21 Grams - น้ำหนักของความเศร้าเท่ากับเท่าไร

ในวันธรรมดาวันหนึ่ง
ชายหนุ่มที่ดูธรรมดาคนหนึ่งรู้สึกว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลามรสุมของเขา ปัญหาหลาย ๆ อย่างเข้ามารุมมาสุมกันอย่างไม่หวาดไม่ไหว เขารู้สึกเครียด ช่วงเวลานั้นเขาคิดถึงเพื่อนเขาคนหนึ่ง

ใช้เวลาไม่นานนัก เขาตัดสินใจโทรไปหาเพื่อนคนนั้น พอได้ยินเสียงเพื่อน พูดคุยกันยังไม่ถึงสิบวินาที น้ำตาของชายหนุ่มก็เริ่มไหลออกมา เพื่อนของเขาตกใจ พลางถามว่าเขาเป็นอะไรหรือเปล่า เพราะปกติชายหนุ่มคนนั้นเป็นคนร่าเริง เมื่ออยู่ ๆ โทรมาร้องไห้กับเพื่อน แน่นอนว่าเป็นใครก็ต้องตกใจ

ชายหนุ่มตอบว่า น้ำตามันเกิดจากหลายเรื่อง พอความเครียดหรือปัญหาสะสมกันมา เมื่อน้ำล้นเขื่อน มันก็ต้องระบายออกมา

นี่เป็นการร้องไห้ครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปีของชายหนุ่ม
ในน้ำตานั้น นอกจากความเศร้า ลึก ๆ แล้วมันเป็นน้ำตาแห่งความดีใจ ที่อย่างน้อย เพื่อนของเขายังคงเป็นห่วงเขาเสมอ

---

ในหนังเรื่อง Chungking Express ตำรวจหนุ่มหมายเลข 223 วิ่งรวมทั้งออกกำลังกายต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่ง เพื่อให้เหงื่อออกให้มากที่สุด
เขาบอกว่า ถ้าเหงื่อไหลออกมาจนหมดตัว จะได้ไม่เหลือไว้ให้ออกมาเป็นน้ำตา


---

ชายหนุ่มคนเดิมคิดเล่น ๆ ว่า เขาอยากจะไปเล่นบาสฯ ให้เหงื่อออกให้เยอะที่สุด นอกจากลดอาการฟุ้งซ่านของตัวเองแล้ว เผื่อมันจะได้ไม่เหลือไว้ให้น้ำตาของเขาไหลออกมาอีกด้วย

แต่ความจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ต่อให้เหงื่อไหลออกมาจนหมดตัว น้ำตาก็ยังสามารถไหลออกมาได้

---

“น้ำตาก็ดีเหมือนกัน ให้มันมาคอยล้างใจ
เหนื่อยแค่ร่างกายก็ให้เหงื่อมันล้าง
แล้วใจที่เหนื่อยกับความรัก ขอระบายกันบ้าง
เหงื่อไหลเป็นทางออกมาจากสองตา…
…เหนื่อยเข้าทีไร มันก็มีน้ำตา
เหงื่อไหลในใจ มันก็คือน้ำตา”
ส่วนหนึ่งของเพลง “ไม่เป็นไรเลย” ของนูโว เคยบอกเขาไว้แบบนี้
ชายหนุ่มเห็นด้วยกับคำในเพลงนี้
แม้เขาอาจจะไม่ได้เหนื่อยกับเรื่องความรักอย่างเดียว

---

ในหนังเรื่อง 21 Grams บอกว่า วิญญาณของคนเรามีน้ำหนัก 21 กรัม
จากการทดลอง เมื่อคนเสียชีวิต น้ำหนักของพวกเขาจะลดลงในทันที 21 กรัม
การทดลองนี้จึงสรุปได้ว่า 21 กรัมคือน้ำหนักของชีวิต


---

ชายหนุ่มอยากรู้ ว่าความเศร้ามีน้ำหนักหรือเปล่า
ถ้านักวิทยาศาสตร์ทดลองชั่งน้ำหนักของชีวิตได้ ก็น่าจะชั่งน้ำหนักของความสุข ความเศร้าได้เช่นกัน แต่การทดลองแบบที่ชายหนุ่มอยากเห็น ยังไม่เคยปรากฏขึ้น

ชายหนุ่มคิดว่า ถ้าเราสามารถรองน้ำตาที่ไหลออกจากตัวได้ทั้งหมด นั่นแหละคือน้ำหนักของความเศร้า
แต่ในอีกแง่หนึ่ง บางทีคนเราร้องไห้เพราะความสุข หรือสาเหตุอย่างอื่นอยู่บ่อย ๆ
ทฤษฎีที่เขาคิดว่าน้ำตาคือน้ำหนักของความเศร้า คงอาจยังไม่ถูกต้องนัก

---

สุดท้ายแล้ว
น้ำหนักของความเศร้า
เท่ากับเท่าไร
ไม่สามารถวัดได้จริง ๆ


21 Grams (2003) USA, Directed by Alejandro Gonzalez Inarritu




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2549   
Last Update : 30 สิงหาคม 2549 8:59:09 น.   
Counter : 694 Pageviews.  

Kids Return - ด้วยมิตรภาพ

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยเกิดอาการอย่างหนึ่งกับชีวิตของตัวเอง
อาจจะนาน ๆ ที หรือบ่อยครั้งตามแต่ละคน
ลักษณะอาการเป็นเช่นนี้ครับ
เบื่อที่จะทำอะไรทุกอย่าง
อ่านหนังสือก็เบื่อ ดูหนังก็เซ็ง ฟังเพลงก็ไม่ค่อยเข้าหู
แถมยังรู้สึกว่ามันเป็นช่วงที่ตกต่ำช่วงหนึ่งของชีวิตยังไงไม่รู้
ทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่ได้ตกต่ำหรือถูกไล่ออก ลดขั้นจากงานตรงไหน
สรุปง่าย ๆ คือ สิ่งที่ไหนที่เคยทำแล้วมีความสุข ก็กลับกลายเป็นไม่สนุกเหมือนอย่างเคย
อะไร ๆ มันตีบตันไปหมด

ผมเคยกระแดะเรียกให้ดูไฮโซและมีชาติตระกูลนิดส์นึงว่า มันเป็นช่วงที่ภาวะหัวใจแห้งแล้ง
และ “หัวใจ” ก็ไม่ใช่ผิวหนัง
ที่แค่ทาวาสลีนบ่อย ๆ มันก็หายแห้ง


---

มาซารุ และ ชินจิ เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมปลายเดียวกัน ทั้งสองใช้เวลาในการเล่นสนุกกับชีวิตนักเรียนด้วยกัน
วันหนึ่ง มาซารุตัดสินใจเข้าโรงยิมเพื่อหัดชกมวย เมื่อชินจิเห็นเพื่อนรักของเขาฝึกมวย จึงเริ่มสนใจที่จะเข้าโรงยิมตามเพื่อนด้วยเช่นกัน และในเวลาไม่นาน “แวว” ของชินจิก็เริ่มเปล่งประกายออกมาให้ทุกคนเห็น โค้ชและคนอื่นเห็นความสามารถของชินจิ รวมทั้งผลักดันให้เขาเป็นนักมวยอย่างจริงจัง
ตรงข้ามกับมาซารุ ที่ในที่สุดก็เบื่อและเลิกฝึกชกมวยหันไปเข้าแก๊งค์ยากูซ่า
เส้นทางของทั้งคู่เริ่มแยกทางกัน

---

ผมและเพื่อนสนิทผม ดูไม่น่าจะเข้ากันได้เลย
ตั้งแต่ลักษณะนิสัยใจคอ ความชอบ รสนิยม ไปจนถึงความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ออกไปในทางซ้ายจัดกับขวาจัด เดโมแครตกับรีพับลิกัน ไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ เอ๊ะ! รู้สึกเริ่มแปลกไปทุกที ยกตัวอย่างพอแล้วดีกว่า
สารภาพด้วยความสัตย์จริงและสัตว์จริง ๆ ครั้งแรกที่ผมเจอเขา ผมยังนึกเขม่นเขาตั้งแต่แรกพบ เพียงเพราะ “หน้าตาไม่ถูกชะตา”
แต่เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ผมรู้จักกับเขามาครบ 1 ทศวรรษแล้ว และได้เรียนรู้คำที่ว่า “ยอมรับในความต่าง” จากเขา
ผมอาจจะเคืองในความหัวดื้อของเขาอยู่บ่อยครั้ง แต่ผมก็เชื่อว่าเขาคงซ็งในความขี้บ่นของผมเช่นกัน ฟันธง!
เราผลัดกันเรียนรู้และสอนสั่นกันอย่างเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
ผมไม่รู้จริง ๆ ว่า “มิตรภาพ” มีความหมายมากแค่ไหน

---

ชินจิก้าวหน้าในชีวิตนักมวยอย่างต่อเนื่อง เขาได้เป็นแชมเปี้ยนในรุ่นเล็ก และกลายเป็นนักชกความหวังของค่าย ขณะที่มาซารุก็เติบโตในบทบาทยากูซ่าเช่นกัน
แต่ในที่สุด ทั้งคู่ก็พบกับบททดสอบในการเดินบทเส้นทางชีวิตของแต่ละคน และได้รู้ว่า ทุกเส้นทางอาจจะโรยด้วยกลีบกุหลาย
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ากุหลาบก็ไม่ได้มีแค่กลีบที่สวยงาม
เพราะมันยังมีหนามที่แหลมคม


---

เพราะด้วยหน้าที่การงานและความรับผิดชอบที่เราทั้งสองต่างมี ทำให้ผมกับเพื่อนสนิท ไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ
บางที 2 –3 เดือนอาจจะได้เจอกัน แต่บางครั้งบางคราสัปดาห์หนึ่งเราอาจจะเจอกันถึง 2 – 3 ครั้ง
ทุกครั้งที่เจอ เราคุยกันอย่างออกรสชาติอยู่เรื่อยไป
เราสามารถนั่งคลุกอยู่ในร้านกาแฟ (ขอโทษ! ไม่ใช่ Star Buck เป็นร้านกาแฟที่เปิดตั้งแต่สมัยโก๋หลังวังครับ) หรือนั่งคุยกันในร้านอาหาร (ขอโทษอีกที! ไม่ใช่ภัตตาคารหรูหรือผับบาร์ในย่านสุขุมวิท แต่เป็น Food Court ในห้างธรรมดา ๆ) ได้ค่อนวันโดยไม่เบื่อ

เมื่อผมเจอเพื่อนคนนี้กำลังออนไลน์ใน MSN (เราอาจจะเจอกันใน MSN บ่อย ๆ แต่เราก็ไม่ได้คุยกันหรือแม้แต่จะทักกัน เพราะแชตทางคอมพิวเตอร์ยังไงก็ไม่ได้อรรถรสเท่าเจอกันแบบตัวเป็น ๆ )
ผมทักไปว่า
“เฮ้ย ไม่ได้เจอกันนานแล้วนะเว้ย ช่วงนี้เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ ว่ะ วันไหนออกไปกินกาแฟกันดีกว่า”
ใช้เวลาไม่นานนัก เจ้าเพื่อนผมคนนี้ก็นัดผมออกไปข้างนอกในอีกสองวันถัดมา

---

ชินจิ กับ มาซารุ เดินทางมาพบกันอีกครั้ง หลังจากที่เส้นทางชีวิตของทั้งคู่แยกจากกันมานาน
ทั้งสองใช้เวลาเล่นสนุกเหมือนช่วงที่ยังเรียนอยู่ด้วยกัน
อนาคตของทั้งคู่ จะเป็นอย่างไรคงไม่สำคัญ
เพราะชินจิและมาซารุรู้ว่า พวกเขายังมี “กันและกัน” เสมอไป

---

ผมคงมิอาจจะหาญกล้าพูดว่า “อนาคตของผมจะเป็นเช่นไร คงไม่สำคัญ เพราะรู้ว่ายังไงผมยังมีเพื่อนคนนี้ของผม” เพราะมันดูอหังการ์เกินไป
แต่ผมรู้
ถ้าวันไหนที่ผมล้ม หรือเสียใจ ผิดหวัง เมื่อหันหลังกลับไปจะเจอเขาอยู่
อาจไม่ได้อยู่ใกล้ แต่มองไปแล้วเห็น
และระยะที่ห่างกัน
ในมือของเขา
มีผ้าขนหนูและขวดที่บรรจุน้ำเปล่าไว้จนล้นปรี่อย่างแน่นอน

Kids Return – Kidzu Ritan (1996) Japan, Directed by Takeshi Kitano




 

Create Date : 08 เมษายน 2549   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:21:04 น.   
Counter : 601 Pageviews.  

Tokyo Story – เรื่องคนเมือง

กาลครั้งหนึ่งไม่นานนัก มีแม่คนหนึ่งถามลูกของเธอถึงสาเหตุที่ว่า – เพราะอะไร ลูกของเธอจึงเอาแต่เก็บเงินอยู่อย่างเดียว แต่ไม่ยอมใช้?
ลูกของเธอตอบว่า
-เอาไว้จ่ายเวลาที่แม่ต้องเข้าโรงพยาบาลไง ไม่งั้นเกิดแม่เป็นอะไรขึ้นมาแล้วต้องเข้าโรงพยาบาล ก็จะไม่มีเงินจ่ายน่ะซี
!!!

---

สาบานได้ว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้อิงนิยายปรัมปราหรือนิทานอิสปแต่อย่างใด
ไม่รู้ว่าแต่ละคนเมื่อได้ฟังคำตอบของลูกเธอแล้วจะรู้สึกอย่างไร
จะมีบ้างไหมที่คิดว่า
“โอ เธอช่างมีลูกที่ดีจริง ๆ ขยันเก็บเงินเอาไว้ให้แม่เวลาเข้าโรงพยาบาลเสียด้วย”

---

ผมไม่รู้ว่าพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือคนสูงอายุต้องการอะไรมากกว่าระหว่าง “เงิน” กับ “ความใส่ใจ”
แต่จากการใช้สมองเล็ก ๆ ของตัวเองที่มีอยู่คิดเอา น่าจะตอบไม่ผิดว่าคำตอบคืออย่างหลัง
“ความใส่ใจ”

---

Tokyo Story บอกเล่าเรื่องราวของชายหญิงชราคู่หนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบชนบท และได้เดินทางไกลเข้ามาเยี่ยมลูก ๆ ถึงในเมืองหลวง-โตเกียว ซึ่งเหล่าลูก ๆ ของเธอก็ได้เข้ามาทำงานสร้างครอบครัวกันหมด
แต่สิ่งที่ทั้งคู่ได้รับจากการมาเยี่ยมบ้านลูก ๆ แต่ละคนคือความเฉยชาและการปัดภาระความรับผิดชอบ โดยใช้ข้ออ้างว่า “ยุ่งกับงาน” จนไม่สามารถพาทั้งคู่ไปเที่ยวโตเกียวได้
กลับกลายเป็นว่า ลูกสะใภ้ม่าย ซึ่งหากว่ากันตามจริง เธอเป็นเหมือนคนนอกของครอบครัว กลับเป็นคนที่คอยดูแลคนชราทั้งคู่อย่างดี

---

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในปี 1953 หรือกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว แต่ประเด็นของหนังพูดถึงกลับยังดูไม่เชยและยันทันสมัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าเวลาผ่านมาเกินกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม
และดูเหมือนว่า ยิ่งสังคม “เจริญ” มากขึ้นเท่าใด ประเด็นนี้ก็จะยิ่ง “ทันสมัย” มากขึ้นเท่านั้น
ผมเชื่อว่าอีก 50 ปีข้างหน้า ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะยังไม่เชยหรือตกยุคไปได้เลย

---

อย่างไรก็ตาม Tokyo Story ก็ไม่ต่างไปจาก Bangkok Story, London Story หรือเมืองหลวงที่อื่นในโลก โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์
เพราะบ้านเราก็ยังมีต่างจังหวัดอีกจำนวนมากที่เดินทางเข้ามา “เมืองหลวง” โดยมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีและสุขสบายกว่าเดิม ขณะที่พ่อแม่ของตัวเองถูกทิ้งให้อยู่อย่างเดียวดายไว้ข้างหลัง

---

ถ้าคนที่เรารักยังมีชีวิตอยู่ ก็ดูแลพวกเขาให้ดีเถิด – นี่เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่คอยเตือนติผมอยู่เรื่อยมา แม้ว่าบางทีอาจจะทำได้บ้างทำไม่ได้บ้างก็ตาม
เพราะต่อให้เอาเงินมหาศาลเพื่อจัดงานศพของท่านให้ยิ่งใหญ่แค่ไหน
มันก็อาจจะสายเกินไป

Tokyo Story (1953) Japan, Directed by Yasujiro Ozu




 

Create Date : 09 มีนาคม 2549   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:22:02 น.   
Counter : 404 Pageviews.  

Otakus in Love - สรุปว่าเรานั้น "บ้า"

อาโอกิ มอน เป็นชายหนุ่มผู้พิศวาทกับศิลปะการวาดรูปลงบนหินรูปทรงต่าง ๆ เขาเที่ยวร่องเร่เสาะแสวงหาหินรูปร่างที่สวย แปลกตา เพื่อนำมาวาดเป็นงานศิลปะ
โคอิโนะ เป็นหญิงสาวที่รักการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เขียนการ์ตูนทำขายในรูปแบบหนังสือทำมือ เป็นขาประจำในงานคอมมิคเฟส และชอบการแต่งคอสเพลย์
เขาและเธอ เป็นชายหนุ่มและหญิงสาวที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
พวกเขาถูกเรียกว่า โอตากุ (Otaku)



ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษที่ 80 คำว่า “โอตากุ”
ถูกใช้เรียกแทนกลุ่มคนรักการ์ตูนและอนิเมชั่น
“โอตากุ” ถูกเรียกกันแพร่หลายเรื่อยมา โดยในเริ่มแรก กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “โอตากุ” มักจะมีลักษณะคล้ายกันเป็นจุดร่วมคือ ชอบเก็บตัว มีเพื่อนน้อย มีปัญหาทางมนุษย์สัมพันธ์ เล่นกีฬาไม่เก่ง รูปร่างนั้นถ้าหากไม่ผอมแห้งแรงน้อยก็จะอ้วนท้วนเกินสมบูรณ์ และมักจะใส่แว่นตากรอบหนา
พวกเขาเหล่านั้นมีโลกส่วนตัวของตัวเองคือการอยู่กับการ์ตูนและคลั่งไคล้กับมันขนาดหนัก
ในระยะแรก คนที่ถูกเรียกว่า “โอตากุ” มักถูกมองอย่างไม่ค่อยดีและมีความหมายในแง่ลบ ซึ่งตัวคนที่ถูกเรียกนั้นก็ดูจะไม่ค่อยยินดีเท่าไหร่กับการเรียกพวกเขาเหล่านั้นด้วยคำนี้



เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายของ “โอตากุ” ก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
จากเดิมที่คนมองว่าโอตากุเป็นภัยสังคม ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปและ โอตากุก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน
และจากที่ใช้กับกลุ่มคนที่คลั่งไคล้การ์ตูน ก็เริ่มขยายออกมาเป็นอย่างอื่น ๆ ด้วย โดยมีความหมายถึง “คนที่มีความสามารถในการสะสมและเสาะหาข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความชอบในเรื่องใดก็ตาม (อาจจะเป็นเกม, หนัง, หนังสือ, บอล และ ฯลฯ หรืออาจจะแยกย่อยลงไปอีกก็ได้เช่น โอตากุนิยาย โอตากุหนังเกาหลี)”



ถึงวันนี้ “โอตากุ” ก็กระจายอยู่ทั่วไปในสังคม และไม่ใช่แค่อยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มันยังกระจายไปอยู่ในทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะที่ไหน เราก็สามารถพบเห็นโอตากุได้ ทั้ง โอตากุฟุตบอลในยุโรป โอตากุเกมในสหรัฐ หรือ โอตากุรถไฟในญี่ปุ่น!
จากความหมายที่เปลี่ยนไปของคำว่า “โอตากุ” จึงมีคนบอกว่า เราทุกคนก็เป็นโอตากุไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจาก มอน หรือ โคอิโนะใน Otakus in Love
เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีเพลงหนึ่งของวงกัมปะนีที่ผมคิดว่าบรรยายภาพของโอตากุได้ดีทีเดียว (ทั้ง ๆ ที่ในยุคนั้นคำว่าโอตากุยังไม่ถูกใช้มากมายในสังคมไทยเช่นทุกวันนี้)

สรุปว่า...บ้า
คนเราถ้าชอบอะไร
ใจมันชอบติดตาม ใครก็ห้าม ไม่ไหว
ลองมันจะชอบขึ้นมา
ไม่ลืมหู ลืมตา ก็เรียกว่าบ้า ใช่ไหม
บ้างก็บ้าสม่ำเสมอ
ถ้าได้เจอะได้เจอ ก็ให้ห่าง เอาไว้
บางคนก็บ้าชั่วคราว ไอ้บ้าฉบับกระเป๋า
เอาดี ก็พอไหว
บางคนก็บ้าเงินทอง
หามาได้หลายกอง แล้วก็ไม่ ยอมใช้
บางคนก็บ้าดารา ไอ้บ้างก็บ้าวิชา
บ้างก็บ้าต้นไม้
ฉันนี้ก็บ้าเสมอ
ที่ยังบ้ารักเธอ เมื่อเธอไม่ใส่ใจ
เธอเองก็บ้าพอกัน ที่เธอไม่บ้ารักฉัน
ใครกันจะทนไหว

สรุปว่าตัวฉันบ้า
สรุปว่าเธอก็บ้า
สรุปว่าคนนั้นบ้า
ไม่รู้ใครบ้ากว่าใคร
สรุปว่าตัวฉันบ้า
สรุปว่าเธอก็บ้า
หรือไม่บ้า สรุปว่าคนนั้นบ้า
ไม่รู้ใครบ้ากว่าใคร

คนเราถ้าบ้าพอกัน
จะได้เข้าใจกัน แล้วก็บ้ากันไป
เธอน่าจะบ้ากับฉัน
จะได้บ้าด้วยกัน แล้วจะเกิดความหมาย
เราจะมีโลกส่วนตัว ให้เธอบ้าทำครัว
ฉันก็บ้ากินไป
เราจะได้บ้ากันเพลิน ฉันจะบ้าทำเงิน
ให้เธอบ้าไปใช้

สรุปว่าตัวฉันบ้า
สรุปว่าเธอก็บ้า
หรือไม่บ้า สรุปว่าคนนั้นบ้า
ไม่รู้ใครบ้ากว่าใคร
สรุปว่าตัวฉันบ้า
สรุปว่าเธอก็บ้า
หรือไม่บ้า สรุปว่าคนนั้นบ้า
ใครหรือจะบ้ากว่าใคร...


Otakus in Love (Koi no Mon) (2004) Japan, Directed by Suzuki Matsuo




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2549   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:22:19 น.   
Counter : 683 Pageviews.  

Hinokio – แด่คนรุ่นนิ้วโป้ง

Hinokio (ฮิโนะคิโอะ) ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับกับ Pinocchio (พิน็อคคิโอ) เจ้าหุ่นไม้จมูกยาวที่ (เกือบ) ทุกคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี
แต่ Hinokio เป็นหุ่นยนต์ที่มีบางส่วนของร่างทำมาจากไม้ฮิโนกิ เพื่อให้ร่างกายของหุ่นยนต์มีความเบาและคล่องตัวขึ้น
ชื่อจริง ๆ ของ Hinokio คือ H-603 ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่บริษัทของพ่อซาโตรุทำการค้นคว้าวิจัยและถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ โดย H-603 ถูกนำมาให้ซาโตรุ-ลูกชายของเขาใช้งาน เพื่อให้ซาโตรุมีโอกาสเห็นโลกภายนอก
H-603 เป็นหุ่นยนต์ควบคุมบังคับด้วยรีโมตระยะไกล โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทำให้ซาโตรุสามารถรับรู้ โต้ตอบ และสื่อสารผ่านหุ่นยนต์ได้
เหตุที่ซาโตรุไม่สามารถออกไปไหนมาไหนเหมือนคนทั่วไปได้ เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งทำให้เขาสูญเสียแม่ไป ส่วนตัวซาโตรุนอกจากอาการบาดเจ็บแล้ว จิตใจยังได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เขาโทษพ่อของเขาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ตาย ซาโตรุไม่เข็มแข็งพอจะทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายของเขาเอง
โลกของซาโตรุ จึงอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่เพียงแต่ใช้นิ้วคลิ้กเมาส์และกดแป้นคีย์บอร์ด หรือไม่ก็เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์

---

ยุคนี้เป็นยุคที่คนเรียกกันว่า Thumb Generation หรือ “คนรุ่นนิ้วโป้ง”
ส่วนสาเหตุที่ใช้คำนี้ ถ้าหากเราปรายตามองไปรอบข้าง เราก็คงค้นพบคำตอบได้โดยไม่ยากเลย
เครื่องมือ อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ออกมาและได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ ล้วนใช้นิ้วเป็นส่วนสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, เครื่อง MP3, Ipod, โปรแกรมจำพวก Messenger อย่าง MSN, Yahoo รวมถึงเกมส์ออนไลน์
เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอย่างสมบูรณ์แบบ
เทคโนโลยีมีไว้ให้เราใช้งานและใช้ประโยชน์จากความเร็วและง่ายของมันนั่นเอง
แต่จากความเร็วและง่าย จึงทำให้คนส่วนมากของสังคม เกิดการ “เสพติดเทคโนโลยี” อย่างไม่รู้ตัว
การตะบี้ตะบันกดหรือยิงโทรศัพท์มือถือ, ดาวน์โหลดริงโทนใหม่ ๆ , ส่ง SMS, การติดเกมส์ออนไลน์จนถึงขั้นเล่นกันข้ามวันข้ามคืนจนไม่เป็นอันกินอันนอน หรือ หนีเรียนเพื่อไปเล่นเกมส์ก็มีข่าวคราวออกมาให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ใน Hinokio ก็มีภาพให้เห็นอาการเสพติดเทคโนโลยีของเหล่าตัวเอกในเรื่อง ทั้งซาโตรุที่เสพติดการใช้หุ่นยนต์ จนถึงกับติดตั้งระบบประสาทของหุ่นยนต์เพื่อเชื่อมกับตัวเอง ซึ่งหากมีคนมาจับส่วนใดของ H-603 ซาโตรุก็จะรับสัมผัสนั้นเช่นเดียวกัน รวมถึงเพื่อนในกลุ่มที่ติดอยู่ในโลกของเกม จนแยกไม่ออกระหว่างโลกความจริงกับโลกเสมือนจริงในเกมส์
แม้บทสรุปใน Hinokio ทุกเรื่องอาจจะถูกคลี่คลายไปได้ด้วยดี แต่คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน ว่าในโลกนี้ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ติดและหลงอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่และยังหาทางออกไม่ได้
หรือว่าทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับนิ้วของเรามากกว่าสมองหรือเปล่า ?


Hinokio: Inter Galactic Love (2005) Japan, Directed by Takahiko Akiyama




 

Create Date : 22 มกราคม 2549   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:22:33 น.   
Counter : 575 Pageviews.  

1  2  3  4  

นายจิวสี่
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add นายจิวสี่'s blog to your web]