ชั้นตรี ธรรมวิภาค ปัญจกะ หมวด ๕
ธรรมชั้นตรี วิชาธรรมวิภาค
ปัญจกะ   หมวด  ๕

อนันตริยกรรม  ๕
              ๑.  มาตุฆาต  ฆ่ามารดา
              ๒.  ปิตุฆาต  ฆ่าบิดา
              ๓.  อรหันตฆาต  ฆ่าพระอรหันต์
              ๔.  โลหิตุปบาท  ทำร้ายพระพุทธเจ้า จนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
              ๕.  สังฆเภท  ยังสงฆ์ให้เแตกจากกัน
              กรรม  ๕  อย่างนี้   เป็นบาปหนักที่สุด   ห้ามสวรรค์  ห้ามนิพพาน  ตั้งอยู่ในฐานปาราชิก  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาห้ามไม่ให้ทำเป็นอันขาด
              อนันตริยกรรม   แปลว่า   กรรมที่ให้ผลในภพที่ติดต่อกันทันที    อธิบายว่า  ผู้ทำอนันตริยกรรม  ทั้ง  ๕  นี้  ข้อใดข้อหนึ่ง  หลังจากตายแล้วต้องไปตกนรกชั้นอเวจีทันที  ไม่มีกุศลกรรมอะไรจะมาช่วยได้  เช่นพระเทวทัต  เป็นต้น
              กรรมทั้ง  ๕  นี้  ท่านกล่าวว่า  ตั้งอยู่ในฐานปาราชิก  หมายความว่า  ผู้ทำกรรมนี้เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อความดี   เป็นผู้อาภัพคือหมดโอกาสที่จะได้   มนุษย์สมบัติ  สวรรค์สมบัติ   และนิพพานสมบัติ  เพราะต้องตกนรกอเวจีสถานเดียว

อภิณหปัจจเวกขณะ  ๕

              ๑.  ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า  เรามีความแก่เป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
              ๒.  ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า  เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
              ๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า  เรามีความตายเป็นธรรมดา  ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
              ๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า  เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
              ๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า  เรามีกรรมเป็นของตัว   เราทำดีจักได้ดี   ทำชั่วจักได้ชั่ว
              อภิณหะ  แปลว่า  เนือง ๆ   เสมอ  หรือเป็นประจำ
              ปัจจเวกขณะ  แปลว่า  การพิจารณา  คือเก็บเอามาคิดเพื่อให้เข้าใจความจริง
              อภิณหปัจจเวกขณะ    จึงมีความหมายว่า    การพิจารณา  หรือการคิดเนือง ๆ เพื่อให้เข้าใจความจริง
              พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า  สตรีก็ตาม  บุรุษก็ตาม  คฤหัสถ์ก็ตาม  บรรพชิตก็ตาม
ควรพิจารณาเนือง ๆ  ถึงความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  ความพลัดพรากจากบุคคล  และของรัก  และผู้ที่ทำความดีความชั่วแล้วได้รับผลดีและผลร้าย
              เห็นคนแก่ชราภาพ  ให้นึกว่า  เราก็จะต้องแก่อย่างนั้น  จะช่วยบรรเทาความมัวเมาในวัย
              เห็นคนเจ็บทุกข์ทรมาน  ให้นึกว่า  เราก็จะต้องเจ็บอย่างนั้น  จะช่วยบรรเทาความมัวเมาว่าตนไม่มีโรค
              เห็นคนตาย  ให้นึกว่า   เราก็จะต้องตายอย่างมากไม่เกิน  ๑๐๐  ปี  จะช่วยบรรเทาความมัวเมาในชีวิต  คิดว่าตัวเองจะอยู่ค้ำฟ้า
              เห็นคนประสบความวิบัติจากคนรักและทรัพย์สินเงินทอง  ให้นึกว่า  ความจากกันนั้นมีแน่  ไม่เขาจากเรา  ก็เราจากเขา  จะช่วยบรรเทาความยึดติดผูกพันในคนรักและของรัก
              เห็นคนผู้ทำความดีและความชั่วแล้ว  ได้รับผลดีและผลร้าย  ให้นึกว่า  ทุกคนมีกรรมเป็นของตน  จะช่วยบรรเทาความทุจริตต่าง ๆ ได้

ธัมมัสสวนานิสงส์

คือ  อานิสงส์แห่งการฟังธรรม  ๕  อย่าง
              ๑.  ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
              ๒.  สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว  แต่ยังไม่เข้าใจชัด  ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
              ๓.  บรรเทาความสงสัยเสียได้
              ๔.  ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
              ๕.  จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
              การฟังธรรม  เป็นอุบายวิธีที่สำคัญอย่างหนึ่ง  ซึ่งสามารถทำให้บุคคลบางประเภทละชั่วประพฤติชอบได้  และเป็นเหตุให้บุคคลบางประเภทแม้เป็นคนดี 
 มีความฉลาดอยู่แล้วบรรลุผล อันสูงสุดของชีวิตได้  เช่น  อุปติสสปริพพาชก  เป็นต้น  พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า  บุคคลในโลกนี้มี  ๓  ประเภท  คือ
              ๑.บางคนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกหรือไม่ก็ตาม  ก็ละชั่วประพฤติชอบไม่ได้  เปรียบเหมือนคนไข้บางคนจะได้อาหาร  ที่อยู่และหมอที่ดีหรือไม่โรคก็ไม่หายตายสถานเดียว
              ๒.บางคนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และพระสาวกหรือไม่  ก็ละชั่วประพฤติชอบได้เอง    เปรียบเหมือนคนไข้บางคนจะได้อาหาร    ที่อยู่และหมอที่ดีหรือไม่   โรคก็หายเอง
              ๓.บางคนต้องได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกเท่านั้นจึงละชั่วประพฤติชอบเปรียบเหมือนคนไข้บางคนต้องได้อาหาร      ยาและหมอที่ดี โรคจึงหาย     เมื่อไม่ได้ไม่หาย
              การฟังธรรม  จึงเป็นประโยชน์โดยตรงแก่บุคคลประเภทที่  ๓  แต่บุคคลประเภทที่  ๑  ก็ควรฟังเพื่อเป็นอุปนิสัยในภายหน้า  และบุคคลประเภทที่  ๒  ก็ควรฟังเพื่อความรู้ความเข้าใจภูมิธรรมที่สูงขึ้น
              เพื่อจำง่าย  ย่ออานิสงส์  ๕  ดังนี้  ได้ฟังเรื่องใหม่ เข้าใจเรื่องเก่า  บรรเทาความสงสัย  ทำลายความเห็นผิด  ดวงจิตผ่องใส

พละ  คือธรรมเป็นกำลัง  ๕  อย่าง

              ๑.  สัทธา    ความเชื่อ
              ๒.  วิริยะ   ความเพียร
              ๓.  สติ    ความระลึกได้
              ๔.  สมาธิ    ความตั้งใจมั่น
              ๕.  ปัญญา    ความรอบรู้
              อินทรีย์  ๕  ก็เรียกเพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน
              พละ  แปลว่าธรรมมีกำลัง  มีความหมาย  ๒  อย่าง  คือ  
๑  ครอบงำ  ย่ำยีธรรมที่เป็นข้าศึกที่เกิดขึ้นแล้วได้   เปรียบเหมือนช้างสามารถเหยียบมนุษย์  หรือเอางวงจับฟาดตามสบาย เพราะมีกำลังมากกว่า  
๒.  อันธรรมที่เป็นข้าศึกให้หวั่นไหวไม่ได้  เปรียบเหมือนภูเขาอันมนุษย์ หรือสัตว์ทั้งหลายมีช้าง  เป็นต้น  ทำให้หวั่นไหวไม่ได้  เพราะมีความแข็งแกร่งกว่า     
              สภาพที่ข้าศึก คือความไม่มีศรัทธา (อสัทธิยะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้  ชื่อว่า  สัทธาพละ
              สภาพที่ข้าศึก   คือ  ความเกียจคร้าน  (โกสัชชะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้  ชื่อว่า  วิริยพละ
              สภาพที่ข้าศึก   คือ  ความขาดสติ  (สติวิปวาสะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้   ชื่อว่า  สติพละ
              สภาพที่ข้าศึก  คือ  ความฟุ้งซ่าน  (อุทชัจจะ)  ให้หวั่นไหวไม่ได้  ชื่อว่า  สมาธิพละ
              สภาพที่ข้าศึก  คือ  ความไม่รู้  (อวิชชา)  ให้หวั่นไหวไม่ได้   ชื่อว่า  ปัญญาพละ
              อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรมที่ครอบงำ อสัทธิยะ  โกสัชชะ สติวิปวาสะ  อุทชัจจะ และอวิชชาได้ชื่อว่า  สัทธาพละ  วิริยพละ   สติพละ    สมาธิพละ และ   ปัญญาพละ  ตามลำดับ

ขันธ์   ๕
              กายกับใจนี้  แบ่งออกเป็น  ๕  กอง  เรียกว่า  ขันธ์  ๕  คือ 
 ๑.  รูป  ๒.  เวทนา
๓.  สัญญา  ๔.  สังขาร  ๕.  วิญญาณ
              ธาตุ  ๔  คือ  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ประชุมกันเป็นกาย    นี้เรียกว่า   รูป
              ความรู้สึกอารมณ์ว่า  เป็นสุข  คือสบายกาย  สบายใจ  หรือเป็นทุกข์  คือ  ไม่สบายกายไม่สบายใจ  หรือเฉย ๆ  คือไม่ทุกข์ไม่สุข  เรียกว่า  เวทนา
              ความจำได้หมายรู้  คือจำรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  และอารมณ์ที่เกิดกับใจได้  เรียกว่า  สัญญา
              เจตสิกธรรม  คือ  อารมณ์ที่เกิดกับใจ  เป็นส่วนดีเรียกกุศล  เป็นส่วนชั่วเรียกอกุศล  เป็นส่วนกลาง ๆ   ไม่ดีไม่ชั่วเรียก  อัพยากฤต  (ทั้งหมด)  เรียกว่า  สังขาร
              ความรู้อารมณ์ในเวลามีรูปมากระทบตา  เป็นต้น  เรียกว่า  วิญญาณ
              ขันธ์  ๕ นี้  ย่น  เรียกว่า  นาม  รูป  คือ  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  รวมเข้าเป็นนาม  รูปคงเป็นรูป
              คำว่า  ขันธ์  แปลว่า  กอง  หมายถึงกองธรรม  ๕  กอง  ที่รวมกันเข้าแล้วเป็นชีวิต  พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจว่า  ชีวิตมนุษย์ก็คือ  การประชุมรวมกันของกองธรรมทั้ง  ๕  นี้  ได้เหตุได้ปัจจัยก็รวมกันเรียกว่ามีชีวิต  สิ้นเหตุสิ้นปัจจัยก็แตกสลาย  เรียกว่า  ตาย  ไม่มีใครที่ไหนมาสร้างมาดลบันดาลให้เกิดขึ้นหรือให้ตายไป





Create Date : 27 กรกฎาคม 2563
Last Update : 25 สิงหาคม 2563 5:26:58 น.
Counter : 896 Pageviews.

0 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
: รูปแบบของการค้นพบตนเอง : กะว่าก๋า
(16 เม.ย. 2567 06:05:58 น.)
สุขสันต์วันปีใหม่ไทย ๒๕๖๗ haiku
(13 เม.ย. 2567 10:13:33 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 32 : กะว่าก๋า
(10 เม.ย. 2567 06:04:44 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Thampitak33.BlogGang.com

thampitak 33
Location :
สุรินทร์  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]