หน้าตาเราก็ได้เพียงเท่านี้...จิตใจสิ--แย่กว่าหน้าตาอีก...
 
 

อารมณ์ร้อน



เรื่องของอารมณ์นี่บางครั้งไม่ได้อยู่ที่วัยที่สูงขึ้นหรือวุฒิภาวะที่มากขึ้นอะไรเลย ดูอย่างนักการเมืองเอเชียประเทศหนึ่งที่ลุกขึ้นมาวางมวยกันได้บ่อยๆกลางสภา อายุอานามก็ปากันรุ่นลุงรุ่นปู่กันได้แล้ว

อารมณ์เป็นผลจากการเกิดความรู้สึกชนิดต่างๆ และสัมพันธ์กับการแสดงออกทางอารมณ์ วันนี้ขอพูดถึงอารมณ์ร้อนก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเห็นกันบ่อยและดับยาก เคยเห็นผู้ใหญ่ประเภทที่ทำตัวเป็นเด็กๆเวลาโมโหกันไหมคะ เวลาโกรธก็หน้ามืดตามัว ด่าทอชนิดขนเอาสมาชิกเขาดินออกมาเต็มไปหมด แถมบางคนอดลงไม้ลงมือไม่ได้ซะด้วย บางคนโกรธและแสดงออกเป็นเฉพาะคนในครอบครัว แต่คนนอกบ้านต่อให้โกรธแทบจะฆ่ากันตายก็ทำแค่หน้าตึงๆใส่

ที่ฝนฯบอกว่าอารมณ์ร้อนไม่ได้ขึ้นกับอายุนั้น ลองดูรอบๆตัวนี่ฝนฯจะเจอแต่ผู้ใหญ่ขี้โมโหมากกว่าเด็กๆขี้วีน เช่น ตอนฝนฯเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนฝนฯคนนึงพ่อมีลูกตอนแก่ คือพ่ออายุห่างกว่าลูกคนแรก 45 ปี เวลาโมโหขึ้นมา แทบไม่อยากอยู่ในบ้านอีกต่อไป ผลก็คือ พ่อกับแม่ (ซึ่งอ่อนกว่าพ่อ20ปี) แยกห้องนอนกันมากกว่าสิบปี แยกกับข้าว แยกกระเป๋าเงิน เพราะพ่อขี้โมโหนี่แหละ ส่วนลูกนั้นก็โกยแน่บไม่ต้องสงสัย

อีกคนก็เป็นพ่อ อายุห่างจากลูกสี่สิบกว่าปีเช่นกัน เวลาตีลูกตอนโมโห เหมือนเฆี่ยนบ่าวสมัยยังไม่เลิกทาส ยังไงยังงั้น และอีกหลายๆคนที่เวลาโกรธกลายเป็นยักษ์เป็นมาร
หลายๆคนอาจสงสัยกันว่า คงมีพื้นฐานการศึกษาที่ไม่ดีนัก ที่เล่ามาในตัวอย่างนั้น บางคนจบจากอังกฤษเลยล่ะค่ะ ว่าไปก็นึกถึงตัวเอง เดี๋ยวนี้ถึงจะป่วยบ่อย ไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัว แต่แปลกตรงที่ อารมณ์เย็นลงเยอะเลย แต่ก่อนวู่วามและใจร้อนมาก อาจเป็นเพราะได้วิธีคิดดีๆจากการที่เจอเพื่อสนิทสมัยมัธยมคนนึง พอคิดว่าปัญหาและเรื่องราวรอบตัวเรานั้นทำร้ายเราน้อยกว่าเพื่อนเราเจอหลายเท่า อีกอย่างเดี๋ยวนี้เวลาเจอปัญหาถึงจะกลุ้มใจแค่ไหน ก็จะเตือนตัวเองด้วยคำง่ายๆจากหนังสือของดร.จีน็อตต์ ที่สอนว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจความรู้สึกลูก รับฟังในสิ่งที่ลูกระบาย แต่เข้มงวดกับการกระทำ และยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงของตน เลยเอามาปรับใช้ได้ว่า เราเองน่ะที่ต้องเข้าใจและยอมรับความรู้สึกตัวเองให้มากและให้ดี ส่วนการแสดงออกของเราถ้าตอนโกรธ เราจะยอมรับ แต่จะควบคุมให้ไม่ไปทำร้ายคนอื่นและทำลายความรู้สึกหรือทำให้ทุกอย่างแย่ลงด้วยพายุอารมณ์

หลักการที่อ่านมาใช้ได้กับคนรักด้วยนะคะ ตอนนี้พอบอกตัวเองได้แล้วว่า เราจะยอมรับความรู้สึกทั้งเค้าและเรา วันที่มีกันอยู่ในตอนนี้ จะยืนยาวตราบเท่าที่อารมณ์เราไม่พัดให้มันพัง ส่วนจะเดินไปได้ไกลแค่ไหนนั้น เป็นอีกเรื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า เรายอมรับได้แค่ไหน ต้องหายใจใต้น้ำรึเปล่า

เขียนไปเขียนมา งานเค้าโครงวิจัยเลยการเป็นยาระบายส่วนบุคคลไปแล้วเนี่ย...





 

Create Date : 20 สิงหาคม 2551   
Last Update : 20 สิงหาคม 2551 4:38:05 น.   
Counter : 398 Pageviews.  


“ลูกทำกับเราเหมือนที่เราทำกับพ่อแม่ในอดีต หรือ เหมือนที่เราทำกับลูกในปัจจุ

อยากทราบว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกพอจะโตบ้างแล้ว ( 4-18 ปี) เห็นความเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมสนองตอบ กลับมาอย่างไรบ้างของลูกๆ คือ

“ลูกๆปฏิบัติต่อเรา เหมือนที่

1 เราปฏิบัติต่อพวกเขาในการเลี้ยงดู
หรือ
2 ที่เราปฏิบัติไว้กับพ่อแม่ของเรากันคะ”

ถ้าเป็นคำตอบแรก หมายถึงว่า คุณพ่อคุณแม่เห็นผลในวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กว่ามีผลต่อ ทัศนคติ นิสัย บุคลิกภาพของเด็ก จากการเลี้ยงลูกของตัวเอง

แต่ถ้าเป็นคำตอบที่สอง หมายถึงว่า คุณพ่อคุณแม่เห็นผลกรรม ในอดีตที่เคยทำไว้กับพ่อแม่ตัวเอง แล้วส่งผลมายังตอนนี้

ช่วยโวตมาคำตอบเดียวนะคะ ส่วนท่านไหนที่คิดว่าผสมๆกัน ช่วยลงความคิดเห็นแบ่งเปอร์เซ็นต์มาว่า
ข้อ 1 …..% ข้อ2 …..%

รบกวนระบุอายุของลูกๆมาด้วยก็จะมีประโยชน์มากค่ะ

เรียนให้ทราบกันก่อนว่า ฝนฯกำลังหาข้อมูลเพื่อไปสอบเรียนต่อและเสนอโครงงานวิจัยในสาขาการสื่อสารเฉพาะกลุ่มน่ะค่ะ โดยพื้นฐานแล้ว ฝนฯจบมาทางวาทวิทยา หรือวิชาวิเคราะห์การสื่อสาร ทั้งที่เป็นการพูดและอื่นๆ

การจะเรียนรู้ในสาขานี้ต้องมีการตั้งโจทย์ที่น่าสนใจ ก่อนจะสำรวจความเห็นเชิงพฤติกรรมเพื่อหาคำตอบโดยรวม ก่อนนำมาตั้งเป็นสมมุติฐานค่ะ

หลายๆท่านอาจเคยอ่านบล็อกและกระทู้ของฝนฯในเรื่องเด็กๆ และการเลี้ยงดูกันมาบ้าง ฝนอ่านหนังสือจิตวิทยาการสื่อสารกับเด็ก ของ ดร. จีน็อตต์ และได้ประเด็นการสื่อสารในครอบครัวโดยเน้นที่บทบาทของพ่อแม่ในการใช้คำพูดเพื่อสร้างบุคคลิกภาพและทัศนคติของลูกๆค่ะ ในหนังสือมีหลายประเด็นที่ควรมาศึกษาในสังคมบ้านเรา เพราะมีรูปแบบปัญหาที่เหมือนกันทั่วโลก แต่ความเชื่อและคำสอนในสังคมแต่ละที่จะต่างกันออกไป แต่นะคะ แต่

พ่อแม่มีพฤติกรรมและปัญหาคล้ายกันทั่วโลกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการขมขู่ ตังสมญา ติดสินบน และสัญญากับลูก ลำบากใจที่จะตอบปัญหาเรื่องเพศกับลูกแม้ว่าจะเปิดกว้างในเรื่องนี้ก็ตาม หรือใช้อารมณ์ในการเลี้ยงลูกค่ะ โดยมีคำแก้ตัวในรูปแบบของความเชื่อสนับสนุนการกระทำของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป

โดยพื้นฐานแล้ว เราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกค่ะ รักมากน้อยก็ว่ากันไป และเชื่อว่าความรักทำให้โลกน่าอยู่ ลูกอบอุ่น (แต่ทำไมลูกเติบโตมาไม่ได้มาทำให้โลกน่าอยู่ หรือทำให้ตัวเองอยากอยู่บนโลกล่ะคะ)

การเลี้ยงดูลูกควบคู่ไปกับความเข้าใจลูกนั้น ดูเห็นความยาก และความท้าทาย เพราะเด็กในแต่ละช่วงวัยมีความต้องการทางร่างกาย จิตใจ ที่ไม่เหมือนกัน เด็กทารก คงไม่สนสเต็กชิ้นใหญ่เหมือนเด็กประถม และไม่อยากอ่านหนังสือโป๊แบบเด็กวัยรุ่น แต่เด็กๆล้วนต้องการที่จะรู้สึกเป็นที่รัก และได้รับความเคารพนับถือในตัวตนของเขาเอง

เป็นหน้าที่ของคนที่กำลังทำหน้าที่พ่อแม่ของเด็กคนนั้นๆค่ะ ที่จะช่วยสร้างทัศนคติ บุคลิกภาพ และแนะการดำเนินชีวิตที่เด็กแก้ปัญหาเองได้ด้วยตัวเอง

ฝนฯอ่านหนังสือแล้วพบว่า พ่อแม่ใช้วิธีไหนสื่อสารกับลูก ลูกก็จะสื่อสารด้วยวิธีการเดียวกันกลับไป (เหมือนที่เราอ่านกันในเรื่องทวารหก เรื่องนี้คิดอย่างพุทธ ส่วนเล่มที่ฝนฯอ่านนี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่กลับเป็นเรื่องที่ตรงกันและลงตัวเข้ากัน) อย่างแม่ชอบด่าๆคนนั้นคนนี้ ลูกเวลาคุยกับแม่ก็จะด่าๆคนอื่นๆให้แม่ฟัง แม่ชอบพูดประชดลูก เวลาลูกคุยกับแม่ก็จะประชดกลับ


ความเชื่อบางอย่างที่เราวางไว้
เช่น

“พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก” (อิงความเชื่อทางสังคม)
ประโยคข้างต้นบอกอะไรเรา???

บอกว่าความเชื่อ ความคิดและสมมุติฐานในการใช้พิจารณาในหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อแม่ว่า
-พ่อแม่เป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจากกิเลส และความอยากทั้งปวงกับลูก
-พ่อแม่เป็นมีศีลดี เชื่อถือได้กับลูก
-พ่อแม่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่อลูก (มีวาจาสิทธิ์ พูดแล้วจะเป็นจริง)
-พ่อแม่เป็นผู้สมควรแด่ทาน การให้ด้วยความเคารพ จากลูก
-พ่อแม่จะต้องไม่ถูกล่วงเกินจากลูกด้วยกาย วาจา ใจ (เนื่องจากทำร้ายพระอรหันต์บาปมากจนต้องตกนรกขั้นลึกที่สุด)


“พ่อแม่คือพรหมของบุตร” (อิงความเชื่อทางศาสนา)
ประโยคข้างต้น สื่อความเชื่อแฝงว่า

-พ่อแม่เป็นผู้สร้างและผู้ให้ของลูก
-พ่อแม่ต้องการเห็นลูกพ้นจากทุกข์
-พ่อแม่ยินดีเมื่อลูกได้ดี
-พ่อแม่สามารถวางเฉยได้หากลูกต้องประสบเคราะห์กรรม
-พ่อแม่เป็นสามารถทำลายชีวิตลูกได้ (เนื่องจากเป็นผู้สร้างขึ้นมา)
ฯลฯ

ได้มาเป็นข้อสรุปทางความประพฤติว่า
“ลูกต้องเชื่อฟังแล้วจะดีทุกอย่าง” กตัญญู ฯลฯ

การเรียงความคิดง่ายๆแบบนี้เรียกว่าซิลลอจิซึ่ม

ในทางการพูดที่นำออกมาจากความคิดให้ได้ข้อสรุปเป็นการกระทำ เราไม่ได้มาตั้งข้อคิดเห็นแย้งกับความคิดข้างต้นนะคะ เพียงแต่ต้องการศึกษาควบคู่ไปด้วยว่า เราปรับใช้ความเชื่อเหล่านี้อย่างไรกัน ในการเลี้ยงดูเด็ก โดยที่เราจะไม่มาถามต่อว่า เชื่อความหมายแฝงข้างต้นทุกเรื่องทุกข้อหรือไม่ เชื่อมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ เพราะมันไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการศึกษา และอยากจะถามง่ายๆว่า

เราเอาความเชื่อเหล่านี้(รวมทั้งความเชื่อในสังคมอื่นๆที่จะศึกษาตามต่อมา)

ใช้เลี้ยงลูก ให้ลูกเป็นคนดีตามขนบธรรมเนียมที่เรารับทราบมา คิดอีกแง่คือ เรานำวิธีการของพ่อแม่สอนเรามาสอนลูกเรา

หรือ

เราเอาพฤติกรรมและความต้องการในจิตใจของลูก มาเป็นตัวกำหนดวิธีการเลี้ยงลูก


โจทย์ข้อนี้จะเป็นโจทย์ที่ฝนฯใช้ในการตอบหลังจากที่ได้รับคำตอบและความเห็นจากทุกท่านค่ะ หวังอย่างยิ่งในความเอื้อเฟื้อและใจกรุณาของคุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะช่วยให้การศึกษาในเบื้องต้นครั้งนี้ลุล่วงด้วยดี

ท่านที่เข้ามาตอบ เชื่อแน่ว่าเราเข้าใจตรงกันว่าเพียงความรักอย่างเดียวไม่พอที่จะเลี้ยงเด็กคนนึงให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ถ้าขาดวิธีการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการสื่อสารซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนคนและสร้างปัญญา




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2551   
Last Update : 14 สิงหาคม 2551 16:34:29 น.   
Counter : 202 Pageviews.  


หน้าที่ ความรับผิดชอบของเด็ก (ต่อจากหนังสือของ ดร.จีนอตต์)


ดังที่ตอนที่แล้วบอกไปว่า การมอบหมายงานบ้านเป็นความรับผิดชอบนั้น เขียนยากจัง อยากให้อ่านกันเอาเอง พออ่านไปอ่านมาอีกทีก็พอจะเขียนออกมาได้ ในหนังสือบอกว่า งานนี้กลายเป็นสงครามในครอบครัวเลยทีเดียว จริงค่ะ การบังคับให้ลูกทำงานบ้านตามหน้าที่นั้น น่าเบื่อหน่าย(ตอนเด็กๆเราก็เบื่อกันใช่ไหมคะ) แถมไร้ประโยชน์และไม่มีวันที่จะชนะด้วย

“เด็กมีเวลาและพลังงานเหลือเฟือที่จะต่อต้านผู้ใหญ่มากกว่าเวลาและพลังงานที่เราจะใช้ในการบังคับขู่เข็ญพวกเขา”

ลูกๆเนี่ย ถึงจะลูกเราจะเป็นเด็กก็มีความคิดแก้แค้นเอาคืนนะคะ ฝนฯเลิกเป็นเด็กมานานแล้ว แต่ก็จำได้ถึงความแค้นแบบเด็กๆที่เคยเป็นและเคยทำ การวางภาพอุดมคติว่าวันหยุดต้องไปทำกิจกรรมพร้อมเพรียงกันของพ่อแม่ แต่ลูกเกิดไม่อยากไป ก็ต้องบังคับฝืนใจกัน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยความกร่อย เห็นกันทุกครอบครัว ความหวังที่จะเฮฮามีความสุขกลายเป็นด่าลูกว่าทำงานกร่อย ครอบครัวใครเป็นกันบ้างคะ ฝนฯตอนเด็กๆล่ะคนหนึ่งที่ไม่เคยชอบออกไปไหนกับครอบครัวเลย โดยเฉพาะไปวัด ทำบุญ น่าเบื่ออย่างที่สุด (โตขึ้นมากลับชอบไปวัดกับเพื่อนสนิท เริ่มสวดมนต์จากการอ่านหนังสือสวดมนต์แจก แรกๆก็สวดเพราะเชื่ออานิสงฆ์ตามที่เพื่อนอ่านด้วยกัน) เรื่องนี้สัมพันธ์กับการลงโทษลูกโดยใช้การตั้งสมญาที่แสดงด้านลบ เหมือนกระจกเงาที่บิดเบี้ยวส่องรูปร่างที่ผิดจากความเป็นจริง อย่างพ่อแม่ด่าว่าลูกแรงๆ (แถมบริบทบ้านเรานี่คือ คำพูดพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์อีกตะหาก เพื่อนฝนฯคนหนึ่งเคยพูดว่า นี่ถ้าพ่อแม่พูดแล้วเป็นจริงหมดนะ ป่านนี้มันคงโดนธรณีสูบไปนานแล้ว เพราะแม่เค้าเล่นด่าได้หมดโกรธๆก้แช่งชักหักกระดูกลูกเล่นซะงั้น)

“พ่อแม่หลายคนตราหน้าลูกว่าโง่เง่า ขี้เกียจและขี้โกง แล้งยังหวังว่าสมญาเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ฉลาด ขยันขันแข็ง และซื่อตรงได้”

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาลบคำพูดของพ่อแม่ได่น่าฟังคือ เด็กคนหนึ่งถูกพ่อว่าๆขี้เกียจ ป่าเถื่อน งี่เง่า ดร.จีนอตต์เลยถามกลับว่า ถ้าพ่อบอกว่าหนูเป็นหมาเศรษฐีหนูจะเชื่อพ่อไหม เด็กตอบว่าไม่เชื่อ
หรอก เพราะเค้ามีเงิรแค่สิบเจ็ดเหรียญในธนาคารจะเป็นเศรษฐีได้ยังไง---นั่นน่ะสิ งั้นแปลว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้พุดแล้วถูกทุกอย่างสินะ

เอ...เขียนๆไปจะโดนด่าไหมเนี่ย เรื่องที่ว่าพ่อแม่ชอบพูดอะไรเว่อร์กะลูกนี่มันเป็นกันหมดเลยไหมคะ เค้าบอกกันว่าถ้าใครบอกว่าพูดจาเหมือนพ่อแม่คนเนี่ย ไม่ใช่คำชม เพราะ พ่อแม่มักพูดยืดยาว เกินความจริง ยิ่งบ้านเราโดนไฟล์ทบังคับว่าพ่อแม่เป็นของศักดิ์สิทธิ์แล้วด้วย เรายิ่งไม่กล้าหนักเข้าไปอีก เถียงไม่ได้ เป็นบาป (ฝนว่าก็บาปอยู่นะ แต่น่าจะบาปที่ตรงทำให้พ่อแม่เสียใจ มากกว่าบาปที่ไม่เชื่อคำพูดพ่อแม่นะคะ อย่างที่บอก ถ้าพ่อแม่บอกว่าพรุ่งนี้ลูกจะได้เป็นนายก เราจะคิดว่ามันจริงไหมล่ะ)

อันหนึ่งที่เป็นตัวถ่วงการพัฒนาของเด็กคือ การเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกๆ ในทุกครอบครัวพ่อแม่จะวางภาพไว้ว่าลูกคือตัวปัญหา แล้วพ่อแม่ก็แสดงภาพพระนางเข้าแก้ปัญหา เหมือนฉากละคร ลูกกลายเป็นผู้ร้ายด้วยความหวังดีและการแสดงน้ำใจของพ่อแม่ไปโดยปริยาย พ่อแม่ก็ไม่ตั้งใจ ลูกเองก็ไม่เข้าใจ ทางออกคือการให้ลูกได้แสดงความเห็นและแสดงความต้องการ โดยพ่อแม่ต้องคิดด้วยว่าเรื่องไหนให้ลูกแสดงความเห็นได้ (ทำตามลูกหรือไม่นั่นเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดต่อ) และบางเรื่องลูกสามารถแสดงความต้องการได้ อันหลังนี้ เมื่อเปิดให้ลูกแสดงความต้องการ แปลว่า เราสามารถให้ตามความต้องการได้ด้วยนะคะ ถ้าให้ไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้เป็นการแสดงความเห็นต่อไป เช่น การสั่งอาหารทานนอกบ้าน การให้เงินค่าขนม เราไม่จำเป็นต้องให้เงินลูกใช้จ่ายเว่อร์ๆถ้ารายได้ของครอบครัวไม่เอื้ออำนวย เพียงแต่ต้องรับรู้รับฟังแสดงความเข้าอกเข้าใจความต้องการของลูกว่า อยากได้เกินกว่าที่เราจะจัดหาให้ อย่าดุด่าลูกด้วยเหตุผลที่ว่าเราหาให้ลูกไม่ได้ และบางครอบครัวอาจเลยเถิดถึงการกล่าวหาว่าลูกเป็นตัวล้างตัวผลาญ อย่าลืมว่าการใช้เงินเปลือง การบเร้าขอเงินของเด็กเพียงไม่กี่ครั้ง ไม่ได้ทำให้เด็กกลายเป็นหายนะของครอบครัวไปได้ คุณพ่อคุณแม่ที่ว่าลูกแรงๆคงคิดออกแล้วนะคะ ว่าที่พูดน่ะ ลูกเจ็บเพราะคำเว่อร์ของเราเอง

เรื่องการเลี้ยงสัตว์ เรียนดนตรี และทำการบ้านนั้น เป็นอันนึงที่เราส่งเสริมเพื่อให้เด็กเกิดความรับผิดชอบ สำหรับสัตว์เลี้ยง พ่อแม่คงเข้าใจดีว่าการที่ลูกสัญญาว่าจะเลี้ยงสัตว์ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะทำได้จริงๆ อย่าโยนชีวิตสัตว์ในมือเด็ก สำหรับเรื่องดนตรีนั้น เวลาส่งลูกไปเรียนดนตรี พ่อแม่มักเลือกเครื่องเล่นไว้ให้ลูก หรือมีในใจก่อนทีลูกจะเกิดซะ อีก แล้วพอลูกเรียนเข้าจริงๆ ก็คาดหวังว่าลูกจะต้องเล่นเป็น เล่นดี อย่างน้อยๆก็ไม่ผิดคีย์อ่ะฯลฯ
พอไม่เป็นอย่างนั้นก็บ่นโวยวาย ทวงบุญคุณ พูดเรื่องเงินที่พ่อหามายากลำบากเพื่อส่งลูกเรียน การเรียนดนตรีกลายเป็นการประเมินผลเด็กไปอีก เพราะถ้าเล่นได้ไม่ดี ก็กลายเป็นพ่อแม่ผิดหวัง ดูถูก ถ้าไม่อยากทำพ่อผิดหวังเด็กจะเรียนรู้ว่าก็ไม่ต้องพยายามมาก เป็นเด็กที่พ่อแม่ว่าโง่ เฉื่อย ซื่อบื้อต่อไป พ่อแม่ก็จะไม่ผิดหวัง เพราะเค้าเองโง่อยู่แล้ว ไม่สมควรตั้งความหวังกับคนโง่

จริงๆแล้วการเรียนดนตรีหรือวาดรูปนั้น เป็นการผ่อนคลายความเครียดให้เด็ก ให้ได้ระบายออกมา จึงไม่จำเป็นต้องไปฟังว่าเด็กเล่นได้ดีแค่ไหนอย่างไร แค่หาทางออกให้ลูกได้ผ่อนคลายโดยไม่ต้องพูดนะคะ (เด็กมีความเครียดได้เหมือนผู้ใหญ่ และบางครั้งก็เรียบเรียงคำพูดไม่ได้ หรือไม่รู้จะบอกอย่างไร วิธีง่ายๆที่เด็กระบายความเครียดคือการกิน อยากให้ลูกกินๆๆๆ เพราะเครียดหรือเปล่าคะ อันนี้ไม่ได้อยู่ในหนังสือเล่มนี้หรอกค่ะ)

ฝนฯคิดถึงตัวเองตอนเรียนพละและดนตรีตอนเด็กๆ ฝนว่าสองอย่างนี้ไม่เห็นต้องให้เกรดเลย น่าจะให้เลือกเรียนตามชอบ ไม่ใช่ว่า ป. สี่เรียนขิม ป.ห้าเรียนระนาด อะไรแบบนี้ ฝนเรียนดนตรีแบบเครียดมาตลอด เลยเล่นไม่ได้สักเพลง ตอนป.หนึ่งพ่อสอนเปียโน แต่ก็เคี่ยวเข็ญมาก ต้องหลับตาดีด ฝนเลิกเข้าใกล้เครื่องดนตรีไปเลย ส่วนวิชาพละนี่ ครูก็ให้เกรด แบบว่า เดาะปิงปอง ร้อยที ได้ ยี่สิบถือว่าตก (ฝนฯเอง) ห้าสิบผ่าน หกสิบเกรดสอง แปดสิบเกรดสี่ มาคิดดูดีๆนะคะ ว่าเราสอนให้เด็กสนุกกับการเล่นกีฬาหรือสอนให้เครียดกับการเรียนกีฬากันแน่ ทุกอย่างที่เราทำให้เด็กกลายเป็นภาระ แทนที่จะเปิดกว้างและสนุกสนาน กลับเอาระบบประเมินค่ามาครอบ แต่ก่อนฝนฯชอบเล่นแบดมินตันมากๆ เป็นกีฬาที่ฝนรู้แต่ว่ามีไม้กับลูกขนไก่ ตีไปเรื่อยๆหน้าบ้าน สามลูกออก เล่นสนุกมากๆ แต่พอม.ปลาย เรียนแบดฯ ฝนเลิกเล่นแบดฯไปเกือบสิบปี เพิ่งกลับมาลเนเมื่อสองสามปีมานี้

อันนี้ขอคุยในแง่ที่ทำอาชีพครู ฝนฯสอนเด็กมหาวิทยาลัย เห็นครูบางคนประเมินค่าเด็กด้วยเกณฑ์ที่สูงเว่อร์ เหมือนจะหาความเป็นมืออาชีพ ก็ดีค่ะ แต่ฝนฯเองมองว่า การจะให้เด็กทำดีแบบมืออาชีพนั้น มันทำลายขั้นตอนของพัฒนาการเด็ก ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นจีเนียส ฝนฯเลยมีเกณฑ์ที่ความพยายามและพัฒนาการของเด็กไม่ใช่ผลสำเร็จรวบยอด ไม่รู้ว่าดีไหม แต่ก็ให้แบบนี้มาโดยตลอด แต่คะแนนส่วนนี้กลายเป็นหมวดคะแนนจิตพิสัยแค่หนึ่งในสิบของคะแนนรวมของระบบการเรียน อย่างเรียนการพูดเนี่ย หวังเหรอคะ ว่าเด็กจบออกจากคลาสแล้วจะกลายเป็นเดล คาร์เนกี้ หรือบารัค จูเนียร์ไปได้น่ะค่ะ

ย้อนกลับมาเรื่องการบ้าน เป็นเรื่องที่ฝนฯเองคิดไม่ถึงเช่นกัน ขอโควตคำพูดในหนังสือแล้วกันนะคะ

“ เมื่อเด็กอยู่ชั้นประถมหนึ่งเป็นต้นไป พ่อแม่ควรสื่อให้เขารู้ว่า การทำการบ้านเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างเขากับคุณครู พ่อแม่ไม่ควรเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำการบ้าน และไม่ควรสอนหรือตรวจการบ้านให้ลูก เว้นแต่ว่าเขาจะร้องขอ”

งงกันไหมคะ เราเคยคิดกันว่าช่วยดูลูกทำการบ้านน่ะดี อบอุ่น

“ข้อแนะนำดังกล่าวนี้อาจแตกต่างจากความคิดเห็นของคุณครู”
ค่ะ ฝนฯก็คิดว่าแตกต่างจากความคิดเดิมของตัวเอง

“หากพ่อแม่นำการบ้านของลูกมาเป็นความรับผิดชอบของนเอง เขาจะยอมแต่โดยดี และพ่อแม่ก็จะดิ้นไม่หลุดจากพันธะนี้อีกเลย ลูกอาจจะเอาการบ้านนี้มาใช้เป็นอาวุธในการทำโทษ หักหลัง หรือหลอกใช้พ่อแม่
ครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ ถ้าหากพ่อแม่แสดงความสนใจในการบ้านลูกให้น้อยลง และสื่อให้ลูกรู้เป็นนัยๆว่า การบ้านเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของลูก ลูกต้องทำการบ้านเหมือนกับที่พ่อแม่ต้องทำงาน”

ย่อหน้าที่ยกมานี้ ฝนตั้งใจลอกมาหมด เป็นคำตอบแยงเข้ามาในใจดังจี๊ด ว่า เพราะพ่อแม่ชอบยุ่งเรื่องการบ้านของลูก เลยทะเลาะกันได้ตลอด บ้านกลายเป็นที่น่าเบื่อ เวลาทำการบ้านเป็นเวลาที่น่าเบื่อ และ เราไม่ได้ค่อยเห้นเด็กรับผิดชอบมากขึ้นหรือฉลาดขึ้นจากการที่ผู้ใหญ่ช่วยเด็กทำการบ้าน นอกเสียจากผู้ใหญ่กลายเป็นทาสการบ้าน กลับไปเรียนซ้ำชั้นอีกครั้ง

“มีโรงเรียนที่ดีๆหลายโรงเรียนที่ไม่มีการบ้านให้กับเด็กเล็กๆ เด็กๆก็ดูจะได้ความรู้มากเท่าๆกับเด็กคนอื่นๆที่ต้องมีการบ้านเยอะแยะตั้งแต่อายุได้เพียงหกเจ็ดขวบ
คุณค่าหลักของการทำการบ้าน คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำงานด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การบ้านก็ควรเหมาะสมกับความสามารถของเด็กด้วย เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้ทำการบ้านได้ด้วยตนเองโดยไม่มีใครคอยช่วยเหลือ การช่วยเด้กทำการบ้านโดยตรงในเวลาที่เขาทำการบ้าน สื่อให้เด็กเห็นว่าเขาไม่มีความสารมารถพอ ถ้าไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ”

อันนี้หนังสืออธิบายไว้ชัดเจนมากๆ ฝนเลยไม่ขออนุมานความไว้เองนะคะ ฝนฯเองก็ติดบ่วงเรื่องการบ้านนี้เหมือนกัน เพราะได้ยินได้เห็นแต่การช่วยเด็กทำการบ้าน กำกับและใกล้ชิด รวมทั้งคิดว่าการบ้านคือการเพิ่มเติมความรู้ ยากๆก็ไม่เป็นไร จริงๆแล้วการบ้านในทางจิตวิทยาปรับปรุงพฤติกรรมก็หมายถึง การให้โอกาสคนทำงานเอง รับผิดชอบด้วยตัวเองต่างหาก เรามัวแต่มุ่งมั่นในคุณค่าเชิงผลสำฤทิ์ทางการเรียนรู้กันเพียงอย่างเดียว ถ้าให้การบ้านเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงความรู้ ฝนฯว่า น่าจะเป็นเด็กโตๆ อย่างที่ฝนฯสอนมากกว่าค่ะ ที่ผ่านมา เราอาจใช้วิธีการกับเด็กผิดช่วงวัยกับไป วิธีไม่ได้ผิด เด็กก็ไม่ได้ผิด ที่มันไม่ได้ผล เพราะเด็กกับวิธีไม่แมทช์กันต่างหากล่ะคะ

อีกเรื่องที่เป็นข้อเตือนใจ คืออย่าไปวุ่ยวายกับลูกเวลาทำการบ้าน เช่น มารยาทการทำการบ้าน เด้กบางคนอาจนอนทำการบ้านแล้วทำได้นาน มีสมาธิ ออกมาดี ดีกว่าไปบังคับความมีกริยางามในเขตรั้วบ้านเราเอง แล้วเด็กไม่ชิน ทำการบ้านไม่ได้นะคะ รวมทั้งการบ้านอาจจะยากง่าย อย่าไปด่าว่า ตำหนิครูให้เด็กฟัง ไม่มีผลดีอะไรในการด่าว่าคนที่เด็กควรให้ความเคารพ นับถือ เหมือนกรณีที่พ่อแม่เลิกกันแล้วแม่ด่าพ่อเด็กแหละค่ะ ความไม่พอใจของผู้ใหญ่อย่าต้องให้เด็กเป็นถังรับขยะทางอารมณืไปเลยนะคะ




 

Create Date : 07 สิงหาคม 2551   
Last Update : 7 สิงหาคม 2551 14:12:32 น.   
Counter : 454 Pageviews.  


มาต่อกันถึงหนังสือของดร.เฮม จีนอตต์


ยิ่งอ่านก็ดูเหมือนโจทย์ของดร.ยิ่งยาก ท้าทายคำตอบจากคนอ่านเข้าไปทุกที ทั้งๆที่เป็นเรื่องสามัญ อย่างเช่นการปลูกฝังพฤติกรรมให้กับเด็ก ซึ่งในหนังสือไม่ได้พูดชุ่ยๆแค่ “ทำให้ลูกดู” แต่พูดถึงการใช้เวลาและการบ่มเพาะความรู้สึกรับผิดชอบมากกว่าที่จะทำให้ความรับผิดชอบกลายเป็นรูทีนของชีวิต อย่างเช่นการมอบหมายงานบ้าน อันนี้ต้องลองไปอ่านกันเอาเอง เพราะฝนฯยังรู้สึกว่าถ้าเขียนมาในนี้คงถ่ายทอดออกมาได้ไม่ดี และไม่ค่อยเข้าใจ

อันหนึ่งที่เล่าข้ามไปคือ เรื่องการยอมรับความรู้สึกและการจัดการอารมณ์โกรธของตัวเอง ฝนฯว่าดร.จีนอตต์ ได้ให้ความเห็นได้ตรงกับการแก้ปัญหาอย่างจริงใจ ว่า
“ในวัยเด็ก ไม่มีใครสอนเราว่าจะจัดการกับความโกรธที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอย่างไร เราถูกปลูกฝังให้รู้สึกผิดเมื่อมีความโกรธและไม่สมควรแสดงมันออกมา
...พ่อแม่ที่มีสุขภาพจิตดีและมีความมั่นคงทางอารมณ์ก็ไม่ได้เป็นพระอิฐพระปูน พวกเขารู้ว่าตัวเองมีอารมณ์โกรธและยอมรับความจริงข้อนี้ พวกเขาใช้ความโกรธเป็นแหล่งข้อมูลเป็นเครื่องชี้ถึงความรักและความห่วงใยที่ตนมีต่อลูกและพวกเขาไม่ซ่อนความรู้สึก
...เด็กๆควรจะเรียนรู้ถึงความโกรธของพ่อแม่ด้วย...ไม่ได้หมายความ่าเด็กๆต้องทนกับพายุอารมณ์ของผู้ใหญ่ พวกเขาเพียงแต่ต้องรับรู้และเข้าใจว่า”ความอดทนของพ่อแม่ก็มีขีดจำกัด””

น่าสนใจตรงที่ดร.แนะให้เรารู้จักอารมณ์ด้านลบของตัวเอง เพื่อที่ยอมรับและไม่ต้องเสแสร้งแกล้งปิดบัง ข้อคิดเก๋ๆในเล่มที่ฝนฯอ่านก็คือ เราไม่ต้องทำตัวเป็นนักสืบถามนั่นถามนี่ คาดคั้นให้เด็กสารภาพผิดทั้งๆที่เราก็รู้ดีแก่ใจอยู่แล้ว (ถามทำไมให้หัวเสียหนักกว่าเดิม ยิ่งถามก็เหมือนยิ่งยุให้เด็กโกหก ยิ่งโกหก เรายิ่งโมโห) และบางเรื่องที่ลูกพูดความจริงที่ไม่น่าฟัง เช่นเกลียดคุณย่า ด่าคุณยาย เราก็ต้องทนฟัง ไม่ใช่ตีเด็กจนกว่าเด็กจะพูดเปลี่ยนว่า “รักคุณย่าและคุณยาย” เด็กเรียนรู้ได้ว่าการโกหก หรือเสแสร้งตามที่พ่อแม่อยากเห็นอยากฟัง เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ชอบและสนับสนุน เด็กจะไม่โดนทำโทษ สุดท้ายพ่อแม่จะไม่ได้อะไรเลยในการทำความเข้าใจลูก เพราะลูกไม่ยอมแม้แต่จะพูดความจริง ฝนฯว่า เคสนี้ต้องยกเรื่องบาปบุญคุณโทษออกไปก่อน ถ้ามัวแต่ตบปากลูก พร่ำพรรณนาถึงบาปกรรม เราจะไม่ได้ฝึกเด็กเลย ตัวอย่างเห็นกันบ่อยๆ เช่นเด็กบางคนเป็นนักขอโทษมือโปร รีบขอโทษก่อนผู้ใหญ่จะโกรธจะด่า แต่ความเป็นจริง สำนึกหรือเปล่านั้น เราไม่มีวันรู้ได้ เรื่องนี้เกี่ยวพันกับความซื่อสัตย์โดยตรง ดร.จีนอตต์กล่าวว่า
“หากต้องการจะสอนลูกเรื่องความซื่อสัตย์เราจะต้องเตรียมใจที่จะได้ยินความจริงที่ไม่อยากฟัง เช่นเดียวกับความจริงที่อยากฟัง” และ
“เราไม่ควรยั่วยุให้เด็กโกหกเพื่อป้องกันตัวเองหรือสร้างโอกาสให้เด็กต้องหาทางออกด้วยการโกหก และเมื่อลูกพูดโกหกกับเรา เราก็ไม่ควรตีโพยตีพายมุ่งแต่จะสอนศีลธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ควรตอบสนองเด็กด้วยความเป็นจริง เราต้องการให้ลูกเรียนรู้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องโกหกพ่อแม่”

--ช่ายๆๆศีลธรรมสอนกันตอนมีวิกฤติได้ยากลำบาก และพ่อแม่เองนั่นแหละที่ขุดหลุมล่อให้ลูกทำผิด อันนี้ไม่ได้เขียนในหนังสือหรอกค่ะ ฝนฯเองแหละที่เขียน




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2551   
Last Update : 6 สิงหาคม 2551 21:39:54 น.   
Counter : 282 Pageviews.  


วิธีพูดกับเด็ก โดย เฮม จีน็อตต์



ช่วงนี้เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการสอนเพราะว่าได้รับเชิญไปสอนวิชาการพูดที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง วันก่อนเดินหาหนังสือเพื่อเอาไปใช้ในการสอนตั้งใจว่าจะหยิบเล่มของเดล คาร์เนกี้ที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้วและเป็นหนังสือแนวทางการใช้จิตวิทยาในการพูดที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมา

เชื่อไหมคะว่า ความยากของการสอนการฝึกพูด ไม่ได้อยู่ที่การฝึกตัวเองให้กลายเป็นนักพูดดีเด่นยอดเยี่ยม หรือวิพากษ์วิจารณ์การพูดของคนอื่นได้เหมือนเชือดหมู ล้มวัว ยิ่งตอนนี้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการพูดอยู่ด้วยยิ่งกดดดันหนักเข้าไปอีก เพราะหนังสือการพูดเก้าในสิบที่ขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ เป็นหนักสือแบบวางกฏเกณฑ์ หาข้อสรุปในการพูด และยิ่งอ่านก็ยิ่งน่าเบื่อ ซ้ำๆซากๆ เช่น ยิงมุขตลก ไม่ประหม่า ทำความคุ้นเคยกับคนฟังฯลฯ ดูเหมือนว่าการฝึกพูดโดยอาศัยแนวทางจากหนังสือนั้น แทบจะหมดหวังและไม่ได้อะไรใหม่ๆเข้าหัวเอาเสียเลย

ก็เลยต้องอ่านอะไรที่มันหลุดจากเนื้อหาของการสอน เพื่อเอาของใหม่ๆเข้าหัวนี่แหละค่ะ คราวนี้ก็ไปสะดุดหนังสือแนวจิตวิทยาการพูดกับเด็กเล่มหนึ่งเข้า พออ่านๆดูก็รู้สึกตรงใจ หลายๆโจทย์ที่เคยคิดไว้ว่าทำยังไงนะ จะพูดกับเด็กให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องขู่บังคับ สัญญิงสัญญา หรือติดสินบน

หนังสือ

เล่มที่ว่านี้เขียนโดย ดร.เฮม จีนอตต์ จิตแพทย์เด็ก เป็นฉบับแปล ชื่อภาษาไทยว่า “วิธีพูดกับลูก” อย่างที่เคยบอกนะคะว่า เราติดกับดักสัญญา สินบน และการข่มขู่เด็ก พูดอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เข้าท่า ไม่ได้ผล และต้องพูดซ้ำๆซากๆ ทั้งที่การพูดที่ดี ให้ประสิทธิผลนั้น พูดครั้งเดียวก็แสนจะเกินพอ ฝนฯเองก็คิดอยู่ว่าการไม่ต้องพูดซ้ำๆนี่เป็นเรื่องที่ดีในชีวิตแม่และครูรวมทั้งผุ้ปกครองทุกคนเลยจริงๆ แต่โจทย์ที่ว่านี้ออกจะยากไปสักหน่อย เพราะฝนฯเองก็โดนสอนและจัดระเบียบมาด้วยระบบนี้ ถึงรู้ว่าไม่ได้ผลก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ดีกว่านี้ คราวนี้เลยขอโควตจากในหนังมาเป็นตอนๆไปนะคะ

ตอนนี้อ่านไปได้แค่สองบท ในหนังสือจะมีตัวอย่างบทสนทนาต่างๆ ใจความที่จีนอตต์กล่าวถึงเพื่อแก้ปัญหาการสื่อสารกับเด็กก็คือการมองความจริงบนความรู้สึกของเด็ก สิ่งที่เด็กพูดจะซ่อนความรู้สึกบางอย่างไว้ ซึ่งเราต้องอ่านมันออกมา และทำให้เด็กเห็นว่า เราเห็นว่าเค้ารู้สึกอย่างไร ย้ำให้เด็กตระหนักในอารมณ์ของเค้าในปัจจุบัน และให้เค้าหาทางแก้ปัญหาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปเทศนายืดยาวหรือบอกการแก้ไข เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว เด็กต้องแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวของเขาเอง ผู้ใหญ่ความเป็นผู้วางกระจกเงาสะท้อนอารมณ์ให้เด็กเข้าใจตัวเองให้ดีขึ้น


มาถึงบทที่สอง กล่าวถึงการให้คำมั่นการชมเชยและตำหนิ การให้รางวัลในรูปแบบสินบนและการขู่ อันนี้มีประโยชน์มาก เพราะเป็นสิ่งที่คิดไม่ออกอยู่พอดี จีนอตต์กล่าวไว้ถึงการชมเลยว่าว่า การชมเชยในรูปแบบที่ประเมินค่า ตีตราเด็กนั้น เป็นคำชมเชยที่ไม่ได้ผลเท่าใด และสร้างแรงกดดันให้กับเด็กในระยะต่อมา การชม ที่มากเกินพอดีนั้นเป็นสิ่งที่เด็กเองก็ไม่เชื่อถือและทำให้ผู้ใหญ่กลายเป็นนักโกหก พูดเกินจริง คำพูดก็จะไร้ค่าไปในที่สุด เช่น เมื่อเด็กทำงานบ้านได้สะอาดเรียบร้อย ก็ชมว่าเป็นเทพธิดาแห่งความสะอาด หรือเป็นยอดขยันประจำบ้าน ไม่ก็เป็นเด็กดีที่สุดในโลกเล้ยยยฯลฯ ในความเป็นจริงเด็กที่ได้รับคำชมเรื่องใดๆนั้น มักเป็นเรื่องที่เด็กไม่ได้ทำเป็นประจำ และไม่ได้ทำดีไปทุกครั้ง (เพราะถ้าดีทุกครั้งก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่มีใครจะมานั่งกล่าวชม) ก็เพิ่งมีครั้งนั้นแหละที่เด็กทำดี แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆก็ไปตีตราให้เด็กโดยปริยายว่า การทำดีเพียงครั้งนั้นของเด็ก ทำให้เด็กเป็นคนเก่งแบบสุดๆขึ้นมา มันไม่น่าเชื่อถือและเป็นคำชมที่โอเว่อร์ ไม่จริงใจ เหมือนกับการตำหนิที่กล่าวเหมาความผิดครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งของเด็กให้เป็นตราบาปหรือเรื่องที่น่าประนามไปจนตลอดชีวิตนี้

ทางออกที่ดีสำหรับคำชมคือการชมที่ความพยายาม หรือความขยันและพัฒนาการที่ดีของเด็กที่เรามองเห็นในตอนนั้น พูดในความเป็นจริง ตอกย้ำว่าความขยันของเด็กที่แสดงออกมาเป็นสิ่งที่ดี น่ายกย่อง มากกว่าการชื่นชมตัวผล หรือผลงานของเด็กแล้วเหมารวมว่าเป็นสิ่งวิเศษ และไม่ต้องไปเทศนาแนะนำว่าคราวหน้าคราวไหนควรทำอะไรต่อ เราควรเคารพในความคิดสร้างสรรค์ของเด็กก่อน เช่นเดียวกับคำตำหนิที่ไม่อาจแจกจ่ายออกไปราวกับเกรดในการเรียน หรือสั่งสอนพร่ำบ่นในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ย้ำในความผิดพลาดให้เด็กเจ็บปวด หรือใช้มาเป็นคำขู่ การจัดกการความผิดพลาดของเด็กให้มุ่งไปที่การแก้ไขสถานการณ์หรือปัญหาให้ดีขึ้น ไม่ใช่มุ่งที่จะยอกย้ำว่าเด็กผิดๆๆ และผิดอย่างไร การแก้ไขความผิดพลาดและความสำนึก เด็กต้องสร้างด้วยตัวเอง เช่น เด็กทำแก้วแตก เราอยากจะด่า บ่น ตีเด็กจะแย่ แต่ถ้าลองปล่อยให้เด็กแก้ไขปัญหาเอง เราจะเห็นว่าเด็กจะระวังการทำแก้วแตกมากขึ้น แค่เราย้ำว่าปัญหาตอนนี้คือแก้วแตก และจะทำอย่างไรเพื่อจัดการกับแก้วใบนั้น

ส่วนระบบสัญญาและสินบน ไม่ควรให้เด็กทั้งสองอย่าง รางววัลที่น่าชื่นใจ จะมาจากสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังไว้ เด็กที่ทำตัวดีเพราะสินบน ไม่ได้ดีโดยเนื้อแท้ แต่มีจุดมุ่งหมายเคลือบแฝง และจะกลายเป็นภาระที่เหนื่อยหน่ายต่อไป
เช่นเดียวกันกับการที่จีน็อตต์กล่าวถึงคำพูดพ่อแม่แบบแสบสันต์ แต่ตรงเผงว่า คำพูดพ่อแม่นั้นเยินเย้อยืดยาด เกินความจริงและเชื่อถือไม่ได้—ก็มาจากการที่เราชอบไปเทศนา ชมและด่า(แช่ง) แล้วก็สัญญาแล้วไม่ทำหรือทำไม่ได้กับลูกนั่นเอง

ไว้มาเล่าสู่กันฟังในตอนต่อไปนะคะ




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2551   
Last Update : 5 สิงหาคม 2551 23:03:14 น.   
Counter : 225 Pageviews.  


1  2  3  

ฝนเดือนเจ็ด
 
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เป็นครูมหาวิทยาลัย สอนวิชาการพูด สนใจงานด้านจิตวิทยาการดูแลเด็ก ไม่ชอบเล่นกีฬา ชอบกินแมงกะพรุน,ปลิงทะเล และอาหารเวียดนาม ความหวังในชีวิตคือ อยากรวย
[Add ฝนเดือนเจ็ด's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com