สุขกับสิ่งที่มีและเป็น...


 
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 มกราคม 2554
 

การนำหลักจิตวิทยามาอธิบายวรรณกรรม

จิตวิทยา หมายถึง วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือกิริยาอาการของมนุษย์รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้างในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถ คาดคะเนหรือพยากรณ์ได้ ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยา
ศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์

จิตวิทยา ทำให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ พฤติกรรมของมนุษย์รวมไปถึงการปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขซึ่งการทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ จึงนำไปสู่การทำความเข้าใจ และช่วยอธิบายวรรณกรรม

หลักจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับวรรณกรรม

หากจะกล่าวถึงหลักหรือแนวคิดด้านจิตวิทยามีอยู่มากมาย แต่ที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในการวิจารณ์วรรณกรรมคือ “แนวคิดและทฤษฎีบุคลิกภาพ” (Theories of Personality)
ทฤษฎีบุคลิกภาพ หมายถึง แนวทางที่นักจิตวิทยาใช้ในการอธิบายธรรมชาติของบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง (struture) กระบวนการ (process) และสาระสำคัญ (content) เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล

กิจกรรมที่ 1 ตอบคำถามต่อไปนี้ตามความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ
1. เมื่อคุณคิดจะตกแต่งสวนหน้าบ้านคุณจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดเป็นอันดับแรก
1. ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา 2. บ่อน้ำ 3. ดอกไม้สีสันต่างๆ 4. ลานหญ้า
2. อยากเห็นวิวที่มองจากหน้าต่างห้องนอนของคุณเป็นอย่างไร
1. เห็นท้องฟ้า 2. เห็นทะเล 3. เห็นต้นไม้ 4. เห็นอาคารบ้านเรือน
3. ถ้าคุณจะต้องซื้อของดังต่อไปนี้ คุณจะใช้เวลาเลือกสินค้าใดนานที่สุด
1. รองเท้า 2. เสื้อผ้า 3. หนังสือ 4. นาฬิกาข้อมือ
4. ผ้าเช็ดหน้าที่คุณพกติดตัว มีลวดลายแบบไหน
1. สีสดใส 2. สีอ่อน 3. ลายดอกไม้ ลายจุด 4. ลายสก็อตหรือลายเส้น
5. บุคคลแรกที่คุณจะคิดถึงเมื่อประสบความสำเร็จ
1. พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่นับถือ 2. ตัวคุณเอง 3. คนรัก 4. เพื่อน
6. อาชีพที่คุณอยากทำในอนาคต
1. อาชีพที่ใช้ความสามารถพิเศษในตัวคุณ 2. อาชีพที่ต้องใช้อารมณ์หรือจิตนการ
3. ธุรกิจในครัวเรือนร่วมงานกับญาติพี่น้อง 4. อาชีพที่ทำงานกับคนมากเข้าสังคม
7. สิ่งที่คุณคิดว่าคุณเปลี่ยนแปลงได้ยาก
1. นิสัย 2. คนรัก 3. ความคิด 4. กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้ให้กับตัวเอง
8. เรื่องราวในชีวิตทีทำให้คุณเสียน้ำตา
1.เพื่อน 2.ความว้าเหว่ 3. ความรักและคนรัก 4.การเรียน การทำงาน
จากการตอบคำถามในกิจกรรมที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบุคลิกภาพ โครงสร้างทางจิตใจ และพฤติกรรมที่แสดงออก ซึ่งอาจเป็นจริงทั้งหมดกับบางคน หรือจริงบ้าง หรืออาจไม่จริงเลย แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏระหว่าง โครงสร้างทางจิต กับ โครงสร้างทางบุคลิกภาพ อาจไม่สัมพันธ์กันเพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
 ภาพลักษณ์
 มายา
 เป้าหมาย
 ความกลัว
 ฯลฯ
1. สัปดาห์ก่อนคุณโกหกอาจารย์เรื่องการป่วยทำให้ไม่ได้เข้าเรียน แต่ในความเป็นจริงคุณ ขี้เกียจเรียน เมื่ออาจารย์ถามคุณอีกครั้งถึงการขาดเรียน คุณจะตอบว่า ……………………………
2. หากคุณลอกการบ้านเพื่อนแล้วอาจารย์พบว่าคำตอบของเพื่อนคุณเหมือนกับที่คุณตอบซึ่งคาดว่าต้องมีคนใดคนหนึ่งเป็นคนลอกการบ้าน
- หากคุณอยู่ลำพังกับอาจารย์คุณจะตอบว่า ..............................
- หากคุณอยู่ในชั้นเรียน ซึ่งเพื่อนคนนั้นไม่ได้มาเรียน คุณจะตอบว่า .......................
- หากคุณกับเพื่อนถูกอาจารย์เรียกเข้าพบพร้อมกัน คุณจะตอบว่า .......................
จะเห็นว่า “ความจริงมีเพียงข้อเดียวแต่คำตอบมีได้หลายข้อ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญไม่มีใครหนีความจริงที่ว่า “เราหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้” และ “การจำเรื่องโกหกยากกว่าการลืมเรื่องจริง” และที่สำคัญ“เมื่อคุณเผลอความจริงให้ปรากฏ”
การที่บุคคลแสดงบุคลิกภาพในรูปแบบใดออกมานั้นย่อมขึ้นอยู่กับความขัดแย้งกันระหว่างพลังทางจิตสามส่วน พลังงานทางจิตส่วนใดจะมีอำนาจเหนือกว่า บุคคลก็จะแสดงบุคลิกภาพออกมาตามอิทธิพลของพลังงานทางจิตฝ่ายที่มีอำนาจนั้น แต่ถ้าเมื่อใดที่พลังงานระหว่างอิดกับซูเปอร์อีโก้ มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากเกินไป บางครั้งอีโก้จะหาทางประนีประนอมเพื่อ ลดความขัดแย้งนั้นให้น้อยลง โดยใช้วิธีการปรับตัวที่เรียกว่ากลวิธานในการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanisms) ถ้าทำสำเร็จจะช่วยให้บุคคลนั้นกลายเป็นโรคจิตและโรคประสาทในที่สุด
ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากบุคลิกลักษณะ และชะตากรรมของตัวละครในวรรณกรรม
ดังนั้น การวิจารณ์วรรณกรรม นักวิจารณ์จึงต้องทำความเข้าใจกับตัวละคร ซึ่งแนวคิดและทฤษฎีที่นิยมนำมาใช้ในการวิจารณ์คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (Psychoanalysis Theory)

ซิกมันด์ ฟรอยด์
จิตแพทย์ชาวเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นผู้ก่อตั้งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ขึ้น โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการรักษาผู้ป่วยในคลินิกของเขา ฟรอยด์ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพการแสดงออกของแต่ละคนเป็นอย่างมาก และได้อธิบายทฤษฎีบุคลิกภาพของบุคคล (เติมศักดิ์ คทวณิช. 2547 : 235-239) ไว้ดังนี้
ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ (Structure of Personality) ฟรอยด์ พบว่าโครงสร้าง
บุคลิกภาพของบุคคลเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างพลังทางจิต 3 ส่วน ได้แก่ อิด (Id) อีโก้ (Ego)และซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) โดยพลังทั้ง 3 ส่วนนี้จะอยู่ในจิตทั้ง 3 ระดับ
(1) อิด เป็นพลังงานทางจิตที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกเป็นส่วนใหญ่ พลังงานทางจิตหมายถึง ความอยาก ความต้องการ กิเลส และตัณหาทั้งหลาย ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะพยายามหาทางออกโดยไม่สนใจในโลกแห่งความเป็นจริงว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ฟรอยด์กล่าวว่าอิดของ
บุคคลจะเกิดจากสัญชาตญาณ 2 ประเภท ได้แก่
ก. สัญชาตญาณแห่งการดำรงชีวิตอยู่ (Life Instinct) ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่จะกระตุ้นให้บุคคลแสวงหาสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ความสบาย และความพึงพอใจแก่ตน ในบรรดาสัญชาตญาณแห่งการมีชีวิตอยู่นั้น ฟรอยด์จะให้ความสำคัญกับความต้องการทางเพศ (Sexual) มากที่สุด แต่ความต้องการทางเพศในทัศนะของฟรอยด์นั้นไม่ได้หมายถึงความต้องการความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ยังครอบคลุมถึงความต้องการความสุข ความพึงพอใจ หรือความสะดวกสบายทุกอย่าง เช่นต้องการเครื่องปรับอากาศเพราะเย็นสบาย ต้องการความสุขจากการรับประทานอาหารระดับเชลล์ชวนชิม หรือมีความสุขกับการเรียนวิชาที่ชอบ
ข. สัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instinct) เป็นสัญชาตญาณที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดการเอาชนะ ต่อสู้ ท้าทาย ซึ่งฟรอยด์ได้ให้ความสำคัญกับความก้าวร้าว (Aggression) มากที่สุด ตัวอย่างความก้าวร้าว ได้แก่ ความต้องการที่จะได้รับการคัดเลือกขึ้นเป็นหัวหน้างาน จึงพยายามขยันทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเลือกตน แม้กระทั่งการทะเลาะเบาะแว้ง ชกต่อย ทำร้ายร่างกาย รวมกระทั่งทำสงครามระหว่างกัน แต่ในระหว่างความต้องการทางเพศกับความก้าวร้าว สัญชาตญาณที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก คือ ความต้องการทางเพศ ด้วยเหตุผลนี้ฟรอยด์จึงอธิบายว่าบุคลิกภาพของมนุษย์ที่แสดงออกมานั้น จะตอบสนองความต้องการทางเพศของตนเป็นส่วนใหญ่ สำหรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบอิด นั่น จึงมักแสดงอะไรตามสัญชาตญาณของตนโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เพียงเพื่อให้ตนเองได้รับความสุขและความพอใจเพียงอย่างเดียว
(2) อีโก้ เป็นพลังงานที่จะอยู่ในจิตสำนึกและกึ่งจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่ เป็นพลังงานทางจิต ที่จะทำหน้าที่บริหารพลังจากฝ่ายอิดและฝ่ายซูเปอร์อีโก้ให้สมดุลและแสดงออกให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง ที่สังคมยอมรับหรือเหมาะสมกับเหตุผลในสถานการณ์นั้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งหรือความอ่อนแอของอีโก้ในแต่ละบุคคลนั้นด้วย สำหรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบอีโก้ (Ego Personality) นั้นมักจะแสดงออกมาตามเหตุผลความเป็นจริงที่ตนพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมและถูกต้อง
(3) ซูเปอร์อีโก้ เป็นพลังงานที่อยู่ภายในจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่ ที่รวมตัวขึ้นจากการเรียนรู้ในระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา กฎของศีลธรรม และกฎหมายของสังคม ซูเปอร์อีโก้เป็นตัวบอกให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด ควรหรือไม่ควร จึงมีลักษณะตรงข้ามกับอิด มีหน้าที่คอยควบคุมความต้องการทางเพศและความก้าวร้าวในอิดไม่ให้แสดงออก ซูเปอร์อีโก้จะควบคุมอิดได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าซูเปอร์อีโก้ของบุคคลนั้นแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด สำหรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบซูเปอร์อีโก้ (Superego Personality) มักจะชอบทำตามระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในทฤษฎีและมีอุดมคติสูง

ทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytical Psychology Theory)
ผู้ก่อตั้งทฤษฎีนี้ได้แก่คาร์ล จี. จุง นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ (Carl G. Jung , อ้างถึงใน เติมศักดิ์ คทวณิช. 2547 : 239-242) แนวความคิดทฤษฎีบุคลิกภาพของจุงนั้นจำแนกเป็นส่วนสำคัญได้ 2 ส่วน ดังนี้
(1) โครงสร้างบุคลิกภาพ (Structure of Personality) บุคลิกภาพตามความหมาย
ของจุงคือจิต(Psyche) ซึ่งประกอบด้วยระบบต่างๆ เป็นส่วนๆ มาทำงานรวมกัน ได้แก่
ก. อีโก้ จุงเชื่อว่าอีโก้เป็นศูนย์กลางแห่งบุคลิกภาพของบุคคลซึ่งอยู่ในส่วนของจิตสำนึก(conscious) ซึ่งประกอบไปด้วยความจำ ความรู้สึกนึกคิด การตัดสินใจ และการมีสติซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่บุคคลจะสามารถรับรู้เกี่ยวกับตนเองได้ตลอดเวลา จึงเท่ากับว่าอีโก้เป็นตัวกำหนดบทบาท หน้าที่ และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล
ข. จิตใต้สำนึกส่วนบุคคล (Personal Unconscious) ส่วนนี้จะอยู่ถัดจากอีโก้ลงไป เป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยประสบการณ์ต่างๆที่เคยอยู่ในจิตสำนึกมาก่อนแต่ได้ถูกกดลงสู่จิตใต้สำนึก (Unconscious) ด้วยกลไกทางจิต ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการที่จะลืมประสบการณ์เหล่านั้นเพราะเป็นความเจ็บปวด เป็นทุกข์ หรือไม่พอใจเป็นต้น ต่อมาภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น สิ่งแวดล้อมหรือ ได้รับสิ่งเร้าที่เหมาะสม ประสบการณ์เหล่านั้นอาจจะผลักดันขึ้นมาสู่จิตสำนึกที่รับรู้ได้อีกครั้งประสบการณ์ต่างๆ ภายในจิตใต้สำนึกส่วนบุคคล (Personal Unconscious) นี้ถ้าได้รับการรวบรวมให้เป็นกลุ่มหรือหมวดหมู่ของความรู้สึก (Constellation) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จุงเรียกการเกิดสภาวะเช่นนั้นว่าปม (Complex) ดังนั้นเท่ากับว่าจิตใต้สำนึกส่วนบุคคลจึงเป็นแหล่งรวบรวมปมของบุคคลไว้มากมาย เช่น ปมเกี่ยวกับแม่ (Mother Complex) เกิดจากการจัดกลุ่มหรือหมวดหมู่ของประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับแม่ เช่น ความรู้สึก ความจำต่างๆ ที่ได้รับจากแม่จนก่อตัวขึ้นเป็นปมเมื่อพลังจากปมนี้มีมากจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการควบคุมบุคลิกภาพของบุคคลนั้นให้ทำตามสิ่งที่แม่พูด แม่สั่ง แม่คิด หรือสิ่งที่เป็นความประสงค์ของแม่ แม้กระทั่งการเลือกภรรยาก็จะเลือกบุคคลซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแม่ของตน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ต่างๆ ที่รวมกลุ่มหรือหมวดหมู่ขึ้นเป็นปมนั้นอาจกลับขึ้นมาสู่จิตสำนึกได้อีกครั้งถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
ค.จิตใต้สำนึกส่วนที่สะสมประสบการณ์ในอดีตชาติ (Collective Unconscious) จุง อธิบายว่าจิตใต้สำนึกส่วนนี้จะทำหน้าที่สะสมประสบการณ์ต่างๆ ที่ทุกคนได้รับเป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่เริ่มต้นมีมนุษย์เกิดขึ้นภายในโลกเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ จุงเชื่อว่ามนุษย์ ทุกคน ทุกตระกูล ทุกเชื้อชาติ และทุกเผ่าพันธุ์ต่างก็มีประสบการณ์ในจิตใต้สำนึกส่วนที่สะสม ประสบการณ์ในอดีตชาติที่เป็นต้นฉบับเดียวกันทั้งสิ้น โดยบันทึกเป็นข้อมูลอยู่ในสมองแล้วถ่ายทอดกันมาแต่ละรุ่นยาวนานตลอดจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ในการแสดงพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ทั่วโลก จึงอธิบายจากต้นฉบับที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่อดีตชาติได้เหมือนกันหมด เช่น ทำไมเด็กทารกจึงเกิดมากับความพร้อมที่จะรับรู้และสร้างสัมพันธภาพอันดีกับแม่เป็นอันดับแรก ถ้าอธิบายตามแนวคิดของจุงนั้นเป็นเพราะว่าเด็กได้รับประสบการณ์ความสัมพันธ์กับแม่มาตั้งแต่อดีตชาติภายใต้จิตใต้สำนึกส่วนที่สะสมประสบการณ์ใน อดีตชาติ จึงทำให้มีพื้นฐานเช่นนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ง. หน้ากาก (Persona) หมายถึง สภาวะของบุคคลที่จะต้องแสดงบทบาทไปตามความคาดหวังของสังคมและเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีตามที่สังคมกำหนด หรือเป็นการแสดงออกเพื่อให้ได้รับการยอมรับและสร้างความประทับใจบุคคลอื่นๆ ดังนั้นในบางครั้งบุคลิกภาพของบุคคลที่เกิดจากการใช้หน้ากาก จึงอาจจะมีความขัดแย้งกับบุคลิกภาพที่แท้จริงภายในตัวบุคคลนั้นได้ เท่ากับว่าหน้ากากจึงทำหน้าที่ควบคุมบุคลิกภาพส่วนที่ไม่ดีที่แท้จริงของบุคคลไม่ให้ปรากฎออกมาต่อสังคมภายนอก ความขัดแย้งระหว่างบุคลิกภาพเหล่านี้ถ้าเกิดบ่อยครั้งในหลายๆ เรื่องอาจจะทำให้บุคคลนั้นขาดความเป็นตัวของตนเอง กลายเป็นคนสวมหน้ากากเข้าหาผู้อื่น หรือเป็นคนที่มีความขัดแย้งในใจได้
จ. ลักษณะซ่อนเร้น (Anima or Animus) จุงเชื่อว่ามนุษย์มีลักษณะทั้งสองเพศอยู่ในคนคนเดียวกัน โดยจะเห็นได้จากการที่เพศชายจะมีความนุ่มนวลและอ่อนโยนซึ่งเป็นลักษณะของเพศหญิงอยู่ในตัว จุงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าแอนิมา (Anima) ส่วนผู้หญิงจะมีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดขาดซึ่งเป็นลักษณะของเพศชายซ่อนเร้นอยู่ในตัวเช่นกัน จุงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าแอนิมัส (Animus) จากลักษณะทั้งสองเพศที่ซ่อนเร้นอยู่นี้จึงทำให้ผู้ชายเข้าใจธรรมชาติของผู้หญิง และผู้หญิงก็มีความเข้าใจธรรมชาติของผู้ชายได้ด้วยตัวของตัวเอง
ฉ. เงาแฝง (Shadow) เป็นภาพหรืออาร์คีไทป์รูปแบบหนึ่งที่ก่อตัวมาจากสัตว์ก่อนจะมีวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเงาแฝงเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ที่จะส่งผลให้มนุษย์แสดงความชั่วร้าย ก้าวร้าว และป่าเถื่อน รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่ขัดแย้งกับกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม เงาแฝงเหล่านี้จะถูกควบคุมและปกปิดโดยหน้ากาก หรือเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึก
(2) ลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล จากโครงสร้างทางบุคลิกภาพที่จุงได้
อธิบายไว้ จุง จึงแบ่งลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลไว้ 2 ประเภทคือ
ก. แบบเก็บตัว (Introvert) เป็นบุคลิกภาพของบุคคลที่มีแน้วโน้มเป็นพวกเก็บตัว ชอบความสงบเงียบไม่ชอบการเข้าสังคม ขี้อาย พอใจที่จะอยู่เบื้องหลัง ขาดความมั่นใจในตนเอง ชอบใช้วิธีหนีปัญหามากกว่าเผชิญปัญหา ส่วนดีของบุคลิกภาพแบบเก็บตัวนี้มักจะเป็นบุคลิกของ นักประดิษฐ์และนักคิดค้นทั้งหลาย แต่ส่วนเสียมักจะเกิดอาการซึมเศร้า แยกตัว และไม่สนใจสังคม
ข. แบบแสดงตัว (Extrovert) เป็นบุคลิกภาพประเภทแสดงตัว ชอบเข้าสังคมรักความสนุกสนาน ชอบการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ที่เป็นจริง มีมนุษยสัมพันธ์ดี กล้าที่จะแสดงออก ชอบความเป็นผู้นำต้องการเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คบคนง่าย ชอบเผชิญปัญหามากกว่าการหนีปัญหาอย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจะพบว่าคนบางคนจะมีบุคลิกภาพแบบกลางๆ กล่าวคือ มักจะมีบุคลิกภาพเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น ในสถานการณ์หนึ่งอาจมีบุคลิกภาพแบบแสดงตัว ในอีกสถานการณ์หนึ่งอาจเป็นแบบเก็บตัวก็ได้ จุงจัดคนประเภทนี้อยู่ในพวกแอมบิเวิร์ต
ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคลของแอดเลอร์ (Adler’s Individual Psychology)
อัลเฟรดแอดเลอร์ (Alfred Adler , อ้างถึงใน เติมศักดิ์ คทวณิช. 2547 : 242 - 244) เป็นนักจิตวิทยาเชื้อสายยิวในระยะเริ่มต้นนั้นแอดเลอร์ เคยทำงานร่วมกับกลุ่มจิตวิเคราะห์มาระยะหนึ่ง แต่ภายหลังมีความคิดเห็นคัดค้านแนวคิดของ ฟรอยด์ เช่น เกี่ยวกับความฝัน ตลอดจนวิธีการบำบัดผู้ป่วยตามแนวทางของจิตวิเคราะห์ ทำให้แยกตัวมาตั้งทฤษฎีใหม่ และเรียกกลุ่มตนเองว่าทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคลทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อว่าการศึกษาบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ไม่ใช่เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องศึกษาพฤติกรรมทั้งหมดที่บุคคลนั้นแสดงต่อสถานการณ์หรือรูปแบบของ พฤติกรรมที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในสังคม ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคล และผลจากการศึกษาของแอดเลอร์ทำให้ได้ข้อสรุปปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกของบุคคลไว้ 3 ประการ ดังนี้
(1) ลำดับการเกิดของเด็กในครอบครัว (Order of Birth)
แอดเลอร์ให้ความสำคัญต่อสังคมระดับครอบครัวเป็นอันดับแรก โดยสังเกตจากบุคลิกภาพของลูกคนโต คนกลาง และคนสุดท้อง ซึ่งจะแตกต่างกันไปอย่างเห็นได้เด่นชัด จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเพราะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากพ่อแม่แตกต่างกันไป ซึ่งได้สรุปไว้ดังนี้
ก. ลูกคนโต เป็นลูกคนแรกของครอบครัว ดังนั้นเด็กจะได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างมาก จนกระทั่งเมื่อมีน้องใหม่เกิดขึ้นเด็กจะมีความรู้สึกว่าความรักที่เคยได้รับจะถูกแบ่งปันไปให้น้องที่มาใหม่ ประสบการณ์เช่นนี้จะทำให้เด็กมีบุคลิกภาพประเภทขี้อิจฉาและเกียดชังผู้อื่นรู้สึกไม่มั่นคง พยายามปกป้องตนเอง ดังนั้นถ้าพ่อแม่สามารถที่จะเตรียมความพร้อมให้ลูกคนโตเพื่อรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดได้ล่วงหน้าแล้ว จะทำให้ลูกคนโตมีบุคลิกภาพพัฒนาไปในแนวทางที่พึงประสงค์ได้ เช่น มีความรับผิดชอบสูง เชื่อมั่นในตนเอง ชอบช่วยเหลือปกป้อง คุ้มครองผู้อื่นที่ด้อยกว่า
ข. ลูกคนกลาง มักจะเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูง มีความอุตสาหะพยายาม อดทน แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นคนดื้อรั้น และในส่วนลึกจะมีความรู้สึกอิจฉา พี่น้องของตนจึงพยายามจะเอาชนะหรือแสดงความสามารถที่เหนือกว่าพี่และน้องออกมา ทั้งนี้เนื่องจากคิดว่าพ่อแม่จะรักพี่คนโตและน้องคนสุดท้องมากกว่าตน แต่โดยทั่วไปแล้วลูกคนกลางมักจะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าพี่และน้อง
ค. ลูกคนสุดท้อง เนื่องจากเป็นลูกคนเล็กจึงมักได้รับการตามใจประคบประหงมและได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่หรือพี่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เด็กที่เป็นลูกคนสุดท้องจึงมีลักษณะเป็นคนเอาแต่ใจตนเอง ชอบขอความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่รู้จักโต
(2) ประสบการณ์ในวัยเด็ก (Chilhood Experience) หมายถึง ประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการอบรมเลี้ยงดูในระยะแรกของชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี ซึ่งแอดเลอร์ได้ให้ความสนใจประสบการณ์เหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อบุคลิกภาพเป็น อย่างยิ่ง ประสบการณ์ที่เด็กได้รับดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ
ก. เด็กที่เลี้ยงดูแบบตามใจ (Spoiled Child) แอดเลอร์เห็นว่าการตามใจลูกหรือทะนุถนอมลูกจนเกินไปจะทำให้เด็กเสียคน ไม่สามารถจะพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ ขาดเหตุผล เอาแต่ใจตนเอง เห็นแก่ตัว เรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการจากสังคมเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคยคิดจะตอบแทนผู้อื่นหรือสังคมเลย
ข. เด็กที่ถูกทอดทิ้ง (Neglected Child) หมายถึง เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ขาดความเอาใจใส่ เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิต แยกทางกัน หรือเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงถูกทอดทิ้งเพราะพ่อแม่เกลียดชังไม่ต้องการลูก เด็กที่อยู่ในสภาพเช่นนี้จะรู้สึกเกลียดชังพ่อแม่ตนเองและคนรอบข้าง ทำให้มีบุคลิกภาพเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เห็นทุกคนเป็น ศัตรูกับตน เป็นพวกต่อต้านและแก้แค้นสังคม ชอบข่มขู่วางอำนาจ ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยาก
ค. เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างสมบูรณ์ (Warm Child) หรือเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลกับลูก เด็กที่ได้รับประสบการณ์ที่ดีเช่นนี้จะทำให้เป็นคนที่มีเหตุผล กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ มีจิตใจ และความคิดเป็นประชาธิปไตย มองโลกในแง่ดี ร่าเริง แจ่มใส และเอาใจใส่ผู้อื่น ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของสังคม
(3) ความรู้สึกว่ามีปมด้อยและสร้างปมเด่นชดเชย (Inforiority Feeling and Compensation) แอดเลอร์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปมด้อย ซึ่งในระยะแรกจากการสังเกตผู้ป่วยที่มารับบริการรักษาในคลินิกของแอดเลอร์ พบว่าในวัยเด็กคนไข้เหล่านี้มักมีความบกพร่องทางร่างกายเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาจึงพบว่านอกจากสภาพร่างกายที่เป็นปมด้อยแล้ว ยังเป็นผลมาจากประสบการณ์ต่างๆ ที่บุคคลได้รับจากสังคม ปัจจัยเหล่านี้จะกลายเป็นปมด้อยของแต่ละคนก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเกิดการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับบุคคลอื่นแล้วมีการเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา สภาพทางร่างกาย ความสามารถ สถานภาพทางสังคม ฐานะความเป็นอยู่ การยอมรับ ซึ่งปกติโดยทั่วไปแล้วแต่ละคนมักจะมองเห็นว่าสิ่งที่ตนเองมีอยู่นั้นไม่สมบูรณ์ สู้คนอื่นไม่ได้ หรือเป็นปมด้อยเสมอ และความรู้สึกว่าเป็นปมด้อยนี้เองทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันในการที่จะดิ้นรนเพื่อเอาชนะปมด้อยของตน โดยการสร้างปมเด่น (Superiority Complex) ขึ้นมา เพื่อทำให้เกิดรู้สึกมั่นใจภูมิใจ พึงพอใจ และเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั้งหลายในสังคม



Create Date : 23 มกราคม 2554
Last Update : 23 มกราคม 2554 18:23:57 น. 2 comments
Counter : 20511 Pageviews.  
 
 
 
 
ถูกต้องแล้วครับ ต้องเอามาใช้ไม่อย่างนั้นตั้วละครมันจะมีบุคคลิกสับสน
 
 

โดย: wbj วันที่: 23 มกราคม 2554 เวลา:18:34:18 น.  

 
 
 
ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้
 
 

โดย: ตุ๊ก IP: 192.168.1.70, 127.0.0.1, 203.113.99.146 วันที่: 13 ธันวาคม 2554 เวลา:10:59:46 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Rjaantick
 
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




ชีวิต คือการแสวงหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะอยู่และเป็นอย่างเป็นสุขบนสิ่งที่มีและเป็น
[Add Rjaantick's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com