คุยกับล่ามญี่ปุ่น


คุยกับล่ามญี่ปุ่น

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้อ่านอีเมลมาถามเกี่ยวกับการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น  เราไปสัมภาษณ์มาให้แล้ว ด้านล่าง

คำถาม: คุณสิรวดี ทำงานล่ามญี่ปุ่นมากี่ปีแล้วคะ เริ่มต้นอย่างไร ค่าตอบแทนที่ได้รับครั้งแรกเท่าไหร่

-ทำงานล่ามภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่กลับจากญี่ปุ่นปี 2012 จนถึงปัจจุบันค่ะ ที่ทำงานแรกที่ทำเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นไม่มีประสบการณ์ล่ามได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนเดือนละเกือบ 6 หมื่นบาท (ไม่รวมโอที)ค่ะ

คำถาม: คนที่สนใจทำงานล่ามญี่ปุ่น จำเป็นต้องจบการแปลหรือล่ามมาหรือไม่ หรือควรจบสายไหนเป็นพิเศษ

-คนที่ทำงานล่ามญี่ปุ่นนั้นเท่าที่ทราบคือเกือบทั้งหมดไม่มีใครได้เรียนหลักสูตรการล่ามภาษาญี่ปุ่น (ซึ่งให้วุฒิทางด้านล่าม)มาโดยตรงเนื่องจากในประเทศไทยไม่มีหลักสูตรที่ให้วุฒิการล่ามภาษาญี่ปุ่นอาจมีผู้ที่เรียนการล่ามที่ประเทศญี่ปุ่น แต่หลักสูตรที่ญี่ปุ่นเป็นการล่ามคู่ภาษาระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษแต่ไม่มีคู่ภาษาภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยเท่าที่ทราบคือในประเทศไทยมีหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านภาษาญี่ปุ่นอยู่หลาย ๆมหาวิทยาลัย และในหลักสูตรนั้นมีรายวิชาล่ามอยู่ด้วยประมาณ 1 รายวิชา

การเป็นล่ามนั้นอย่างไรก็แล้วแต่แม้จะไม่สามารถเรียนสายล่ามภาษาญี่ปุ่น-ไทยได้โดยตรงแต่ควรจะมีวุฒิการศึกษาสายภาษาญี่ปุ่นเพื่อเป็นใบรับรองความรู้ความสามารถทางด้านภาษาญี่ปุ่นของล่ามประเภทของวุฒิและการสอบผ่านวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นจะเป็นตัวกำหนดความสามารถของคนๆนั้นการได้งานจะขึ้นอยู่กับความต้องการของบริษัทว่าต้องการล่ามที่มีความสามารถระดับไหนซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลเรื่องเงินเดือนด้วยเช่นกัน

คำถาม: ล่ามญี่ปุ่นได้ค่าตอบแทนสูงกว่าล่ามไทยอังกฤษใช่มั้ยคะขอทราบเรทค่าล่ามคร่าวๆ ได้มั้ยคะ (เช่น เด็กจบใหม่ เริ่มต้น 20,000 บาท มีประสบการณ์ได้เพิ่มเป็น xxx  สอบผ่าน N1 ควรได้ค่าตอบแทนxxx บาท)

-จากประสบการณ์ที่รับงานล่ามมาขอแบ่งอธิบายเป็น 3 ประเภทคือ

1. ล่ามที่เป็นพนักงานประจำ

กรณีที่เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น-ไทยที่เป็นพนักงานประจำจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าล่ามภาษาอังกฤษ-ไทยอย่างเห็นได้ชัด อัตราค่าตอบแทนล่ามแบ่งตามระดับความสามารถทางสามารถญี่ปุ่น

N1-2 50,000 up

N3 20,000 up

N4-5 ไม่มีข้อมูล

เนื่องจากล่ามที่เคยพบจะเป็นล่ามที่สอบได้ N3 ขึ้นไป ดังนั้น จึงไม่เคยพบ N4-5 ที่ได้ทำงานเป็นล่ามแต่อาจจะมีได้ทำงานอื่นซึ่งใช้ความสามารถภาษาญี่ปุ่นที่มีได้ในงานนั้น ๆ

N1 บางคน เป็นล่ามที่เป็นพนักงานประจำและได้รับเงินเดือนเกือบหนึ่งแสนบาทซึ่งเป็นกรณีที่หายากสักหน่อยในเศรษฐกิจปัจจุบันและสังคมที่เปลี่ยนไป

2. ล่ามสัญญาจ้าง

กรณีที่เป็นล่ามที่ไม่ใช่พนักงานประจำ ซึ่งรับงานเป็นรายวันรายสัปดาห์ รายเดือนหรือรายปี แล้วแต่จะตกลงทำสัญญากับบริษัทที่จ้างงานเปรียบเทียบกับล่ามญี่ปุ่นที่เป็นพนักงานประจำแล้วมีทั้งที่ได้รับค่าจ้างมากกว่าและได้น้อยกว่าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสามารถภาษาญี่ปุ่นและความสามารถอื่นของล่าม

แต่ส่วนใหญ่แล้วจะได้มากกว่า ในหลักที่ไม่เกิน 1-2หมื่นบาทต่อเดือน แต่แลกกับความเสี่ยงคือฝ่ายบริษัทเสี่ยงที่จะได้ล่ามที่ไม่ได้เก่งจริง แต่ต้องจ้างมาเฉพาะกาลเพื่อใช้ในโปรเจคและล่ามเสี่ยงในแง่ที่ หากหมดสัญญาจ้างแล้วจะไม่ได้รับการต่อสัญญาหรือเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกสัญญากลางทันแบบกะทันหัน(หากเจอบริษัทที่ไม่เป็น professional) หากได้งานสัญญาจ้างฉบับใหม่หรือมีการทำสัญญาจ้างต่อ ล่ามก็จะมีรายได้ต่อไปแต่ถ้าหมดสัญญาจ้างแล้วไม่มีคนจ้างต่อก็ขาดรายได้ ถือได้ว่าไม่มีความมั่นคงในงาน ความเสี่ยงอีกเรื่องของล่ามสัญญาจ้างกรณีที่รับงานผ่านบริษัทตัวกลางที่ส่งต่อให้บริษัทที่ทำงานอีกที่หนึ่งหากมีการเลิกสัญญากลางคันโดยไม่ชดเชย หรือการเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมก็ต้องมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเองตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น ไม่เหมือนล่ามที่เป็นพนักงานประจำที่อย่างไรเสียบริษัทก็ยังมองว่าล่ามประจำเป็นพนักงานของบริษัทด้วยคนหนึ่งหรือล่ามสัญญาจ้างที่บริษัทเป็นผู้จ้างโดยตรง ที่บริษัทต้องให้การดูแล

ในส่วนค่าตอบแทนนั้นกรณีของล่ามสัญญาจ้างก็เช่นกันเท่าที่ทราบคือจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าล่ามภาษาอังกฤษ-ไทย

3. ล่ามที่เป็นฟรีแลนซ์

กรณีของล่ามฟรีแลนซ์ อาจตอบได้ว่าล่ามญี่ปุ่น-ไทยเปรียบเทียบกับล่ามอังกฤษ-ไทยแล้วล่ามญี่ปุ่น-ไทยได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าโดยส่วนใหญ่เนื่องจากเป็นคู่ภาษาสองภาษาและการใช้งานล่ามฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่จะจ้างเป็นรายวันซึ่งสามารถเรียกค่าตอบแทนได้ตั้งแต่วันละ 3,000 บาทต่อวันขึ้นไปและล่ามบางคนได้วันละ 10,000 บาทหรือมากกว่าก็มี และไม่รวมค่าล่วงเวลาแต่กรณีที่ล่ามแปลพูดพร้อมได้ อัตราค่าตอบแทนการจ้างสูงมาก เป็นวันละ 7,000-20,000บาทขึ้นไปได้เลยทีเดียว แล้วแต่ความสามารถของล่ามที่บริษัทต้องการใช้และหากบริษัทต้องการจ้างล่ามฟรีแลนซ์โดยให้อัตราค่าตอบแทนเป็นรายวันแต่จ้างยาวหนึ่งเดือนสองเดือนสามเดือน และอาจต่อไปเรื่อย ๆ อัตราค่าตอบแทนการจ้างล่ามจะอยู่ที่ราวๆ 3,000-5,000 บาทต่อวันขึ้นไป ไม่รวมค่าล่วงเวลา

แต่ล่ามฟรีแลนซ์กรณีที่เป็นล่ามสามภาษา คือ ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษหรือ ข้ามคู่ภาษาเป็น ญี่ปุ่น-อังกฤษ นั้น อัตราค่าตอบแทนการจ้างสูงมาก เป็นวันละ 7,000 ขึ้นไปเช่นกัน

จากข้อมูลข้างต้นสิรวดีไม่สามารถตอบแทนได้ว่าค่าตอบแทนขั้นสูงสุดที่แท้จริงในการจ้างล่ามเป็นเท่าไหร่เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง คือความยากง่ายของเนื้อหาที่จ้างล่ามไปแปล(เช่น การประชุมระดับประเทศล่ามควรจะได้ค่าตอบแทนสูง) ความสามารถและความฉลาดเฉลียวส่วนตัวและความสามารถในการแปลของล่ามซึ่งเป็นจุดสำคัญ คอนเนคชั่นกับบริษัท งบประมาณบริษัทเป็นต้น

โดยสรุปแล้ว สิรวดีมีความเห็นว่าล่ามฟรีแลนซ์ที่เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น-ไทย,ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษ หรือล่ามภาษาอังกฤษ-ไทย สามารถเรียกค่าตอบแทนได้พอๆ กันขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษา ความสามารถในการแปล ฝีมือและสติปัญญาของล่ามและชนิดของงานที่แปล เช่น งานล่ามด้านกฎหมายหรือศาลเมื่อความยากของงานกำหนดอยู่แล้ว ย่อมต้องการล่ามที่มีความสามารถมากเป็นพิเศษดังนั้นอัตราการจ้างล่ามของทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ ควรอยู่ในระดับเดียวกัน

คำถาม: ล่ามญี่ปุ่นมักจะได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในส่วนอุตสาหกรรมไหนเป็นพิเศษและคิดว่าเพราะอะไร (เช่น การแพทย์ เพราะคนญี่ปุ่นมารักษาตัวที่ไทยเยอะ)

-ทุกอุตสาหกรรมที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นหรือมีเชื้อสายญี่ปุ่นจะต้องการล่ามญี่ปุ่นเสมอหากจะให้ตอบว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นพิเศษไม่สามารถตอบได้ แต่ตอบได้ว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจะใช้ล่ามญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากเช่น บริษัทญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยเจ้าหนึ่ง มีล่ามสัญญาจ้าง 35-40 คนและยังจ้างล่ามฟรีแลนซ์สำหรับโปรเจค (1-3 เดือน) อีกหลายสิบคนอีกด้วยเนื่องจากเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ คือมีพนักงานประมาณ 9,000 (รวมพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว)จึงมีพนักงานชาวญี่ปุ่นที่มาประจำที่เมืองไทยมาก (สามร้อยคน) ด้วยทำให้ความต้องการล่ามต่อจำนวนพนักงานชาวญี่ปุ่นสูงขึ้นตาม เป็นต้นเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นซึ่งมีจำนวนพนักงานอยู่ที่หลักร้อยหรือพันต้นๆ และจำนวนพนักงานชาวญี่ปุ่นที่มาประจำมีจำนวนหลักสิบทำให้ความต้องการจำนวนล่ามของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนั้นๆ น้อยลงไปด้วยซึ่งบางโรงงานใช้ล่ามหนึ่งคนแปลทั้งโรงงาน (เรียกได้ว่าใช้จนคุ้ม)แต่หลายๆที่จะมีล่าม 1-4 คน สำหรับโรงงานที่มีพนักงานจำนวนน้อยจนถึงหลัก 1,xxx คน

คำถาม: มีงานไหนที่ให้ทำล่ามญี่ปุ่นทางโทรศัพท์มั้ยคะ(ของออสเตรเลียมีให้ทำล่ามทางโทรศัพท์ได้)

-มีค่ะ เป็นบริษัทที่เป็นบริษัทอเมริกาที่สหรัฐอเมริกาติดต่อจ้างงานให้สิรวดีทำการล่ามผ่านทางโทรศัพท์ให้กับสถานฑูตไทยสถานีตำรวจ และอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีฉุกเฉินค่ะ

คำถาม: วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีผลอย่างไรต่อการทำงานของล่าม ยกตัวอย่าง (เช่นต้องแต่งตัวเรียบร้อย ต้องโค้งคำนับหัวหน้า ต้องเข้างานตรงเวลาถ้าหัวหน้าด่าลูกน้อง ก็อย่าด่าตามแต่ให้ลดทอนน้ำหนักลงมา หรือให้ด่าไปตรงๆ? etc.)

-ในเรื่องของวัฒนธรรมต้องคุยกันยาว ในหลายๆ มีทั้งเรื่องที่สามารถแชร์ได้กับเรื่องที่ไม่ควรพูดเอาเป็นว่าเรื่องวัฒนธรรมมีผลต่อการทำงานของล่ามอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เมื่อเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นแล้วก็ต้องทำงานให้กับบริษัทญี่ปุ่น จึงต้องพยายามเข้าใจและให้การยอมรับในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นด้วยแม้ว่าจะขัดกับวัฒนธรรมไทยหรือความรู้สึกของเราก็ตาม

คำถาม: การมีคอนเน็กชั่นช่วยให้ได้งานล่ามญี่ปุ่นง่ายขึ้นมั้ยคะ

-มีส่วนทำให้ได้งานง่ายขึ้นค่ะ เพราะล่ามจะรู้จักกัน มีไลน์กลุ่มจึงมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลกันในการนำเสนองานล่ามได้ด้วย และคอนเน็กชั่นกับบริษัทก็สำคัญหากเคยแปลให้บริษัทไหนแล้วบริษัทถูกใจการแปลของล่ามบริษัทก็จะเรียกใช้ล่ามคนนั้นอย่างสม่ำเสมอและอาจมีการบอกต่อไปยังบริษัทอื่นเป็นการแนะนำล่ามไปในตัวด้วย

คำถาม: ช่วยยกตัวอย่างการทำงานของล่ามญี่ปุ่นสักหนึ่งวัน (เช่น เข้างาน 8 โมง ตอกบัตรไปรายงานตัวกับหัวหน้า ร้ับคำสั่ง ติดต่อพนักงานในทีมสอบถามตารางงานว่าจะให้ทำอะไร etc.) 

-ล่ามญี่ปุ่นในโรงงานบางวันจะเริ่มงานก่อน 8โมงเช้า เช่น 7:45 สัปดาห์ละหนึ่งวันเพื่อมาประชุมรวมทั้งโรงงานตอนเช้าหรือบางแห่งอาจให้เริ่มประชุมภายในฝ่ายในตอนเช้าตั้งแต่ 7:55 แล้วประชุมรวมกับฝ่ายอื่น 8:05 เป็นต้น

-การตอกบัตร ต้องตอกตั้งแต่ตอนมาทำงาน คือมาถึงก็ clock inเลย แล้วสวัสดีทักทายหัวหน้า และผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ

-ประชุมเช้าเสร็จก็มานั่งแปลงานที่แปลค้างไว้พอเสร็จงานแปลชิ้นนึงก็แปลงานชิ้นถัดไปต่อ หากไม่มีการนัดประชุมไว้ล่วงหน้าและไม่มีใครเรียกให้ไปแปลให้นาย (กรณีมีนายคนเดียว)หรือหากต้องซัพพอร์ตคนญี่ปุ่นหลายคน ก็จะมีการเรียกไปแปลให้คนญี่ปุ่นเป็นระยะ ๆสลับกับนั่งแปลงาน ซึ่งเป็นอย่างนี้ไปตลอดวัน

-การพักมีพักเบรกช่วงเช้า 10 นาที พักเที่ยงเป็นไปตามรอบที่แต่ละบริษัท/โรงงานกำหนดอาจมีรอบ 11:30, 11:45, 12:00 เป็นต้น มีพักเบรกตอนเย็นช่วง 15:00อีก 10 นาที

-เลิกงาน 17:00 แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลิก ต้องทำโอทีต่อ

-กลับบ้าน 1-2 ทุ่ม

***ล่ามญี่ปุ่นที่ทำงานล่ามอย่างเดียว จะไม่มีทีมที่ทำงานเพราะล่ามจะเป็นงานของตัวเองที่ไม่ต้องประสานการทำงานหรือทำงานอื่นกับพนักงานคนอื่นการทำงานที่เกี่ยวข้องเช่น การจัดลำดับการแปลเอกสาร ล่ามจะเป็นคนบริหารจัดการเองส่วนการแปลการประชุม หากทางบริษัทจะให้ล่ามเข้าไปแปลเดี๋ยวบริษัทจะแจ้งให้ทราบบางครั้งแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่หลายครั้งไม่แจ้งล่วงหน้าเรียกปุ๊บให้ไปแปลปั๊บเลยจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา

คำถาม: คุณสิรวดีทำงานล่ามญี่ปุ่นหรืองานแปลญี่ปุ่นเป็นหลักคะ เพราะอะไร

-สิรวดีทำงานล่ามภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากเริ่มต้นมาแบบนี้ (หัวเราะ...)ซึ่งที่เริ่มต้นเป็นล่ามได้เนื่องจากเรามีความถนัดในการพูดภาษาญี่ปุ่นเพราะไปเรียนจบมาจากญี่ปุ่นซึ่งพอมาทำงานล่ามก็ทำให้ตัวเองไม่ลืมภาษาญี่ปุ่น ฝึกภาษาในตัวอยู่เสมอ และค่าตอบแทนที่ได้ก็น่าพอใจอีกด้วย

ตรงกันข้ามสิรวดีแปลกใจกับตลาดงานแปลในประเทศไทยมากเพราะงานแปลภาษาญี่ปุ่นซึ่งต้องใช้ความสามารถในการแปลมากกว่าภาษาอังกฤษ กลับทำค่าตอบแทนให้สิรวดีได้น้อยกว่างานล่ามภาษาญี่ปุ่นและงานแปลภาษาอังกฤษเสียอีกบางที่ให้ค่าตอบแทนงานแปลภาษาญี่ปุ่นหน้าละ 300 บาท ตกเฉลี่ยต่อคำได้ไม่ถึงคำละ 1บาท ในขณะที่ภาษาอังกฤษได้มากกว่า เมื่อมีการกดค่าแปลนักแปลภาษาญี่ปุ่นมากเพื่อที่บริษัทแปลคนกลางจะบวกmargin ทำให้นักแปลเก่ง ๆ ไม่รับงานแปลราคาถูกบริษัทแปลไม่ง้อและส่งงานแปลให้ผู้แปลที่มีความสามารถกลาง ๆ ซึ่งยอมแปลให้ในราคาที่บริษัทกำหนดท้ายที่สุดจึงส่งผลต่อคุณภาพของงานแปล(ซึ่งแน่นอนลูกค้าที่จ้างแปลงานอาจไม่รู้เรื่องเพราะไม่ทราบว่าภาษาไทยแปลไม่ตรงกับภาษาญี่ปุ่นเนื่องจากไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นผิดกับภาษาอังกฤษที่คนไทยคุ้นเคยมาเป็นสิบๆปี) นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจรรยาบรรณนักแปลและความขี้เหนียวของบริษัทแปลที่เหลือเกินจ้างนักแปลราคาถูกแต่จะเอาคุณภาพงานราคาแพง เหมือนซื้อเสื้อผ้าราคา 2 ร้อยบาท แล้วคาดหวังว่าสีเสื้อผ้าจะไม่ตก ไม่ยืด ไม่หดซึ่งเป็นการคาดหวังที่ไม่ถูกที่ถูกทาง แต่บางบริษัทก็จงใจจ้างนักแปลราคาถูกไม่เน้นคุณภาพงานแปลเน้นในเรื่องของราคาที่ถูกใจลูกค้าอย่างเดียว อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักอยู่ที่ลูกค้านั่นเอง และบางทีนักแปลเองกลัวไม่ได้งานก็ยอมลดราคาค่าตอบแทนลดระดับของตัวเองลงไปเพื่อให้ได้งาน เหล่านี้เป็นสังคมและตลาดงานแปลภาษาญี่ปุ่นในไทยในปัจจุบันที่ความสามารถทางการแปลที่สูงกลับไม่ได้ค่าตอบแทนที่สูงตาม

คำถาม: ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในงานล่ามญีปุ่นที่อยากแนะนำน้องๆให้พึงระวังมีอะไรบ้าง

-ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยสุดและต้องพึงระวังให้มากที่สุด คือ การแปลที่คลาดเคลื่อนจากความตั้งใจของผู้พูดแน่นอนว่าการแปลที่คลาดเคลื่อนไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของล่ามทั้งหมด 100% ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแปลคลาดเคลื่อนเช่น

1. สภาพแวดล้อมในการแปล

-การแปลในห้องประชุมที่เงียบสงบกับการแปลในโรงงานที่มีเสียงเครื่องจักร หรือเสียงภายนอกอื่นใดมารบกวนการแปลจะส่งผลต่อคุณภาพของการแปลพูด

2. สื่อที่ใช้ในการแปล

-เช่น กรณีแปลในห้องประชุมที่ไม่มีการไม่ใช้ไมค์ในการสื่อสารเสียงจากผู้พูดเพื่อให้ล่ามแปลในหลายครั้งส่งไปไม่ถึงล่าม ล่ามไม่ได้ยินหากสามารถสอบถามได้ล่ามจะสอบถามยืนยันข้อความอยู่แล้วแต่หลายๆครั้งจะมาสอบถามกันทุกประโยค หรือบ่อย ๆ นั้นไม่มีล่ามคนไหนทำกัน(ถามบ่อยๆ จะโดนมอง) ดังนั้นในหลายครั้งล่ามจะแปลเฉพาะใจความที่จับได้ หรือเท่าที่เดาได้

หรือกรณีแปลในการประชุมที่ควรต้องมีไมค์เล็กและมีหูฟังแจกให้ผู้เข้าประชุมเพื่อที่ล่ามจะได้แปลพร้อมไปเลย ไม่ต้องมานั่งจำประโยคยาว ๆ หรือต้องมานั่งทำความเข้าใจในใจความที่จับได้จากผ้พูด

3. ความสามารถของผู้แปลเอง

-คือทักษะความสามารถในการแปล และความสามารถภาษาญี่ปุ่นนั้นเอง

4. ความพร้อมของผู้พูดให้ล่ามแปล

-ให้จินตนาการถึงผู้พูดที่เมาค้างจากเมื่อวาน งานเตรียมไม่ทันไม่รู้จะพูดอะไร พูดไม่เป็น พรีเซนต์ไม่ได้ ไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดแต่ถูกบังคับให้มารายงานและอื่น ๆ หรือแค่การไม่รู้วิธีพูดให้ล่ามแปล ส่งผลต่อการแปลที่คาดเคลื่อนทั้งหมดเนื่องจากพูดให้ล่ามเข้าใจไม่ได้ เมื่อล่ามไม่เข้าใจก็จะแปลออกไปแบบไม่ 100%กรณีนี้เกิดกับการแปลแบบล่ามภาษาพูดสลับ (Consecutive interpretation) หรือล่ามพูดตามเพราะล่ามต้องรอผู้พูดพูดให้จบประโยคก่อนจึงจะแปลได้จึงต้องใช้ความจำและความเข้าใจในประโยคของผู้พูด ผิดกับล่ามแปลฉับพลัน ล่ามพูดพร้อมหรือล่ามกระซิบที่เมื่อผู้พูดพูดปุ๊บล่ามสตาร์ทแปลได้เกือบทันทีและแปลไปเลยโดยล่ามยังไม่ต้องทำความเข้าใจเนื้อหาก่อนเพื่อแปล

เมื่อโดนปัจจัยหลายๆอย่างบีบคั้นล่ามที่เก่งจะมีทักษะในการเอาตัวรอดได้ซึ่งต้องไปดูที่ทฤษฎีการแปลอีกครั้งว่าทำอย่างไรจะเอาตัวรอดได้

คำถาม: คิดว่าถ้าคนที่ทำงานสายภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้วออกมาทำเป็นฟรีแลนซ์ล่ามญี่ปุ่น จะรอดมั้ยคะ มีปัจจัยอะไรที่ต้องคิดถึง  (ไม่แน่ใจว่าวงการนี้แข่งขันสูงมั้ย)

-รอดหรือไม่ ต้องถามว่าคนคนนั้นคาดหวังค่าตอบแทนที่เท่าไหร่การเป็นล่ามญี่ปุ่นฟรีแลนซ์ถ้าล่ามไม่ได้งานต่อเนื่องทุกวัน หรือทุกสัปดาห์จะมีปัญหาในเรื่องเงินในการใช้ชีวิตได้ หากเป็นกรณีที่ล่ามไม่มีหนี้สิน (หนี้บ้านหนี้รถ หนี้บัตร เลี้ยงดูบิดามารดา หรืออื่น ๆ)การเป็นล่ามฟรีแลนซ์ก็อาจให้ชีวิตอิสระ ซึ่งหากเป็นล่ามฟรีแลนซ์เก่ง ๆจะสร้างคอนเนคชั่น หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่องานต่อเนื่องในอนาคตได้ แน่นอนว่าวงการล่ามมีการแข่งขันสูงและมีบริษัทจัดหาล่ามให้กับบริษัทลูกค้าอีกทีนึงที่ให้ค่าตอบแทนล่ามได้ไม่เท่ากับรับงานเองหากเข้ากับคนที่ติดต่องานไม่ได้ก็อาจไม่ได้รับการแนะนำงานล่ามมาให้(โดยที่ล่ามเองไม่รู้ตัว)แต่หากล่ามมั่นใจว่าตัวเองเก่งมีความสามารถทางการแปล และภาษาญี่ปุ่นมากก็ไม่จำเป็นต้องกลัวการแข่งขันเพราะงานล่ามเป็นงานที่อาศัยความสามารถจริง ๆอย่างไรก็ตามหากล่ามมีหนี้ที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ต้องจ่ายทุกเดือน สิรวดีไม่แนะนำเพราะจะมีปัญหาการเงินได้




Create Date : 03 เมษายน 2561
Last Update : 3 เมษายน 2561 19:38:35 น.
Counter : 5197 Pageviews.

0 comments
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
แคดเมียม Cadmium ความอันตรายของมัน สมาชิกหมายเลข 4149951
(8 เม.ย. 2567 07:11:22 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)
พระประธานสมัยสุโขทัย : วัดไร่ขิง ผู้ชายในสายลมหนาว
(15 มี.ค. 2567 16:51:33 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Workingwoman.BlogGang.com

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]

บทความทั้งหมด