พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก 116 (ตอนที่ 1)

(คัดสำเนาจากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 14 ตอนที่ 2 หน้า 29 ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2440)



พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก 116



ศุภมัสดุ ลุรัตนโกสินทร์ ศก 116 วันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสถิตย์ในพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท เบื้องปัจฉิมาภิมุข ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า ธงอันเปนสำคัญเครื่องหมายแห่งสยามประเทศนี้ แต่ก่อนมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง ครั้นถึงในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระราชดำริห์ว่า เรือหลวงกับเรือราษฎร ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวง ทำรูปจักรอันเป็นสัญญานามพระบรมราชวงษแห่งพระองค์ลงไว้ในกลางธงพื้นแดงนั้น เปนเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง

ต่อมาถึงในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ครั้งนั้นมีสารเสวตรอันอุดมด้วยลักษณ มาสู่พระราชสมภารถึงสามช้าง เปนการพิเศษไม่มีได้ในประเทศอื่นเสมอเหมือนควรจะอัศจรรย์ อาไศรยคุณพิเศษอันนั้น จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างเผือกลงไว้กลางวงจักรในธงเรือหลวงนั้นด้วย

ครั้นถึงในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระรำพึงถึงเรือค้าขายของชนชาวสยาม ที่ใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอยู่นั้นไม่เปนการสมควร เหตุว่าซ้ำกับประเทศอื่นยากที่จะสังเกตเห็น เปนการควรจะใช้ธงอันมีเครื่องหมายเหมือนอย่างเรือหลวงทั่วไป แต่ว่ารูปจักรเปนของสูงไม่สมควรที่ราษฎรจะใช้ จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือหลวง แลเรือราษฎร์บรรดาที่เจ้าของเรือเปนข้าขอบขันธสีมา มิให้เปนการสับสนกับเรือของชาวต่างประเทศ แลให้ทำธงรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับใช้ชักที่น่าเรือหลวงทั้งปวง ให้เปนที่สังเกตเห็นต่างกัน กับเรือของราษฎรด้วย อนึ่งเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือหลายลำ ทวยราษฎรผู้ตั้งใจจะเคารพ เฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สังเกตไม่ได้ว่า เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำใด ทรงพระกรุณาเพื่อจะเอาใจราษฎร จึ่งดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีพระมหาพิไชยมงกุฎ แลมีเครื่องสูง 7 ชั้นสองข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง เปนที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้นแล้ว แลโปรดเกล้าฯ ให้ชักขึ้นบนเสา ในพระบรมมหาราชวังด้วย ภายหลังเมื่อมิได้เสด็จ ประทับอยู่ในพระมหานคร ต้องลดธงสำหรับพระองค์ลงเสาเปล่าดูอยู่มิบังควร จึ่งดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำธงไอยราพต อย่างพระราชลัญจกรไอยราพตประจำแผ่นดินสยามขึ้นใหม่สำหรับใช้ชักขึ้นบนเสา ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระมหานครอีกอย่างหนึ่งด้วย

ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ได้ใช้ธงทั้งสี่อย่างต่อมา แต่ว่าธงสำหรับพระองค์นั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เติมโล่ห์ตราแผ่นดินลง ภายใต้พระมหาพิไชยมงกุฎเข้าด้วย ภายหลังทรงพระราชดำริห์ถึงธงที่ใช้อยู่สี่อย่างนั้น ยังหาพอเพียงแก่ที่จะใช้ประโยชน์ในราชการไม่ จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามขึ้นใหม่ ให้มีธงสำหรับพระองค์ ราชตระกูล ธงตำแหน่งราชการ แลตำแหน่งนายทหารเรือ ทั้งธงนำร่องเพิ่มเติมขึ้น มีรูปธงแลข้อความพิสดารอยู่ในพระราชบัญญัติ อันได้ตราไว้แต่ ณ วันที่ 25 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 110 นั้นแล้ว บัดนี้ได้ทรงพระราชดำริห์ พิจารณาเห็นว่า ธงทุกอย่างตามพระราชบัญญัติ ซึ่งดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตราไว้แล้วนั้น บางอย่างควรการ บางอย่างเกินการ แลบางอย่างไม่พอการ ควรที่จะเลิกถอนเสียบ้าง เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นบ้าง ผสมกับของเก่าที่คงใช้ได้ สำหรับให้ใช้พอเพียงแก่การอันควรใช้ในสมัยนี้ จึ่งมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงเสียใหม่ สำหรับใช้แต่นี้ต่อไปเมื่อน่า ดังนี้



ชื่อพระราชบัญญัติ


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก 116



กำหนดให้ใช้


มาตรา 2 กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 116 เปนต้นไป



เลิกพระราชบัญญัติเก่า


มาตรา 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้ เมื่อ ณ วันที่ 25 มีนาคม รัตนโกสินทร์ ศก 110 นั้น ให้ยกเลิกเสีย



กำหนดอย่างธง


มาตรา 4 แต่นี้ต่อไป ธงสำหรับใช้หมายตำแหน่งแลชาติ จงทำใช้ให้ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ต่อไปนี้



ธงมหาราช



ที่ 1 ธงมหาราช พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน พื้นในสีขาบ ขนาดกว้าง 3 ส่วน ยาว 4 ส่วน ที่ในพื้นสีขาบนั้น กลางเปนรูปโล่ห์ ในโล่ห์แบ่งเปนสามช่อง ช่องบนเปนรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาแห่งโล่ห์ เปนรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพูหันน่าออกไปข้างเสา เปนนามสัญญาแห่งมลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายของโล่ห์ เปนรูปกฤชคดแลตรงสองอันไขว้กันอยู่บนพื้นแดง บอกนามสัญญามลายูประเทศ เบื้องบนแห่งโล่ห์นั้น มีจักรกรีไขว้กัน แลมีมหาพิไชยมงกุฎสรวมบนจักรกรี มีเครื่องสูง 7 ชั้นสองข้างโล่ห์ มีแท่นรองโล่ห์แลเครื่องสูงด้วย รวมครบเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึ่งเปนธงมหาราช สำหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เปนที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จในกระบวนนั้น ฤๅชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เปนที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่ง ฤๅเรือรบแล้ว ต้องชักขึ้นบนเสาใหญ่อยู่เปนนิจ



ธงไอยราพต



ที่ 2 ธงไอยราพต พื้นสีแดง มีรูปช้างไอยราพต สามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น หันน่าไปข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมไว้ภายในตั้งอยู่บนหลัง แลเครื่องสูงเจ็ดชั้นอยู่น่าหลังข้างละสององค์ ธงนี้ประจำแผ่นดินสยาม สำหรับใช้ชักขึ้นในพระมหานคร เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ประทับอยู่ในพระมหานคร



ธงราชินี



ที่ 3 ธงราชินี พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้างของผืนธง 10 ส่วน ยาว 15 ส่วน ชายตัดเปนรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ 4 แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งนั้นสีขาบ ขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 8 ส่วน รูปเครื่องหมายที่พื้นสีขาบ ก็เหมือนกับธงมหาราช ธงนี้เปนเครื่องหมายในองค์สมเด็จพระอรรคมเหษี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่ง อันสมเด็จพระอรรคมเหษี ได้เสด็จโดยพระราชอิศริยยศ เปนที่หมายปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น



ธงเยาวราช



ที่ 4 ธงเยาวราช สำหรับราชตระกูลนั้น พื้นสีขาบ ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน รูปเครื่องหมายในกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช เว้นแต่เครื่องสูงสองข้างโล่ห์นั้นเปนห้าชั้น ธงนี้เปนเครื่องหมายในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ ในเรือพระที่นั่ง ฤๅเรือรบลำใดลำหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร เสด็จโดยพระราชอิศริยยศ เปนที่หมายปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น



(มีต่อ)




Create Date : 08 เมษายน 2550
Last Update : 20 เมษายน 2550 12:39:14 น.
Counter : 1788 Pageviews.

0 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Xiengyod.BlogGang.com

เซียงยอด
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]