แม้นเกิดเป็นปุถุชน หากแต่ประพฤติตนให้เป็นอารยชนได้ก็ไม่เสียทีที่เกิดเป็นคน
Group Blog
 
All Blogs
 

Textile

source of data :
//www.mtec.or.th/th/research/textile/fabrics.html


วิทยาศาสตร์สิ่งทอ > ผ้า (Fabrics)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
โดยนิยามแล้วผ้าคือวัสดุที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบน สามารถผลิตจากสารละลาย เส้นใย เส้นด้าย หรือวัสดุพื้นฐานเหล่านี้รวมกัน
เมื่อแบ่งแยกตามลักษณะการผลิต สามารถแบ่งประเภทของผ้าออกเป็น 3 แบบ คือ ผ้าทอ (woven fabrics) ผ้าถัก (knitted fabrics) และ ผ้าอื่น ๆ

ผ้าทอ (woven fabrics)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เป็นผ้าที่เกิดจากกระบวนการทอโดยใช้เครื่องทอ (weaving loom) โดยมีเส้นยืน (warp yarn) และเส้นพุ่ง (filling or weft yarn) ที่ทอขัดในแนวตั้งฉากกัน และจุดที่เส้นทั้งสองสอดประสานกัน (interlacing) จะเป็นจุดที่เส้นด้ายเปลี่ยนตำแหน่งจากด้านหนึ่งของผ้าไปด้านตรงข้าม การทอในปัจจุบันมีการพัฒนา จากการทอด้วยมือ (hand looms) ไปเป็นการใช้เครื่องจักรในการทอ โดยใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกัน เช่น Air-jet loom, Rapier loom, Water-jet loom, Projectile loom, Double-width loom, Multiple-shed loom, Circular loom, Triaxial loom

ประเภทของผ้าทอ
ผ้าทอแบ่งเป็นหลายชนิดขึ้นกับลักษณะการทอ เช่น Plain, Basket, Twill, Satin, Crepe, Dobby, Jacquard, Doublecloth, Pile, Slack-tension, Leno, และ Swivel



ผ้าถัก (knitted fabrics)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เป็นผ้าที่เกิดจากการใช้เข็ม (needles) ถักเพื่อให้เกิดเป็นห่วงของด้ายที่มีการสอดขัดกัน (interlocking loops) โดยจะมีเส้นที่อยู่แนวตั้ง (Wales) และเส้นที่อยู่ในแนวนอน (courses)

ประเภทของผ้าถัก
Filling-Knit fabrics เช่น Jersey, Rib structure, Interlock structure, Purl knits
Warp knit fabrics เช่น tricot warp knit, Raschel warp knit, Simplex, Milanese




ผ้าอื่นๆ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เป็นผ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตอื่นที่นอกเหนือไปจากการถักและทอ เช่นการขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มทั้งจากสารละลายและจากการฉีดพลาสติกหลอม การขึ้นรูปเป็นโฟม และการขึ้นรูปเป็นผ้าจากเส้นใยโดยตรง เรียกว่า ผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwovens)

ผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwovens)
มีลักษณะโครงสร้างเป็นแผ่นผ้าที่เกิดจากการสานไปมาของเส้นใย (fibrous web) มีการยึดกันด้วยการ ที่เส้นใยพันกันไปมา (mechanical entaglement) หรือโดยการใช้ความร้อน เรซิน หรือสารเคมีในการทำให้ เกิดการยึดกันระหว่างเส้นใย ผ้าไม่ถักไม่ทอสามารถผลิตได้โดยหลายกระบวนการผลิตคือ

Dry-laid: โดยการใช้ลมพ่นเส้นใยลงบนสายพานที่กำลังเคลื่อนตัวไป โดยการเรียงตัวของเส้นใยจะไม่มีทิศทาง (random oriented) ทำให้มีความแข็งแรงเท่ากันในทุกทิศทาง ตัวอย่างผ้าที่ได้จากการผลิตโดยกระบวนการนี้คือ ผ้าเช็ดเอนกประสงค์ กระดาษแยกช่องแบตเตอรี่ (battery separators) ไส้กรอง (filters) เป็นต้น

Wet-laid: โดยการกระจายเส้นใยสั้นในน้ำ แล้วทำการกรองผ่านเพื่อแยกน้ำออกจากเส้นใย ที่มีการเรียงตัวในทุกทิศทาง ตัวอย่างผ้าที่ได้จากการผลิตโดยกระบวนการนี้คือ ไส้กรอง ไส้ฉนวน ผ้าเช็ดเอนกประสงค์ และกระดาษแยกช่องแบตเตอรี่

Spun-bonded: เป็นการเตรียมผ้าโดยตรงจากเส้นใยที่ถูกฉีดออกมาจากหัวฉีดเส้นใย (spinnerets) เส้นใยต่อเนื่อง (continuous filament) ที่กำลังร้อนก็จะถูกฉีดสานไปมาบนสายพานที่กำลังหมุนอยู่ เส้นใย ที่เย็นตัวลงจะมีการเชื่อมติดตรงจุดที่มีการพาดผ่านระหว่างเส้นใยด้วยกัน การเชื่อมติดอาจทำเพิ่มเติม โดยการใช้ความร้อนและแรงกด นอนวูฟเวนที่ได้จากการผลิตโดยวิธีนี้จะมีค่าการทนต่อแรงดึงและแรงฉีก และบาง (low bulk) ตัวอย่างการใช้งานได้แก่ พื้นพรม (carpet backing) ผ้าที่ใช้ในงานธรณี (geotextiles) เสื้อผ้าป้องกัน (protective apparel) ไส้กรอง เป็นต้น

Hydroentangled หรือ spunlace: กระบวนการผลิตคล้ายกับการผลิตนอนวูฟเวนแบบ spun-bond ยกเว้นใช้น้ำแรงดันสูงฉีดผ่านโครงสร้างที่สานไปมาของเส้นใย ทำให้เกิดโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายผ้าทอ ผ้าที่ได้จะมีความยืดหยุ่น (elasticity) และโค้งงอ (flexibility) มากกว่า spun bond

Melt-blown: เป็นการฉีดเส้นใยผ่านหัวฉีดไปยังอากาศร้อนที่มีความเร็วสูง ทำให้เส้นใยเกิดการขาด เป็นเส้นใยสั้นๆ ซึ่งจะถูกเก็บลงบนสายพานที่เคลื่อนที่ การยึดติดเกิดจากการสานไปมาของเส้นใย และการใช้ความร้อน เนื่องจากเส้นใยไม่ได้ผ่านการดึงยืดก่อน ผ้าที่ได้จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าชนิดอื่น เส้นใยที่ใช้เทคนิคการผลิตนี้มากคือเส้นใยโอเลฟินและโพลีเอสเทอร์ (Olefin and polyester fibers) ตัวอย่างการใช้งานได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการแพทย์ และกระดาษแยกช่องแบตเตอรี่

Needle punching: เป็นการเตรียมแผ่นนอนวูฟเวนโดยเทคนิค dry-laid แล้วนำมาผ่าน เครื่องปักเข็ม (needle loom) เพื่อช่วยเพิ่มการยึดเกาะและความแข็งแรงของแผ่นนอนวูฟเวนให้มากขึ้น






 

Create Date : 26 มกราคม 2550    
Last Update : 26 มกราคม 2550 15:54:18 น.
Counter : 1544 Pageviews.  

ภัยน้ำท่วมกับลานีญา

ลานีญา
//www.fca16.com/eduservice/lanina/text.html

ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับเอลนีโญ คือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตร ในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกมีค่าต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากลมค้า (trade wind) ตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่เป็นประจำในแปซิฟิกเขตร้อนทางซีกโลกใต้ (ละติจูด 0.03 องศาใต้) มีกำลังแรงกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก (บริเวณฝั่งเอกวาดอร์ เปรู และชิลีตอนเหนือ) ไปสะสมอยู่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตก (บริเวณชายฝั่งอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกซึ่งแต่เดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่า ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกอยู่แล้ว กลับยิ่งมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิก เขตร้อนตะวันออกมากยิ่งขึ้นไปอีก มีผลทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกมีปริมาณฝนมากขึ้น ขณะที่ ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกจะมีความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดโดย เฉลี่ย 5 - 6 ปี ต่อครั้ง และแต่ละครั้งกินเวลานานประมาณ 1 ปี

บริเวณที่มีผลกระทบทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียตอนเหนือ ฟิลิปปินส์ อินเดียตอนเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา และด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ของทวีปอเมริกาใต้ ส่วนบริเวณที่มีผลกระทบแต่ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ได้แก่ ประเทศชายฝั่ง ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา บราซิลตอนใต้ ถึงตอนกลางของประเทศอาร์เจน-ตินา

สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบขนาดรุนแรงที่มีต่อฝนและอุณหภูมิใน 3 ฤดู ฝ่ายวิชาการภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า

"ฤดูฝนปีที่เกิดลานีญา (มิ.ย. - ต.ค.) ฝนจะสูงกว่าปกติเว้นแต่ทางบริเวณของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ

ฤดูหนาวปลายปีที่เกิด - ต้นปีหลังเกิดลานีญา (พ.ย. - ก.พ.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ สำหรับฝนในฤดูหนาวของประเทศตอนบนมีอุณหภูมิในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติเว้นแต่ตามบริเวณชายฝั่งภาค ตะวันออกที่จะมีฝนสูงกว่าปกติ และฝนในภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งในครึ่งแรกของฤดู (พ.ย. - ธ.ค.) จะมีฝนสูงกว่า ปรกติ แต่ฝนจะลดลงในครึ่งหลังของฤดู (ม.ค. - ก.พ.) โดยอาจจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ

ฤดูร้อนปีหลังเกิดลานีญา (มี.ค. - พ.ค.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทั่วประเทศ และจะมีฝนตกลงมาบ้างอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปรกติทั่วประเทศซึ่งจะทำให้อากาศไม่ร้อนมาก"

เมื่อวิเคราะห์จากผลกระทบของการมาของลานีญาแล้วประเทศไทจะมีฝนในปริมาณที่สูงกว่าปรกติ และหากสาวน้อยนางนี้พาลมพายุซึ่งเป็นบริวารติดสอยห้อยตามนำฝนมาตกเหนือเขื่อนทุกเขื่อนที่น้ำกำลัง เหือดแห้งให้เต็มเขื่อนแล้วรีบพากันจากไป ก็จะเป็นคุณแก่ประเทศไทยอย่างมาก แต่ถ้าบรรดาบริวารทั้งหลายพาฝนมาเทใต้เขื่อนและยังอ้อยอิ่งหลงไหลกับประเทศไทยแดนมหัศจรรย์วนเวียน เข้ามาไม่หยุดแล้ว คนไทยคงต้องจมน้ำกันอีกครั้งเป็นแน่




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2549    
Last Update : 17 ตุลาคม 2549 10:09:25 น.
Counter : 417 Pageviews.  

ภัยแล้งและเอลนิโน

บทความจากวารสารโลกพลังงาน
//teenet.chiangmai.ac.th/emac/journal/2002/16/09.php

เอลนิโน (ELNINO) คืออะไร ?

คำว่า “ เอลนิโน” (ELNINO) เป็นคำภาษาอังกฤษที่ออกเสียงเลียนแบบคำว่า”แอลนิญโญ “ ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาสเปนแปลว่า พระบุตร หรือพระเยซู

ความหมาย เอลนิโน คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ,เปรู ,พื้นที่เรียบ ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก, ออสเตรียเลีย และประเทศในแถบเอเชียใต้

โดยปรากฏการณ์เอลนิโน จะเกิดขึ้นเมื่อพื้นโลก รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เท่ากันบริเวณเส้นศูนย์-- สูตรจะรับความร้อนมากกว่าขั้วโลกเหนือและใต้มากมาย น้ำทะเลและอากาศจะเป็นตัวพาความร้อนออกจากเส้นศูนย์สูตรไปยังขั้วโลกทั้งสองดูรูปที่ 1 จะเห็นว่ามีวงจร การถ่ายเทความร้อนเกิดขึ้นอย่างไร วงจรถ่ายเทความร้อนนี้ ฝรั่งเรียกว่า CONVECTION CELL

ความร้อนเป็นพลังงานที่ทำให้เกิด CONVEC- TION CELL โดยน้ำทะเลที่ผิวมหาสมุทรจะร้อนขึ้นจนระเหยกลายเป็นไอขึ้นไป น้ำอุ่นข้างล่างผิวน้ำและใกล้เคียงจะเข้ามาและกลายเป็นไออีก เป็นเหตุให้มีการไหลทดแทนของน้ำและอากาศจากที่เย็นกว่าไปสู่ที่อุ่นกว่า เกิดเป็นวงจรระบายความร้อนและความชื้นออกไปจากโซนร้อนอย่าง ต่อเนื่อง ในภาวะปรกติ โซนร้อนที่กล่าวถึงนี้คือบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่บริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ลักษณะนี้ทำให้มีลมพัดจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกมาหาแนวเส้นศูนย์สูตรทางแปซิฟิกตะวันตก คนเดินเรือใบในอดีตรู้จักลมนี้ดี โดยเฉพาะชาวจีน เพราะได้อาศัยลมนี้ในการเดินทางมาค้าขายหรือหอบเสื่อผืนหมอนใบมายังเอเชียใต้ ลมนี้คือลมสินค้านั่นเอง

ลมสินค้าได้พัดน้ำให้ไหลตามมาด้วย จากการสำรวจทางดาวเทียมพบว่าน้ำทะเลแถวอินโดนีเซียมีระดับ สูงกว่าทางฝั่งเปรูประมาณครึ่งเมตร ซึ่งทางฝั่งเปรูนั้น เมื่อน้ำทะเลชั้นบนที่ร้อนได้ไหลมาทางตะวันตกตามแรงลมแล้ว น้ำทะเลด้านล่างซึ่งเย็นกว่าก็จะลอยขึ้นมาแทนที่ หอบเอาแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารปลาลอยขึ้นมาด้วย ทำให้ท้องทะเลย่านนี้มีปลาเล็กปลาใหญ่ชุกชุม เมื่อมีปลาชุกชุมก็ทำให้มีนกซึ่งกินปลาเป็นอาหารชุกชุมไปด้วย เกิดอาชีพเก็บมูลนกขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันขึ้นมา

ส่วนทางแปซิฟิกตะวันตกนั้น เมื่อมีนำอุ่นที่ถูกลมพัดพามาสะสมไว้จนเป็นแอ่งใหญ่ จึงมีเมฆมากฝนตกชุก อากาศบริเวณนี้จึงร้อนชื้น ที่บอกว่าน้ำทะเลร้อนและเย็นนั้น ตามปรกติก็จะร้อนและเย็นประมาณ 30 และ 22 องศา--เซลเซียส ตามลำดับ
เมื่อเกิดเอลนิโน ลมสินค้าจะมีกำลังอ่อนลงทำให้ไม่สามารถพยุงน้ำทะเลทางแปซิฟิกตะวันตกให้อยู่ในระดับสูงกว่าอย่างเดิมได้ น้ำอุ่นจึงไหลย้อนมาทางตะวันออก แอ่งน้ำอุ่นซึ่งเปรียบได้กับน้ำร้อนในกระทะใบใหญ่ซึ่งเคยอยู่ชิดขอบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกจึงเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก การลอยตัวของน้ำเย็นจากก้นทะเลจึงมีน้อย มีผลทำให้น้ำด้านแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น ทีนี้ก็เกิดวงจรแบบงูกินหางขึ้นคือ น้ำทะเลยิ่งร้อน ลมสินค้าก็ยิ่งอ่อน ลมสินค้ายิ่งอ่อนน้ำทะเลก็ยิ่งร้อน นี่เป็นปัจจัยให้แต่ละครั้งที่เกิดเอลนิโน แอ่งนำอุ่นจะขยายใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้นทุกครั้งไปแอ่งนำอุ่นเฉพาะส่วนที่เป็นใจกลางของเอลนิโนที่เกิดขึ้นระหว่างปีก่อนกับปีนี้นั้นมีขนาดใหญ่กว่าประเทศอเมริกา เสียอีก อุณหภูมิที่ใจกลางก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้สูงกว่าอุณหภูมิปกติเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 องศาแล้ว

การที่ตำแหน่งของแอ่งน้ำอุ่น ขยับออกไปอยู่ กลางมหาสมุทรเช่นนี้ทำให้เกิด CONVECTION CELL ขึ้น 2 วงจร ดังรูปที่ 2 จะเห็นว่ารูปแบบการรวมตัวของเมฆ ไม่เหมือนเดิม ทิศทางลมและการไหลของกระแสน้ำอุ่น แตกต่างไปจากเดิมมีผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดไปจากปรกติมาก และเนื่องจากการหมุนเวียนของอากาศในชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป เอลนิโนจึงมีผลกระทบสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งหมด ไม่แต่เฉพาะบริเวณมหาสมุทร แปซิฟิกเท่านั้น

ดังนั้น คำว่า เอลนิโน ที่นักวิทยาศาสตร์ยืมจากชาวเปรูมาใช้จึงมีความหมายขยายวงครอบคลุมบริเวณ น้ำอุ่นทั้งหมดในมหาสมุทรแปซิฟิก มิใช่เฉพาะที่ชายทะเลของเปรู ปรากฏการณ์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “Warm Event” แต่ ชื่อนี้ไม่ติดตลาดเท่าเอลนิโน

ปรากฏการณ์ที่น้ำทะเลร้อนขึ้นผิดปรกตินี้มีขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศระดับผิว น้ำทะเล ที่บริเวณด้านตะวันออกกับด้านตะวันตกของ มหาสมุทรแปซิฟิกในทศวรรษต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.2000) เซอร์กิลเบอร์ต วอล์คเกอร์ พบว่า ค่าของ ความดันในบรรยากาศที่ระดับผิวน้ำทะเล ณ เมืองดาร์วินซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียจะสลับสูง-ต่ำ กับค่าความดันที่ตาฮิติ เมื่อความดันที่ตาฮิติสูง ความดันที่ดาร์วินก็จะต่ำ และถ้าความดันที่ตาฮิติต่ำ ความดันที่ดาร์วินก็จะสูง กลับกันแบบนี้ ปรากฏการณ์นี้มีชื่อว่า Sothern Oscillation หรือ ENSO (เอ็นโซ) ดังนั้น จึงมี นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ ว่า “เอ็นโซ” แทนที่จะเรียกเอลนิโน แต่ชื่อนี้ก็ไม่ติดตลาดเช่นกัน และ ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มนำคำทั้งสองมารวมกัน เรียก--เป็น “El Nino Southern Oscillation” ไปเสียเลย อย่างไรก็ตามชื่อนี้แม้จะให้ความหมายชัดเจน แต่ก็รุ่มร่าม คำว่า เอลนิโน หรือ เอลนิลโย จึงเป็นชื่อที่ได้รับความนิยมใช้กันทั่วไป




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2549    
Last Update : 17 ตุลาคม 2549 10:06:36 น.
Counter : 989 Pageviews.  


kwangroong
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add kwangroong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.