บล็อกส่งท้าย (หนักไปทางเรื่อง บ.ก.)




21 ธันวาคม 2559

สวัสดีค่ะคุณแนท

อาจจะต้องเรียกว่ารุ่นพี่แนทด้วยความนับถือ กำลังคิดอยู่เลยว่าถ้าหากต้นปีที่ผ่านมานี้ไม่ได้บังเอิญไปเจอบล็อกของคุณแนทเข้าตอนนี้คงยังต้องรู้สึกเคว้งคว้างหาลู่ทางตัวเองไม่ได้

ส่วนตัวหนู จบเอกอังกฤษที่ ม.เกษตร พื้นฐานภาษาอังกฤษปานกลาง(ตามความคิดของตัวเอง เพราะในชีวิตเจอคนเก่งเยอะมากๆๆๆ) ในปี 2013 จับพลัดจับผลูได้แปลวรรณกรรมสำหรับเด็กและได้ตีพิมพ์ 2 เรื่อง (Eng-Thai ดีใจเหมือนขึ้นสวรรค์เลยค่ะ) เลยจุดประกายความหวังอยากจะแปลภาษาเป็นรายได้เสริมคิดอยู่นานว่าจะเรียนต่อโทการแปลที่จุฬาดีมั้ยแต่พอดูเกณฑ์การสอบคัดเลือกแล้วก็ถอดใจ คนเก่งคงเพียบ มาตฐานเค้าสูงลิบ

เคว้งคว้างมา 3 ปี ยังไม่รู้จะเอาดีทางด้านไหนทั้งที่ใจอยากแปลงานเป็นรายได้เสริมใจจะขาดแต่ติดอยู่ที่รู้ว่าความสามารถและพื้นฐานตนเองไม่แน่นพอถ้าสักแต่จะแปลไปไม่กลัวผิดถูกแทนที่จะได้ขายผลงานสุดท้ายก็ไม่พ้นต้องขายหน้าตัวเอง

เมื่อต้นปีบังเอิญหาอ่านบทความเรื่องการแปลมาเจอบล็อกคุณแนทเข้า ยิ่งอ่านยิ่งชอบ ยิ่งติดตามยิ่งสนใจ สุดท้าย ทนไม่ไหวต้องปิดบทความคุณแนทชั่วคราวแล้วหันไปเปิดเว็บสมัคร ป.โท การแปลจุฬาเตรียมเอกสารยื่นสมัครแบบแทบไม่ต้องคิดมีเวลาเตรียมตัวอ่านหนังสือหลังเลิกงานวันละ 2-3 ชม. ระยะเวลา 2 เดือนคือเรียกได้ว่าไปตายเอาดาบหน้า สุดท้ายสอบติดตามที่ตั้งใจ (รุ่น17) และตอนนี้เรียนผ่านพ้นเทอมแรกไปแล้วค่ะ ^ ^ (อ.ใกล้รุ่ง กับ อ.ทองทิพย์ ใจดีที่สุดในสามโลก)

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากลองส่งผลงานแปลให้คุณแนทได้ดูฝีมือดูบ้างว่าพอเอาตัวรอดได้หรือไม่ แต่คิดว่าคงเป็นการรบกวนมากไปเลยกำลังคิดว่าในระหว่างเรียนอีก 2 เทอมครึ่งนี้ จะไปหาที่ฝึกฝีมือและคนที่จะวิจารณ์งานแปลของเราได้อย่างถูกต้องน่าเชื่อถือ และมีหลักการได้จากที่ไหนได้บ้าง เพราะยังจำที่คุณแนทบอกได้ชั่วโมงบิน ประสบการณ์ คนที่ให้คำแนะนำดีๆ มีคุณค่ามากมายสำหรับอาชีพนักแปลเสมอ

สุดท้ายนี้ ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าไม่ได้อ่านบทความคุณแนทวันนั้นคงไม่ตัดสินใจโหลดใบสมัครเรียน คงไม่มีแรงผลักดันไปอีกนาน และเผลอๆอาจจะถอดใจไม่คิดเรียนต่อไปเลยก็ได้ตอนนี้เรียนไปทำงานไป จ่ายค่าเทอมตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ(ตั้งใจไว้เลยว่าจะไม่รบกวนเงินพ่อแม่เด็ดขาด) รู้สึกชีวิตตัวเองมีเป้าหมายขึ้นเยอะต้องขอบคุณรุ่นพี่ณัชชาอรจริงๆค่ะ ^ ^

***********************************************

อีเมลของน้องมีประเด็นน่าสนใจ คือ

1. ใจอยากแปลงานเป็นรายได้เสริมใจจะขาดแต่ติดอยู่ที่รู้ว่าความสามารถและพื้นฐานตนเองไม่แน่นพอ

สุดท้ายน้องตัดสินใจถูกแล้วคือต้องเรียนให้มีพื้นฐานก่อนจึงได้ไปสมัครเรียน นี่คือแนวทางที่พี่เขียนบอกผู้อ่านเสมอ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองจริงๆก็ทำได้แต่ต้องมีครูหรือติวเตอร์ที่เก่งๆ คอยกำกับ จะได้รู้ข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไข การไปเรียนในหลักสูตรการแปลนั้นแน่นอนว่าผู้เรียนได้เรียนกับครูที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงและได้คอมเมนท์กลับมาทุกชิ้น การบ้านเยอะนะจ๊ะ แต่ครูก็ตรวจให้ทุกคน และมีให้ผลัดกันตรวจผลงานเพื่อนด้วย จะได้เห็นว่าเพื่อนแปลยังไงไม่ใช่ครูเห็นอยู่คนเดียว

ที่จุฬาฯ ไม่ใช่เฉพาะ อ.ใกล้รุ่ง กับ อ.ทองทิพย์ ที่ใจดีนะจ๊ะ อาจารย์ในหลักสูตรการแปลใจดีทุกคนสมัยพี่เรียนวิชา DiscourseAnalysis กับอาจารย์เพียรศิริ บอกตรงๆว่าเอ๋อเพราะไม่ได้จบตรีจุฬาฯ เพื่อนเกือบทั้งห้องเป็นเด็กจุฬาฯมีประสานมิตร 1 ม.บูรพา 1. ม.รามฯ (พี่เอง) และ มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกไม่กี่คน เวลาตอบคำถาม เด็กจุฬาฯ จะยกมือพึ่บพั่บเหมือนเขามีโลกของเขา พี่ตามไม่ทันเพราะพื้นฐานอ่อน แล้ววิชานี้ยากแต่อาจารย์ไม่ดุเลย หลายคนที่อ่านบล็อกพี่ก็ตัดสินใจไปเรียนการแปลที่จุฬาฯ ว่างๆ พี่จะแวะไปจุฬาฯ ขอค่าโฆษณาหลักสูตร (พูดเล่นนะจ๊ะ)

2. อยากลองส่งผลงานแปลให้ดูว่ามีฝีมือบ้างไหม

เอ่อ พี่ว่าไม่ต้องส่งมาให้พี่ดูก็ได้ ถ้าสอบผ่านจบโทหลักสูตรการแปลจุฬาฯ ก็แสดงว่ามีความสามารถในการแปลเหลือเพียงเก็บชั่วโมงบิน ถ้าน้องเน้นแปลหนังสือ พี่จะไม่ใช่คนตรวจแก้ที่เหมาะสมเพราะงานหลักของพี่คือแปลเอกสารกฎหมายภาษาจะทื่อที่สุด และจะไม่มีการหลากคำ ไม่ได้เน้นอารมณ์แต่จะเน้นข้อเท็จจริง ฉะนั้นแนวทางการตรวจจะไม่เหมือนกัน

3. จะไปหาที่ฝึกฝีมือและคนที่จะวิจารณ์งานแปลของเราได้อย่างถูกต้องน่าเชื่อถือ และมีหลักการได้จากที่ไหน

ในเมื่อน้องแปลงานวรรณกรรม คนที่จะวิจารณ์งานแปลก็คือบ.ก. นั่นแหละ (พี่ชอบเรียกเล่นๆ ว่า บังคับแก้) เลือกสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ก็จะได้ บ.ก.เก่งๆ อย่างสำนักพิมพ์นานมี พี่เคยไปฟังสัมนาการแปลเรื่องการเริ่มต้นเป็นนักแปล คุณพรกวินมาเล่าผู้เข้าสัมนาฟังว่าคัดนักแปลยังไง ตรวจงานแปลยังไงยกตัวอย่างข้อผิดพลาด สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ก็มีคุณมกุฎ เป็น บ.ก. คุณมกุฎเป็นผู้อบรมคอร์สบรรณาธิการต้นฉบับที่จุฬาฯ อยู่แล้วถ้าจำไม่ผิดนะ พี่ตี๋ จิตติ หนูสุขอุปนายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ก็เคยแก้ไขงานเขียนของพี่ ตอนที่ ส.ป.ล.ท.ขออนุญาตตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการแปลในหนังสือแจกผู้เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี   ต้นปีหน้า พี่จะเรียนคอร์สจินดามณีกับครูหนอน  พี่ชอบบทความของครูหนอนมาก เป็นการสอนการตรวจแก้งานเขียนและการใช้ภาษาไทยที่มีหลักการและน่าอ่าน  แนะนำให้ไปเรียน แค่ 2 สุดสัปดาห์เอง

กรณีทำงานให้เอเจนซี่แปลเขาก็จะมีคนตรวจแก้งานแปล แต่ส่วนใหญ่แก้เสร็จแล้วจะไม่ส่งมาให้นักแปลดูหรือถ้าส่งมาให้ดู ก็จะไม่อธิบายเหตุผลสนับสนุนการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คือพี่ว่า ถ้าแก้คำเล็กๆ น้อยๆตามความชอบโดยไม่เปลี่ยนความหมาย ก็ไม่แจ้งนักแปลก็ได้ แต่ถ้าแปลผิดจังๆ ควรจะส่งลิงค์ประกอบหรือเขียนคำอธิบายเพิ่มเติม หลายเอเจนซี่เขาจะมีช่องทาง feedback ให้ส่งคอมเมนท์นักแปล

การที่จะระบุว่าใครแปลดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ไปพูดลอยๆ แต่ควรหาหลักฐานหรือยกตัวอย่างประกอบ ลูกค้าเคยให้พี่ตรวจแบบทดสอบนักแปลสั้นๆคือให้อ่านแล้วบอกว่า ผ่านหรือไม่ผ่านพี่บอกว่าทำอย่างนั้นก็ไม่ยุติธรรมกับนักแปล มันจะกลายเป็นการตัดสินตามความพอใจของตัวเอง พี่ต้องยกตัวอย่างประกอบว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน  (subjective v. objective) เกณฑ์ส่วนใหญ่ที่ลูกค้าจะให้มาไว้เป็นแนวทางในการตรวจแบบทดสอบนักแปลคือสาระถูกต้อง อ่านแล้วเป็นธรรมชาติ ใช้คำถูกวงศัพท์ การสะกด วรรคตอน ไวยากรณ์ เป็นต้น งานแปลประเภทโฆษณา จะมีเกณฑ์เพิ่มคือความน่าดึงดูดผู้อ่าน (เช่น ให้มาใช้บริการ)

อย่างน้อย คนตรวจแก้ ควรแนะนำคำ วลีหรือประโยคที่จะใช้แทนเวอร์ชั่นของนักแปล ไม่ใช่เขียนมาสั้นๆ ว่า แปลผิด เลือกคำผิด อ่านไม่รู้เรื่อง พี่ทำงานกับสำนักงานกฎหมายหลายแห่งเวลาเขาตรวจงานแปล ถ้าชิ้นไหนมีแก้เยอะๆ เขาจะส่งมาให้ดูเพื่อเป็นแนวทางว่างานต่อไปขอให้ใช้คำศัพท์อย่างนี้โครงสร้างประโยคอย่างนี้ แต่ละสำนักใช้ภาษาไม่เหมือนกันต้องปรับสมองเวลารับงาน สำนักนี้จะชอบสำนวนกระชับสำนักนี้จะชอบใช้คำละติน สำนักนี้ชอบการเขียนแบบ plain English เป็นต้น งานไหนที่ technical มากๆพี่จะบอกลูกค้าเลยว่า ต้องไปหาผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ ตรวจอีกทีก่อนนำไปใช้ เช่น แปลเอกสารการแพทย์ ควรให้แพทย์ตรวจ

ทุกวันนี้พี่ก็ตรวจงานแปลของนักแปลที่ช่วยงานและให้คอมเมนท์และลิงค์แหล่งอ้างอิงเสมอพี่อ้อย วชิราวรรณ วรรณละเอียด (ผู้แปลหนังสือ สืบลับสาบสูญ) บอกหลายครั้งว่าเหมือนได้เรียนหนังสือ บางงานส่งคืนฉบับ track changes ให้ดู อาจจะแก้เยอะ แต่บอกเขาว่า ไม่ต้องคิดมาก ผิดจังๆ มีแค่ไม่กี่จุดที่เหลือแก้ตาม preference ของคนตรวจหรือของลูกค้า อย่างคำว่า you หากลูกค้าไม่ได้ให้ style guide มา บางทีนักแปลใช้คำว่าท่าน แต่อ่านเอกสาร วิเคราะห์ผู้อ่านแล้ว น่าจะใช้คำว่า คุณ ก็จะใช้ replace all อย่างนี้พี่จะไม่นับว่าแปลผิดหรือแปลไม่ดีเพราะนักแปลแต่ละคนตีความไม่เหมือนกัน

รุ่นน้องจุฬาฯคนหนึ่งก็ช่วยพี่แปลงานเป็นพักๆ พี่แก้ส่งไปให้ดู เยอะอยู่ แต่พี่บอกเขาว่า ที่เขาแปลมาไม่ได้ผิดเลย แต่มันไม่ใช่สำนวนที่ต้องการ ที่เขาส่งมาถือว่าใช้ได้แล้วก็ยังให้ช่วยงานมาเรื่อยๆ

เคยมีคำพิพากษางานหนึ่งที่พี่ได้แปลอ่านเนื้อหาเอกสารแล้ว ศาลท่านว่า “คำแปลหลักฐานที่ใช้ประกอบในคำฟ้อง (อีเมล)ของโจทก์และจำเลย แปลไม่เหมือนกัน” อ่านถึงตรงนี้ ใจหายวาบ งานเข้า ตูแปลผิดหรือเปล่าเนี่ย ตูแปลให้ฝ่ายโจทก์อย่างนี้ แล้วฝ่ายจำเลยแปลมายังไง ประโยคต่อมาคือ “แต่ใจความทั้งหมดสอดคล้องกันคือ ….” (เกือบหัวใจวาย) จะเห็นได้ว่าคำแปลไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่เนื้อหาจะต้องถูกต้อง ถึงอย่างไรเกณฑ์การประเมินงานแปลของบางเอเจนซี่ก็เคร่งครัดมากจนพี่ต้องท้วงว่า ระบบคำนวณคะแนนให้นักแปลเท่านี้ แต่ในความเห็นพี่งานแปลไม่ได้เลวร้ายเลย เรียกว่าใช้ได้ ความหมายครบ อ่านรู้เรื่องมีผิดบ้างเล็กน้อย แต่ต้องเรียนรู้สไตล์ของ end-user หรือสไตล์ของeditor เพื่อทำงานให้เข้าขากันได้ 

อย่างที่เคยเล่าไปว่า ลูกค้าเคยส่งงานมาให้พี่ตรวจแก้ในฐานะ editor 3  (จะเยอะไปไหน)  editor 1 แก้แล้ว ลูกค้าบอกว่าไม่ใช่  editor 2 แก้แล้ว ลูกค้าบอกว่าไม่ใช่  ก็มาถึงพี่  พี่อ่านทั้ง 3 เวอร์ชั่น (รวมของนักแปลด้วย) ไม่ได้ผิดสักอัน แต่ใช้คำไม่เหมือนกัน  งานนั้นก็บอกลูกค้าว่า ไม่รู้จะแก้อะไร อาจจะมีเกลาเล็กน้อยมากๆ  ซึ่งไม่เกลาก็ได้

เมื่อนานมาแล้วเคยมีลูกค้าท้วงเรื่องคำแปลชื่อหนอนชนิดหนึ่ง บอกว่าไม่ใช่คำนี้ พี่ส่งลิงค์ให้ดูว่าเอามาจากพจนานุกรมเล่มนี้ (ของหน่วยงานราชการ)ไม่ได้คิดเอง สถานะพี่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงไม่มีสิทธิ์คิดเองอยู่แล้ว ลูกค้าก็เข้าใจ คืองานที่พี่แปลหรือตรวจแก้หลักฐานสนับสนุนการแปลจะค่อนข้างแน่น ยิ่งคำไหนอ่านแล้วแหม่งๆ นี่ยิ่งต้องแม่นเพราะ บ.ก. ตีกลับมาถามแน่ๆ ต้องเตรียม defend (เหมือนสอบสารนิพนธ์เลยน้องเอ๊ยบางทีพี่ก็เพลีย)

เขียนมาซะยาว ที่อยากจะบอกคือ บ.ก. ดีๆมีเหตุผล ก็มีแต่ไม่ค่อยเจอ มักจะเจอพวก ego เยอะ ฉันเป็น บ.ก.ฉันต้องเก่งกว่า ฉันมีอำนาจแก้ไขงานเธออย่างไรก็ได้ (อย่างนี้ก็ได้ด้วย) พวกแก้งานมาแล้วคอมเมนท์ว่า “แปลได้แย่มาก” แต่ไม่ยกตัวอย่างสนับสนุนหรือลองแก้ประโยคนั้นมาให้ดูพี่นี่โคตรไม่ชอบเลยและไม่เคยทำด้วย เหมือนสอนคนอื่นว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูกนะแต่ไม่บอกว่าที่ถูกต้องนั้นต้องทำยังไง คุณเดฟที่เป็นกรรมการของ NAATI เคยพูดในการอบรมจรรยาบรรณนักแปลว่า “คนตรวจแก้งานแปลควรมีเทคนิคในการสื่อสารกับนักแปล เช่น ถ้าจะแก้ตรงไหน ให้บอกว่า I suggest…. และ Do not nitpick.” (Nitpicking แปลว่า looking for small or unimportant errors or faults, especially in order to criticize unnecessarily.)  นักแปลที่เคยแปลงานให้พี่เคยไปรับงานเอเจนซี่เมืองนอกเจ้าหนึ่งแล้วโดนคอมเมนท์มาแรงมากๆ เขาเสียใจที่สุด พี่เดาว่าน่าจะเป็นสไตล์การทำงานไม่เข้ากันหรือใช้เกณฑ์การแปลไม่ตรงกัน เพราะนักแปลคนนั้นฝีมือดีมากจากที่เคยตรวจคำแปลของคนนี้มาหลายงาน  

พี่ฝากน้องไว้ว่าถ้าต่อไปมีโอกาสได้ทำหน้าที่ editor ให้ใคร อย่าใช้ destructive criticism มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย คำพูดมีให้เลือกมากมายถนอมน้ำใจไว้บ้างก็ดีเผื่อต้องเจอกันอีกหลายงาน โตๆ กันแล้วไว้หน้าเพื่อนร่วมอาชีพบ้าง เพื่อนทนายเคยพูดว่า “คนล้มอย่าข้าม” ก็จริง ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องให้เหตุผลหรือส่งแหล่งอ้างอิงประกอบเสมอ

อ้อ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. มีคนมาปรึกษาในหน้าFB ของ ส.ป.ล.ท. ว่า “ขอรบกวนปรึกษาค่ะกรณีที่เราแปลงานแล้วลูกค้านำไปให้ Editor แก้และส่งกลับมาให้เราเช็คงานแปลในเว็บ(เป็นฉบับที่ Editor แก้ไว้) เทียบกับต้นฉบับอีกรอบก่อน publishจริง หากพบว่างานที่ Editor แก้ไว้มีความหมายผิดสะกดผิด แปลเกิน แปลขาดจำนวนมาก เราควรแจ้งลูกค้าไปอย่างไรให้ดู soft ดีคะ ลูกค้าให้ Budget มา 2 ชั่วโมงตอนนี้แค่แก้ตัวสะกดผิดกับ inconsistency ก็ครบสองชั่วโมงแล้วคาดว่าถ้าจะทำให้ครบ Scope งาน คงเสียเวลาอีกหลายชั่วโมงขอคำแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ” ถ้าอยากรู้แนวทางการจัดการความขัดแย้งเรื่องนี้  โปรดตามไปอ่านในหน้า FB ของ ส.ป.ล.ท.  อย่างหนึ่งที่เห็นได้จากข้อความนี้คือนักแปลอยากท้วงและเลือกที่จะทำแบบถนอมน้ำใจ

4. ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าไม่ได้อ่านบทความคุณแนท วันนั้นคงไม่ตัดสินใจโหลดใบสมัครเรียน… รู้สึกตัวเองมีเป้าหมายขึ้นเยอะ

ขอบคุณที่เขียนมานะคะ มีแฟนคลับเขียนมาหลังไมค์หลายคน พี่ว่าคนเก่งๆ มีเยอะและหลายคนเก่งกว่าพี่ด้วยแต่ขาดคนชี้ทาง พอมาเจอพี่ เหมือนได้ครูแนะแนว (ลุงขาวไขอาชีพ) ดีใจที่ประสบการณ์ที่เขียนบอกไปเป็นประโยชน์กับหลายๆคนในอาชีพเดียวกัน

*******************

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านล่วงหน้าเผื่อไม่มีเวลาเขียนบล็อกถัดไป

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก  

จงดลบันดาลให้ผู้อ่านและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญ




Create Date : 24 ธันวาคม 2559
Last Update : 24 ธันวาคม 2559 22:29:32 น.
Counter : 1348 Pageviews.

0 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Workingwoman.BlogGang.com

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]

บทความทั้งหมด