส่วนของเนื้อมังคุด มีประมาณ 25-30% ของผล มี soluble solids 19.8%, น้ำตาลรูปรีดิวซ์ 4.3% และน้ำตาลรวม 17.5% (//www.bar.gov.ph/agfishtech/crops/mangosteen.asp)



นี่เป็นของอีกรายงานหนึ่งครับ เกี่ยวกับข้อมูลโภชนาการ




แต่สำหรับผม ไม่ค่อยชอบกินสดๆ สักเท่าไหร่ครับ

ต้องนี่ครับ

ไวน์มังคุด

ซึ่ง เลิศรสสำหรับอาหารไทยหรือจีนที่รสไม่จัดเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะ อาหารประเภทย่าง เช่น ไก่ย่าง เนื้อย่าง หมูย่าง สเต๊ก บาบีคิว อาหารประเภทยำ เช่น ยำเนื้อหรือหมู เนื้อหรือหมูน้ำตกที่ไม่เปรี้ยวและไม่เผ็ดนัก



อย่างไรก็ตาม เรามักได้ยินกันว่า มังคุดแก้ร้อนในได้...

ใช่ครับ

ก็เพราะในส่วนของมังคุดไม่เว้นแม้กระทั่งเนื้อมังคุดมีสาร xanthones ซึ่งมีผลต้านการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา อันเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในปากจากอาการร้อนใน
การร้อนในมักเกิดในช่วงที่จากภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแอ หรือการรับประทานอาหารที่เผ็ด หรือผู้ที่ขาดสาร โฟเลท, สังกะสี, vitamin B12, และเหล็ก

หรือการทานผลไม้ที่ชักนำให้เกิดการร้อนใน เช่น ทุเรียน เงาะ ลำใย ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการร้อนในได้

หน้าร้อนๆ แบบนี้ กินทุเรียนเยอะๆ กันแบบนี้ ตบท้ายด้วยมังคุดหน่อยก็ดีครับ

มังคุด น่าจะอยู่คู่กับมนุษย์มาช้านานนะครับ เพราะมีภาพวาดของศิลปินยุคเก่าได้วาดภาพมังคุดกันไว้

ขออนุญาต นำมาปิดท้ายกันครับ



ท้ายสุด สุดท้าย ลืมไม่ได้ครับ

ขอขอบคุณ...

ข้อมูลทั่วไปของมังคุด จาก...
//www.wikipidia.com
//www.mangosteen.com/Sciencenonscienceandnonsense.htm

ข้อมูลเศรษฐกิจและการปลูกมังคุด จาก...
//www.nfi.or.th/mangosteen/th/index.asp

ข้อมูลลึกๆ ของพันธุ์มังคุด จาก...
//pkbt.ipb.ac.id/pages/journal/download.php?f=mangosteen-genetics-and-improvement.pdf
//www.icuc-iwmi.org/files/Publications/Mangosteen_Monograph.pdf.pdf

ข้อมูลเภสัช คร่าวๆ จาก...
// mangosteenfactsonline.com/mangosteen-for-the-treatment-and-prevention-of-canker-sores-gum-disease/

ข้อมูลโคลงเพราะๆ จาก...
//www.kaweeclub.com/b35/t509/

ข้อมูลภาพทุกภาพที่ปรากฏใน link

ประตูสู่โลกกว้าง... อากู๋ กูเกิ้ล ดอทคอม

และห้องหว้ากอ พันทิป ดอทคอม ที่ให้ระบายความอยาก

อ้อ... อีกอย่าง อย่าลืมอุดหนุนพี่น้องเกษตรกรกันหน่อยนะครับ




Create Date : 12 พฤษภาคม 2553
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 1:45:32 น.
Counter : 3934 Pageviews.

3 comments
  
สวัสดีตอนดึกๆ ของวันใหม่ ฝันดีนะคะ อิอิ ^__^
โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:53:30 น.
  
เข้ามาอ่านแล้วได้ประโยชน์มากๆ เลยค่ะกับมังคุดผลไม้โปรด เพิ่งรู้นะคะเนี่ยว่ามีพันธุ์เดียวในโลก

เมื่อสมัยยังเด็กๆ วิสกี้มีบ้านอยู่ใกล้ๆ ส่วนทุเรียน มังคุด ละมุดค่ะ ได้เห็นการเจริญเติบโตของเค้า แล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมังคุดถึงได้มีราคาแพงนิดหน่อย ส่วนตัวแล้วชอบกินลูกเล็กๆ ค่ะ เพราะข้างในจะได้เป็นกลีบเล็กไม่เจอเม็ดใหญ่โป้งๆ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลละเอียดๆ อย่างนี้ค่ะ
โดย: วิสกี้โซดา วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:2:07:05 น.
  
ได้ความรู้มากๆ ครับ ไว้เย็นนี้ต้องไปซื้อมากินบ้างแล้ว
โดย: ความสุขเล็กๆ วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:5:52:24 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

naimaew1
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]