ชีวิตเป็นของน้อย เร่งทำธรรมให้แจ้ง

แบกกลด วิเวก ป่าใหญ่







มีสถานที่ แห่งหนึ่ง ซึ่งสงบ
ผมได้พบ หลายปี ดีนักหนา
ณ.ที่นั้น ตั้งอยู่ กลางพนา
ใช้เวลา เดินทาง ไม่ห่างไกล
เป็นเขาสูง ป่าใหญ่ สมบูรณ์นัก
เข้าไปพัก วิเวก อุเบกขา
มีเหล่าสัตว์ น้อยใหญ่ เหลือคณา
เช้าขึ้นมา ฝูกนกเงือก เลือกหากิน
สถานที่ อย่างนี้ สัปปายะ
ใครคิดจะ ปลีกวิเวก น่ามีผล
ผมพาพระ พาโยม ไปหลายคน
ใครได้ยล เป็นชอบ ตอบว่าดี
ห่างกรุงเทพฯ เพียงร้อย กิโลนับ
ไปแล้วกลับ บ้านสบาย ใจสุขขี
แต่ที่นั่น ไฟฟ้า ไม่ทันมี
ยังเป็นที่ เหมือนดงดิบ แต่ปลอดภัย
มีกุฏิ ให้พัก มีน้ำตก
ข้าวหาไป หุงตาม อัชฌาสัย
เตรียมเสบียง น้ำดื่ม ติดขึ้นไป
อยู่ที่ไหน ถามมา จะตอบพลัน



นับแต่ข้อความข้างบน
ปรากฎกระทู้เก่าเมื่อปี ๒๕๔๕
เล่าเรื่องป่าที่น่าไปวิเวก
ก็ต้องตอบคำถามเรื่อยมา

ป่านี้อยู่ไหน ไปอย่างไร ขออนุญาตใคร ต้องเตรียมอะไรบ้าง

น่าชื่นใจ ที่ยังมีผู้ใฝ่หาทางสงบ
หาสถานที่ปลีกวิเวก
อาศัย ความสงัด ค้นหา ตัวตน





 

Create Date : 01 กันยายน 2553    
Last Update : 3 กันยายน 2553 7:32:18 น.
Counter : 933 Pageviews.  

ได้อะไร จากการไปวิปัสสนา ๑๐ วัน

ข้อเขียนของ คุณมงคล กริชติทายาวุธประธานชมรมศาสนาและการกุศล
สารชมรมศาสนาและการกุศล เรื่องที่ 425...ได้อะไรในการไปวิปัสสนา



Photobucket

Photobucket

Photobucket




ได้อะไร ในการไปวิปัสสนา



1.สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการไปวิปัสสนา

ในทันทีที่ข้าพเจ้าได้เข้าสู่บริเวณ
ศูนย์ปฏิบัติธรรมสุวรรณา จ.ขอนแก่น
ข้าพเจ้ารู้สึกได้ทันทีว่า

เหมือนได้มาอยู่ในอีกโลกๆ หนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่โลกมนุษย์ในปัจจุบัน

เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความ ร่มรื่น สงบเย็น
ธรรมบริกรให้การต้อนรับ
ด้วยการยกมือไหว้อย่างนอบน้อม สวยงาม
พร้อมกล่าวทักทายต้อนรับด้วยด้วยมิตรไมตรี
ด้วยรอยยิ้มอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา
ต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เมื่อวันแรกผ่านพ้นไป
ยิ่งทำให้ข้าพเจ้า รู้สึกราวกับว่า ได้มาอยู่ ในดินแดนแห่งพรหมโลก

ตลอดระยะเวลา 10 วัน
ทั้งอาจารย์ผู้ฝึกสอน ธรรมบริกร
และผู้เข้าฝึกอบรมปฏิบัติธรรมทุกคน ล้วนอยู่ในอาการสงบเงียบ
ไม่ได้ยินเสียงพูด เสียงคุย เสียงหัวเราะ เสียงร้องไห้
ของผู้ปฏิบัติแม้แต่คนเดียว

ทุกคนล้วนตั้งมั่นในความสงบ
มีสติ สัมปชัญญะ มีอุเบกขา
และยึดมั่นในศีลทั้ง 5 ข้อ เป็นอย่างดี

นับว่าเป็นความโชคดี
และมหาอานิสงค์อันประเสริฐยิ่งของข้าพเจ้า
หาสิ่งใดมาเปรียบปานมิได้เลย

แม้จะเปรียบว่า
การได้สร้างมหาเจดีย์ทองคำมาหลายชาติ
อันเป็นมหาอานิสงค์อันยิ่งใหญ่ฉันใด

ยังไม่อาจเปรียบได้กับอานิสงค์
จากการได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในครั้งนี้ได้เลย

เพราะทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ ได้เข้าใจ ได้สัมผัส
กฎความจริงของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
ด้วยประสบการณ์จริงล้วนๆ ด้วยตนเอง

มิใช่เพียงได้ยิน หรือได้เรียนรู้จากตำรามา
แต่นี่เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้สัมผัสความจริง ล้วนๆ ด้วยตนเอง

จึงเป็นความรู้ที่ก่อเกิดปัญญา
อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา
หลุดพ้นจากความทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวง
หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร
(ความทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิดครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่สิ้นสุด)

บรรลุธรรมอันประเสริฐ เข้าสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์
สู่ดินแดนแห่งพระนิพพาน
ดินแดนอัน พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระอรหันต์ทั้งหลายได้เข้าถึงแล้ว

และรอคอยสรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากความทุกข์
และเข้าสู่มหาอมตนิพพาน ด้วยความรัก ความเมตตา สงสาร
มิอาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้เลย


ในอดีต นับตั้งแต่จำความได้
เรื่อยมาจนถึงก่อนเข้าอบรมวิปัสสนา
ข้าพเจ้าพยายามดิ้นรน
ไขว่คว้าหาความสุขความเพลิดเพลิน
ความปิติยินดี สิ่งที่ชอบที่ถูกใจ
และพยายามเสือกไส ผลักดัน
ไม่รับเอาสิ่งที่เป็นความทุกข์ทั้งหลายออกไปให้ได้มากที่สุด
เท่าที่ความสามารถในขณะนั้นๆ พึงกระทำได้

แต่จนแล้วจนเล่า
ก็ไม่เห็นความทุกข์หดหายไปจากตัวเราเลย
ตรงข้ามยิ่งทวีความรุนรนแรง แตกแขนง
แยกออกเป็นสาขาความทุกข์อย่างมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับความสุขก็มิเคยได้พบความสุขที่แท้จริงเลย

มีแต่ความอยากความกระหายในสิ่งที่ชอบใจไม่มีที่สิ้นสุด
และเมื่อได้สิ่งที่ต้องการมาแล้วความสุขก็มิได้จีรังยั่งยืน
รู้สึกเบื่อหน่ายอยากจะผลักหนีออกไป
อยากได้สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมอีก

ซึ่งล้วนแฝงด้วยความทุกข์ที่จะตามมาในภายหลัง
ซึ่งไม่เห็นมีความสุข ความชอบใจสิ่งใดเลยที่เป็นนิรันดร์
ล้วนแล้วแต่แฝงไว้ด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น

เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ามาสู่ดินแดนแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
ดินแดนแห่งการปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า
จึงได้พบสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ ได้พบกฎธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
พบกฎของไตรลักษณ์(กฎความจริงตามธรรมชาติอันประเสริฐ 3 ประการ)
อันได้แก่

อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

อนิจจัง คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งปวง
สิ่งใดก็ตามเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น
เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดเปลี่ยนแปลงและดับไป
สิ่งนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงและดับไปเป็นธรรมดา

ดังเช่น ร่างกายของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย
ล้วนประกอบปรุงแต่งด้วย ด้วยธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ
- ธาตุดินก็ได้แก่ เนื้อหนัง เอ็น กระดูก
ขน เล็บ ฟัน ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น
- ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำเลือด น้ำหนอง
น้ำมูก น้ำตา น้ำเหลือง น้ำอสุจิ เป็นต้น
- ธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ลมตีขึ้นข้างบน ลมตีลงด้านล่าง เป็นต้น
- ธาตุไฟ ได้แก่ อุณหภูมิภายในร่างกาย ความอบอุ่น
ความร้อน ในร่างกาย เป็นต้น

ธาตุทั้งสี่นี้จะปรุงแต่งรวมตัวกัน ในสภาวะที่เหมาะสม
เกิดเป็นร่างกายของมนุษย์แลสัตว์
เป็นแขน ขา หู ตา จมูก ลิ้น ผิวกาย
และเมื่อมีธาตุรู้ คือจิตเข้ามาผสมโรง
รับรู้ความรู้สึกต่างๆ ขึ้น จึงเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต
ที่เราสมมุติว่า เป็น มนุษย์ เทวดาเป็นสัตว์
เป็นหมู หมา เป็ด ไก่ ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย
หรือสัตว์นรก ล้วนแต่อนิจจัง
เมื่อร่างกายก่อเกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่ง ก็จะตั้งอยู่ระยะหนึ่ง
แล้วก็ค่อยๆ เสื่อมสลาย และดับไปในที่สุด
ไม่มีสรรพสัตว์ใดๆ คงสภาพอยู่อย่างนิรันดร์
ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งหมดทั้งสิ้น

มนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมี แก่ เจ็บ และในที่สุดก็ต้องตาย
แล้วก็เกิดใหม่ตามกฎธรรมชาติ หมุนวนเป็นลูกโซ่ ไม่มีที่สิ้นสุด
พระพุทธองค์เรียกว่า "วัฏฏสงสาร"

ทุกขัง คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้
ไม่ว่ามนุษย์แลสัตว์ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง

หากยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตน เป็นของๆตน
แต่แล้ววันหนึ่งมันก็ต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย หรือดับไป
เช่น เมื่ออายุมากขึ้นใบหน้าเหี่ยวย่นก็เกิดความเสียใจ
เมื่อใดที่สีผมเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาว ก็เกิดความเศร้าสลดใจ
เมื่อฟันมันโยกคลอนก็ทุกข์เพราะเจ็บปวด ฯลฯ
ทุกอย่างทนอยู่สภาพเดิมมิได้
เราต้องเข้าใจ และตระหนักในสิ่งดังกล่าว

อนัตตา คือความไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีแก่นสาร
ของสรรพสิ่งทั้งปวง ดังที่กล่าวมาแล้ว
คือ ร่างกายของมนุษย์แลสัตว์ ล้วนไม่ใช่ตัวตน ไม่มีแก่นสาร

เพราะประกอบด้วยธาตุต่างๆ มารวมตัวกันจึงเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต
ซึ่งเรามาสมมติเอาเองว่า นี่คือมนุษย์ นี่คือสัตว์ นี่คือผู้หญิง นี่คือผู้ชาย
ครั้นมาพิจารณาดู ธาตุต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายบ้าง
เช่นธาตุดิน ก็ประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ อีกจำนวนมาก
เช่นฝุ่นละออง เหล็ก แคลเซี่ยม วิตามิน ไขมัน อื่นๆอีกมากมาย
ธาตุอื่นๆก็ล้วนแต่ประกอบขึ้นด้วยอนูเล็กๆอยู่จำนวนมาก เช่นกัน
จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเขาหรือตัวใคร ของใครทั้งสิ้น
ล้วนแต่เป็น อนูเล็กๆ พลุกพล่าน เกิดดับๆๆ อยู่ตลอดเวลา

มันเป็นกฎธรรมชาติ เป็นสัจธรรม เกิดขึ้นเอง มีเอง ในธรรมชาติ
มิได้มีผู้ใดเป็นคนสร้าง หรือเป็นผู้วางกฎความจริงนี้ไว้
พระพุทธเจ้า ก็มิใช่ผู้ตั้ง ผู้บัญญัติกฎของไตรลักษณ์นี้ขึ้นแต่อย่างใด
เป็นแต่เพียงพระองค์เป็นผู้ค้นพบกฎความจริงดังกล่าว

มาตีแผ่ให้มนุษย์ เทวดา สรรพสัตว์อื่นๆ
ได้รู้ได้เข้าใจในกฎความจริงอันนี้เท่านั้น
เมื่อกฎของความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันมีอยู่อย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้
ใครจะดัดแปลง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ไม่ได้
หากผู้ใด บุคคลใด หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
ว่ามันเป็นตัว เป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราหรือของเขาเมื่อใด
บุคคลผู้นั้นย่อมมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
เวียนว่ายตายเกิดในภพแล้วภพเล่า
พบกับความทุกข์ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด

ตรงข้ามหากผู้ใด บุคคลใด สัตว์เหล่าใด
เห็นความจริงและเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอนุสัย
เป็นอาสวะกิเลศที่นอนเนื่องในจิตไร้สำนึก
หรือที่เรียกว่าสัญชาติญาณนั้น

ให้ค่อยๆหลุดลอก จางหายไป
จนกิเลศทั้งหลายทั้งปวงหมดสิ้นจาก ทั้งจิตไร้สำนึก จิตใต้สำนึก
รวมทั้ง จิตสำนึก แล้ว

เขาย่อมหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
หลุดพ้นจากวัฏฏสงสาร บรรลุมรรคผลนิพพาน
ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

และมีกฎธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เคยเห็น
จากประสบการณ์ในอดีตมาก่อนเข้าร่วมวิปัสสนาในครั้งนี้

นั่นคือ
การกำจัดกิเลส ด้วยอุเบกขา
กิเลส ของมนุษย์ มีทั้งกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด

กิเลสอย่างหยาบ สามารถกำจัดด้วยศีล
การรักษาศีล เช่นศีล 5 ก็จะสามารถกำจัดการกระทำบาปอกุศลต่างๆ
เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การพูดปด การประพฤติผิดในกาม
การเสพสิ่งเสพติด เป็นต้น
ศีลยิ่งรักษาได้มากข้อเพียงใด
ยิ่งทำให้กิเลสอย่างหยาบหลุดล่วงไปได้มากเพียงนั้น
ผู้รักษาศีลอยู่เป็นนิจ ย่อมเป็นผู้ไม่เสื่อม
ย่อมพบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป

กิเลสอย่างกลาง กำจัดด้วยสมาธิ
เมื่อจิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่น มีความสงบนิ่งอยู่ไม่ซัดส่าย
ไม่คิดปรุงแต่งต่อกิเลสทั้งหลาย ย่อมกำจัดกิเลสอย่างกลางได้

และ จะข่ม กดไม่ให้อาสวะกิเลสที่นอนเนื่องในอนุสัย
ในจิตไร้สำนึกบางส่วนไม่ให้ก่อความทุกข์ได้

เช่นเมื่อจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น มีอุเบกขาเป็นอารมณ์
ไม่มีอารมณ์อื่นใดเข้ามากวน ไม่มีความรู้สึกสุข ทุกข์
วางเฉยเป็นกลางๆอยู่

จิตที่เป็นอุเบกขานี้ย่อมกำจัด ความรักใคร่ในกาม
ความง่วงเหงาหาวนอน ความพยาบาท
ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย เป็นต้น
แต่เมื่อใดที่ออกจากสมาธิ
อาสวะกิเลสเหล่านี้ก็โผล่ขึ้นมาเล่นงานได้

กิเลสอย่างละเอียด เช่นความยึดมั่นถือมั่นร่างกายและจิตใจว่า
เป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา ของเขา
ความกลัว ความรู้สึกสุข
อวิชชาหรือความไม่รู้ในความเป็นจริงของธรรมชาติ ฯลฯ
ลำพังศีล และสมาธิ ไม่สามารถที่จะกำจัดออกได้

เนื่องจากเป็นอาสวะกิเลสที่ฝังแน่น ภายใต้จิตไร้สำนึก
ที่แต่ละคนสะสมมาตั้งแต่อดีต
ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านภพ-ชาติมาแล้ว
จึงยากที่จะกำจัดออกได้โดยง่าย

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้มาด่าเรา ตัวเราจะรู้สึกโกรธขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว
และจะเกิดปฏิกริยาทางร่างกายโต้ตอบ
เช่นตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปวดตึงตามใบหน้า เป็นต้น

ความโกรธ เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณภายใต้จิตไร้สำนึก
จิตใต้สำนึกยังไม่รับรู้เลย
ต่อมาจิตใต้สำนึกจึงปรุงแต่งเป็นความต่อต้านขึ้น
เช่น ต้องตอบโต้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายๆวิธี เป็นต้น

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อตอนที่เรานอนหลับ
ถ้าร่างกายรู้สึกร้อนในขณะหลับ จิตไร้สำนึกจะสั่งให้ถอดเสื้อออก
หรือยันผ้าห่มออกไปจากร่างกาย หรือเวลามียุงมากัด
จิตไร้สำนึกจะสั่งให้ปัดยุง หรือตบยุง หรือเกาบริเวณที่ถูกกัดนั้น
จนเป็นรอยผื่นแดง

เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่า เสื้อหรือผ้าห่มหล่นไปกองอยู่ข้างเตียง
หรือมีรอยผื่นแดงและคันบริเวณที่ถูกยุงกัด
ทั้งๆที่ในขณะหลับอยู่นั้นเราไม่รู้สึกตัวเลยว่าได้ถอดเสื้อ
หรือยันผ้าห่มออกไป หรือเกา

เพราะจิตสำนึกมันหลับอยู่
ต่อเมื่อตื่นนั่นแหละจิตสำนึกมันจึงจะทำงานรับรู้ต่อไป
จะเห็นได้ว่ากิเลสที่เกิดภายใต้จิตไร้สำนึกนี้
ยากต่อการกำจัดออกไปได้
จึงต้องใช้ปัญญาที่เกิดจากการได้สำผัสจริงๆ ด้วยตนเอง
จึงจะกำจัดได้

เช่น เมื่อยังเด็กเรายังไม่รู้ว่า โทษของกระแสไฟฟ้ามันเป็นอย่างไร
ก็เล่นซุกซน เอาไม้ไปเสียบ เอามือไปแหย่ปลั๊กไฟ
จนเกิดไฟฟ้าช็อต รู้สึกเจ็บปวด
จิตไร้สำนึกจะสั่งให้รีบเอามือออกจากปลั๊กไฟทันที

และต่อมาความจดจำอย่างฝังใจจะบังเกิดขึ้น ปัญญาจึงเกิดขึ้น
เราจะไม่กล้าเอามือไปแหย่ให้ไฟช็อตอีกเลย
ตราบเท่าที่ยังมีสติจำความได้
จึงเป็นปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์จริงๆ ได้สัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ

เช่นเดียวกัน เมื่อจิตมีสมาธิตั้งมั่น
ก็จะเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ของขันธ์ ทั้ง 5
คือ รูป (ร่างกาย)
เวทนา (ความรู้สึกทุกข์ สุขหรือเฉยๆ)
สัญญา (ความจำได้หมายรู้)
สังขาร(ความปรุงแต่งต่างๆ)
วิญญาณ(ความรับรู้อารมณ์ต่างๆ)

เมื่อเห็นแล้วก็วิปัสสนาหรือพิจารณาอย่างแยบคาย ให้เห็นโดยละเอียด
เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร เกิดดับๆๆ
เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวอึดอัด แน่นตึง มึนชาตัวสั่น ตรงนั้นตรงนี้อยู่ตลอดเวลา
ร่างกายทุกส่วนล้วนเกิดดับๆๆ เปลี่ยนแปลง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตลอดเวลา
เมื่อเห็นดังนี้ ปัญญาจึงเกิด จะค่อยๆคลายความยึดมั่นถือมั่นลงไป
จนกระทั่งหมดไปในที่สุด

และเมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆ จะเห็นว่า
เมื่อเราเกิดความกลัว โกรธ พยาบาท หรือไม่ชอบใจเกิดขึ้น
ลมหายใจจะแรง ถี่ รู้สึกเจ็บปวด อึดอัด แน่นตึง ตัวสั่น
ตามส่วนต่างๆของร่างกาย
และเมื่อสังเกตดูด้วยใจที่เป็นกลาง(อุเบกขา)
ไม่ปรุงแต่งตอบโต้ปฏิกริยาเหล่านั้น
ความเจ็บปวด แน่นตึง อาการต่างๆจะตั้งอยู่ระยะหนึ่ง
และค่อยๆดับไปในที่สุด
สักพักก็จะเกิดขึ้นที่จุดเดิมหรือจุดอื่นๆ อีก
ไม่เหมือนเดิม และค่อยๆดับไป เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อเราเฝ้าดูอาการต่างๆที่เกิดขึ้นตามร่างกาย(เวทนา) ไปเรื่อยๆ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นอุเบกขา
ไม่ต่อต้าน หรือยินดี ในความทุกข์
หรือความสุขที่เกิดขึ้นนั้นๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

จนในที่สุดเวทนา ความรู้สึกต่างๆ จะหายไป
ไม่มีความเจ็บปวด ความอึดอัดแน่นตึงหายไป

มีความรู้สึกเบาสงบ เย็นสบาย เกิดปิติปราโมทย์ขึ้น
อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต ปัญญาจึงเกิดขึ้น

เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้น อาการทางร่างกายจะปรากฏเป็นความเจ็บปวด
ความอึดอัด แน่นตึง ตัวสั่น หรือเย็นสบาย
และหากเฝ้าดูด้วยจิตที่เป็นกลาง(อุเบกขา)
กิเลสที่เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะค่อยๆหลุดออกไป ระลอกแล้วระลอกเล่า
ไม่อาจกล่าวได้ว่ากี่ชั่วโมง กี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี กิเลสจึงจะหมด
ขึ้นอยู่กับความเพียรปฏิบัติ
และความแน่นหนาของกิเลสในแต่ละบุคคล

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเจ็บปวด หรือแน่นตึง มึนชา หรือตัวสั่น
ในขณะที่จิตมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ ก็แสดงว่าอาสวะกิเลส
อันได้แก่ ความกลัว ความโกรธ ความพยาบาท ความหลง ฯลฯ
ที่ตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิตไร้สำนึก

ได้ถูกเขย่าให้หลุดลอยขึ้นมาเหนือผิว
และหากเราเพียงแต่คอยเฝ้าสังเกตดูเฉยๆ
ด้วยใจที่เป็นกลาง (อุเบกขา)
อาการต่างๆที่เกิดขึ้นทางร่างกาย ก็จะค่อยๆดับไป

นั่นแสดงว่า อาสวะกิเลสได้หลุดออกไปจากจิตเราแล้ว 1 ครั้ง
และเมื่ออาการต่างๆเกิดขึ้นอีก
ก็เพียงแต่เฝ้าดูอีกด้วยใจที่เป็นกลาง เฉยๆ
ไม่ปรุงแต่ง ชอบหรือไม่ชอบ จนกระทั่งดับไป
เกิดแล้วดับๆๆๆ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า
กิเลสที่นอนเนื่องตกตะกอนอยู่ก็จะค่อยๆถูกกำจัดออกไป

หากเฝ้าปฏิบัติวิปัสสนาไปเรื่อยๆ โดยไม่ลดละความเพียร
ในที่สุดกิเลสที่นอนเนื่องตกตะกอนอยู่
ก็จะค่อยๆถูกกำจัดออกไปอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกัน เมื่อใดที่เรามีความรู้สึกสุข ปิติยินดี เบาสบายกาย
กิเลสในทางบวกอันได้แก่ ความรักใคร่ พอใจ ชอบใจ
ก็จะหลุดลอยขึ้นมาเหนือผิว
หากเพียงแต่เฝ้าดูอาการด้วยใจที่เป็นกลาง
ไม่ปรุงแต่งว่าชอบใจ พอใจ
อาการนั้นๆก็จะค่อยสงบลง และหายไป

ก็แสดงว่ากิเลสในทางบวกก็จะถูกกำจัดออกไป เช่นกัน
ความสุขทั้งหลายก็เป็นกิเลส ซึ่งจะก่อความทุกข์ตามมาเช่นกัน

ผู้ที่หวังหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
จำเป็นต้องละกิเลสทั้งความทุกข์
และความสุขให้หมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงจึงจะหลุดพ้นได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริงด้วยตนเอง
และความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟังมา
และจากการพินิจพิจารณาอย่างแยบคาย
และมีบางส่วนที่ไม่อาจจะอธิบายเป็นคำพูด หรือตัวหนังสือได้
เพราะธรรมชาติเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน

บางครั้งก็อยู่เหนือเหตุเหนือผลที่มนุษย์จะพึงหามาอธิบายได้
จึงมิอาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้เลย

นับเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่ ประเสริฐยิ่ง
ยิ่งกว่าการได้สร้างมหาเจดีย์ทองคำ
ครั้งแล้วครั้งเล่า ชาติแล้วชาติเล่า

มิเพียงแต่ข้าพเจ้าเองที่จะได้รับอานิสงส์นี้
ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เช่นท่าน มงคล กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส
ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายวินัยและสวัสดิการ คุณอนุสิทธิ์ ชมวงศ์
ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการนิติกรรมฯหนองคาย
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆท่าน ตลอดจนชาวกรุงไทยทุกคน
จะต้องได้รับอานิสงค์นี้เช่นกันไม่มากก็น้อย


สรุปสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเข้าไปวิปัสสนา

1. ได้ประพฤติพรหมจรรย์
อันได้แก่การรักษาศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์
2. ได้รู้ เข้าใจ ในความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อันได้แก่ กฎไตรลักษณ์ และการประหารกิเลสด้วยอุเบกขา
3. มีความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างหาประมาณมิได้
4. เป็นที่รักและเคารพต่อสุจริตชนทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย
5. ความทุกข์ทั้งปวงจะค่อยๆจางหายไป ความสงบสุขทั้งกายและใจจะเข้ามาแทนที่
6. ความมีสติ มีสมาธิ และอุเบกขา ต่อการประกอบกิจใดๆ ทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวันจะมีมากขึ้น
7. หลุดพ้นจากอบายภูมิ อันได้แก่ ภูมิของสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และสัตว์นรก
8. ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ย่อมได้รับความคุ้มครองจากพระรัตนตรัย เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง
9. ได้อานิสงค์อันยิ่งใหญ่ และประเสริฐยิ่งกว่า การได้สร้างเจดีย์ทองคำมาแล้วหลายภพหลายชาติ


2. สิ่งที่ธนาคารจะได้รับจากการให้พนักงานไปเข้าวิปัสสนา

1. ธนาคารฯ จะมีบุคคลากรที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ความรัก ความเมตตา
ความเสียสละ และให้อภัยต่อผู้อื่น เพิ่มขึ้น
2. ธนาคารจะไม่เกิดความเสียหายทั้งชื่อเสียง และทรัพย์สิน
จากผู้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนานี้ เพราะผู้ที่ผ่านการฝึกปฏิบัติในแนวนี้
ย่อมเป็นผู้ที่ยึดมั่นใน ศีล สมาธิ และปัญญา
ย่อมไม่เบียดเบียน รังแกผู้อื่น ไม่ทุจริตต่อหน้าที่
ย่อมเป็นผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความปรารถนาดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อองค์กร
3. ผู้ผ่านการปฏิบัติธรรมตามแนวนี้ ย่อมตระหนักถึงผู้มีพระคุณ
อันได้แก่องค์กร ลูกค้า ตลอดจนเพื่อนร่วมงานทุกคน
ย่อมประพฤติปฏิบัติตนในอันที่จะก่อประโยชน์ต่อองค์กร ต่อลูกค้า
และเพื่อนพนักงาน ทั้งต่อหน้าแลลับหลัง
ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
เช่น พนักงานผู้ที่ผ่านการวิปัสสนาย่อมพยายามเพิ่มประสิทธิภาพ
ในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นไป โดยไม่เรียกร้องหรือหวังสิ่งตอบแทน
4. ความขัดแย้งของบุคลากร จะลดลง ความสมัครสมานสามัคคีจะเข้ามาแทนที่
ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแนวนี้
(วิปัสสนาสากล ในแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า)
จะไม่สร้างความตึงเครียดภายในองค์กร จะไม่เอารัดเอาเปรียบ
โกรธ อาฆาตต่อเพื่อนร่วมงาน มีแต่ความเสียสละและให้อภัย
และปรารถนาดีต่อผู้อื่น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้
ล้วนเป็นความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ค้นพบ
และตรัสสั่งสอนไว้ เป็นกฎความจริงทางธรรมชาติ
ที่ไม่มีผู้ใดตั้งขึ้น บัญญัติขึ้น มันเป็นเอง มีขึ้นเองตามธรรมชาติ
เป็นปัจจัตตัง ผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ย่อมรู้เอง
เห็นเอง
ผู้ไม่ปฏิบัติจะเห็นธรรมะได้อย่างไร เปรียบเสมือนมีคนมาบอกว่า
ส้มลูกนี้หวานนะ หากเราไม่ลองชิมดูจะทราบได้อย่างไรว่ามันหวาน
มันอาจจะเปรี้ยว ขื่นขม หรือเป็นอย่างอื่นก็ได้
ต่อเมื่อเราได้ชิมแล้วจึงรู้ว่า โอ้ส้มลูกนี้หวานจริงหนอ
หรือโอ้ นี่เราถูกหลอก มันเปรี้ยวต่างหาก อย่างนี้เป็นต้น
เฉกเช่นเดียวกับธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน
พระองค์ได้ทดลองปฏิบัติ ได้รับรสของธรรมะแล้ว
จึงได้ตรัสสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
ผู้ใดประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้ว
ย่อมถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน
ผู้ที่รู้แล้วแต่ไม่ยอมทดลองปฏิบัติเลย ย่อมไม่เห็นสัจจธรรม
จะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไร

ข้าพเจ้า เป็นเพียงผู้หนึ่งซึ่งศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์
แม้จะได้เพียรปฏิบัติมาบ้างแล้วหลายปี แต่ยังไม่มีวี่แววที่จะเกิดปัญญา
เห็นความจริงของธรรมชาติด้วยประสบการณ์จริง
แม้จะรู้ว่าร่างกายมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็เพียงได้อ่านได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น

แต่เมื่อได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าแล้ว
รู้สึกตรงกับจริตของตนเอง
จิตมีสมาธิ ตั้งมั่น และมีอุเบกขาเร็วกว่าที่เคยปฏิบัติมา
อีกทั้งได้สัมผัสความเป็นอนิจจังของสังขาร
ด้วยประสบการณ์จริงข้าพเจ้าจึงแน่ใจแล้วว่า
แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง
เป็นแนวทางที่ข้าพเจ้าพึงยึดถือปฏิบัติต่อไป
จนกว่า ขันธ์ 5 จะแตกสลายไป
และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
จึงได้แสดงความคิดเห็นมาค่อนข้างยาวนี้เพื่อเป็นธรรมทาน
ขอเพื่อนชาวธนาคารกรุงไทยทั้ง-หลาย
มนุษย์ทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
ขอให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
ขอให้อย่าได้มีความลำบากกาย ลำบากใจเลย
ขออย่าได้มีเวรมีภัยต่อกัน และกันเลย
ขออย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
ขอให้มีโอกาสได้ข้ามพ้นวัฏฏสงสาร เทอญ...


_/_ _/_ _/_ _/_ _/_ _/_ _/_




 

Create Date : 11 มีนาคม 2552    
Last Update : 11 มีนาคม 2552 5:31:27 น.
Counter : 920 Pageviews.  

กฏระเบียบของการอบรมวิปัสสนา

คำแนะนำในการเข้าอบรม

วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน
ที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย
ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน
แต่ก็ได้กลับมาค้นพบ อีกครั้ง
โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว
วิปัสสนาหมายถึง "การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง"
อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง
เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ
เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติที่มั่นคง
เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกต
ถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต
ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากลคือ
ได้เห็นความไม่เที่ยง(อนิจจัง)
ความทุกข์ (ทุกขัง)
และความไม่มีตัวตน (อนัตตา)
การที่ได้ รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้
จากประสบการณ์ของท่านเองโดยตรง
จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์
ธรรมะเป็นเรื่องสากล
มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหา ต่างๆ ที่เป็นสากล
มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคน
จึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี
โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อ ชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา
ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน

วิปัสสนานั้นมิใช่เป็น

พิธีกรรมที่มีพื้นฐานทาง ความเชื่อถืออย่างงมงาย
เรื่องบันเทิงทางปัญญาหรือปรัชญา
การพักฟื้น การหยุดพักผ่อน หรือโอกาสที่จะมาสังสรรค์กัน
การหลีกหนีจากปัญหาและ ความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน

หากแต่วิปัสสนาเป็น

วิธีการในการขจัดความทุกข์
ศิลปะของการดำเนินชีวิต
ที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมี ความสุข
วิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์
ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถเผชิญกับ
ความตึงเครียดและปัญหาในชีวิตได้
ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ
วิปัสสนากรรมฐานจึงมุ่งไปยังเป้าหมายทางจิตใจในระดับสูงสุด
เพื่อการหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงและเพื่อการบรรลุธรรม
มิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการบำบัดรักษาโรคทางกาย
แต่ เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการทำจิตให้บริสุทธิ์
จึงทำให้ความเจ็บป่วย
อันเนื่องมาจากความเก็บกด ในจิตใจหมดไป
แท้จริงแล้ว
วิปัสสนาสามารถที่จะขจัดสาเหตุที่ทำให้ เกิดทุกข์ 3 ประการ
คือ โลภ โกรธ หลง ได้
ถ้าได้ปฏิบัติต่อเนื่องกัน
วิปัสสนาจะระบายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
และแก้ปมในใจที่ผูกอยู่
เนื่องจากนิสัยดั้งเดิมที่ชอบปรุงแต่งต่อสถานการณ์ต่างๆ
เช่น ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบหรือพอใจ (อันทำให้เกิดโลภะ)
และไม่ชอบหรือไม่พอใจ (อันทำให้เกิดโทสะ)
แม้ว่าวิปัสสนาจะพัฒนาขึ้นมา
โดยที่เป็นวิธีการหนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่การปฏิบัติก็มิได้จำกัด
อยู่แต่เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น
จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง
ในเรื่องของศาสนาแต่อย่างใด

วิธีปฏิบัติตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมดาสามัญที่ว่า

มนุษย์ทุกคนต่างมีปัญหาเหมือนๆ กัน
และวิธีการที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้
จะต้อง เป็นวิธีที่เป็นสากล
มีผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ
เคยได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนามาแล้ว
โดยมิได้มีความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม

วินัยในการปฏิบัติ

กระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการสังเกตดูตนเองนี้
มิใช่เป็นเรื่องง่ายอย่างแน่นอน
เราจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง
ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องใช้ความพยายามของตนเองเท่านั้น
จึงจะเข้าถึงการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง
ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้ได้
ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐานจึงเหมาะสำหรับ
ผู้ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ
และมีความเคร่งครัดต่อระเบียบ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง
และเป็นการคุ้มครองตนเองด้วย

กฎระเบียบต่างๆ จะเป็นส่วนที่ทำให้การปฏิบัติกรรมฐานสมบูรณ์ขึ้น

เวลา 10 วันนี้นับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้น
ในการที่จะเจาะลึกเข้าไปถึงระดับจิตใต้สำนึก
และเรียนรู้วิธีการ
ที่ขจัดกิเลสที่ตกตะกอนอยู่ในส่วนลึกสุด (อนุสัยกิเลส)
การปฏิบัติให้ต่อเนื่องโดยไม่พูดจา
หรือเกี่ยวข้องกับใคร
เป็นเคล็ดลับของความสำเร็จของวิธีการนี้

กฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดขึ้น
ก็เพื่อรักษาการปฏิบัติแนวนี้ให้คงอยู่ได้

กฎเกณฑ์ต่างๆ
มิได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของอาจารย์ผู้สอน
หรือเพื่อความสะดวกในการบริหาร
หรือเพื่อคัดค้านประเพณีคำสอน
หรือความเชื่องมงายที่มีอยู่ในบางศาสนา
แต่เป็นสิ่งที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์
ของผู้ปฏิบัติกรรมฐานนับพันๆคนเป็นเวลาหลายปี
และยังเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์
การรักษากฎระเบียบจะก่อให้เกิดบรรยากาศ
ที่เป็นระเบียบอันเหมาะสมอย่างยิ่ง
สำหรับการปฏิบัติกรรมฐาน
การฝ่าฝืนกฎระเบียบย่อมจะทำให้เกิดมลภาวะ

ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ให้ครบ 10 วัน
และจะต้องอ่านกฎระเบียบต่างๆอย่างใคร่ครวญ
ผู้ที่คิดว่าสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้เท่านั้น
จึงควรจะสมัครเข้าปฏิบัติ
ผู้ที่มิได้เตรียมตัวที่จะใช้ความพยายามในการปฏิบัติอย่างเต็มที่
ไม่ควรสมัคร
เพราะจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
นอกจากนี้ยังจะเป็นการรบกวนบุคคลอื่น
ที่ตั้งใจเข้ามาปฏิบัติด้วยความเคร่งครัดอีกด้วย

ผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับคำเตือนว่า
หากเลิกฝึกก่อนที่จะจบการอบรม
เนื่องจากเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ยากที่จะปฏิบัติ
จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้นั้น
รวมทั้งจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาได้
ในกรณีที่นับว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ เมื่อถูกเตือนหลายครั้งแล้ว
ยังไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎระเบียบได้
ก็จะถูกขอให้ออกไปจากการฝึกอบรม

ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตประสาท
บุคคลที่ป่วยด้วยโรคทางจิต
บางครั้งอาจต้องการสมัครมาเข้ารับการฝึกวิปัสสนา
ด้วยความเข้าใจผิดว่า
การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยรักษา
หรือบรรเทาอาการป่วยทางจิตของตน
แท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ปกติสุข
ตลอดจนการได้รับการเยียวยา
ทางจิตประสาทด้วยวิธีต่างๆ มาแล้วนั้น
กลับจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติภาวนา
จนถึงขั้นที่ทำให้ไม่ได้รับประโยน์ใดๆ เลย
จากการมาเข้ารับการฝึกอบรม
หรืออาจทำให้ไม่สามารถอยู่รับการฝึกให้ตลอดหลักสูตรได้ด้วย
แม้การปฏิบัติวิปัสสนาจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่
แต่ก็มิใช่เป็นการทดแทนการรักษาพยาบาลด้วยยาหรืออื่นใด
เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติของเราให้บริการโดยอาสาสมัครทั้งสิ้น
จึงทำให้ไม่สามารถที่จะดูแลบุคคลผู้มีปัญหาเหล่านี้โดยถูกต้องได้
ผู้มีปัญหาทางจิตประสาทจึงไม่ควรสมัครเข้ารับการอบรม

กฎระเบียบ

พื้นฐานในการปฏิบัติวิปัสสนา
คือ ศีล ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ
และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา
คือการรู้แจ้งเห็นจริง

ศีล
ผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาทุกท่านจะต้องรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ได้แก่


1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มน้ำเมา
สำหรับผู้ที่เคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้ว
จะต้องถือศีล 8 ซึ่งมีเพิ่มเติม คือ
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
7. เว้นจากการดูละครฟ้อนรำ และการใช้เครื่องหอมตกแต่งร่างกาย
8. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่หนาและอ่อนนุ่ม
ผู้ที่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว
จะรักษาศีลข้อ 6 ได้ด้วยการดื่มแต่เพียงน้ำปานะ
หลังจากการพักในเวลา 5 โมงเย็น

ในขณะที่ผู้ปฏิบัติใหม่
อาจจะดื่มนม น้ำชา หรือรับประทานผลไม้ได้
อาจารย์ผู้สอนอาจจะยอมให้ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว
บางคนยกเว้นการรักษาศีลข้อนี้ได้
ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ
ส่วนศีลข้อ 7 และ 8 นั้น ทุกคนจะต้องรักษา

การยอมรับอาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ

ในระหว่างการฝึก
ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องรับที่จะปฏิบัติตามวิธีการ
และคำแนะนำของอาจารย์ผู้สอนทุกประการนั่นคือ
ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติที่อาจารย์สอน
โดยไม่มีการแต่งเติมหรือตัดทอนใดๆ ทั้งสิ้น
การยอมรับด้วยความเชื่อถือเท่านั้น
ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถปฏิบัติ
ได้อย่างขยันขันแข็งโดยตลอด

ซึ่งการยอมรับนี้
ก็ควรจะมีการแยกแยะและทำความเข้าใจด้วย
มิใช่เป็นไปเพราะถูกบังคับ
หรือหลงงมงายเหมือนคนตาบอด
ความเชื่อมั่นที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนและวิธีการปฏิบัติ
จำเป็นอย่างยิ่ง
ต่อความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนา

พิธีกรรมและวัตรทางศาสนาตลอดจนวิธีการปฏิบัติอื่นๆ

ในระหว่างการฝึก สิ่งที่สำคัญมากคือ
จะต้องงดพิธีกรรมและวัตรทางศาสนาต่างๆ ทั้งหมด
เช่น การจุดตะเกียงนับลูกประคำ
ท่องมนต์ อดอาหาร สวดมนต์ เป็นต้น

การปฏิบัติกรรมฐานแบบอื่นๆ หรือการปฏิบัติ
เพื่อการบำบัดรักษาอื่นๆ จะต้องเว้นด้วย
เช่น การเดินจงกรม การฝึกโยคะโดยใช้สมาธิ
ทั้งนี้มิใช่เป็นการคัดค้านการปฏิบัติวิธีอื่นๆ

แต่เพื่อให้ได้ทดลองฝึกวิธีวิปัสสนาแบบนี้เพียงแบบเดียว

เพราะการนำวิธีปฏิบัติวิธีอื่นมาผสมปนเปกับวิธีปฏิบัตินี้
จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ
หรืออาจจะทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผลเลย
แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะคอยเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ตาม
แต่ก็ยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในอดีต
เมื่อผู้รับการฝึกนำเอาวิธีการปฏิบัตินี้ไปรวมกับพิธีกรรมอื่นๆ
จนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น

ความสงสัยและความสับสนที่อาจเกิดขึ้นนั้น
สามารถจะแก้ไขให้กระจ่างได้ โดยการไปพบอาจารย์ผู้สอน

การเข้าพบอาจารย์ผู้สอน
หากมีปัญหาหรือความสับสนใดๆ
เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนา
ควรจะไปขอคำอธิบายจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น

เวลาระหว่าง 12.00 - 13.00 น.
จะเป็นเวลาที่จัดไว้ให้สำหรับเข้าพบ
เป็นการส่วนตัวกับอาจารย์ที่ที่พัก
แต่ท่านก็สามารถตั้งคำถามถามอาจารย์ได้
ระหว่างเวลา 21.00 - 21.30 น.ในห้องปฏิบัติรวม


การพบกับอาจารย์ผู้สอนนี้มีวัตถุประสงค์
เพื่อขอคำอธิบายสำหรับปัญหาทั่วๆ ไปเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ

จึงไม่ควรใช้โอกาสนี้ให้เสียไป
กับการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา
หรือถกเถียงกันในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ

วิปัสสนากรรมฐานมีเอกลักษณ์ของตัวเอง
ที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ได้
ผู้ที่เข้ารับการฝึกจึงควรมุ่งที่จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียว

การรักษาความเงียบ


ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนจะต้องรักษาความเงียบ
นับตั้งแต่เริ่มต้นฝึกจนกระทั่ง 10.00 น. ของการฝึกวันที่ 10

การรักษาความเงียบนี้ รวมไปถึง
ความเงียบทั้งทางกาย วาจา และใจ
โดยจะต้องไม่มีการพูดจากับใครเลย
และจะต้องงดการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม
ทั้งการออกท่าทาง การเขียนโน้ต หรือทำสัญญาณต่างๆ
แต่ผู้เข้ารับการฝึกสามารถพูดคุย
กับอาจารย์ผู้สอนได้หากจำเป็น
และติดต่อกับผู้ดำเนินงานได้
หากมีปัญหาเกี่ยวกับที่พัก อาหาร และอื่นๆ
แต่การติดต่อพูดจาเหล่านี้ ก็ควรมีให้น้อยที่สุด
ผู้เข้าฝึกทุกคนควรจะสร้างความรู้สึกว่า
ตนเองกำลังปฏิบัติอย่างจริงจังเสมือนอยู่คนเดียว

คู่สมรส

จะมีการแยกชายหญิง
แม้กระทั่งคู่สมรสก็ไม่ควรมีการติดต่อกันในระหว่างการฝึก

การสัมผัสทางกาย

จะต้องไม่มีการสัมผัสทางร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศ
ตลอดระยะการฝึกและระหว่างที่อยู่ในศูนย์ฯ

โยคะและการออกกำลังกาย

แม้การทำโยคะหรือการออกกำลังกายจะไม่ขัดต่อการปฏิบัติ
แต่ระหว่างการเข้ารับการฝึกอบรม 10 วันนี้
ก็ขออย่าให้มีการออกกำลังกายใดๆ
ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ท่าดัดตนบริหารร่างกายมือเปล่า
หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง ทั้งนี้เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติ
ไม่มีสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะในเรื่องนี้
ถ้าต้องการออกกำลังกาย
ให้ทำได้เฉพาะการเดินไปมาในระหว่างชั่วโมงพักผ่อน
ในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น

เครื่องราง ลูกประคำ หรืออื่นๆ

สิ่งเหล่านี้ห้ามนำเข้ามาในบริเวณที่พัก
หากมีการนำเข้ามาโดยมิได้ตั้งใจ
จะต้องนำไปฝากไว้กับผู้ให้บริการตลอด 10 วัน

ของมึนเมาและยา

ห้ามนำเอายา เหล้า หรือของมึนเมา
รวมทั้งยากล่อมประสาท ยานอนหลับ และยาระงับประสาท

หากจะต้องรับประทานยาเหล่านี้ตามที่แพทย์สั่ง
จะต้องแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าก่อนการฝึก

สูบบุหรี่

ห้ามสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาเส้นตลอดระยะเวลาการฝึก

อาหาร


เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่สามารถที่จะจัดหาอาหารพิเศษ
ตามความต้องการของผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้
จึงต้องขอให้ผู้เข้ารับการฝึกรับประทานอาหารมังสวิรัติ
ที่จัดเตรียมไว้ให้

หากผู้ใดที่แพทย์สั่งให้รับประทานอาหารพิเศษ
เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ
ก็ขอให้แจ้งให้ผู้ดำเนินงานทราบในเวลาลงทะเบียน


เสื้อผ้า

เสื้อผ้าที่ใช้ควรเรียบง่ายและสวมสบาย
ไม่จำกัดสีหรือแบบ
แต่ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดตึง โปร่งบาง
เสื้อไม่มีแขน หรือกางเกงรัดรูป
ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้นทั้งชายหญิง
และห้ามอาบแดดหรือเปลือยบางส่วนโดยเด็ดขาด
ข้อห้ามเหล่านี้มีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพื่อมิให้รบกวนบุคคลอื่น

ความสะอาด


ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ และปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติธรรม
จึงจำเป็นที่จะต้องอาบน้ำทุกวัน และรักษาเสื้อผ้าให้สะอาด
ในบางครั้งอาจไม่มีบริการซักผ้า ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องซักเสื้อผ้าเอง
แต่ก็ควรทำในช่วงเวลาพักเท่านั้น
หากเป็นไปได้
ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอที่จะใช้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติ

การติดต่อภายนอก


ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ในบริเวณที่ใช้ฝึกตลอดการฝึก
จะออกไปภายนอกได้เฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง
และจะต้องได้รับอนุญาตจากอาจารย์ผู้สอนก่อน
ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องงดการโทรศัพท์
การเขียนจดหมาย และการพบปะกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียน
นอกจากในกรณีฉุกเฉิน
ผู้ที่มาเยี่ยมจะต้องมาติดต่อกับฝ่ายจัดการ

ดนตรี อ่านหนังสือ และเขียนหนังสือ
ห้ามเล่นดนตรี ฟังวิทยุ และห้ามนำสิ่งที่ใช้เขียน
หรืออ่านเข้ามาในสถานที่ฝึก
ผู้เข้ารับการฝึกไม่ควรรบกวนตนเองโดยการเขียนบันทึก
การห้ามเขียนและอ่าน
ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกรรมฐานได้อย่างเคร่งครัด

เครื่องบันทึกเทปและกล้องถ่ายรูป

สิ่งเหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาต
จากอาจารย์ผู้สอนเป็นพิเศษเท่านั้น

นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือที่มีเสียงบอกเวลา

ห้ามนำมาใช้ในห้องปฏิบัติรวมอย่างเด็ดขาด
และไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกในที่พัก
เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น

ทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน

เพื่อให้การเผยแพร่ธรรมะเป็นไปโดยบริสุทธิ์
การฝึกอบรมดำเนินได้ด้วยเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว
และการบริจาคก็จะรับจากผู้ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น
เหตุผลก็คือ การบริจาคควรมาจาก
ผู้ที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของธรรมะที่มีต่อตนเอง
ซึ่งจะทำให้การบริจาคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ
หากท่านมีความปรารถนาที่จะแบ่งปันประโยชน์เหล่านี้กับผู้อื่น
ท่านก็อาจจะกระทำได้ด้วยการบริจาคในวันสิ้นสุดการอบรม
การรับบริจาคจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอบรมธรรมะนี้
เป็นรายได้ทางเดียวสำหรับที่จะนำมาใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรม
โดยมิได้มีความสนับสนุนในด้านการเงินอื่นใด
ทั้งอาจารย์ผู้สอนและผู้ดำเนินงานก็ล้วนไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
จากการจัดการฝึกนี้

โดยวิธีนี้ ธรรมะจึงเผยแพร่ออกไปได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์
ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้น ไม่ว่าการบริจาคของท่านจะมากหรือน้อย
ก็ขอให้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์
เจตนาที่จะช่วยให้ผู้อื่น
ได้มีโอกาสพบกับธรรมะอันบริสุทธิ์เช่นเดียวกับท่าน

"เพราะเหตุว่า มีผู้ที่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้กับการฝึกของข้าพเจ้ามาแล้ว
ตอนนี้ขอให้เป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ให้กับผู้อื่นบ้าง"

สรุป

สาระของกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจสรุปได้ดังนี้
"จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก
อย่ารบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากมีผู้อื่นรบกวน"

อาจเป็นไปได้ว่า
ผู้เข้ารับการฝึกไม่สามารถเข้าใจเหตุผลของกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้
หากเป็นเช่นนี้ควรจะไปขอคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้กับอาจารย์ผู้สอน
มิใช่ปล่อยให้ตนเองเกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความสงสัยมากขึ้น

ดังนั้นการปฏิบัติตามระเบียบ
และความพยายามที่จะปฏิบัติให้มากที่สุดเท่านั้น
ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกปฏิบัติได้ผลดี
และได้รับผลตามความมุ่งหมาย
สิ่งที่จะต้องเน้นใน 10 วันนี้ก็คือ
"ปฏิบัติ" ปฏิบัติให้เหมือนกับว่า เราอยู่เพียงคนเดียวในการฝึก
เพิกเฉยต่อสิ่งรบกวน และความไม่สะดวกสบายที่ต้องเผชิญอยู่ทั้งหมด ปฏิบัติด้วยจิตที่มุ่งเข้าสู่ภายในเท่านั้น
ประการสุดท้าย ผู้เข้ารับการฝึกควรระลึกไว้เสมอว่า
ความก้าวหน้าในการปฏิบัติวิปัสสนาขึ้นอยู่กับบารมี
(กุศลที่ได้สะสมมาแต่ปางก่อน)
และปัจจัย 5 ประการคือ
ความเพียร ความศรัทธา ความจริงใจ สุขภาพอนามัย และปัญญา
ขอให้กฎเกณฑ์ต่างๆ และข้อแนะนำเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ท่าน
ขอให้ท่านได้รับผลสูงสุดจากการฝึกกรรมฐานนี้

เรายินดีที่ได้มีโอกาสให้บริการแก่ท่าน ขอให้ทุกท่านได้รับความสงบและสันติสุขจากการปฏิบัติวิปัสสนาโดยทั่วกัน

ตารางเวลา
04:00 น. ระฆังปลุก
04:30 น. - 06:30 น. นั่งปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
06:30 น. - 08:00 น. อาหารเช้า
08:00 น. - 09:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
09:00 น. - 11:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวม หรือในที่พักส่วนตัวตามที่อาจารย์กำหนด
11:00 น. - 12:00 น. อาหารกลางวัน
12:00 น. - 13:00 น. พักผ่อน
13:00 น. - 14:30 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักส่วนตัว
14:30 น. - 15:30 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
15:30 น - 17:00 น. ปฏิบัติในห้องปฏิบัติรวมหรือในที่พักตามที่อาจารย์กำหนด
17:00 น. - 18:00 น. พักดื่มน้ำปานะ
18:00 น. - 19:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
19:00 น. - 20:15 น. ฟังธรรมบรรยายในห้องปฏิบัติรวม
20:15 น. - 21:00 น. ปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม
21:00 น. - 2130 น. สอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
21:30 น. พักผ่อน

คัดมาจาก //www.thai.dhamma.org/




 

Create Date : 10 มีนาคม 2552    
Last Update : 10 มีนาคม 2552 21:44:55 น.
Counter : 529 Pageviews.  

ธรรมบริกร

Photobucket


ธรรมบริกร


ในการปฏิบัติธรรมแต่ละครั้ง
ซึ่งผู้ปฏิบัติมากมายจากที่ต่างๆ
ที่เดินทางกันเข้ามาร่วมฝึกอบรม
ต่างได้รับความสะดวกสบายตามอัตภาพ

ทั้งด้านสถานที่ อาหาร ห้องปฏิบัติรวม
ที่พักอาศัย ห้องนอน ห้องน้ำ

ความสะดวกสบายดังกล่าวย่อมเอื้อต่อการปฏิบัติ
ทำให้ไม่ต้องมีเครื่องกังวลใจ
สามารถ ตั้งอกตั้งใจฟังคำสอน
ได้โดยไม่ต้องกังวล
ใน เรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม
ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพ

ซึ่งความสะดวกเหล่านี้ได้มาจาก
ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการบำเพ็ญภาวนา
ที่เคยผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรพื้นฐาน ๑๐ วันมาแล้ว

และอยากให้เพื่อนร่วมวัฏฏะได้มีโอกาส
ได้พบความสุขความสงบเหล่านี้ เช่นเดียวกับตนบ้าง
จึงได้บริจาคแบ่งปันความสุขเหล่านี้
เป็นจตุปัจจัย ทรัพย์สินบ้าง เป็นอาหารบ้าง ยาบ้าง
และที่สำคัญยิ่งคือการอาสาตนเข้ามาเป็นผู้รับใช้
ซึ่งเราเรียกกันว่า ธรรมบริกร
ท่านอาจารย์เรียกธรรมบริกรว่า
อนุสาวรีย์แห่งธรรมะ
การเข้ามารับใช้ธรรมะนั้น
แท้จริงแล้วเป็นการรับใช้ตนเอง
เพราะจะได้พัฒนาธรรมะที่ได้ฝึกมาแล้วนั้น
ให้เจริญก้าวหน้าในชีวิตจริง

ธรรมบริกร ต้องเรียนรู้การให้บริการด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา
การเข้ารับใช้โดยที่นำเอาความคิดเห็นส่วนตัวมาเป็นเกณฑ์
นั้นย่อมอาจเกิดความขัดแย้งโดยไม่ตั้งใจได้

ธรรมบริกรที่ดี จึงควรเข้ารับการอบรมในหลักสูตร
ธรรมบริกรเบื้องต้นเสียก่อน
ทั้งนี้เพื่อให้แนวทางปฏิบัติมีความสอดคล้องถูกต้องตรงกัน

เริ่มต้นจากการเข้ารายงานตน
ธรรมบริกร ต้องเข้ารายงานตัวตั้งแต่ วันที่ - ๑
คือไปถึงศูนย์ก่อนศิษย์ที่เข้ามาปฏิบัติ ๑ วัน
เพื่อจัดเตรียมสถานที่
เรียนรู้ แผนผังที่ตั้ง สวิทไฟ ก๊อกน้ำ ที่ทิ้งขยะ
โรงเรือนต่างๆ การจัดเบาะนั่ง ทั้งในห้องปฏิบัติเดียว
ห้องปฏิบัติรวม ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินต่างๆ

เรียนรู้ถึงวิธีจัดวางถาดอาหาร ที่เก็บเครื่องปรุง
ถ้วย โถ โอ ชาม อาหารว่าง เครื่องชงต่างๆ

เพื่อให้คล่องตัวในวันปฏิบัติการจริง
เพราะเมื่อถึงวันปฏิบัติจริงซึ่งต้องรักษาความเงียบแล้ว
จะมัวมาถามกันไม่ได้อีกต่อไป

ในสมัยก่อน ธรรมบริกร ต้องตื่นเพื่อตีระฆังตอนตี ๔
แต่ในปัจจุบัน ใช้ระฆังอัตโนมัติ ซึ่งจะเริ่มตีตอนตี ๔
เพื่อเป็นเสียงสัญญาณแจ้งเตรียมตัวเข้าห้องปฏิบัติ
เมื่อสัญญาณระฆังดังขึ้นแสดงว่า

ทุกๆคนสามารถ แปรงฟัน ล้างหน้า เข้าห้องน้ำ ได้
เพราะกฏระเบียบของการอยู่ร่วมของคนหมู่มาก
เสียงการอาบน้ำจะรบกวนผู้ที่ยังหลับหรือกำลังพักผ่อน
จึงมีกฏระเบียบให้ทุกๆคนปฏิบัติตามโดยต้องมีมาตรฐาน
ของเวลา อาบน้ำ รับประทานอาหาร ซักผ้า
เพื่อทุกๆคนจะสามารถอยู่ร่วมโดยไม่รบกวนกัน

ยังมีต่อครับ




 

Create Date : 07 มีนาคม 2552    
Last Update : 8 มีนาคม 2552 14:22:06 น.
Counter : 1031 Pageviews.  

ปาฐกถาธรรม ท่านอาจารย์ โกเอ็นก้า ทางทีวี ช่อง ๕

Photobucket

Photobucket

Photobucket



พระไตรปิฎกกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน


(บทความต่อไปนี้เป็นปาฐกถาธรรมของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
ที่ได้กล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕

เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔
เนื่องในวาระเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี
พระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ณ หอพระไตรปิฎก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสด็จเป็นองค์ประธาน)




ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท
ท่านพี่น้องทางธรรมที่รักยิ่ง
และพสกนิกรบนผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิที่มีพระแก้วมรกตเป็นมิ่งขวัญ


ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาแสดงปาฐถาธรรม
ร่วมเฉลิมพระเกียรติ ๑๐๐ ปี พระราชสมภพสมเด็จ
พระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ข้าพเจ้าได้ทราบกิตติศัพท์ของพระองค์ท่าน
ในฐานะที่เป็นผู้ทรงหมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ
ตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้ง
ในพระมหากรุณาธิคุณของเหล่าธรรมิกราชา
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แห่งแผ่นดินธรรม
ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ทั้ง ๕ ประเทศ
อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นไทย พม่า ศรีลังกา กัมพูชา และลาว
ที่ได้สนับสนุนและปกป้องหมู่ภิกษุสงฆ์
ผู้ปกปักรักษาพระธรรมคำสอน
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ ให้ธำรงไว้อย่างบริสุทธิ์
ตามรูปแบบดั้งเดิมมานานหลายศตวรรษ
หาไม่แล้ว บุคคลเช่นข้าพเจ้าคงมิได้มีโอกาสได้รับพระธรรมอันบริสุทธิ์นี้

ฉะนั้น เนื่องในวโรกาสอันสำคัญยิ่งเช่นนี้
ข้าพเจ้าใคร่ขอถือโอกาสแสดงกตเวทิตาต่อพระธรรมคำสอน
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้มา
ก่อนจะได้มีโอกาสมาศึกษาภาคปริยัติ
ซึ่งข้าพเจ้าพบว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง

แม้ว่าข้าพเจ้าจะเกิดในครอบครัว
ที่มีความศรัทธาต่อศาสนาฮินดูอย่างเคร่งครัด
ทว่าข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดียิ่งที่
ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับพระธรรมคำสอน
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในเรื่องของการปฏิบัติเป็นเบื้องแรก
และในส่วนของปริยัติภายหลังต่อมา
ซึ่งความรู้ทางด้านปริยัตินี้ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่า
การปฏิบัติของข้าพเจ้าเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธองค์

ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจในจารีตประเพณี
และความเชื่อทางปรัชญาของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับคัมภีร์ภควคีตา
จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องค้นหาแนวทางจิตวิญญาณอื่น
แต่นับว่าโชคดีที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ามารู้จัก
กับแนวทางพุทธธรรมนี้โดยมิได้คาดคิด
เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ายังเป็นหนุ่มอยู่นั้น
ข้าพเจ้ามีโรคประจำตัว คือ ทุกๆ สอง
สัปดาห์จะปวดศีรษะไมเกรนขั้นรุนแรง
บรรดาแพทย์ในพม่า แผ่นดินมาตุภูมิของข้าพเจ้า
ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
นอกจากฉีดมอร์ฟีนเพื่อช่วยบรรเทาอาการไว้เท่านั้น
หากใช้ต่อเนื่องไปนานๆ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
เพราะจะทำให้ข้าพเจ้าติดมอร์ฟีนได้
แพทย์เหล่านั้นจึงแนะนำให้ข้าพเจ้าหาวิธีรักษาอื่น
ที่ไม่ใช่ด้วยมอร์ฟีน ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปพบแพทย์ที่ดีที่สุด
ทั้งในสวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
แต่ก็ต้องผิดหวังกลับมา

ในที่สุดเพื่อนชาวพม่าที่ดีที่สุดคนหนึ่งของข้าพเจ้า
จึงรบเร้าให้ข้าพเจ้า
ไปเข้ารับการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ๑๐ วัน
กับท่านอาจารย์อูบาขิ่น
เพื่อนข้าพเจ้าผู้นี้มีชื่อว่า อูจันตุน
ซึ่งเมื่อครั้งที่พม่าได้รับเอกราชใหม่ๆ
ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอัยการคนแรกของประเทศ
และยังเป็นเลขาธิการองค์กรพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่า
องค์กรที่จัดงานสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ ที่กรุงร่างกุ้ง
ทั้งดำรงตำแหน่งเป็นประธานองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศไทยด้วย
ส่วนท่านอาจารย์อูบาขิ่นซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงนั้น
ท่านเป็นฆราวาสรับราชการอยู่ที่กรมบัญชีกลาง
โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง
คนแรกของพม่า ภายหลังจากที่ได้รับเอกราช

เมื่อแรกที่ได้รับคำแนะนำเช่นนั้นจากเพื่อน
ข้าพเจ้ารู้สึกลังเลมิกล้าไปเข้ารับการอบรม
แม้ว่าข้าพเจ้าจะมีความเคารพ
ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะมีความเชื่อเหมือนชาวฮินดูจำนวนมากว่า
พระองค์ทรงเป็นอวตารชาติที่ ๙ ของพระวิษณุ
ทว่าคำสอนของพระองค์จะชักนำมนุษย์ไปสู่ทางที่ผิด
น่าเสียดายว่า ในขณะที่เชื่อเช่นนั้น
ข้าพเจ้ามิได้ใส่ใจที่จะตรวจสอบคำสอนของพระองค์
แม้จะมีพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งได้มอบหนังสือธรรมบท
ให้แก่ข้าพเจ้ามาก่อน แต่ข้าพเจ้ากลับไม่สนใจ
และได้วางหนังสือนั้นทิ้งอยู่บนโต๊ะเป็นเวลาจวบ ๓ ปี

เพื่อนชาวพม่าผู้หวังดีได้พยายามโน้มน้าว
ให้ข้าพเจ้าไปพบท่านอาจารย์อูบาขิ่น
เพื่อทำความเข้าใจในเบื้องแรกถึงสิ่งที่ท่านสอน
เพื่อนของข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าอาการปวดศีรษะของข้าพเจ้านั้น
สืบเนื่องมาจากความเครียดทางจิตที่ข้าพเจ้าประสบในชีวิต
และวิธีการที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นสอนนั้น
จะช่วยให้ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากความเครียด
และนั่นจะทำให้อาการปวดศีรษะของข้าพเจ้าหายขาดได้
โดยที่ไม่ต้องฉีดมอร์ฟีนอีกต่อไป
ข้าพเจ้าไปพบท่านอาจารย์อูบาขิ่นด้วยความรู้สึกลังเลเป็นอันมาก
ทว่าก็ได้พบว่าท่านเป็นบุคคลที่มีจิตใจดีงาม
เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตากรุณา
เมื่อท่านได้อธิบายให้ข้าพเจ้าทราบว่า
แนวทางวิปัสสนานี้เป็นเพียงการรักษาศีล ฝึกสมาธิ
และพัฒนาปัญญาของเราเอง
ซึ่งคงจะไม่มีชาวฮินดูคนใดปฏิเสธได้
เมื่อรับทราบเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจ
ที่จะให้โอกาสตัวเองเข้ารับการอบรมวิปัสสนา

เมื่อได้มีโอกาส
เข้ารับการอบรมเป็นเวลา ๑๐ วันครั้งแรกนั้น
ข้าพเจ้าได้ประจักษ์อย่างชัดแจ้งว่า
วิธีการนี้เป็นวิธีการที่มีเหตุมีผล ปฏิบัติได้จริง
ทั้งยังมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์
และมุ่งประโยชน์จากการปฏิบัติ
ผลก็คือ ภายใน ๑๐ วันนั้นเอง
ข้าพเจ้าหายขาดจากโรคปวดศีรษะ
และไม่ต้องพึ่งมอร์ฟีนอีกต่อไป
นี้มิใช่ปาฏิหาริย์ใดๆ เลย

การปฏิบัติทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า
โรคปวดศีรษะนั้นสืบเนื่องมาจาก
ความที่ข้าพเจ้าเป็นคนอารมณ์หุนหันพลันแล่น
ใจร้อนวู่วาม และมีอัตตาสูง
นับตั้งแต่ได้เข้าอบรมครั้งแรกครั้งนั้น
ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่ากิเลสภายในใจได้เบาบางลงไป
ซึ่งถือว่าเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่
ที่มากเสียกว่าการได้ขจัดโรคปวดศีรษะและการใช้มอร์ฟีน
ข้าพเจ้าเริ่มมีชีวิตที่สุขสงบขึ้น
แต่ใช่ว่าโทสะของข้าพเจ้าจะถูกขจัดออกไปหมดสิ้น
ภายในระยะเวลา ๑๐ วันของการอบรมนั้น
หากค่อยๆ เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละวัน
นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าฝึกปฏิบัติวิปัสสนาเช้า-เย็นทุกๆ วัน

ประสิทธิผลของการฝึกปฏิบัติวิปัสสนาเริ่มเป็นที่กระจ่างชัด
แก่ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าต้องหันมาให้ความใส่ใจทั้งหมด
กับ เวทนาหรือความรู้สึกบนร่างกาย
และฝึกประคองจิตให้มีอุเบกขา
โดยไม่ปรุงแต่งตอบโต้
ออกไปด้วยความทะยานอยาก หรือด้วยความยึดติดใดๆ
เมื่อได้ประสบกับเวทนาที่น่าพอใจ
หรือไม่ปรุงแต่งตอบโต้ออกไปด้วยความโกรธเกลียด
เมื่อได้ประสบกับเวทนาที่ไม่น่าพอใจ

ข้าพเจ้าได้ตระหนักว่า
สิ่งนี้คือการค้นพบอันยิ่งใหญ่
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่สามารถช่วยให้มนุษยชาติหลุดพ้น
จากความทุกข์ทั้งมวลในชีวิต
ตลอดจนความทุกข์จาก
สังสารวัฏฏ์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้ได้ในที่สุด

เมื่อพูดถึงรายละเอียดของวิธีการปฏิบัติ
ข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวถึงประสบการณ์การปฏิบัติของตนเอง
ในระหว่างที่เข้ารับการอบรมครั้งแรกพอเป็นสังเขป

คำสอนเกี่ยวกับการปฏิบัตินั้นประกอบด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ
คืออานาปานสติ และเวทนานุปัสสนา

ในการฝึกอานาปานสตินั้น
ข้าพเจ้าคิดว่าท่านอาจารย์จะขอให้ข้าพเจ้าสวดบริกรรม
โอม นะโม พุทธายะ
แทนคำบริกรรมที่ข้าพเจ้าเคยสวดในศาสนาฮินดูว่า
โอม นะมะ ศิวายะ
แต่ข้าพเจ้าก็ต้องประหลาดใจที่พบว่า
มิได้มีการบริกรรมใดๆ ในระหว่างการปฏิบัตินี้เลย
นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังคิดว่า
ท่านอาจารย์จะขอให้ข้าพเจ้าสร้างมโนภาพพระพุทธเจ้า
แทนภาพองค์พระศิวะตามที่ข้าพเจ้าเคยปฏิบัติมาก่อน
ทว่าท่านกลับห้ามมิให้มีการสร้างมโนภาพหรือจินตนาการใดๆ
แม้จะเป็นภาพของพระพุทธเจ้าก็ตาม
ท่านต้องการให้ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าจริงๆ ข้าพเจ้าต้องเฝ้าสังเกตลมหายใจอย่างเป็นปกติ
ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตามธรรมชาติ
โดยไม่ไปควบคุมหรือบังคับลมหายใจ
อย่างที่ข้าพเจ้าเคยกระทำเมื่อครั้งปฏิบัติปราณายาม
ท่านต้องการให้ข้าพเจ้ายอมรับสภาพความเป็นจริง
ของลมหายใจตามอย่างที่เป็น นั่นคือ ยถาภูตะ
ถ้าหากลมหายใจยาว
ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับว่ามันยาว
ถ้าหากลมหายใจสั้น ก็ต้องยอมรับว่ามันสั้น
โดยไม่ไปบังคับลมหายใจที่ผ่านเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาตินี้

นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังต้องเพ่งความสนใจ
ไปตั้งมั่นจดจ่ออยู่ที่บริเวณทางเข้าช่องจมูก
ปริมุขัง สติง อุปัฏฐเปตวา
นั่นคือ นาสิกัคเค
และบริเวณตรงกลางเหนือริมฝีมาก หรือ
อุตตโรฏฐัสสะ เวมัชฌัปปะเทสะ
โดยพยายามรักษาความตั้งมั่นจดจ่อ
อยู่ที่บริเวณพื้นที่เล็กๆ นี้
และมีสติระลึกรู้ถึงลมหายใจตามธรรมชาติ
ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
ในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าจึงพอจะเข้าใจถึงเหตุผล
ของการให้ฝึกปฏิบัติดังกล่าว
เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งหรือสองวัน ลมหายใจก็จะเริ่มสั้นลง สั้นลง
แผ่วเบาลง แผ่วเบาลง และละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น
ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจว่าถ้าพื้นที่ที่ใช้เพ่งความสนใจมีขนาดเล็ก
สมาธิที่ใช้ในการเฝ้าจดจ่อก็จะยิ่งมีความละเอียด
ทำให้สามารถรักษาความต่อเนื่องของสติเอาไว้ได้ระยะหนึ่ง
และจิตก็จะค่อยๆ แหลมคมขึ้น แหลมคมขึ้น
รับรู้ความรู้สึกได้ว่องไวขึ้น ว่องไวขึ้น
จนเริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกบนร่างกายหรือเวทนาบางอย่าง
ในบริเวณพื้นที่เล็กๆ นี้
ทั้งหมดนี้จะปรากฏให้เห็นในวันที่สองหรือสามของการปฏิบัติ

พอถึงวันที่สี่ ซึ่งเริ่มเข้าสู่การฝึกปฏิบัติวิปัสสนา
ข้าพเจ้าก็ต้องประหลาดใจที่ได้รับรู้ถึงเวทนาที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย
นับตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
เวทนาเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าได้ประจักษ์
ถึงธรรมชาติของการเกิดขึ้นและดับไป
นี่คือภาวนามยปัญญา
เป็นการเผชิญกับสภาวะของความเป็นอนิจจัง
จากประสบการณ์ของตนเองโดยตรง
ถ้าหากเป็นเพียงการเชื่อแบบศรัทธา
หรือการใช้ความคิดพิจารณาตามเหตุผล
ซึ่งเป็นปัญญาระดับสุตมยปัญญา
และจินตามยปัญญานั้น
ท่านอาจารย์เห็นว่า
ไม่อาจนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง
ของการหลุดพ้นได้
พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญกับภาวนามยปัญญา
ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในแนวทางการปฏิบัติ
ที่ข้าพเจ้าเคยปฏิบัติมาก่อนเลย
และนี่ทำให้ข้าพเจ้าประจักษ์แจ้งว่า
การรับรู้ถึงเวทนาบนร่างกายนั้น
เป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาของพระพุทธองค์

ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
ข้าพเจ้าได้รับการปลูกฝังว่ามิให้ปล่อยใจเพลิดเพลิน
ไปกับสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย
ข้าพเจ้าถูกสอนมิให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้
ด้วยความทะยานอยากหรือขุ่นเคือง
เมื่อต้องเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น
ไม่ว่าจะน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม
สิ่งที่พระพุทธองค์ค้นพบนั้น หากดูจากภายนอก
ก็เหมือนว่าเรากำลังมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ
แต่ทว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
เรากำลังมีปฏิกิริยาต่อเวทนาบนร่างกาย
และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดในปฏิจจสมุปบาทนั้น
พระพุทธองค์มิได้กล่าวตรัสว่า
สฬายตนะ ปัจจยา ตัณหา
หากทรงกล่าวถึงกระบวนการอันเป็นธรรมชาติไว้อย่างชัดแจ้งว่า
สฬายตนะ ปัจจยา ผัสโส
ผัสสะ ปัจจยา เวทนา
และเวทนา ปัจจยา ตัณหา
ดังนั้นความทะยานอยากได้ ความพอใจ
และความทะยานอยากที่จะผลักไส ความไม่พอใจออกไป
จึงมีมูลเหตุมาจากเวทนาที่เราได้ประสบบนร่างกาย
นี้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้น
ได้นำพาข้าพเจ้าไปสู่ต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวง
ด้วยการฝึกฝนพัฒนาความสามารถ
ในการรับรู้เวทนาต่างๆ บนร่างกาย
โดยไม่ปรุงแต่งตอบโต้
หากทำความเข้าใจว่า
เวทนาต่างๆ ไม่ว่าจะน่าพอใจ ไม่น่าพอใจ หรือเป็นกลางๆ
ล้วนแล้วแต่มีลักษณะที่เป็นอนิจจัง หรือ อุทยัพพยะ
เหมือนๆ กัน กล่าวคือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมจะดับไปเป็นธรรมดา

ข้าพเจ้ายิ่งรู้สึกประทับใจในคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพบว่าสิ่งนี้มิใช่เป็นการละเล่นทางเชาว์ปัญญา
หรือเป็นการยอมรับด้วยศรัทธาอันมืดบอด
ทว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสนพระทัย
ที่จะแสวงหาความจริงจากประสบการณ์ของพระองค์เอง
แม้ว่าปัญญาในระดับสุตมยปัญญา
และในระดับจินตามยปัญญาจะมีความสำคัญ
ในลักษณะที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและชี้แนะแนวทางแก่เรา
แต่ทว่ามีเพียงภาวนามยปัญญาเท่านั้น
ที่จะช่วยถอดถอนพฤติกรรมอันเป็นอกุศลของจิตได้ถึงระดับรากเหง้า

เมื่อข้าพเจ้าฝึกปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งตระหนักชัดขึ้นว่า
เวทนาบนร่างกายมีความสำคัญเป็นอันมาก
สามารถนำพาเราไปสู่เส้นทางแห่งความทุกข์
ขณะเดียวกันก็สามารถนำพาเราไปสู่เส้นทางแห่งความหลุดพ้น
ได้ด้วยเช่นกัน
เวทนาจะมีอยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิต
ทว่ายังคงถูกครอบงำด้วยอวิชชาหรือความไม่รู้
จึงปรุงแต่งตอบโต้ต่อเวทนาที่เกิดขึ้นด้วยความทะยานอยาก
และความขุ่นเคือง
แต่วิปัสสนาซึ่งเป็นคำสอน
ที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ของพระพุทธเจ้านี้
จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาสติ
คือ การระลึกรู้ถึงเวทนาบนร่างกาย
ไปพร้อมๆ กับสติสัมปชัญญะ
อันเป็นปัญญาในการเห็นแจ้งถึงธรรมชาติ
ที่ไม่เที่ยงของเวทนานั้น
ซึ่งนี่คือ อาตาปี สัมปชาโน สติมา
ศักยภาพทั้งสองประการนี้
จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติ
หลุดพ้นจากการมีปฏิกิริยาปรุงแต่งต่อเวทนาอย่างมืดบอด ไม่ถูกต้อง
ด้วยการสร้างความทะยานอยาก
และความขุ่นเคืองไม่พอใจ หรือโลภะและโทสะ

หากคำสอนของพระพุทธองค์แนะนำ
เพียงแค่ให้ข้าพเจ้าหยุดปรุงแต่งโลภะและโทสะ
มิให้ตอบโต้ต่อสิ่งยั่วยวนต่างๆ ที่มากระทบ
ย่อมไม่อาจทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสนใจขึ้นมาได้อย่างแน่นอน
เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มีปรากฏอยู่ในคำสอนตามจารีตประเพณี
ของข้าพเจ้าอยู่แล้ว
ทว่าเมื่อข้าพเจ้าถูกสอน
มิให้ปรุงแต่งตอบโต้ต่อเวทนาบนร่างกายด้วยโลภะและโทสะ
ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ข้าพเจ้ากำลังลงลึกถึงขั้นอนุสัยกิเลส
คือ ความไม่บริสุทธิ์ที่นอนเนื่องอยู่ในส่วนลึกที่สุดของจิต
อันเป็นส่วนที่ทำให้เรามีรูปแบบพฤติกรรมที่เป็นอกุศล

ข้าพเจ้าตระหนักดีว่ามีแนวทางการปฏิบัติอยู่หลายวิธีที่
จะช่วยชำระจิตใจได้ในระดับพื้นผิว
แต่ไม่ลงลึกถึงขั้นอนุสัยซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิต
ระดับที่ลึกที่สุดที่เรียกว่าระดับจิตไร้สำนึก
อนุสัยกิเลสนี้เองที่เป็นตัวการสำคัญ
ในการสร้างสมรูปแบบของอกุศลจิตทั้งปวง

ภายหลังจากที่ได้มีโอกาสศึกษาทั้งด้านปฏิบัติและปริยัติ
กับท่านอาจารย์อูบาขิ่น บิดาทางธรรมของข้าพเจ้า
เป็นเวลา 14 ปี ข้าพเจ้าก็ได้รับมอบหมาย
ให้นำวิธีการปฏิบัตินี้กลับคืนสู่ดินแดนต้นกำเนิด
แล้วเผยแผ่ออกไปทั่วโลก
ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 32 ปีแล้ว
ในเมื่อข้าพเจ้า ผู้ซึ่งมาจากความเชื่อที่ต่างออกไป
ยังเชื่อมั่นในวิธีการปฏิบัตินี้ ข้าพเจ้าก็พบว่าผู้คนจากชุมชนต่างๆ
ทั่วทุกมุมโลก ต่างยอมรับในวิธีการปฏิบัตินี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อได้เห็นวิปัสสนาเผยแผ่ออกไปทั่วโลก
ข้าพเจ้าก็ยิ่งมีความมั่นใจว่า
สิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงค้นพบนั้น
เป็นธรรมะที่มีลักษณะสากล มิได้แบ่งแยกเป็นลัทธินิกาย
รูปแบบความเคยชินผิดๆ
ในการปรุงแต่งโลภะและโทสะต่อเวทนานั้น
มิได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หรือชาติใดชาติหนึ่ง
หากมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
ต่างก็ตกเป็นทาสของความเคยชินนี้ทั้งสิ้น
จนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตามมา
ไม่ว่าคนผู้นั้นจะร่ำรวยหรือยากจน
เป็นผู้ที่มีการศึกษาหรือไม่มีการศึกษา
เป็นชายหรือหญิง
ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือฮินดู
คริสเตียนหรือมุสลิม
หรือไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือพม่า
อินเดียหรือปากีสถาน
ก็ไม่มีความแตกต่าง
ความทุกข์นั้นเป็นสากล
องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงมอบโอสถอันวิเศษนี้ให้แก่ทุกคน
และธรรมโอสถนี้ก็เป็นสากลด้วย
ดังนั้น ผู้คนจากศาสนาความเชื่อต่างๆ
ที่มีโอกาสมาเข้ารับการอบรมวิปัสสนา จึงได้รับผลอย่างเดียวกัน

ปัจจุบันนี้ผู้เข้ารับการอบรมวิปัสสนา
ล้วนมาจากศาสนาสำคัญๆ ของโลกทั้งสิ้น
แม้แต่ผู้นำของศาสนาเหล่านั้นต่างก็มาร่วมปฏิบัติ
และได้รับผลดีเช่นเดียวกัน
ทุกคนต้องฝึกปฏิบัติให้มีสติระลึกรู้ถึงเวทนาบนร่างกาย
และพัฒนาอุเบกขาต่อเวทนานั้นๆ
ด้วยความเข้าใจในกฎของธรรมชาติ
คือ ความไม่เที่ยง หรืออนิจจัง

ในประเทศอินเดียและอีกหลายๆ ประเทศ
ที่ได้ทดลองนำวิธีการปฏิบัติวิปัสสนานี้
เข้าไปอบรมนักโทษฉกรรจ์ในเรือนจำ
ต่างเห็นผลว่านักโทษ
ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติวิปัสสนา
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้น
ทำให้พวกเขาได้ประจักษ์ว่า
ความโกรธ ความเกลียด ความมุ่งร้าย ความอาฆาตแค้นใดๆ
ล้วนส่งผลกระทบต่อตัวเขา
ทั้งนี้เพราะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคนแรกของอารมณ์เหล่านั้น
ก็คือ พวกเขานั่นเอง
ดังพุทธพจน์ที่ว่า

ปุพเพ หะนะติ อัตตานัง ปัจฉา หะนะติ โสปะเร
บุคคลย่อมประหารตนเองเป็นเบื้องแรก
ก่อนที่จะกระทำการประหารผู้อื่น
นั่นหมายความว่าเราได้ทำลายความสงบสุขภายในตนเอง
ก่อนที่จะลงมือทำร้ายผู้อื่น
การปฏิบัติวิปัสสนาช่วยให้นักโทษเหล่านั้นเข้าใจได้ว่า
เมื่อใดที่ตนเพาะความรู้สึกโกรธ ชิงชังขึ้นมา
เมื่อนั้นก็ย่อมจะเป็นทุกข์แสนสาหัสไปด้วย
และเมื่อได้ประจักษ์ถึงสัจธรรมนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ด้วยการเฝ้าสังเกตเวทนาที่เกิดขึ้นบนร่างกาย
พฤติกรรมของพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ความจริงนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มนักโทษในเรือนจำ
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เราทุกคนต่างเป็นนักโทษด้วยกันทั้งสิ้น
เป็นนักโทษที่ถูกจองจำ
อยู่ในกรอบพฤติกรรมอันเป็นอกุศลของตนเอง
อวิชชาหรือความไม่รู้เป็นเหตุให้เรา
สร้างสมกิเลสขึ้นภายในใจเรื่อยมา
จนก่อเกิดเป็นความทุกข์

และเมื่อเราเรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตกิเลส
ในระดับเวทนาที่เกิดขึ้นบนร่างกายอย่างมีอุเบกขาแล้ว
เราก็จะสามารถหลุดพ้นจากรูปแบบของพฤติกรรมเก่าๆ
ที่ฝังอยู่ในระดับลึกของจิตได้ง่ายขึ้น
แล้วเราก็จะเริ่มมีชีวิตที่สุขสงบขึ้น
มีสุขภาพจิตที่ดี อันจะเป็นผลดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ผลอันวิเศษจากการเฝ้าสังเกตเวทนา
ด้วยใจที่เป็นอุเบกขาดังกล่าวนี้
นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์
ยิ่งเมื่อผู้มาเข้ารับการอบรมซึ่งเปิดเผยว่า
ตนเองติดสุรา การพนัน และยาเสพติดอย่างหนัก
ได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ช้าพวกเขาก็เข้าใจว่า
สิ่งที่พวกเขาติดและตัดไม่ขาดนั้น
จริงๆ แล้วเป็นการติดใจในเวทนาที่เกิดขึ้นบนร่างกาย
พวกเขากำลังโหยหาเวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ในขณะเสพย์สิ่งเสพติดทั้งหลาย
และเมื่อพวกเขาได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตความรู้สึกเหล่านั้น
ด้วยใจที่เป็นอุเบกขาแล้ว
ก็ย่อมจะค่อยๆ ถอดถอนออกจากภาวะการติดนั้นได้

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
มาเข้ารับการอบรมวิปัสสนากันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เพราะพวกเขาค้นพบว่า
การเฝ้าสังเกตดูเวทนาอย่างมีอุเบกขานั้น
ช่วยให้จิตใจของพวกเขาสงบเยือกเย็นลง
ตลอดจนช่วยผ่อนคลายความเครียดซึ่งอยู่ในระดับที่ลึกที่สุด
ทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่การงานในแต่ละวัน
ได้อย่างมีประสิทธิ-ภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเฝ้าสังเกตเวทนาด้วยใจที่เป็นอุเบกขา
ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แล้วว่า
โอสถขนานนี้เป็นโอสถสากลที่สามารถรักษาความทุกข์ทั้งปวง
ดังที่พระองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า

เวทนา สโมสรณา สัพเพ ธัมมา
ธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นในจิตมีเวทนาเป็นที่ประชุมลง
(ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในใจย่อมปรากฎเป็นเวทนาบนร่างกาย)
ดังนั้นเวทนาจึงมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เราทุกข์
ตราบใดที่เรายังไม่รู้เท่าทันเวทนา
และคงปรุงแต่งตอบโต้ด้วยโลภะและโทสะเรื่อยไป

ขณะเดียวกัน เวทนาก็มีความสำคัญเป็นอันมาก
หากเราสามารถมีสติระลึกรู้ต่อเวทนานั้นๆ
โดยไม่มีปฏิกิริยาปรุงแต่งตอบโต้ด้วยโลภะและโทสะ
ไม่ว่ามันจะน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม
เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเราทุกคนได้ตระหนัก
ถึงอนิจจลักษณะอันเป็นสัจธรรมสากล
ด้วยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างของร่างกาย
ผู้ปฏิบัติคนใดก็ตามที่
เฝ้าสังเกตเวทนาโดยไม่สร้างสมโลภะและโทสะ
ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการชำระจิตใจเหมือนๆ กัน
ด้วยเหตุนี้ วิธีการปฏิบัตินี้จึงเป็นที่ยอมรับของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอถวายพระพร
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
และขออำนวยพรแด่ประชาชนชาวไทยผู้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินธรรมแห่งนี้

ขอสันติสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความสงบ
จงแผ่ไพศาลไปทั่วแผ่นดินนี้
ขอบุญกุศลที่เกิดจากการแสดงปาฐกถาธรรมครั้งนี้
จงนำมาซึ่งความสุข ความสงบ
และความปรองดองระหว่างประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกันทั้งหลายในโลกนี้ ตลอดจนศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุข ความสงบ จงหลุดพ้นเทอญ





 

Create Date : 01 มีนาคม 2552    
Last Update : 3 มีนาคม 2552 15:03:45 น.
Counter : 1004 Pageviews.  


mahatep
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add mahatep's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.