สารนารถ เมืองแห่งปัญญา


ช่วงนี้ติดตามดูสารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า” ด้วยความชื่นชม รู้สึกนับถือคนเขียนที่ช่างวิเคราะห์เจาะลึก

เมื่อคืนอังคารที่ 27 มิ.ย. ฉายถึงเมืองสารนารถ ดินแดนที่พระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ ทำให้เกิดคำว่ากงล้อแห่งธรรมเคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว “ธรรมจักรกัปปะวัตนสูตร” และพระอัญญาโกณทัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์ คือมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

อินเดียในวันนี้ ยังไม่ต่างจากสมัยพุทธกาลมากนัก ความลำบากยากจน และธรรมชาติอันทารุณ ยังคงกัดเซาะจิตใจชาวชมพูทวีป ให้มีผู้ออกแสวงหาความหลุดพ้นอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู ยังคงฝังรากลึก ทั้งที่การสวดอ้อนวอนเทพเจ้าเพื่อให้ท่านลงมาช่วย มันไม่ได้ทำให้จิตใครเป็นอิสระออกมาได้เลย ดีไม่ดี มีแต่จะยิ่งชักเนื้อ สูญเสียทรัพย์และแรงไปกับการบูชา เป็นทาสความคิดความเชื่อต่างๆ จนไม่สามารถค้นพบความยิ่งใหญ่ในจิตตัวเอง

ที่น่าเศร้าก็คือ พุทธศาสนาซึ่งอุบัติขึ้นในชมพูทวีปและเคยมีความยิ่งใหญ่จนแตกสาขาออกไปทั่วเอเชีย ทำให้อินเดียครั้งหนึ่ง เคยรุ่งเรืองไปด้วยปัญญาแห่งสัจจะวิมุตติ กลับเหลืออนุสรณ์สถานให้ระลึกถึงน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่าจิตวิญญาณความเป็นพุทธได้เลือนหายไปจากอินเดียแล้วก็ว่าได้ หรือว่ารากลึกของคนจริงๆ เป็นเพียงฮินดู ผู้ชอบการวิงวอน มากกว่าความอิสระแห่งจิต นิพพานอาจน่ากลัวที่จะค้นพบจริงๆ ก็ได้

แต่กระนั้น ก็ยังได้เห็นพุทธบริษัทสี่ มีความเพียรพยายามจะฟื้นฟู ปัญญาแห่งวิถีพุทธขึ้นมายัง ณ สารนารถอีกครั้ง
ที่นั่นมีสถูปขนาดใหญ่ (สร้างครอบของเดิม โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ให้ความสำคัญต่อการบำรุงพุทธศาสนา และบูรณะสถานที่ทรง ประสูติ ตรัสรู้ ประกาศธรรม และปรินิพาน) มีพระสงฆ์จากนิกายต่างๆ ทั่วโลก เดินทางกลับไปศึกษาพุทธศาสตร์ ที่สารนารถ เพื่อกลับมาสอนสัจธรรมแท้ซึ่งผู้เป็นเอกของโลกค้นพบ ในประเทศตัวเอง

ประทับใจมากๆ ตอนที่พระผู้ใหญ่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธองค์มาครอบศีรษะ เพื่อให้เป็นพุทธศิริมงคลแก่ภิกษุ และญาติโยมทั้งชายหญิง อดคิดถึงล้านนาในไทยไม่ได้ ที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในพระธาตุเจดีย์ โดยอ้างว่า ฝังพระสารีริกธาตุอยู่ใต้ดิน ถ้าฝังจริง ทั้งหญิงชาย ก็ไม่ควรเข้าไปเหยียบทั้งนั้น ไม่ใช่ชายเข้าได้ หญิงเข้าไม่ได้ พูดถึงล้านนาทีไรก็เซ็งทุกที ไม่รู้นับถือพุทธกันอย่างไร แบ่งชนชั้นกันขนาดนั้น แต่ก็ยังดี ที่น้อยกว่าอินเดีย ที่กว่าพระพุทธเจ้า จะช่วยให้ผู้หญิงขึ้นมามีสิทธิ์ในการเข้าถึงศาสนา ก็ต้องฝ่าด่านอรหันต์เทียมกันแทบเลือดตากระเด็น
จงจำคำพระศาสดา ตามหัวใจแห่งปรัชญาปารมิตาสูตรให้ดีเถิด พระองค์ทรงสอนว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หญิงชาย …

พุทธประวัติโดยสังเขป
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ณ สวนลุมพินี ในปี 623 ก่อนคริสตศักราช (80 ปี ก่อนพุทธศักราช) พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายในวรรณะกษัตริย์ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์
ณ สวนลุมพินีนี้ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างเสาหิน เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่เสาหินนี้มีอักษรจารึกว่า "เมื่อพระเจ้าปิยทัสสี ทรงครองราชย์ได้ 20 ปี พระองค์ได้เสด็จ มานมัสการสถานที่นี้”

เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุธรรม จิตหลุดจากอาสวะกิเลสทั้งปวง พระองค์ก็ทรงทราบว่า การเกิดใหม่ (ชาติต่อไป) ย่อมไม่มีอีก กิจที่ต้องทำ ได้กระทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว การแสวงหาสัจจธรรม อันนานถึง 6 ปี ได้ยุติแล้วด้วยประการฉะนี้

หลังจากตรัสรู้แล้ว ท้าวสหัมปติพรหมได้ทราบถึงพระทัยของพระองค์ที่จะไม่ทรงสั่งสอนพระธรรมที่ทรงบรรลุให้กับเวไนยสัตว์ จึงเสด็จมาอาราธนาให้พระองค์ได้โปรดเมตตาสั่งสอนพระธรรมให้แก่เวไนยสัตว์ ให้พ้นจากความทุกข์ด้วย พระองค์ทรงเห็นอุปมานิมิตรถึงภูมิปัญญาของมนุษย์เปรียบเหมือน ดอกบัวสี่เหล่าอันได้แก่ อุคคติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทะปรมะ พระองค์จึงได้ตัดสินพระหฤทัย ที่จะสั่งสอนพระธรรมที่ทรงเข้าถึงแล้ว

หลังจากนั้น จึงทรงเสด็จจากตำบลอุรุเวลาไปยังสวนกวาง (สารนารถ) ใกล้เมืองพาราณสี เพื่อพบภิกษุปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงปฐมเทศนา ซึ่งว่าด้วย “มัชฌิมาปฏิปทา” คือทางสายกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างการทรมานตน (Self-Mortification) และการมัวเมาในกาม (Sexual Indulgence)
พระองค์ทรงประกาศให้ทราบว่า เพราะหลีกเลี่ยงส่วนสุดโต่งทั้ง 2 ทาง (คือ อัตตกิลมถานุโยค และกามสุขัลลิกานุโยค) พระองค์จึงได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ทรงตรัสสอนอริยสัจ 4 (Noble Truths) คือ ทุกข์ (Suffering) สมุทัย (Cause of Suffering) นิโรธ (Cessation of Suffering) และมรรค (the way leading to the cessation of suffering)

ปฐมเทศนานี้ ถือได้ว่าเป็นการหมุนล้อแห่งธรรม (ธรรมจักร) หรือการประกาศธรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว ทำให้ต่อมา มีผู้เข้าถึงนิพพานเป็นจำนวนมหาศาล พระสาวกในครั้งพุทธกาล พระองค์ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา โดยตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย จงไปประกาศธรรม อันงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ผู้มีธุลีในดวงตา จะเสียประโยชน์หากเขาเหล่านั้นไม่ได้ฟัง ธรรมฯ พระองค์ได้ใช้เวลาประกาศสัจจธรรมเป็นเวลาถึง 45 ปีหลังตรัสรู้ จึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระองค์มีพระชนม์มายุได้ 80 ปี



Create Date : 02 กรกฎาคม 2548
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2550 11:20:06 น.
Counter : 908 Pageviews.

16 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 7 : กะว่าก๋า
(18 มี.ค. 2567 06:03:40 น.)
:: ถนนสายนี้มีตะพาบ โครงการที่ 347 :: กะว่าก๋า
(16 มี.ค. 2567 05:24:45 น.)
พูดคุยธรรมะ ปัญญา Dh
(16 มี.ค. 2567 20:55:18 น.)
ศีล 5 สมาชิกหมายเลข 7962100
(13 มี.ค. 2567 05:31:37 น.)
  
เออ แบบนี้ก็เขียนครบแล้วซิ

วันมาฆบูชา วันแห่งรักแท้
วันวิสาขบูชา (อยู่ในกระทู้ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ที่ล็อกระเบียงหน้าบ้าน)
แล้วก็ วันอาสาฬหบูชา ก็คือกระทู้นี้ สารนารถ เมืองแห่งปัญญา...
โดย: suparatta วันที่: 2 กรกฎาคม 2548 เวลา:17:46:09 น.
  
อย่าว่าแต่ล้านนาเลยค่ะ
หลายๆประเพณีผู้หญิงก็เป็นส่วนเกินอยู่เสมอ

สงสัยว่าชื่อคุณ สุภารัตถะ
นี่เกี่ยวดองอะไรกับเรื่อง สิทธารัตถะรึเปล่าคะ
โดย: สงสัย (rebel ) วันที่: 2 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:05:15 น.
  
คุณ suparatta มีห้องลับเยอะจังนะครับ อิอิ
โดย: Bluejade วันที่: 2 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:11:58 น.
  
สิทธารถะ เป็นหนังสือที่ เฮอร์มาน เฮสเส เขียนอ่ะนะ
โดย: suparatta วันที่: 2 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:13:06 น.
  
ห้องลับ ไว้คุยกะกิ๊ก อะบลูเจด
โดย: suparatta วันที่: 2 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:28:47 น.
  
กำลังจะบอกเลยว่า มีห้องลับเยอะมาก เหอๆ
ชื่อชวนให้หลงเข้าเลยครับ แต่ไม่มีรหัสผ่านเนี่ยสิ อิอิ
ตอบเรื่องสารคดี ชอบเหมือนกันครับ เป็นข้อมูลเจาะลึก
คนทำตั้งใจทำมาก อยากให้บ้านเราฉายสิ่งดีๆ แบบนี้เยอะๆ ครับ
โดย: Mint@da{-"-} วันที่: 2 กรกฎาคม 2548 เวลา:20:49:22 น.
  
สาธุ อนุโมทนาธรรมทานค่ะ


พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วยเพราะชาวพุทธศึกษาพระธรรม และน้อมนำไปปฏิบัติ


โดย: ป่ามืด วันที่: 3 กรกฎาคม 2548 เวลา:15:14:13 น.
  
รายการน่าดูจังค่ะ คงต้องมาอ่านในบล๊อกนี้อ่ะค่ะ
โดย: jan_tanoshii วันที่: 3 กรกฎาคม 2548 เวลา:22:18:44 น.
  
อาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์
อาสาฬหเป็นชื่อเดือน ๘ อาสาฬหบูชาย่อมาจากคำว่าอาสาฬหบูรณ มีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็จะ เลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หลัง

หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง จึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภท(บัว 4 เหล่า) คือ
๑. อุคฆฏิตัญญู ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ
๒. วิปัจจิตัญญู ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ
๓. เนยยะ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
๔. ปทปรมะ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม

จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง 2 ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญทุกข์กิริยาอยู่ พระธรรมที่ พระพุทธองค์ทรงเทศนาในครั้งนี้มี ชื่อ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมี อริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการได้แก่
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ ความดับทุกข์
๔. มรรค ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์

และหลังจากแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นคนแรก ได้กราบฑูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต โดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า

ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา" หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันนี้มีถึง 4 ประการ ด้วยกันคือ
1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
4. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ


โดย: เพิ่มเติม IP: 202.57.166.242 วันที่: 4 กรกฎาคม 2548 เวลา:9:42:15 น.
  
ไหน ๆ ก็กล่าวถึง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้ว ขอนำพระสูตรมาโพสต์ไว้ที่นี่ด้วยแล้วกันนะครับ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
(วินย. ๔/๑๓/๑๒)

บทนำ

อนุตตะรัง อะภิสัมโพธิง........สัมพุชฌิตวา ตะถาคะโต
ปะฐะมัง ยัง อะเทเสสิ...........ธัมมะจักกัง อะนุตตะรัง
สัมมะเทวะ ปะวัตเตนโต........โลเก อัปปะฏิวัตติยัง
ยัตถากขาตา อุโภ อันตา.......ปะฎิปัตติ จะ มัชฌิมา
จะตูสวาริยะสัจเจสุ...............วิสุทธัง ญาณะทัสสะนัง
เทสิตัง ธัมมะราเชนะ............สัมมาสัมโพธิกิตตะนัง
นาเมนะ วิสสุตัง...................ธัมมะจักกัปปะวัตตะนัง
เวยยากะระณะปาเฐนะ..........สังคีตันตัมภะณามะ เสฯ
.......พระตถาคต คือ พระพุทธเจ้า ครั้นได้ตรัสรู้ธรรม ได้แก่ อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นธรรมอันสูงสุด ไม่มีธรรมใดที่สูงไปกว่า ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นจักร คือ วงล้อ ประกอบด้วยซี่ ๘ ซี่ คือธรรมอันเป็นทางสายกลาง ๘ ประการ ซึ่งเป็นทางที่หลีกเว้นการปฏิบัติตนแบบสุดโต่ง ๒ คือ หมกหมุ่นในกามคุณ และ ทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ เป็นข้อ ปฏิบัติเป็นกลาง ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ให้บริสุทธิ์จากกิเลส, พวกเราทั้งหลาย จงร่วมกันสวดพระธรรมจักรนั้น ที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราช ทรงแสดงไว้แล้ว มีชื่อปรากฏว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระสูตรที่ประกาศให้ทราบถึงการที่พระองค์ ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งพระสงฆ์ผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้ทั้งหลาย ได้ร้อยกรองไว้โดยทำเป็นบทสวดมนต์ที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เทอญฯ

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

เอวัมเม สุตังฯ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิฯ
.......ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์) ได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในเวลานั้น พระองค์ได้ตรัสเตือนพระภิกษุเบญจวัคคีย์ว่า

เทวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค หีโน คัมโม โปถุชชะนิโก อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค ทุกโข อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโตฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย ผู้ออกบวชแสวงหาความหลุดพ้น ไม่ควรปฎิบัติตน ๒ ประการ คือ (๑) การแสวงหาความสุขทางกามคุณ แบบสุดโต่ง ซึ่งทำให้จิตใจต่ำทราม เป็นเรื่องของชาวบ้านที่มีความใคร่ เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนาไม่ใช่เป็นสิ่งประเสริฐ คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึกคือกิเลส ไม่มีสาระประโยชน์อันใด (๒) การปฏิบัติตนแบบก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึก คือ กิเลสไม่มีสาระประโยชน์อันใดฯ

เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคฯ เสยยะถีทังฯ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย หลักปฏิบัติอันเป็น ทางสายกลาง หลีกเลี่ยงจากการปฏิบัติแบบสุดโต่ง ซึ่งเราตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยวดยิ่ง เห็นได้ด้วยตาใน รู้ด้วยญาณภายใน เป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้อย่างทั่วถึง เพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ (๘) ความตั้งจิตชอบ

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติฯ

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยัะสัจจัง ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิทุกขัง สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา

.......ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ คือ ความจริงที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" ล้วนแต่ เป็นทุกข์ แม้แต่ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ทั้งความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปราถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ การยึดมั่นแบบฝังใจ ว่า เบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจังฯ ยายัง ตัณหา โปโนพภะวิกา นันทิราคะสะหะคะตา ตัตระ ตัตราภินันทินีฯ เสยยะถีทังฯ กามะตัณหา ภะวะตัณหา วิภะวะตัณหาฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย เหตุทำให้เกิดความทุกข์ (สมุหทัย) มีอย่างนี้ คือ ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มัวเพลิดเพลินอย่างหลงระเริงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่นั้นๆ ได้แก่
.......(๑) ความทะยานอยากในสิ่งที่ก่อให้เกิดความใคร่
.......(๒) ความทะยานอยากในความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่
.......(๓) ความทะยานอยากในความที่จะพ้นจากภาวะที่ไม่อยากเป็น
.......เช่น ไม่อยากจะเป็นคนไร้เกียรติ ไร้ยศ เป็นต้น อยากจะดับสูญไปเลยถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจังฯ โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ จาโค ปะฏินิสสัคโค มุตติ อะนาละโยฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง มิให้ตัณหาเหลือยู่ สละตัณหา ปล่อยวางตัณหาข้ามพ้นจากตัณหา ไม่มีเยื่อใยในตัณหา

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจังฯ

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคฯ เสยยะถีทังฯ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจาสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ทุกขโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ (๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ (๘) ความตั้งจิตมั่นชอบ

อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญานัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้ เป็นทุกขอริยสัจจ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกขอริยสัจ เราได้กำหนดรู้แล้ว

อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทมะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ

ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกสมุทัยอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรละ ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจเราละได้แล้ว

อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิฯ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่าเป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่าเป็น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราได้ทำให้เกิดขึ้นแล้ว

ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดการหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริง ว่าอริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ มีอาการ ๑๒ (ได้แก่ ๑. หยั่งรู้อริยสัจ แต่ละอย่างตามความเป็นจริง ๒. หยั่งรู้กิจของอริยสัจ ๓. หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้ว ในอริยสัจ) ยังไม่หมดจดเพียงใด

เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิงฯ
.......ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ไม่มีใครจะเทียบได้ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มาร พรหม แม้มวลมนุษย์ ทั้งที่เป็นสมณะเป็นพราหมณ์ ก็เทียบเท่ามิได้เพียงนั้น

ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิฯ

อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิงฯ

.......ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดการหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงดังกล่าวมาหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้นเราได้ยืนยันตนเป็นผู้ตรัสรู้ชอบดังกล่าวแล้ว เช่นนั้น

ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุ นัพภะโวติฯ
.......การหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า ความหลุดพ้นของเราไม่มีการกลับกำเริบอีกแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีก

อิทะมะโว จะ ภะคะวาฯ อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุงฯ
.......ครั้นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณได้แสดงธรรมโดยปริยายดังกล่าวมา เหล่าภิกษูเบญจวัคคีย์ ก็ได้มีใจยินดีเพลินในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิ ภัญญะมาเน อายัสมะโต โกณฑัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ ยังกิญจิ สุมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติฯ
.......ก็แลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมอย่างแจ่มแจ้งอย่างมีหลัก ท่านโกณทัญญะ ผู้ทรงไว้ซึ่งอาวุโส ได้เกิดธรรมจักษุ คือ ได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง กำจัดธุลี กำจัดมลทินเสียได้ มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา เพราะสิ้นเหตุปัจจัย

ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติฯ
.......ครั้นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ได้แสดงธรรมจักร คือ หมุนวงล้อแห่งธรรมที่ประกอบด้วย ๘ ซี่ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่าภุมเทวดา ก็เปล่งเสียงสาธุการบันลือลั่นว่า วงล้อแห่งธรรม ไม่มีวงล้ออื่นใดจะหมุนสู้ได้ ได้รับการหมุนไปโดยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งไม่มีใครทำได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม

ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง
ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา

พรัหมะปาริสัชชา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
พรัหมะปะริสัชชานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

พรัหมะปะโรหิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
พรัหมะปะโรหิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

มะหาพรัหมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
มะหาพรัหมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ปะริตตาภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ปะริตตาภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อัปปะมาณาภา เทวา สัททะมะนุสสา เวสุงฯ
อัปปะมาณาภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อาภัสสะรา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
อาภัสสะรานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

ปะริตตะสุภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
ปะริตตะสุภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อัปปะมาณะสุภา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
อัปปะมาณะสุภานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

สุภะกิณหะกา เทวา สัททะ มะนุสสาเวสุงฯ
สุภะกิณหะกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

เวหัปผะลา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
เวหัปผะลานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อะวิหา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
อะวิหานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อะตัปปา เทวา สัททะมะนุสสา เวสุงฯ
อะตัปปานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

สุทัสสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
สุทัสสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา

สุทัสสี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ
สุทัสสีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา

อะกะนิฏฐะกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุงฯ

เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตังอัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติฯ

.......เหล่าเทพเจ้าชั้นจาตุมมหาราชิกา ครั้นได้ยินเสียงเหล่าเทพภุมเทวดาต่างก็ส่งเสียงสาธุการ บันลือลั่นสืบต่อไปจนถึงเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามะ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี จนกระทั่งถึงชั้นพรหม ตั้งแต่พรหมปาริสัชชา พรหมปโรหิตา มหาพรหม ปริตตาภาพรหม อัปมาณาภาพรหม อาภัสสราพรหม ปริตตสุภาพรหม อัปปมาณสุภาพรหม สุภกิณหกาพรหม เวหัปผลาพรหม อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม จนกระทั่งถึงอกนิฎฐกาพรหมเป็นที่สุด ก็ส่งเสียงสาธุการบันลือลั่น เพียงครู่เดียว เสียงได้บันลือไปทั่วพรหมโลก

อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิฯ อะยันจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิฯ อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวังฯ
.......ทั้งหมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน เสียงดังสนั่นลั่นไป ทั้งแสงสว่างอันหาประมาณมิได้ ได้ปรากฏขึ้นในโลก เหนือกว่าอานุภาพของเหล่าพรหม

อะถะโข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญติฯ อิติหิทัง อายัสมะโต โกณฑัญญัสสะ อัญญาโกณฑัญโญเตววะ นามัง อะโหสีติฯ
.......ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย" เพราะเหตุนี้ ท่านโกณฑัญญะจึงได้นามว่าอัญญาโกณฑัญญะ

จบ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ขอขอบพระคุณ คุณกลางชล สมาชิกท่านหนึ่งของเว็บลานธรรม มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
โดย: ลูกป้ามล วันที่: 9 กรกฎาคม 2548 เวลา:10:50:42 น.
  
ขอบพระคุณลูกป้ามล
โดย: สุภาฯ IP: 202.57.158.153 วันที่: 10 กรกฎาคม 2548 เวลา:0:14:11 น.
  
ธรรมสวัสดี..

วันอาสาฬหบูชา

ขอน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น




คลิก ๆ


เอามะพร้าวมาขายสวนค่ะ

สบายดีนะคะ
โดย: ป่ามืด วันที่: 21 กรกฎาคม 2548 เวลา:13:56:05 น.
  
บทความดีนะครับ
โดย: Bluejade วันที่: 21 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:24:58 น.
  
สวัสดีค่ะ

บทความดีมากๆค่ะ

รักดีต้องใช้เวลาอ่านนะคะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

สำหรับเรื่องสั้นที่นำมาให้อ่านค่ะ

อ่านแล้วให้แง่คิดดีมากๆเลย

รักดีเอาบุญมาฝากนะคะ

วันนี้ไปทำบุญมาค่ะ
โดย: รักดี วันที่: 21 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:40:03 น.
  
มาเยี่ยมค่ะ
โดย: ป้ามด วันที่: 22 กรกฎาคม 2548 เวลา:19:33:33 น.
  

สุดยอด ของความตั้งใจเลยคับ

สุภาฯ วางแผนเขียนก่อนวันอาสฬหบูชา ถึง19วัน

โอ้ว์ นานมากนะเนี่ย

อ่านแล้วได้ประโยชน์สำหรับบัวใต้น้ำอย่างyyคับ

เออ แต่ไงไง yyก็ไม่ไปวัด ไม่ไปเวียนเทียนด้วย

แต่พี่สาว หลานสาวเขาไปปฏิบัติธรรม ที่นครนายกคับ เขาก็ชวน แต่ไปแล้วไม่สนุก ไม่ได้ว่ายน้ำ ไม่ได้ดูUBC

.....บัวใต้น้ำ จริงจริงเลยกรู

แต่ผมไม่ทำอะไรผิดศีล และทำอะไรแบบมีสติคับ สุภาฯ
โดย: สิน (yyswim ) วันที่: 22 กรกฎาคม 2548 เวลา:23:04:37 น.

Suparatta.BlogGang.com

suparatta
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด