บางเรื่อง...ที่ไซส์เล็กกะทัดรัด

ธุรกิจไซส์เล็กกะทัดรัด ตอนที่ 2 เรื่องไม่กล้วยของกระดาษใยกล้วย

-- Releaf Studio --



ฉันมีโอกาสได้เห็นหน้าค่าตาของกระดาษใยกล้วยในนิตยสารแต่งบ้านเล่มหนึ่ง
เนื้อความในนิตยสารเล่มนั้น บอกเล่าถึงกระบวนการทางศิลปะและการหยิบไอเดียจากธรรมชาติมาสร้างเป็นสินค้าท่ามกลางสภาวะโลกร้อน
สารภาพว่า ณ แวบแรก ฉันมองเจ้าสมุดใยกล้วยนั้นสวยเกินกว่าเนื้อใน การเริ่มต้นและการเดินทางของมัน
เมื่อประจวบกับฉันกำลังมองหาเรื่องราวของหนุ่มสาว ที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจตามใจฝันของตัวเอง
Releaf Studio ที่เชียงใหม่จึงเป็นปลายทางที่ฉันติ๊กไว้ในสมุดอีกหนึ่งข้อว่ายังไงก็น่าจะไปลองคุยกัยเขาให้ได้

เบ็ดเสร็จแล้วเป็นระยะเวลากว่าค่อนวัน ที่ฉันได้พูดคุยกับพี่ต้อม พาณุ งามกุญชร เจ้าของ Releaf Studio (ซึ่งหนึ่งในหุ้นส่วนของ Relaef คือคุณจ่อย สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ )
เรา (ในที่นี่รวมตากล้องและพี่บอกอ) ได้มีโอกาสขึ้นไปบนดอยที่โป่งแยง บ้านของอาว ‘รงษ์ วงษ์สวรรค์ ที่นั่นเป็น
แหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยดงต้นกล้วย พี่ต้อมเล่าว่าต้นกล้วยบริเวณนี้เยอะมาก เยอะเสียจนชาวบ้านปล่อยทิ้งร้างไว้ บ้างก็ตัดทิ้งเสียเปล่าๆ เขาเริ่มมองว่าในเมื่อเชียงใหม่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตกระดาษจากปอสา แล้วทำไมใยกล้วยที่ถูกทิ้งไร้ค่าจะลองเอามาทำเป็นกระดาษบ้างไม่ได้ !

จุดเริ่มต้นของจ่อยและต้อม เกิดจากที่ทั้งคู่เป็นนักศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งคู่อยู่เชียงใหม่และรู้จักเชียงใหม่มานาน มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเมืองที่ตัวเองผูกพัน และเริ่มสังเกตว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวกำลังเปลี่ยนไป
จึงอยากเริ่มต้นทำอะไรคืนประโยชน์ให้กับชุมชนที่พวกเขาอยู่บ้าง
พี่ต้อมเล่าว่า ตอนเรียนจบใหม่ๆ เขาเคยเข้ามาทำงานในกรุงเทพ แต่สุดท้ายก็พบคำตอบว่ามันไม่ใช่
ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่กรุงเทพแออัดและเร่งรีบเกินกว่าระบบชีวิตเขาจะปรับตัวได้ และแน่นอน … เชียงใหม่คือปลายทางและคำตอบสำหรับเขา

พอดีกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่อำเภอ ต้นเปา (อำเภอที่โด่งดังเรื่องผลิตกระดาษสา) เกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ทั้งคู่เลยมองว่าโจทย์ที่อยากจะทำจริงๆ คือการทำกระดาษจากธรรมชาติ
เมื่อมีโจทย์ รู้แล้วว่าตัวเองจะทำอะไร ทั้งคู่รีบค้นคว้าหางานวิจัยมาใส่สมองต่อยอด
อ่านงานวิจัยเรื่องการทำกระดาษของออสเตรเลีย ศึกษาเรื่องราวของใยกล้วย ทั้งยังจัดการพาตัวเองลงไปพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านที่ทำกระดาษสาจริงๆ
แต่ว่าตอนลงมือทำนี่สิ ! เอาเข้าจริงชีวิตก็ไม่เหมือนภาคทฤษฏี เครื่องมือที่เขาใช้ตอนไปเรียนรู้การทำกระดาษสา ไม่สามารถปั่นกระดาษจากเนื้อใยกล้วยได้ ใยกล้วยหนาเกินไป ปั่นมากี่ทีก็เปื่อยยุ่ย

ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ในเมื่อใยกล้วยมันหนาเกินไป ปั่นใส่เครื่องไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องทำให้เนื้อใยกล้วยเปื่อยยุ่ยเหมือนเนื้อกระดาษสานั่นแหละ
ค่อยๆ คลำหาทางออกและแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ
ต้อมเริ่มเอาความรู้สาขาภาพพิมพ์ที่ตัวเองเรียนมา เพื่อประยุกต์กับการสร้าง Texture ของกระดาษ
แต่เชื่อไหมว่า สุดท้ายแล้วการพลิกแพลงหาความลงตัวให้เนื้อกระดาษ ก็มาลงเอยที่วัสดุบ้านๆ อย่างเสื่อกก ลายหวาย (ฉันว่าอันนี้ดูเดิ้ลมาก มีความเป็นไทยและความบ้านที่เท่ไปอีกแบบ)
งานกระดาษของ Releaf เป็นงานแฮนด์เมด (ที่เจ้าตัวถ่อมตัวว่า ธุรกิจของผมเล็กกว่า SMEs ซะอีก)
แน่นอนว่าข้อเสียของระบบแฮนด์เมดคือ ถ้ามีออร์เดอร์มา มักจะทำตามได้ไม่ทัน วิธีแก้ปัญหาของเขาคือ
“ไม่ต้องมองว่าจุดนี้เป็นปัญหา แต่ให้มองว่านี่เป็นข้อจำกัดที่เราเลือกแล้ว)

-- สตูดิโอพอดีตัว --
ธุรกิจเล็กๆ ของพี่ต้อมค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ มีทีมงานราวๆ 4-5 คน รวมคนงานบนดอยในฤดูเก็บเกี่ยวเฉพาะกิจอีก
พี่ต้อมบอกว่า อยากให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างเล็กๆ อยู่แบบพอดีๆ มีคนงานไม่เยอะ ทำงานที่บ้าน ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง แต่ทำแล้วมีศักยภาพออกมาขายได้จริง กระดาษใยกล้วยของพี่ต้อมทำออกมาเป็นสมุด มีวางขายตามร้านรวงทั่วเชียงใหม่ เห็นพี่ต้อมเล่าว่าปลายปีนี้จะเปิดช้อปเล็กๆ แถวนิมมานเหมินทร์ด้วย

พี่ต้อมทิ้งท้ายแบบจุดประกายด้วยไม้ขีดให้ฉันฟังว่า
จะเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ บางครั้งไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะก็ได้ ถ้ารู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ (อย่างพี่ต้อมเอง มีเงินลงทุนแค่ 50,000 บาทแต่ก็สร้าง Green Product เล็กๆ ของตัวเองได้)
ที่สำคัญ ลงมือทำเองให้เป็นทุกขั้นตอน นี่เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำอะไรเป็นของตัวเอง
ต้องรู้ทุกอย่าง เพื่อที่จะแก้ปัญหากับมันในทุกจุดให้ได้

แต่ถึงที่สุดแล้ว ในโหมดแง่คิด ฮาวทู๊ ฮาวทู ที่ฉันคุยกับคนโน้น คนนี้เรื่อยมา
ฉันชอบแง่คิดนึงที่พี่ต้อมบอกเล่าให้ฟัง
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ลงมือทำไปเลย อย่ารีรอ คิดและตัดสินใจ แล้วทุกอย่างจะดีเอง
ก็จริงนะ ฉันว่าสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับคนที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นของตัวเองสักอย่าง
นั่นคือการคิดรีรอ จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ฝันซะที










 

Create Date : 02 ธันวาคม 2551   
Last Update : 2 ธันวาคม 2551 0:40:53 น.   
Counter : 2194 Pageviews.  

ธุรกิจไซส์เล็กกะทัดรัด ตอนที่ 1 เพราะ ‘ฉัน’ ชอบขนมหวาน

ชั้นขนมหวาน
ร้านขนมไทย ใส่ไอเดีย

ฉันมีโอกาสได้เห็นร้านขนมไทยที่มีรูปร่างหน้าตาต่างจากท้องตลาดทั่วไปผ่านตามหน้านิตยสาร
จนเมื่อถึงเวลาที่ต้องหาข้อมูล และปั้นหนังสือสักเล่ม
ร้านชั้นขนมหวาน ของดีเจ เอิรธ์ ศัลย์ อิทธิสุขนันท์ จึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ฉันจะนำมาบรรจุในหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้
ถามว่าสนใจร้านและสินค้าของพี่เขาในด้านไหน
ฉันชอบวิธีคิด วิธีตีโจทย์ และสร้างโปรดักท์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่โดยยังคงความเป็นไทยอยู่ แต่จริงๆ ฉันเป็นคนชอบกินขนมไทยและสนใจในความเดิ้ลของแพคเกจประมาณหนึ่งน่ะแหละ (ฮา)
และนี่ก็คือเรื่องราวคร่าวๆ ถึงแนวคิดของ ชั้นขนมหวาน และคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจไซส์พอดีตัว
……………………………..



“เคยมีคนถามผมว่า ถ้าอยากจะทำธุรกิจควรเริ่มต้นยังไง ผมว่าถามตัวเองก่อนเถอะ ว่าเรารักอะไร เราชอบอะไร”
พี่เอิร์ธเล่าให้ฉันฟัง
ก่อนหน้านี้พี่เอิร์ธมีโอกาสได้รู้จักกับหุ้นส้วน คือพี่พิม พิมวิไล เอี่ยมสอาด จากการเป็นพิธีกรในรายการชิมตามอำเภอใจ นิสัยชอบสรรหาย่านกิน ถิ่นไหนมีของอร่อย ติดตัวทั้งคู่มาตลอด จนเมื่อได้ตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง ทั้งคู่จึงเริ่มมองหาว่าจะทำธุรกิจอะไรดี
ภาพแรกที่คิดจะทำ คือร้านกาแฟ และเชื่อว่า ร้านกาแฟคงเป็นร้านไหนฝันของใครหลายๆ คน
แต่ตัวหุ้นส่วนอย่างพี่พิมเอง ก็เคยไม่ประสบความสำเร็จกับการเปิดร้านกาแฟมาแล้ว ประกอบกับมีปัญหาในเรื่องสถานที่ที่ยังไม่ลงตัว โครงการร้านกาแฟก็ต้องถูกพับไป
ทั้งคู่กลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าอยากจะทำอไร

“ด้วยความที่เราทำรายการอาหารมาด้วยกัน เรารู้จักขนมไทยเก้าพี่น้อง ขนมไทยบ้านอัยการ ผมชอบทานขนมตั้งแต่เด็ก ก็คิดว่าทำไมเราไม่มองในสิ่งที่คุ้นเคย แทนที่จะไปทำในสิ่งที่คนอื่นเขาทำกัน”
“พอรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร จากนั้นก็คิดคอนเซปท์ให้ชัดเจนขึ้น”
เมื่อทั้งคู่เลือกว่าจะขายขนมไทย แต่จะทำอย่างไรให้ขนมไทยของตัวเอง ต่างจากขนมไทยเจ้าอื่น

ทั้งคู่เลือกที่จะขายขนมไทยให้คนรุ่นใหม่
คิดต่อ – แล้วคนรุ่นใหม่มีรสนิยม การเสพสินค้าแบบไหน เสพจากรสชาติ หรือความรู้สึกมากกว่ากัน
คำถามหลายๆ อย่างจึงพรั่งพรูมาให้เขาคิด
“ทำไมขนมไทยต้องอยู่แต่ใบตอง”
“ตั้งแต่เด็ก เราเคยเห็นตะโก้หน้าตาแบบไหน ทำไมโตมาเราไม่ลองปรับให้ร่วมสมัยมากขึ้น”

อาจปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคนยุคนี้ มักตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าบางอย่าง
ที่เปลือก ไม่ใช่ที่แก่น
ดูอย่างสินค้าญี่ปุ่นสิ กว่าจะแกะห่อท็อฟฟี่ได้ ก็ปาเข้าไป 4 ชั้น
เมื่อเลือกแล้วว่าจะนำความเป็นไทย ส่งตรงถึงมือคนรุ่นใหม่อย่างไม่เคอะเขิน และพวกเขาก็พร้อมที่จะยอมรับ การนำแพคเกจ สีสันสดใส หีบห่อที่สะดุดตา สะดุดใจ และค่อยๆ บรรจงห่อหุ้มขนมไทยจึงถูกอกถูกใจใครหลายๆ คน

ชั้นขนมหวานจึงเปิดตัวครั้งแรกด้วยการออกบูธ ด้วยเงินลงทุนเพียง 50,000 บาท ทำกันเอง 2 คน ใช้ครัวหลังบ้านกวนขนม (เห็นไหมคะ ว่าการลงมือทำอะไรสักอย่าง เงินที่มีไม่มาก เราเองก็สามารถเริ่มต้นได้)
“ถ้าคิดจะทำขนมไทย แค่มีกระทะทองเหลืองกับไม้พาย คุณก็ทำได้แล้ว” พี่เอิร์ธให้คำแนะนำ
จากนั้นความอร่อยก็บอกต่อกันปากต่อปาก จนได้มีโอกาสเข้าไปขายในห้างสยามพารากอน ยู เซ็นเตอร์ และสาขาใหญ่ที่จุฬาซอย 10

จากความไม่เป็นมืออาชีพในตอนแรก พวกเขาค่อยๆ เรียนรู้ ผ่านการลองผิดลองถูก ยอมรับคำติจากลูกค้า ค่อยๆ จัดการและแก้ไขกันไป ครั้งหนึ่งเคยเหตุการณ์ขนมขึ้นราเพราะความผิดพลาดของพนักงานที่นำสินค้าหมดอายุมาใส่ผิดล็อต ทั้งลูกค้าก็นำไปวางซะกลางแดด ลูกค้าคนนั้นมาต่อว่าถึงร้าน แถมนำขนมมาคืนอีกด้วยความไม่พอใจ แต่ในเมื่อทำงานบริการ ความอดทนต้องมาก่อน พี่เอิรธ์บอกว่า ให้คิดซะว่า ขำขำ และจำมันเป็นบทเรียน เขาน้อมรับคำผิดและอาศัยความจริงใจให้ลูกค้า

ระหว่างที่คุยกัน – ฉันชอบแนวคิดของพี่เอิรธ์ข้อหนึ่งว่า
ถ้าคิดจะขายขนมไทย อย่างน้อยคุณต้องมีความรู้พื้นฐานในศาสตร์ขนมไทยนั้นๆ ด้วย
เพราะถ้าวันไหนที่แม่ครัวไม่ว่างล่ะก็ เมื่อนั้นสนุกแน่
ก่อนกลับบ้าน พี่เอิรธ์ยังทิ้งคำคมให้ฉันฟังอีกหนึ่งประโยค
“ธุรกิจอะไรก็ตาม มันจะดีได้ด้วยการบอกต่อในตัวของมันเอง”

ค่ะพี่ เพราะว่าหนูชื่นชมร้านขนมของพี่ และชื่นชมวิธีคิดในธุรกิจเล็กๆ ของพี่
เลยอยากเอามาบอกต่อในนี้ไง !







 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2551 15:47:41 น.   
Counter : 2955 Pageviews.  

การเดินทางของ Smile Project

เรื่องราวของคนตัวเล็ก แต่มีฝันก้อนใหญ่ เลยขอทำธุรกิจไซส์ 'พอดีตัว'
SMEs Projects ธุรกิจไซส์เล็กกะทัดรัด

.

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้...ง่ายๆ
ตั้งแต่เด็กฉันชอบเรื่องค้าขาย โตขึ้นมาหน่อยสุดท้ายก็คิดว่าถนัดเรื่องขีดๆ เขียนๆ ด้วย
สุดท้ายก็มาลงเอยที่หนังสือเล็กๆ เล่มนี้

คิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี
จริงๆ ไม่อยากให้มีคำว่าธุรกิจ หรือ SMEs หรืออะไรทำนองนี้มาให้หลงประเด็น
แรกเริ่มตั้งชื่อว่า "ตัวตั้งตัวตี" พี่บอกอไม่ให้ผ่าน บอกว่ามันไม่ค่อยสื่อ
ชื่อที่สอง "เรื่องตั้งต้นของคนตั้งตัว" คิดเองว่าชื่อนั้นเพื่อชีวิตไปนิดส์
สุดท้ายก็ต้องตัดใจ ใช้คำว่า ธุรกิจและมีคำว่า SMEs ลงไปพะหน้าเล่มซะแผ่หรา

(พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยงให้คำแนะนำว่า "พี่ว่าคำว่า SMEs นี่มันอาจฟังน่ากลัวนะ
เหมือนคำว่า Otop ที่คนเลิกฮิตไปแล้ว จริงๆ มันเป็นหนังสือกระตุกต่อมฝันของคนตัวเล็กๆ ที่อยากทำธุรกิจไม่ใช่เหรอ !)
ขอบคุณค่ะ พี่จุ้ย แต่หนูพิมพ์ลูกสาวหนูเสร็จแล้ว
คราวหน้าตั้งชื่อหนังสือ หนูจะปรึกษาพี่คนแรกเลยค่ะ

(หนังสือเรื่องรู้ทันสันดาน Tense ที่ฉันซื้อมาอ่าน พี่จุ้ยก็เป็นคนไกด์ไอเดียชื่อนะ แถมรูป รูป คำคำ ของพี่บัวไร และพี่แป้ง ภัทรีดา ได้ข่าวว่าพี่จุ้ยก็ตั้งชื่อให้นิ ... )

มักคิดเข้าข้างตัวเองว่า เฮ้ย นี่ไม่ใช่หนังสือธุรกิจแนวฮาร์ดคอร์นะ
แต่มันเป็นหน้งสือเล่าเรื่องการดำเนินชีวิต และไอเดียของคนที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
ที่ชอบ ที่ชอบ
(เออ แฮะ แต่จริงๆ มันก็เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจอยู่ดี คนเรามักหนีตัวเองไม่พ้นหรอกเนอะ 55)
บ่อยครั้งฉันมักเห็นหนังสือแนวเรื่องราวทำมาหากิน ถูกหยิบจับมาพูดในอีกรูปแบบหนึ่ง
ตั้งคำถามเอง - ทำไมไม่มีใครหยิบมันมาเล่าในแบบร่วมสมัยด้วยล่ะ

ขึ้นชื่อว่าหนังสือธุรกิจแนวคิด-ทำ-กิน
ภาพถ่ายเจ้าของธุรกิจ - มีป้ายโชว์หรา แถมหน้าสินค้าตัวเบ้อเร่อ

ขึ้นชื่อว่าหนังสือธุรกิจแนวฮาวทู ส่งตรงจากผู้บริหารชั่นนำ บลา บลา บลา
ภาพถ่ายด้านหน้า - สูทเรียบหรูยิ่งกว่าร้านท่านเจ้าคุณ และซุปเปอร์ฮาวทูบรรจุอยู่เต็มเล่ม

ไม่ได้คิดจะบลัฟใครนะคะพี่ขา
จริงๆ เรื่องความชอบ ความสนใจ เป็นเรื่องปัจเจกที่ฉันไม่สามารถตัดสินได้
แต่นี่เป็นความคิดที่ตั้งคำถามให้ตัวเองค่ะ
เลยอยากลองทำหนังสือแบบนี้ขึ้นมา
โจทย์เดียวกัน - แต่อยากพลิกมุมอีกด้าน

ใคร ใคร่ ชอบ ก็ ชอบเถอะนะ
ตามสบาย...



ปอลอ ลืมบอกนะคะ
SMEs ท้ายเล่ม
ตีความใหม่ซะว่า Smile + Mission + Entrepreneur




 

Create Date : 08 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2551 11:39:49 น.   
Counter : 575 Pageviews.  


So Serene
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add So Serene's blog to your web]