ศรีสะเกษ ดินแดนมหัศจรรย์ แหล่งรวมผลไม้ไทย
รายงานพิเศษ/ ศรีสะเกษ ดินแดนมหัศจรรย์ แหล่งรวมผลไม้ไทย
จิรวรรณ โรจนพรทิพย์, ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ








ถ้าไม่ไป คงไม่รู้ว่า วันนี้ “จังหวัดศรีสะเกษ” จังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถไฟ 515 กิโลเมตร ทางรถยนต์ 571 กิโลเมตร ได้กลายเป็น ดินแดนมหัศจรรย์ : AMAZING SISAKET

ศรีสะเกษ ดินแดนมหัศจรรย์คำเรียกนี้คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงและสามารถเรียกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ว่าทั้งของชาวศรีสะเกษทุกคน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่ได้เดินทางมาสัมผัสเพราะนอกจากภาพความประทับใจ ภายใต้บรรยากาศของดินแดนแห่งอารยธรรมโบราณอาณาจักรฟูนันอันยิ่งใหญ่

อีกทั้งความหลากหลายของขนบธรรมเนียม และประเพณี ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ถึง 4 เผ่าไทย ได้แก่ เผ่าลาว/เผ่าเขมร/เผ่าส่วย หรือกูย/และเผ่าเยอ โดยในช่วงกลางเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีงานจำลองถึงความรุ่งเรืองในอดีต ของ “นครลำดวน” ผ่านทางการแสดงแสงสีเสียง “ศรีพฤทเธศวร”

ปัจจุบัน ศรีสะเกษ ยังกลายเป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่า เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์เป็นแผ่นดินทองของอีสานใต้เป็นแหล่งผลิตไม้ผลเพื่อการส่งออกที่สำคัญอีกแห่งของประเทศไทย

จากมุมมองเดิมๆ ของคนที่ยังไม่เคยสัมผัสกับจังหวัดแห่งนี้ ดินแดนที่หลายๆคนอาจยังเชื่อว่าประกอบไปด้วยคนที่ยากจนที่สุดของประเทศไทยหาได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะจังหวัดศรีสะเกษ ได้กลายเป็นแหล่งรวมการผลิตพืชชนิดต่างๆจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยซึ่งผลิตได้ดีจนกลุ่มผู้ส่งออกและผู้บริโภคมั่นใจไม่ว่าจะเป็น

...เงาะทุเรียนมังคุดจากภาคตะวันออก
...สะตอลองกองยางพาราจากภาคใต้
… ลำไยลิ้นจี่จากภาคเหนือ
… มะปรางหวานกระท้อนส้มโอมะม่วง จากภาคกลาง

นอกจากนั้น ยังมีพืชผลชนิดอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งทำให้มีผลผลิตออกตลอดทั้งปี

โดยเฉพาะการผลิตทุเรียนและเงาะนั้น ถือเป็นแหล่งผลิตแห่งแรกและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยไม้ผลทั้งสองชนิดนี้ สามารถสร้างรายได้เข้าจังหวัดศรีสะเกษได้ไม่น้อยกว่า ปีละ 398 ล้านบาท


ขุนหาญ จุดกำเนิด
ไม้ผลขึ้นชื่อ ของ ศรีสะเกษ

สำหรับจุดเริ่มของการปลูกไม้ผลขึ้นชื่อของจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มต้นจาก ต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จังหวัดจันทบุรี มีการปลูกครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2531ภายใต้การนำของเกษตรกรหัวก้าวหน้าแห่งอำเภอขุนหาญ

ดังนั้น จึงถือได้ว่า อำเภอขุนหาญ คือแหล่งกำเนิดการปลูกไม้ผล โดยเฉพาะ ทุเรียน ของจังหวัดศรีสะเกษ และติดตามมาด้วยการปลูกไม้ผลจากภาคต่างๆ อย่างหลากหลาย ก่อนที่จะขยายออกไปยังอำเภอกันทรลักษ์ ไพรบึง ศรีรัตนะ และ ภูสิงห์

ปัจจุบัน ทั้ง 5 อำเภอ ดังกล่าว เป็นแหล่งปลูกไม้ผลที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ

นายบุญชู ลาลุน เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ กล่าวถึงการเริ่มต้นของเกษตรกรหัวก้าวหน้าแห่งขุนหาญว่า เกิดขึ้นจากการที่มีเกษตรกรในพื้นที่หมู่บ้านซำขี้เหล็กได้เดินทางไปทำงานอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และได้นำต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองและชะนีมาปลูกยังบ้านเกิด

“เกษตรกรที่นำทุเรียนมาปลูก ประกอบด้วย นายสุกรรณ ศรีสุข นายแสวง ศรียา และ นายมีชัย ผิวบาง มองว่า สภาพพื้นที่และภูมิอากาศในหมู่บ้านของตนเองนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับทางจังหวัดจันทบุรี จึงคิดว่าทุเรียนน่าจะสามารถขึ้นได้ในหมู่บ้านซำขี้เหล็ก และได้นำมาทดลองปลูกรวมพื้นที่ทั้ง 3 ราย ประมาณ 45 ไร่ ปรากฏว่าทุเรียนที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดี จนเป็นที่ดีมาก อร่อยตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ที่ทั้งหวานและมีรสมัน ซึ่งเวลานั้นเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ กิโลกรัมละ20 บาท”

จากการที่สามารถปลูกทุเรียนได้ในพื้นที่ จึงทำให้มีการทดลองนำไม้ผลชนิดต่างๆ จากภาคต่างๆ เข้ามาปลูกในพื้นที่ ปัจจุบัน ขุนหาญ จึงมีผลไม้อย่างหลากหลาย ไม่ว่า ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ฝรั่ง ลำไย รวมไปถึงพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา

“ทุกวันนี้เกษตรกรสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดี เพราะจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่น่าพอใจ อย่าง ทุเรียน จะจำหน่ายจากสวนได้ในกิโลกรัมละ 50-60 บาท โดยมากจะเป็นพ่อค้าจากจังหวัดจันทบุรีเข้ามารับซื้อ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเกษตรกรได้ราคาจำหน่ายที่ดี

ทำให้มีเกษตรกรบางส่วนไม่ยึดมั่นในการรักษาคุณภาพ ยอมให้พ่อค้าเข้ามาตัดทุเรียนอ่อน ที่มีความแก่เพียง 65-70 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งเป็นทุเรียนที่ยังไม่ได้คุณภาพ จึงอยากฝากให้เกษตรกรได้ตระหนักในการตัดทุเรียนเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ทุเรียนที่แก่พอดีครบตามอายุ ได้สีเนื้อและรสชาติที่ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายบุญชู กล่าวและว่า

“ส่วนปัญหาอุปสรรคอื่นๆ ที่พบในขณะนี้ ส่วนมากจะเป็นในเรื่องของโรคระบาดต่างๆ อย่างใน ทุเรียน จะพบการระบาดของหนอนเจาะลำต้น และโรครากเน่าโคนเน่า แต่ปัญหานี้ก็ได้รับการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ในการเข้ามาให้คำแนะนำและอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการป้องกันกำจัดจนประสบความสำเร็จ รวมไปถึงการอบรมเกี่ยวกับการจัดการดูแลรักษาสวนไม้ผล” นายบุญชู กล่าว

ด้วยความสำเร็จของเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่อำเภอขุนหาญ จึงทำให้การปลูกทุเรียนเริ่มเป็นที่น่าสนใจของเกษตรกรในพื้นที่ จึงเริ่มทยอยปลูกกันเรื่อยมา ผนวกกับการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้ดำเนินโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร หรือ คปร. เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่มีปัญหาด้านการตลาด มาสู่การปลูกไม้ผลที่สามารถให้ผลตอบแทนดีกว่า

จากการส่งเสริมปลูก
สู่สร้างแบรนด์ ทุเรียน ศรีสะเกษ

นายวัลลภอุ่นจิตรพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษกล่าวถึงการดำเนินการภายใต้โครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) ว่า ได้ดำเนินการ ใน ปี 2537 โดยเดิมนั้นจังหวัดศรีสะเกษมีการปลูกไม้ผลในกลุ่มมะขามหวาน มะม่วง กันมาก รวมถึงข้าวโพดและมันสำปะหลัง และประสบภาวะราคาตกต่ำ เมื่อมีโครงการ คปร. เข้ามา จึงได้เข้าไปแนะนำส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาสู่การปลูกทุเรียน เงาะ ซึ่งมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมกันเป็นจำนวนมาก

“ตอนนั้นเรามองกันแค่ว่า ขอให้ปลูกแล้วเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตทุเรียน เงาะ ตอบสนองต่อตลาดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้หวังว่าจะสามารถส่งออกจำหน่ายไปยังตลาดในต่างประเทศ หลังจากปลูกและสามารถเก็บผลผลิตได้ สิ่งที่ดำเนินการตามมาคือ การพัฒนาคุณภาพของผลผลิต”

“ในการพัฒนานั้น ได้เน้นเรื่องของการพัฒนาคนเป็นปัจจัยหลัก เพราะถ้าเกษตรกรมีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะนำมาซึ่งคุณภาพที่ดีของผลผลิตทางการเกษตรนอกจากนั้น ยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ควบคุมกันเองระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มโดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและเกษตรตำบลเป็นพี่เลี้ยงเพื่อดูแลกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน”

“ตอนนี้จังหวัดศรีสะเกษได้สร้างให้ทุเรียนเกิดเป็นแบรนด์หรือตราสินค้าไปแล้ว ภายใต้คำเรียกว่า ทุเรียนศรีสะเกษ ทุกวันนี้เรียกได้ว่า ศรีสะเกษ มีทุเรียนเป็นพระเอก ทุกคนจะรอกินทุเรียนศรีสะเกษ ที่ปีหนึ่งจะมีออกสู่ตลาดเพียงช่วงระยะเวลาเดียวเท่านั้น” นายวัลลภ กล่าว

“เทียบย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ภาคตะวันออกสามารถขายทุเรียนหมอนทองออกจากสวนได้ กิโลกรัมละ 8-11 บาท แต่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองของศรีสะเกษ จะจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 16-17-20 บาท แต่มาวันนี้ย้อนไปดูข้อมูลการจำหน่ายในช่วง 5 ปีที่แล้ว สามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ช่วงที่ปลายฤดูกาลจะขึ้นไปถึง 70 บาท อันนี้เป็นผลมาจากการที่ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ผ่านการทำแบรนด์ ทุเรียนศรีสะเกษ”

แบรนด์ “ทุเรียนศรีสะเกษ” นับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้ทุเรียนศรีสะเกษมีความโดดเด่น เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยจุดที่เป็นที่มานั้น หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ กล่าวว่า

“10 ปีก่อน พวกเราจากศรีสะเกษได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดงาน เงาะ ทุเรียนศรีสะเกษ และมีวันหนึ่งไปทานอาหารอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พี่คนหนึ่งได้ไปซื้อทุเรียนก้านยาวของนนทบุรีมา 1 ลูก น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมกว่าๆ เป็นเงิน 780 บาท

ในขณะที่พวกเราเองก็ขนทุเรียนจากศรีสะเกษไปเต็มท้ายรถกระบะ ลูกหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4 กิโลกรัม แต่ขายได้กิโลกรัมละ 25 บาท ลูกหนึ่งก็ 100 กว่าบาท จากตรงนี้เอง ทำให้ผมเห็นข้อเปรียบเทียบอย่างชัดเจนถึงความแตกต่าง และนำมาสู่การคิดและปฏิบัติเพื่อการสร้างแบรนด์ศรีสะเกษ”

“หลังจากนั้น ผมจัดคณะไปศึกษาดูงานเลย มีทั้งเจ้าหน้าที่เกษตร เกษตรกรจากอำเภอขุนหาญ เข้าไปดูการปลูกทุเรียนของเมืองนนท์ ไปดูที่ สวนป้าไสว ผมเห็นชัดเลยว่า ทุกอย่างไม่แตกต่าง การจัดการดูแลเหมือนกับที่ทางศรีสะเกษทำหมด แต่ที่จังหวัดนนท์สามารถขายทุเรียนได้แพง เพราะความที่มีเรื่องราวมีตำนานถึงความเป็นเมืองต้นกำเนิดทุเรียน กลายเป็นแบรนด์ที่สร้างชื่อให้ทุเรียนของจังหวัดนนท์”

ดังนั้น สิ่งที่ได้กลับมาจากการเดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนของจังหวัดนนทบุรีคือ การกลับมาปรับกลยุทธ์การตลาด และมุ่งก้าวสู่การสร้างแบรนด์ทุเรียนของจังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้เส้นทางการประชาสัมพันธ์ที่แปลกใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า นอกกรอบจากการประชาสัมพันธ์ที่ทำกันมาของจังหวัดศรีสะเกษแต่อยู่บนเส้นทางของความประหยัด

“พอเราเริ่มต้น ต้องบอกว่าได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย มีมวลชนส่วนกลาง ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่ผมอาศัยการรู้จักส่วนตัวเข้ามาเป็นตัวเชื่อม การสนับสนุนของจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด กลยุทธ์ที่ทำนอกจากจะไปออกรายการต่างๆ ที่มีชื่อเสียงทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ยังมีการเชิญดาราที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้กับผลไม้ของเรา ทำเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ติดตามแหล่งธุรกิจของกรุงเทพมหานคร” นายวัลลภ กล่าวและว่า

“มีอยู่ปีหนึ่ง เราจัดงานเทศกาล เงาะ ทุเรียน กัน และได้เชิญ ป้าไสว เจ้าของสวนทุเรียนพันธุ์ก้านยาวชื่อดังของจังหวัดนนทบุรีมาร่วมงาน ซึ่งป้าไสวได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงคุณภาพของทุเรียนศรีสะเกษว่า ไม่แตกต่างจากทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี เมื่อข่าวออกไป ทำให้มีกระแสความสนใจที่จะเดินทางมาลองชิมรสชาติทุเรียนของศรีสะเกษกันมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เงาะ-ทุเรียน ของดีศรีสะเกษ ที่จัดเป็นประจำทุกปี”

สถานการณ์ผลไม้เด่นในวันนี้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันผลผลิต เงาะ ทุเรียน จังหวัดศรีสะเกษ โดยทั่วไปในแง่ของการตลาด การบริโภค และการซื้อขายเป็นที่ต้องการของพ่อค้าส่งออก และพ่อค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน เนื่องจากมีคุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนนนทบุรี



ขอบคุณ
มติชนอออนไลน์
คุณจิรวรรณ โรจนพรทิพย์
คุณธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ



Create Date : 13 มิถุนายน 2556
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 11:17:33 น.
Counter : 1722 Pageviews.

0 comments
แผ่นยิปซั่ม งานคุณภาพ ได้มาตรฐาน ราคาไม่แพง สมาชิกหมายเลข 7660567
(13 เม.ย. 2567 01:54:15 น.)
สวนรถไฟ : นกจับแมลงตะโพกเหลือง ผู้ชายในสายลมหนาว
(9 เม.ย. 2567 10:26:41 น.)
ของไม่ตรงปก ผักไม่ตรงซอง? สวยสุดซอย
(3 เม.ย. 2567 12:54:31 น.)
ดอกติ้วขาว บานแล้ว สมาชิกหมายเลข 4313444
(30 มี.ค. 2567 03:12:50 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด