Sometimes I'd tell them the truth and they still wouldn't believe me, so I prefer to lie.

Good Bye Lenin! แด่ความหวัง ความฝัน และอุดมการณ์

บทความนี้เป็นงานเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในชีวิตของผมครับ อาจยังเขียนได้ไม่ดีพอก็อย่าว่ากันนะครับ



เมื่อเอ่ยถึงหนังสัญชาติเยอรมันแล้ว...
หลายคนคงถึงกับต้องเบือนหน้าหนีด้วยความเบื่อหน่ายจากความคิดที่ว่า
หนังเยอรมันยังไงก็หนีไม่พ้นหนังดราม่าหนักอึ้งหรือไม่ก็หนังสงครามเป็นแน่
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคำปรามาสแขวะกัดคนเยอรมันอีกว่า “คนเยอรมันน่ะทำหนังตลกไม่เป็นหรอก”
แต่ดูท่าว่าหลายคนคงจะคิดผิดและคำสบประมาทนี้จะใช้ไม่ได้จริง เพราะยังมีหนังเยอรมันอยู่หลายเรื่องที่ไม่ได้เข้าข่ายนี้ มิหนำซ้ำยังเป็นหนังตลกเสียด้วย และหนึ่งในนั้นคือ Good Bye Lenin!


Good Bye Lenin! เป็นผลงานการกำกับโดย โวล์ฟกัง เบคเกอร์ ที่อิงประวัติศาสตร์และมีฉากหลังอยู่ในระหว่างปี ค.ศ.1989 – ค.ศ.1991 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เยอรมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่นั่นคือ การทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมประเทศเข้าเป็นหนึ่งเดียว และการหลั่งไหลพรั่งพรูของกระแสทุนนิยมจากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออก

เบคเกอร์-ผู้กำกับ อาศัยการเล่าเรื่องราวผ่านครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งในเยอรมันตะวันออกที่มี อเล็กซ์ (แสดงโดย แดเนียล บรูห์ล) และแม่ – คริสติอาเน่ เคอร์เนอร์ (คาทริน ซาซ) เป็นสองตัวละครหลักที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวความผูกพันแสนประทับใจระหว่างแม่กับลูก

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งอเล็กซ์ยังเป็นเด็ก พ่อของเขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยจากทางการว่าหนีไปอยู่ฝั่งตะวันตก เมื่อได้รับแจ้งข่าวนี้ คริสติอาเน่ตกอยู่ในภาวะหดหู่และเศร้าซึม ไม่ยอมเอ่ยปากพูดจากับใครจนต้องเข้ารับการบำบัดทางจิต

แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นเธอก็หายดีเป็นปกติทุกอย่างเหมือนเดิม เว้นเพียงอย่างเดียวที่เปลี่ยนไปคือ อุดมการณ์สังคมนิยมของเธอที่ทวีความแรงกล้าขึ้นอย่างสุดขั้ว

จวบจนเวลาผ่านไปสิปปี คริสติอาเน่ผันตัวเองไปเป็นนักสังคมนิยมตัวยง คอยสอนเด็กๆ ให้ร้องเพลงปลุกใจ และด้วยความใฝ่ฝันที่อยากให้สังคมเท่าเทียมกันดังโลกสังคมนิยมในอุดมคติ จึงให้ความช่วยเหลือแม้เพียงเล็กน้อยแก่ผู้เดือดร้อนเท่าที่พอจะช่วยได้ ทำให้เธอได้รับรางวัลพลเมืองดีเด่นติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

เช่นเดียวกับในปีนั้นซึ่งก็เป็นอีกปีที่เธอได้รับรางวัล ทว่าในคืนพิธีมอบรางวัลนั้นเอง คริสติอาเน่พบว่าอเล็กซ์กลับกลายเป็นหนึ่งในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้เธอช็อคมากจนล้มลงหมดสติอยู่กลางถนน ทำให้เธอตกอยู่ในอาการโคม่าและกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่นานถึงแปดเดือน

ระหว่างที่คริสติอาเน่นอนแน่นิ่งสลบไสลอยู่ที่โรงพยาบาล อเล็กซ์คอยหมั่นเพียรมาเยี่ยมและเฝ้าดูอาการของแม่อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และที่แห่งนั้นเองทำให้เขาพบกับลาร่า (ชูลแพน คามาโตวา) พยาบาลสาวชาวรัสเซียที่กลายมาเป็นคนรักของเขาในเวลาต่อมา

แปดเดือนที่คริสติอาเน่นอนหลับไม่ได้สติ นับเป็นช่วงเวลายาวนานมากพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง นับตั้งแต่อเล็กซ์ได้งานทำใหม่เป็นพนักงานติดตั้งจานดาวเทียม แอเรียน (มาเรีย ซิมอน) พี่สาวของอเล็กซ์ ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาทำงานอยู่ที่เบอร์เกอร์คิง และมีแฟนคนใหม่เป็นหนุ่มจากฝั่งตะวันตกชื่อ ไรเนอร์ (อเล็กซานเดอร์ เบเยอร์)

จนไปถึงความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงที่สุดนั่นคือ ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำไปสู่การทลายลงของกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของระบบสังคมนิยม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามมาทั้งการอพยพย้ายถิ่นระหว่างผู้คนทั้งสองฝั่ง และการรุกเข้าคืบคลานของระบบทุนนิยมสู่ฝั่งตะวันออกที่พลิกวิถีชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง

แล้ววันหนึ่งเหมือนสวรรค์เป็นใจทำให้คริสติอาเน่ฟื้นตื่นขึ้นราวกับปาฏิหาริย์ หมอได้กำชับกับอเล็กซ์และแอเรียนว่าห้ามให้มีเรื่องใดกระทบกระเทือนจิตใจของแม่อีกเป็นอันขาด มิเช่นนั้นปาฏิหาริย์คงไม่เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง และยังแนะนำอีกว่าควรให้คริสติอาเน่พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลต่อไป

แต่อเล็กซ์เกรงว่าหากให้แม่อยู่โรงพยาบาลต่อ แม่จะต้องรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเข้าสักวันซึ่งนั่นอาจทำให้แม่ช็อกได้อีกครั้ง จึงตัดสินใจพาแม่กลับบ้านในที่สุด เรื่องราววุ่นๆ ทั้งหมดที่อเล็กซ์ต้องรับมือจึงเกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการจัดฉากให้ห้องของแม่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าเก็บจากยุคสังคมนิยมรุ่งเรือง การเสาะแสวงหาของเก่าอย่างแตงกวาดองยี่ห้อโปรดของแม่แล้วลอกเอาสติกเกอร์โลโก้มาแปะบนขวดแตงกวาดองซึ่งเป็นสินค้ายุคใหม่ การชวนเพื่อนๆ ของแม่ให้มาร่วมงานวันเกิด และเกณฑ์เด็กๆ มาร้องเพลงให้ฟัง หรือแม้แต่การร่วมมือกับเพื่อนสนิท เดนิส (ฟลอเรียน ลูคัส) สร้างรายการข่าวของปลอมทางทีวีให้แม่ดูเพื่อไม่ให้คลาบแคลงใจถึงสิ่งผิดสังเกตต่างๆ ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการจัดฉากให้เห็นว่าโลกในอุดมคติของแม่ยังคงเหมือนเดิม หรือถ้าจะพูดว่าเป็นการสร้างโลกในแบบที่อเล็กซ์ต้องการก็คงจะไม่ผิดนัก

ในขณะที่อเล็กซ์พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกปิดความจริงไม่ให้แม่รู้ เขาเองก็ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนว่าแม่ก็มีเรื่องที่ปิดบังเขาและพี่สาวเช่นกัน

จนกระทั่งในวันที่เขาตั้งใจจะบอกความจริงกับแม่ในตอนที่ไปเที่ยวบ้านพักตากอากาศด้วยกันพร้อมหน้ากับครอบครัว กลับกลายเป็นตัวเขาเองที่ได้รับรู้ความจริงอันน่าสะเทือนใจที่แม่ปิดซ่อนมาโดยตลอด

ความจริงเกี่ยวกับพ่อที่เขาเข้าใจผิดมาเสมอว่าทิ้งครอบครัวหนีไป หากแต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะพ่อแค่ย้ายไปอยู่เมืองอื่นก่อนเพื่อรอให้พวกเขาตามไปทีหลัง

เป็นเพราะคริสติอาเน่เองที่รู้สึกกลัวขึ้นมาจึงไม่ได้ย้ายตามไป พ่อได้แต่รออยู่ที่นั่นและส่งจดหมายกลับมาที่บ้านเป็นเวลาถึงสามปีแต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับ นั่นเป็นเพราะแม่นิ่งเฉยและเอาจดหมายทั้งหมดไปซ่อนไว้ ไม่ให้ลูกทั้งสองได้รับรู้เลยแม้แต่น้อย

จุดเด่นที่สุดของ Good Bye Lenin! อยู่ที่การนำเอาประเด็นทางการเมืองเชื่อมโยงผ่านครอบครัวของเคอร์เนอร์ได้อย่างลงตัว “การโกหก” ระหว่างอเล็กซ์กับแม่ เปรียบได้กับ “กำแพงเบอร์ลิน” ที่ปิดกั้นความเข้าใจและความคิดที่มีต่อโลก

อเล็กซ์ เข้าใจว่าพ่อแปรพักตร์กลายไปเป็นพวกทุนนิยมและทิ้งเขาไปตั้งแต่เล็ก เขาจึงเติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่เพียงคนเดียว โดยปราศจากเงาของพ่อและโลกของพ่อ (เยอรมันตะวันตก) อย่างสิ้นเชิง ทำให้เขาไม่ยอมรับในตัวพ่อ และไม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ เขาจึงมีความสุขและดูไม่ขัดเขินกับการสร้างโลกสังคมนิยมจำลองขึ้นมา

ต่างกับแอเรียน พี่สาวของเขาที่ได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยมเข้าอย่างจัง ตั้งแต่การทำงานในร้านเบอร์เกอร์คิงซึ่งเป็นร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังของอเมริกา หรือการมีแฟนใหม่เป็นคนฝั่งตะวันตกที่ชอบอบผิวให้มีสีแทน และชอบใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย

ดังนั้นเมื่ออเล็กซ์ได้รับรู้ความจริงเรื่องพ่อจึงเท่ากับกำแพงเบอร์ลินในใจของเขาได้ทลายลง ทำให้เขาเข้าใจทุกอย่างถูกต้องและพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ได้อย่างเต็มตัวเสียที

สังเกตได้ว่าที่ซ่อนจดหมายของพ่ออยู่ที่ฝาหลังตู้ของครัวที่ติดกำแพง ซึ่งน่าจะสื่อถึงกำแพงเบอร์ลิน การจะเอาจดหมายออกมาอ่านเพื่อรับรู้ความจริงเท่ากับว่าต้องทำลายฝานั้นทิ้งไป ก็เหมือนกับการทลายลงของกำแพงเบอร์ลินที่นำมาสู่ความเป็นโลกแห่งเสรีและการรวมกันเป็นหนึ่งของประเทศเยอรมัน

คริสติอาเน่ เปรียบได้กับการคงอยู่และความเป็นไปของพรรคคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์สังคมนิยม หรือแม้แต่เยอรมันตะวันออก

ในยุคที่สังคมนิยมยังเรืองอำนาจ เธอใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขและอุทิศตนทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างเต็มกำลัง แต่จากเหตุการณ์ในวันที่เธอเห็นอเล็กซ์เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งทำให้เธอหมดสติไปเป็นเวลานาน นับเป็นจุดเริ่มต้นของความผันผวนทางการเมืองพอดิบพอดี

จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ทั้งความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ การล่มสลายของสังคมนิยม การทลายลงกำแพงเบอร์ลิน จนในที่สุดเยอรมันก็ประกาศรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว

แม้ว่ากำแพงเบอร์ลินจะไม่มีอีกแล้ว แต่เมื่อคริสติอาเน่ฟื้นขึ้นอีกครั้ง อเล็กซ์จึงจำเป็นต้องสร้างเรื่องโกหกที่เป็นการโกหกด้วยเจตนาหวังดี (White Lie) เหมือนอย่างที่กุยโด้สร้างเรื่องโกหกเพื่อไม่ให้ลูกชายต้องจดจำสภาพความเลวร้ายของค่ายกักกันนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในหนังเรื่อง Life is Beautiful

การโกหกครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการสร้างกำแพงเบอร์ลินให้กับความคิดของแม่ว่าอุดมการณ์สังคมนิยมยังคงมีอยู่

หลังจากที่คริสติอาเน่ฟื้นคืนสติได้อีกครั้งและไม่รู้ถึงความจริงที่เกิดขึ้น ชีวิตของเธอในช่วงนี้จึงเปรียบได้กับโลกสังคมนิยมในอุดมคติ ตามความคิดของลัทธิสังคมนิยมโดย คาร์ล มาร์กซ ที่ว่าทุกคนจะอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีผู้ใดทุกข์ร้อนหรืออดอยาก มีแต่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

อย่างที่คริสติอาเน่เข้าใจว่าผู้คนฝั่งตะวันตกมากมายที่พากันอพยพเข้ามาเป็นความช่วยเหลือของรัฐบาลเยอรมันตะวันออก ทั้งที่ในความเป็นจริงเยอรมันตะวันออกได้กลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว

ในตอนท้ายเรื่องที่คริสติอาเน่จากโลก(สังคมนิยมอุดมคติ)นี้ไป อเล็กซ์ได้นำอัฐิของแม่ใส่ไว้ในจรวดและปล่อยให้ล่องลอยไปตามสายลมตามคำสั่งเสีย ฉากนี้น่าจะมีความหมายถึงความหลุดพ้นจากการครอบงำของอุดมการณ์สังคมนิยม

คล้ายกับว่าคริสติอาเน่รู้และยอมรับความจริงแล้วถึงการเกิดขึ้นและมีอยู่ของทุนนิยมและโลกเสรี ซึ่งทำให้โลกไร้พรมแดนและทุกประเทศเชื่อมโยงถึงกันเปรียบได้กับสภาพของท้องฟ้าหรืออวกาศที่กว้างใหญ่ไพศาลและไร้อาณาเขตขวางกั้น

ในฉากก่อนหน้าที่ลาร่าพูดคุยกับคริสติอาเน่ในห้องพยาบาลก่อนที่อเล็กซ์จะพาพ่อเข้ามาเยี่ยมเป็นการแสดงให้เห็นว่าคริสติอาเน่ได้รับรู้ถึงความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งรายการข่าวโทรทัศน์ปลอมที่อเล็กซ์ทำขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงการทำลายกำแพงเบอร์ลิน (ด้วยเหตุผลที่ดีกว่าความเป็นจริง) ก็น่าจะเป็นการตอกย้ำได้ดีว่าถึงแม้คริสติอาเน่จะได้จากโลกนี้ไปแล้วแต่ก็เป็นการจากไปอย่างเข้าใจและเป็นสุข

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งในหนังที่พบเห็นบ่อยครั้งมากที่สุดคือ ทุกสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับอวกาศ (Space) ไม่ว่าจะเป็นนักบินอวกาศ จรวด หรือแม้แต่ภาพยนตร์อวกาศ

อย่างในฉากสุดท้ายที่อเล็กซ์นำอัฐิของแม่ปล่อยไปกับจรวด หรือฉากตอนต้นเรื่องที่ตัวเขาสมัยเด็กเล่นปล่อยจรวดกับเพื่อนๆ และจินตนาการไปเองว่าตัวเองเป็นนักสำรวจอวกาศ

การ์ตูนมนุษย์ทราย (Sand man) ที่เขาโปรดปรานสมัยเด็กที่ฉายอยู่ในทีวีตอนที่เขาไปหาพ่อที่บ้าน และพบกับลูกๆ ใหม่ของพ่อทั้งสองคนนั่งดูอยู่ก็เป็นตอนที่มนุษย์ทรายแต่งตัวเป็นนักอวกาศเดินทางไปนอกโลกพอดี

และที่สำคัญคือการมีฮีโร่ในดวงใจตลอดกาลเป็นนักท่องอวกาศชาวเยอรมันตะวันออกคนแรกที่ได้ไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ชื่อ “ซิกมุนด์ เอียน”

ไม่เพียงแต่อเล็กซ์คนเดียวที่ชื่นชอบในเรื่องอวกาศ เดนิส เพื่อนของเขาก็น่าจะมีความชื่นชอบและสนใจในเรื่องอวกาศไม่ใช่น้อย (แม้จะเกี่ยวในแง่เรื่องราวของหนังก็เถอะ)

จากฉากที่เป็นมุขเด็ดสองมุขของเรื่อง ในตอนที่เดนิสนำเทปวิดีโอที่ตัดต่อด้วยตัวเองมาให้อเล็กซ์ดู การตัดต่อในหนังของเขาเป็นการเลียนแบบฉากเด็ดในหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ของผู้กำกับ สแตนลีย์ คิวบริก และอีกตอนหนึ่งที่พวกเขาสองคนกำลังติดตั้งจานดาวเทียมอยู่ด้วยกัน เดนิสก็พูดขึ้นมาว่า “Houston, we have a problem.” ซึ่งก็เป็นประโยคดังจากหนังเรื่อง Apollo 13 ของผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด ซึ่งหนังสองเรื่องนี้เป็นหนังอวกาศชื่อดังทั้งคู่

นัยยะที่แฝงมากับเรื่อง “อวกาศ” จึงน่าจะอยู่ที่การปลดปล่อย การแสวงหาสิ่งใหม่ และความเป็นอิสระเสรี

ถ้าให้คริสติอาเน่เป็นตัวแทนของคนเยอรมันตะวันออกรุ่นบุกเบิก อเล็กซ์ และเดนิสก็คงจะต้องเป็นตัวแทนของคนเยอรมันตะวันออกรุ่นใหม่ ซึ่งคนทั้งสองยุคนี้ย่อมจะต้องมีความคิดที่แตกต่างกันอยู่มาก

แม้ว่าคนในรุ่นบุกเบิกบางคนอาจจะไม่ได้มีความคิดสุดโต่งจนเกินไปเหมือนอย่างคริสติอาเน่ แต่ในการปรับตัวตามสภาพบริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไปก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

อย่างมุขตลกของหนังที่ให้ชายแก่คนที่มักจะเจอกับอเล็กซ์ที่กองขยะพูดกับเขาทุกครั้งที่เจอว่า “เพราะพวกเขา เราถึงต้องเป็นแบบนี้” เป็นการบ่งบอกว่าระบบทุนนิยมนี้เองที่ทำให้บางคนไม่มีงานทำ และไม่มีอันจะกินจนถึงกับต้องคุ้ยหาข้าวของตามถังขยะเพื่อประทังชีวิต

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่การปรับตัวเข้ากับโลกเสรีไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ แอเรียน ที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่เหลือเค้าของความเป็นคนสังคมนิยมหลงเหลืออยู่

แต่กับอเล็กซ์ เราจะเห็นว่าเขายังไม่ได้ปรับตัวเข้ากับทุนนิยมอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เปิดรับมันเลย

เห็นได้จากการที่เขาเคยเข้าร่วมขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย นั่นแสดงให้เห็นว่าลึกๆ แล้วอเล็กซ์ก็ต้องการที่จะหลุดพ้นจากสภาพสังคมนิยมที่เป็นอยู่ และต้องการสิ่งใหม่เหมือนอย่างที่คนฝั่งตะวันตกและชาติอื่นๆ เกือบทั่วโลกเขามีกัน นั่นรวมไปถึงความเป็นอิสระเสรีในการทำอะไรอย่างที่ใจอยากด้วย

อย่างที่เขาและลาร่าเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้านที่ถูกทิ้งไว้ของคนที่อพยยพไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของประเทศ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแสวงหาสิ่งใหม่และความต้องการอิสระของเขาได้เป็นอย่างดี

หรือในอีกแง่หนึ่ง “อวกาศ” อาจจะสื่อถึงโลกในอุดมคติที่ไม่อาจมีอยู่จริงเปรียบได้กับการสร้างโลกให้กับแม่ของอเล็กซ์

ฉากที่สะท้อนในเรื่องนี้ได้ดีคือ ตอนที่อเล็กซ์นั่งแท็กซี่ไปหาพ่อเพื่อพบหน้าเป็นครั้งแรกหลังจากไม่ได้เจอกันเป็นเวลากว่าสิบปีและแจ้งข่าวเรื่องของแม่ ที่บังเอิญเหลือเกินว่าคนขับแท็กซี่คันนั้นมีหน้าเหมือน “ซิกมุนด์ เอียน” ขวัญใจเพียงหนึ่งเดียวของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ

ในระหว่างทางขากลับ อเล็กซ์แหงนมองขึ้นไปบนดวงจันทร์แล้วแกล้งถามกับคนขับแท็กซี่ว่า “บนนั้นเป็นยังไงบ้างครับ” คนขับงงเล็กน้อยแต่สักพักก็เข้าใจจึงแกล้งตอบกลับไปว่า “บนนั้นมันก็สวยดีนะ แต่ว่ามันไกลบ้านไปหน่อย” ซึ่งนั่นก็คือ คำตอบที่สร้างขึ้นมาจากภาพในอุดมคติของคนขับแท็กซี่คนหนึ่งที่หน้าตาละม้ายคล้ายกับนักบินอวกาศในอดีตเท่านั้นเอง

ด้วยความเป็นตลกร้ายของหนังจึงมีหลายฉากที่เป็นการเสียดสี “ระบบทุนนิยม” ได้อย่างเจ็บแสบ

อย่างเช่น ภาพของพ่อในจินตนาการของอเล็กซ์ที่เป็นภาพชายร่างอ้วนกินชีสเบอร์เกอร์ทั้งวันทั้งคืน อยู่ในบ้านที่มีสระว่ายน้ำใหญ่โต เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสะดวกสบายของผู้คนที่นับวันมีแต่จะทำให้คนขี้เกียจมากขึ้น

เช่นเดียวกับอีกฉากหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่อเล็กซ์สอบถามพนักงานถึงสินค้ายุคเก่าที่ไม่มีอยู่ในตลาดแล้ว มีพนักงานแต่งชุดลูกเจี๊ยบเดินผ่านไป ซึ่งลูกเจี๊ยบที่จะต้องโตขึ้นเป็นไก่ในวันหน้าเป็นตัวแทนสื่อถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนในระบบเสรีนิยมได้ดี เพราะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนให้อยู่รอดท่ามกลางโลกที่สับสนวุ่นวาย ไม่ต่างอะไรกับสภาพการคุ้ยเขี่ยหากินของฝูงไก่ที่บางครั้งถึงขั้นต้องจิกกัดกันเพื่อแย่งอาหารมาเป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีฉากที่มาของน้ำดื่มชื่อดัง โคคา-โคล่า หลังจากที่คริสติอาเน่เห็นแผ่นป้ายโฆษณาโค้กผ่านหน้าต่างในห้องนอน เพื่อเป็นการลบข้อสงสัย อเล็กซ์จึงจัดแจงสร้างเรื่องขึ้นมาว่าแท้จริงแล้วผู้ที่เป็นต้นคิดผลิตสินค้านี้ขึ้นมาเป็นคนฝั่งตะวันออก และตอนนี้คนตะวันตกก็ได้คืนลิขสิทธิ์กลับมาเป็นของสังคมนิยมแล้ว

มุขตามล่าหาของเก่าตามที่ทิ้งขยะที่ได้พูดถึงไปแล้ว หรือฉากที่น่าเจ็บปวดอย่างในตอนที่อเล็กซ์นำเงินเก็บของแม่ไปแลกเป็นเงินมาร์คที่ธนาคาร แต่กลับได้รับการปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยเพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารอ้างว่าหมดเขตรับแลกไปแล้ว จึงทำให้อเล็กซ์หัวเสียมาก และสิ่งนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองโลก (ทุนนิยมและสังคมนิยม) ได้เป็นอย่างดี เพราะในระบบสังคมนิยมการให้บริการรัฐสวัสดิการจะดีกว่า

แต่ฉากที่ทรงพลังอย่างมากของเรื่องเป็นฉากในตอนที่คริสติอาเน่เดินออกจากห้องนอนและเดินไปเรื่อยจนออกจากอพาร์ตเมนต์ ทำให้พบกับรูปปั้น “เลนิน” ที่กำลังถูกเฮลิคอปเตอร์โยงสายสลิงผูกไว้ลอยผ่านหน้าไปท่ามกลางถนนที่มีรถราอยู่มากมาย

รูปปั้นหันหน้าพร้อมกับผายมือมาทางเธอราวกับจะบอกว่า “ขอบคุณที่เชื่อมั่นในตัวฉัน” แต่ความลึกซึ้งของฉากนี้คงไม่ได้มีเพียงแค่นั้น การขนย้ายรูปปั้นไปทิ้งโดยยกให้ลอยคว้างอยู่กลางอากาศเปรียบได้กับความอนิจจังและความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เพราะไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตามล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

การเรียนรู้ที่จะปรับตัวและยอมรับเสมือนหนึ่งปล่อยตัวให้ล่องลอยไปตามสายลมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และที่สำคัญที่สุดในฉากนี้คือ การจากไปของเลนิน(รูปปั้น) เท่ากับเป็นการบอกใบ้กลายๆ กับคริสติอาเน่ว่าสังคมนิยมได้ล่มสลายไปแล้ว

ท้ายที่สุดแล้ว แง่คิดที่เราได้จากหนังเรื่องนี้คงไม่ได้อยู่ตรงที่การบอกว่าสังคมนิยมและทุนนิยมดีหรือแย่ต่างกันอย่างไร

หากแต่เป็นการให้ลองมองสองมุมแล้วผสานสองด้านเข้าไว้ด้วยกัน ให้คนเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ยิ่งโดยเฉพาะกับชาวเยอรมันด้วยแล้วนี่อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาไขว่คว้าตามหากันมานานก่อนการทุบกำแพงเบอร์ลินลงเสียด้วยซ้ำ

และอีกสิ่งหนึ่งที่หนังสอนเราได้เป็นอย่างดีคือ ความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำสิ่งที่ดีอะไรสักอย่างย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ เหมือนอย่างที่อเล็กซ์ทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อแม่ตลอดมาจึงทำให้แม่ของเขาจากโลกนี้ไปได้อย่างอิ่มเอมใจ




 

Create Date : 20 เมษายน 2550   
Last Update : 22 เมษายน 2550 12:00:55 น.   
Counter : 8964 Pageviews.  


Antoine Doinel
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




I'm a poor boy.
[Add Antoine Doinel's blog to your web]