สารลับจากความตาย コンセント

สารลับจากความตาย コンセント





ผู้เขียน : ทากุจิ แรนดี
ผู้แปล : น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ
สำนักพิมพ์ : JBOOK

ราคา : 185 บาท



คำโปรยปกหลัง

เมื่อพี่ชายของยูกินอนตายในบ้านเช่าอย่างเป็นปริศนา ไร้ร่อยรอยทั้งการฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย โดยศพเขาอยู่ข้างเครื่องดูดฝุ่นซึ่งปลั๊กเสียบค้างไว้กับเต้ารับ กลิ่นแห่งความตายของพี่ชายติดตามยูกินับแต่นั้นมายูกิจึงสงสัยว่ามีเงื่อนงำใดอยู่เบื้องหลังการตายนี้ หรือพี่ต้องการจะส่งสารจากความตายบางอย่างถึงเธอ

"สารลับจากความตาย" นวนิยายสยองขวัญที่ได้รับการยอมรับว่า เปลี่ยนรูปแบบการเขียนเรื่องสั่นประสาทของญี่ปุ่นอีกครั้งนับจากชุด เดอะ ริง เพราะนอกจากนำผู้อ่านเข้าสู่อาณาจักรแห่งควากลัวแบบไซไค-ฮอร์เรอร์ ซึ่งผสมผสานด้วยอารมณ์เยียบเย็น แบบผีญี่ปุ่น พล็อตซ่อนเงื่อนซ้อนอารมณ์ และด่ำลึกถึงจิตมนุษย์แสนพิศดารแล้ว ยังได้เปิดมุมมองนิยายสยองขวัญสมัยใหม่ให้ตีแผ่ปมขัดแย้งในใจคนได้ถึงแก่นอีกด้วย


(เครดิตข้อมูล : //www.naiin.com )


สารลับจากความตาย コンセント


เล่มนี้เป็นเล่มสุด ท้ายแล้ว ที่ไปซื้อมาจากงานหนังสือปี 51 เนื่องจากหมูโฉดมีบัตรสมาชิกของบลิสอยู่ ทำให้สามารถซื้อมาในราคาเบาสบายกว่าราคาจริงถึงห้าสิบห้าบาท เพราะเราซื้อมาในราคาร้อยสามสิบ ฮะฮะ (ไอเลิฟงานสัปดาห์หนังสือ) แต่ก็คิดว่าดีแล้วที่ตัดสินใจซื้อมันในงานหนังสือด้วยราคาเท่านี้ เพราะนี่จะเป็นอีกเล่มที่ตัวเองจะอ่านแค่รอบเดียวพอ ฮะฮะ และเกินพอด้วย

ก่อนที่จะเลื่อนสายตาไปส่วนที่ล่างกว่านี้ก็มีสิ่งที่ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่า เนื่องจากเล่มนี้หมูโฉดได้ยื่นกึบแสดงความจำนงค์ว่าจะไถต่อ แต่หลังจากตัวเองอ่านเสร็จก็เลยคิดว่ารีวิวค่อนข้างละเอียดให้มันอ่านก่อนดีกว่า แล้วค่อยให้มันยื่นกีบยืนยันอีกว่าจะยังไถอยู่อีกรึเปล่า

สาเหตุที่เป็นแบบนั้น เพราะถ้าคุณอุปมานเอาจากชื่อเรื่องภาษาไทย ก็คงคิดว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมที่คนตายคงมีความแค้นอย่างแสนสาหัสซะจนต้องโผล่ออกมาให้คนที่ยังอยู่ช่วยจับตัวฆาตกรมาลงโทษให้จนได้ (อารมณ์ประมาณนั้นจริงๆ นะ)

แต่เมื่อคุณอ่านไปสักพักก็จะพบว่า เค้าหลอกดาวววววววว

เพราะชื่อภาษาไทยนั้นมันหลอกลวงทั้งเพ!!

แต่ถึงจะอ่านชื่อญี่ปุ่นออก ก็โดนคำโปรยภาษาไทยตรงปกหลังหลอกอยู่ดี (เพราะคำโปรยปกหลังภาคภาษาไทยมันไม่เหมือนกับของญี่ปุ่นนะจ๊ะ) ฮะฮะฮะ

ซึ่งสไตล์การใช้คำโปรย หลอก ให้คนหลงทิศทางกับชื่อเรื่องสำหรับคนญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก เพราะถึงคนอ่านจะคาดหวังว่าจะได้อ่านเรื่องสไตล์อย่างหนึ่ง แล้วพอซื้อมาอ่านกลับพบว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่มีผลต่อความประทับใจที่มี (นอกเสียจากว่าเรื่องมันจะห่วยเอง)

แต่สำหรับคนไทย การหลอกให้คนอ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องอีกสไตล์หนึ่ง แล้วกลับพบว่ามันเป็นเรื่องอีกสไตล์หนึ่งที่ไม่ใช่อย่างที่ตัวเองคาดหวังนั้น ค่อนข้างส่งผลกระทบอย่างแรงมาก น้อยคนนักที่จะยอมรับการหลอกนี้ได้ ฮะฮะ แม้ว่าเนื้อเรื่องมันจะโดนหรือไม่ก็ตาม

เพราะเรื่องนี้จริงๆ แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับภูติผีปีศาจวิญญาณหลอน ไม่ได้เกี่ยวกับการฆาตกรรม

แต่เป็นเรื่องว่าด้วยคนที่มีคุณสมบัติเป็นมิโกะ แอนด์ มิโกะ และมิโกะ กับวิธีการจัดการกับสิ่งที่ไม่เคยมีและต้องรับเข้ามา

เชื่อหรือไม่????

อ่ะ เดี๋ยวจะนึกว่าตัวเองล้อเล่น - -"

แต่เรื่องราวของเล่มนี้โดยสรุปแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ดังนั้น เล่มนี้จึงไม่ขอแนะนำสำหรับคนที่อยากอ่านแนววิญญาณหลอนล่าล้างฆาตกร ฮะฮะ หรือวิญญาณหลอนทวงความเป็นธรรมฮะฮะ

รวมไปถึงคนที่คิดว่าจะ ได้อ่านการคลี่คลายปมคดีฆาตกรรมของตัวเองที่คลื่นดันเสร่อจูนติดกับวิญญาณจนต้องตามหาฆาตกรให้ก็จะไม่ได้เห็นแบบนั้นในเล่มนี้

เพราะเรื่องนี้ (อีกรอบ) ว่าด้วยการลืมตาตื่นของคนเป็นมิโกะ ทั้งที่ตัวเองไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นมิโกะ

ซึ่งก็ไม่ขอแนะนำสำหรับพวกที่บ้ามิโกะฟีเวอร์อีกเช่นกัน

เพราะตัวเอกของเรื่องที่เป็นหญิงสาวที่ดันเสร่อมีคุณสมบัติเป็นมิโกะได้นี่นั้น เธอแหกกฎทุกข้อที่มิโกะโอตาคุควรจะมี!!

รวมทั้งวิธีปัดเป่าความมัวหมองของเธอ ก็อาจทำให้มิโกะโอตาคุอกแตกตายเอาได้ง่ายฮะฮะ (ยกเว้นมิโกะโอตาคุขานั้นจะเป็นโอตาคุสาย H)

พูดงี้ก็เพราะว่านิยายเรื่องนี้มีฉากเซกซ์อยู่ด้วย

ถึงว่าสิว่า ทำไมที่ปกหลังมันถึงมีเขียนเอาไว้ว่าเป็นหนังสือที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18

เพราะถ้าไม่นับนิยายแปลของเฮียมุกี้ (มุราคามิ ฮารุกิ) แล้ว ตัวเองถือว่าเรื่องนี้เป็นนิยายแปลที่มีฉากซีนแบบนี้เยอะเหมือนกัน (ทั้งนี้ก็ไม่นับรวมพวกนิยายโรแมนซ์ แล้วก็นิยายวายที่ตัวเองอ่านเป็นประจำอยู่แล้วฮะฮะ)

และตัวเองก็คิดว่า อ.น้ำทิพย์คนแปล แกคงกระอักกระอ่วนน่าดูตอนที่มาแปลซีนฉาก เพราะดูจากคำที่อาจารย์แกเลือกใช้แล้ว เลยค่อนข้างรู้พอตัวว่าอาจารย์แกไม่น่าจะนิยมอ่านแนวโรมานซ์ ถึงตัวเองจะไม่ได้อ่านนิยายแปลแนวโรแมนซ์มาเยอะมากมาย แต่คิดว่าในนั้นคงไม่มีคำประเภทเจ้าโลกอยู่ในบทบรรยายแน่ๆ ฮะฮะ (หรือว่ามี ไอ้พวกที่อ่านมาเยอะบอกหน่อยเด๊ะ)

และก็คิดว่าอาจารย์แกก็คงไม่ได้ตั้งใจเลือกแปลเล่มนี้เองแน่ๆ (หรืออาจจะเลือก?) เพราะสำนวนการแปลของอาจารย์ไม่เหมาะกับแนวนี้สุดติ่ง

ยิ่งอ่านช่วงแรกๆ นี่มีสะอึกเป็นระยะ เพราะอาจารย์แกติดสำนวนหะรูหะราในการบรรยายทำให้เกิดความเยิ่นเย้อฟุ่มเฟือยโดยใช้เหตุ บวกเดาเอาจากลักษณะการเขียนของคนญี่ปุ่นแล้ว เลยพอจะรู้เลาๆ ว่าอาจารย์แกติดเป็นพวกพร่ำพรรณาเกินต้นฉบับ

แน่นอนว่าพูดอย่างนี้แฟนคลับของอ.น้ำทิพย์อาจจะแอบเคือง ไอ้คนเขียนบล็อกนี้มันถือว่าตัวเองเป็นใครวะ

ก็คนธรรมดาคนหนึ่งที่ยังเวียนว่ายอยู่ในโลก(วงการ)นี้ไง ฮะฮะ

แน่นอนว่า อ.น้ำทิพย์อาจจะเป็นอาจารย์ที่เก่ง เป็นคนแปลระดับแนวหน้า (อันนี้อ้างอิงมาจากที่บลิสแกโปรยเอาไว้) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแกจะแปลแนวนี้ดีสักหน่อย

ลางเนื้อก็ย่อมชอบลางยา ฉันใดก็ฉันนั้น คนแปลไทยก็หายากที่จะแปลได้หลากหลายประเภท

อาจารย์แกอาจจะแปลแนว รักๆ ใคร่ๆ ผู้หญิงจ๋าโอเค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแกจะแปลแนวสยอง แนวลี้ลับดีด้วย เพราะคนแปลส่วนใหญ่ก็มักจะติดสไตล์การใช้ศัพท์แบบเดิมๆ โดยไม่รู้ตัว

แต่ก็เหมือนแปลไปๆ อาจารย์จะเริ่มปรับตัวเป็นระยะ ดังนั้น ถ้าคุณเป็นพวกอ่านไปแบบล่องลอย ก็คงจะรับได้กับสำนวนแบบนี้

เพราะสำนวนของอาจารย์แกไม่ใช่ว่าไม่ดี มันก็แค่ไม่เหมาะกับเรื่องนี้เท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละ กว่าจะออกมาได้สำนวนที่โอเคพอดีกับแนวเรื่อง ก็ปาไปเกือบจบเล่มแล้ว เอวัง ฮะฮะ

เพราะสำนวนของอาจารย์แกนั้น เหมาะสำหรับงานแปลที่คนเขียนเป็นคนเล่าเรื่อง ไม่เหมาะกับการที่ตัวเอกในเรื่องเป็นคนเล่าเรื่อง เนื่องจากคงไม่มีใครมาพูดจาสำบัดสำนวนสละสลวยเวลานั่งนึกอะไรในใจแน่ ยกเว้นพวกเจ้าบทเจ้ากลอนก็ว่าไปอย่าง แต่ยูกิในเรื่องนี้ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นแบบนั้นนะ เธอก็ออกจะผู้หญิงธรรมดา - -"

อีกทั้ง ถึงแม้ในเล่มนี้จะไม่ได้มีการบอกอายุอานามของอาจารย์แกเอาไว้ แต่ดูจากสำนวนวิธีการเลือกใช้คำแปลแล้ว ก็พออนุมานได้แหละ ว่าอาจารย์แกคงอายุมากพอประมาณ เพราะฉะนั้น อ่านๆ ไปก็จะยิ่งเจอคำโบๆ ที่ไม่คิดว่าตัวละครวัยในเรื่องจะใช้คำพูดแบบนี้เป็นระยะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะบอกว่าเล่มนี้ไม่มีอะไรดีเลยก็คงไม่ใช่ อย่างที่บอกว่า ถ้าไม่เอาอารมณ์เสียที่โดนชื่อภาษาไทยหลอกให้หลงตั้งความหวังไปอีกอย่างแล้ว เรื่องนี้ก็ค่อนข้างจิกกัดเพศชายและหญิงดีแท้ค่ะ เพราะคนเขียนแกได้สอดแทรกตีแผ่ความสัมพันธุ์ (ไม่ได้พิมพ์ผิดนะคะ จงใจใช้) ระหว่างชายหญิงสมัยนี้โดยผ่านซิมบอลิคต่างๆ ภายในเรื่องว่ากันตั้งแต่ชื่อเรื่องเลยทีเดียว

"コンセント" ตัวคาตาคานะตัวนี้มาจากคำว่า concentric plug ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า เต้ารับ หรือปลั๊กไฟตัวเมีย นั่นเอง และชื่อเรื่องนี้ก็ไม่ได้ตั้งมาให้งง หรือเป็นตัวหลอกเล่นๆ เพราะมันมีคำอธิบายอยู่ในตัวเนื้อเรื่องแล้วว่าตัวเอกในเรื่อง ยูกิ นั้น เป็นเหมือนเต้ารับสำหรับผู้ชายฮะฮะ

พูดอย่างนี้ก็ต้องหมายความว่าเต้ารับตัวนี้นอกจากจะใช้อธิบายในเชิงอุปมากับการเลือกใช้ชีวิตในตอนท้ายของยูกิแล้ว มันยังแทนค่าของอวัยวะส่วนนั้นของผู้หญิง และตัวแทนบุคลิกลักษณะของเพศหญิงอีกด้วย - -

แน่นอนว่า มีเต้ารับแล้วจะไม่มีเต้าเสียบ หรือปลั๊กไฟตัวผู้ได้ฉันใด มีค่ะ ในเรื่องนี้ก็ได้เปรียบผู้ชายเป็นปลั๊กไฟตัวผู้เช่นกัน

ต้องบอกเลยว่านิยายเรื่องนี้ใช้คุณสมบัติและคุณลักษณะของคำว่าปลั๊กทั้งสองเพศได้อย่างคุ้มค่าชะมัด บรรยายลักษณะความคิดของผู้หญิงและผู้ชายผ่านการเลือกที่จะเสียบ หรือจะยอมให้อะไรเสียบ (อ๊างโจ๋งครึ่มไปมะเนี่ย -///-)

ในขณะที่ผู้ชายซึ่งเปรียบเสมือนปลั๊กไฟตัวผู้ใช้สิทธิ์ในการ "เสียบ" ได้อย่างอิสระ แต่ผู้หญิงที่เปรียบเสมือนเป็นปลั๊กไฟตัวเมียและมีสิทธิ์ในการ "เลือกรับตัวเสียบ" ได้เหมือนกัน กลับมีน้อยคนมากที่จะใช้สิทธิ์นั้นอย่างอิสระโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือคนข้างกาย และถ้าจะใช้สิทธิ์ ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เมื่อสุดทนแล้วเท่านั้น - -"

เช่นเดียวกับคำว่ามิโกะที่มีหน้าที่ในการรับขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยให้กับคนทั่วไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำนี้ก็สามารถใช้ได้กับทั้งสองเพศ ดังนั้นในเรื่องนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่คนมีสิทธิ์จะเป็นมิโกะจึงมีได้ทั้งชายและหญิงนั้น คนเขียนก็เอามาใช้แทนค่าความนึกคิดของผู้หญิงอีกหลายคนเช่นกัน ว่าพวกเธอเลือกที่จะทำหน้าที่เหมือนตัวเองเป็นมิโกะคอยปัดเป่าความทุกข์ให้กับผู้ชายมากกว่าจะเลือกให้ผู้ชายเป็นมิโกะค่อยปัดเป่าความทุกข์ของพวกเธอ ผ่านวิธีสื่อที่ง่ายที่สุดคือการมีเซกซ์...

นอกจากนั้นคนเขียนยังตีแสกหน้าเพศชายด้วยอีกว่า แท้จริงแล้วเหล่าเต้าเสียบนั้น ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนที่เห็นภายนอก เพราะเมื่อไรก็ตามที่ถอดตัวหุ้มตรงด้ามจับปลั๊กออก ก็จะไม่สามารถคงรูปความแข็งแกร่งและความสามารถในการใช้งานไว้ได้เหมือนเดิม - -" (พูดง่ายๆ ก็คือ หากตรงด้ามจับแตก เราก็ไม่สามารถใช้การเต้าเสียบได้อีกจนกว่าจะหาอะไรมาหุ้ม) เหมือนกับเพศชายหลายคนที่เมื่อถูกรู้ตัวจริงที่ไม่เข้มแข็งแล้ว ก็จะกลายเป็นเพียงลูกไก่ในกำมือ

ผิดกับเพศหญิงที่ต่อให้ตรงที่หุ้มเต้ารับแตกต้องเอาออก เต้ารับก็ยังคงใช้การเหมือนเดิม ศรีทนได้.....

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เรื่องนี้ตอนต้นเรื่องจะนำเสนอเหมือนเพศชายเป็นใหญ่กำหนดชีวิตของอีกเพศและคนที่อ่อนแอกว่า แต่พอไปช่วงครึ่งหลัง ท่ามกลางความแข็งแกร่งเหล่านั้นกลับพบว่า พวกเขาหลายคนต้องแกร่งเพื่อรักษาเปลือกของตนเองเอาไว้ รวมทั้งอ่อนแอเกินกว่าจะรับได้ว่า ตัวเองนั้นไร้ความสามารถในการควบคุม และกำลังถูกอีกเพศควบคุมทางอ้อมอยู่ (หากคนที่เคยอ่านเรื่องนี้มาก่อนงงว่าตัวเองกำลังหมายถึงช่วงไหน ให้ลองกลับไปสังเกตพฤติกรรมในช่วงหลังๆ ของตัวอาจารย์กับคู่เพื่อนของยูกิดูนะคะ จะมีความนัยในเรื่องนี้แฝงอยู่)

ในขณะที่เพศหญิงหลายคนที่ดูอ่อนแอ และทำอะไรไม่ได้หากไร้เพศชายนั้น หากเมื่อใดก็ตามที่เธอรู้ว่าจะใช้การเป็นเต้ารับของเธออย่างไรในการรับมือกับเต้าเสียบ เมื่อนั้น เธอก็จะสามารถควบคุม และเลือกเต้าเสียบได้ (ตัวละครที่แสดงถึงจุดนี้ชัดสุดๆ ก็ไม่ใช่ใคร ยูกิกับเพื่อนยูกิสมัยมหาวิทยาลัยนั่นเอง ที่เปลี่ยนจากฝ่ายต้องตามเกมเพศชาย กลายเป็นฝ่ายคุมเกมเอง)

หลังจากที่ตัวเองซื้อเล่มนี้มาแล้วลองไปหาอ่านรีวิวนิยายเล่มนี้ ก็พบว่านักอ่านไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบเรื่องนี้ และทักจัง (ทากุจิ แรนดี้ ผู้เขียน) มาก บางคนบอกด้วยซ้ำว่าท่าทางเจ๊คนนี้แกคงจะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเพศ ทุกเล่มที่เขียนถึงได้มีแต่เรื่องพรรค์นี้ และสงสัยมากว่า เจ๊แกได้รางวัลมาอย่างไร5555

ส่วนหนึ่งที่นักอ่านไทยไม่ค่อยชอบเรื่องนี้ นอกจากเป็นเพราะโดนชื่อเรื่องภาษาไทยหลอกแล้ว อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่ต่างกันด้วย เพราะคนญี่ปุ่นนั้น ถึงจะเหมือนคนเอเชียทั่วไปที่ค่อนข้างไม่แสดงออกในเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง แต่ถ้าหากศึกษาเรียนรู้เฝ้าดูคนญี่ปุ่นก็จะพบว่าพวกเขาเลือกจะแสดงออกในเรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ แทน (อารมณ์เหมือนเมื่อตัวเองไม่สามารถแสดงออกโต้งๆ ได้ ก็ไประบายออกผ่านทางอื่น) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องนี้ และนิยายญี่ปุ่นอีกหลายเรื่องจะมีเขียนถึงเรื่องเซกซ์ตรงๆ ไม่มีการเขียนถึงอ้อมๆ แม้จะไม่ใช่นิยายแนวอิโรติกก็ตาม

ผิดกับคนไทยที่รู้สึกว่านิยาย หรือหนังสือสำหรับการอ่านเป็นของสูงโดยนัย แต่คนญี่ปุ่น พวกนิยายก็เหมือนกับสื่อชนิดหนึ่งที่ไว้เผยความรู้สึกนึกคิดของคนเขียนออกมาเท่านั้น และตัวมันจะมีค่าสูงขึ้นตามเนื้อหาที่สื่อออกมาว่าให้อะไร - -"

โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ที่เรื่องนี้จะได้รับรางวัล เพราะแนวคิดและการนำเสนอของเจ๊ก็ใช่ย่อย อ่านแล้วทึ่งมากๆ คิดได้ไง โยงเรื่องพรรค์นี้เข้ากับเรื่องสยองขวัญ หลอกเราตั้งแต่ต้นเรื่องว่าน่าจะเป็นอีกแนว ก่อนจะไปทวิสต์ท้ายเรื่องให้เป็นอีกแนว55 แต่คงไม่แนะนำให้คนใกล้ตัวอ่าน เพราะมันไม่ถูกจริตคนไทย

ที่ชอบอีกจุดหนึ่งในเรื่องคือตัวพี่ชายของยูกิ ตัวต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดที่เป็นสัญลักษณ์แทนคนฆ่าตัวตาย

อาจจะเป็นเพราะทักจังที่เขียนเรื่องนี้มีพี่ชายเป็นฮิคิโคโมริ (คนที่หมกตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือในห้องส่วนตัว เพราะกลัวหรือไม่อยากออกสู่สังคม) และตายแบบเดียวกับที่พี่ชายของยูกิตาย (หรือก็คือพี่ชายของทักจังเป็นต้นแบบของพี่ชายยูกิและแรงตั้งต้นในการเขียนเรื่องนี้นั่นเอง) เธอจึงมีมุมมองต่อเรื่องทำนองนี้ต่างออกไปจากปกติ

ในเรื่องนี้ตัวพี่ชายของยูกิเป็นการนำเสนอความนึกคิดในอีกแง่มุมหนึ่งของคนฆ่าตัวตาย

แม้ว่าในเรื่องพี่ชายของยูกิจะตายเพราะวิญญาณหลุดออกจากร่างไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าวิเคราะห์ดูก็จะรู้ว่าการตายของพี่ชายไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนฆ่าตัวตายเลยแม้แต่น้อย เพราะทำให้ตัวเองตายอยู่ดี (แม้ในเรื่องจะเป็นทางอ้อมอย่างไม่มีวิญญาณแล้ว ร่างกายก็เลยต้องดับไปตามกาลก็ตาม)

การนำเสนอของทักจังทำให้เห็นว่า บางคนที่เลือกทำให้ตัวเองตายไม่ได้เป็นเพราะมีทุกข์ หรือถูกอะไรบีบคั้นอย่างเดียว บางครั้งการที่ไม่มีอะไรเลยก็ทำให้คนไม่อยากอยู่ต่อได้เหมือนกัน (ซึ่งแนวคิดนี้ตัวเองแอบรู้สึกว่าคล้ายๆ กับเรื่อง ไคโร ผีอินเตอร์เนท ชอบกล - -) พูดง่ายๆ ก็อย่างประโยคที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ความเหงาก็ฆ่าคนได้เหมือนกัน

เหมือนอย่างพี่ชายของยูกิ ที่วันหนึ่งก็พบว่าตัวเองไม่มีอะไรผูกพันกับโลกนี้เลย และโลกหน้าที่ตัวเองเชื่อมต่อไปได้ มีอะไรน่าสนใจกว่า ก็ไปเลย ก็เท่านั้น จบ

รวมทั้งที่บอกว่าการทำให้ตัวเองตายคือการคิดสั้น บางที บางคน ก็ไม่ได้คิดสั้นเลยในการจะทำให้ตัวตาย เช่นเดียวกับที่ตัวพี่ชายเองกว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะเสียบปลั๊กตัวเองต่อกับอีกโลก ก็ใช้เวลาอยู่หลายวันในการคบคิดเช่นกัน และเมื่อใดก็ตามที่ได้ข้อสรุปแล้ว ก็ทำตามข้อสรุปนั้นทันที แม้จะเป็นข้อสรุปที่อาจได้มาในเสี้ยววินาทีก็ตาม ราวกับทักจังอยากจะบอกว่า บางครั้ง สิ่งที่คนทั่วไปคิดว่ามันเป็นแค่การคิดสั้น เป็นความคิดโง่ๆ เป็นความคิดที่ผิด แต่สำหรับบางคน มันอาจเป็นทางที่ "ใช่" และเป็นความสุข ถูกต้องที่สุดแล้วก็ได้

ในเรื่องนี้ชอบการนำเสนอเรื่องการทำให้ตัวตายแบบไม่ตัดสินถูกผิดชัดเจน แต่บอกถึงผลที่จะตามมาหลังจากการตายของคนคนนั้นมากกว่าว่า การฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นทางหลุดพ้นอะไร เพราะการหลุดพ้นจากโลกนี้ไปอีกโลกหนึ่งก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะเจอโลกที่ดีกว่าอย่างที่คิดไปเอง นอกจากเห็นได้ชัดว่ามันเป็นการเพิ่มปัญหาให้คนที่อยู่ข้างหลังเท่านั้น

ไม่ว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นไปเพราะคิดดีแล้วหรือไม่ ไม่มีการฆ่าตัวตายใดที่ทำให้ทุกคนหลุดพ้น แม้แต่คนตายไปแล้วก็ยังต้องมีเอี่ยวเป็นภาระให้คนที่อยู่ข้างหลังจัดการกับซากหรือความรู้สึกที่ทิ้งไว้ให้อยู่ดี - - (อย่างในเรื่อง สุดท้ายแล้วเจ้าของบ้านเช่าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพี่ชายก็ต้องมาจัดการศพ น้องสาวก็ต้องมาไขข้อข้องใจเรื่องพี่ชาย ตำรวจก็ต้องมานั่งหาสาเหตุ)

สำหรับตัวเองแล้ว นี่เป็นนิยายแนว mystery + coming of age เพราะนอกจากจะได้รับความสยองขวัญจากอาการเหมือนจะหลอนของยูกิ + กับการโยงไปในทางเรื่องลี้ลับอย่างการเป็นมิโกะแล้ว ในเรื่องก็ยังแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของตัวละครในช่วงรอยต่อระหว่างวัยรุ่นตอนปลายกับการเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย

ทักจังทำให้เห็นว่าพลังมิโกะที่ยูกิต้องยอมรับก็ไม่ต่างอะไรจากปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตคนคนหนึ่ง และคนเรามีทางเลือกที่จะใช้กับปัญหานั้นๆ ต่างกันไป และผลที่ได้ก็ย่อมต่างกัน รวมไปถึงการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส5555

ถึงทักจังจะบอกว่าเขียนเรื่องนี้ต่อยอดมาจากการตายของพี่ชายด้วยจินตนาการล้วนๆ ก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ามันแฝงให้เห็นถึงรูปแบบสังคมในปัจจุบัน และการเติบโตที่มากขึ้นตามการเวลาของตัวทักจังเองผ่านทางตัวยูกิด้วย




 

Create Date : 27 มกราคม 2553    
Last Update : 28 มกราคม 2553 17:30:01 น.
Counter : 2028 Pageviews.  

อย่าหลุดว่าฆ่า 嘘をもうひとつだけ

อย่าหลุดว่าฆ่า 嘘をもうひとつだけ




ผู้เขียน : Keigo Higashino
ผู้แปล : มินามิ
สำนักพิมพ์ : เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ราคา 195 บาท


คำโปรยปกหลัง

ฆาตกรรมใดในโลกที่ไร้ร่องรอยให้สาวถึง หากเหตุนั้นเกิดจากแรงจูงใจ...ทุกคำพูดที่เปิดปากออกมามีค่าไม่ต่างจากการแง้มประตูกรงขัง
เจ้าหน้าที่ประจำคณะบัลเลต์พลัดตกลงมาจากระเบียงห้องพักตนเองในอพาร์ตเมนต์ คดีถูกคลี่คลายไปในแง่ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่แล้วตำรวจสืบสวนนายหนึ่งได้ไปหาอดีตนักบัลเลต์เอกหญิงที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน เธอไม่มีทั้งแรงจูงใจในการฆาตกรรม หรือพิรุธใดๆ ทั้งสิ้น ทว่า....


(เครดิตข้อมูล : //www.se-ed.com)



อย่าหลุดว่าฆ่า 嘘をもうひとつだけ


เป็นหนังสือหนึ่งในสองเล่มที่สอยมาจากงานหนังสือฯ เมื่อปี 51 (จากสี่เล่มที่คิดว่าจะซื้อ) สรุปว่าคราวนี้เราไปสอยมาแต่ของเก่าที่คลาดไปเมื่องานหนังสือฯ ต้นปี และเล่ม นี้หลังจากลองไปอ่านรีวิวที่มีคนหนึ่งเขารีวิวเอาไว้ (ซึ่งคนอ่านแกอ่านจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น) ก็พบว่าเนื้อหาน่าสนใจ เป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับการสืบคดีของ "คางะ" นายตำรวจประจำกองสืบสวนสอบสวนที่หนึ่งสถานีตำรวจเนริมะ

ซึ่งนอกจากอ่านรีวิวจากบล็อกนั้นแล้ว ก็คำนวนเอาจากที่เคยได้อ่านเนื้อเรื่องคำโปรยปกหลังก็พบว่าเนื้อหาน่าสนใจ คำแปลดูไม่มีปัญหาอะไร ก็เลยตัดสินใจว่าคราวนี้แหละ จะต้องไปสอยมันซะที (หลังจากทื่สืบแล้วว่าเราคงไปขอไถเรื่องนี้จากใครไม่ได้ ฮะฮะ)

ที่บอกว่าคำแปลไม่มีปัญหาอะไร แม้จะเป็นที่รู้กันว่า การแปลการ์ตูน(บางเล่ม)ของ ned นั้นแจ่มขนาดไหน แต่มันคงใช้วัดไม่ได้กับหนังสือประเภทอื่นในเครือ เพราะตัวเองเคยมีประสบการณ์สยองมาจากตอนไปเปิดอ่าน ZOO ของโอ๊ตจี้ (โอทสึ อิจิ) ในร้านหนังสือก่อนตัดสินใจซื้อ และพบว่าคนแปลแกไม่แปลคำว่า โอฮาโย่ แต่กลับเลือกที่จะใส่เชิงอรรถลงไปว่า เป็นการกล่าวทักทายยามเช้าของคนญี่ปุ่นแทน - -" (และไปถามคุณวัวเหยื่อใกล้ตัวที่ซื้อเล่มนั้นไป ก็พบว่า ช่างแปลได้ไม่รู้เรื่องเอาซะเลย) ก็ตัดสินใจว่า ก่อนจะซื้อนิยายของเนชั่นฯ ก็จะต้องผ่านการไตร่ตรองก่อนชั้นหนึ่ง

แน่นอนว่า ด้วยความที่ตรวจกันแค่นั้น ไม่ได้ลองเปิดอ่านดู (ออกแนวเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน) เพราะตัวเล่มมันบางกว่าที่คิดไว้ตอนแรกโข ราคาก็เบาๆ อยู่ที่เล่มละประมาณสองร้อย ไปซื้อในงานก็ลดลงไปเหลือเล่มละประมาณร้อยห้าสิบ เลยรู้สึกว่าหากแปลไม่ดี หรือเนื้อเรื่องไม่โดนก็คงไม่รู้สึกอะไรนัก เลยตัดสินใจซื้อมาเลยโดยที่ไม่ได้ลองอ่านดูก่อน

แต่ปรากฎว่าพอได้เปิดอ่านดูจริงๆ ก็ดีกว่าที่คิดและผิดหวังกว่าที่คาด (มันยังไงวะ)


คำเตือน

ต่อไปนี้จะมีเนื้อหาที่อาจจะทำให้คนที่ยังไม่ได้อ่านเกิดการอุทานได้ว่านี่มันสปอยล์นี่หว่า

เพราะฉะนั้นพวกสปอยล์โฟเบียทั้งหลายที่ยังไม่เคยอ่านเรื่องนี้ จะปิดๆ ไปซะก็ได้นะ ไม่โกรธไม่เคืองกันแต่อย่างใด


แน่นอนว่า ส่วนที่ดีกว่าที่คิดย่อมเป็นในส่วนของเรื่องราวในหนังสือ ซึ่งตอนที่อ่านจากที่คนที่รีวิวแกสปอยล์ไว้นิดๆ ไม่ได้ทำให้คิดเลยว่าลักษณะการดำเนินเรื่องมันจะเป็นแบบนั้น อย่างที่บอกว่า นี่เป็นรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับการสืบสวนคดีของคางะ แต่การดำเนินเรื่องนั้นกลับไม่ได้ตกเป็นหน้าที่ของคางะแต่อย่างใด

ซึ่งการ ดำเนินเรื่องแบบนั้นก็เป็นดาบสองคมไม่น้อยสำหรับคนที่อ่านนิยายแนวสอบสวนสืบ สวนที่ต้องการลุ้นระทึกว่าใครเป็นฆาตกรตัวจริงด้วยการที่คนอ่านเอาชื่อใคร สักคนมาเป็นประกันก่อนทำการเดาว่าฆาตกรตัวจริงในเรื่องคือใคร

เพราะทันที ที่พ้นบทแรกไป หลังจากนั้น เราก็จะสามารถเดาได้ทันทีว่าฆาตกรในตอนนั้นคือใครฮะฮะฮะ (แต่สำหรับตัวเองอ่านบทหนึ่งยังไม่ทันไรก็เดาได้แล้วว่าใครเป็น)

เนื่องจาก แนวของเรื่องนี้นั้น คนเขียนแกก็คงไม่ได้ตั้งใจจะให้เขียนไปในแนวให้คนอ่านหาฆาตกรตัวจริงกันอยู่ แล้ว ถึงแม้จะยังคงขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของนิยายแนวนี้ที่ให้ผู้อ่านรู้สึกลุ้นระทึกอยู่หน่อยๆ ว่าใครกันแน่ที่เป็นฆาตกร

เพราะแก่นหลักของเล่มนี้อยู่ที่การนำเสนอว่าฆาตกรจะโกหกอย่างไรต่อหน้าตำรวจต่างหาก!!

ถึงได้บอก ยังไงล่ะว่า แค่พ้นบทแรกไป ทุกท่านก็จะสามารถเดาได้แล้วว่าใครกันแน่เป็นฆาตกรตัวจริง โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อคุณปู่ออกมาเดิมพัน - -"

แต่ก็อย่างที่บอก(อีก)นั่นแหละ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสืบคดีของคางะ

ในเมื่อเรื่องนี้ว่าด้วยการโกหกของเหล่าคนร้ายแล้ว หน้าที่ของคางะในเรื่องก็คือ การจับโกหกคนร้ายนั่นเอง

ดังนั้น ชื่อเรื่อง 嘘をもうひとつだけ นั้น จึงไม่ได้หมายถึงว่า ขอโกหกอีกแค่ครั้งเดียวแน่ๆ

แต่เป็นการสื่อให้เห็นว่า รอให้แกโกหกฉันอีกครั้งหนึ่งต่างหาก ฮะฮะฮะฮะ

เข้าข่ายทำนองว่า แกจะโกหกฉันมากี่ครั้ง ฉันไม่สน ขอแค่แกหลุดโกหกนี่ออกมาเท่านั้น ทำนองนั้นแล (พูดง่ายๆ ก็คือ เหตุเกิดเพราะแค่การหลุดโกหกอีกครั้งหนึ่งนี้มานั่นแหละ)

แต่ปรากฎว่า คนแปลค่ะ ตอนเผลอเฮี้ยนไปเปิดอ่านคำนำในส่วนของคนแปล คุณคนแปลที่เคารพ แกตีไปว่า ชื่อเรื่องนี้ หมายถึงการที่คนร้ายขอโกหกแค่อีกครั้ง - -"

เอ่อ คุณคะ ที่คุณอ่านมาทั้งเล่มนี่ คุณยังไม่เห็นอีกเหรอคะ ว่าคนร้ายมันโกหกกันนันสต๊อปขนาดไหน???

ทั้งเล่ม รวมเรื่องสั้นทั้งหกตอน ไม่มีตอนไหนที่คนร้ายอยากจะขอโกหกแค่อีกครั้ง มีแต่ภาวนาปนสาปแช่ง ไอ้คางะ เมื่อไหร่เมิงจะเลิกถามกูซะที ไม่ก็ กูแหลอุดรูรั่วได้ดีรึยังเท่านั้น - -"

แถมในเรื่องคนที่พูดฟิลทำนองเดียวกับชื่อเรื่องนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน ก็อีตาคางะเองแท้ๆ ไหนคนแปลไพล่ไปคิดว่าเป็นแบบนั้นได้หว่า - -"

และที่บอกว่าเผลอเฮี้ยนไปอ่าน เพราะปกติ ตัวเองจะไม่เปิดไปอ่านคำนำทั้งของสำนักพิมพ์หรือในส่วนของคนแปลก่อนอ่านเนื้อเรื่องเด็ดขาด หรือถึงอ่านเสร็จแล้ว ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่มีการเปิดไปอ่านอีกเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนแปลไทยบางส่วน (ขอย้ำว่าบางส่วน) เป็นโรคชอบส้ม

ชอบนัก ส้มป่อย (สปอยล์) เรื่องที่ตัวเองแปลในหน้าคำนำ!!!

เออ ทางนี้รู้แล้วค่ะว่าคุณได้อ่านเรื่องก่อนชาวบ้าน เลยอย่างแบ่งปันประสบการณ์ แต่นี่ไม่ใช่บล็อกจะได้มาแบ่งปันอะไรแบบนี้ แถมชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าคำนำ มันก็ต้องอยู่ด้านหน้าสิวะคะ แล้วคุณจะมาบอกเล่าเก้าสิบไคลแมกซ์เรื่องที่เขาจะได้อ่านหลังจากอ่านหน้าของคุณแล้วทำไมเนี่ย!!!

จี๊ดค่ะมันจี๊ดดดดดดด!!!

หลังจากเจอสปอยล์แบบนี้ไปหลายหน เราก็ตัดสินใจว่าจะไม่อ่านหน้าคำนำเป็นอันขาด!!

อ่านคำนำของหลายชาติหลายภาษามาก็เยอะ แต่มีคำนำของหนังสือไทยยุคนี้นั่นแหละ ที่ชอบสปอยล์หนังสือตัวเอง - -"

ถึงตัวเองจะกำหนดเอาไว้แบบนั้น แต่ก็เหมือนมีอะไรมาดลใจ

ซึ่งอะไรที่ว่าก็ไม่ใช่อะไรหรอก แต่เนื่องจากอ่านที่เจ๊คนแปลแกแปลไป เราก็พบอะไรแม่งๆ มาเรื่อย

ไม่ว่าจะเป็นคำแปลง่ายๆ อย่างร้านชื่อ ซาบรีน่า เจ๊แกแปลมาเป็น ซาบุรีน่า อืม อืม ยังพอทน

สุดท้ายที่รู้สึก...สุดๆ ก็ไอ้ตรงแปลชาซินนามอน เป็นชินนามอน.............

ขอโทษนะ แปลซาบรีน่า เป็นซาบุริน่า ยังไม่เท่าไหร่ แต่ซินนามอนเนี่ย เป็นอะไรที่คนแปล ไม่มีทางที่ไม่น่าจะเดาผิดได้ (แม้จริงๆ แล้ว แค่ซาบรีน่าก็ไม่ควรจะผิดแล้วก็เหอะนะ) ก็เลยตัดสินใจไปเปิดคำนำดู

พอเจอที่เจ๊แกบอกแบบนี้ไว้ในหน้าคำนำก็.... นะ ก็นะ...

ก็เลยไม่แปลกใจว่าทำไมถึงได้เจอไอ้ใจความแม่งๆ (ไม่ใช่แค่เป็นคำๆ หรอก ที่เป็นประโยคก็มีเป็นระยะ) เยอะแยะขนาดนั้น - -

แถมยังรู้สึกว่าไอ้ความผิดประเภทนี้มันเดจาวูชอบกล หลังจากทนอัดอั้นอยู่หนึ่งวัน ก็ได้เจอกับคุณวัวในเอ็ม ก็เลยถามมันไปว่า

"เฮ้ยเมิง คนแปล zoo ชื่อไรวะ"

"อ้อ เมิง ชื่อ มินามิ ว่ะ ขึ้นแบล็กลิสต์กูเลยว่าคนแปลคนนี้ กูไม่ซื้อ ไมเรอะ"

"เออ กูว่าแล้ว ว่าสำนวนแปลแม่งคุ้นๆ ใช่ไอ้คนแปล zoo จริงๆ ด้วย...."

ใช่แล้ว เจ๊คนแปลเล่มนี้ กับเจ๊คนแปล zoo เป็นคนเดียวกันค่ะคุณ

ก็ขอบคุณตัวเองเป็นอย่างยิ่งที่ตอนก่อนจะซื้อเล่มนี้ ไม่ได้เปิดอ่านดูก่อน หรืออย่างน้อย ก็ไม่เปิดอ่านแว๊บๆ ไปเจอหน้าคำนำ เพราะอย่างงั้นคงไม่ซื้อเด็ดๆ - -

เพราะอย่างน้อยๆ เนื้อหาในเล่มก็โอเคจริงๆ (เฉพาะเนื้อหาที่เป็นโครงหลักโดยรวมของเรื่องนะเคอะ)

แนะนำสำหรับ คนที่อ่านญี่ปุ่นไม่ออก หรืออ่านออกแต่ขี้เกียจอ่านภาษาญี่ปุ่นและชอบแนวสืบสวน ที่ไม่เน้นอ่านแค่ตัวพระเอกนางเอกโชว์เทพ โชว์โก๊ะคลี่คลายคดี เพราะในเล่มจะเน้นถึงสภาวะของคนร้ายในระหว่างหลังจากกระทำการฆาตกรรมไปจนถึง ก่อนจะจำนนต่อหลักฐานค่ะ เพราะข้างในก็ไม่ค่อยเลวร้ายเท่าไหร่นัก ถ้าไม่นับค่าเสียหายจากคำแปลประหลาดๆ ที่มีมาเป็นระยะ แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าอ่านของญี่ปุ่นโดยตรงคงจะได้อะไรที่ลุ่มลึกหรือได้ความรู้สึกที่ลุ้น ระทึกกว่านี้ก็เท่านั้น

ส่วนตัวเองคิดว่า รอหลอนก่อนแล้วจะไปซื้อฉบับญี่ปุ่นมาอ่าน เพราะราคามันแพงกว่าฉบับแปลนิดเดียวเอง ฮะฮะ (<--ส่วนที่ต้องรอหลอน เพราะถ้ามีตังค์เหลือ ไม่ได้เอาไปถวายครอบครัวแล้ว ก็คงจะเอาไปถวายพระเจ้าวายเสียหมด ฮะฮะ)




 

Create Date : 22 ธันวาคม 2552    
Last Update : 22 ธันวาคม 2552 17:59:25 น.
Counter : 489 Pageviews.  

 
 

แมวดำตัวหนึ่ง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add แมวดำตัวหนึ่ง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com