จะมีประโยชน์อะไรถ้า IQ และ EQ สูง แต่ HQ ต่ำ
WELLNESS TALK 11
นพ.สิรวิชญ์ เดชธรรม
ที่ทำงาน : Wellness Center, รพ.สมิติเวช ศรีราชา
…………………………………………………………………………………………..

เรารู้จัก IQ (Intelligence Quotient) หรือความฉลาดทางสติปัญญาแล้ว ซึ่งการวัด IQ เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในหลายๆคณะ รวมถึงคัดเลือกพนักงานในหลายๆบริษัท และเราเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า EQ (Emotional Quotient) คือความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวัดความสามารถในการดำรงชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น ทั้งIQ และ EQ สองสิ่งมีความสำคัญในฐานะเครื่องชี้วัดความสามารถในเรื่องศักยภาพการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยหากเรารู้จักใครสักคนหนึ่งที่ฉลาดล้ำเป็นที่พึ่งได้ในยามมีปัญหา รับผิดชอบ ทำงานหนัก และมีมนุษย์สัมพันธ์สูงแต่..เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจตั้งแต่อายุสามสิบต้นๆ หากเราจะตัดสินว่านั่นเป็นชะตากรรมที่ถูกกำหนดมาแล้ว ก็ดูเหมือนว่าเราจะไม่กระตือรือร้นที่จะรั้งให้ผู้คนอันเป็นที่รักเหล่านี้มีชีวิตอยู่ต่อไปให้ยาวนาน เพื่อสร้างสิ่งที่ดีแก่สังคมจาก IQ และ EQ ที่เขามีอยู่ สิ่งที่เข้ามาเติมเต็มในเรื่องนี้คือ HQ (Health Quotient)

HQ (Health Quotient) คือเชาว์สุขภาพ หรือ ความฉลาดทางสุขภาพ หมายถึงความรู้ ความสามารถ และความตระหนัก ในการเลือกสิ่งที่ดีให้กับสุขภาพ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของวิถีชีวิต รูปแบบในการใช้ชีวิต(life style) เช่น การเลือกอาหาร การเลือกกิจกรรม ความพอดีระหว่างการทำงานและการใช้เวลาว่าง การเลือกสถานที่ท่องเที่ยว งานอดิเรก เป็นต้น

องค์ประกอบของเชาว์สุขภาพ มี 9 ประการ คือ

1.การสร้างความสมบูรณ์พร้อมทางร่างกาย (Health related fitness) ก็คือการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย กล้ามเนื้อ และหัวใจ ซึ่งแสดงออกในเรื่องความสามารถในการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่างๆ ความยืดหยุ่นและความทนทานของกล้ามเนื้อ ซึ่งกิจกรรมที่เสริมสร้างร่างกายก็คือการออกกำลังกาย

2. โภชนาการ (Nutrition) ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้และความสามารถในการเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสุขภาพของตน รวมถึงการลดและเลิกพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ

3. การหลีกเลี่ยงสารเคมีและสารเสพติด (Avoiding chemical dependency) ซึ่งก็คือการตัดสินใจและการแสดงออกที่เป็นการปฏิเสธสารเสพติด รวมทั้งการหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะไปเสพสารเสพติด หรือสารเคมีต่างๆ ซึ่งในผู้ที่มีความสามารถในระดับสูงในด้านนี้ ยังสามารถเป็นผู้ที่สามารถชักนำเพื่อนฝูงให้ห่างไกลจากสารเสพติด

4. สุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal hygiene) คือการดูแลสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน เช่น การแปรงฟันอย่างถูกวิธี การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การล้างมือก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลเรื่องเสื้อผ้า เครื่องนอน เป็นต้น

5. การป้องกันโรค (Disease prevention) เช่นความตระหนักและการปฏิบัติ ในเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีตามอายุ และความเสี่ยงตามวัย หรือความเสี่ยงตามอาชีพ การฉีดวัคซีน การใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากโรคต่างๆเป็นต้น

6. ความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal safety) เช่น ความตระหนักในเรื่องการใช้หมวกกันน็อคหรือหมวกนิรภัย การใช้เข็มขัดนิรภัย การปฏิบัติการกฎความปลอดภัยในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ไม่ก้าวล้ำเส้นขณะยืนรอรถไฟฟ้า การไม่ลงจากเครื่องเล่นในสวนสนุกหากยังไม่หยุดสนิท ฯลฯ

7. อนามัยสิ่งแวดล้อม (Environmental health and protection) ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพดีประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมทางด้านวัตถุ และทางด้านสังคม ด้านวัตถุ เช่น การอยู่ในชุมชน แหล่งที่อยู่อาศัยที่ดี การรักษาความสะอาดของครัวเรือน การทำกิจกรรม 5ส ในสถานประกอบการ ส่วนสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น การเลือกคบเพื่อน การเลือกทำกิจกรรม การเลือกรับสื่อและข้อมูลข่าวสาร

8. การจัดการความเครียด (Stress Management) คือความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่คับขันต่างๆ ซึ่งหากตอบสนองได้ดี สิ่งเร้าเหล่านั้นจะเป็นสิ่งผลักดันให้เราสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากการตัดสินใจและการตอบสนองไม่ดีอาจกลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต คนที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆได้ดี ควรจะต้องมีบุคลิกที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การมองโลกในแง่ดี

9. ความสุขทางอารมณ์ (Emotional well being) แม้ว่าความสุขทางอารมณ์จะมีการตรวจวัดได้ยาก แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามวัดออกมาในรูปของดัชนีความสุข ซึ่งความสุขทางอารมณ์อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในตนเอง และระดับทางศีลธรรม ดังนั้นการมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งในรูป ศาสนาหรือปรัชญา หรือแม้กระทั่งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ

การมีความรู้ การตระหนักรู้ และความสามารถในการปฏิบัติทั้ง 9 องค์ประกอบ มีผลต่อภาวะของสุขภาพของคน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ขอบเขตและความหมายของสุขภาพ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องจิตใจ(mind) สังคม(social) และจิตวิญญาณ(Spiritual)หรือที่เรียกกันว่าระดับพุทธิปัญญา แม้ว่าในประเทศไทยการวัด HQ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่เชื่อว่า ในอนาคตเมื่อเราตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี การตรวจวัด HQ จะมีประโยชน์ไม่น้อยในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์และสังคม

คงจะดีไม่น้อย ถ้าในสังคมของเรา มีคนที่ IQ EQ และ HQ สูงอย่างสมดุล เพื่อที่คนเก่งและคนดี จะมีชีวิตยืนยาว สร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างเต็มที่ มาร่วมกันสร้างสังคมที่ดี ส่งเสริมจิตใจที่ดี เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนในสังคมร่วมกันนะครับ.


..........................................................................................................................................
หมายเหตุ องค์ประกอบของเชาว์สุขภาพ 9 ประการ จากทฤษฎีของ Hoeger, W.K. Werner และ Hoeger, Sharon.A. เผยแพร่ในหนังสือ Lifetime physical fitness and wellness: A personal program.




Create Date : 23 มีนาคม 2554
Last Update : 23 มีนาคม 2554 1:31:06 น.
Counter : 1172 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samitivejhospitals.BlogGang.com

samitivej
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด