|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
สมุด-หนังสือ
รักการอ่าน สร้าง ชีวิต ให้ มีค่า รักการอ่าน สร้าง เวลา ให้ สุขสันต์ รักการอ่าน สร้าง ครอบครัว ให้ รักกัน รักการอ่าน สร้าง ความฝัน ให้ เป็นจริง
จดประโยคนี้มาจากไหนไม่รู้ จำไม่ได้ ที่แน่ๆ ไม่ได้คิดเองหรอกเจ้าค่ะฉันเริ่มหลงไหลหนังสือมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่อาจทราบได้ อาจจะเริ่มจากการเล่านิทานของคุณย่ามาสู่สมุดภาพนิทานที่คุณพ่อซื้อให้ การ์ตูนของพี่ชาย หนังสืออ่านเล่นของเด็กประถม ครอบครัวพระอาทิตย์ และที่บ้านก็มีหนังสือที่คุณพ่อสะสมอยู่มากมาย แล้วไหนจะของลุงป้าน้าอาอีก
ที่ยังพอจำได้อย่างแม่นยำก็คงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนเป็นเด็กนักเรียน....วันไหนเล่นเหนื่อยๆร้อนๆ ก็จะแอบหลบเข้าไปหลับ เพราะข้างในห้องสมุดเย็น..สบายดี แต่ส่วนใหญ่...ก็จะถูกครูบรรณารักษ์(ที่ใส่แว่นปีกผีเสื้อ)คอยแหวว.. หลับกันไม่ค่อยเป็นสุขนัก.... ตัวเองเลยต้องไปรื้อๆหนังสือ...มาอ่าน และห้องสมุดที่นี่เองที่ได้เจอหนังสือ "บันทึกของโมน " เขียนโดยโมน สวัสดิ์ศรี ซึ่งเป็นทายาทของนักเขียน และบรรณาธิการชื่อดัง คือศรีดาวเรือง และสุชาติ สวัสดิ์ศรี ลูกไม้นอกจากไม่หล่นไกลต้นแล้ว ยังหล่นปุ๊ใต้ต้นเลยทีเดียว
โมนเขียนบันทึกจากประสบการณ์จริง ๆ ไม่อำจากโรงเรียน จากการไปดูสุริยุปราคา การไปร่วมงานช่อการะเกดของพ่อ งานบันทึกของโมนเรียบเรียงเรื่องราวได้อย่างมีจังหวะ จะโคน เขียนได้ประณีต มีหลายอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ขัน ก็ขนาดเรื่องความเจ็บป่วยของตัวเอง ยังถ่ายทอดออกมาให้ฉันได้แอบอมยิ้ม @_@
หลังจากนั้นก็หาอ่านไปเรื่อยๆ การอ่านตั้งแต่ตอนนั้นทำให้สอบภาษาไทยได้เกรด 4 ดีใจใหญ่ เลยสมัครใจเป็นสมาชิกของห้องสมุดของโรงเรียน พอมัธยมฯ ก็สนุกกับการอ่าน เคยหนังสือของนายสุวรรณ ที่แต่งเรื่อง"พระมเหลเถไถ" เพี้ยนมาก แต่ตัวเองก็ชอบมาก (เป็นคนแอบซ่อนเพี้ยน ตั้งแต่เด็ก) เขียนไม่เป็นภาษา แต่ก็อ่านๆไป รู้เรื่องด้วยแฮะ ขึ้นต้นด้วย..พระมเหลเถไถ มะไลท่า.. อยากได้หนังสือเล่มนี้จัง ไม่รู้ว่าที่ห้องสมุดสมัยนี้จะยังมีอยู่หรือเปล่า ตามด้วยระเด่นลันได เล่มนี้อ่านกี่ทีๆ ก็ขำ เคยมีอยู่หนเข้าห้องสมุดประชาชนของจังหวัดเพื่อทำรายงาน ดันไปค้นเจอนิยายจีนเล่มหนึ่ง จำว่าชื่อ "กำเทียนลก" ได้อ่านไม่ครบขาดไป ฉันก็เทียวถีบจักรยาน ไปห้องสมุดเมื่อวันหยุดเสาร์ อาทิตย์หวังว่าจะไปเจอเล่มต่อ เพราะเข้าใจว่าอาจมีคนยืมไป ถามบรรณารักษ์ทุกวันที่ไปจนบรรณารักษ์หน้าบูด แถมด่าเราอีกต่างหาก(แย่จัง..ผู้ใหญ่นี่) หลังจากนั้นก็ไม่กล้าถามและไม่มีโอกาสให้เลือกมาก ฉันก็เลยอ่านๆ ไป ผู้ชนะสิบทิศ ถ้าใครจะอ่านเล่มนี้แนะนำให้กราบก่อนอ่าน พงศาวดารอย่างสามก๊กเล่มอย่างหนา แบบเอามาเป็นหมอนไว้หนุนนอนได้เลยก็อ่านจบ อ่านรอบเดียวพอค่ะ ไม่ต้องสามรอบก็ได้ เดี๋ยวไม่มีคนคบ ^^ หรือ "ขุนทอง"....เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง จำขึ้นใจแต่ยังอยากกลับไปอ่านอีกหน อ่านเกือบทุกเล่ม เกือบทุกเรื่อง ที่พอจะมีให้อ่านได้ แถมยุคสมัยนั้นห้องสมุดประชาชนของจังหวัดมักจะมีหนังสือให้อ่านไม่มากนัก แต่ก็แปลกที่กลับเป็นหนังสือที่หลายๆท่านยกให้เป็นหนังสือในดวงใจ อาทิ พล นิกร กิมหงวน ขุนศึก สามก๊ก ผู้ชนะสิบทิศ และเรื่องสั้นต่างๆที่อ่านแล้วเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เช่นของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะไม่เคยเที่ยวกลางคืนในบางกอก
นักเขียนไม่ว่าสมัยหรือสมัยนี้ หากได้ตีพิมพ์ย่อมไม่ธรรมดา ทุกท่านเขียนด้วยใจรักและมีสำนวนเฉพาะตัว กระทบใจผู้อ่านที่ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ก็คงต้องขอบคุณนักเขียน นักแปลทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วย ย้อยกลับไปต้องขอบคุณ "บันทึกของโมน" ไม่เช่นนั้นฉันอาจไม่รักการอ่านในทุกวันนี้
อ่านมาก็เยอะ ถ้าถามว่าหนังสือในดวงใจคือเล่มไหนคงตอบไม่ได้หมด เพราะทุกเล่มมีดีในตัว ไม่เว้นแม้แต่บทความหรือเรื่องสั้น
ทุกวันนี้เวลาแวะเข้าร้านหนังสือ...ซีเอ็ดเอย นายอินทร์เอย..คนเข้าร้านเยอะแยะ เดินหาอะไรลำบากมาก และที่งงมากกว่านั้น มีเด็ก + ผู้ใหญ่จับจองพื้นที่ที่พอว่าง นั่งอ่านกันเป็นแถว ช่องว่างระหว่างชั้นซึ่งแคบอยู่แล้ว เดินไม่ได้เลย ไม่รู้จะดีใจ หรือเสียใจ หรือเศร้าใจ
ที่ดีใจ คนใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์อยู่ที่ร้านหนังสือมากขึ้น? คงแค่บางร้าน เพราะอีกร้าน ร้านเก่าร้านแก่แทบไม่มีคน ที่เศร้าใจ เพราะมันน่าจะบอกอะไรบางอย่าง อะไรล่ะ ห้องสมุดสมัยเด้กของฉันล่ะ แหล่งรวบรวมความรู้โดยไม่ต้องซื้อหายไปไหน รัฐมัวแต่เห่อคอมพิวเตอร์จนลืมแหล่งความรู้ ความบันเทิงแบบง่ายๆ อย่างห้องสมุด ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงนี่มีห้องสมุดไหมฉันก็ไม่ค่อยจะทราบ ที่แน่บ้านเมืองเราคงมีทุกจังหวัด
แต่ทำอย่างไรถึงจะให้เด็กในวันนี้รักการอ่านเพราะผลพลอยได้จากการอ่านคือ เกิดความสุขจากความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน เกิดความอิ่มเอิบใจจากอรรถรสที่ผู้เขียนกลั่น ออกมาจากอารมณ์และความรู้สึกและเกิดจินตภาพตามจินตนาการของผู้เขียนอันเป็นจุดประกายของความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่แปลกใหม่ แต่ การอ่านกับคนไทย(บางคน) ยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน เพราะนิสัยของคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ เนื่องจากพื้นฐานของสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการฟังมากกว่า เป็นสังคมแห่งการอ่าน และหากจะอ่านก็อ่านเฉพาะตำราเรียนเพื่อมุ่งการสอบ(เพื่อแข่งขัน)มากกว่าการอ่านเพื่อประเทืองปัญญา(เพื่อคุณธรรม) คนไทยส่วนใหญ่จึงมองว่า การอ่านทำให้เสียเวลา การอ่านคือความไร้สาระ การอ่านคือความสิ้นเปลือง
การรักการอ่านจะเกิดขึ้นครั้งแรกในครอบครัว หากครอบครัวสนับสนุน ครอบครัวส่งเสริม และไม่กีดกัน หากลูกหลานจะอ่านการ์ตูน อ่านนิทาน หรือเช่าหนังสือนิยายจากร้านหนังสือ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดประกายของการอ่านทั้งสิ้น คุณลองสำรวจตัวเองเล่นๆ ดูว่า ที่บ้านของคุณมีวัสดุการอ่านหรือไม่ เช่น บอกรับหนังสือพิมพ์ บอกรับวารสาร มีตู้หนังสือ หรือ มีมุมการอ่านของบ้าน
คุณเป็นสมาชิกของห้องสมุดใดหรือไม่ ในรอบ ๑ ปี เคยเข้าใช้บริการห้องสมุดต่างๆ เช่นห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดวิทยาลัย กี่ครั้ง ในรอบ ๑ เดือน บุคคลในครอบครัวชวนกันเข้าร้านหนังสือ หรือร้านเช่าหนังสือ กี่ครั้ง หรือเมื่อครอบครัวชวนกันไปห้างสรรพสินค้าได้แวะเข้าไปที่ร้านจำหน่ายหนังสือที่อยู่ในห้างหรือไม่
ลองสำรวจตัวเองดูสิ
Create Date : 01 ตุลาคม 2549 |
|
3 comments |
Last Update : 1 ตุลาคม 2549 17:15:19 น. |
Counter : 1634 Pageviews. |
|
 |
|
|
| |
โดย: คันธา IP: 203.188.26.185 10 ตุลาคม 2549 22:09:06 น. |
|
|
|
| |
โดย: ืnikk IP: 71.117.207.126 14 ตุลาคม 2549 10:34:14 น. |
|
|
|
| |
โดย: moto IP: 58.10.96.93 15 ตุลาคม 2549 0:22:18 น. |
|
|
|
|
|
|
|