ความงดงามของธรรมชาติและการเดินทางที่ไม่มีวันหยุดน่ิง
Group Blog
 
 
กันยายน 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
27 กันยายน 2548
 
All Blogs
 
สิงโตกลอกตา...มายาแห่งธรรมชาติ

แสงแห่งวันเริ่มสาดส่องสู่ผืนดินหมาดน้ำ ความชื้นจากสายฝนและละอองหมอกซึ่งเกาะเป็นหยาดใสบนใบไม้กำลังเหือดแห้ง ผมเงยหน้าขึ้นจากกล้องซึ่งติดเลนส์ไวด์แองเกิลเอาไว้ หันไปมองสิ่งรอบข้าง หลังจดจ่ออยู่กับความงามของรองเท้านารีอยู่เป็นเวลานาน


บนลำต้นของไม้ขนาดกลางถูกปกคลุมไปด้วยมอสสีเขียวซีด ซึ่งมันช่วยเก็บความชุ่มชื้นของน้ำไว้ให้กับสรรพสิ่ง มีกล้วยไม้ขนาดเล็กเกาะเป็นกลุ่มพร้อมชูช่อดอกสีแดงเข้มอยู่อย่างงดงาม จากลักษณะทำให้ผมบอกได้ทันทีว่านี่เป็นสิงโตนิพนธ์ (Bulbophyllum nipondhii) เพราะกลีบดอกเรียวยาวสีแดงเข้มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญมันยังเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นของภูหลวง สามารถพบได้ในป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,200 – 1,450 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดย 2 นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของโลก คือ ศาสตราจารย์ ดร. เต็ม สมิตินันท์ และ Prof. Gunnar Seidenfaden ซึ่งได้ทำการสำรวจพรรณไม้ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และได้พบพืชพรรณพร้อมทั้งกล้วยไม้หายาก รวมถึงกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด

สำหรับกล้วยไม้สิงโตชนิดนี้ ได้รับการตั้งชื่อตามอดีตหัวหน้าเขตฯ คุณนิพนธ์ ศรนคร ซึ่งเป็นผู้ใส่ใจในเรื่องพรรณไม้และมีส่วนเป็นอย่างมากในการศึกษาค้นคว้าทางด้านพฤกษศาสตร์บนภูหลวงตลอดมา ดังนั้นท่านจึงได้รับเกียรตินำชื่อของท่านเป็นชื่อของกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกในปีพุทธศักราช 2528


อีกชนิดที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าสิงโตนิพนธ์ก็คือ สิงโตธานีนิวัติ (B.dhaninivatii) กล้วยไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทยซึ่งหายาก ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าธานีนิวัต ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ภูเมี่ยง ผมพบออกดอกเป็นช่อขนาดเล็กอยู่ริมทางเดิน ซึ่งบนภูหลวงตามรายงานกล่าวไว้ว่าพบในเขตโหล่นแต้บนภูยองภู ทว่าที่ผมเห็นมันอยู่ในบริเวณโคกนกกระบานี่เอง ถึงแม้จะเริ่มเหี่ยวแห้งโรยราแต่ก็จำได้แม่นยำทีเดียว

นอกจากชนิดนี้แล้วยังมีกล้วยไม้ในกลุ่มที่เราเรียกกันว่าสิงโตกลอกตาอีกหลายชนิด อย่าง สิงโตรวงทอง (B. orientale) สิงโตรวงข้าว (B. morphologorum) สิงโตสยาม (B. siamense) สิงโตสมอหิน (B. blepharites) กล้วยไม้สีสันงดงามที่พบผลิดอกอยู่เป็นกลุ่มใหญ่บนลานหิน นอกจากนี้ยังมีชนิดที่หน้าตาประหลาดกว่าชนิดอื่นอย่าง เอื้องขยุกขยุย (B. dayanum) ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ตรงขนเส้นเล็กๆ บนกลีบดอก


ในส่วนของกล้วยไม้กลุ่มสิงโตกลอกตาทั่วโลกสำรวจพบแล้วประมาณ 2,000 ชนิด ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ จนถึงเอเชีย ซึ่งในบ้านเรามีอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 200 ชนิด อันประกอบไปด้วยกล้วยไม้หลายสกุลซึ่งทุกสกุลมีส่วนของ กลีบปาก ขยับกลอกไหวไปมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนในสมัยก่อนจินตนาการไปว่า เหมือนตุ๊กตาสิงห์ที่มักประดิษฐ์ไว้ให้ส่วนลูกตาขยับกลอกไปมาได้นั่นเอง ทำให้เรียกพวกมันตลอดมาว่า สิงโตกลอกตา

ทำไมกล้วยไม้พวกสิงโตจึงต้องกลอกตา นักพฤกษศาสตร์กล่าวกันว่า กลีบที่เคลื่อนไหวได้คล้ายบานพับติดสปริงนี้ มีเอาไว้เพื่อเอื้อต่อกระบวนการผสมเกสรให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดขณะแมลงเข้ามาเกาะ ผมเคยสังเกตสิงโตรวงทอง เห็นพวกแมลงหวี่บินเข้ามาเกาะอยู่บริเวณกลีบปาก ก่อนจะมุดหัวเข้าไปด้านในของกลีบปากเมื่อลมพัดให้กลีบบนล่างแยกออกจากกัน และมันโดนหนีบเอาไว้เป็นเวลาพอสมควร ก่อนจะหลุดออกมาอีกครั้งหลังจากกลีบปากโดนลมพัดแกว่ง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการผสมเกสร



Create Date : 27 กันยายน 2548
Last Update : 29 ตุลาคม 2549 0:46:02 น. 8 comments
Counter : 2427 Pageviews.

 
สีสันสดใสดีครับ

ผมอยากให้คนรู้จักกล้วยไม้สกุลสิงโตมากขึ้น

แต่ทำไมยิ่งมีคนรู้จักมากขึ้น กล้วยไม้หลายชนิดกลับถูกนำออกมาจากป่ามากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มีอยู่ที่บ้านตอนนี้ ก็มีไม่มากแล้ว "เป็นความหลงผิดเมื่อหลายปีก่อน"

ตอนนี้ก็พยายาม เลี้ยงให้เติบโตแล้วจับผสมเกสร อีกหน่อยคงมีลูกไม้ให้ปลูกเลี้ยงกัน
และป่าก็คงยังเป็นป่าสมบูรณ์ มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมให้กล้วยไม้เหล่านี้อยู่ตลอดไป

กระทิงที่ตาพระยาเหรอ ยังไม่ได้ไปดูเลย
ผมไม่ค่อยได้ถ่ายรูปเท่าไรช่วงนี้ ป่าก็ไม่ค่อยได้เข้า ส่วนใหญ่ก็ไปดูนกมากกว่า

ผมสงสัยตั้งนานแล้ว ลืมถาม พี่ป้อง หรือ อ. จิรา ว่า พวก bulbo เนี่ย แบ่ง section ด้วยหรือเปล่า พวก สิงโตรวงข้าว
กลุ่มสิงโตสยาม
หรือกลุ่มอื่นๆ

พอมีความรู้มาแบ่งปันกันบ้างไหมครับ


โดย: เสือจุ่น IP: 61.90.15.93 วันที่: 27 กันยายน 2548 เวลา:9:40:24 น.  

 
หนับหนุนพี่เสือด้วยคน ผมก็พยายามผสมเกษรอยู่ กะว่าจะผสมพันธุ์แท้ตัวที่หายากๆไว้หลายๆขวด จะเอาไปแจกงานติ้งหน้าไม่รู้จะทำได้ปะ ผมก็คิดว่าถ้าลูกไม้ออกมาเยอะๆในป่าคงจะมีอยู่เอง


โดย: ลิงเล (ลิงเล ) วันที่: 9 ตุลาคม 2548 เวลา:11:54:30 น.  

 
ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับที่ยังคงรักษาความงามแห่งธรรมชาติให้สมดุล แม้ว่ามันจะขาดความสมดุลไปบ้างแต่เชื่อว่าป่าจะรักษาตัวเองแต่อย่าซ้ำเติมบ่อยๆ ครับ
ถ้ามีงานคราวหน้ามีลูกไม้แจกผมว่าไม้ป่าลดการถูกคร่าลงมาได้เยอะเลยครับ


โดย: JUNGLE MAN วันที่: 11 ตุลาคม 2548 เวลา:19:54:53 น.  

 
เรามาร่วมขบวนการ ขยายพันธุ์ไม้เพื่อลดการเบียดเบียนไม้ป่าด้วยกันเถอะครับ


โดย: แมงเม่ารูปหล่อ IP: 202.142.195.71 วันที่: 22 ธันวาคม 2548 เวลา:16:10:38 น.  

 
มาชม มารับทราบข้อมูลคับผม


โดย: t'pong2 IP: 203.188.11.182 วันที่: 6 เมษายน 2549 เวลา:14:39:22 น.  

 
ทักทาย ทักทาย อัพบล๊อกบ้างดีไหม นานแล้วไม่เห็นอัพเสียที เขียนไม่ออกหรืออย่างไร


โดย: เกดจัง วันที่: 4 ธันวาคม 2549 เวลา:21:59:17 น.  

 
แวะมาโหวตให้ค่ะ
ชอบ..ทุกรูป


โดย: anavrin วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:10:59:58 น.  

 
กล้วยไม้พันธ์นี้สวยแปลกตาดี
ไม่เคยเห็นของจริง หาดูยาก
แวะมาชมน่ะ.....


โดย: Link_conner55 (Link_conner55 ) วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:17:45:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

JUNGLE MAN
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add JUNGLE MAN's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.