สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระราชประวัติ


สมเด็จพระนารสยณ์มหาราช ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2175 ขณะที่ทรงประสูตินั้น พระญาติเห็นเหมือนเป็นพระกร 4 กร แล้วกลับเหลืออยู่ 2 กรตามปรกตินับเป็นที่อัศจรรย์ จึงทรงพระราชทานนามแต่บัดนั้นว่า “นารายณ์ราชกุมาร”

สมเด็จพระนารายณ์มีพระขนิษฐาร่วมพระมารดาเดียวกัน นามว่า พระราชกัลยาณี มีพระราชอนุชานามว่า เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอัยกาของสมเด็จพระนารายณ์ก็คือ สามเด็จพระเอกาทศรถ

ขณะมีพระชนม์ได้ 5 พรรษา เสด็จออกไปเล่นที่เกย ขณะนั้นฝนกำลังตก พระนมพี่เลี้ยงห้ามไม่ฟัง ให้กรดกางก็ห้ามเสีย ขณะยืนอยู่ที่เสาหลักชัย ฟ้าฝ่าลงมาต้องหลักชัยแตก แต่พระนารายณ์กุมารมิได้เป็นอันตราย

พระขนิษฐาพระราชกัลยาณี ต่อมาภายหลังจึงได้มีการสถาปนาเป็นกรมหลวงโยธาทิพ ส่วนพระราชธิดาเป็นกรมหลวงโยธาเทพ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยส่งของมีค่ามาถวายกรมหลวงโยธาเทพอีกด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญแตกต่างจากวีรกษัตริย์พระองค์อื่น พระองค์ทรงมีความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ พระปรีชาสามารถแผ่ไปไกลถึงต่างประเทศ

แม้แต่ปืนใหญ่ซึ่งพระองค์ถวายเป็นของขวัญแก่พระเจ้าหลุยซ์ที่ 14 ปืนกระบอกนั้น นักต่อต้านชาวฝรั่งเศสเคยใช้ยิงทำลายคุกบาสติลมาแล้ว

สมเด็จพระนารายณ์ ทรงทำนุบำรุงให้บ้านเมืองรุ่งเรืองยิ่งกว่าสมัยใดในกรุงศรีอยุธยา มีความสามารถพิเศษในการปกครอง มีข้าราชการและเหล่าทหารหาญตามคัมภีร์พิชัยสงคราม

คือ หัวศึก ได้แก่เจ้าพระยาโกษาเหล็ก มือศึก ได้แก่พระยาเดโชชัย ตีนศึก ได้แก่พลช้างม้าครบถ้วน ตาศึก ได้แก่พระพิมลธรรม หูศึก ได้แก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ปากศึก ได้แก่พระวิสุตรสุนทร (โกษาปาน) กำลังศึก ก็คือผู้คนช้างม้า เสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ในรัชสมัยของพระองค์

สำหรับ พระราชกัลยาณี พระขนิษฐาของพระนารายณ์ ทรงเป็นราชธิดาที่มีพระรูปสิริวิลาสเลิศนารีเป็นที่ยิ่ง พระศรีสุธรรมาซึ่งเป็นพระเจ้าอาของพระนารายณ์และพระราชกัลยาณี ครองกรุงศรีอยุธยามาได้สองเดือนกับอีก 20 วัน และถูกสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา


พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีทศพิธราชธรรมอันประเสริฐ แก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ให้มีการลดส่วยสาอากรแก่ราษฎร 3 ปี ทรงบำเพ็ญกุศลหลายประการ ทั้งยังสั่งให้จัดการถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา)

ส่วนพระเมรุเน้นสูงสิบเอ็ดวา ประดับประดาด้วย ฉัตรทอง ฉัตรนาถ ฉัตรเงิน ฉัตรเบญจรงค์และธงทิวโอ่อ่าโอฬารสมพระเกียรติเสร็จสรรพทุกประการ หลังถวายพระเพลิงแล้ว พระอัฐิธาตุก็ได้อันเชิญไปประจุไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้ว่าจะไม่ต้องทำศึกมากมายอย่างพระนเรศวร แต่น้ำพระทัยของพระองค์มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงมีความคิดรอบคอบ ใช้พระสติตริตรองปัญหาที่เผชิญหน้าอย่างดีที่สุด

เหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์ คือในราวเดือนยี่ ปีเดียวกับการพระราชทานถวายเพลิงศพนั่นเอง มีอำแดงแก่นซึ่งเป็นข้าบาทของพระไตรภูวนาทติยวงศ์ ได้นำเอาความเท็จทูลยุแหย่แก่พระไตรภูวนาทติยวงศ์

ทำนองว่าข้าหลวงของพระนารายณ์กล่าวหาว่า พระไตรภูวนาทติยวงศ์เข้าข้างสมเด็จพระศรีสุธรรมราชามาก่อน ครั้นสิ้นพระชนม์พระศรีสุธรรมราชาแล้วก็หันมาประจบพวกข้าหลวงเหล่านั้น อำแดงแก่นทูลยุยุงพระไตรภูวนาทติยวงศ์หลายครั้ง จนกระทั่งพระไตภูวนาทติยวงศ์คิดซ่องสุมผู้คนไว้นอกพระนคร

เมื่อข้าหลวงเอาเนื้อความมากราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ตามความจริงทุกประการ พระองค์ทรงทราบโดยตลอดว่าบัดนี้พระไตรภูวนาทติยวงศ์ทำการซ่องสุมผุ้คนแน่นอนแล้ว จึงสั่งให้มหาดเล็กเอาเงินหลวงร้อยชั่งให้แก่พระไตรภูวนาทติยวงศ์ โดยบอกว่าให้เอาไปแจกราษฎรทั้งปวงทั่วกัน

ต่อมาพระยาพิชัยสงคราม พระมหามนตรี มากราบทูลอีกว่าพระยาพัทลุงและพระศรีภูริปรีชา คิดอ่านกับพระไตรภูวนาทติยวงศ์จะคิดร้ายกับแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงตรัสว่าจะฟังเนื้อความนี้ดูจงมั่นแม่นเสียก่อน

สมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นกษัตริย์ที่พระสติรอบคอบคือ ไม่ยอมปักใจชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ครั้นความจริงปรากฏว่าพระไตรภูวนาทติยวงศ์คิดร้ายกับพระองค์จริง ดังคำของเสนาบดีและข้าหลวงผู้จงรักภัคดีและซื่อสัตย์ และทูลขอให้พระนารายณ์สำเร็จโทษตามพระราชประเพณี แต่พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง จึงตรัสแก่เสนาบดีและข้าหลวงผู้ซื่อสัตย์ว่า

“เราจะสำเร็จโทษที่นี้หาได้ไม่ แต่เราจะไปพระนครหลวงแล้วเราจะทรงม้าต้น ให้องค์ไตรภูวนาทติยวงศ์ขี่ม้าออกไปกลางทุ่งพระนคร ถ้าองค์ไตรภูวนาทติยวงศ์จะคิดทำร้ายแก่เรา ๆ ก็มิเข็ดขาม จะยุทธด้วยองค์ไตรภูวนาทติยวงศ์ที่นั่นและเอาบุญญาธิการแห่งเราเป็นที่พึ่ง”

พระนารายณ์ทรงมีน้ำพระทัยล้ำเลิศเช่นนี้ และพระองค์ก็ทรงปฏิบัติดังที่ตรัสไว้ น้ำพระทัยอันกว้างขวางเช่นนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดหลายครั้งหลายคราว บรรดาข้าราชบริพาร เสนาบดีและมุขมนตรีทั้งหลายต่างก็พากันชื่นชมในบารมีของพระองค์กันทั่วหน้ากัน

สมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นกษัตริย์นักรบด้วยพระองค์หนึ่ง แม้อาจจะไม่เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์นักรบองค์สำคัญอื่น ๆ แต่พระองค์ก็ทรงเป็นผู้จัดการด้านกองทัพและปฏิบัติภารกิจในการสงครามอย่างได้ผลดียิ่ง

เมืองเชียงใหม่ซึ่งเสียไปครั้งพระเจ้าปราสาททอง ได้มีหนังสือแจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า พวกฮ่อยกเข้าล้อมจะตีเอาเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่หมดที่พึ่ง จึงเสี่ยงทายต่อหน้าพระพุทธรูปที่มีชื่อว่า “พระพุทธสิหิงค์” คือเสี่ยงทายว่าถ้าเมืองใดจะเป็นที่พึ่งพิงได้ขอให้สำแดงนิมิตมาให้เห็น และปรากฏว่า พระพุทธสิหิงค์หันพระพักตร์มาทางกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาพระนารายณ์ก็ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่กลับคืนมาได้ เมื่อปี พ.ศ. 2205 ทั้งยังได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2206 มีพวกมอญอพยพมาจากพม่า เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์จำนวนประมาณ 5000 คน ซึ่งเคยยกไปเผ่าเมืองเมาะตะมะ ต่างพากันหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระนารายณ์

พระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้นตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ ตำบลสามโคกบ้าง ที่คลองดูจามบ้าง ที่ใกล้วัดตองปูบ้าง ทั้งยังได้พระราชทานสิ่งที่จำเป็นอื่น ๆ ด้วย

ต่อมา เจ้าเมืองอังวะ ได้ยกทัพตามพวกมอญที่หนีเข้ามารับราชการและตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยาคืน กองทัพของพระเจ้าอังวะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนารายณ์จึงให้พระยาศรีหาราชเดโชกับพระยาโกษาเหล็กยกไปทัพเมืองอังวะแตกพ่ายกลับไป ได้กวาดต้อนเชลยกลับเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2207 พระเจ้าแผ่นดินเมืองอังวะถูกลอบปลงพระชนม์ บ้านเมืองระส่ำระสาย สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า พม่าเคยยกทัพโจมตีไทยและรบกวนพวกมอญที่เข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธิสมภารอยู่บ่อย ๆ

พระองค์เห็นเป็นโอกาสดีจึงจัดทัพไทย และทัพมอญยกไปทางเมืองยาปูน ด่านแม่ละเมาะทางด่านเจดีย์สามองค์และทางเมืองทะวาย กองทัพกรุงศรีอยุธยายกไปรวมพลที่เมืองเมาะตะมะ

จากนั้นก็บุกโจมตีเมืองหงสาวดีและเมืองแปร ฝ่ายพม่ายกทัพหนีจากเมืองอังวะลงมาตั้งรับที่เมืองพุกาม ทัพไทยได้ล้อมเมืองพุกามไว้ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2208 จึงได้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย และติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง

สมเด็จพระนารายณ์ทรงปรับปรุงกิจการบ้านเมืองทั้งด้านการทหาร และการปกครองอย่างดียิ่ง ในรัชสมัยของพระองค์มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ อย่างมากมาย

พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า เมื่อบ้านเมืองสงบราบคาบปราศจากการรุกรานของศัตรูภายนอกแล้ว การจะทำนุบำรุงให้ประชาราษฎร์มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข จำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อความเจริญก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

โดยเฉพาะด้านการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ สมเด็จพระนารายณ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ฝรั่งเศสเป็นชาติที่เข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นชาติแรกครั้ง “หลวงวิชเยนทร์” เมื่อครั้งที่มีเจ้าของเรือกำปั้นของฝรั่งเศส ได้บรรทุกสินค้าเข้ามาขายในกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึงให้มีการต่อเรือกำปั้นใหญ่ขึ้นลำหนึ่ง เมื่อเรือลำนั้นต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะนำลงจากอู่ต่อเรือ

สมเด็จพระนารายณ์บอกให้ล่ามถามชาวฝรั่งเศสคนนั้นว่า เมืองฝรั่งเศสเอาเรือกำปั้นลงจากอู่เขาทำอย่างไรจึงเอาลงได้ง่าย ฝรั่งเศสพ่อค้ารายนั้นเป็นคนฉลาด มีสติปัญญามากรู้และชำนาญด้านการรอกกว้าน จึงบอกให้ล่ามกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่า เขารับอาสาที่จะนำเรือลำนี้ออกจากอู่ด้วยตัวเอง

พ่อค้าฝรั่งเศสนายนั้นจัดการผูกรอกกว้าน และจักรมัดผันชักกำปั้นลำนั้นออกจากอู่ลงมาสู่ท่าโดยสะดวก จึงให้พระราชทานรางวัลมากมายทั้งยังแต่งตั้งให้เป็น “หลวงวิชเยนทร์”

หลวงวิชเยนทร์ ได้รับพระราชทานที่บ้านเรือนและเครื่องยศ ให้อยู่ทำราชการในพระนคร และนั่นเป็นการแสดงถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนารายณ์

ซึ่งต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่จากชาวต่างประเทศและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชนชาติอื่น เป็นการเปิดประตูรับความรู้ใหม่จากโลกภายนอก โดยไม่จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น

หลวงวิชเยนทร์รับราชการสนองพระเจ้าอยู่หัวด้วยความจงรักภักดี มีวิริยะอุตสาหในราชกิจต่าง ๆ ของบ้านเมือง มีความชอบจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระยาวิชเยนทร์”

วันหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์มีพระราชโองการตรัสถามพระยาวิชเยนทร์ว่า ในเมืองฝรั่งเศสมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิชเยนทร์จึงกราบทูลว่า

“ในเมืองฝรั่งเศสมีช่างทำนาฬิกายนต์ ปืนลม ปืนไฟ กล้องส่องทางไกลเป็นใกล้ กระทำของวิเศษอื่น ๆ ก็ได้ทุกอย่าง มีทั้งเงินทองภายในวังของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ให้มีการหลอมเงินเป็นท่อน 8 เหลี่ยม ใหญ่ประมาณ 3 ลำ ยาว 7 ศอก ถึง 8 ศอก กองอยู่บนริมถนนเป็นอันมาก

เหมือนดุจเสาอันกองไว้ กำลังคนแต่ 13 คน หรือ 14 คนจะยกท่อนเงินนั้นขึ้นไม่ไหว

ภายในท้องพระโรงชั้นในนั้นคาดพื้นด้วยแผ่นศิลา มีสีต่าง ๆ จำหลักลายฝังด้วยเงินทองและแก้วต่าง ๆ สีเป็นลดาวัลย์ และต้นไม้ดอกไม้ภูเขาและรูปสัตว์ต่าง ๆ

พื้นผนังก็ประดับด้วยกระจกภาพกระจกเงาอันวิจิตร น่าพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นใช้แผ่นทองบ้างดุจแผ่นทองอังกฤษ ตัดเป็นเส้นน้อย ๆ แล้วผู้เข้าเป็นพวกพู่ห้อยย้อยและแขวนโคมแก้วมีสันฐานต่าง ๆ มีสีแก้วและสีทองรุ่งเรืองโอภาสงดงามยิ่งนัก”

สมเด็จพระนารายณ์ทรงฟังคำสรรค์เสริญยกย่องความวิเศษของเมืองฝรั่งเศสอย่างยืดยาวแล้ว พระองค์ก็หาได้เชื่อทันทีทันใดไม่ พระองค์ทรงดำหริขึ้นว่าใครจะเห็นความจริง

จึงดำรัสแกพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) “เราจะแต่งกำปั้นไปเมืองฝรั่งเศส จะให้ผู้ใดเป็นนายกำปั้นออกไปสืบดูของวิเศษยังจะมีสมจริงเหมือนคำของพระยาวิชเยนทร์ หรือประการใด”

พระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) จึงกราบทูลว่าผู้ที่จะเป็นนายกำปั้นนั้นไม่มีใครนอกจากนายปาน ซึ่งเป็นน้อยชายตนสามารถที่จะไปสืบข้อราชการ ในเมืองฝรั่งเศสตามพระประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ ดังนั้นพระองค์จึงเรียกนายปานเข้าเฝ้าเพื่อสอบถามความสมัครใจอีกครั้งหนึ่ง

“อ้ายปานมึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะให้เป็นนายกำปั้นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส ยังจะสมดังคำพระยาวิชเยนทร์กล่าว หรือ จะมิสมประการใด จะใคร่เห็นเท็จและจริงจะได้หรือมิได้”

นายปานน้องชายพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) กราบทูลพระกรุณารับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศสตามพระราชดำริของสมเด็จพระนารายณ์ ได้จัดแจงเตรียมหาคนดีมีวิชามาคนหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนพระกรรมฐานชำนาญในการเพ่งกระสิณ
มีความรู้วิชามากแต่เป็นนักเลงสุรา

สมเด็จพระนารายณ์ก็ยินยอมให้ไปด้วย นายปานก็มีความยินดี จากนั้นก็จัดหาพวกฝรั่งเศสมาเป็นต้นหนถือท้ายและกลาสีเรือ

พระยาโกษาธิบดีนำคณะเดินทางเจริญสัมพันธไมตรีที่จะไปยัง ประเทศฝรั่งเศส เข้าเฝ้าพระนารายณ์ก็ทรงแต่งพระราชสาสน์ให้นายปานเป็นราชฑูตแห่งกรุงศรีอยุธยา และประกอบด้วยข้าหลวงอื่นเป็นอุปฑูต

ให้จำทูลพระราชสาสน์นำเครื่องราชบรรณาการออกไปเจริญทางพระราชไมตรีที่เมืองฝรั่งเศส ตามพระราชประเพณี พระราชทานรางวัลและเครื่องยศแก่ทูตานุฑูต โดยควรแก่ฐานุศักดิ์

นับตั้งแต่นั้น นายปานจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาโกษาปาน ราชฑูตของกรุงศรีอยุธยาก็กราบบังคมลาสมเด็จพระนารายณ์ พาพรรคพวกลงเรือกำปั่นใหญ่ ใช้เวลา 4 เดือน ก็ถึงบริเวณใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเอิญขณะนั้นเกิดพายุใหญ่เรือถูกซัดเข้าไปในกระแสน้ำวน ต้องแล่นเรือเวียนอยู่ 3 วัน จึงแล่นถึงปากน้ำฝรั่งเศสจากนั้นจึงได้ขึ้นฝั่ง

เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระยาโกษาปาน ก็ไปปฏิบัติหน้าที่ฑูตไทยเป็นอย่างดีและได้รับการยกย่องจากฝรั่งเศสรวมทั้งชาวต่างประเทศอื่น ๆ

พระยาโกษาปานเป็นราชฑูตไทยคนแรก และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ส่งราชฑูตเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2205

สมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างความสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสดำเนินไปดวยดี มีการแลกเปลี่ยนด้านความรู้ต่าง ๆ หลายสาขา โดยเฉพาะด้านศาสนา ฝรั่งเศสได้ส่งบาทหลวงที่มีความรู้ทางวิชาการอย่างสูง มาสอนศาสนาคริสตังในกรุงศรีอยุธยา

ศาสนาคริสตังในยุคนั้นดูเหมือนจะเป็นที่รังเกียจของชนชาติต่าง ๆ ในแถบตะวันออก ตัวอย่างของเรื่องนี้ได้แก่ การที่ทางการญี่ปุ่นทำการขัดขวางการสอนศาสนาคริสตังในประเทศนั้น ซึ่งทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาคริสตังต่างพากันเดินทางมายังเมืองไทยเป็นจำนวนมาก

สมเด็จพระนารายณ์ทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรเลือกนับถือศาสนา โดยอิสระ คนไทยก็ไม่มีความรังเกียจต่อศาสนาใด ๆ พวกศาสนานั้น ๆ ก็ยึดเอาเมืองไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับกิจการเผยแพร่คริสต์ศาสนา นอกจากนี้แล้วชาวฝรั่งเศสก็พยายมหาทางตอบแทนคุณความดีของคนไทยด้วยเช่นกัน

แต่เดิมคนไทยต้องประสบปัญหายุ่งยากจากชาวต่างชาติเช่นชาวอังกฤษ และฮอลันดาเพราะมีการแก่งแย่งทางด้านการค้าขายถึงขนาดเกิดปัญหาต้องใช้กำลัง และอาวุธเข้าตัดสินกันบ่อย ๆ เมือไทยทำการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ดีขึ้น ทำให้ฝรั่งชาติอื่น ๆ ต้องระมัดระวังตัวไม่กล้าก่อเรื่องอะไรขึ้นอีก

สำหรับประโยชน์ที่ได้จากนักสอนศาสนานั้น นับว่ามีอยู่หลายประการ คือทำให้เกิดผลดีในสังคมเช่นการตั้งโรงเรียนให้การศึกษา การตั้งโรงพยาบาล หรือการสงเคราะห์ชุมชนที่ขาดแคลนและเด็กกำพร้าเป็นต้น


ประโยชน์ด้านการค้ากับต่างประเทศ


ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มลายู ชวา อังกฤษ ฮอลันดา โปรตุเกส และฝรั่งเศส

ประโยชน์ที่ไทยได้จากการค้ากับฝรั่งเศสก็คือทำให้เกิดตลาดการค้า มีตลาดการค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง คนไทยก็พลอยได้รับความรู้ทางด้านการค้ามากกว่าเดิม

นอกจากประโยชน์สำคัญทางด้านการค้าแล้ว การติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศสนั้น พระเจ้าหลุยส์ได้ทำการคัดเลือกทหารส่งมาเป็นทหารรักษาพระองค์แก่สมเด็จพระนารายณ์ เป็นทหารที่อยู่ในวินัยและกล่าวว่ามีเชื้อสายผู้ดีมีสกุลของฝรั่งเศส เป็นทหารที่นำความดีงามมาสู่กรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีทหารช่างฝีมือดีร่วมกับบาทหลวง ให้ความช่วยเหลือ สร้างป้อมปราการ กำแพงเมือง การประปาตลอดจนอาคารต่าง ๆ และประตูเมืองเป็นต้น

สมเด็จพระนารายณ์เป็นผู้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่สอง

สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความคิดก้าวหน้า มองการณ์ไกลได้ว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในชัยภูมิที่ล่อแหลมต่ออันตราย เพราะเมื่อคราวที่เรือรบ ฮอลันดาปิดอ่าวไทย บทเรียนครั้งนั้นทำให้พระองค์คิดย้ายเมืองหลวงของกรุงศรีอยุธยาไปอยู่ที่ลพบุรี

ทรงสร้างเมืองลพบุรี สร้างนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นพระราชวังประทับของพระองค์ จัดสร้างการประปาและชลประทานที่อำนวยความสะดวกขึ้น นอกจากเมืองลพบุรีแล้วพระองค์ก็ทรงสร้างเมืองนครราชสีมาและป้อมค่ายต่าง ๆ อีกมากมาย

ด้านการบำรุงการศึกษาและศิลปวิทยาสาขาต่าง ๆ สามเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างประโยชน์ไว้อย่างมากมาย เช่นตำราภาษาไทยที่ชื่อ “จินดามณี” ซึ่งใช้กันมาจนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าวิทยาการสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา ทรงพระนิพนธ์หนังสือด้วยพระองค์เอง เช่นลิลิตพระลอ เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรได้รับการศึกษาโดยทั่วถึง รัชสมัยของพระองค์จึงเป็นสมัยที่อักษรศาสตร์เจริญรุ่งเรือง มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมากมายตัวอย่างเช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี ศรีปราชญ์ และเจ้าเชียงใหม่เป็นต้น

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งนำเอาวิทยาการต่าง ๆ มาใช้ปรับปรุงกับประเทศไทย มีความดีความชอบมาก จึงโปรดให้เป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์

เจ้าพระยาวิชเยนทร์นำวิชาสมัยใหม่ทางการค้าการช่าง วิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการส่งคนไทยไปเรียนในยุโรปเพื่อนำความรู้มาใช้กับประเทศไทย

อย่างไรก็ตามเจ้าพระยาวิชเยนทร์กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์และกลายเป็นชนวนสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้บุคคลทั้งสองคิดการกบฎขึ้น

ในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีอาการประชวรหนัก พระองค์ไม่มีราชโอรสเป็นรัชทายาท มีแต่พระธิดา ซึ่งแต่งตั้งเป็นกรมหลวงโยธาเทพ มีพระเจ้าน้องยาเธออีก 5 พระองค์ คือกรมหลวงโยธาทิพ กับเจ้าฟ้าอภัยทศ ทั้งสองพระองค์นี้นับถือคริสตังและมีพระปิยะเป็นเชื้อเจ้าราชนิกูลอยู่อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระนารายณ์ทรงชุบเลี้ยงไว้มาแต่เล็ก ทรงมีพระเมตตาเหมือนราชโอรส

เจ้าพระยาวิชเยนทร์รู้ว่าอย่างไรเสียเชื้อพระวงศ์พระองค์นี้ คงจะได้มีโอกาสรับมอบราชสมบัติ จึงเอาไว้เป็นพวกฝ่ายตน แต่ฝ่ายข้าราชการคิดว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์อาจจะคิดร้ายต่อไทย จึงมีความคิดเห็นเข้าข้างพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์

ในที่สุดพระเพทราชากับขุนหลวงสรศักดิ์ก็ลงมือกระทำการกบฏ เพราะคิดว่าอย่างไรเสียสมเด็จพระนารายณ์คงสวรรคตอย่างแน่นอน ฝ่ายกบฎจับเอาพระปิยะและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปประหารที่ทะเลชุบศร

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบข่าวด้วยความสะเทือนพระทัย จะทำอะไรก็ไม่ได้เพราะอยู่ในอาการประชวรอย่างหนัก รู้สึกปริเวทนาว่าอยุธยาถึงคราวจะวิบัติในครั้งนี้

พระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์กระทำการทุกอย่างตามอำเภอใจ เชื้อพระวงศ์และข้าราชการที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามถูกกำจัดไปหมดสิ้น จากนั้นก็หันมากำจัดพวกฝรั่ง

สมเด็จพระนารายณ์ได้สวรรคตลงที่เมืองลพบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2231 ครองราชย์อยู่นาน 32 ปีมีพระชันษา 59 ปี

ตลอดระยะเวลา 32 ปีที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้สร้างประโยชน์แก่ชาติไทยไว้หลายด้าน วิทยาการใหม่ ๆ จากต่างประเทศถูกนำมาใช้ปรับปรุงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ซึ่งพระกรณียกิจของพระองค์ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยทำได้เช่นนี้มาก่อน

พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนารายณ์เปนที่ยกย่องสรรเสริญแก่ประชาชาติไย พระนามของพระองค์เป็นที่เลื่องลือไปไกล พระปรีชาสามารถของพระองค์ แม้แต่จดหมายเหตุของต่างประเทศ ยังได้บันทึกเกียรติประวัติของพระองค์ไว้ด้วยหลายแห่ง

พระราชกรณียกิจอันสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นแบบอย่างแห่งการเจริญก้าวหน้าในสมัยต่อ ๆ มา เมืองลพบุรีที่พระองค์สร้างขึ้นเป็นมรดกชิ้นสำคัญ เป็นเสมือนประตูชัยแห่งความก้าวหน้าเปิดกว้างไว้สำหรับอนาคตอันรุ่งโรจน์ของชาติ

คุณงามความดีอันใหญ่ของพระองค์ ประชาชาติไทยจึงถวายพระนามเทิดพระเกียรติอันสูงส่งของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช”


จากหนังสือ พระมหากษัตริย์ไทย

สำนักหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ.2510

ขอขอบคุณ





Create Date : 01 กันยายน 2552
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 17:32:53 น.
Counter : 1895 Pageviews.

0 comments
หนังสือและอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนประถมที่ญี่ปุ่น SN_monchan
(7 เม.ย. 2567 05:39:08 น.)
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
เกี่ยวกับข้อมูลภาษี Google Adsence กว่าจะอนุมัติ Ep.1 SN_monchan
(16 มี.ค. 2567 07:48:15 น.)
แนวข้อสอบเข้า มัธยมศึกษาปีที่1 วิชาภาษาไทย เรื่องเสียงของภาษา นายแว่นขยันเที่ยว
(13 มี.ค. 2567 23:29:54 น.)

Vinitsiri.BlogGang.com

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]

บทความทั้งหมด