วัดใหญ่ชัยมงคล (วัดเจ้าพญาไท-วัดป่าแก้ว)
วัดใหญ่ชัยมงคล (วัดเจ้าพญาไท-วัดป่าแก้ว)
ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


ย้อนหลังไปสมัยโบราณ หนังสือตำนานโยนก ระบุว่า “เมื่อราวปีขาล จุลศักราช ๗๘๔ พ.ศ ๑๙๖๕ ตรงในสมัยเมื่อสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ ครองราชย์สมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา มีพระภิกษุทางประเทศนี้หมู่หนึ่ง หัวหน้าเป็นพระมหาเถรชาวเชียงใหม่ ๗ รูป เป็นพระมหาเถรชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป เป็นพระมหาเถรชาวกรุงกัมพูชา ๑ รูป พระภิกษุบริษัททั้งหมดพากันออกไปเมืองลังกา ไปอุปสมบทแปลงเป็นสิงหฬนิกาย ณ อุทกเขปสีมาที่แม่น้ำกัลยาณี ในสำนักพระวันรัตมหาเถร เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง จุลศักราช ๗๘๖ พ.ศ. ๑๙๖๗ แล้วศึกษาธรรมวินัยอยู่ในลังกาทวีปอยู่หลายปี เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระมหาเถรชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุ รูป ๑ พระอุดมปัญญา รูป ๑ มาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วจึงแยกย้ายกันไปเที่ยวตั้งนิกายลังกาขึ้นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า วันรัตนวงศ์ แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า คณะป่าแก้ว (ชาวเชียงใหม่เรียกว่า ป่าแดง)

ดังนี้ จึงเชื่อได้ว่าพระสงฆ์นิกายป่าแก้วมีขึ้นครั้งนั้นเป็นปฐม แต่ความที่ปรากฏทางเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง วัดนิกายป่าแก้วนี้มีในหัวเมืองแถบนั้นมาก เห็นพระสงฆ์นิกายเมืองป่าแก้วจะมาแพร่หลายทางหัวเมืองเหล่านั้นก่อน แล้วจึงขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้เรียกพระสงฆ์คณะป่าแก้วที่ขึ้นสมเด็จพระวันรัตนว่า คณะใต้ พระสงฆ์นิกายนี้คงจะปฏิบัติเคร่งครัดทางแสดงธรรมวินัย กว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ซึ่งอยู่มาแต่ก่อน จึงทำให้เจริญความเลื่อมใสกันขึ้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ”
(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา)




ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชใน คณะป่าแก้ว
จึงเลื่องลือในพระเกียรติยศมาก เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น
ขวนขวายการบำเพ็ญอุปถัมภกพระศาสนาเป็นพิเศษบ้าง เช่น พระรามาธิบดี (ปิฎกธร) กรุงหงสาวดี ส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปอุปสมบทแปลงที่ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘ เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นกลับเข้ามาแล้ว ก็บังคับให้พระสงฆ์ในรามัญประเทศแปลงเป็นนิกายเดียวกันจนหมด

พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ก็ตั้งพิธีทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ เป็นต้น ซึ่งดูจะเนื่องมาจากการที่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงผนวชขึ้นก่อนทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา ทรงได้นำพระราชโอรส พระราชนัดดา ตลอดจนเจ้านายลูกผู้ลากมากดี บวชกันมากจนกลายเป็นธรรมเนียมสืบมา ถือกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และประเพณีบวชนี้ ได้แพร่หลายนิยมตามกันมาถึงในหมู่คนสามัญด้วย

อนึ่งพระสงฆ์ไทยที่ไปบวชแปลงที่สำนักพระวันรัตนวงศ์ในลังกา ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า “คณะป่าแก้ว” นั้น เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้าพักอยู่ในวัดเจ้าพระยาไทยซึ่งเป็นอรัญวาสีอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น เมื่อคณะป่าแก้วเข้ามา ก็ทำให้เพิ่มความคึกคักในการปฏิบัติธรรมกันในฝ่ายนี้มากขึ้น วัดเจ้าพระยาไทยจึงเป็นวัดชั้นนำทางด้านอรัญวาสี พระเถระที่เป็นหัวหน้าควบคุมจึงได้นามว่า “สมเด็จพระวันรัตน” (พระพนรัตน์) ตามพระนามพระวันรัตนมหาเถระซึ่งเป็นอาจารย์ในลังกาทวีป




การที่คณะป่าแก้วเข้ามาเมืองไทยนั้น ได้จัดเป็นคณะหนึ่งต่างหาก ผู้คนจะเลือกศึกษาได้ตามสมัครใจ ไม่บังคับเหมือนในเมืองมอญ (พม่า) ฉะนั้น ในชั้นแรกจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว” ภายหลังจึงได้เหลือ วัดป่าแก้ว แต่อย่างเดียว

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก วัดเจ้าพระยาไทย หรือ วัดป่าแก้ว เป็นพระอารามหลวงมีพระเจ้าแผ่นดินเจ้านายเข้าทรงผนวช และเป็นที่ประกอบการพระราชพิธีบางอย่าง รวมทั้งใหญ่โตกว้างขวาง ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า “วัดใหญ่” มาแต่แรกสร้าง และเมื่อ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาแห่งพม่าแล้ว จึงได้ทรงมีพระราชศรัทธา บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ขึ้นเป็นงานใหญ่ พร้อมทั้งได้ทรงสร้างพระเจดีย์ชัยมงคลเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย ชาวบ้านจึงได้นำเอาชื่อวัด กับนามพระเจดีย์มาประกอบกัน เรียกขานกันต่อมาว่า “วัดใหญ่ชัยมงคล” จนกระทั่งทุกวันนี้




งานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ชัยมงคล ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้น นอกจากพระเจดีย์ชัยมงคลแล้ว สิ่งก่อสร้างที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ชัยมงคลทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ ยังมีซากให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ คือ ด้านเหนือพระอุโบสถปัจจุบันมีผนังพระอุโบสถเดิม ก่อด้วยอิฐถือปูนหนาประมาณ ๔๐ ซม. เหลือซากให้เห็นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์แต่ก็ซวนเซเต็มที อาศัยความหนาจึงทรงตัวอยู่ได้ ส่วนผนังด้านทิศใต้ เหลือซากผนังด้านหน้า และด้านหลังพระอุโบสถเพียงเล็กน้อย นอกนั้นกลายเป็นอิฐหักกากปูนทับถมกันอยู่ ซึ่งทางวัดได้ขนย้ายไปถมที่ลุ่มหมดแล้ว ตัวพระอุโบสถที่เห็นในปัจจุบัน เป็นพระอุโบสถที่กรมศิลปากรออกแบบแล้ว ทางวัดสร้างซ้อนไว้ในซากพระอุโบสถหลังเดิม




ทางด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ชัยมงคล มีวิหารหลวง ที่เรียกว่า “ศาสาดิน” ซึ่งยังเหลือซากตอนฐานล่วงไว้ให้เห็น เข้าใจว่าคงเป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินบำเพ็ญพระราชกุศล ติดกับศาลาดินด้านใต้ยังมี “เกย” สำหรับเจ้านายใช้เป็นที่เสด็จขึ้นลงยานพาหนะ

วิหารหลวงอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถติด กับกำแพงวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นั้น เข้าใจว่า เดิมน่าจะสร้างขึ้นเป็นทำนอง พระที่นั่งทรงธรรม มากกว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เพราะภายในไม่ปรากฏว่ามีฐานชุกชีสำหรับตั้งพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังมี “มุขเด็จ” แบบมุขเด็จของพระมหาปราสาท ยื่นออกไปทางทิศใต้สำหรับเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกด้วย




“วัดเจ้าพระยาไท-ชัยมงคล” หรือวัดป่าแก้ว มากลายเป็นวัดร้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๙ พม่าข้าศึกยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือ ออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว ทัพเรือไทยเสียทีข้าศึก จับพระยาเพชรบุรีได้ฆ่าเสียแล้วก็แตกกลับมา พม่ายึดเอาวัดเจ้าพญาไทเป็นฐานปฏิบัติการ วัดใหญ่เจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วก็ถึงกาลวิปโยค... ฉิบหายลงด้วยน้ำมือข้าศึก ผู้มีรากฐานอุปนิสัยใจคอมาจากโจรป่าด้วยประการฉะนี้




ปัจจุบันวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดเจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว
ที่ยังคงมีซากชิ้นส่วนของอาคารในสมับโบราณ หลงเหลืออยู่...
สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้เราได้ศึกษา ว่าอิฐทุกก้อน ปูนทุกชิ้น
แม้จะแหลกราญอยู่กับพื้นดินก็ยังมีความรู้สึกท้าทายผู้ไปพบเห็น
ว่าที่แห่งนี้... เป็นที่ประกาศชัยชนะอันบันลือเกียรติของ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ปรากฏไปตราบกัลป์ปาวสาร




ประวัติพระเจดีย์ชัยมงคล
ชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี เป็นชัยชนะครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่ สมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงประกาศอิสรภาพของชาติไทยที่เมืองแครง เมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๒๗ หลังจากที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ใต้อำนาจของชาติอื่นมาเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนี้ขึ้นสองแห่ง เป็นพระสถูปเจดีย์ตรงที่ทรงยุทธหัตถีกับ พระมหาอุปราชา แห่งหนึ่ง และทรงสร้างพระมหาสถูปคือ พระเจดีย์ชัยมงคล ขึ้นที่ วัดป่าแก้ว เป็นเหตุสำคัญ อีกแห่งหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุหนึ่งซึ่งคงจะเป็นเครื่องชักจูงพระราชหฤทัย ให้ทรงสร้างพระมหาสถูปนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อพุทธศักราช ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ตีได้กรุงศรีอยุธยาในรัชกาล สมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งนั้นไทยได้รับความเสียหายแสนสาหัส ข้อความในพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นความอัปยศนี้อยู่เป็นอย่างดียิ่ง ในชัยชนะครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ได้ให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัด ซึ่งสมเด็จพระราเมศวรสร้างไว้นอกพระนครทางด้านเหนือ และให้เรียกพระเจดีย์นั้นว่า “ภูเขาทอง” เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกวัดนั้นว่า “วัดภูเขาทอง” ต่อมาพระเจดีย์ภูเขาทองนั้น นอกจากจะเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทั้งปวง ให้ระลึกถึงความอัปยศอดสูในครั้งนั้นอีกด้วย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาสถูปชัยมงคลที่วัดพระยาไทย ให้มีขนาดสูงกว่าพระเจดีย์ภูเขาทอง ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นเครื่องล้างความอัปยศอดสูของชาติไทย และเป็นเครื่องให้เกิดกำลังใจแก่คนไทยทั้งชาติอีกด้วย นับว่าเป็นพระบรมราโชบายอันลึกซึ้ง และมีประโยชน์ต่อชาติไทยจนตราบทุกวันนี้ พระเจดีย์ชัยมงคล จึงนับเป็นปูชนียวัตถุอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของชาติไทย เพราะเป็นนิมิตรหมายของเอกราชของชาติ เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความกล้าหาญเสียสละ ที่สมเด็จพระมหาวีรราชเจ้าและวีรบุรุษของชาวไทยได้มีมาในอดีต อันเป็นผลตกทอดมาถึงคนไทยทุกคน ในปัจจุบันนี้ในวิถีแห่งชีวิตทุกทาง นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องหมายแห่งชาวไทยทั้งมวล ที่ได้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชของชาติและธำรงไว้ซึ่งเอกราชนั้นตลอดมา ทั้งยังได้ทำกิจการงานทั้งปวงตามหน้าที่ของแต่ละบุคคลโดยสุจริต และความพากเพียร เพื่อให้ชาติไทยนั้นได้อยู่ได้โดยเสรีและเป็นปกติสุข


พระเจดีย์ชัยมงคล

พระเจดีย์ชัยมงคลนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการอภัยทานของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อันเนื่องมาจากธรรมอันประเสริฐแห่งพระพุทธศาสนา
ซึ่งได้มีอิทธิพลเหนือชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณกาล
จนเป็นวิสัยในจิตใจทั้งปวงถึงทุกวันนี้

พระเจดีย์ชัยมงคล ซึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างขึ้นที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้ทรงทำยุทธหัตถี ได้ชัยชนะแก่สมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น ประมาณว่ามีความสูงจากพื้นดินราว ๑ เส้น ๑๐ วา


พระครูภาวนารังสี

เมื่อ พระครูภาวนารังสี เข้าบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคลนั้น พระเจดีย์มีสภาพทรุดโทรมมาก เป็นเพราะการถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ และอีกประการหนึ่งพระเจดีย์มีอายุถึง ๔๐๐ ปี จึงชำรุดทรุดโทรมจนเหลือกำลังของวัดที่จะเข้าแก้ไขให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งมีคนไทยกันเองกลุ่มหนึ่ง ขุดคุ้ยทำลายเพื่อหาของมีค่าเป็นประโยชน์ส่วนตัว ทำให้พระเจดีย์นั้นมีลักษณะคล้ายจะล้มครืนลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อฝนตกพายุพัดจะมีเสียงลั่นเป็นที่น่าวิตกยิ่ง

พระครูภาวนารังสี จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะสายเกินไป
ปรากฏว่าอีกไม่นานต่อมา กรมศิลปากรได้รับงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม พระเจดีย์ชัยมงคล และบริเวณวัดใหญ่ชัยมงคล เฉพาะในเขตพุทธาวาส ๒๐ ล้านบาทเศษ กรมศิลปากรได้สั่งช่างเข้าดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนงานได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕



หลังจากการบูรณะใหญ่ในครั้งนั้น ทำให้วัดใหญ่ชัยมงคล มีผู้รู้จักและสนใจมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อย่างต่อเนื่อง ผ่านมาเกือบจะ 30 ปีแล้ว จึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงอีก ทางกรมศิลปากร โดยนายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงการบูรณะโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามีความเสื่อมโทรม สภาพภูมิทัศน์โดยรอบได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมวันละไม่น้อยกว่า 1,000 คน ทั้งนี้จากการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องจัดทำแผนแม่บทและออกแบบภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์วัดใหญ่ชัยมงคลขึ้นใหม่ โดยใช้งบประมาณจำนวน 1.5 ล้านบาท เพื่อทำการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ รวมถึงการบูรณะต่อเติมอาคาร เนื่องจากสภาพปัจจุบันเขตโบราณสถานหรือเขตพุทธาวาส มีการใช้ประโยชน์แบบผสมร่วมกันกับเขตสังฆาวาส ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการจัดการพื้นที่มรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่จะต้องแยกพื้นที่ใช้สอยออกจากกัน ไม่ให้เกิดการรบกวนกัน



รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า แผนแม่บทดังกล่าวจะกำหนดเขตที่ตั้งของส่วนประกอบสำคัญของวัด 4 ส่วน ได้แก่ 1.เขตพุทธาวาส 2.เขตสังฆาวาส จำเป็นจะต้องจัดการให้เกิดความสงบและลดการรบกวนจากภายนอกให้มากที่สุด 3.เขตของแม่ชี 4.เขตบริการนักท่องเที่ยว จะต้องพัฒนาระบบเข้าถึงให้เกิดความสะดวก โดยจัดให้มีศูนย์บริการต้อนรับ และพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่ง หรือศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ รวมทั้งจัดโซนร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึกให้เป็นระเบียบ และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง ระบบการสัญจร และการจัดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสำหรับอาคารและชุมชนรอบข้างให้กลมกลืนเข้ากับสภาพความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ หลังจากการบูรณะจะทำให้วัดใหญ่ชัยมงคล อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และเป็นสถานที่สำหรับชาวไทยทั้งหลาย ที่จะไปทำบุญและท่องเที่ยวได้ในคราวเดียวกัน



ปัจจุบันวัดใหญ่ชัยมงคล มี พระครูพิสุทธิ์บุญสาร ( แก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน ) เป็นเจ้าอาวาส พระมหาสำรอง ชยธมฺโม และ พระมหาบรรณ์ ปญฺญาธโร เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส แม่ชีสมจิต ควรเลี้่ยง เป็นหัวหน้าสำนักแม่ชีวัดใหญชัยมงคล มีพระภิกษุจำพรรษาประมาณ ๔๐ รูป แม่ชีประมาณ ๖๐ คน

TraveLAround


ปล. ตอนนี้ผมเขียนบล็อกมาได้กว่า 430 เรื่องแล้ว ล้วนเป็นสาระน่ารู้ต่างๆ ท่านที่เข้ามาชมบล็อกใหม่ ผมได้จัดทำเป็นสารบัญ แบบหนังสือให้ดูหัวเรื่องได้ง่ายที่ group :
นานา สาระ๑๐๐๐

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับบ้านและการตกแต่ง รวมรวมแยกไว้ในหมวด Home Lover’s Corner สามารถคลิ๊กที่ ลิงค์ด้านบนได้เลยครับ

เรียบเรียงจาก
//www.watyaichaimongkol.net/
ข่าวสดรายวัน
//www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TURObFpIVXdNakV6TVRJMU1BPT0=§ionid=TURNeE5RPT0=&day=TWpBd055MHhNaTB4TXc9PQ==
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดใหญ่ชัยมงคล, เพิ่มศักดิ์ วรรยางกูร เรียบเรียง, อัมรินทร์พรินติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๘, หน้า ๑๓๐-๑๓๗



Create Date : 04 กรกฎาคม 2551
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 11:52:54 น.
Counter : 6456 Pageviews.

3 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
春和歌山市 : My First Hanami @ Wakayama Castle mariabamboo
(16 เม.ย. 2567 12:49:02 น.)
春和歌山市 : ทำไมต้องวากะยามะ mariabamboo
(15 เม.ย. 2567 11:06:33 น.)
หาอะไรดับร้อนกับน้องถั่วแดงที่ร้านเย็น เย็น หวานเย็น สาขาMRTท่าพระ นายแว่นขยันเที่ยว
(12 เม.ย. 2567 00:32:31 น.)
  
ขอเข้ามาอ่านด้วยคนค่ะ
โดย: VELEZ วันที่: 4 กรกฎาคม 2551 เวลา:21:25:57 น.
  
ฃอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ

ไปมาหลายครั้งแต่ไม่เคยศึกษาเลย
อิอิ
โดย: chalawanman วันที่: 5 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:28:26 น.
  
อ่านแล้วได้ความรู้มากมายค่ะ

ขอให้เจริญ เจริญ และมีปัญญายิ่ง ยิ่ง ขิ้นนะคะ
สาธุ
โดย: คนขล IP: 125.25.147.39 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2552 เวลา:9:00:12 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Travelaround.BlogGang.com

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]