วิธีฝึกเจริญสติหรือฝึกควบคุมความคิดในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง
เหตุที่ต้องฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะการเจริญสมาธิตลอดเวลาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และไม่ถูกต้อง เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเรื่องของการมีสติในการทำกิจต่าง ๆ. ดังนั้น ส่วนใหญ่ของเวลาจึงควรใช้ไปกับการฝึกเจริญสติ และส่วนน้อยใช้ไปกับการฝึกเจริญสมาธิ.

ขอให้กำลังใจว่า ท่านสามารถฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองเพราะเป็นวิธีการที่ง่าย มีเพียง ๓ ข้อย่อย ๆ ฝึกได้โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายแต่ประการใด.

วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ข้อที่ ๑. พยายามมีสติอยู่เสมอ ๆ พร้อมทั้งรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.

ข้อที่ ๒. มีสติพิจารณาธรรม(ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาธรรม ทบทวนธรรม และฝึกแก้ปัญหาด้วยธรรมเป็นประจำ).

ข้อที่ ๓. ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน.

วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวันมีเนื้อหาที่สำคัญเพียงแค่นี้เอง !

ต่อจากนี้ไป ให้ลงมือฝึกเจริญสติ ตามข้อความทีละข้อ ดังต่อไปนี้ :-

วิธีฝึกตามข้อที่ ๑:
ให้ฝึกเจริญสติในทุกอิริยาบถ รวมทั้งขณะทำกิจต่าง ๆ โดยไม่เลือกวัน เวลา และสถานที่. ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องอุดหู ไม่ต้องบริกรรม แต่ให้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ รอบด้าน รวมทั้งทำกิจต่าง ๆ เหมือนกับการดำเนินชีวิตตามปกติ.
ตั้งเจตนาว่า จะพยายามมีสติอยู่เสมอเพื่อจะได้ไม่คิดฟุ้งซ่าน พร้อมทั้งรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.

หลังจากนั้นก็พยายามมีสติดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศลอยู่ตลอดเวลา คงให้คิดแต่กุศลเป็นหลัก. เมื่อใดที่รู้ตัวว่าคิดฟุ้งซ่าน(ความคิดฟุ้งซ่านเป็นอกุศล) ก็ให้รีบกลับมามีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ หรือเมื่อใดรู้ตัวว่าคิดอกุศลหรือคิดเรื่องอื่นใดที่ไม่ต้องการคิด ก็ให้ระงับความคิดนั้น ๆ ทันที และกลับมามีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่.

ก่อนลงมือฝึก ควรอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจเสียก่อน.

อธิบายเพิ่มเติม:
การตั้งเจตนาว่า จะเจริญสติ ก็คือการสั่งการให้สมองทำหน้าที่ตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้ แต่ธรรมชาติของสมองนั้น มักจะไม่ทำตามที่มีเจตนาตลอดเวลา. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความเพียรที่จะควบคุมตนเองให้คิดและทำตามที่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้.

สมองของคนที่ไม่เคยฝึกเจริญสติมาก่อน มักจะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านเก่ง เพราะเป็นความเคยชิน และขณะคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น สมองจะควบคุมความคิดไม่ได้. ดังนั้น จึงต้องพยายามมีสติดูแลจิตใจของตนเองอย่าให้มีการคิดฟุ้งซ่าน และทันทีที่มีสติรู้เห็นว่ากำลังคิดฟุ้งซ่าน ก็ให้รีบกลับมามีสติอยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ จนเป็นนิสัย(อัตโนมัติ).

การคิดฟุ้งซ่านเล็ก ๆ น้อย ๆ ถือว่า เป็นเรื่องปกติของทุกคน เพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่คิดฟุ้งซ่านเลย แต่ในการฝึกเจริญสตินั้น ต้องพยายามไม่ให้คิดฟุ้งซ่านเท่าที่จะทำได้ เพราะกำลังฝึกฝนตนเองอยู่.

ไม่มีใครรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดของผู้อื่นได้. ดังนั้น ทุกคนต้องพึ่งสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำของตนเอง ทำการรู้เห็นความคิด ควบคุมความคิด รวมทั้งสอนและตักเตือนตนเองจนชั่วชีวิต.

การฝึกในขั้นตอนนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ขณะมีสติอยู่นั้น จะสามารถควบคุมความคิดได้ แต่ขณะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น จะไม่สามารถควบคุมความคิดตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้.

บางครั้ง มีการชักเย่อทางความคิดระหว่างความคิดที่เป็นฝ่ายกุศลและอกุศล เพราะข้อมูลทั้ง ๒ ฝ่ายในความจำมีจำนวนใกล้เคียงกัน. การตั้งใจอย่างเด็ดขาดและมีความเพียรอย่างจริงจังที่จะไม่คิดอกุศลอีกต่อไป จะช่วยให้ฝ่ายกุศลมีชัยชนะ.

เมื่อใดที่พ่ายแพ้ความคิดที่เป็นอกุศล หรือมีการตั้งใจคิดอกุศลหลายวินาที ก็ให้ตักเตือนตนเองบ่อย ๆ ว่า จะไม่คิดเช่นนี้อีก. การมีสติสอนหรือตักเตือนตนเองอยู่เสมอ จะทำให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านกุศลในความจำอย่างรวดเร็ว.

เมื่อไม่คิดอกุศล ความทุกข์ต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส สุขสงบ หรือมีความเบิกบานในธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธศาสนา.

ให้ท่านฝึกพิจารณาว่า การฝึกเจริญสติตามข้อที่ ๑ เป็นการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ใช่หรือไม่ ? การเจริญสติไม่จำเป็นต้องรอวัน เวลา สถานที่ และไม่ต้องใช้เงิน ใช่หรือไม่ ? ท่านคงจะตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ใช่แล้ว.

วิธีฝึกตามข้อที่ ๒:
ให้มีสติในการพิจารณาธรรม ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาธรรม ทบทวนธรรม และฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมจนเป็นนิสัย.

อธิบายเพิ่มเติม:
ในชีวิตประจำวัน ควรศึกษาธรรม(อริยสัจ ๔) ทบทวนธรรม และฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมอยู่เสมอ จะทำให้ข้อมูลด้านกุศล(ธรรม)ในความจำเพิ่มมากขึ้น การทำเช่นนี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน. ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ข้อมูลด้านกุศลในความจำก็จะลดลง และข้อมูลด้านอกุศลก็จะเพิ่มขึ้น.
ความรู้และความสามารถในการพิจารณาธรรมนี้เอง ที่จะใช้ในการควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.
วิธีฝึกตามข้อที่ ๓:
ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน.

อธิบายเพิ่มเติม:
สติปัญญา คือ สติ + ปัญญา.
สติ คือ การมีความตั้งใจหรือการมีจิตใจจดจ่ออยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่เท่านั้น โดยไม่คิดฟุ้งซ่านหรือไม่เผลอสติไปคิดเรื่องอื่นใด.

ปัญญา คือ ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลอยู่ในความจำ เช่น มีปัญญาในการขับรถก็คือมีความรู้ในการขับรถ มีปัญญาในการค้าขายก็คือมีความรู้ในการค้าขาย เป็นต้น.

การจะมีปัญญามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาและฝึกอบรมในเรื่องนั้นว่า มีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด.

ขณะมีสติในการทำกิจใดก็ตาม สมองจะใช้ความรู้(ปัญญา)ที่เกี่ยวข้องกับกิจนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าไม่มีสติ สมองจะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ.

คนที่สติไม่ตั้งมั่นหรือฟุ้งซ่านเก่ง ความสามารถในการทำกิจต่าง ๆ ก็จะลดลงไปตามสัดส่วนด้วย.
ขณะหลับสนิทหรือหมดสติอยู่นั้น สมองจะไม่สามารถใช้ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในความจำได้. ดังนั้น การจะทำกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จไปได้ด้วยดีนั้น จำเป็นต้องใช้สติและปัญญาคู่กันไป.

สติปัญญามี ๒ แบบ ดังนี้ :-
สติปัญญาทางโลก คือ สติ + ความรู้ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับดูแลสุขภาพกาย ประกอบอาชีพ ดำเนินชีวิต เพื่อให้ร่างกายอยู่รอด ปลอดภัย และไม่ทุกข์.

การศึกษาเล่าเรียน ฝึกอบรม และหาความรู้เพื่อประกอบอาชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกในความจำ.

ในชีวิตประจำวัน สมองสามารถทำหน้าที่ง่าย ๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง เคี้ยว ดื่ม ขับถ่าย ได้อย่างอัตโนมัติ ถึงแม้ขณะนั้นกำลังเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านอยู่ เพราะเป็นกิจที่ง่ายและทำเป็นประจำ.

แต่การทำกิจที่ยาก จำเป็นต้องมีสติและปัญญาทางโลกมากพอจึงจะทำได้. ยิ่งเป็นกิจที่ยากมาก ๆ ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีสติและปัญญาทางโลกมาก ๆ ด้วย จึงจะทำสำเร็จได้ด้วยดี.

สติปัญญาทางธรรม คือ สติ + ความรู้ด้านธรรมที่ใช้สำหรับดูแลจิตใจไม่ให้มีความทุกข์ และพัฒนาจิตใจให้เป็นบุคคลที่ประเสริฐ.

คนที่มีความรู้และความสามารถทางธรรม คือ คนที่มีสติและมีปัญญาทางธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ.

คนจำนวนมากจะมีและใช้สติปัญญาทางธรรมดูแลจิตใจตนเองไม่ให้คิดอกุศลในบางเรื่องอยู่แล้ว เช่น ไม่คิดฆ่าคน ไม่คิดลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดทางกามจนเป็นอัตโนมัติ. บางคนไม่คิดอกุศลจนเป็นนิสัย จึงไม่ค่อยคิดอกุศลแม้แต่ในขณะคิดฟุ้งซ่าน. ทั้งนี้ เป็นเพราะว่ามีข้อมูลอกุศลในความจำเป็นจำนวนน้อย.

บางคนมีเรื่องกระทบกระเทือนต่อจิตใจมาก การทำงานแบบอัตโนมัติของสมองไม่เพียงพอ ทำให้คิดอกุศลและเป็นทุกข์มาก จึงจำเป็นต้องรีบเพิ่มข้อมูลด้านกุศล(อริยสัจ ๔)ในความจำ หรือเพิ่มความรู้และความสามารถทางธรรมในความจำอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไป.

ข้อที่ ๓ นี้เป็นข้อสรุปของการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ คือ ให้ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน จึงจะพ้นจากความทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ. อย่าใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และต้องใช้คู่กันเสมอ.

ตัวอย่างของการใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไป มีดังนี้ :-

เมื่อการงานล้มเหลว เงินหมด ครอบครัวเดือดร้อน หรือเป็นหนี้มาก จึงทำให้มีความทุกข์จากปัญหาดังกล่าว. สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ให้ใช้สติปัญญาทางโลกในการนำพาตัวเองและครอบครัวให้รอดพ้นจากความทุกข์ทางร่างกาย รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาทางโลกต่อไปอย่างสร้างสรรค์. ขณะเดียวกัน ให้ใช้สติปัญญาทางธรรมคอยดูแลจิตใจให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อจิตใจจะได้ไม่มีความทุกข์จากการคิดอกุศล หรือไม่ให้เกิดความทุกข์ซ้ำซ้อนจากการคิดอกุศล.

ถ้าสติปัญญาของตนเองไม่เพียงพอที่จะแก้ไข ก็ควรปรึกษาคนที่มีสติปัญญาสูงกว่า อย่าปรึกษาผู้ที่มีสติปัญญาน้อยกว่า เพราะอาจพากันหลงทาง หรือทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือทำให้ทุกข์น้อยกลายเป็นทุกข์มาก และอาจถ่ายทอดข้อมูลอกุศลมาเป็นของตัวเองได้อีกด้วย. (ท่านที่สนใจตัวอย่างของการแก้ปัญหาตามรูปแบบของอริยสัจ ๔ โปรดฟังจาก CD-MP3 เรื่องแก่นธรรมของผู้เขียน ซึ่งมีเนื้อหาประมาณ ๒ ชั่วโมง)

การเดินจงกลม คือ การมีสติใช้ความรู้เรื่องการเดินเพื่อให้เดินอย่างปลอดภัย จึงเป็นการฝึกใช้สติปัญญาทางโลก ส่วนการมีสติใช้ความรู้ทางธรรมคอยรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดในขณะเดินให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์นั้น เป็นการฝึกใช้สติปัญญาทางธรรม.

การมีสติคอยควบคุมจิตใจในขณะเดินไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน คือ การมีสติอยู่กับการเดิน เพราะการมีสติอยู่กับเรื่องใด ก็คือการมีสติอยู่กับเรื่องนั้นโดยไม่คิดฟุ้งซ่าน. ดังนั้น การฝึกเดินจงกลมโดยไม่ฝึกควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาติโมกข์ จึงเป็นการฝึกที่ยังไม่ครบสมบูรณ์.
การศึกษาอริยสัจ ๔ และการฝึกปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องของวิชาสุขภาพจิตแนวพุทธ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องการ ส่งเสริมสุขภาพจิต ให้มีความต้านทานต่อเชื้อโรคทางจิตใจ(การคิดอกุศล) และความทุกข์. ป้องกันจิตใจไม่ให้คิดอกุศล และไม่ให้มีความทุกข์เกิดขึ้น. รักษาจิตใจที่กำลังคิดอกุศล และมีความทุกข์ให้หมดไป. ฟื้นฟูจิตใจที่คิดอกุศลและมีความทุกข์ให้กลับมามีความบริสุทธิ์ผ่องใสหรือมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างรวดเร็ว

บางคนคิดย้อนหลังเรื่องที่เคยเป็นทุกข์ จึงทำให้กลับมาเป็นทุกข์ในเรื่องที่ได้ผ่านไปแล้วซ้ำอีก. ที่แย่มากก็คือ มีการคิดปรุงแต่งอกุศลเพิ่มเติมเข้าไปอีก จึงเป็นผลให้มีความทุกข์อย่างเดิมหรือมากขึ้น. บางคนน่าสงสาร เพราะทุกข์ย้อนอดีตเมื่อ ๒๐ ปีก่อนก็ยังมี. การคิดแบบนี้เป็นการคิดอกุศล เพราะทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง. ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่า กำลังคิดอกุศลหรือกำลังเป็นทุกข์อยู่ ก็ให้มีสติหยุดการคิดอกุศลทันที เพื่อกำจัดการคิดอกุศลและความทุกข์ให้หมดไปในวินาทีนั้น.

การเจริญสติเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันที่ง่าย อยู่ใกล้แค่เอื้อม ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ ไม่ต้องรอวันเวลา ไม่ต้องรอสถานที่ ไม่ต้องเก็บตัว ไม่ต้องรออาจารย์ ไม่ต้องอยู่ป่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องรอชาติหน้าอีกแล้ว เพราะเป็นเรื่องของการมีสติไม่คิดอกุศล. เมื่อไม่คิดอกุศล ความดับทุกข์หรือนิโรธก็จะเกิดขึ้นในทันทีทันใดที่สามารถควบคุมจิตใจไม่ให้คิดอกุศลได้.

ในการบรรยายธรรม ทุกครั้งหลังจากฝึกเจริญสมาธิแล้ว ผู้เขียนจะพาผู้ฟังอ่านและท่องจำวิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันโดยการอ่านออกเสียงพร้อม ๆ กัน ทีละข้อ และให้ฝึกควบคุมความคิดในระหว่างฟังการบรรยายไปด้วย แล้วสลับด้วยการฝึกเจริญสมาธิทุก ๑๕ - ๒๐ นาที.
เมื่อมั่นใจว่า ท่านฝึกเจริญสติในขั้นตอนนี้ได้ดีตามสมควรแล้ว จึงฝึกในขั้นต่อไป

โดย นายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์



Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2550 9:35:38 น.
Counter : 871 Pageviews.

4 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
  
โดย: puk IP: 58.9.140.77 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:44:10 น.
  
ขอบคุณครับ
โดย: nat IP: 118.173.21.120 วันที่: 24 กรกฎาคม 2554 เวลา:12:01:49 น.
  
ขอบคุณมากค่ะ ^_^ ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ
โดย: No on IP: 110.49.226.34 วันที่: 15 เมษายน 2556 เวลา:13:52:27 น.
  
สาธูค่ะ
โดย: เหมย IP: 61.19.87.149 วันที่: 1 มกราคม 2559 เวลา:22:55:03 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sriasrom.BlogGang.com

BoGoryamdam
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]