NuPig and her Dream ~~
 
 

ฉันคงเป็นนางมาไม่ได้หรอกนะ

ส่วนตัวแล้วชอบดูละครเรื่องผู้ใหญ่ลีฯมากๆ

มันทำให้รู้สึกดีและก็เหมือนมันเป็นความฝันว่าได้อยู่กับชีวิตที่สงบสุข

รู้สึกว่านางมาโชคดีเหลือเกินที่ได้ไปอยู่กับธรรมชาติและท้องทุ่ง

และที่สำคัญชาวทุ่งหมาหอนยังมีผู้นำท้องถิ่นที่ใส่ใจบริการ และรักษาความเป็นท้องถิ่นได้ดี

ก็อยากจะเป็นนางมา ของผู้ใหญ่ลีบ้าง

ดูนางมามีความสุขจริงๆกับการเกี่ยวข้าว ทำไรไถนา ขี่ควาย



พอมาดูความคิดเห็นในเวบไซต์ชื่อดังหลายๆแห่ง ก็มีเสียงชื่นชมตอบรับอย่างน่าอัศจรรย์

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นี่ทุกคนปรารถนาที่จะ back to basic

และใช้ชีวิตอย่าง "พอเพียง" ขนาดนั้นเชียวหรือ

ชนชั้นกลางในกรุง ชาวปัญญาชนทั้งหลายในโลกไซเบอร์ ต่างร่วมกันใฝ่หาสิ่งที่ตนหลีกหนีมาหรือ

เมื่อเทียบกับตัวชั้น .... ชั้นมันก็ชนชั้นกลางดีๆ ทั่วไป นี่เองนะ

ก็ได้แต่พรำเพ้อพรรณาถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งนา ว่ามันเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสุดยอดตามอุดมคติ

เอาเข้าจริงจะกลับไปทำแบบนั้นได้หรือป่าว ก็คงไม่ได้



" ฉันคงจะเป็นนางมาไม่ได้ "

นางมา ..ตัวแทนจากชนชั้นกลางระดับสูงในเมืองกรุง

ได้เข้าไปใช้ชีวิตในท้องทุ่งภายหลังจากที่คุณยายเสียชีวิตและมอบมรดกเป็นผืนนา

นางมาไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคุณยายถึงเลือกจะทิ้งชีวิตในเมืองเข้ามา

และเมื่อเธอได้สัมผัสกับ ชีวิตชาวนา ชุมชนคลองหมาหอน และความรักจากผู้ใหญ่ลี

ทำไมเธอได้รุ้ว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่นี่ ...



บทวิเคราะห์ด้วยนามธรรมล้วนๆ
((จะไม่ feel good แน่ หากได้อ่านอะไรหลังจากนี้
ฉะนั้นท่านใดไม่อยากเสียอรรถรส กรุณาอย่าอ่าน
แต่หากท่านใดปรับอารมณ์และความคิดได้ทุกสถานการณ์อย่างดิฉัน เชิญอ่านได้ค่ะ))

เมื่อมองละครเรื่องนี้ในแง่ของหลักปรัชญาอย่างนึง

บางทีมันเป็นเรื่องของคุณค่าของปรัชญาที่แฝงในละคร

หลักปรัชญาที่ทุกคน "เชื่อ" ว่าเป็นแนวทางที่เยี่ยมยอด

และก็แสวงหาที่จะดำเนินเดินทางตามแบบนั้นไป

แต่เนื่องจากในชีวิตจริงของชนชั้นกลางเมืองกรุง แทบจะเหินห่างกับการกระทำ

จึงทำได้แค่คิด และก็แอบรุ้สึกสับสนในใจว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร

เพราะหลักปรัชญานั้นดูเหมือนว่าจะทำได้เป็นรุปธรรมเพียงแต่ในท้องทุ่ง

แม้จริงๆ หลักปรัชญานี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกรูปแบบก็ตาม

แต่รูปแบบที่ชัดเจนและเป็นอุดมคติ เป็นที่สุดของสุดยอด มันคือรุปแบบตามที่ปรากฏในละครเรื่องนี้

ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นแนวทางที่ตนกำลังใฝ่หา และเชื่อว่าดี

และการมีจุดร่วมอารมณ์ความรู้สึกไปกับนางมา การที่รู้สึกว่าตนก็คือ นางมา คนหนึ่ง

มันก็คือการบรรเทา"ความแปลกแยก"ภายในใจ ระหว่างหลักการนี้กับการดำเนินชีวิตของตน

การชื่นชม และเห็นดีเห็นงาม ได้ทำให้ตัวเอง "เชื่อ" ในตัวเองว่า ตนได้บรรลุถึงหลักการในระดับนึงแล้ว



พลวัตรของชนชั้น

การเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นที่ปรากฏกับตัวละคร นางมา

นับได้ว่ามีพลวัตรที่น่าสนใจ และซับซ้อนมากกว่าที่จะบอกว่ามันก็การเคลื่อนที่ลงสู่ชนชั้นที่ต่ำกว่า

หากมองผิวเผินจะเห็นได้ว่า นางมาเปลี่ยนตัวเองจากคนกรุงหรูเลิศมาเป็นสาวชาวนา

ซึ่งทำให้ถูกโยงใยไปถึงความเป็น "คนดี" "เสียสละ" จากการเป็นคนกรุงสุขสบายต้องมาลำบากตรากตรำ

แต่จริงๆแล้ว การที่นางมาใช้ชีวิตอยุ่ในชนบท อาจจะเป็นการเลื่อนชนชั้นตนให้สูงขึ้นก็ได้

จากชนชั้นกลางระดับสูงทั่วไป มีรสนิยมแบบคนกรุง แบบดารานางแบบทั่วไป

ก็ได้มาเป็นชนชั้นชาวนารวย เป็นชนชั้นนำในชนบท ที่เป็นจุดศูนย์กลางจุดเด่นของชาวบ้าน

มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าในทุกๆด้าน ทั้งความรู้ หน้าตา ความร่ำรวย และ บทบาทการเป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน

การใช้ชีวิตของนางมาในชนบท ท้องนาท้องไร่ จึงไม่ใช่ความลำบากตรากตรำ หรือถูกกดขี่ใดๆ

นางมา จึงก็อาจจะไม่ได้เป็นนางมาที่สามารถสละชีวิตสบาย มาเคียงคู่เป็นชนชั้นชาวนาทั่วไปได้

แต่นางมา ก็เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางในเมืองกรุง หากมองในลักษณะนี้

นางมาก็คงเหมือน คนกรุงที่บั้นปลายชีวิตอยากจะมีชีวิตที่สงบ สร้างบ้านพักอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

ชนบท ท้องทุ่ง ชาวนา ชาวไร่ จึงเป็นได้เพียงแค่ตัวส่งเสริมให้รู้สึกร่วมไปถึงหลักปรัชญาดังที่กล่าวไว้



ชุมชนเข้มแข็ง

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของละครเรื่องนี้ คือ ความเป็น "ชุมชน" ในอุดมคติ

ชุมชนเข้มแข็ง ต่อต้านทุนนิยม
และมีความเป็น "ท้องถิ่นภิวัฒน์"
(เห็นได้จากตัวอย่างที่วันนี้ชาวบ้านยกเลิกการซื้อ"ควายเหล็ก" หันมา ลงแขกแทน)

แต่ทั้งหมด ก็คือการรักษา"ตน" ภายใต้นามของ"ชุมชน" ให้อยู่รอดใน"ระบบ"ที่ยังไงก็โค่นล้มมันไม่ได้

การลงแขก ....เพื่อลดต้นทุนการผลิต ....เพื่อกำไร

การที่ชาวบ้านรวมตัวกัน ....เพื่อต่อรองกับพ่อค้าคนกลางไม่ให้กดราคาข้าว

ดังนั้นการที่เข้าใจว่าหลักปรัชญานี้และประเด็นเรื่องชุมชนเข้มแข็ง

คือกระบวนการต่อต้านทุนนิยม จึงเป็นความคิดที่ดูจะผิวเผินเกินไป

ถ้าจะพูดให้ดูน่ารักๆ สิ่งเหล่านี้ก็คงจะเป็น "ทุนนิยมทางสายกลาง"

ทุนนิยมที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม เยี่ยมจริงๆ (พูดจากใจ เพราะเราชอบทางสายกลาง)



รวมๆแล้ว ละครเรื่องนี้ เลยมีแก่นไม่ต่างจากภาพยนตร์ ความสุขของกะทิ ซักเท่าไหร่

เพียงแต่รายละเอียดของละครเรื่องนี้ ช่างน่ารักน่าเอ็นดู และเข้ากับหลักการที่ทุกคนในสังคม

รวมไปถึงชนชั้นนำทางการเมืองทั้งหลายเห็นว่าดีที่จะเชื่อและทำ





ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ได้มีส่วนไหนบอกเลยนะว่า ละครเรื่องนี้ไม่ดี

เพราะเรารักละครเรื่องนี้มากๆ ก็มันทำให้เรารู้สึกดีได้จริงๆนะ

และเอาจริงๆ มันก็สอนอะไรหลายๆอย่าง ที่คนเราห่างหายไปมาก

โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม และการย้อนมองดูตัวเราเอง

ถ้าคิดมาก ก็จะเป็นแบบข้างบนนี้ มันก็จะทำเอาไม่มีความสุขไปซะเลย

เราเลยต้องมีทางสายกลางทางความคิด

เพียงแต่บางทีดูละครต้องย้อนดูตัวมันไม่พอหรอก

มันต้องย้อนมองไปถึงมโนสำนึกส่วนตัวด้วยเลยเอ้า !!!

และอีกอย่าง จริงๆ เราเชื่อว่าละครเรื่องนี้ ต้องการ "เตือนสติ"

มากกว่าจะให้ใครๆ สติเลื่อนลอยอยู่กับความฝันนะ (เอาไว้เตือนตัวเราดีกว่ามั้ย 555+)



(ต่อไปนี้โปรดทำสำเนียงทุ่งหมาหอน)

แต่ถึงยังไง ถึงฉันอยากจะเป็นคุณมาในอุดมคติที่เสียสละ ละทิ้งชีวิตเพื่อสิ่งต่างๆ มากแค่ไหน

ฉันก็คงทำไม่ได้หรอกนะ

และยิ่ง มีลุกชายแบบไอ่ปิ๊ด มีสามีดีๆ แบบผู้ใหญ่ลี

โอ้โห ....ฉันยิ่งทำไม่ได้ใหญ่เลยจ้า ฮ่าๆๆๆ
(ปรารถนาอันหลังสุดก็ควรจะประกาศไปบ้างอะไรบ้าง 555+)






 

Create Date : 30 สิงหาคม 2552   
Last Update : 14 ธันวาคม 2554 23:58:46 น.   
Counter : 393 Pageviews.  


กีฬาและชาตินิยม



เวลาคุณดูกีฬาโอลิมปิกแล้วรู้สึกอะไร

รู้สึกว่าอยากให้นักกีฬาไทยชนะ
รู้สึกเกลียดหรือหงุดหงิดอีกฝ่าย
รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าในกรณีแพ้
รู้สึกว่าคนไทยเก่งที่สุดในโลก เมื่อเวลาชนะ
.
.
รู้สึกดั่งเหมือนกับเลือดรักชาติมันสูบฉีด
.
.
นั่นก็แปลว่า คุณกำลังตกอยุ่ในความรู้สึก "ชาตินิยม"และคุณ กำลังเกี่ยวข้องกับคำว่า "ความเมือง" (The political)


[ ขอขยายคำว่า the political ..ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า"ความเมือง" ..ความเมืองนั้นแตกต่างจาก"การเมือง" เพราะ การเมือง (Politics) คือเรื่องของสถาบัน การบริหาร การปกครอง ระบอบต่างๆ ในขณะที่ ความเมือง จะเป็นอะไรที่ใกล้ตัวคุณอย่างมาก เพียงแค่คุณรู้สึกว่า คุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือในที่นี้คือ "ชาติ" รู้สึกถึงความแตกต่าง และความเป็นปรปักษ์ (ไม่ใช่ศัตรู) คุณก็เกี่ยวข้องกับ "ความเมือง" แล้ว เพราะความเมือง คือความสำนึกในการเป็นชุมชนทางการเมือง การได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งนั่นเอง ]

เสียงเฮลั่น ที่ดังสนั่น
การรวมตัวของคนในละแวกเดียวกัน
การยืนจ้องหน้าจอทีวีเครื่องเดียวกัน ทั้งที่อาจจะไม่รู้จักกัน
การร่วมแสดงความรู้สึก ดีใจ เสียใจ ทั้งที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน

นี่แหละเป็น "กระบวนการสร้างชาติ" อย่างนึง


กีฬาที่แข่งระหว่างประเทศ มันทำให้คุณตระหนักรู้ถึงคำว่า "ไทย"
รุ้สึกถึงความเป็นเอกลักษณ์ ความมี identity
และนักกีฬ่า ก็ได้ขึ้นชื่อว่า "ผู้รับใช้ชาติ" ...

คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ก็เพราะว่า การแข่งกีฬาระหว่างประเทศ เป็นการทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความมีตัวตนของชาติตนเองในโลก รุ้สึกถึงความแตกต่าง ระหว่าง ชาติของตน กับ ชาติอื่นๆ
อีกทั้งยังเป็นการรับประกันความมีอธิปัตย์ ทางนึง แม้จะไม่ทั้งหมด
(กรณี ของไต้หวัน จะเห็นได้ว่า แม้เขาจะได้เข้าแข่งในโอลิมปิก แต่ก็ใช้คำว่า "จีนไทเป')
ที่สำคัญคือ ในสังเวียนหรือสนามการแข่งขัน ก็เหมือนกับการแข่งขันระหว่างชาติต่างๆในโลก เสมือนเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของการแข่งขันระหว่างประเทศ ที่มักจะแย่งชิงสิ่งที่ดี หรือต่อสู้กันเพื่อให้รัฐของตนเจริญรุ่งเรือง

เมื่อนักกีฬาไปทำหน้าที่เข้าสู่สนามกีฬา จึงเป็นการทำหน้าที่ดังทหารที่เข้าสู่สนามรบ ชัยชนะที่ได้มา ก็เป็น"เกียรติ" (ขอquote เนื่องจาก คำนี้ค่อนข้างเป็นมายาคติ) เป็นศรีของชาติ เป็นการได้ครอบครองสิ่งที่ดี

และการเป็นผู้ครองเหรียญจำนวนมากๆ ก็สะท้อนถึงระดับการพัฒนาในประเทศหรือการครองอำนาจในโลกทางหนึ่งเช่นกัน (แต่ไม่ทั้งหมด ..กรณีนี้ ขอเน้นไปที่ ประเทศอันดับต้นๆ ที่เป็นประเทศอุตฯ หรือ ประเทศมหาอำนาจ)


ย้อนกลับมาเรื่อง the political หรือ ความเมือง ...
กีฬาทำให้เกิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วม (ในกรณีนี้คือการได้เชียร์ การมีจิตสำนึกร่วม) และยังทำให้คุณได้รุ้จักกับคำว่า "เขา" และ "เรา" ตราบใกก็ตามที่กีฬา ทำให้เกิดสิ่งนี้ คุณก็อยู่ในความเมืองนั่นเอง ...หรือจริงๆ ถ้าพูดแบบที่เราพูดกันทั่วๆไป ก็บอกว่า กีฬาคือเรื่องการเมือง (ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่า เป็นเรื่องความเมืองต่างหาก) ...เอาเป็นว่า ไม่จำเป็นต้องยึดถือในการใช้คำ แต่ขอให้เข้าใจความหมายไปในทางเดียวกันก็พอ ...


หมายเหตุ

ส่วนเรื่องที่จีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน บทความนี้ ขอไม่พูดถึง เพราะมีคนพูดถึงเยอะแล้ว ขี้เกียจกล่าวถึงซ้ำ

หากผู้เขียนยังมองประเด็นนี้ไม่ทะลุพอ ต้องขออภัยด้วย เนื่องจากเขียนไปด้วยอารมณ์อยากเขียนมาก เพราะเพิ่งดูกีฬาจบแล้วความรู้สึกค้าง ไม่ได้มี outline ในหัว ไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น จึงอาจบกพร่อง

ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านชาตินิยม เพียงต้องการนำเสนอว่าการเชียร์+การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศเป็น ideology อย่างนึง เนื่องจากเต็มไปด้วย"ชาตินิยม"

และขอกล่าวไว้เลยว่า ไม่ได้มีแค่ "ชาตินิยม" ที่แฝงฝังอยู่ ยังมีอะไรอีกมาก ..และในความเป็นชาตินิยมจากการแข่งขันกีฬานี้ก็ยังมีความเป็น ideology อยู่เช่นกัน เพราะก็แฝงฝังกันซับซ้อนมากมาย

อย่างไรก็ดี รู้สึกดีใจกับทัพนักกีฬาไทยของเราจริงๆ
ดูกีฬา แล้วรักชาติจริงๆ
ฟังเพลงชาติอย่างภาคภูมิใจ

(และนี่คือความเชื่อที่ถูกทำให้เชื่อโดยเชื่อกันว่ามีความเชื่อนี้ จึงเชื่อกันตลอดมา)

ขอบคุณค่ะ

รักชาติไทยเสมอ
...NuPig ...





 

Create Date : 20 สิงหาคม 2551   
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2562 5:04:29 น.   
Counter : 94 Pageviews.  


ชาวไทใหญ่ในสหภาพม่า


ชาวไทใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศพม่า เวียดนาม อินเดีย ตอนใต้ของจีนและไทย ขบวนการแบ่งแยกประเทศกลับเกิดขึ้นแต่ในประเทศพม่า ซึ่งในอดีตมีหลายกองกำลังเกิดขึ้นและเสื่อมลง ขบวนการที่โด่งดังที่สุดในอดีตคือ กองทัพเมิงไต ภายใต้การนำของขุนส่า ส่วนในปัจจุบัน ขบวนการที่สำคัญคือ กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (Shan State Army-SSA) ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก

ความแตกต่างทางเชื้อชาติ
ชาวไทใหญ่มีความสำนึกว่าตนเป็นเชื้อชาติ “ไท” ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากชนชาติพม่าที่มิใช่เชื้อสาย “ไท” วัฒนธรรมและประเพณีของทั้งสองชนชาติก็แตกต่างกัน ชาวไทใหญ่นั้นมีความภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ฟ้อนนกฟ้อนโต ลิเกไทใหญ่ การใช้ถั่วเน่าประกอบอาหาร เป็นต้น

แรงกดดันทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม
รัฐบาลพม่าเป็นรัฐบาลที่ปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการทหาร ซึ่งยึดอำนาจมาจากประชาชน ไม่ได้ปกครองแบบ “สหภาพ” อย่างแท้จริง รัฐบาลพม่ามีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง กลุ่มต่อต้านพม่าทุกกลุ่มจะถูกกวาดล้างอย่างรุนแรงและถูกกักขังในคุกอินเส่ง
รัฐบาลส่งทหารพม่าเข้าไปประจำการควบคุมพื้นที่ต่างๆของชนกลุ่มน้อย และทหารพม่าได้ทำการบังคับขู่เข็ญทำร้ายชนกลุ่มน้อยต่างๆนานา ที่รุนแรงที่สุดคือการที่รัฐบาลพม่าออก “ใบอนุญาตข่มขืน” ให้ทหารพม่ากระทำทารุณกรรมทางเพศในรูปแบบต่างๆต่อผู้หญิงชนกลุ่มน้อยได้ นอกจากนี้ยังมีการฆ่าหมู่ชาวไทใหญ่ในรัฐฉานเป็นจำนวนมากโดยกองกำลังพม่าในปี 1997
รัฐบาลพม่ายังพยายามทำลายวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาติไทใหญ่ด้วยการเปลี่ยนชื่อเมือง บังคับไม่ให้เด็กไทใหญ่ได้เรียนภาษาไทใหญ่ ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่ บังคับไม่ให้ดำเนินกิจกรรมตามประเพณีไทใหญ่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหมือนการกดอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่



เขตแดนถิ่นฐานที่ชัดเจน
ชนชาติไทใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณรัฐฉานของสหภาพพม่ามาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่6 ไทใหญ่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์มาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณ แม้กระทั่งในช่วงอังกฤษปกครอง รัฐฉานก็ยังคงมีเจ้าฟ้าดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุด และมีการจัดการปกครองแต่ละระดับท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

ประวัติศาสตร์สนธิสัญญาปางโหลง
ในปี1947 ไทใหญ่ กะฉิ่น ฉิ่น ได้ดำเนินการร่วมกันจัดทำข้อตกลงสัญญาปางหลวงที่เมืองปางหลวง รัฐฉาน เพื่อจัดตั้งสหพันธรัฐเทือกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อขอเอกราชจากอังกฤษ ต่อมานายพล อองซาน ได้เข้าร่วมประชุมและแก้ไขข้อตกลง จนสนธิสัญญาปางโหลงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า โดยมีสาระสำคัญคือ เมื่อครบ10 ปี ไทใหญ่ กะฉิ่น ฉิ่น สามารถแยกตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งประเทศของตนเป็นเอกราชได้ซึ่งเป็นพันธะผูกพันตั้งแต่สัญญาปางโหลง แต่กลุ่มของนายพลเนวิน กลัวว่าต้องทำตามสัญญา จึงได้ลอบสังหารนายพลอองซาน ภายหลังสหภาพพม่าได้รับเอกราช รัฐบาลพม่าก็ไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาปางโหลง
ประวัติศาสตร์สัญญาปางโหลงจึงเป็นสิ่งที่กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ให้ความสำคัญอย่างมาก ว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าเอกราชของไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม


by NuPig




 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 14 ธันวาคม 2554 23:59:20 น.   
Counter : 305 Pageviews.  


Myanmar in trouble



พายุที่ซัดเข้ากรุงย่างกุ้งอย่างรุนแรงนี้ แน่นอนว่ามันได้สร้างความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนชาวพม่าอย่างมหาศาล และด้วยระบบการเมืองของพม่าทีเป็นเช่นนี้ กลับทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ประชาชนเกิดความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่บางที พายุนี้อาจจะกำลังสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดแก่สหภาพพม่า และ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยและถูกกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาลทหารพม่า ก็เป็นได้

ใช่ ...รัฐทุกรัฐมีพรมแดนของตนเอง มีอธิปไตยที่รัฐอื่นๆ ไม่อาจก้าวล่วงล้ำไปได้ ..แต่ภัยธรรมชาติ ไม่ได้รู้จักคำๆนี้ เพราะพรมแดนและอธิปไตยเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ...เมื่อรัฐไม่อาจจัดการกับภัยธรรมชาติได้เอง ...ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดให้นานาชาติเข้ามามีบทบาทในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศที่ปิด

นักสิทธิมนุษยชนควรใช้โอกาสนี้แอบแฝงเข้าไปเจาะลึกถึงความปวดร้าวของชาติพันธุ์ต่างๆที่อยู่ในพม่า และโลกจะได้รับรู้ถึงความจริงอันโหดร้ายมากกว่าปัจจุบันนี้

ประเทศมหาอำนาจและองค์กรระหว่างประเทศควรใช้โอกาสนี้เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายใน หยุดเผด็จการทหารพม่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ครอบครองอำนาจจนไม่ให้สิทธิแก่ประชาชนในพื้นที่

จุดที่สำคัญคือ ต้องคำนึงถึงสิทธิของชาติพันธุ์ทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในสหภาพพม่า อย่างเท่าเทียมตามความเหมาะสม ...ควรจะย้อนไปมองถึงประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเพิ่งได้เอกราชจากอังกฤษ อย่างเรื่องสนธิสัญญาปางโหลง

จุดสังเกตอย่างหนึ่ง ...เชื้อชาติที่สูญเสียมากที่สุดในเหตุการณ์พายุครั้งนี้ คือ เชื้อชาติพม่าเอง ...บริเวณที่โดนพายุ ไม่มีบริเวณที่ตั้งรกรากของเชื้อชาติอื่นๆเลย ... และจุดสังเกตอีกอย่างนั้น ..การย้ายเมืองหลวงของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ ...เกี่ยวข้องกับการรู้ล่วงหน้าหรือไม่ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ...

พายุนาร์กีสไม่น่ากลัวเท่า พายุทางการเมืองที่กำลังจะเกิดในไม่ช้านี้หรอก ..




 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2562 5:03:30 น.   
Counter : 73 Pageviews.  



puppyyo
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่รู้จักโตเสียที
[Add puppyyo's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com