คุณพีทคุง พิธันดร
Group Blog
 
 
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
3 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
แรกก้าว » เขียนไทยให้ถูก





บทเรียนแรกที่ผมนึกถึง หลังจากนั่งเขียนฝันมาหลายปี ก็คือการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องครับ

ส่วนหนึ่งมาจากนิสัยของผมเองด้วย คือรู้สึกอยากเขียนภาษาไทยให้ถูก แปลกที่เมื่อก่อนไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย รู้แต่ว่าถ้าเขียนอะไร ก็จะพยายามเขียนให้ถูก เท่าที่ความรู้ของเราจะเอื้ออำนวย แต่พอนั่งเขียนฝันด้วย อ่านฝันของคนอื่นด้วย นานๆ เข้าแล้ว กลับยิ่งรู้สึกมากขึ้นทุกที ว่าการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องนี่ มันสำคัญ “มั่ก มั่ก มั่ก มากกกกกกก...” จริงๆ

ในแง่ที่ผมเป็นฝ่ายเขียน ผมมีความรู้สึกว่า เราต้องเคารพคนอ่านหนึ่งล่ะ การที่เขาอุตส่าห์สละเวลามานั่งอ่านงานเขียนของเรานี่ สำหรับผมรู้สึกว่าเขา “ให้” เรามากมายแล้ว เราก็ควรต้องตั้งใจกับงานที่จะไปสู่สายตาเขาให้มาก พยายามตรวจทานกลั่นกรองให้มันดูดีที่สุด ซึ่งก็รวมถึงตัวสะกดที่ถูกต้องด้วย

และในทางกลับกัน ตัวหนังสือที่เราเผยแพร่ออกไป มันก็เป็นหน้าเป็นตาของเรา คนอื่นเขาจะนับถือให้เกียรติเราหรือเปล่า ส่วนหนึ่งก็มาจากตัวหนังสือที่เราเขียนนี่เอง ผมจึงพยายามระมัดระวังให้ถูกต้องที่สุด ไม่อยากให้คนอื่นเห็นแล้วเลิกคิ้ว คิดว่า “โห... เขียนหนังสือยังไม่ถูก แล้วที่เขียนมาจะเชื่อได้มั้ยเนี่ย...”

ส่วนในแง่ที่ผมเป็นฝ่ายอ่าน ผมอ่านหนังสือที่เป็นเล่มจริงๆ มามาก และอ่านงานเขียนบนเว็บมาเยอะ (ที่ถนนนักเขียนเป็นส่วนใหญ่) ผมได้เรียนรู้กับตัวเองเลยว่า เวลาเจอคำที่สะกดผิดแล้ว การอ่านมันจะสะดุดไปเล็กน้อย ไอ้ที่ผิดแบบจิ้มผิดเห็นแล้วเดาความหมายได้นี่ยังไม่เท่าไหร่ ไอ้ที่ผิดแบบสะกดผิดนี่ เห็นแล้วมันเผลอสะดุดไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ถ้านานๆ โผล่มาซักคำนี่ ก็ไม่มีผลต่อการอ่านทำความเข้าใจเรื่อง หรือการตามอารมณ์ของเรื่องนัก แต่ถ้าเจอแบบบรรทัดเว้นบรรทัด สารภาพว่าแรงใจในการอ่านร่วงโรยอย่างรวดเร็วทีเดียว

ผมถึงได้เรียนรู้ว่า การเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง มีผลต่อการนำเสนองานของเราอย่างมาก ส่วนตัวรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณ เป็นความรับผิดชอบต่องานเขียนของตัวเองขนาดนั้นเลย




การเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง เท่าที่เจอมา ผมคิดว่าน่าจะมีอยู่สี่แบบใหญ่ๆ



(1) จิ้มผิด คือกรณีที่คนเขียนรู้ว่าจะต้องสะกดยังไง ตั้งใจจะสะกดอย่างนั้น แต่นิ้วมันสัมผัสผิดแป้น เลยได้คำอื่นมาแทน ซึ่งบางทีก็อ่านออก บางทีก็อ่านไม่ออก อันนี้มักจะเกิดได้ง่ายกับคนที่พิมพ์เร็ว และคิดเร็ว คิดไปพิมพ์ไปเหมือนพูด บางทีสะบัดนิ้วผิดนิดเดียว ก็ได้ตัวอักษรที่ใกล้ๆ กันมาแทน แถมบางทีมันยังคล้ายๆ กันซะอีก อย่าง ค.ควาย กับ ต.เต่า หรือบางทีกดยกแคร่ (ปุ่ม Shift) เร็วไปหรือช้าไป หรือสลับกัน (โอ้ เป็นมาหมดทุกแบบ ไม้เอกกลายเป็นไม้จัตวา หรือไปยกแคร่ผิดตัวก็มี) แล้วตัวหนังสือบนจอก็ไม่ได้ใหญ่โต บางทีถ้ามันคล้ายๆ กันมาก (ค/ต หรือ ก่/ก๋) ก็มองแทบไม่เห็นเหมือนกัน หรือแม้เมื่อตอนกลับมาตรวจทาน บางทีเพราะคนอ่านเขียนเอง รู้อยู่แล้วว่าตั้งใจจะเขียนว่าอะไร สายตามันก็ลากปรื๊ดผ่านไป ไม่ทันเห็นอีกว่าจิ้มผิด

ผิดแบบนี้แก้ด้วยการตรวจทานสถานเดียว และอาจจะต้องตรวจกันหลายรอบ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่นานๆ ไปก็จะขี้เกียจ (ฮา) จำได้ว่าเขียนนิยายเรื่องแรก (ไอ้เรื่องในไหนั่นแหละครับ) กว่าจะเอาไปลงที่ถนนนักเขียนได้ ผมจะตรวจอยู่ประมาณเหยียบๆ สิบรอบ จนเวลาใครเจอที่สะกดผิดของผมซักคำนี่ จะดีอกดีใจ ประมาณว่าแก้แค้นสำเร็จ (ไปจับผิดเขาไว้มาก) หลังๆ นี่ รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เหลือแค่ประมาณสี่ห้ารอบ ผลก็คือมีหลุดออกไปมากกว่าเดิม แทบทุกบทเลย (งือ) ต้องอาศัยตานักอ่านช่วยกันเก็บมาคืน



(2) ไม่รู้ว่าตัวเองสะกดผิด คือกรณีที่เราเข้าใจผิด คิดว่าคำนั้นสะกดอย่างนี้ และหลงคิดไปว่าเราเข้าใจถูก แต่ที่แท้มันผิด (เอ้อ งงมั้ยเนี่ย) ตัวอย่างเช่น “ตงิด” คำนี้แต่ก่อนผมนึกว่าสะกด “ตะหงิด” มาตลอด เพิ่งมารู้ว่าตัวเองสะกดผิดตอนที่ไปนั่งเล่นที่สำนักพิมพ์ซึ่งเพื่อนทำงานอยู่ (เพื่อนแถวๆ ถนนฯ นั่นแหละ) แล้วขอลองทำข้อสอบพิสูจน์อักษรที่สำนักพิมพ์ใช้รับคนเข้าทำงานดู เลยเพิ่งไปรู้ตอนเฉลยว่าเราเขียนผิด กรณีแบบนี้คนเขียนจะไม่รู้ตัว และจะสะกดผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น “อนุญาต” บางคนนึกว่ามีสระอิ (เลยกลายเป็นญาติน้อยๆ ไป) หรือ “สังเกต” บางคนนึกว่ามีสระอุ (คงเพราะเทียบเคียงจากคำว่า “เหตุ”)

ผิดแบบนี้ต้องแก้ด้วยหลายอย่างประกอบกัน การใช้โปรแกรมตรวจคำสะกดผิดก็พอช่วยได้ แต่ก็ไม่ทั้งหมด จะมีบางคำที่หลุดลอดหลงหูหลงตาไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่ผิดแล้วก็ยังมีความหมายอยู่ เช่น “ราด/ลาด” มีความหมายทั้งคู่ ถ้าสะกดผิด โปรแกรมก็มักจะตรวจไม่เจอ จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นช่วย

ทางหนึ่งก็คืออาศัยคนอ่านช่วยมอง ถ้าสนิทๆ กันและคนอ่านพอมีเวลา จะขอให้ช่วยตรวจเลยก็ยังได้ แต่ทางนี้ก็ยังไม่พอ ที่สำคัญที่สุดคือ คนเขียนเองต้องช่างสังเกตและจดจำเป็นนิสัย คำที่เราเข้าใจผิดพวกนี้ เวลาอ่านข้อความที่คนอื่นเขียน เราจะมีโอกาสเจอว่าเขาสะกดถูก (แต่ดันไม่เหมือนเรา เอ๊ย เราดันไม่เหมือนเขา) ได้ง่ายๆ ถ้าเราอ่านแบบเลื่อนลอย ปล่อยให้ความแตกต่างนี้ไหลผ่านสายตาไป ไม่ได้เก็บเข้าสมอง เราก็เสียโอกาสที่จะรู้ว่า คำนี้ ที่จริงเราสะกดผิดมาตลอด แป่ว...

สิ่งที่คนเขียนหนังสือควรทำ คือทันทีที่เห็นคำซึ่งสะกดผิดไปจากแบบที่เราเชื่อว่าถูก ควรจะหาคำตอบให้ตัวเอง ว่าที่จริงมันสะกดยังไงกันแน่ พจนานุกรมควรจะมีไว้ใกล้มือ และถ้าใช้อินเตอร์เน็ตประจำอยู่แล้ว ก็ควรจะเปิดเว็บพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานให้เป็นนิสัย ถ้าค้นหาไม่ได้ทันที ก็ควรจะจำหรือจดไว้ หรือถามคนที่ถามได้ อย่าปล่อยผ่านเลยไปโดยเสียเปล่า



(3) ไม่สนใจว่าตัวเองเขียนถูกหรือผิด ถ้าใช้สำนวนเก่าก็ต้องบอกว่า “สักแต่ว่าเขียน” จะถูกหรือผิดก็ช่าง อันนี้ก็เกิดได้หลายกรณี

กรณีที่ไม่รู้ว่าคำนั้นสะกดยังไง มักจะเป็นคำที่หน้าตาแปลกๆ และยาวๆ สามารถสะกดได้หลายแบบให้ออกเสียงเหมือนกัน หรือบางทีรูปสะกดไม่เหมือนเสียงที่เราพูดจริงๆ เช่น “ขะมักเขม้น” มันควรจะมีสระอะหรือไม่มี มีตัวเดียวหรือสองตัว ข.ไข่ ตัวหลังควรจะอยู่ก่อนหรือหลังสระเอ พอไม่ได้เขียนนานๆ ก็เป็นงงเหมือนกัน สำหรับกรณีแบบนี้ คนที่ต้องการเขียนให้ถูกก็จะเปิดพจนานุกรม ส่วนคนที่ “ไม่สนใจว่าตัวเองเขียนถูกหรือผิด” ก็... ลุยเลย

มีบางกรณีที่คนเขียนไม่สนใจเอาเลยจริงๆ ว่าตัวเองเขียนอะไรลงไป ไม่อยากเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ ผมเคยอ่านงานที่สะกดคำแบบนี้มาแล้ว ตะลึงตั้งแต่บรรทัดแรกยันบรรทัดสุดท้าย เห็นแล้วนึกว่าเด็กประถมหัดเขียน ถ้าเป็นกรณีที่เด็กเขียนจริงๆ ก็แล้วไป หรือบางคนที่มีความขัดข้องในส่วนของสมองที่ควบคุมการสะกดคำ (dyslexia) อันนี้พอเข้าใจได้ว่ามันสุดวิสัยจริงๆ แต่ถ้าเกิดจากเหตุข้างต้นที่ว่า “ไม่สนใจว่าตัวเองเขียนถูกหรือผิด” คนอ่านก็อาจจะพลอย “ไม่สนใจว่าคุณเขียนถูกหรือผิด” ไปด้วยเหมือนกัน (เลยไม่ได้อ่านต่อ ฮา)

กรณีทั่วไปที่พบมักจะไม่สุดขั้วขนาดนั้น แต่มักเกิดจากความเกียจคร้าน สะเพร่า หรือมักง่ายมากกว่า เวลาอ่านงานลักษณะนี้จะรู้สึกได้ทันทีโดยไม่ต้องตั้งใจจับผิด เพราะคำผิดผ่านตามากจนไล่จับกันแทบไม่ทัน ยิ่งในปัจจุบันที่การเผยแพร่นิยายบนหน้าเว็บทำได้รวดเร็วทันใจ คนเขียนเขียนเสร็จก็ลงงานได้เลย ไม่ต้องผ่านสายตาใครตรวจทานให้ แล้วถ้าตัวเองไม่ได้ตรวจด้วย โอกาสปล่อยคำผิดมาให้เห็น “เป็นหน้าเป็นตา” ของตัวเองก็มากเหลือเกิน

ซึ่งจะว่าไปแล้ว บางทีคนเขียนก็น่าเห็นใจ เพราะเรามีภาระอื่นที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเขียนอยู่มหาศาล บางคนทำงาน บางคนเรียน บางคนเลี้ยงลูก บางคนทั้งทำงานทั้งเรียนทั้งเลี้ยงลูก โอ๊ย สารพัด แค่เจียดเวลามาเขียนแต่ละหน้าแต่ละบทก็แทบกระอักอยู่แล้ว แถมบางทีคนอ่านก็ทั้งรอทั้งเร่ง มีเวลาว่างจี๊ดเดียวก็รีบเขียนรีบแปะ ยังไม่มีเวลาตรวจจริงๆ ถ้านั่งตรวจละเอียดๆ ก็อาจจะได้แปะปีหน้า เป็นต้น แต่ก็นั่นแหละ ผมว่าถ้าคนเขียนใส่ใจกับการ “เขียนไทยให้ถูก” ของตัวเองอยู่เป็นประจำ โอกาสผิดพลาดก็จะลดลงอย่างมโหฬารตั้งแต่แรก (ทำให้ต้องใช้เวลาตรวจทานน้อยลง) เพราะตัวคนเขียนเองจะคอยสังเกตการใช้คำให้ถูกอยู่แล้ว ส่วนความผิดพลาดจากการจิ้มผิดนั้นถือว่าอภัยได้ พอรีบๆ เข้า ใครก็เป็นกันทุกคน

แต่ถ้าเป็นการ “ไม่สนใจว่าตัวเองจะเขียนถูกหรือผิด” จริงๆ ก็ถือว่าเอวัง กรณีนี้ต้องแก้ที่ทัศนคติสถานเดียว ถ้าแก้ทัศนคติไม่ผ่าน ก็คงไม่มีทางจะ “เขียนไทยให้ถูก” ได้ในชาตินี้

นักเขียนบางคนคิดว่า ตัวเองจะเขียนไทยให้ถูกหรือผิดยังไงก็ได้ พอส่งต้นฉบับไปถึงสำนักพิมพ์ ก็จะมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรคอยตรวจ มีบรรณาธิการคอยดูแลแก้ไขให้อยู่ดี

ติดตามกระทู้ถนนนักเขียนไปนานๆ รวมถึงเดินเหล่ตามร้านหนังสือด้วยแล้ว ผมก็รู้ว่าความหวังดังกล่าวนั้นไม่จริงเสมอไป หนังสือหลายเล่มเปิดดูเห็นการสะกดคำแล้วบอกได้ว่าขนลุก และพอมีเสียงสะท้อนนักอ่านไม่พอใจที่ผิดพลาดมาก ก็กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันขำๆ ว่าหนังสือสะกดผิดเป็นความรับผิดชอบของนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ (ฮา... ไม่ออก)

ดูเหมือนข้อสรุปของหลายคนจะเป็นไปในทางเดียวกันว่า กรณีแบบนี้ทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์ (โดยบรรณาธิการผู้ดูแลเล่มนั้น) ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ปัดให้ใครฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่ได้

แต่แน่นอนว่านักเขียนบางคนก็คงไม่เห็นด้วย และตัดสินใจว่ามันควรจะเป็น “หน้าที่” ของบรรณาธิการ (หรือพิสูจน์อักษร หรือใครก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเอง) ก็ว่ากันไป...



(4) เจตนาเขียนผิด กรณีนี้ก็มีจริง คือรู้ว่าตัวเองเขียนผิด แต่ตั้งใจเขียนให้ผิดแบบนั้น (ใครจะทำไม) คำที่พบบ่อยๆ ได้แก่ “เทอ” เป็นคำที่เห็นปุ๊บรู้ได้ทันทีว่าอยู่ในกรณีนี้ เพราะแม้เด็กประถมทั่วไปยังเขียนถูก จะอ้างว่า “เข้าใจผิด” ก็คงไม่ได้ และถ้าจิ้มผิด คงไม่ผิดเหมือนกันหมดทุกย่อหน้าทุกบรรทัดแน่ (และ ท.ทหาร อยู่มือขวา ธ.ธง อยู่มือซ้าย)

เรื่องเจตนาเขียนผิดนี้ ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน แบบไหนที่เรียกว่า “ผิด” ที่ยอมรับไม่ได้ แค่ไหนที่ยอมรับได้ อย่างเช่นคำว่า “มหาลัย” คำนี้ใช้ได้มั้ย ใช้ได้ในกรณีไหน คำว่า “ฉัน/ชั้น” “เขา/เค้า” “สัก/ซัก” หรือกระทั่ง “ไหม/มั้ย” “อะ/อ่ะ” “หนู/นู๋” อะไรอีกล่ะ มหาศาลบานตะไท รู้สึกว่ามีมากกว่านี้มากแต่ยังนึกไม่ออก

เรื่องนี้แต่ละคนมีมาตรฐานต่างกันไป ตั้งแต่หย่อนที่สุด คือฉันจะเขียนแบบนี้ใครจะทำไม ไปจนถึงตึงที่สุด คือคำไหนไม่มีในพจนานุกรม (หรือไม่ใช่หน้าตาแบบที่ควรจะเป็น) อย่าให้เห็นในสายตา มิฉะนั้นจะโกรธ

ส่วนตัวผมเองอยู่ในฝั่งทางตึงๆ นะครับ แต่เนื่องจากเป็นคนเขียนนิยาย ซึ่งต้อง “ถอด” บทสนทนาออกมาเป็นตัวเขียน ทำให้ผมตึงได้ไม่ที่สุด มีหลายอย่างที่ผมต้องขยับเข้ามาใกล้ตรงกลางอีกนิด ไม่งั้นคำพูดในนิยายอาจจะกลายเป็นตำราเรียนไป

ส่วนกรณีที่หย่อนที่สุด คือ “ฉันจะเขียนแบบนี้ใครจะทำไม” อันนี้ก็เอวัง...




เขียนไทยให้ถูก เขียนยังไง

ผมมองแยกออกเป็นสามเรื่องนะครับ

(1) ถูกอักขรวิธี

(2) ถูกตัวสะกด

(3) ถูกความหมาย

ขอตีเส้นแบ่ง จะได้เห็นหัวข้อชัดๆ




เขียนไทยให้ถูกอักขรวิธี

ตัวอักษรคือสัญลักษณ์ที่เราเอามาใช้แทนเสียงและความหมายในภาษา และเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการสื่อสาร เพื่อให้เข้าใจกันได้ ทุกคนที่ใช้ “ภาษา” เดียวกัน ก็เลยมีกฎเกณฑ์ในการใช้สัญลักษณ์นั้นร่วมกัน ถ้าหากไม่มีกฎเกณฑ์นี้ หรือไม่ใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน ก็คงสื่อสารไปไม่ถึงกัน ไม่รู้เรื่องกัน

อักขรวิธี หมายถึงการเอาตัวอักษรมาผสมกันเป็นคำ ทุกๆ คำที่ผ่านตามาถึงบรรทัดนี้ ที่เรามองเห็น อ่านออกเสียงได้ และเข้าใจความหมาย ก็เพราะอักขรวิธีเป็นกฎที่เชื่อมพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายต่างๆ แต่ละตัวเข้าด้วยกัน



วรรณยุกต์

คนไทยเราไม่ค่อยมีปัญหาในการผสมพยัญชนะกับสระ พยัญชนะนั้นมันเป็นทุ่นให้อย่างอื่นมาเกาะอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีอะไรให้ผิด (คือผมยังนึกไม่ออก) ส่วนสระนั้น ถ้าผิดแล้วเราจะเหวอทันที มันจะผสมกันออกมาเป็นคำที่อ่านไม่ได้ เช่น “เกลีอ” “แกลีย” “โกิ” เป็นต้น เท่าที่อ่านงานเขียนมา ยังไม่เคยเห็นใคร “ไปไกล” ได้ขนาดนี้ (ยกเว้นกรณีจิ้มผิด)

แต่เรามีปัญหากัน “มากกกกกกกกกกกกกกกกกกก” ในเรื่องการใช้วรรณยุกต์ ผมไม่เคยนั่งนับทำสถิติ แต่เท่าที่อ่านผ่านตามา งานที่เขียนวรรณยุกต์ไม่ถูกนั้นมากมายมหาศาล ยิ่งคำง่ายเท่าไหร่ ยิ่งผิดมากเท่านั้น

สาเหตุคงมาจากทั้งสองฝั่ง ฝั่งแรกคือสาเหตุภายนอก กฎเกณฑ์การใช้วรรณยุกต์ของไทยเรามันละเอียดอ่อน พอแยกแยะออกมาแล้ว ก็จะมีกรณียิบย่อยเยอะแยะ (จริงๆ ไม่มากขนาดนั้น แต่ในความรู้สึกของบางคนคงจะบอกว่ามันมากจริงๆ) และกรณีเหล่านี้ดูผาดๆ เหมือนไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย (เหตุผลมีหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่จริงแล้วหลักการน่ะมี) ถ้าจะให้ใช้ถูกสงสัยต้องท่องกันหน้ามืด

อีกฝั่งคือสาเหตุภายใน คือมาจากตัวคนใช้ภาษาเอง อาจจะเป็นความไม่เข้าใจ ไม่สนใจ เกียจคร้าน สับสน ท้อแท้ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พอรวมกันสองฝั่งแล้ว เราจะพบเห็นการเขียนเครื่องหมายวรรณยุกต์ผิดได้เยอะจริงๆ

เท่าที่ผมสังเกต มีอยู่สองกรณีที่เจอมากๆ



(1) ใช้วรรณยุกต์ในตำแหน่งที่ใช้ไม่ได้

ไม้เอก กับ ไม้โท เป็นสองไม้ที่ใช้ทั่วไป ใช้ได้กับพยัญชนะทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นอักษรสูง กลาง หรือต่ำ ไม่ค่อยมีปัญหานี้

ไม้ตรี เป็นไม้ที่มีปัญหามากที่สุด เพราะเป็นไม้ที่ใช้ได้กับ อักษรกลางเท่านั้น ใช้กับอักษรหมวดอื่นไม่ได้เลยโดยสิ้นเชิง อักษรกลางมีแค่ 9 ตัว ได้แก่ ก จ (ฎ ฏ) ด ต บ ป อ ผมใส่วงเล็บ ฎ กับ ฏ ไว้ เพราะนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะมีคำไหนใช้สองตัวนี้ใส่วรรณยุกต์ เหลือที่ต้องจำจริงๆ แค่ 7 คือ “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” สำหรับคนที่ต้องการเขียนหนังสืออย่างมีคุณภาพ และเจอปัญหาในการใช้วรรณยุกต์ ผมขอเสนอแนะว่า จำอักษรกลางให้ได้จะมีประโยชน์มากทีเดียว

การเขียนผิดที่พบมากในกรณีนี้ คือการเอาไม้ตรีไปใส่อักษรต่ำ (เพื่อให้ออกเสียงตรี) เช่น “มั๊ง” “มั๊ย” “ง๊วงง่วง” “เง๊าเหงา” “ซ๊วยสวย” “ว๊านหวาน” “ว๊าย” ทุกคำในลักษณะนี้ ใช้ไม้โทสะกดทั้งหมด

ไม้จัตวา เป็นไม้ที่วุ่นวายเล็กน้อย เพราะโดยในระบบเสียงภาษาไทยตามปกติ ใช้ไม้จัตวากับอักษรกลางเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ถ้าเป็นอักษรไม่กลาง (สูงกับต่ำ) ก็จะมีวิธีผันเสียงจัตวาได้โดยไม่ต้องใส่ไม้จัตวา ซึ่งก็มีสองแบบ คือ แบบที่มีอักษรต่ำกับอักษรสูงที่คู่กันออกเสียงเหมือนกัน (เลยเรียกว่าอักษรคู่) เช่น

“ค/ข” เอามาผันเป็น “คา ข่า ค่า/ข้า ค้า ขา” ไม่ต้องใส่ไม้จัตวา

หรือถ้าอักษรต่ำตัวนั้นไม่มีคู่ (เลยเรียกว่าอักษรเดี่ยว) เราก็ใช้ “ห” นำจนผันได้ครบอีก เช่น

“น/หน” เอามาผันเป็น “นา หน่า น่า/หน้า น้า หนา” ไม่ต้องใส่ไม้จัตวาอีกเหมือนกัน

แต่จะมีบางกรณีที่ผันเสียงจัตวาแบบนี้ไม่ได้ คือถ้าเป็นสระเสียงสั้นคำตายและต้องการออกเสียงจัตวา (ซึ่งจริงๆ แล้วคำที่ใช้ในภาษาไทยไม่มีเสียงนี้ แต่ถ้าอยากออกเสียงจริงๆ ก็ทำได้) เช่น “ก๋ะ” (ลองออกเสียง “ก๋า” แล้วหยุดให้สั้นลงครึ่งจังหวะ) ถ้าจะเปลี่ยนเสียง “ก” เป็น “ค/ข” แล้วเขียนว่า “ขะ” จะไม่ได้ เพราะกลายเป็นเสียงเอกไปแทน ถ้าอยากเขียนแทนเสียงนี้ให้ได้จริงๆ ก็อาจจะจำเป็นต้องสะกดเป็น “ค๋ะ/ข๋ะ” ซึ่งแปลกตา (และคนรักภาษาไทยบางคนจะบอกว่าผิด) โชคดีที่เราคงไม่มีเหตุให้ต้องเขียนเสียงแบบนี้กันบ่อยนัก

เพราะฉะนั้น ถ้าว่ากันเฉพาะคำที่มีใช้อยู่ตามปกติในภาษาไทยแล้ว จะจำไปเลยว่า “ไม้จัตวาใช้กับอักษรกลางเท่านั้น” แบบเดียวกับตอนจำวิธีใช้ไม้ตรี ก็ถือว่าปลอดภัย และควรจะครอบคลุมโอกาสกว่า 99.99 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น คำแบบนี้ “นู๋” ไม่ควรจะปรากฏในงานเขียน และเปลี่ยนเป็น “หนู” แทน

ในประเด็น “ใช้วรรณยุกต์ในตำแหน่งที่ใช้ไม่ได้” นี้ ยังมีอีกแบบ คือใส่วรรณยุกต์ซ้ำซ้อน หมายถึงว่า ถึงจะไม่ใส่วรรณยุกต์ก็ออกเสียงนั้นได้ตามต้องการแล้ว รูปวรรณยุกต์ที่ใส่เข้าไปไม่ได้เปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ให้ผิดไปจากเดิม เช่น

“อะ” ออกเสียงเอกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ไม้เอกให้เป็น “อ่ะ” อีก

“นะ” ออกเสียงตรีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ไม่โท (หรือบางคนใส่ไม้ตรี) ให้เป็น “น๊ะ” อีก (อันนี้ผิดสองตลบเลย ซ้ำซ้อนด้วย แถมยังซ้อนผิดตัวอีก เพราะ น.หนู เป็นอักษรต่ำ ใช้ไม้ตรีไม่ได้)

การใช้วรรณยุกต์ซ้ำซ้อนกับเสียงนี้ เข้าใจว่าคนเขียนต้องการเลียนเสียงพูดที่ใส่อารมณ์เน้นหนักมากกว่าปกติ บางคนบอกว่าถ้าไม่ใส่รูปวรรณยุกต์แล้ว เสียงที่เกิดขึ้นในหัวจะไม่เหมือนกับที่ตั้งใจไว้ เช่น เวลาจะอ้อน เสียง “น๊า” จะแหลมสูงกว่า “น้า” ซึ่งถ้าเขียนว่า “น้า” แล้วจะไม่ได้อารมณ์ (หรืออาจจะนึกไปถึงน้องของแม่แทน)

ส่วนตัวผมเองยังไม่มีข้อสรุปตรงนี้นะครับ (ยังเรียนไม่พอ ต้องคิดต่ออีก) แต่เท่าที่ดู การใช้อักขรวิธีแบบนี้ถอดเสียงพูดในบทสนทนา อาจจะทำให้เกิดผลต่อความรู้สึกคนอ่านได้หลายแบบ เช่น (ก) อ่านแล้วเฉยๆ ไม่สังเกต ไม่ได้สนใจว่ามันผิดหรือเปล่า (ข) ได้อารมณ์ “พิเศษ” ตามที่คนเขียนเจตนา (ค) เสียอารมณ์หรือหงุดหงิด เพราะรู้สึกว่าใช้ภาษาไทยผิดวิธี

ส่วนตัวผมเอง ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะอยู่ในแบบ (ค) แต่เดี๋ยวนี้ก็ทำใจให้ยอมรับได้มากขึ้นเวลาอ่านเจอ เพราะเข้าใจว่าจะแทนเสียงให้ได้อย่างใจนี่มันยากจริงๆ แต่ถ้าต้องเขียนเอง ผมก็คงจะยังไม่ใช้วิธีนี้ ขอใช้วรรณยุกต์แบบถูกต้องตามอักขรวิธีก่อนดีกว่า อาศัยบริบทหรือคำบรรยายช่วยเอา เพราะที่จริงแล้วก็มีเสียงที่คนใช้สื่อสารอีกหลายเสียงที่ไม่มีในภาษาเขียน และสะกดเป็นคำได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้คำใกล้เคียงมาสื่อความได้ เช่น เสียงโครม พรืด พรวด เปรียะ ถึงมันจะไม่เหมือนเสียงจริงที่ได้ยิน แต่ก็ใช้สื่ออารมณ์เหล่านั้นออกมาได้เข้าใจตรงกัน ผมก็เลยคิดว่าส่วนตัวตอนนี้ยังสะกด “อะ” “ปะ” “นะ” “น้า” ไปก่อน (จนกว่าจะเปลี่ยนใจ)

หมายเหตุเพิ่มเติม - มีบางคำที่เหมือนใช้วรรณยุกต์ซ้ำซ้อนแต่ไม่ใช่ และที่จริงสะกดถูกต้องตามอักขรวิธี คือ บางคำใช้ไม้เอกกำกับคำใช้อักษรต่ำที่เป็นเสียงโทอยู่แล้ว แต่ทำให้เสียงสั้นลง เกิดจากการลดรูปไม้ไต่คู้ ส่วนใหญ่เป็นคำเลียนเสียงที่ไม่ใช้ในภาษาตามปกติ แต่เขียนได้ไม่ผิดอักขรวิธี มักจะประกอบด้วยอักษรต่ำ สระที่ทำให้เป็นเสียงสั้นด้วยไม้ไต่คู้ เช่น เอะ แอะ เอาะ มีตัวสะกดในแม่คำตาย เช่น “ล่อกแล่ก” (คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบรรจุว่า “ลอกแลก” แต่พจนานุกรมฉบับอาจารย์วิทย์ เที่ยงบูรณธรรมบรรจุว่า “ล่อกแล่ก” ซึ่งไม่ผิดอักขรวิธี และตรงกับเสียงจริงที่ออก) คำจำพวกนี้ ถ้าทำให้เสียงสั้นลงจะต้องใส่ไม้ไต่คู้ เช่น “งอก” พอใส่ไม้ไต่คู้เป็น “ง็อก” เสียงวรรณยุกต์จะเปลี่ยนกลายเป็นตรี ถ้าอยากได้เสียงโทเหมือนเดิม ต้องเติมไม้เอกเข้าไปเป็น “ง็่อก” ซึ่งลดรูปเอาไม้ไต่คู้ออก เหลือเพียง “ง่อก” ซึ่งไม่มีในพจนานุกรม แต่ออกเสียงได้ และสะกดถูกต้องตามอักขรวิธีไทย ไม่ถือว่าซ้ำซ้อน



(2) ใช้วรรณยุกต์ไม่ตรงกับเสียงที่ต้องการ หรือใช้สลับกัน

กรณีนี้ พบเยอะ “มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก” อีกเหมือนกัน ที่เห็นบ่อยที่สุด (ในโลก) ได้แก่คู่ “คะ/ค่ะ” ซึ่งใช้สลับกันบ่อยมากถึงมากที่สุด และก็ยังมีคู่อื่นในทำนองเดียวกันอีก เช่น “นะ/น่ะ” “ยะ/ย่ะ” “วะ/ว่ะ” ที่เป็นอักษรกลางก็มีเหมือนกัน เช่น “จ๊ะ/จ้ะ”

ทุกคู่ที่ว่ามา คำแรกออกเสียงตรี (เสียงสูง) ส่วนคำหลังตามทฤษฎีออกเสียงโท (คือสะบัดจากสูงลงต่ำ เหมือนกับ “ค่า, น่า, ย่า, ว่า, จ้า” แต่สั้นเพียงครึ่งจังหวะ) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คนส่วนใหญ่กร่อนเสียงลงเหลือเสียงต่ำอย่างเดียว เลยออกเสียงเหมือนกับเสียงวรรณยุกต์เอก (คือเหมือนกับ “ขะ, หนะ, หยะ, หวะ, จะ) แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคนหรือทุกคำเท่าเทียมกัน บางคำนิยมกร่อนมาก บางคำนิยมกร่อนน้อยกว่า (ที่นิยมกร่อนมากเช่น “ว่ะ” คนออกเสียงว่า “หวะ” แบบเต็มปากเต็มคำ จะหาออกเสียง “ว่า” แต่ตัดสั้นก็ยากเต็มที ส่วนที่นิยมกร่อนน้อยก็เช่น “จ้ะ” คนส่วนใหญ่ยังขยันออกเสียงโทเต็มๆ เหมือน “จ้า” แต่สั้น ไม่ค่อยกร่อนเหลือ “จะ” อาจเพราะคำว่า “จะ” มีความหมายอื่นที่ใช้บ่อย)

การเขียนผิดแบบนี้ ผมเข้าใจว่าเกิดจากความสับสนโดยแท้ คือคนเขียนไม่ได้ตั้งใจเขียนผิด อยากเขียนให้ถูก แต่ไม่สามารถจริงๆ บางคนถามแล้วถามอีก แต่ฟังคำอธิบายหลายรอบแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ยังใช้ไม่ถูก บางคนพยายามหาเทคนิคมาช่วยจำกันต่างๆ นานา (บางเทคนิคก็ถูกติงว่าผิดอีก) วุ่นวายดีแท้

เท่าที่พบมา ผมเห็นมีอยู่หลายแบบ เช่น (ก) ใช้สลับกันเป๊ะทุกครั้ง คงเส้นคงวาน่านับถือเชียว (ข) คนเขียนรู้ว่ามันต้องแยก แต่ตัวเองแยกไม่ถูก เลยเขียนให้เหมือนกันหมดเลย เช่น “คะ” หมด หรือ “ค่ะ” หมด ปล่อยให้คนอ่านตัดสินใจเอาเอง (ค) ใช้ถูกบ้างผิดบ้าง กระจุยกระจายทั่วไป เป็นศิลปินอย่างแท้จริง (ง) ใช้ผิดแบบมีระบบ เช่น บางคนท่องมาว่า ถ้าประโยคบอกเล่าใช้ “ค่ะ” คำถามใช้ “คะ” พอลงมือเขียนก็เลยจะมีที่ผิดอย่างเช่น “นะค่ะ” ในที่ที่ควรจะเป็น “นะคะ” แต่พอดีว่ามันไม่ใช่คำถามเลยผิด




เครื่องหมายพิเศษ

นอกจากวรรณยุกต์แล้ว อีกอย่างที่มีการใช้ผิดหรือสับสนอยู่บ้าง คือเครื่องหมายต่างๆ เช่น ไม้ยมก ไปยาลน้อย มหัพภาค (คือจุด)

เครื่องหมายพวกนี้ มีคำแนะนำการใช้อยู่ในเว็บของราชบัณฑิตยสถาน ที่พิมพ์ขายเป็นเล่มเล็กๆ สวยๆ ก็มี ถ้าหาซื้อติดโต๊ะทำงานไว้ได้ก็จะดีเยี่ยมครับ หรือถ้าไม่อย่างนั้น หาเวลาเปิดเว็บ อ่านผ่านตาสักครั้ง ก็จะพอเห็นเป็นแนวทาง

ที่เจอผิดมากที่สุด และนักเขียนควรใช้ให้ถูกต้อง คือใช้ไม้ยมกในที่ที่ไม่ควรใช้ ตัวอย่างเช่นข้อความข้างหน้านี้ ถ้าเขียนว่า “ในที่ๆ ไม่ควรใช้” แบบนี้ล่ะก็ผิด

เหตุผลคือ ไม้ยมกใช้สำหรับซ้ำคำคำเดียวกัน ที่เหมือนกันเป๊ะ เช่น ดีๆ สวยๆ ร้อนๆ คำหน้ากับคำหลังเหมือนกันเป๊ะ ถ้าคำหน้ากับคำหลังเขียนเหมือนกันแต่ไม่ใช่คำเดียวกันเป๊ะ แบบนี้ใช้ไม้ยมกไม่ได้ครับ เพราะเป็นสองคำที่หน้าตาบังเอิญมาเหมือนกัน ไม่ใช่คำซ้ำ ตัวอย่างเช่น

“ในที่ที่ไม่ควรใช้” -- “ที่” ตัวแรก แปลว่าสถานที่, “ที่” ตัวหลัง แปลว่าซึ่ง

“ซ้ำคำคำเดียวกัน” -- “คำ” ตัวแรก หมายถึงคำที่เขียน, “คำ” ตัวหลัง อยู่ในชุด “คำเดียวกัน” ขยายตัวแรกอีกที

ถ้าคิดไม่ออก มีวิธีทดสอบคือ ให้แยกคำคู่นั้นออกมา แล้วดูว่ามันมีความหมายหรือเปล่า เช่น “ที่ๆ” เอ่อ... อะไรล่ะเนี่ย ที่ๆ เนี่ย หรือ “คำๆ” มันแปลว่าอะไร ถ้าแยกแล้วไม่มีความหมาย แสดงว่าไม่ใช่คำซ้ำแน่ครับ

อีกคำที่ต้องจำไปเลยคือ “ต่างๆ นานา” ห้ามใส่ไม้ยมกเป็น “นาๆ” เพราะมันไม่ใช่ทุ่งนาสองผืน แต่เป็นคำคำเดียวในภาษาบาลีสันสกฤต คือ “นานา” แยกไม่ได้

ส่วนไปยาลน้อย (ฯ) ถ้าคำไหนย่อมา ก็ควรจะใส่ให้เขาครับ เช่น “พฤหัสฯ” “กรุงเทพฯ” ถ้าไม่ใส่มันก็ด้วนๆ ชอบกล

มหัพภาค (คือจุด) ค่อนข้างจะวุ่นวายหน่อย ปัจจุบันนี้ คำย่อใหม่ๆ มักนิยมจุดแป๊ะเดียวตอนสุดท้ายเลย ไม่ว่าจะมีตัวอักษรกี่ตัวเรียงกัน แต่ถ้าเป็นคำย่อที่ใช้กันมานานจนชิน ก็มักจะมีจุดหลังทุกตัวอักษร เช่น ม.ค. หรือ พ.ศ. ถ้าจะให้แน่ใจที่สุด ก็ควรตรวจดูจากเอกสารอ้างอิงของราชบัณฑิตยสถานครับ




เขียนไทยให้ถูกตัวสะกด

ประเด็นนี้ผมพูดถึงไปแล้วบ้างในช่วงต้น ตรงหัวข้อ (2) ไม่รู้ว่าตัวเองสะกดผิด นะครับ ในหัวข้อนั้นผมพาดพิงถึงสาเหตุและทางแก้ไขที่นักเขียนเอาไปใช้ได้ ตรงนี้ผมมีประเด็นเพิ่มเติมเล็กน้อย คือเรื่องการสะกดคำให้ถูกต้องนี่ มันเกี่ยวข้องกับคำอยู่สามพวกใหญ่ๆ



(1) คำที่มีปรากฏในพจนานุกรม

ไม่ว่าจะเป็นคำที่มีความหมายในภาษา หรือคำเลียนเสียงที่ใช้กันแพร่หลายจนได้รับบรรจุในพจนานุกรม เช่น “พรวด” (กลุ่มนี้มักจะเป็นคำขยาย) ข้อเสนอแนะของผมสำหรับคำพวกนี้คือ สะกดให้ตรงกับพจนานุกรมเล่มใดสักเล่มหนึ่งครับ

ที่ต้องเขียนว่า “เล่มใดเล่มหนึ่ง” เพราะมีบางคำที่มีปรากฏในบางเล่มแต่เล่มอื่นไม่มี และมีบางคำที่ต่างเล่มก็บรรจุไว้ต่างกัน และมีแตกต่างไปจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

เป็นความจริงของโลกอีกอย่างที่นักเขียน (และคนใช้ภาษาทั้งหลาย) พึงตระหนักก็คือ ไม่มีพจนานุกรมเล่มใดเลยในโลกที่ไม่มีคำผิดหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเหตุนี้จึงต้องมีการ “ชำระ” กันเป็นระยะๆ เช่นทุกสิบปี และแต่ละคราวก็ต้องมีอะไรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เพิ่มคำใหม่เท่านั้น และคำบางคำแม้ในหมู่นักวิชาการด้านภาษาก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน สะกดไม่ตรงกันอยู่ คนใช้ภาษามีสิทธิ์ที่จะเลือกเชื่อความเห็นใดก็ได้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นเป็นแนวทาง แต่ไม่ใช่กฎหมาย เห็นต่างได้ถ้าเรามั่นใจในเหตุผลและการใช้ของเรา

ตัวอย่างเช่น “มุก/มุข” ที่ใช้หมายถึงคำตลกหรือเรื่องตลก ฉบับราชบัณฑิตฯ บรรจุว่า “มุก” นักวิชาการทางภาษาหลายท่านเห็นแย้ง บอกว่าควรจะเป็น “มุข” มากกว่า โดยน่าจะมีที่มาจากการเล่าเรื่องแบบ “มุขปาฐะ” ซึ่ง “มุข” นั้นมีความหมายว่า “ปาก” พจนานุกรมฉบับมติชนบรรจุไว้ว่า “มุข” ส่วนเราเป็นนักเขียน อยากจะใช้แบบไหนก็ตามใจ แต่ขอให้ใช้แบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม พอไปถึงสำนักพิมพ์แล้ว เขาจะมีมาตรฐานของเขาเองอีกที (ส่วนใหญ่อาจจะใช้ตามราชบัณฑิตฯ ผมไม่ทราบ) เขาจะตรวจแก้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสำนักพิมพ์

หรืออย่าง “พิเรน/พิเรนทร์” ที่หมายถึงแปลกพิกล ฉบับราชบัณฑิตฯ บรรจุว่า “พิเรนทร์” แต่ฉบับอาจารย์วิทย์บรรจุว่า “พิเรน” โดยแยก “พิเรนทร์” ออกมาอีกคำ แปลว่า “จอมนักรบ, พระเจ้าแผ่นดิน” (ส่วนโปรแกรมตรวจตัวสะกดที่ผมใช้ ขีดเส้นใต้สีแดงบอกว่าผิดทั้งสองแบบ ฮ่วย...)



(2) คำทับศัพท์

ที่ต้องใช้บ่อยมักเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ บางคำมีปรากฏในพจนานุกรมบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะยังไม่ได้บรรจุอยู่ (หรือมีในพจนานุกรมเฉพาะทางซึ่งเราไม่มี) ผมแนะว่าลองอ่านหลักเกณฑ์การเขียนทับศัพท์ในเว็บราชบัณฑิตฯ ดูครับ หลักใหญ่ใจความมีไม่มาก ถ้าผ่านตาแล้วก็น่าจะพอใช้เป็นแนวได้ไม่พลาด ส่วนรายละเอียดยิบย่อยถ้าจำไม่ไหว ก็ถือว่าเอาหลักใหญ่ไปประยุกต์ใช้แล้วกัน

ที่จริงหลักการทับศัพท์ก็ยังมีได้หลายแนวอีก ยิ่งถ้าเป็นชื่อเฉพาะในภาษาตระกูลเดียวกับบาลีสันสกฤต ซึ่งมีรากศัพท์ใกล้เคียงกับภาษาไทยเรามาก ยิ่งชวนมึน สำหรับการเขียนนิยายเราอาจจะไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าได้อ่านผ่านตาไว้บ้าง ก็จะมีประโยชน์ครับ

เวลาเอามาเขียนจริง หลายคำที่มีรูปเฉพาะซึ่งคุ้นตากันอยู่แล้ว ก็จะไม่ใช้หลักทั่วไปที่ราชบัณฑิตฯ วางไว้ (คุ้นๆ ว่าในเว็บให้ตัวอย่างคำพวกนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน) หรือบางคำเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเอาหลักมาใช้เสียทีเดียว อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักเขียนแต่ละคน ขอแค่ให้มีเหตุผลในการเขียน ไม่เรื่อยเปื่อย และเขียนแบบเดียวกันทั้งเล่มก็ถือว่าใช้ได้ครับ พอไปถึงสำนักพิมพ์ คำพวกนี้ก็อาจจะถูกเปลี่ยนให้ตรงกับมาตรฐานสำนักพิมพ์อีก แต่อย่างน้อยเราก็ทำส่วนของเราให้ดีที่สุด

ตัวอย่างประเด็นที่เราอาจจะเห็นต่างจากหลักของราชบัณฑิตฯ ได้ เช่น เสียงพยัญชนะที่มีลักษณะเป็นคู่เสียงมีลมกับไม่มีลม (ธนิตกับสิถิล หรือ aspirated กับ unaspirated) ซึ่งภาษาไทยเราแยกเป็นสองเสียง แต่ภาษาอังกฤษมีเสียงเดียว เช่น /p/ ซึ่งเราอาจถอดเป็น “พ” (มีลม) หรือ “ป” (ไม่มีลม) ก็ได้ ซึ่งแม้ในคำเดียวกัน บางคนอาจจะเลือกถอดต่างกัน เสียง /t/ กับ “ท” และ “ต” ก็ทำนองเดียวกัน

หรือในกรณีของตัวสะกด ซึ่งราชบัณฑิตฯ วางหลักไว้ว่าแม่กก กด กบ ที่ภาษาอังกฤษสะกดด้วยเสียง /k/ /t/ /p/ เวลาถอดให้ใช้ตัว “ก” “ต” “ป” เป็นตัวสะกด แต่ในบางกรณี เราอาจจะเห็นว่ารูป “ค” “ท” “พ” อาจจะเหมาะสมกว่า คุ้นตากว่า หรือสวยกว่า ก็สุดแต่คนเขียนจะพิจารณาตามเหมาะสมครับ



(3) คำอื่นที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม

มักจะเป็นคำเลียนเสียง เช่น คำเลียนเสียงธรรมชาติ บางคำมีบรรจุในพจนานุกรมแล้ว เช่น โครม เปาะแปะ จั้กๆ เปรียะ เปรี๊ยะ แต่บางคำอาจจะไม่มีในพจนานุกรม เช่น เผียะ เพียะ คำเลียนเสียงมนุษย์หรือสัตว์ เช่น หงิงๆ โอ้กอ้าก พวกนี้มีในพจนานุกรม แต่เราก็สามารถเขียนเสียงอื่นที่ไม่มีในพจนานุกรมได้อีก เช่น ง่ะ งือ งี้ด เป็นต้น

ข้อความสนทนาบางครั้ง คนเขียนต้องการถอดเสียงภาษาพูดออกมา ก็จะมีคำจำพวก ซะ งี้ งั้น ยังไง ซึ่งพวกนี้ไม่มีในพจนานุกรม ข้อเสนอแนะของผมคือ เขียนให้ถูกอักขรวิธีครับ เราต้องการถ่ายทอดบทสนทนาของตัวละคร ซึ่งเป็นภาษาพูด เป็นเรื่องธรรมดามากที่คำในภาษาพูดบางคำไม่มีในพจนานุกรม แต่คนก็พูดอย่างนั้นจริงๆ

มีทางเลี่ยงเหมือนกัน คือแปลงออกมาเป็นภาษาเขียนทั้งหมด ใช้ “เสีย” แทน “ซะ” หรือ “อย่างไร” แทน “ยังไง” เป็นต้น แต่ตอนอ่านก็จะได้อารมณ์ไปอีกแบบ (อารมณ์แม่พลอย?) สุดแต่คนเขียนจะพิจารณาครับ

ส่วนกรณีของการใช้วรรณยุกต์ไม่ถูกอักขรวิธีเพื่อแสดงอารมณ์ ผมพูดถึงไปแล้วข้างบนนะครับ




เขียนไทยให้ถูกความหมาย

ประเด็นนี้เป็นข้อผิดพลาดที่พบไม่บ่อยมาก แต่เวลาเห็นแล้วก็อดอึ้งปนขำไม่ได้เหมือนกัน กรณีที่เจ๋งที่สุดที่ผมเคยเห็น คือคนเขียนเจตนาจะชม แต่เลือกใช้สำนวนที่ฟังดูตรงกันข้าม คนอื่นอาจจะขำ แต่คนถูกพูดถึงจะขำหรือเปล่าผมก็ไม่กล้าเดา

มีอยู่สองกรณีใหญ่ๆ ที่ผมเคยเห็นมานะครับ คือเรื่องของคำ กับเรื่องของสำนวน



เราเป็นคนไทย เรามักจะรู้สึกว่าเรารู้ภาษาไทย เราเลือกใช้คำได้ถูกต้องโดยอัตโนมัติ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นอัตโนมัติแค่ไหน แต่ของผมเองนี่ ขอสารภาพแบบไม่ยอมอายว่า อัตโนมัติไม่หมดครับ ยิ่งเวลาเขียนนิยายนี่ มีหลายครั้งเหลือเกินที่ผมต้องหยุดคิด ว่าที่จริงผมต้องการสื่ออะไรออกไปกันแน่ และคำที่ผมกำลังจะพิมพ์นั้น มันใช่อย่างที่ต้องการจริงหรือเปล่า

หลายครั้งที่ผมเปิดพจนานุกรม ไม่ใช่ดูตัวสะกด แต่ดูความหมายให้มั่นใจ ว่าคำที่ผมเลือกใช้นั่น มันตรงกับที่ผมต้องการจริงๆ ไม่เบี่ยงไปทางอื่น

คำพวกนี้มักจะไม่ใช่คำที่ใช้บ่อยในภาษาพูด แต่เป็นคำที่ปรากฏในนิยายได้ มักเป็นข้อความบรรยาย มักเป็นคำที่มีความหมายเฉพาะหรือละเอียดอ่อน มักเป็นคำที่สร้างภาพพจน์ สื่ออารมณ์ ก่อให้เกิดอารมณ์บางอย่าง ผมยังนึกตัวอย่างไม่ออกตอนนี้ แต่เพื่อนนักเขียนบางคนอาจจะเคยเจอมาคล้ายๆ กัน คือต้องหยุดคิดให้แน่ใจ ว่าคำนี้คือคำที่ใช่จริงๆ

ถ้าตัดเรื่องความ “ตรงใจ” หรือ “ถูกใจ” ออกไปแล้ว อย่างน้อยที่สุด คำที่เราเลือกมาควรจะใช้ให้ถูกความหมาย เป็นความหมายที่เข้าใจในวงกว้าง ถ้าคนเขียนไม่เข้าใจความหมายของคำที่เลือกมาและใช้ผิดๆ คนอ่านก็คงไม่ได้รับสารที่เราตั้งใจจะสื่อ

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเลือกใช้แต่คำพื้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราเลือกใช้คำโลดโผนไม่ได้ หรือว่าใช้คำในลักษณะเปรียบเปรยไม่ได้ บางทีคนเขียนอาจจะต้องการ “เล่น” กับคำ ซึ่งผมเห็นว่าสามารถทำได้ และถ้าทำได้ดีจะยิ่งดีด้วย เพราะจะเป็นกลิ่นอายเฉพาะในงานเขียนของเรา เป็นบุคลิกของเราซึ่งคนอื่นลอกเลียนไม่ได้ เพียงแต่ถ้าเราจะ “เล่น” กับคำ เราก็ต้อง “รู้จัก” มันให้มากพอ อย่าเล่นผิดๆ เท่านั้นเองครับ

เรื่องคำนี่ ข้อเสนอแนะของผมคือ “พจนานุกรม” ครับ บางครั้งถ้าพ้นจากขอบเขตที่พจนานุกรมอธิบายไว้ ก็ยังมีแหล่งข้อมูลอื่นให้ค้นคว้าได้ แต่ถ้าจะแวะไปวิหารเทพเจ้ากู๋ (Google) หรือเทพีวิกกี้ (Wikipedia) ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลสักเล็กน้อย และใช้วิจารณญาณให้มากครับ



อีกเรื่องคือสำนวนไทย เรื่องนี้พจนานุกรมช่วยได้น้อยมาก ถ้าต้องการแหล่งอ้างอิงคงจะต้องหาหนังสือเกี่ยวกับสำนวนไทยโดยตรง ผมเคยค้นในเว็บก็พบบ้างไม่พบบ้าง สุดแท้แต่ว่าจะเป็นสำนวนที่ใช้กันกว้างขวางแค่ไหน

บทเรียนสำคัญที่ผมได้จากเรื่องสำนวนคือ ถ้าไม่เข้าใจความหมายของสำนวนนั้นจริงๆ หรือถ้าไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรใช้ครับ ควรจะเลือกระหว่างค้นคว้าจนแน่ใจก่อน หรือเปลี่ยนรูปข้อความไปเลย ผมเคยเห็นสำนวนผิดที่ผิดทางในงานเขียนมาแล้ว ต้องบอกว่ามันทำลายทั้งอรรถรสในการอ่านงานอย่างแรง (บางทีต้องหยุดอ่านมานั่งขำ) และยังทำลายความน่าเชื่อถือของคนเขียนไปบ้างด้วย (ประมาณว่า เขียนมาได้ยังไงเนี่ย)




ที่พร่ำเพ้อมาทั้งหมดนั้นคือข้อสังเกตและบทเรียนที่ผมได้มา ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้ผม “เขียนไทย” ได้ “ถูก” สมบูรณ์เพียบพร้อมแล้วหรอกนะครับ ทุกวันนี้ก็ยังพยายามต่อไป

อย่างเรื่องอักขรวิธี บางครั้งผมก็ยังต้องคิด ว่าไอ้เสียงนี้ในบทสนทนาเนี่ย ผมจะถอดมันออกมายังไงดี ถ้าเขียนว่า “น้าาาา...” แบบนี้ มันจะสื่ออารมณ์ออกมาได้ตรงมั้ย ควรจะเปลี่ยนเป็นแบบอื่นรึเปล่า หรือต้องมีคำบรรยายเสริมมั้ย

เรื่องตัวสะกดผมก็ปรึกษาพจนานุกรมอยู่ตลอดเวลา และได้เรียนรู้คำใหม่ๆ (ที่จริงคือคำเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนผิดมาตลอด เช่น “คร่อม” ผมเคยเขียน “คล่อม” มานาน แต่มีเพื่อนนักอ่านช่วยติงให้) ต่อให้เป็นคำที่ “คิดว่ารู้แล้ว” แต่ถ้าไม่มั่นใจเต็มร้อยจริงๆ ผมก็ยังยอมเจียดเวลาเปิดพจนานุกรม เดี๋ยวนี้เว็บของราชบัณฑิตฯ ปรับปรุงโปรแกรมพจนานุกรมใหม่แล้วด้วย ค้นหาได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก บางทีเวลาเขียนงานผมก็ต้องเปิดหน้าเว็บพจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ คู่ไว้ตลอดเวลาครับ

และเรื่องความหมายก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่ผมมักจะงงพวกคำเลียนเสียงหรือคำแปลกๆ ยาวๆ ที่คุ้นๆ แต่ไม่มั่นใจ ว่ามันจะใช่แบบที่เราต้องการรึเปล่า ก็เปิดเว็บพจนานุกรมอีกเช่นกัน ยอมเสียเวลาอีกนิด ดีกว่าเขียนไปแล้วกลายเป็นคนละเรื่องไป

ท้ายที่สุด ถึงเราจะระมัดระวังเต็มที่ ตั้งใจ “เขียนไทยให้ถูก” อย่างเต็มที่แล้ว แต่มันก็จะยังมีข้อผิดพลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นธรรมดาโลกครับ ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบไปได้เสียหมด

แต่ผมเชื่ออยู่อย่างว่า เมื่อเราตั้งใจเต็มที่แล้ว เราก็จะสามารถลดความผิดพลาดได้มากที่สุด เท่าที่ความไม่สมบูรณ์แบบของคนเราจะยอมให้เป็นไปได้ และเมื่อมีข้อผิดพลาดใหม่เกิดขึ้น เราก็จะพร้อมที่จะเรียนรู้จากมันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกครับ

และผมเชื่อว่ามันจะเป็นก้าวแรกที่มั่นคง และอยู่กับเราไปตลอดทางที่เราเป็น “คนเขียนฝัน” ทีเดียว




เว็บที่เกี่ยวข้อง

ราชบัณฑิตยสถาน
» หน้ารวม
» พจนานุกรม
» หลักเกณฑ์การทับศัพท์ - คำชี้แจง
» หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
» ที่หน้ารวม มุมซ้ายล่าง ยังมีหลักเกณฑ์อื่นอีกหลายอย่างครับ เช่น เครื่องหมายต่างๆ การเว้นวรรค การเขียนคำย่อ ลักษณนาม ราชาศัพท์ เป็นต้น

พันทิป
» พันทิป pantip.com
» ถนนนักเขียน
» ห้องสมุด
» กระทู้ กรณีตัวสะกดและสำนวนที่ไม่ถูกต้อง ใครสมควรเป็นฝ่ายรับผิดชอบที่สุดคะ
» กระทู้ เดี๋ยวนี้นักเขียนตระหนักถึงความเป็น "สื่อ" ของตัวเองมากน้อยแค่ไหนคะ
» กระทู้ ความเข้าใจผิดในการผันเสียงวรรณยุกต์







Create Date : 03 มกราคม 2552
Last Update : 3 มกราคม 2552 14:41:27 น. 22 comments
Counter : 4981 Pageviews.

 
แจ๋วเลยค่ะคุณพีท เล่นเอาอ่านเพลิน กว่าจะรู้ตัวก็ได้ประโยชน์ไปเยอะแยะ สะอึกอีกหลายดอก ฮ่าๆๆ

หลายคำก็เพิ่งรู้จริงๆ ว่า อ้าวนี่... เราเขียนผิดจริงดิ!

อันที่จริงเวปของราชบัณฑิตฯ ก็เก็บไว้เป็น favorite อยู่นะคะ คอยเข้าไปดูตลอดเวลาที่ไม่แน่ใจคำไหน แต่มันบังเอิญว่าบางคำมั่นใจว่าเขียนถูกเลยไม่ไปดูนี่สิ ปรากฎว่ามันผิด เหอะ เหอะ

อ่านแล้วก็แอบคิด ตรงประโยคคำพูดหรือบทสนทนา อารมณ์อ่านจะเป็นอารมณ์แม่พลอย น่าคิดนะคะ เขียนถูกต้องตามหลักภาษา เลยกลายเป็นว่าอารมณ์อนุรักษ์

แบบนี้เกิดลองเขียนเรื่องสั้นแนวเด็กมัธยมหลงรักนักร้องวัยรุ่น แล้วยกเลิกอิโมติคอนทั้งหลายแหล่ ใส่ภาษาแม่พลอยเข้าไปแล้วลองอ่านดู ท่าทางจะสนุก อิ อิ อิ

ไม่ก็ลองคุยกับเพื่อนฝูงแบบอ่านออกมาจากตัวอักษรตรงตัวดู

จาก "เฮ้ย... เป็นไรมากมั้ยเมิง"

เป็น "นี่แน่ะ... เป็นอย่างไรมากไหมพ่อคุณ"

กร๊าก...

ล้อเล่นค่ะ อันที่จริงความเห็นส่วนตัวคืออยากให้เขียนแบบถูกต้องมากกว่าเขียนแบบแปลงสาร (เอะ แล้วไอ้ "แปลงสาร" นี่เขียนถูกไหมนี่?) เกินกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ คือสำหรับบางคำในบทสนทนาโต้ตอบ อารมณ์นิยายแนวใหม่อาจได้อารมณ์มากกว่าหากจะเขียนแบบ ไหม เป็น มั้ย อย่างไร เป็น ยังไง

อุ๊ย... เม้นท์ยาวง่ะ

ไปดีกว่า

ปล. แอบสงสัย งานเขียนคุณพีทที่ผ่านมาใช้คำว่า "คร่อม" บ่อยขนาดนั้นเลยเหรอ เอิ๊กๆๆ


โดย: BestChild วันที่: 3 มกราคม 2552 เวลา:16:50:10 น.  

 
แปลงสาร ค่ะ ^^


มาอ่านสาระความรู้ค่ะ แต่เด่วค่อยมาเก้บรายละเอียดต่อทีหลัง อิอิ เริ่มจะง่วงค่ะ

แต่เห็นด้วยมากๆนะคะว่าการใช้ภาษาถูกต้องจำเป็นมากเพราะบางทีคนอ่านที่ไม่รู้อาจจะจำคำที่ผู้เขียนสะกดผิดมาใช้ เพราะคิดว่าต้องเขียนถูกก็ได้ค่ะ


ฝันดีค่ะ คุณพีท ^^

มอบกลอนส่ง ฝั น ดี
ขอให้มีราตรีงาม
วาดดาวส่องวับวาม
ทอแสงข้ามนภาลัย

ฝากความ คิดถึง เพื่อน
ที่มิเลือนไปจากใจ
ยังคงคอย ห่วงใย
ขอมอบให้เธอคนดี ^^


โดย: Life's for Rent วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:0:22:02 น.  

 
อู้ทำรายงานมาเดินเล่นค่ะ

เอาไว้ค่อยมาเก็บรายละเอียดหลังจากจัดการเรื่องต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้วนะคะ (อาทิตย์หน้าอาจจะได้อ่าน ถ้าตึกที่ไปนอนเล่น ไม่เฮี๊ยบมาก ให้ต่อเน็ตเล่นได้)


โดย: เทียนสี IP: 80.225.180.64 วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:3:04:17 น.  

 
(1) คุณเบสต์

ฮั่นแน่ อ่านเพลินระวังเจ็บตานะครับ ที่เพลินเนี่ย เพราะอ่านไปสะอึกไปรึเปล่า ผมเปล่าว่าอะไรน้า เขียนไปเื่รื่อยเปื่อย ไม่ได้ตั้งใจกระทบใครเลยจริงจริ๊ง

เปลี่ยนเป็นโหมดจริงจัง ผมอ่านนิยายคุณเบสต์มาหนึ่งเรื่องเต็ม (กับอีกหนึ่งเรื่องที่รออยู่) และเรื่องสั้นอีกสามสี่เรื่อง ไม่สะดุดนะครับ จัดเป็นงานเขียนที่เขียนไทยได้เรียบร้อยงดงามดีเชียวแหละ

เว็บของราชบัณฑิตฯ บ้านผมเปิดช้ามากแหละ ไม่รู้ทำไม เวลาเปิดแล้วก็รอไปเลยสิบนาทีได้มั้ง กว่าจะขึ้นหน้าครบ (ลองเปิดด้วยโปรแกรมไหนก็ช้าพอกัน) โชคดีที่เว็บพจนานุกรมเขาแยกออกมาต่างหาก ไม่ต้องเปิดหน้ารวม เดี๋ยวนี้เวลาผมเขียนนิยายก็จะเปิดอีกจอไว้ พิมพ์ rirs เข้าไป แล้วมันก็เรียกที่อยู่เต็มออกมาให้ สะดวกดีครับ เร็วว่าวิ่งหาใน favorite อีก

ไอ้คำที่มั่นใจว่าเขียนถูก เลยไม่ได้ดูเนี่ย ผมผิดมาแล้วเยอะเชียว ยิ่งเมื่อก่อนผมปิดโปรแกรมตรวจตัวสะกดของเวิร์ดไป (เพราะมันชอบตีเส้นแดงคำที่ไม่ผิด เห็นแล้วตาลาย) เลยไม่รู้ว่าพิมพ์ผิด หลังๆ เลยต้องยอมเปิดให้มันตีเส้นแดงมั่วๆ ต่อไป จะได้สังเกตได้ ที่ผ่านมาก็อาศัยคนอ่านช่วยจับเนี่ยครับ ได้มาหลายคำ

มีแบบ เราไปบอกคนเขียนคนอื่น แล้วบอกผิดก็มีเหมือนกัน เลยรู้ ฮ่าๆๆ อ๊ายอาย พี่อ้อเนี่ย จำได้ว่าสองครั้งเป็นอย่างต่ำ (แต่นานแล้ว พี่อ้อจำได้เปล่าไม่รู้) คือ "สาบสูญ/สาปสูญ" กับ "พริ้ว/พลิ้ว" คือ พี่อ้อเขียนถูกอยู่แล้ว ผมไปทักว่ามันน่าจะใช้อีกคำ สุดท้ายปรากฏว่า ใช้ได้ทั้งสองแบบ แป่ว... หลังจากนั้นเวลาจะทักใครเลยต้องตรวจอย่างถี่ถ้วน ว่าใช้ได้หลายแบบรึเปล่า เดี๋ยวทักผิดอีก

ที่ว่า "เขียนถูกต้องตามหลักภาษา เลยกลายเป็นว่าอารมณ์อนุรักษ์" มีประเด็นคิดต่อเหมือนกันนะครับ เพราะ "หลักภาษา" เนี่ย สมัยโบราณเราใช้กับ "ภาษาเขียน" ตำราภาษาไทยสมัยก่อนจะเป็นแนว "กำหนดว่าควรจะเขียนอย่างไร" (ตำราฝรั่งก็เหมือนกัน) แต่ที่จริง "ภาษาเขียน" กับ "ภาษาพูด" ต่างก็มีความสำคัญของตัวเอง แทนกันไม่ได้ทั้งหมด และต่างก็มี "หลักภาษา" ของตัวเองที่เป็นคนละหลักกัน เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง

ทีนี้พอเราจะเอา "ภาษาพูด" มาเขียน (หรือเราจะเขียนภาษาพูด) เลยทำให้มีปัญหาในการเลือก ว่าจะเอาหลักไหนมาใช้ตรงไหน ปิ๊งป่อง

จริงๆ ภาษาพูดในนิยายเนี่ย มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวรรณกรรมนะครับ เพราะในทางปฏิบัิติ นิยายไม่สามารถ "เลียน" การพูดของคนจริงๆ ได้ (ตำรามากมายเขียนไว้ตรงกัน) ถ้าลองถอดเทปคำพูดตามธรรมชาติดู จะพบว่า มันไม่เป็นประโยคซะทั้งหมดหรอก มันขาดๆ วิ่นๆ พูดผิดแล้วเริ่มใหม่ พูดซ้ำ โอ๊ย สารพัด ถ้าขืนนิยายถอดมาให้ได้เหมือนจริง คนอ่านจะปวดหัวมาก เพราะการอ่านมันไม่เหมือนกับการฟัง แม้ภาษาพูดในนิยายก็ยังต้อง "ทอน" ความเป็นภาษาพูดที่แท้จริงออกมาให้อยู่ในรูปที่อ่านรู้เรื่อง

ยิ่ง "ภาษาพูดแบบแม่พลอย" (และแบบอื่นๆ เช่น แบบนิยายกำลังภายใน แบบนิยายแฟนตาซี นิยายฝรั่งย้อนยุค ฯลฯ) ยิ่งเป็นภาษาประดิษฐ์โดยแท้ ผมเกิดไม่ทันนะครับ แต่ก็ไม่อยากเชื่อนัก ว่าคนสมัยก่อน จะพูดจาแบบในละครจริงๆ มันดูแข็งๆ ไม่เป็นธรรมชาติ แต่มันให้อารมณ์ "พีเรียด" ได้ดี น่าจะถือเป็นเครื่องมือในทางวรรณกรรมเสียมากกว่า

ทีนี้เราเลือกใช้ "ภาษาพูด" แบบไหนมาใส่ในงานเขียน มันก็จะไปเรียกอารมณ์แบบนั้นมา เหมือนอย่างนิยายกำลังภายใน ถ้าไม่ใช้ภาษากำลังภายใน คนอ่านก็จะรู้สึกแหม่งๆ เป็นต้น

ที่จริงการใช้ภาษาพูดปนกับภาษาเขียนในนิยายนี่ ยังมีอีกประเด็นที่ต้องคำนึงด้วยครับ คือถ้าเป็นนิยายที่เล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง (ฉัน ผม ข้าพเจ้า) ภาษาที่ใช้ ต้องเป็นภาษาที่ผู้เล่าจะใช้ และต้องสอดคล้องกับอารมณ์ในการเขียนเล่าเรื่อง เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นบทบรรยาย แต่ในบางกรณี หรือในบางตำแหน่ง ภาษาพูด เช่น "ซะ" "มั้ย" "ยังไง" พวกนี้ อาจจะเหมาะสมกว่า "เสีย" "ไหม" "อย่างไร" ก็ได้ ผมว่าต้องดูจุดมุ่งหมายและอารมณ์ของเรื่องเป็นสำคัญ

ตอบ ป.ล. เอ่อ... ไอ้การ "คร่อม" เนี่ย มันเป็นกิริยาอาการมาตรฐานทั่วไปนะคร้าบ เช่น การคร่อมม้านั่ง อานรถจักรยาน เป็นต้น คุณเบสต์คิดถึงอาราย

ป.ล. สอง "แปลงสาส์น" ผมเข้าใจว่าน่าจะสะกดแบบนี้นะครับ มันมาจากสำนวน "ฤๅษีแปลงสาส์น" ในนิทานพื้นบ้านเรื่องอะไรหว่า พระรถเมรีหรือเปล่า ที่ฤๅษีแปลง "สาส์น" คือจดหมายถึงนางเอก เปลี่ยนข้อความที่สั่งให้ฆ่าพระเอก เป็นให้ต้อนรับอย่างดีหรืออะไรเนี่ย




(2) คุณไลฟ์

โอ้ มาอ่านยามดึกมากๆ ครับ สมควรง่วงจริงๆ เจอยาวๆ ขนาดนี้ซะด้วย ฮ่าๆๆ

กรณีคนอ่านจำมาใช้ผิดๆ นี่ น่าห่วงมากในนิยายวัยรุ่นที่ปล่อยให้มีการสะกดผิดๆ (และการใช้อักขรวิธีผิดๆ) อย่างเกลื่อนกลาดครับ ผมเคยเดินร้านหนังสือ (สองปีก่อนมั้ง) เห็นปกสวยน่ารักน่าหยิบ เลยคว้าขึ้นมาพลิกๆ ดู อยากรู้ว่าตลาดหนังสือสมัยนี้เป็นยังไง เด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ เขาอ่านอะไรกัน

คุณพระช่วย

แบบว่า บางเล่มน่ากลัวมากๆ เห็นแล้วขนลุกโดยแท้จริง นอกจากการสะกดคำยากที่ไม่คุ้นเคยผิดๆ ซึ่งอาจจะทำให้คนจำไปผิดๆ แล้ว ยังมีความนิยมใหม่อีกอย่าง คือการตั้งใจสะกดแบบผิดๆ ให้ดูโก้เก๋ คือคนเขียนอาจจะตั้งใจ ส่วนสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้สนใจดูหรือเปล่า เลยทำให้เหมือนกับว่าการสะกดแบบผิดๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องไปเสียอย่างนั้น หรือเป็นแฟชั่นใหม่ แป่ว...

ขอบคุณสำหรับฝันดีด้วยคร้าบ




(3) คุณเทียน

น้าน อู้บ่อยรึเปล่าครับ รายงานเล่มนี้ทำน้านนาน อิๆๆ

ตอนนี้อย่าเพิ่งห่วงเรื่องมาอ่านเลยครับ ขอใำห้ทำรายงานเสร็จไวๆ จะได้หมดไปอีกเรื่อง ทำนานเหลือเกิน เบื่อยังเนี่ย แล้วก็ตอนไปนอนเล่น ขอให้มีเน็ตใช้นะครับ จะได้มาคุยเล่นกันได้

แล้วก็จะได้ "ล่าชีวิต" ด้วยไง โฮะๆๆ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:9:13:52 น.  

 
โห!!! คุณพีทเปิดชั้นเรียนเร็วกว่าที่คิด

ตอนแรกเข้าใจว่าคงอีกพักนึงถึงจะเปิดชั้นเรียนซะอีก

ที่ไหนได้ ไม่ทันจะข้ามสัปดาห์ด้วยซ้ำมั้งเนี่ย รวดเร็วแท้

เท่าที่ดูรายละเอียดจากภาพรวม เป็นเนื้อหาภาคทฤษฏี

ขั้นพื้นฐานที่สำคัญมากจริงๆ ค่ะ ละเอียดยิบเชียวแหละ

แต่สำหรับส้มสงสัยคงต้องตามสอยตามเก็บทีหลังเพื่อน

เพราะช่วงนี้งานสุมเข้ามาค่อนข้างมาก (เพราะเก็บไว้เป็น

ดินพอกหางหมูซะเอง )

แหม...ก็อย่างว่าอะนะ พอมีเวลาว่างยาวๆ กะเค้าบ้าง

มันก็อยากจะนอนพัก (พักนานไปหน่อย พักแล้วติดลม)

เผลอแผล็บเดียวเอง ก็จะเปิดทำงานซะแล้ว ตอนนี้ล่ะ

นั่งปั่นงานซะหัวฟูเลยล่ะค่ะ คาดว่าจะเสร็จได้แค่บางส่วน



โดย: มณีนาคา วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:18:58:43 น.  

 
ภาษาไทย...ยาก...

เมื่อวันก่อน น้องเพิ่งบอกว่า หมูหยอง ที่ถูกต้องสะกดว่า หย็อง -_-a

เดี๋ยวนี้ อีโมติคอน ก็นิยมใช้ในนิยายเหมือนกันนะเฮีย


โดย: แค่ก้อนหินที่อยากบินได้ วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:19:42:09 น.  

 
รายงานทั้งหมด 3 เล่ม นะคะคุณพีท เสร็จไปแล้ว 2 เล่ม เหลือเล่มสุดท้ายแล้ว ...ถ้าวันนี้ไม่เสร็จ พรุ่งนี้ก็หอบไปนอนเล่นด้วยกัน ทั้งคน คอมพ์ฯ และหนังสืออ้างอิงทั้งหลาย ... ให้มันรู้ว่าใครแน่กว่าใคร อิอิ ... อีก อาทิตย์เดียวเป็นไทยยยยยย แล้ว ... ดีใจโพดๆๆๆ (ลากันที กับคอร์สนี้)

น่าสนใจมาก ..ห้องเรียนนี้ รับรองมาอ่าน มาถามคุณครู
พีทคุงแน่..เตรียมตัวตอบคำถามนักเรียนฉลาดน้อยอย่างเทียนสีได้เลยค่ะ..


โดย: teansri วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:20:44:22 น.  

 
(5) คุณส้ม

พอดีช่วงปีใหม่มีเวลาอะครับ หลังจากนี้ก็คงเว้นๆ ไปบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าหาเวลาได้ตอนไหน ตั้งใจว่าเขียนเรื่องไหนก็จะเขียนละเอียดเท่าที่มีแรง เพราะจะได้เก็บไว้เป็นการทบทวนบทเรียนของตัวเอง แต่ละเรื่องนี่ตกราว 8 - 12 หน้า ก็เขียนกันราวๆ 6 - 10 ชั่วโมงเลยมั้ง (บทความแบบนี้เขียนเร็วกว่านิยายนิดนึง)

ขอให้งานที่สุม (ไว้ที่หาง... ใคร?) ถูกชะล้างสำเร็จโดยไวนะครับ หาเวลาพักผ่อนบ้าง ป่วยบ่อยเหลือเกิน หายเหนื่อยแล้วค่อยมาอ่านก็ได้ บล็อกนี้ขึ้นไว้อีกนานนนนนน คงไม่เอาไปไหนหรอกครับ




(6) พุทรา

ไม่หรอก ภาษาไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น เพราะการสื่อสารของคนเรามีความละเอียดอ่อน ถ้าภาษามันไม่ละเอียดตาม เราก็คงไม่สามารถสื่อแง่มุมเล็กๆ น้อยๆ ในภาษาออกมาได้อย่างงดงามแบบที่เป็นอยู่

"หมูหย็อง" ต้องมีไม้ไต่คู่ใช่แล้ว เหมือน "หยิกหย็อง" เป็นเสียงสั้น คำนี้โชคดีที่สะกดเหมือนเสียง คำที่สะกดไม่เหมือนเสียงจะยิ่งชวนสับสนกว่านี้อีก (เช่น "เก้า" จริงๆ ออกเสียงยาวเป็น "ก้าว" หรือ "น้ำ" ถ้าอยู่หน้าคำประสมจะออกเสียงสั้นว่า "นั้ม" แต่ถ้าอยู่ท้ายคำจะออกเสียงยาวว่า "น้าม" คำอื่นแบบนี้ก็มีอีก เช่น "ไม้" ที่ออกเสียง "มั้ย/ม้าย" เป็นต้น)

อีโมติค่อน เราอ่านรู้เรื่องนะ บางคนเขาบอกว่าอ่านไม่ได้เลย ก็เป็นธรรมดา เพราะมันเป็นระบบสัญลักษณ์อีกระบบ ซึ่งต่างจากภาษานิยาย

เคยเจอแบบที่ใช้แล้วไม่ชวนอ่านคือ (1) ใช้พร่ำเพรื่อ เยอะจนไม่มีความหมาย เห็นแล้วเซ็ง อ่านข้ามได้ กับ (2) ใช้เพราะคนเขียนเขียนบรรยายไม่เป็น ไม่รู้จะบรรยายอารมณ์ หน้าตา ท่าทางตัวละครยังไง เลยใช้เป็นทางลัด แบบว่าขี้เกียจ ทำนองนั้น

อีโมติค่อนนี่ ถ้าใช้ดีๆ ไม่มากเกินไป วางตำแหน่งเหมาะสม และสอดคล้องกับแนวเรื่อง เราว่ามันก็ส่งเสริมบรรยากาศของเรื่องบางลักษณะได้ดี เคยอ่านที่เรารู้สึกว่าใช้ได้ราบรื่นมาก ไม่สะดุด ไม่ขัดตาเลย ถ้าจำไม่ผิดชื่อ "หนุ่มซ่าส์ หนุ่มเซอร์ กับเธอ...ยัยตัวแสบ" ของ "เม-ดา" ลงที่ ถนนนักเขียน ใช้ได้น่ารักมาก และคนเขียนก็เขียนนิยายเป็นอยู่แล้ว เลยไม่มีอาการประเภท ใช้อีโมฯ แทนเพราะไม่รู้จะเขียนอะไร แบบนั้นเราอ่านแล้วก็มีความสุขดี




(7) คุณเทียน

ป่านนี้เสร็จรึยังน้อ เดาว่าตอนนี้คงหอบผ้าผ่อนไปนอนเล่นเรียบร้อยแล้ว เพราะมาคุยในศาลาเป็นภาษาต่างดาว เอ๊ย ต่างด้าว ถ้ารายงานยังไม่เสร็จก็ขอให้เสร็จไวๆ นะครับ ช่วงนี้ก็นอนตีพุงพักผ่อนไปพลางๆ นะ ถ้ามีคำถามอะไรกลับมาค่อยคุยกันครับ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 6 มกราคม 2552 เวลา:7:46:20 น.  

 
อ่านแล้ว..สะอึก นี่มันเราชัดๆ
ยอมรับเลยค่ะ..ว่าเขียนผิดด้วยหลายสาเหตุ
อาจไม่รู้ตัวว่าเขียนผิด กดผิดบ้าง..ตรวจทานไม่รอบคอบบ้าง
ก้มหน้ายอมรับผิดแต่โดยดี..คราวหน้าจะปรับปรุงแก้ไขค่ะ

ขอบคุณข้อมูลที่ค้นคว้าและเรียบเรียงมาให้อ่านและเรียนรู้ค่ะ

ยาวมากเลย..เหอ เหอ..เรื่องความยาว บ่ยั่น
แต่ยิ่งอ่านยิ่งงง..เหมือนกับไปเริ่มเรียนภาษาไทยใหม่เลย..เอิ๊ก..


โดย: nikanda วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:19:34:19 น.  

 
มาทักทายครับ... โห..วิชาการเยอะแยะน่าติดตามดีครับ



โดย: Tinnatorn วันที่: 8 มกราคม 2552 เวลา:5:24:25 น.  

 
ตอนนี้พยายามอย่างยิ่งเลยครับ
ที่จะเขียนภาษาไทยให้มันถูกต้อง...
ถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามลดภาษาแชตให้น้อยลง ^^
ขอบคุณคุณพีทสำหรับบทความดี ๆ ครับ


โดย: h@-more วันที่: 9 มกราคม 2552 เวลา:1:28:12 น.  

 
(9) คุณแจง

กรึ๋ยๆ สะอึกแล้วจะเอากระเป๋าฟาดหัวผมเปล่าคร้าบ แหะๆ ที่จริงผมเขียนเสร็จแล้วกลับมาอ่านทวน ก็รู้สึกตัวเองปากร้ายเหมือนกันนะครับ มีกระแนะกระแหนด้วย อ๊าก น่ากระโดดตื้บ(คุณพีท) ซะจริงเชียว แต่เวลาเขียนๆ ไปแล้วมันแยกยาก ระหว่างการพูดถึงงานเขียนทั่วไป (หมายถึงที่ผมอ่านจากถนนนักเขียนน่ะครับ) กับงานเขียนบางเรื่องที่อ่านแล้วอยากสลบจริงๆ

ออกตัวซักนิด ว่าผมอ่านงานเขียนที่บล็อกของคุณแจงนี่ ไม่มีอาการอยากสลบนะคร้าบ

ส่วนไอ้ที่เขียนผิดกันบ้างนี่ มันก็เป็นสามัญโลกครับ ผมก็โดนทักโดนเตือนอยู่เรื่อยๆ ไอ้คำๆ ที่คิดว่าถูกแล้วเนี่ย โดนมากสุดเลย โฮะๆๆ ถ้าเราตั้งใจปรับปรุงไปเรื่อยๆ เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ พึ่งพาพจนานุกรมบ้าง มันก็จะพลาดน้อยลงครับ หลังๆ นี่ เปิดตะพึดเลย กลัวผิด (มีบางคำสะกดไม่เป็นด้วยแหละ พวกคำสำนวนโบราณนิดๆ แบบ "ตะพึดตะพือ" ทำนองนี้แหละครับ นี่ไม่ได้เปิดนะ ผิดเปล่าไม่รู้ แกร๊ก)

อ่านแล้วยิ่งงง แสดงว่าคนเขียนเขียนมิดี TT ถ้ามีข้อสงสัยตรงไหนที่เห็นว่าสำคัญ ถ้าจะสอบถามเพิ่มผมก็ยินดีครับ ถ้าพอรู้ก็จะตอบ หรือค้นหาเจอก็จะบอก ถ้าไม่รู้ก็จะชิ่ง (ปิ๊งป่อง)




(10) คุณติณ

อยากติดตามวิชาดนตรีมั่ง แต่ไม่มีคนยอมสอนผมอะครับ กรึ๋ยๆ




(11) คุณมอร์

ผมก็พยายามเหมือนกันครับ เรามาจับมือกันนะ เย้ๆ สู้ๆ (เอ่อ... เวอร์ไปเปล่าคุณพีท)

ที่จริงภาษาแช็ตมันก็มีที่ทางของมันนะครับ คือในบางบริบท บางเหตุการณ์ บางสภาพแวดล้อม มันก็เหมาะสมดี เช่นการคุยกันหน้ากระทู้
"หากจะเขียนทุกอย่างอย่างเป็นทางการ แม้ข้อความเหล่านั้นจะสื่อความหมายได้ถูกต้องตามที่เจตนา แต่อย่างไรเสียก็คงไม่อาจแสดงถึงความรู้สึกคุ้นเคยเป็นกันเอง ในกรณีเช่นนี้ ภาษา 'แช็ต' อาจเหมาะสมกว่า จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเลือกใช้"

แอบเหนื่อยเหมือนกันนะครับเนี่ย แหะๆ

จริงๆ ผมไม่แน่ใจหรอกครับ ว่าภาษาแช็ตหมายถึงอะไร หมายถึงภาษาพูดหรือเปล่า หรือภาษายานคาง หรือภาษาพูดที่มีสัญลักษณ์ประกอบ (อ๊าก ผมก็ใช้ง่ะ TT) ถ้าของผมเองก็สนใจเรื่องอักขรวิธีเป็นหลักครับ ถ้าสะกดถูกต้องออกเสียงได้ ต่อให้เป็นคำเลียนเสียงแปลกๆ (เช่น อร๊ากกกกกก) ผมก็โอนะ (<-- นี่ก็ใช่รึเปล่าหว่า)


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 9 มกราคม 2552 เวลา:17:02:37 น.  

 
อ่านบทความนี้ของคุณพีทแล้วจิตตก
/
/
/
/
/
/
1.ตูนไม่ค่อยอ่านทวนงานของตัวเองเลยค่ะ

ประเด็นนี้แก้ง่าย
ก็แค่ลงบล็อกหรือฟอไรเตอร์ครั้งหน้า ก็อ่านทวนซะ

2.มักเชื่ออะไรที่ลงในหนังสือมาแล้ว
เช่น หนังสือตั้งชื่อ ความหมายท่านมาอย่างไร
ดิฉันก็ใช้มันอย่างนั้น ไม่เคยตรวจสอบอะไร

จนคุณพีทมาเจอที่เว็บฟอร์อ่ะคะ
เรื่องชื่อ "ดุษิต"

ปัจจุบันนี้โยนหนังสือตั้งชื่อเล่มนั้นทิ้งไปแล้วค่ะ
ไปซื้อเล่มใหม่มาเอาแบบว่าราชบัณฑิตรับรอง

แต่การใช้ข้อมูลคราวหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งชื่อ
หรือข้อมูลอื่นๆ ก็จะพยายามตรวจสอบอีกหนึ่งรอบ

อันนี้ก็ง่าย

3.ใช้วรรณยุกต์ไม่ตรงกับเสียงที่ต้องการ

คุณพีทให้เกียรติแนะนำมาหลายรอบแล้ว
แต่ถึงบัดนี้หนูตูนก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

พยายามนับนิ้ว (ไล่เสียงวรรณยุกต์เหมือนตอนเป็นเด็ก)

แล้วก็ต้องพบว่า - นิ้วไม่ได้ช่วยอะไรเยยยยย

สรุปว่าประเด็นนี้ไม่เข้าใจเลยจริงๆ ค่ะ
เขียนถูกไหมคะเนี่ย


แอบเศร้า




โดย: ปณาลี วันที่: 17 มกราคม 2552 เวลา:12:28:09 น.  

 
(13) คุณตูน

จ๊าก อย่าเพิ่งตกเลยครับ แหะๆ คุณพีทปากร้ายก็จิกกัดไปอย่างนั้นเองนา ของแบบนี้ ฝึกฝนแก้ไขได้แน่นอนครับ ผมก็พยายามอยู่ (มาพยายามด้วยกัน ลั้นลา)




(1) ถ้าอ่านทวนจนเป็นนิสัยได้ก็จะดีเยี่ยมเลยครับ มันมีผลต่อคนอ่านเยอะจริงๆ นะ เชื่อผมเต๊อะ อิๆ




(2) เราตรวจสอบให้ดีที่สุด แต่มันก็ต้องมีหลุดบ้างครับ คนอ่านใจดีจะช่วยจับไก่มาคืนเรา ลั้นลา




(3) โอ๋ๆ อย่าเิ่พิ่งเศร้าครับ ถ้าถึงวัน "ลายหาด" แล้วคุณตูนยังค้างคาเรื่องวรรณยุกต์อยู่ เรามานั่งคุยกันสองต่อสองก็ได้ครับ กริ๊กๆๆ (โดนพี่ถ่านตื้บแน่คุณพีท)


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 19 มกราคม 2552 เวลา:13:08:25 น.  

 
สรุปว่าเรามาเสวนาสองต่อสองแหละกัน

(หนีคุณถ่านกับคุณจอห์น)



โดย: ปณาลี วันที่: 28 มกราคม 2552 เวลา:17:56:06 น.  

 
ได๋เลยครับ


โดย: คุณพีทคุง (พิธันดร ) วันที่: 31 มกราคม 2552 เวลา:21:42:26 น.  

 
ขออนุญาติ Copy ไป Print อ่านด้านนอกนะคะ แบบว่าปวดตามากกกกกก

ซาเป็นคนที่พิมพ์ไม่เร็วเท่าไหร่ค่ะ แต่คิดเร็วมาก ดังนั้นนิ้วมักจะจิ้มผิด... แล้วเรื่องยกแคร่นี่ก็ปัญหาใหญ่ของซาเลยค่ะ...

อีกเรื่องคือซาไม่แน่ใจว่าคำบางคำสะกดถูกไหมเลยพิมพ์ไปตามที่คิดว่าถูก (แต่บางทีมันผิด...แหะ ๆ)

ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ นะคะ...


โดย: ซา'เคียว (samurai_KYO ) วันที่: 11 พฤษภาคม 2552 เวลา:14:42:43 น.  

 
(17) คุณซาเคียว

ด้วยความยินดีครับ (อนุญาต ไม่มีสระอิล่ะ ไม่งั้นจะแปลว่าญาติน้อยๆ เหมือนอนุภรรยา แปลว่าภรรยาน้อยๆ ที่มีมากๆ ครับ อิๆ)

คิดเร็วกว่าพิมพ์แล้วจิ้มผิดนี่ เป็นข้อดีนะครับ ดีกว่าคิดไม่ออกเยอะเลย (พูดจริงนะ ไม่ได้ล้อเล่น) พิมพ์ผิดไปก่อนไม่เป็นไรครับ ขอให้เขียนออกมาให้ได้ทันความคิดที่หลั่งไหลก่อน แล้วค่อยกลับมาตรวจทานแก้ไขได้สบายมาก

คำที่เราคิดว่าสะกดถูกแล้วแต่มันผิดนี่ ผมก็มีเยอะเลยครับ ได้อาศัยเพื่อนๆ คนอ่านนี่แหละ ช่วยกันจับไก่ เพราะเรานึกว่าถูก ก็เลยไม่ได้เปิดพจนานุกรมตรวจเนอะ ^^


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 4 สิงหาคม 2552 เวลา:10:12:57 น.  

 
ขอบคุณค่ะ ที่บรรจงบทความนี้ขึ้นมา
ที่ใช้คำว่า บรรจง ก็เพราะ อ่านแล้วรู้สึกผู้เขียน เขียนด้วยใจ ที่ต้องการให้ คนไทยสะกดคำให้ถูกต้อง
มิหนำซ้ำยังนำเสนอความรู้และวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการสะกดผิด
โดยส่วนตัวแล้ว เคยรณรงค์ให้เพื่อนๆ ใน เฟสบุ๊ค สะกดคำให้ถูกโดยเฉพาะ รูปวรรณยุกต์
มีเพื่อนคนหนึ่งเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดว่า หยุดการเขียนรูปวรรณยุกต์ตรีกับอักษรต่ำ และพยายามสะกดคำให้ถูก
เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่แม้แต่คนที่จบปริญญาตรีหลายคน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
แต่เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ ที่ครูภาษาไทยบางท่าน
ก็ไม่รู้กฎเรื่องการใช้รูปวรรณยุกต์ และเมื่อถูกท้วงติง
ก็ไม่พอใจ
ถึงอย่างไร ภาษาไทยก็เป็นภาษาของเรา ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีอักขระเป็นของตนเอง
ดังนั้นเราต้องพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อดำรงเอกลักษณ์นี้ไว้ ไม่ใช่หน้าที่ใครเพียงฝ่ายเดียว
เห็นด้วยไหมคะ


โดย: Mesong IP: 90.217.180.35 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2553 เวลา:18:21:35 น.  

 
(19) คุณ Mesong

ขอบคุณมากๆ ครับ ผมชอบอ่านชอบเขียน ก็เลยเห็นมาบ้าง แล้วก็อยากพยายามเขียนให้ถูกน่ะครับ แต่ก็ยังมีผิดตลอด ฮ่าๆๆ เพราะภาษาไทยเราช่างรุ่มรวยเหลือเกิน ต้องเรียนรู้กันอยู่ตลอดครับ อย่างที่ผมเขียนไว้ใน คคห ข้างบนเรื่อง "แปลงสาส์น" ผมก็เข้าใจผิดไปอีก เคยค้นพจนานุกรมแล้วเจอว่า "แปลงสาร" เอ้า... เก็บไก่ด่วนๆๆๆ อิๆๆ

ส่วนตัวอยากมองว่า ความผิดพลาดเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเรียนรู้กันได้ และภาษาก็จะเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และใช้สื่อได้มากกว่าสารทาง "ความคิด" เสียอีก แต่รวมไปถึงสารทาง "อารมณ์" และ "จิตวิญญาณ" ได้ด้วย (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเขียนหนังสืออย่างพวกเราหลายคนใฝ่ฝันนะครับ)

บางคนอาจจะรู้สึกว่ายาก หรือเป็นเรื่องจุกจิกกวนใจ ไม่อยากสนใจ อันนี้พวกเราที่เห็นว่าเป็นเรื่องดี เรื่องสวยงาม ก็คงค่อยๆ นำเสนอกันไปนะครับ หวังว่าคงจะมีคนสนใจให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้เป็นครูบาอาจารย์ที่จะมีบทบาทในการกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่ต่อไปครับ เย้


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:12:26:24 น.  

 
บทความนี้อ่านกี่ทีก็ชอบ อยากก็อปเอาไปแปะไว้หน้าบอร์ด ให้น้องๆนักเขียนหน้าใหม่(และเก่า) ผู้ยังใช้คำพูดนี้เสมอๆ หลังการลงงานเขียนของท่าน ในเว็บออนไลน์ อ่านกัน

"อาจจะมีคะผิดเยอะหน่อยนะคะ เพราะรีบเขียน รีบลง ไม่มีเวลาตรวจทานค่ะ"

อยากจะบอกว่า ไม่ต้องรีบเอามาลงหรอก ตรวจให้ดีก่อน ไม่มีใครว่าคุณลงช้าเพราะการตรวจทานหรอกค่ะ บางเรื่องอ่านได้ไม่กี่ย่อหน้า ก็ถอดใจ เพราะมีคำผิดเกือบทุกบรรทัด ทั้งพิมพ์ตก พิมพ์ขาด พิมพ์ผิด สะกดผิด แก้กันไม่หวาดไม่ไหว หมดอารมณ์อ่าน ไม่ว่านิยายจะสนุกแค่ไหน ถ้าไม่ใส่ใจกับงานที่คุณเขียน ก็คงหาคนอ่านไม่ได้หรอกค่ะ

ยิ่งเพิ่งหัดเขียนยิ่งต้องตั้งใจ พยายามให้มีคำผิดน้อยที่สุด คำไหนไม่แน่ใจ ต้องเปิดหา ไม่ใช่ว่ามารอให้คนอ่านแก้ให้ทั้งหมด



โดย: หนูหริ IP: 111.103.65.170 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2554 เวลา:16:50:15 น.  

 
การเขียนผิดที่พบมากในกรณีนี้ คือการเอาไม้ตรีไปใส่อักษรต่ำ (เพื่อให้ออกเสียงตรี) เช่น “มั๊ง” “มั๊ย” “ง๊วงง่วง” “เง๊าเหงา” “ซ๊วยสวย” “ว๊านหวาน” “ว๊าย” ทุกคำในลักษณะนี้ ใช้ไม้โทสะกดทั้งหมด
---------------------

เจอบ่อยๆก็มีแต่ ว๊าย.... ไม่เคยเจอ ว้าย....เลย

ต่อไปต้องเขียน ว้ายยย แบบนี้สินะ


โดย: จากฉันถึงเธอ วันที่: 21 มกราคม 2561 เวลา:10:38:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พิธันดร
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




คุณพีทคุง พิธันดร
Friends' blogs
[Add พิธันดร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.