ประวัติวันเข้าพรรษา-วันอาสฬหบูชา...แห่งเทียนเข้าพรรษากันครับ
วันสำคัญทางศาสนาอีกวันกับกิจกรรมของโรงเรียน
วันอาสฬหบูชา
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นับเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ดังนั้น ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม

เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นชมพูทวีปในสมัยโบราณ กำลังย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองเฟื่องฟูทุกด้านและมีคนหลายประเภททั้งชนผู้มั่งคั่งร่ำรวย นักบวชที่พัฒนาความเชื่อและ ข้อปฏิบัติทางศาสนา เพื่อให้ผู้ร่ำรวยได้ประกอบพิธกรรมแก่ตนเต็มที่ ผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียน ในอำนาจและโภคสมบัติที่ออกบวช หรือบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอกพ้นด้วยการคิดปรัชญาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้บ้าง พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในสภาพเช่นนี้ และดำเนินชีพเช่นนี้ด้วยแต่เมื่อทรงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นขาดแก่นสาน ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แก่ตนเองและผู้อื่น จึงทรงคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการทดลองต่าง ๆ โดยละทิ้งราชสมบัติ และอิสริยศแล้วออกผนวช บำเพ็ญตนนานถึง ๖ ปี ก็ไม่อาจพบทางแก้ได้ ต่อมาจึงได้ทางค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่นำคุณค่า แท้จริงมาสู่ชีวิต อันเรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๔ ปี ที่เรียกว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จากนั้นทรงงานประกาศศาสนาโดยทรงดำริหาทางที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ เริ่มสอนแก่ผู้มีพื้นฐานภูมิปัญญาดีที่รู้แจ้งคำสอนได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำไปชี้แจงอธิบาย ให้ผู้อื่นเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง จึงมุ่งไปพบนักบวช ๕ รูป หรือเบญจวัคคีย์ และได้แสดงธรรม เทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญ เดือน ๘

ความหมาย...
“อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)


พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด
......................................................................

วันเข้าพรรษา
การเข้าพรรษา เป็นวินัยอย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้น คือ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ในทางพระพุทธศาสนา จะต้องอธิษฐานอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง หรืออาวาสใดอาวาสหนึ่ง ในช่วงฤดูฝนตลอดระยะเวลา ๓ เดือน จะเดินทางจาริกสัญจรรอนแรมไปค้างคืนที่ไหนไม่ได้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นตามที่พระวินัยบัญญัติไว้

วันเข้าพรรษาในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ ๒ ประการ คือ

๑.ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

๒.ปัจฉิมพรรษา หรือวันเข้าพรรษาหลัง เริ่มนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี สาเหตุที่มีการจำพรรษาหลัง คือพระภิกษุมีเหตุที่จำเป็นต้องเดินทางไกลไปทำธุระที่อื่นกลับมาไม่ทัน



ประวัติความเป็นมาการจำพรรษา

ในสมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ที่พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งพระนครราชคฤห์ ได้ทรงมีจิตศรัทธาสร้างวัดแรกในพระพุทธศาสนาถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า สมัยนั้นพระพุทธองค์ยังไม่ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา บรรดาเหล่าพุทธสาวกได้เที่ยวจาริกสัญจรเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไปในฤดูทั้งสาม ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน อย่างไม่ย่อท้อไม่เหน็ดเหนื่อย เที่ยวโปรยปรายสายธรรมอันชุ่มเย็นเข้าสู่จิตใจของปวงประชา

ปกติแล้วในช่วงฤดูฝนชาวอินเดียสมัยก่อนนั้น พวกพ่อค้าวาณิชย์หรือนักบวชนอกศาสนา จะพากันหยุดสัญจรเป็นการชั่วคราว เพราะถนนหนทางที่ใช้ในการสัญจรมีโคลนตม มีหลุมมีบ่อทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง อีกอย่างชาวบ้านชาวเมืองก็พากันตกกล้า ทำนาปลูกข้าวกัน

ครั้งนั้นเมื่อชาวบ้านชาวเมือง เห็นภิกษุพุทธสาวกเดินจาริกสัญจรอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงพากันติเตียนโพนทะนาว่าการหลายอย่าง เป็นต้นว่า

“พวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร เที่ยวจาริกสัญจรไม่มีการหยุดไปได้ทุกฤดูกาล การที่เที่ยวเดินในฤดูฝนเช่นนี้ ต้องเหยียบย่ำพืชพันธุ์ธัญญาหารอันเขียวชอุ่ม หรืออาจจะเดินเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อย ที่ออกหากินตามถนนหนทางท้องทุ่งทำให้ตายได้ แม้พวกนักบวชนอกศาสนา พ่อค้าวาณิชย์ ยังพากันหยุดสัญจรในช่วงฤดูฝนสามเดือน ครั้นพอหมดฤดูแล้วค่อยเดินทางต่อไป” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ และมีพุทธานุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้อยู่จำพรรษา”



พระภิกษุฉัพพัคคีย์เที่ยวจาริกทุกเวลาไม่จำพรรษา

ภายหลังต่อมาพระภิกษุฉัพพัคคีย์ (เป็นพระภิกษุหัวดื้อ ไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ชอบหาเรื่อง ก่อกวนชวนทะเลาะวิวาท มีพวกจำนวน ๖ รูป) อยู่จำพรรษาแล้ว ยังพากันเที่ยวจาริกสัญจรในระหว่างพรรษา คนทั้งหลายจึงพากันเพ่งโทษติเตียนว่า “ฝูงนกทั้งหลายก็ยังรู้จักทำรังบนยอดไม้ แล้วพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพวกพระสมณะเชื้อสายศากบุตรเหล่านี้เล่า เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน เหยียบย่ำพืชพันธุ์อันเขียวสด และสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย”

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาแล้ว ต่างพากันเพ่งโทษติเตียนภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น จึงได้นำเรื่องทั้งหมดไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระพุทธองค์ได้ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด ๓ เดือนต้น หรือ ๓ เดือนหลัง (พรรษาต้น พรรษาหลัง) จาริกไปสู่ที่อื่น ต้องอาบัติทุกกฎ”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจะไม่จำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่จำพรรษาต้องอาบัติทุกกฎ”



สัตตาหกรณียะ

เมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลาย เดินทางไปพักค้างแรมที่อื่นได้ในช่วงเข้าพรรษา แต่ต้องเดินทางกลับมาภายใน ๗ วัน เรียกว่า สัตตาหกรณียะ มี ๖ ประการ คือ

๑.มารดาบิดา พระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ เพื่อนพระภิกษุสามเณร ญาติพี่น้อง อุบาสกอุบาสิกาคนอุปัฏฐากรับใช้ ผู้ภักดีต่อพระพุทธศาสนา เจ็บไข้ได้ป่วย เดินทางไปเพื่อพยาบาล แสวงหายา หรือคนพยาบาลรักษา สัตตาหกรณียะไปได้ไม่เป็นอาบัติ

๒.อุบาสก อุบาสิกา มีความประสงค์จะถวายทาน ฟังธรรมะ เดินทางมา ส่งทูต หรือหนังสือนิมนต์ สัตตาหกรณียะไปเพื่อฉลองศรัทธาได้ไม่เป็นอาบัติ

๓.สหธรรมิก (ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี) มีความประสงค์อยากจะลาสิกขา สัตตาหกรณียะไปเพื่อระงับได้ไม่เป็นอาบัติ

๔.กุฏิ ศาลา วิหารสงฆ์ชำรุดลง สัตตาหกรณียะไปเพื่อหาไม้ สัมภาระมาซ่อมแซมได้ไม่เป็นอาบัติ

๕.สัตตาหกรณียะไปเพื่อทำสังฆกรรม เช่น พระภิกษุในศาสนานี้ ต้องครุกาบัติ (อาบัติสังฆาทิเสส) ไปเพื่อขวนขวายช่วยสวด หรือเป็นคณะปูรกะ (นั่งหัตถบาต) ให้พระภิกษุออกจากครุกาอาบัติ

๖.สหธรรมิก (ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี) มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ไปเพื่อแสดงธรรมระงับความเห็นผิดนั้น ไม่เป็นอาบัติ



อันตรายเกิดขึ้นระหว่างพรรษา

ก็สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา ถูกเหล่าสัตว์ร้ายเบียดเบียน ถูกโจรเบียดเบียน ไม่ได้อาหารอันประณีตสบาย ไม่มีคนดูแลเอาใจใส่ให้การอุปัฏฐาก ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว ถูกสัตว์ร้ายเบียดเบียน มันจับเอาไปบ้าง หนีรอดมาได้บ้าง พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ พรรษาไม่ขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว พวกโจรเบียดเบียน มันปล้นบ้าง หนีได้บ้าง พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ พรรษาไม่ขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว ถูกพวกปีศาจรบกวน มันเข้าสิงบ้าง พาเอาไปบ้าง พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่านั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว หมู่บ้านประสบอัคคีภัย ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยบิณฑบาต พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั้นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว เสนาสนะถูกไฟไหม้ ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนด้วยเสนาสนะ พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว ไม่ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์ตามต้องการ พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์ตามต้องการ แต่ไม่ได้โภชนาหารอันเป็นที่สบาย พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์ตามต้องการ และได้โภชนาหารอันเป็นที่สบาย แต่ไม่ได้เภสัชอันเป็นที่สบาย พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว ได้โภชนาหารอันเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์ตามต้องการ ได้โภชนาหารอันเป็นที่สบาย ได้เภสัชอันเป็นที่สบาย แต่ไม่ได้อุปัฏฐากที่สมควร พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่า นั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จำพรรษาแล้ว สตรีนิมนต์ว่า ขอท่านจงมาเถิดเจ้าข้า ดิฉันจะถวายเงิน ทอง นา สวน พ่อโค แม่โค ทาส ทาสี แก่ท่าน จะยกลูกสาวให้เป็นภรรยาของท่าน ดิฉันจะยอมเป็นภรรยาของท่าน หรือมิฉะนั้น จะนำสตรีมาอื่นมาเป็นภรรยาของท่าน ในเรื่องนั้น ถ้าภิกษุจะคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จิตเป็นธรรมชาติกลับกลอกเร็วนัก สักหน่อยจะเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ของเราก็ได้ พึกหลีกไปเสีย ไม่ต้องอาบัติ แต่พรรษาขาด” ฯลฯ

พระพุทธองค์ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาอย่างใหญ่หลวง ต่อมวลมนุษยโลก อย่างหาประมาณมิได้ ทรงห่วงใยการเป็นอยู่ของภิกษุทั้งหลายในพุทธศาสนานี้ ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย หลีกหนีอันตรายต่างๆ ที่เบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน ได้รับความลำบาก ไม่เป็นที่สบาย ไม่เป็นอาบัติ แต่พรรษาขาด



สถานที่ห้ามจำพรรษา

๑.ภิกษุไม่พึงจำพรรษาในโพรงไม้ รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฎ

๒.ภิกษุไม่พึงจำพรรษาในค่าคบไม่ รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฎ

๓.ภิกษุไม่พึงจำพรรษาในที่แจ้ง รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฎ

๔.ภิกษุไม่พึงจำพรรษาในกระท่อมผี รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฎ

๕.ภิกษุไม่พึงจำพรรษาในร่ม รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฎ

๖.ภิกษุไม่พึงจำพรรษาในตุ่ม รูปใดจำ ต้องอาบัติทุกกฎ

อนึ่ง ในระหว่างการจำพรรษา ห้ามตั้งกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม หากรูปใดตั้งต้องอาบัติทุกกฎ และห้ามภิกษุทั้งหลายจำพรรษาในสถานที่ ๒ แห่ง รูปใดประพฤติเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ



ระเบียบปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

พอถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจะไปบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัด ช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ช่วงบ่ายมีการอบรมศีลธรรม บำเพ็ญจิตภาวนา ช่วงค่ำ ทำวัตรสวดมนต์เย็น จากนั้นพระสงฆ์อยู่จำพรรษาในอาวาส ทำพิธีกราบคารวะพระรัตนตรัย กราบคารวะผู้เป็นประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาส เรียงลำดับตามอาวุโส ภันเต (ผู้บวชก่อน ผู้บวชหลัง) พอพิธีกราบคารวะขอขมาซึ่งกันและกันเสร็จ พระสงฆ์สามเณรทั้งนั้นตั้งนะโม ๓ จบ พร้อมกัน จากนั้นอธิษฐานเข้าพรรษา โดยว่าพร้อมกัน บางสำนักว่าพร้อมกันแล้ว ให้ว่าทีละรูปอีกครั้งหนึ่ง พอเสร็จพิธีจะมีการอบรมธรรมะ เจริญจิตภาวนา

ธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในวัดป่ากรรมฐานนั้น ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ครูบาอาจารย์ในแต่ละวัดนั้น ท่านจะนำพาลูกศิษย์ลูกหาไปกราบขอขมาคารวะครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ เพื่อขอฟังโอวาทธรรมในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ไปขออุบายธรรมกรรมฐานจากท่านเป็นสิ่งที่ผู้น้อยควรปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ สิ่งของเครื่องใช้ที่นำไปกราบขอขมาคารวะมีดังต่อไปนี้

๑.ผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าขาวที่ท่านตัดเย็บเอง นำมาย้อมสีดินแดงส้ม ที่ได้มาจากการฝนเอาหินลูกรัง)

๒.ไม้เจีย (ไม้สีฟัน หรือไม้ทำความสะอาดฟัน ที่ท่านทำขึ้นมาเองจากไม้โกทา มีรสขมฝาด ท่านนิยมใช้หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ เพื่อทำความสะอาดปากไม่ให้มีกลิ่น)

๓.สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาซักผ้า ผงซักฟอก เทียน ธูป เชิงเทียน ไฟฉาย หลอดไฟฟ้า สิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ

๔.จตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม

๕.ขัน ๕ (เทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่) จัดใส่จานให้เรียบร้อยสวยงาม

การจำพรรษานี้ บางสำนัก หรือบางรูป จะตั้งสัจจะสมาทานถือธุดงควัตร ๑๓ ข้อ (ข้อปฏิบัติเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง จะขอกล่าวในคราวต่อไป) บางรูปตั้งสัจจะไม่นอนตลอดพรรษา บางสำนักนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่งทุกคืนวันพระตลอด ๓ เดือน เป็นต้น ส่วนฆราวาสก็จะพากันตั้งสัจจะอธิษฐานเช่นกัน บางคนตั้งสัจจะว่า จะไปทำบุญที่วัดให้ได้ทุกวันมิให้ขาด จะใส่บาตรให้ได้ทุกวันมิให้ขาด จะไปรักษาศีล นั่งสมาธิภาวนาทุกวันพระมิให้ขาด หรือบางท่านอาจจะเคยดื่มเหล้าก็ตั้งสัจจะ ของดเหล้าสิ่งมึนเมาทั้งปวงในช่วง ๓ เดือน หรือตลอดไป บางท่านเคยสูบบุหรี่ ก็ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ของดบุหรี่ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน การตั้งสัจจะนี้ แล้วแต่ความชอบใจของแต่ละท่าน ไม่มีข้อบังคับ เราจะตั้งอะไรก็ได้ขอให้เป็นไปในสิ่งที่ดีที่งาม ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา

สัจจะอธิษฐาน เป็นบารมีธรรมข้อหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิต เพื่อรักษาธรรม รักษาสัจจ์” “ความสัจจ์แล เป็นวาจาที่ไม่ตาย”

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พุทธศาสนิกชน แลผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย คงจะเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องการจำพรรษาในพุทธศาสนา ซึ่งบางท่านเข้าใจว่า ในระหว่างพรรษาพระภิกษุสามเณรจะเดินทางไปที่ไหนไม่ได้เลย ต้องอยู่วัดอย่างเดียว หากเดินทางไปค้างคืนที่อื่นไซร้ ผิดศีล จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก


ปัญญาวชิโรภิกขุ พระตะวัน คำสุจริต
วัดป่าอริโซน่า มลรัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา
รวบรวม/เรียบเรียง


แม่มาทำงานสายไปถ่ายรูปซ่าส์มา น่ารักทั้งนั้นเลยเด็กๆ ซ่าส์ขอถ่ายรูปกับพี่อนุบาล2ด้วยน่ารัก ชอบๆ



น่ารักน้อ....



ไปเดิน...เดินไปใกล้ๆสาวๆ ถ่ายรูปซะหน่อย



ปู้นๆๆๆๆรถไฟไปแล้วครับ...



วัดใกล้กับโรงเรียนค่ะ แต่กว่าจะเดินถึงครูเหนื่อยหละ.. จับปูใส่กระโด่งมากๆ น่ารักทั้งนั้นเลย ชอบๆ



ครูใหญ่ใจดี...



ห้อง อ.1/2 ห้องซีซ่าส์ครับ มีครูเอ๋ ครูแมว อีกคนนึงจำชื่อไม่ได้ค่ะน่ารักดีสอนเนอเซอร์รี่ที่จับมือน้องตัวเล็กๆหละ



ชุดน่ารักๆชอบๆ



เทียนที่แห่ค่ะ...



ซีซ่าส์ชี้สิงห์โต...ข้างๆบันได



...แมนๆทั้งนั้นเลยหล่อๆ มีซีซ่าส์ กุ๊กกู๋ ซูม และ 2คน้ทายนี่ไม่รู้จักชื่อ



ถ่ายกับครูเอ๋ค่ะ...ที่รักของซ่าส์หละ...เด็กๆน่ารักค่ะ ได้เข้าวัด...สืบสานวัฒนธรรมไทย เพื่อนๆกับครูถ่ายรูปกันอยู่ข้างล่างซ่าส์บอกให้ยายพาไปในโบถ์...แม่ก็เลยกลับมาทำงานนี่หละจ้า



Create Date : 16 กรกฎาคม 2551
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 13:59:49 น.
Counter : 1022 Pageviews.

9 comments
  
คิดถึงตอนแห่เทียนเข้าพรรษาสมัยเด็ก ๆ เลยค่ะ ได้แต่งตัวน่ารัก ๆ แบบนี้ตลอด

เฮ้ออ พูดแล้วเริ่มคิดว่าตัวเองชักแก่แล้วสิ เอิ้ก ๆ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีดีมีประโยชน์ด้วยนะคะ
โดย: nui_kiku วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:13:58:34 น.
  
หวาดดี มา เม้มให้น่ะ ว่าง ๆ ดูภาพที่เราวาดน่ะ ติชมด้วยล่ะ หรือให้ five เราบ้างก็ได้ น่ะ เราวาดภาพและทำกรอบรูป น่ะที่ภูเก็ต สามกอง
โดย: may (may-momo ) วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:14:27:03 น.
  
แฟนซ่าส์น่ารักน๊อ
โดย: fuku วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:23:30 น.
  
ชอบๆน่ารักทั้งน้าน ซ่าส์ไว้ค่อยแต่งหล่อๆปีหน้าและกัน
โดย: zeza@mabee วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:33:05 น.
  
ชอบเด็กๆ ใส่ชุดไทยมากๆ เลยค่ะ น่ารักดี
โดย: มันอยู่ในปอด วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:46:38 น.
  
โดย: fuku วันที่: 16 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:30:54 น.
  
อิอิ สาวน้อยน่ารักทั้งนั้นเลย มิน่าละน้องซ่าส์ชอบไปโรงเรียน
เห็นแล้วนึกถึงสมัยเด็กๆ มีกิจกรรมทุกเทศกาล พอโตมาก็ห่างหายไปบ้าง จะได้ทำกิจกรรมตามเทศกาลก็ตอนมีลูกนี่แหละค๊า
โดย: ปลายดินสอ วันที่: 17 กรกฎาคม 2551 เวลา:9:50:22 น.
  
น่ารักมากเลย ดูเเล้วคิดถึงเวลาเก่าๆ
อยากกลับไปอีกครั้ง
โดย: พี บุรีรัมย์ IP: 58.147.36.42 วันที่: 5 สิงหาคม 2551 เวลา:16:04:04 น.
  
คือ กว่านี้ มีไม่ค่ะ



อิอิ
โดย: อ๊อด IP: 118.174.110.207 วันที่: 4 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:28:41 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zezatoday.BlogGang.com

zeza@mabee
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด