ณ วัง...ปารุสก์ (ตำหนักจิตรลดา)




ข้าพเจ้ารักวังปารุสก์อย่างที่สุดเหลือที่จะหาคำใด
มาอธิบายให้ตรงกับใจจริง ๆ ได้
ทั้งนี้มิใช่เพราะที่นั่นใหญ่โตหรูหราอย่างใด
ความจริงข้าพเจ้ารักวังปารุสก์
เพราะเป็นบ้านที่ข้าพเจ้าเกิดและได้เติบโตขึ้น


เกิดวังปารุสก์ หน้า ๓๘

ต้องออกตัวก่อนว่าฉันเป็นคนเบาปัญญาทางด้านประวัติศาสตร์ อาจมีถูกบ้างผิดบ้าง
ขอความกรุณาช่วยท้วงติงหรือเพิ่มเติมข้อที่อาจคลายสงสัยได้บ้างจะขอบพระคุณยิ่ง.



ฉันได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม ตำหนักจิตรลดา ณ วังปารุสกวัน
เดิมทีตั้งใจ
เข้าชมตัววังปารุสก์ แต่ติดที่ไม่ได้ทำเรื่องติดต่อมาล่วงหน้า
อนึ่ง วังปารุสก์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยข่าวกรอง
ถ้าจะเข้าไปชมคงจะผิดวัตถุประสงค์ที่จะเรียนรู้
จึงได้แต่แอบเมียงมองอยู่ห่าง ๆ



จากการสอบถาม ถ้าใครสนใจเยี่ยมชมติดต่อได้ทาง พิพิธภัณฑ์ตำรวจ
วังปารุสกวัน เพื่อทำเรื่องขอเยี่ยมชม โดยมีกำหนดผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ
ประมาณ 15 คน**


ตำหนักจิตรลดา ตั้งอยู่บริเวณทางทิศเหนือภายในวังปารุสกวัน
รัชกาลที่ 5
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือ ร.6) ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญ ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2449



(บริเวณด้านข้างของตัวตำหนัก - แอบถ่ายจากติดกระจก บรรยากาศอาจหลอนนิดนึง)



(บริเวณด้านหลังของตำหนัก - เป็นอาคารแบบอิตาเลียนวิลล่าสูง ๒ ชั้น ไดรับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบสติลลิเบอร์ตี้ของอิตาเลียน)


ภายในมีการออกแบบตกแต่งสไตล์อาร์ตนูโวและศิลปะแบบบาโรกและรอกโคโค
อันเป็นศิลปะสมัยใหม่ที่กำลังนิยมในยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
และส่งอิทธิพลเข้ามาในสยามประเทศ



(บริเวณระเบียงด้านนอก)



(ลวดลายตรงมุมเพดาน - เจ้าหน้าที่อธิบายว่าแต่ก่อนเส้นสีทองเป็นทองคำเปลว แต่ตอนหลัง
ทำการบูรณะจึงขออนุญาติทางกรมศิลป์เปลี่ยนเป็นทาสีทองแทน เพื่อให้ง่ายแก่การดูแล)


ก่อนเดินชมด้านใน เจ้าหน้าที่ให้ดูวิดีทัศน์เกี่ยวกับตำหนักจิตรลดาเสียก่อน
ซึ่งเป็นสื่อที่ใช้ได้ดีมาก มีการบรรยายละเอียดเหมาะสำหรับผู้อยากมาชื่นชม
ทางด้านศิลปะ และสถาปัตยกรรมในการสร้างวังที่รับรูปแบบอิทธิพลตะวันตกเข้ามา

ด้านในจะมีรูปและคำบรรยายติดอยู่ตรงผนัง เป็นแผนที่ทางไปวังต่าง ๆ
บ้างก็รูปแบบศิลปะ และมีตัวจำลองขนาดพื้นที่ของวังปารุสกวันด้วย






(จำลองพื้นที่ของวังปารุสกวัน - แต่เดิมตำหนักจิตรลดา ร.5 สร้างให้ป็นที่ประทับของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือ ร.6) หลังจากพระองค์
เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ และย้ายไปประทับพระราชวังดุสิตแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ
ให้รวมตำหนักทั้งสองเข้าเป็นบริเวณเดียวกันและพระราชทานให้เป็นวังที่ประทับ
ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทั้งหมด)


ข้อนี้มีอธิบายใน "เกิดวังปารุสก์" ดังว่า


"เมื่อทูลหม่อมลุงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ท่านก็ได้ทรงย้ายจากตำหนักจิตรลดาไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง
หรือพระราชวังดุสิต การสร้างตำหนักที่วังจันทร์ก็เป็นอันเลิก
พ่อก็ควรจะได้รับเงินตามธรรมเนียม เพื่อสร้างวังของท่านที่ท่าวาสุกรี
และวังนั้นคงจะได้รับนามว่า วังพิษณุโลก เช่นเดียวกับ วังสุโขทัย
หรือ วังเพ็ชรบูรณ์ ที่มีต่อมาภายหลัง
     แต่บังเอิญทูลหม่อมลุงทรงอยากจะได้ที่ริมแม่น้ำสร้างท่าวาสุกรี
และพ่อก็อยากจะอยู่ที่วังปารุสก์ต่อไป เพราะท่านก็สบายของท่านอยู่แล้ว
ทูลหม่อมลุงและพ่อจึงทรงทำการตกลงกันอย่างฐานพี่น้อง พ่อถวายที่
ท่าวาสุกรี และทูลหม่อมลุงทรงยกตำหนักจิตรลดาและที่ดินรอบ ๆ นั้น
ให้พ่อ ตกลงให้ทำบริเวณใหญ่ทั้งหมด โดยมีถนนรอบทั้งสี่ด้านเป็นวังปารุสก์"
(เกิดวังปารุสก์ หน้า ๓๗ - ๓๘)



ถัดจากนั้นไปจะได้ดูห้องที่ใช้เป็นที่ประชุมในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร



ตอนก่อนชึ้นชมชั้น ๒ บันไดทางด้านหน้าตำหนักเป็นบันไดสำหรับทางขึ้น
ของเจ้าของตำหนัก
ผู้รับใช้หรือคนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ขึ้นทางนี้ ปัจจุบันนำทางลาดพระบาทออกแล้ว




(ราวบันไดทางขึ้น - เจ้าหน้าที่ให้สังเกตว่าจะมีตราวชิราวุธอยู่ตรงบริเวณราวบันได)


ด้านบนชั้น ๒ เดิมเป็นกว้างสำหรับรับแขกและเป็นห้องเต้นรำเมื่อครั้งมีงาน แต่ภายหลังกั้นห้องเสีย
โดยครั้งสมัยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถสิ้นพระชนม์
ได้ตั้งพระโกศบำเพ็ญพระกุศล

บริเวณนี้ ดังปรากฏใน "เกิดวังปารุสก์" ว่า


"...ครั้นถึงที่วัง ตั้งพระโกศในห้องเต้นรำใหญ่ที่เรือนรับแขก
เพดานสูงไม่พอ ต้องเจาะสำหรับยอดโกศ"

(เกิดวังปารุสก์ หน้า ๑๔๘)




      ปัจจุบัน บริเวณเพดานที่ต้องเจาะสำหรับตั้งพระโกศ ร.6 ทรงให้ปิดบริเวณนั้นเสีย
และที่ตรงนี้เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่ายังเป็นที่ตั้งพระโกศของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ด้วยเช่นกัน



(ภายในตำหนักยังมีรูปของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ที่ฉายร่วมกับหม่อมแคทรีนและทูลหม่อมหนู)


นอกจากนั้นยังมีจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวของเราชาวไทย
และยังสามารถเข้าเยี่ยมชมตึกกระจกที่อยู่ด้านหลังตำหนักจิตรลดา เพื่อชมประวัติ
เรื่องราวความเป็นมาของตำรวจไทยได้ด้วยค่ะ

   ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน เปิดให้เข้าชมวันพุธ - วันอาทิตย์
เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 - 16.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด

มีข้อแนะนำเสียหน่อยสำหรับผู้เข้าชม ควรอ่านหนังสือ "เกิดวังปารุสก์" ไปก่อน เพื่อที่จะได้
อรรถรสและนึกภาพตามได้อย่างอัศจรรย์ใจ.





Create Date : 02 เมษายน 2559
Last Update : 2 เมษายน 2559 23:40:33 น.
Counter : 5807 Pageviews.

3 comments
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 3 เมษายน 2559 เวลา:2:25:50 น.
  
ขึ้นต้นมาเหมือนดูละครเลยครับ ไม่ยักรู้ว่าสวนจิตรเปิดให้เข้าชมด้วย ขอบคุณที่พาเที่ยวครับ จดๆๆ ที่เที่ยวใหม่!
โดย: ไอฟายน้อย (Ces ) วันที่: 3 เมษายน 2559 เวลา:22:00:04 น.
  
สวยงามที่สุดคราบ
โดย: ทนายอ้วน วันที่: 4 เมษายน 2559 เวลา:4:26:01 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กาลกีรติ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



เมษายน 2559

 
 
 
 
 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30