คอในข้อ…งอในกระดูก

The Spine Connection


การที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสวยงามเปี่ยมไปด้วยพลังนั้น กระดูกสันหลังต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง มีสุขภาพดีและมีความยืดหยุ่นมาก


ปัญหาเรื่องโรคกระดูกสันหลังอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายๆ คน แต่ถ้ามองให้ลึกๆ แล้ว ทุกคนควรดูแลกระดูกสันหลังของตัวเองให้ดี เพราะกระดูกสันหลังไม่เพียงแต่เป็นโครงสร้างที่สำคัญของร่างกาย มันยังช่วยปกป้องระบบประสาทส่วนกลางให้ทำงานได้ตามปกติอีกด้วย หากกระดูกสันหลังมีปัญหา การควบคุมและประสานการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็จะมีปัญหาตามไปด้วย


วันนี้ ไอเกิล ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เจริญ โชติกวณิชย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลังและข้อ จากโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มาให้ความรู้เรื่องกระดูกและข้อที่เราไม่ควรละเลย อาจารย์อธิบายในเบื้องต้นว่า“ปัญหากระดูกสันหลังที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกระดูกสันหลังคดในเด็ก ส่วนผู้ใหญ่จะเป็นเรื่อง หัก พรุน และเสื่อม อาจมีเรื่องกระดูกคดบ้าง”


กระดูกสันหลังคด หรือ Scoliosis คือการที่กระดูกสันหลังเบี้ยวเป็นรูปตัวเอส “s” หรือ ตัว “c” คำว่า Scoliosis มาจากภาษากรีก แปลว่า ความโค้ง (curvature) ซึ่งสำหรับที่เกิดขึ้นในเด็กนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์ หรือฮอร์โมนใต้สมองทำงานผิดปกติ เด็กจึงพัฒนาไม่เต็มที่ แต่ในผู้ใหญ่อาจมาจากอุบัติเหตุ การหัก หรือการเสื่อมของกระดูกสันหลังเอง ในบางรายอาจเป็นเพราะไม่ได้เป็นมากจึงไม่แสดงอาการใดๆ ในวัยเด็ก แต่มากำเริบเมื่อโตขึ้นก็ได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดรุนแรง “เมื่อกระดูกสันหลังคด ตัวก็จะเอียง ลองคิดดูว่าจะใส่เสื้อเปิดหลังโชว์สักหน่อย แทนที่จะเห็นปุ่มกระดูกสันหลัง contour สวย มีกล้ามเนื้อเล็กใหญ่ เรียงรายอย่างดี กลายเป็นเบี้ยวไป แล้วก็จะปวดเอว ปวดหลัง ขา สะโพก เจ็บหัวเข่า ปวดหัว มีอาการหอบและระบบขับถ่ายก็จะไม่ดี แล้วทำให้ตัวก็เตี้ยกว่าปกติด้วย”



ความจริงก็คือการที่กระดูกสันหลังคด จะมีผลกระทบกับระบบในร่างกายถึง 5 ระบบด้วยกันคือ ระบบการย่อย ฮอร์โมน กล้ามเนื้อ กระดูกและประสาท ในเพศหญิงคออาจมีปัญหา ถ้ามีการตั้งครรภ์และคลอด การรักษามีหลายวิธีตั้งแต่กายภาพบำบัด ไปจนถึงการผ่าตัด จัด/ดามกระดูกให้เข้ารูป ขึ้นอยู่กับความโค้งงอของกระดูก และอายุของผู้ป่วย “สำหรับผู้ใหญ่นั้น โรคกระดูกสันหลังที่พบมากที่สุด คือ มาจากการเสื่อมสภาพของกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกหลวม กระดูกเคลื่อน ช่องไขสันหลังตีบ ฯลฯ


การรักษาก็จะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดเล็ก หรือผ่าตัดใหญ่ซึ่งขึ้นกับพยาธิสภาพของโรค ผู้ป่วยสูงอายุ มีการฉีดกระดูกเทียม (Methyl methacrylate) หรือ Bone Cement เข้าไป ในกรณีที่กระดูกพรุน หักยุบ มีโพรง หรือช่องว่าง ซึ่งวิธีการนี้ถือว่าเป็น minimally invasive หรือ non-invasive surgery เพราะเข็มที่ใช้ฉีดเข้าไปนั้นถึงแม้จะใหญ่กว่าเข็มธรรมดา ก็แค่ 2-3 มิลลิเมตร เท่านั้น ซึ่งเทคนิคนี้ไม่ใหม่ แต่อาจจะยังไม่แพร่หลายนัก”


โรคกระดูกสันหลังที่พบมากในวัยทำงาน คือ หมอนรองกระดูกเคลื่อน “ส่วนใหญ่พบมากในผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 30-45 ปี โดยจะมีอาการขาไม่มีแรง หรือ ขาชา ถ้าเป็นไม่มาก อาจจะให้ยาและทำกายภาพบำบัด แต่ถ้าปวดร้าวมากๆ ก็ต้องผ่าตัดซึ่งสมัยนี้ไม่น่ากลัวแล้ว หมอจะผ่าโดยใช้เครื่องถ่างกล้ามเนื้อหลัง หรือใช้กล้องส่องเพื่อไปผ่าตัดเอาหมอนที่เคลื่อนออก รอยแผลจะกว้างไม่มาก อย่างมาก 2 เซ็นติเมตร เมื่อก่อนนี้การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนนี่ คนไข้ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 1 สัปดาห์ แต่สมัยนี้บางที 1 วันก็กลับบ้านได้แล้ว ในกรณีที่จำเป็นต้องเอาหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกนั้น ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดขึ้นมาอีกได้ ส่วนผู้ที่ผ่าตัเปลี่ยนเป็นหมอนรองกระดูกเทียม (artificial bones) ไม่ควรยกของหนักอีกต่อไป”


การผ่าตัดแบบ minimally invasive หรือการผ่าตัดที่มีการทำลายเนื้อเยื่อ และระบบต่างๆ ในร่างกายน้อยที่สุด เป็นเทคนิคที่แพร่หลายและได้รับความนิยมมากในขณะนี้ เพราะนอกจากเนื้อเยื่อไม่ถูกทำลายมาก ไม่เสียเลือดมาก ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นลง ค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างก็ลดลงไปตามกระบวนอีกด้วย


โรคต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วล่ะก็เป็นเรื่องทุกที เพราะฉะนั้นเราควรป้องกันตัวเองหรือชะลอไม่ให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บง่าย หรือเสื่อมลงเร็วเกินไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเพียงแต่จะมีวินัยทำกันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง


“อย่าอ้วน! หลีกเลี่ยงความเสี่ยง risk factors ทั้งหลาย เช่น การสูบบุหรี่เพราะจะทำให้เส้นเลือดตีบตัน ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและกระดูกสันหลังได้ไม่ดี รับประทานอาหารให้ครบหมู่ ที่สำคัญอย่าทานอาหารพวกเนื้อ หรือเครื่องในมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เป็นเกาท์ได้ (gout) รับประทานปลาดีกว่า ที่สำคัญควรออกกำลังกายให้สมํ่าเสมอ คุณพ่อคุณแม่ควรหัดให้ลูกออกกำลังกายตั้งแต่เล็กเลย จะได้เป็นนิสัยที่ดี เรื่องระบบขับถ่ายก็ต้องให้เป็นกิจวัตรประจำวัน และนอนหลับพักผ่อนให้พอ อย่างพอดีๆ ก็ต้องมี 7 ชั่วโมง


นอกจากนี้สุขภาพจิตก็สำคัญเพราะจะช่วยให้ คิดดี ทำดี ร่างกายก็ดีไปด้วย และเมื่อไม่สบายก็อย่าซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ให้ถี่ถ้วนก่อน” ถ้าปฏิบัติตัวเต็มที่แล้วก็ยังไม่วายมีปัญหาก็มาหาอาจารย์ได้เลย ยิ่งพวกที่ชอบท้าทายความเสี่ยงด้วยล่ะก็ อาจารย์อาจต้องเปิดห้องรอรับเลย เพราะที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีศูนย์ Spine & Joint ที่รวบรวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกระดูกสันหลังและข้อ รวมถึง Sports Medicine ที่มีประสบการณ์สูงและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ที่พร้อมให้คำปรึกษาและรักษาโดยการใช้นวัตกรรมใหม่ทั้งแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัดเพื่อให้ได้ผลการรักษาแม่นยำ ตรงจุด


“เราภูมิใจมากที่ศูนย์ Spine & Joint ของเรา ได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาโรคเฉพาะทาง Clinical Care Programs Certification (CCPC) สำหรับโรคปวดหลัง จากสถาบัน JCI ประเทศสหรัฐอเมริกา และเรายังได้รับการไว้วางใจให้เป็นแพทย์ประจำทีมฟุตบอลเยาวชนทีมชาติด้วย”


ถึงแม้วิทยาการปัจจุบันจะก้าวไกล อวัยวะเสื่อม เสีย ชำรุด ก็ซ่อมได้ แต่จริงๆ แล้ว “อโรคยา ปรมาอาภา” การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั่นแหละดีที่สุด


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เจริญ โชติกวณิชย์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกสันหลังและข้อ

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์





Create Date : 21 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2554 14:06:00 น.
Counter : 904 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samitivejhospitals.BlogGang.com

samitivej
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

บทความทั้งหมด