โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่  หรือ  Endometriosis

    เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูก  ไปเจริญอยู่ที่อื่นนอกโพรงมดลูก  เช่น  รังไข่  ท่อรังไข่  เอ็นยึดมดลูก  เยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน  หรืออาจแทรกเข้าในกล้ามเนื้อมดลูกในลำไส้  หริที่ปอดซึ่งพบน้อยมาก

   เยื่อบุมดลูกที่เจริญผิดที่เหล่านี้จะมีการตอบสนองต่อการขึ้นลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน  กับ  โปรเจสเตอร์โรน เหมือนกับเยื่อบุโพรงมดลูกในมดลูก  ซึ่งในแต่ละรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูก  จะหลุดลอกออกจากโพรงมดลูกเป็นประจำเดือน  แต่เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญอยู่ผิดที่เมื่อหลุดลอกออกก็จะคงอยู่ในบริเวณนั้น  ทำให้มีการคั่งค้างในเลือด  เกิดการอักเสบและเกิดเป็นพังผืดตามมา  รวมทั้งอาจเกิดเป็นชอคโกแลตซีสต์ที่รังไข่

สาเหตุ
    ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุอะไร  สมมุติฐานที่เชื่อกันมานาน  คือเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกพร้อมเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับผ่านทางท่อรังไข่เข้าไปในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน  ทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่  อีกสมมุติฐานหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้  คือ  ร่วมกับมีภาวะบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  พบว่า อุบัติการณ์ของโรคจะพบสูงขึ้นถ้ามีประวัติในครอบครัวเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

อาการแสดง
    1.  ปวดประจำเดือน
    2.  ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
    3.  มีความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
    4.  ประจำเดือนมามากและนานผิดปกติ
    5.  ปวดขณะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะระหว่างมีประจำเดือน
    6.  คลำได้ก้อนในช่องท้อง
    7.  ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดในกรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในลำไส้
    8.  มีบุตรยาก

การวินิจฉัย
    1.  จากประวัติ  และการตรวจภายในโดยสูติ-นรีแพทย์
    2.  ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง  (อัลตราซาวด์)
    3.  MRI
    4.  ส่องกล้องลาปาโรสโคป
    5.  พบโรคนี้ขณะผ่าตัดช่องท้องด้วยสาเหตุอื่น
    6.  ตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิ

การรักษา
    1.  ส่องกล้องลาปาโรสโคป  เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนและให้การรักษาโดยใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าจี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่  สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิได้  โรคนี้อาจทำให้เกิดชอคโกแลตซีสต์  ซึ่งสามารถทำการรักษาโดยการตัดเลาะเอาชอคโกแลตซีสต์ออกโดยการผ่าตัดผ่านกล้องลาปาโรสโคป
    2.  การรักษาด้วยยา  ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ  กลุ่ม GnRhA  ( Gonadotrophin Releasing Hormone Agonist )  และกลุ่มฮอร์โมนอื่น
    3.  การผ่าตัดเอามดลูก  และ  รังไข่ออก  ในรายที่อาการรุนแรงมากและไม่ต้องการมีบุตรอีก

ส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตก็จริง  แต่อาการของโรคที่ปวดทรมานและเกิดขึ้นเป็นประจำจะมีผลเสียต่อสุขภาพกาย  จิตใจ  คุณภาพชีวิต  และการงานได้



Create Date : 29 เมษายน 2555
Last Update : 29 เมษายน 2555 8:12:25 น.
Counter : 1368 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samitivejhospitals.BlogGang.com

samitivej
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด