เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับจรรยาบรรณนักแปลและล่าม




เมื่อวานไปอบรมเรื่อง Some lesser-known code of ethics ไปกับคุณนวลอนงค์ ซึ่งเป็นล่าม NAATI ระดับ 3ของวิกตอเรีย ที่เคยทาบทามให้เราไปสอบล่ามเพื่อมาช่วยกันทำงานแต่เราปฏิเสธเพราะงานแปลก็ท่วมหัวแล้ว ที่มานั่งฟังคราวนี้เพราะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

วิทยากรในการอบรมครั้งนี้คือ คุณเดฟ ประธาน  AUSIT สาขาวิกตอเรีย หัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่าเกี่ยวกับจรรยาบรรณแต่การอบรมครั้งนี้จะพูดถึงจรรยาบรรณข้อที่นักแปลและล่ามไม่ค่อยคุ้น

ถ้าใครเคยอ่านบล็อกเก่าของเรา จะรู้ว่าเราเคยเขียนเรื่อง AUSIT Code of Ethics 2012 ไปแล้วว่ามี 9 ข้อคือ Professional Conduct,  Confidentiality,  Competence,  Impartiality,  Accuracy, Clarity of Role Boundaries, Maintaining Professional Relationship, Professional Development และ Professional Solidarity

ข้อที่จะคุยกันวันนี้คือ ข้อ 6 และข้อ 7

ข้อ 6. Clarity of role boundaries คือการแจ้งลูกค้าให้เข้าใจว่าเราทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารเท่านั้นหลายครั้งล่ามจะพบว่าลูกค้าคาดหวังนอกเหนือจากขอบเขตนี้ คุณเดฟยกตัวอย่างกรณีล่ามที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลขอให้ล่ามช่วยยกคนป่วยเพื่อย้ายจากเปลมาขึ้นเตียง กรณี้ล่ามควรปฏิเสธเพราะล่ามไม่ได้รับการฝึกอบรมมาเรื่องการขนย้ายผู้ป่วย เกิดระหว่างย้าย ทำผู้ป่วยหล่นใครจะรับผิดชอบ

แต่ข้อนี้ไม่บังคับกรณีหลังเลิกงานแล้ว เช่นล่ามติดตามตัวที่เสร็จสิ้นจากการทำงานล่ามที่ไซต์ต่างๆถูกขอให้พาลูกค้าไปที่โรงแรม (อำนวยความสะดวก) อันนี้จะเป็นเรื่องของ personal relationship ซึ่งล่ามทำได้

ข้อ7. Maintaining Professional Relationship หมายถึงการที่ล่ามหรือนักแปลต้องรับผิดชอบผลงานของตัวเอง ไม่ว่าจะรับงานมาในฐานะลูกจ้าง ฟรีแลนซ์หรือผู้รับจ้างช่วง และในการรับทำงาน เนื่องจากลูกค้าคาดหวังงานที่มีคุณภาพล่ามก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมการทำงานเหมาะสม เช่นต้องมีที่นั่งให้ล่าม ระหว่างล่าม ต้องมีการพักเบรค ก่อนการล่าม ลูกค้าจะต้องให้ข้อมูลย่อๆเกี่ยวกับเรื่องที่จะล่าม (briefing) ล่ามจะต้องทราบถึงวิธีปฏิบัติของแต่ละสถานที่เช่น ต้องล้างมือก่อนเข้าไปในห้องตรวจคนไข้

สมมติว่าลูกค้าไม่สามารถจัดหาสิ่งที่ล่ามขอได้ ล่ามจะทำอย่างไร? แนวทางจากคุณเดฟคือ แจ้งลูกค้าว่า ในการทำงานชิ้นนี้มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น กรณีล่ามทางโทรศัพท์ หมอนั่งอยู่ใกล้โทรศัพท์แต่คนไข้นั่งอยู่ห่าง อาจจะอยู่บนเตียงที่สายโทรศัพท์ไปไม่ถึง ก็จะทำให้การสื่อสารผ่านล่ามไม่ราบรื่นหรือตัวอย่างที่เคยอ่านจากล่ามรุ่นพี่ เช่นลูกค้าไม่จัดหาห้องให้ล่ามนั่งแยกต่างหากแต่ให้นั่งหลังผนังชั่วคราวที่กั้นสัดส่วนด้านหลังห้องประชุมซึ่งทำให้ล่ามได้รับเสียงรบกวน อาจทำให้เสียสมาธิในการล่าม หรือไมโครโฟนรุ่นเก่า ทำให้เสียงไม่ชัดเจน ฉะนั้นลูกค้าไม่ควรคาดหวังให้ผลงานล่ามต้องสมบูรณ์แบบในกรณีที่มีข้อจำกัด

หรือกรณีล่ามในไซต์งานแต่ไม่มีเวลาให้ล่ามเข้า safety induction ล่ามก็ต้องแจ้งลูกค้าว่ามีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน(ซึ่งในออสเตรเลียถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หากเจ้าพนักงานตรวจพบ ไซต์โดนสั่งปิดทันทีจนกว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนด)

ทีนี้มาดูประเด็นที่เกี่ยวกับล่ามโดยตรง อันนี้ขอเขียนเป็นข้อย่อยนะ เพราะสไลด์มันเยอะ 

- ล่ามต้องขอข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะขอได้  และรักษาความลับของข้อมูลนั้นไว้ 

ล่ามต้องล่ามทุกอย่างที่ลูกค้าพูด อย่า soften หรือ enhanceน้ำเสียงของลูกค้า เช่น หากลูกค้านิ่งครู่หนึ่งแล้วพูดว่า “I can do that.” ล่ามก็ควรทิ้งช่วงหรือทำท่าครุ่นคิดก่อนล่ามเพื่อให้สื่อถึงความลังเล 

กรณีที่ล่ามสงสัยว่า สิ่งที่ลูกค้าพูดนั้นไม่เป็นความจริงอย่างการทำหน้าล่ามในศาล ล่ามไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าลูกค้าพูดจริงหรือเท็จ มีหน้าที่เพียงสื่อสารสิ่งที่ลูกค้าพูดเท่านั้น

กรณีมีผู้ร่วมประชุมหลายฝ่ายแต่การสนทนาไม่ได้เป็นการพูดโดยตรงกับลูกค้า ล่ามอาจใช้วิธีกระซิบ (chuchotage) บอกลูกค้าว่าคนอื่นกำลังพูดอะไรกัน

ล่ามต้องรักษาความลับเสมอยกตัวอย่าง คนไข้เล่าอะไรให้ล่ามฟังเยอะแยะมากมายในระหว่างรอพบแพทย์ พอเข้าห้องตรวจคนไข้บอกล่ามว่าในเมื่อเล่าให้ฟังหมดแล้ว ล่ามก็บอกหมอไปเลย จริงๆ ก็ทำได้แต่ล่ามต้องแจ้งแพทย์ว่า “My client has asked me to speak on his behalf….” หากแพทย์เห็นว่าไม่สมควรแพทย์จะแจ้งคนไข้เองว่า ขอให้อธิบายอาการทั้งหมดกับแพทย์โดยตรง 

อย่าให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้อื่น เช่น อย่าพูดว่า “ลูกค้าไม่ใช่ native speaker อาจจะไม่เข้าใจที่คุณ(ทนาย) พูด” แต่หากล่ามแน่ใจว่าลูกค้าไม่เข้าใจที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดจริงๆก็อาจจะบอกอีกฝ่ายหนึ่งว่า “I think my client is confused here. Let me rephrase this….”

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับนักแปล มีดังนี้

- ขอดูตัวอย่างเอกสารเสมอ โดยสุ่มจากช่วงกลางของเอกสารเพื่อประเมินค่าบริการได้ถูกต้อง ว่าจำนวนคำเท่านี้ ความยากระดับนี้บริการเพิ่มเติมที่ลูกค้าต้องการ (เช่น หาคน edit ให้ด้วย) จะคิดค่าบริการเท่าไหร่ 

ขอทรัพยากรการแปล เช่น อภิธานศัพท์ หรือตัวอย่างงานแปลเดิม เพื่อใช้เป็นแนวทาง 

รับงานแปลเฉพาะ direction ที่ตนมีใบรับรองเท่านั้น เช่น ได้รับการรับรอง NAATI สำหรับการแปล TH > EN ก็รับงานได้เฉพาะภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น 

รับเฉพาะงานที่ตนมีความสามารถเท่านั้น หากลูกค้าไม่สามารถหาคนอื่นได้เลยในเวลานั้นนักแปลต้องแจ้งลูกค้าว่า สามารถรับงานได้แต่ลูกค้าต้องส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจอีกครั้งหรืออาจจัดหา editorที่เป็นผู้เชี่ยวชาญให้ลูกค้าด้วย 

งานแปลที่ตรวจแก้แล้ว ให้ส่งคืนมายังนักแปลเสมอ เพื่อที่นักแปลจะ defend ได้ (rightto reply) 

กรณีนักแปลได้รับการว่าจ้างให้ตรวจคำแปล อย่าตรวจแบบ nit-pick (To criticize or find fault with (someone or something) in apetty way) ให้เกียรติเพื่อนนักแปลเช่น อาจใช้คำว่า “I suggest…” (สมัยเรียนจุฬาฯ ตอนอาจารย์อภิปรายงานแปลนักเรียน อาจารย์จะใช้คำว่า “อาจารย์เสนอว่าคำนี้ควรจะแปลอย่างนี้ เพราะ…” กรณีนักแปลได้รับการว่าจ้างจากลูกค้าที่เป็นtranslation agency บางที่จะมีแนวทางว่าให้ ดู accuracyเป็นหลัก อย่าแก้ไขสไตล์)

เรามาดู case study 

1. คุณได้รับการว่าจ้างให้ถอดเทปและแปลคำให้การระหว่างฟัง คุณรู้สึกว่าเสียงคุ้นๆ พอฟังไปเรื่อยๆ มีชื่อคน มีสถานที่และรายละเอียดอื่นๆ คุณแน่ใจว่าผู้ต้องหา เป็นคนรู้จัก คุณจะทำอย่างไร

แนวแนวทางแก้ปัญหา - ขอถอนตัวจากงานนี้ เพราะมี conflict of interest (ถึงทู่ซี้ทำล่ามก็เสี่ยงจะไม่เป็นกลาง โดยอาจเผลอแปลในทางที่ช่วยเพื่อนก็ได้)

2. Translation agency จ้างคุณแปลเอกสารประจำตัวบ่อยจนกลายเป็นลูกค้าประจำวันหนึ่งลูกค้าบอกว่า เพื่อความสะดวก ขอให้คุณส่ง e-signature มาหน่อย เพื่อจะได้จัดการเอกสารแปลแทนคุณได้เร็วขึ้น คุณจะทำอย่างไร

แนวแนวทางแก้ปัญหา - สิ่งที่ต้องคิดคือ How far do you trust these people? แต่คนที่มาร่วมอบรมส่วนใหญ่ บอกว่า ไม่ให้ ถึงอย่างไร e-signature ที่ปรากฏในPDF สามารถตัดแปะลงในเอกสารตัวใหม่ได้หรือหากเป็นตราประทับที่ชัดเจน ก็สามารถนำไปสแกนเพื่อดึง e-signature ออกมาได้

คุณเดฟบอกว่า ทุกครั้งที่ประทับตรา NAATIจะลงวันที่กำกับบนตรา (เขียนทับตรา) เสมอ ถ้ามีคนดึงออกไปทำ e-signature อาจจะลำบากเพราะหมึกมันทับซ้อนกัน หรือนักแปลอาจใช้ PDF เวอร์ชั่นที่สามารถล็อกไฟล์ไม่ให้มีการตัดแปะ แก้ไขใดๆ ได้

3. ลูกค้ากำลังจะขอวีซ่าธุรกิจซึ่งต้องส่งเอกสารการจัดตั้งบริษัทในประเทศบ้านเกิดของลูกค้า แต่เนื่องจากเอกสารมันเยอะตัวแทนขอวีซ่าบอกว่า ให้แปลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อลดค่าใช้จ่าย คุณจะรับงานนี้หรือไม่เพราะอะไร

แนวแนวทางแก้ปัญหา – เวลาที่แปลเฉพาะบางส่วนของเอกสาร ให้คำนึงเสมอว่าผู้อ่านจะเข้าใจหรือไม่เพราะเนื้อหา out of context คุณเดฟบอกว่า สามารถรับงานได้แต่ให้พาดหัวเอกสารแปลว่า “Partial Translation of xxx” และเพิ่มเติมใน certification wording ด้านล่างเอกสารว่า “At the request of the client, only the highlighted paragraphs are translated.” และตัวแปลทุกย่อหน้าต้องเขียนกำกับเช่น หน้า 2 ย่อหน้า 3 หรือหากไม่ต้องการรับงาน ก็ปฏิเสธลูกค้าได้เช่นกัน

4. ลูกค้าจ้างแปลใบสมรส ซึ่งในเอกสารระบุชื่อและนามสกุลแต่ไม่ได้ระบุชื่อรอง ลูกค้าต้องการให้คุณระบุชื่อรองลงไปด้วย โดยลูกค้าแสดงเอกสารประจำตัวอื่นๆให้ดูว่า ปัจจุบันลูกค้าใช้ชื่อจริง ชื่อรอง และนามสกุล คุณจะทำอย่างไร

แนวแนวทางแก้ปัญหา – มีคำตอบเดียวคือ ถ้าต้นฉบับไม่มี คำแปลก็ต้องไม่มี ถ้าขืนใส่ไป กลายเป็นการดัดแปลงแก้ไขเอกสารมีความผิด ยิ่งพวกเอกสารใช้ในคดีความ ไปแปลแบบ addition หรือomission อาจมีผลที่ตามมาร้ายแรง นักแปลสามารถบอกลูกค้ารายนี้ให้ไปขอแก้ไขเอกสารที่สำนักงานเขตแล้วค่อยส่งเอกสารฉบับที่แก้ไขแล้วมาแปล

ในส่วนเอกสารไทยก็มี คือ ใบเกิดใช้ชื่อหนึ่ง บัตร ปชช ปัจจุบัน เป็นอีกชื่อหนึ่ง แต่ไม่มีใบเปลี่ยนชื่อ ตรงนี้แก้ปัญหาได้โดยให้ลูกค้าไปขอหนังสือรับรองบุคคลคนเดียวกัน (certificate of one and the same person) ที่อำเภอ แล้วส่งแปลเพื่อยืนยันว่าคนนี้เป็นคนเดียวกัน

5. คุณได้รับการว่าจ้างให้ล่ามให้ลูกค้าที่ สำนักงานประกันสังคม (ที่นี่คือ Centrelink) ลูกค้าพาญาติมาด้วย ระหว่างล่ามนั้น ญาติคอยแทรกเป็นระยะว่าล่ามแปลผิดนะ โน่นนี่นั่น คุณจะทำอย่างไร

แนวแนวทางแก้ปัญหา – แจ้งหน่วยงานว่า ญาติของลูกค้าท้วงติงบ่อยๆทำให้การทำงานติดขัด ให้หน่วยงานตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร หน่วยงานอาจจะบอกลูกค้าว่า ให้ญาติอยู่เฉยๆและให้ล่ามทำหน้าที่ของล่ามไป

อันนี้ก็เคยมีเคสของเพื่อนที่ภูเก็ต เธอล่ามๆ ไปทนายของอีกฝ่ายก็ล่ามแทรก พอหลายๆ ครั้งเข้า ก็ต้องอธิบายว่านี่มันหน้าที่ล่าม ทนายก็ทำหน้าที่ของทนายไป ซึ่งท่านผู้พิพากษาก็เห็นด้วย

หากใครสนใจเรียนเรื่องจรรยาบรรณนักแปลและล่ามแบบเต็ม18 ชั่วโมงสามารถสมัครเรียนทางออนไลน์ได้ที่เว็บ NAATI เรียนจบได้รับใบประกาศนีบัตร มี case study ให้ทำมากมายมี mentor ส่วนตัวให้





Create Date : 20 พฤษภาคม 2559
Last Update : 20 พฤษภาคม 2559 10:20:38 น.
Counter : 1983 Pageviews.

0 comments
การ์ตูนจากกล่องอาหาร สมาชิกหมายเลข 4313444
(14 เม.ย. 2567 04:14:16 น.)
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเอกซ์โพเนนเชียล & ลอการิทึม นายแว่นขยันเที่ยว
(27 มี.ค. 2567 00:52:25 น.)
เอื้องชมพูไพร สมาชิกหมายเลข 4313444
(21 มี.ค. 2567 02:45:05 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Workingwoman.BlogGang.com

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]

บทความทั้งหมด