
วรรณกรรมขนาดสั้นเรื่องนี้ถ้าผมเปรียบเทียบความชอบกับเรื่องราวในตรอกไมดักของนากิบ มาห์ฟูซ ผมชอบความละเมียดละไมละเอียดอ่อนของตรอกไมดักและสีสันของตัวละครมากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องนี้สั้นจนตัวละครไม่เด่นเว้นแต่พระเอกกุนดิลของเรา แต่อย่างไรก็ดี มุ่งเมืองแมน มีมิติให้ตีความหลากหลาย หนึ่งในมิติที่เด่นชัดที่มาห์ฟูซจับยัดลงไปเต็มหน้ากระดาษ คือมิติทางการเมือง ผ่านการเดินทางเพื่อไปสู่ยีบิล (ยูโทเปีย) ของหนุ่มน้อยกุนดิล มาห์ฟูซสร้างเมืองระหว่างทาง 5 เมือง จุดหักเหที่ทำให้กุนดิลตัดสินใจออกจากมาตุภูมิคือเขาถูกขโมยเจ้าสาว
มาสริก เป็นเมืองแรก ผู้คนยังเริงระบำใต้แสงจันทร์ บูชาเทพ เปลื้องผ้า ปรนเปรอกามตามอำเภอน้ำใจ การเมืองคงไม่ผิดจะพูดว่าลัทธิเทวสิทธิ์ (เราย้อนไปไกลกว่านั้นสักนิดโดยที่กษัตริย์ยังไม่ผุดขึ้นมาอ้างความชอบธรรมเพราะได้รับอำนาจจากพระเจ้า --- ผมหมายถึงเรามีหมอผีเป็นผู้อ้างอำนาจนั้นครับ) กุนดิลของเราพบรักที่นั่นและต้องลี้ออกจากเมืองเพราะไม่นับถือพระจันทร์ ถูกพรากลูกพรากเมีย ถัดมาเมือง
ไฮรา เป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่นั่นเขาถูกพรากชีวิตวัยหนุ่ม ส่วนเมือง
ฮาลบา คงเห็นชัดถึงการวิพากษ์ทุนนิยมเสรี ความเหลื่อมล้ำชนชั้น อาชญากรรม พอเดินทางไปถึงเมือง
อานมา อันนี้แหละทีเด็ด เพราะเมืองนี้มีประวัติการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ (the proletariat) ตามที่มาร์กซ์ได้ทำนายไว้ และจัดการระบบเศรษฐกิจการเมืองเป็นเผด็จการ ความใน Manifesto of the Communist Party ว่าชนชั้นกรรมาชีพจะใช้อำนาจที่ยึดมาได้จัดตั้งเป็นชนชั้นปกครอง ประธานาธิบดีของอานมามีวาระตลอดชีพครับ หากมีใครเยาะว่ากองทัพกำลังสำรองผู้ว่างงานของมาร์กซ์เมื่อไรจะปฏิวัติสักที เรียบร้อยไปแล้วในอานมานี่เอง เมืองสุดท้ายคือ
กูรุบ เมืองนี้ปรัชญาการเมืองของมาห์ฟูซหายไปสู่สังคม (ซึ่งผมขอเรียกว่า) เตรียมความพร้อมสู่ยูโทเปีย ยีบีลนั้นเดินทางถึงได้ด้วยสมาธิจิตภายใน ชะตากรรมของกุนดิลเป็นอย่างไรเราไม่อาจทราบได้เพราะบันทึกมาถึงสุดทะเลทรายรอยต่อกูรุบกับยีบิล... ข้าก็เตรียมเข้าสู่การเผชิญภัยช่วงสุดท้ายด้วยการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยว
ผมให้ 



